ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มปี 2547 (ภาวะการคลัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 8, 2004 15:05 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        3.7  ภาพรวมฐานะการคลัง : เกินดุลงบประมาณ 
(1) ดุลการคลังภาคสาธารณะ
ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 ดุลการคลังภาคสาธารณะตามระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง (สศค.) มีฐานะขาดดุล 19.5 พันล้านบาท เนื่องจากรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจได้เพิ่มสูงกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้ดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจในไตรมาสนี้ขาดดุลเพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมาเป็นอันมาก โดยภาวะดุลการคลังของรัฐวิสาหกิจได้เกินดุล 30.7 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2546 และมีแนวโน้มเกินดุลลดลง จนกระทั่งขาดดุล 7.3 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 3 และขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 33 พันล้านบาท ในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ดุลการคลังภาคสาธารณะในไตรมาสที่ 1 - 3 ที่มีแนวโน้มเกินดุลเพิ่มสูงขึ้น กลับมาขาดดุลในไตรมาสที่ 4 อย่างไรก็ตาม ฐานะดุลการคลังรัฐบาลและดุลการคลังของ อปท.มีแนวโน้มดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 4 มีฐานะเกินดุล 5.4 และ 8.2 พันล้านบาทตามลำดับ
โดยภาพรวมฐานะการคลังของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2546 มีความมั่นคง โดยดุลการคลังของรัฐบาลมีฐานะเกินดุล อันเป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของรัฐบาล ส่งผลให้ฐานะการคลังภาคสาธารณะของปีงบประมาณ 2546 มีฐานะเกินดุล 87.0 พันล้านบาท สูงกว่าดุลการคลังภาคสาธารณะของปีงบประมาณ 2545 ที่มีฐานะขาดดุล 43.7 พันล้านบาท โดยดุลการคลังรัฐบาลในปีงบประมาณ 2546 มีฐานะเกินดุล 71.4 พันล้านบาท ซึ่งดีขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2545 เป็นอันมากที่ขาดดุลจำนวน 105.2 พันล้านบาท
(2) ดุลการดำเนินงานรวมของรัฐบาล
ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 (กรกฎาคม-กันยายน 2546) รัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้นจำนวน 305,154.1 ล้านบาทและรายจ่าย จำนวน 289,991.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณ 2545 ประมาณร้อยละ 17.0 และ 8.8 ตามลำดับ ส่งผลทำให้มีดุลการให้กู้ยืมสุทธิเกินดุลจำนวน 15,162.19 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้ว 20,900.66 ล้านบาท โดยมีการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิและการก่อหนี้สินสุทธิลดลงจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาจำนวน 228,806.7 และ 249,707.38 ล้านบาท ทั้งนี้การก่อหนี้สินสุทธิภายในประเทศได้ลดลงเป็นจำนวนมากถึง 244,394.18 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 174,995.99 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 ส่วนด้านรายจ่าย มีจำนวนเพิ่มขึ้นเพียง 6,689.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.6 ทำให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2546 สูงกว่าปีงบประมาณ 2545 จำนวน 168,306.58 ล้านบาท โดยดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2545 ขาดดุล 85,354.31 ล้านบาทแต่ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2546 เกินดุลจำนวน 82,952.27 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2546 มีการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิและการก่อหนี้สินสุทธิลดลงจากปีที่ 2545 จำนวน 267,427.3 และ 435,733.88 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้การก่อหนี้สินสุทธิภายในประเทศได้ลดลงเป็นจำนวนมากถึง 421,317.28 ล้านบาท ในขณะที่การก่อหนี้สินสุทธิจากต่างประเทศได้ลดลงเพียง 14,416.6 ล้านบาท โดยแยกเป็นรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้
(2.1) ดุลบัญชีเงินงบประมาณ ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้จำนวน 278,230.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จำนวน 47,393.81 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ส่วนด้านรายจ่ายมีจำนวน 272,048.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 18,633.75 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 โดยได้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิเกินดุลจำนวน 6,182.17 ล้านบาท เทียบกับขาดดุลจำนวน 22,577.89 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของงบประมาณปี 2545 ดุลการให้กู้ยืมสุทธิ และการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิและการก่อหนี้สินสุทธิในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 ลดลง 227,365.6 และ 256,125.68 ล้านบาท ตามลำดับ จากไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณ 2545
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของรัฐบาลรวมทั้ง 4 ไตรมาส ในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,031,522.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2545 จำนวน 160,481.49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 18.4 ส่วนในด้านรายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยที่ในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 1,034,249.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,070.61 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ทำให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2546 ขาดดุลจำนวน 2,726.43 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปี 2545 ที่ขาดดุลจำนวน 154,137.31 ล้านบาท ทั้งนี้การถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิและการก่อหนี้สินสุทธิในปีงบประมาณ 2546 ได้ลดลงจากปีงบประมาณ 2545 ด้วย โดยการก่อหนี้สินสุทธิภายในประเทศได้ลดลงเป็นจำนวนมากถึง 405,089.98 ล้านบาท
(2.2) ดุลบัญชีกองทุนนอกงบประมาณ ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้จำนวน 19,653.03 ล้านบาท ลดลงจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาจำนวน 5,030.0 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 20.4 ในขณะที่รัฐบาลมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากจำนวน 15,123.0 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2545 เป็น 20,650.8 ล้านบาท ใน ไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณ 2546 หรือเพิ่มขึ้น 5,527.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 36.6 ทำให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2546 ขาดดุลจำนวน 997.78 ล้านบาท ซึ่งดุลการให้กู้ยืมสุทธินี้ได้มีแนวโน้มลดลงจากระยะเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่เกินดุลจำนวน 9,560.03 ล้านบาท โดยที่การถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิได้ลดลงจำนวน 4,149.9 ล้านบาท แต่การก่อหนี้สินสุทธิซึ่งเป็นการก่อหนี้สินสุทธิภายในประเทศทั้งหมดกลับเพิ่มขึ้นจำนวน 6,407.9 ล้านบาท
ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของรัฐบาลรวมทั้ง 4 ไตรมาส ในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก119,774.5 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 เพียง 1,878.7 ล้านบาท เป็น 121,653.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ขณะที่ด้านรายจ่ายมีจำนวนลดลง 5,786.3 ล้านบาท โดยลดจาก 82,001.9 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 เหลือ 76,215.6 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 7.1 ส่งผลให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2546 เพิ่มขึ้นจำนวน 7,665.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 โดยการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินสุทธิและการก่อหนี้สินสุทธิในปีงบประมาณ 2546 ได้ลดลงจากปีงบประมาณ 2545 จำนวน 8,611.5 และ 16,276.5 ล้านบาท ตามลำดับ
(2.3) ดุลบัญชีกองทุนประกันสังคม ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้จำนวน 13,956.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 2,953.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 26.8 ส่วนด้านรายจ่ายมีจำนวน 3,978.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 255.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.8 ทำให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 เกินดุลจำนวน 9,977.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 2,698.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37.1 และเมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของรัฐบาลรวมทั้ง 4 ไตรมาส ในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2546 รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 46,110.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 จำนวน 11,282.6 ล้านบาท เป็น 57,393.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 ส่วนในด้านรายจ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้น 2,051.9 ล้านบาท โดยเพิ่มจาก 15,100.0 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2545 เป็น 17,151.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ส่งผลให้ดุลการให้กู้ยืมสุทธิในปีงบประมาณ 2546 เกินดุลจำนวน 40,241.1 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจำนวน 9,230.7ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8
(2.4) การปรับปรุงรายการระหว่างกัน ในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 มีการปรับปรุงรายการรายได้และรายจ่ายลงจำนวน 6,686.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 918.2 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15.9 และเมื่อเปรียบเทียบการปรับปรุงรายการรายได้และรายจ่ายทั้ง 4 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่ามีการปรับปรุงรายการรายได้และรายจ่ายลงจำนวน 58,066.0 และ 56,712.8 ล้านบาท ตามลำดับ หรือลดลงร้อยละ 2.3
(3) การจัดเก็บรายได้
ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 (กรกฎาคม.-กันยายน 2546) มีการจัดเก็บรายได้ได้จำนวน 268,757 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว จำนวน 41,414 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.2 โดยเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภคและภาษีจากฐานรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ซึ่งมีรายการที่สำคัญ ๆ ได้แก่
(3.1) ภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภค
ภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากรจัดเก็บโดยตรง สามารถจัดเก็บได้ 68,550 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้วจำนวน 7,943 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1 โดยภาษีมูลค่าเพิ่มนี้สามารถจัดเก็บได้ในสัดส่วนที่สูงรองจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ประมาณร้อยละ 37.8 อันเป็นผลเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นในภาคการบริโภคอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ไตรมาสที่ผ่านมา
ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 62,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 7,992 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.7 โดยสามารถจัดเก็บภาษีเครื่องไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 ส่วนภาษีเบียร์และภาษีรถยนต์จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 นอกจากนี้ยังมีรายได้ภาษีที่จัดเก็บใหม่ ได้แก่ ภาษีโทรคมนาคม จำนวน 2,820 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบจำนวนภาษีที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บ ปรากฏว่าภาษีน้ำมันเป็นภาษีที่กรมจัดเก็บได้จำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 31.9 และ 30.3 ของภาษีทั้งหมดที่กรมจัดเก็บได้ในไตรมาส 4 ของปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ
(3.2) ภาษีที่จัดเก็บจากฐานรายได้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 78,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 17,233 ล้านบาท หรือร้อยละ 28.2 เทียบกับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ของระยะเดียวกันในปี 2545 ทั้งนี้เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทต่าง ๆ ในปีภาษี 2546 มีกำไรเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2545 ค่อนข้างมาก รวมทั้งผลของการฟื้นตัวของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( SMEs ) จากมาตรการสนับสนุน SMEs และผลของการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานจัดเก็บต่าง ๆ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นมาก
(3.3) อากรขาเข้า
จัดเก็บได้ จำนวน 28,572 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,442 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.3 เป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตและสินค้าเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น
เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของปีงบประมาณ 2545 และ 2546 แล้ว ในปี 2546 รัฐบาลจัดเก็บรายได้รวมทั้งสิ้น 1,007,444 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาจำนวน 140,253 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 147,469 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจมีการปรับตัวดีขึ้น ทั้งในภาคการบริโภค การส่งออก และการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมาร้อยละ 15.3 , 18.4 และ 13.4 ตามลำดับ และเพิ่มสูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ในเอกสารงบประมาณร้อยละ 16.6 , 23.3 และ 6.9 ตามลำดับ โดยภาษีเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นภาษีที่กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บได้ คือ ประมาณร้อยละ 56.7 และ 56.8 ในปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ
(4) การเบิกจ่ายงบประมาณ
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2546 ภาครัฐได้เร่งการเบิกจ่ายมากขึ้นในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยมีการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจำนวน 248,364 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.8 ของงเงินงบประมาณ 999,900 ล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา และสูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณ 1,023,000 ล้านบาท โดยแยกเป็น
รายจ่ายประจำ 191,168 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 ของงบประมาณรายจ่ายประจำ 775,875 ล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 24.0 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำ 752,770 ล้านบาท
รายจ่ายลงทุน 57,196 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.7 ของงบประมาณรายจ่ายลงทุน 144,125 ล้านบาท สูงกว่าการเบิกจ่ายในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 23.9 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน 270,230 ล้านบาท
โดยภาพรวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณจากคลังในปีงบประมาณ 2546 ได้ทั้งสิ้น 898,262 ล้านบาท หรือร้อยละ 89.8 ของวงเงินงบประมาณ 999,900 ล้านบาท สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายของปีงบประมาณที่แล้วเพียงเล็กน้อย ที่มีการเบิกจ่ายร้อยละ 89.7 โดยการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2546 จำแนกเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 765,825 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.7 ของงบประมาณรายจ่ายประจำ 775,875 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 132,437 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.9 ของงบประมาณรายจ่ายลงทุน 144,125 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2546 ยังมีปัญหาอุปสรรคในการเบิกจ่ายอยู่บ้าง เช่น ความล่าช้าของการโอนเงินงบประมาณส่วนราชการไปส่วนภูมิภาค การขอโอนเปลี่ยนแปลงรายการกับสำนักงบประมาณในระหว่างปีงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจการปฏิรูประบบราชการที่มีการปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงการคลังก็ได้มีการกำหนดมาตรการในการเร่งรัดการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่มีผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2546 อย่างจริงจัง ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 เป็นอัตราการเบิกจ่ายที่สูงสุดในรอบ 10 ปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยอัตราการเบิกจ่ายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 79.2 ในปีงบประมาณ 2536 เป็นร้อยละ 89.8 ในปีงบประมาณ 2546
(ยังมีต่อ).../(5)รัฐวิสาหกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ