4.2 สินเชื่อของสถาบันการเงินอื่น
สินเชื่อของสถาบันการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ มียอดคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสรวม 1,339.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 40.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.1 และขยายตัวจากระยะเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 9.4 สูงกว่าการขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มาก ทำให้สัดส่วนของสินเชื่อต่อสินเชื่อรวมในระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวมบริษัทประกันชีวิต) สูงขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 21.7 โดยสินเชื่อของบริษัทเงินทุน ธนาคารออมสิน และธนาคาร SMEs ขยายตัวสูง สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น ๆ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องแม้จะต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยก็ตาม มีเพียงสินเชื่อของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีทิศทางลดลง และสินเชื่อบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ลดลงมากเนื่องจากปัญหาเงินกองทุน และมีการถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ บค. ธนพัฒน์ ในเดือนสิงหาคม การเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อในแต่ละสถาบันการเงินที่สำคัญ มีดังนี้
สินเชื่อของบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขยายตัวดีโดยภาวะดอกเบี้ยต่ำเป็นปัจจัยเอื้ออำนวย มียอดคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 218.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสองร้อยละ 6.5 และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 29.0 เนื่องจากการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจการเช่าซื้อ (Leasing) โดยขยายตัวจากไตรมาสสอง ร้อยละ 13.7 และ 10.8 และขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 74.5 และ 49.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินเชื่อเช่าซื้อมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของสินเชื่อรวมของบริษัทเงินทุน ด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลมีมูลค่าคงค้างลดลงเป็นลำดับตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่สินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการซึ่งมีสัดส่วนใหญ่กว่าขยายตัวดีในไตรมาสนี้ จากการทยอยเปิดตัวของโครงการใหม่
สินเชื่อของธนาคารออมสินมีมูลค่าคงค้าง 271.5 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสสอง 0.5 พันล้านบาท แต่ยังคงขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 10 เนื่องจากสินเชื่อที่ให้กับรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลดลงในไตรมาสนี้รวม 16.9 พันล้านบาท จากการทยอยเบิกจ่ายงบประมาณชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านเป็นสำคัญ ในขณะที่สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีก 15.3 พันล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบต่อไตรมาส และร้อยละ 46.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการขยายธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย
สินเชื่อของธนาคารอาคารสงเคราะห์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 328.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสอง 12.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 และขยายตัวจากระยะเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 7.5 นอกจากปัจจัยด้านดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และข้อเสนอด้านวงเงินที่จูงใจแล้ว คาดว่าแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งมาจากมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนจะสิ้นสุดสิ้นปี 2546 นี้ จะไม่มีการขยายเวลารอบใหม่ จึงมีการตัดสินใจซื้อและโอนที่อยู่อาศัยก่อนสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะหมดไป
สินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น โดยมูลค่าคงค้างเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อยในเดือนกันยายน และ ณ สิ้นไตรมาสสามเงินให้กู้ยืมสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 17.2 พันล้านบาทเป็น 312.2 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราขยายตัวจากระยะเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 8.2 เทียบกับ 2 ไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 และ 3.8 ตามลำดับ
สินเชื่อของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วง 2 เดือนแรกแล้วลดลงในเดือนสุดท้าย มีมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 40.7 พันล้านบาท อย่างไรก็ดี สินเชื่อขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสสองและระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีอัตราร้อยละ 1.7 และ 6.7 ตามลำดับ ทั้งนี้สินเชื่อตั๋วส่งออกปรับเพิ่มขึ้นบ้างในระหว่างไตรมาสแต่ยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจากต้นปี แต่มีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวมของธนาคาร
สินเชื่อของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นไตรมาสก่อนปรับลดลงในช่วงที่เหลือ มีมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 150.6 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสสองร้อยละ 2.7 และลดลงจากระยะเดียวกันของปี 2545 ร้อยละ 6.5 เป็นผลต่อเนื่องจากการโอนหนี้ด้อยคุณภาพให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้มูลค่าลูกหนี้บางส่วนที่เป็นเงินตราต่างประเทศลดลงเมื่อแปลงเป็นเงินบาท และการขยายสินเชื่อส่วนหนึ่งถูกจำกัดด้วยขนาดของเงินกองทุน แม้จะได้ดำเนินการเพิ่มทุนไปแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถขยายสินเชื่อได้ในทันที ซึ่งทำให้บรรษัทฯ ปรับสภาพคล่องส่วนเกินด้วยการลงทุนในตลาดซื้อคืนเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้ สำหรับการควบรวมกิจการของบรรษัทฯ เข้ากับไทยธนาคาร เพื่อให้เป็นสถาบันการเงินที่มีขนาดใหญ่ ดำเนินธุรกิจได้กว้างขึ้น และมีประสิทธิภาพสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ได้นั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการอีกมาก โดยเฉพาะทางด้าน กฎหมาย เนื่องจากบรรษัทฯ เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายพิเศษ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนของธนาคารใหม่หลังการควบรวม
สินเชื่อของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องแม้จะมีอัตราที่ชะลอลงก็ตาม มีมูลค่าคงค้าง ณ สิ้นไตรมาส 16 พันล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสสองร้อยละ 13.3 และขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 70.8 แต่มูลค่าสินเชื่อเมื่อเทียบสถาบันการเงินอื่นโดยรวมแล้วมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 1
(5) ความคืบหน้าของการแก้ปัญหา NPLs : NPLs ของธนาคารพาณิชย์เอกชนลดลง แต่ของธนาคารรัฐกลับเพิ่มขึ้นหลังการโอนหนี้ NPLs รายย่อยให้ บสท. ในไตรมาสที่แล้ว NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ณ สิ้นไตรมาสสาม ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้น มีมูลค่ารวม 750.3 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสสองที่มีมูลค่า 772.6 และสัดส่วนร้อยละ 15.5 โดยธนาคารธนาคารพาณิชย์เอกชนมี NPLs ลดลงจากการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจและรายได้ผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มดีขึ้นช่วยเพิ่มความสามารถชำระหนี้และลดการเกิด NPL ย้อนกลับสำหรับหนี้ที่ปรับโครงสร้างไปแล้ว แต่ NPLs ของธนาคารพาณิชย์ของรัฐที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสสองจากการโอนลูกหนี้รายย่อยให้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยนั้นกลับมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกครั้งในไตรมาสนี้ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากนโยบายเร่งขยายสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร สำหรับ NPLs ของบริษัทเงินทุนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นไตรมาสแรก ตามการขยายตัวของสินเชื่อ โดยสัดส่วนของ NPLs ต่อสินเชื่อรวมเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย
แม้การแก้ปัญหา NPLs จะมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังคงห่างจากเป้าหมายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ NPLs ของสถาบันการเงินให้อยู่ในระดับร้อยละ 10 ภายในสิ้นปีนี้อยู่มาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับระยะเวลาในการดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวออกไปเป็น 2 ปี โดยมีมาตรการเพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ดังนี้
แก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระบวนการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีรวดเร็วขึ้น โดยข้อเสนอหนึ่งในการลดระยะเวลาคือจำกัดให้มีการประมูลทรัพย์สินแต่ละรายการไม่เกิน 3 ครั้งจากเดิมที่ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา นอกจากนี้ ธปท. ยังเสนอแก้ไขกฎหมายให้ AMCs ของรัฐสามารถซื้อทรัพย์สินรอการขายจากกรมบังคับคดีและสถาบันการเงินได้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการแล้วในช่วงกลางปีนี้ สำหรับกลุ่มลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดี ไม่ได้รวมลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงิน
ตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อรับซื้อทรัพย์สินรอการขายจากธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งมีมูลค่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2546 รวม 153 พันล้านบาท เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากปลายปี 2545 ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์รายละเอียดต่าง ๆ เช่น ราคาวิธีการชำระเงิน เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ และการเฉลี่ยกำไรขาดทุน เป็นต้น
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเร่งขายทอดตลาดทรัพย์สินเป็นจำนวนมากถึงประมาณ 224 พันล้านบาทนั้น จะทำให้ราคาทรัพย์สินลดลง เช่นเดียวกับการเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนที่เหลืออาจต้องมีการให้ Hair-cut มากขึ้น ธนาคารพาณิชย์อาจต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญเพิ่มเติม สำหรับมาตรการตั้ง AMC เพื่อรับซื้อ NPA อาจไม่ได้รับการตอบสนองจากธนาคารพาณิชย์มากนักหากราคาไม่จูงใจ เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ในขณะนี้มีมูลค่าสุทธิหลังหักสำรองหนี้สูญค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าหนี้ รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ราคาหลักประกันจะสูงขึ้นในอนาคต ความเสี่ยงในการเก็บ NPA ไว้จึงมีไม่มากนัก ในขณะที่มีโอกาสจะได้รับชำระหนี้คืน (Recovery rate) ในอัตราที่สูงขึ้น
(6) ความคืบหน้าในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน : ลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างมีขนาดเล็กลง การปรับโครงสร้างของ ธพ. รัฐมีมูลค่าลดลงจากการโอนลูกหนี้รายย่อยให้บสท. หนี้ระหว่างดำเนินคดีที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยของ ธปท. ยังมีมูลค่าน้อย
ในระหว่างไตรมาสสาม สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ 21,816 ราย แต่เป็นกลุ่มลูกหนี้รายเล็กมากขึ้น จึงมีมูลหนี้รวม 79.4 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสสองเกือบร้อยละ 10 เกือบครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 37 พันล้านบาทเป็นการปรับโครงสร้างในเดือนสุดท้ายของไตรมาส และเป็นการปรับโครงสร้างของธนาคารพาณิชย์เอกชน 30 พันล้านบาท ตลอดทั้งไตรมาสธนาคารพาณิชย์เอกชนยังคงมีมูลค่าปรับโครงสร้างหนี้มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 78 ของมูลค่าปรับโครงสร้างหนี้ของระบบสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ของรัฐมีมูลค่าปรับโครงสร้างหนี้ลดลงเนื่องมาจากการทยอยโอนลูกหนี้รายย่อยให้กับ บสท. ในขณะที่บริษัทเงินทุนสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนรายและมูลค่าหนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีมูลค่าการปรับปรุงโครงสร้างสูงสุดตามลำดับยังคงได้แก่ การอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และการบริการ ทั้งนี้ สัดส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจอุตสาหกรรมลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 39.8 ในไตรมาสที่แล้วเป็นร้อยละ 23.3 และการปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เร่งตัวขึ้นมาก สอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 จนถึงสิ้นไตรมาสสามของปีนี้ มีลูกหนี้ของสถาบันการเงินเข้าสู่กระบวนการเร่งรัดปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วทั้งสิ้น 645,232 ราย มูลหนี้รวม 3,061.4 พันล้านบาท ในจำนวนนี้ได้นับรวมลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างมากกว่า 1 ครั้งด้วย มียอดปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จสะสมรวม 2,961.2 พันล้านบาท ลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จมูลค่าสูงตามลำดับได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรม การค้าส่งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการบริการ ลูกหนี้ ระหว่างการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลดลงเหลือ 29,593 รายมูลค่า 110.2 พันล้านบาท โดยกลุ่มการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีจำนวนรายที่ค้างอยู่ในกระบวนการมากที่สุดกว่า 15,000 ราย มูลหนี้เฉลี่ย 0.7 ล้านบาทต่อราย และกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมมีมูลค่าหนี้สูงสุดไม่เปลี่ยนแปลง
ลูกหนี้เป้าหมายที่คณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (คปน.) อนุมัติรายชื่อเข้ากระบวนการระหว่างปี 2541-2545 มีการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จในไตรมาสนี้ 5 ราย มูลค่า 7.5 พันล้านบาท ทั้งหมดเป็นลูกหนี้ที่สถาบันการเงินดำเนินการทางศาล โดยเป็นลูกหนี้ธุรกิจอุตสาหกรรมรายใหญ่ 1 ราย มูลหนี้ 5 พันล้านบาท อีก 4 รายเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จำนวน 157 ราย มูลค่า 73.1 พันล้านบาทนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากไตรมาสสอง และตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2546 มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จแล้วรวม 10,346 ราย มูลหนี้ 1,398.3 พันล้านบาท มีลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างไม่สำเร็จและสถาบันการเงินดำเนินการทางศาล 1,681 ราย มูลหนี้ 413 พันล้านบาท เมื่อรวมกับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่ไม่เข้ากระบวนการแต่แรกและสถาบันการเงินดำเนินการทางศาลเช่นกันอีก 3,107 ราย มูลหนี้ 773.6 พันล้านบาท ทำให้มีลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่สถาบันการเงินต้องดำเนินการทางศาลทั้งสิ้น 4,788 ราย มูลหนี้ 1,186.6 พันล้านบาท
สำหรับหนี้ที่อยู่ระหว่างกระบวนการทางกฎหมายซึ่งเป็นลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายปี 2546 ที่ คปน. จะเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ ตามแนวทางเร่งรัดแก้ไขปัญหา NPLs นั้น ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2546 มีลูกหนี้ที่สถาบันการเงินแจ้งความจำนงจะเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยทั้งสิ้น 2,220 ราย มูลหนี้ 18.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการส่งรายชื่อในไตรมาสสอง มีเพิ่มเติมในไตรมาสนี้เพียงเล็กน้อย ในขณะที่ลูกหนี้ที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 461 ราย มูลหนี้ 5.9 พันล้านบาท ในจำนวนนี้มีลูกหนี้ที่มีข้อสรุปจากการเจรจาแล้ว 221 ราย โดยสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จ 156 ราย มูลหนี้ 967 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ตาม ลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ที่อยู่ระหว่างดำเนินคดีมูลค่าประมาณ 162 พันล้านบาท และ NPLs ของระบบสถาบันการเงิน
(7) ความคืบหน้าในการดำเนินงานของ บสท. : รับโอนหนี้แล้วรวม 780.9 พันล้านบาท บริหารสินทรัพย์ได้ข้อยุติแล้วร้อยละ 80.9 ของมูลค่าหนี้ที่รับโอน Expected Recovery Rate 47%
ในช่วงไตรมาสที่สามของปีนี้ บสท. รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ในขณะที่มีการโอนคืนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ตรวจสอบแล้วไม่เข้าข่ายการรับโอนให้กับสถาบันการเงินผู้โอนซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันรัฐ ทำให้ยอดสินทรัพย์ที่รับโอนสะสมลดลงจากสิ้นไตรมาสสองเป็น 16,669 ราย มูลค่าทางบัญชี 780.9 พันล้านบาท มีราคารับโอนร้อยละ 34.7 ของมูลค่าทางบัญชี เป็นหนี้ที่รับโอนจากสถาบันเอกชน 1,076 ราย มูลค่า 148.2 พันล้านบาท และสถาบันของรัฐ 15,593 ราย มูลค่า 632.7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้รายย่อยที่โอนในปีนี้ประมาณ 11,000 ราย บสท. ได้ทยอยออกตั๋วสัญญาใช้เงินอายุ 10 ปี ที่กองทุนฟื้นฟูฯ อาวัล เพื่อชำระราคาให้แก่สถาบันการเงินผู้โอนไปแล้ว 238.5 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88 ของราคารับโอนรวม
ในไตรมาสนี้ บสท. บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ข้อยุติจำนวน 743 ราย มูลค่าบัญชี 55.8 พันล้านบาท เทียบกับ 412 ราย มูลค่า 41.7 พันล้านบาทในไตรมาสสอง แนวทางที่ใช้เป็นส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ร้อยละ 50.1 เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลางร้อยละ 15.7 มีการบังคับหลักประกัน/พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยอาศัยอำนาจพิเศษตามกฎหมาย 375 รายมูลค่า 19.1 พันล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาสสอง
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินงานจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2546 บสท. บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ข้อยุติแล้วทั้งสิ้น 3,800 ราย มูลค่าทางบัญชีรวม 632.1 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.9 ของมูลค่าหนี้ตามบัญชีที่ บสท. ได้รับโอนแล้วทั้งหมด โดยมีการอนุมัติปรับโครงสร้างแก่ลูกหนี้ที่มีศักยภาพและฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลางร้อยละ 56 บังคับหลักประกัน/พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดร้อยละ 43.6 และวิธีการอื่นอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีการปรับโครงสร้างกิจการซึ่งเป็นเจตนารมย์หนึ่งของการจัดตั้ง บสท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารและการดำเนินงานไปเพียง 4 บริษัท เนื่องจากลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพมักไม่ยอมสูญเสียสัดส่วนความเป็นเจ้าของและอำนาจบริหาร บสท. ได้ประมาณการอัตราที่คาดว่าจะได้รับชำระหนี้คืน (Expected Recovery Rate) จากแผนการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ และฟื้นฟูกิจการในศาลล้มละลายกลางประมาณร้อยละ 47 ของมูลค่าหนี้ตามบัญชี สูงกว่าราคารับโอนเฉลี่ยที่ร้อยละ 34.7 ทั้งนี้ ไม่รวมกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการแปลงหนี้เป็นทุนกรณีบริษัทไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังไม่ได้คำนวณความเสี่ยงจากการที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
(ยังมีต่อ).../3.6 ภาวะตลาดทุน..