(ต่อ1) ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 และแนวโน้มปี 2547 (ภาวะการคลัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 8, 2004 15:21 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        (5)  รัฐวิสาหกิจ 
ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจจำนวน 50 แห่ง ในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2546 มีกำไรสุทธิจำนวน 12,925.25 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 3,256.25 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 33.7 และสูงกว่ากำไรสุทธิของไตรมาสเดียวกันในปีงบประมาณ 2545 จำนวน 9,890.25 ล้านบาท โดยมีเงินสดที่ต้องจัดหาเพื่อการลงทุน (RI)จำนวน 35,358.58 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 4,336.51 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินสดที่ต้องจัดหาเพื่อการลงทุน (RI) ในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2545 จำนวน 4,209.42 ล้านบาท และการเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณนี้ เบิกจ่ายไปแล้ว 32,391.47 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 12,562.09 ล้านบาท และต่ำกว่าการเบิกจ่ายของไตรมาสเดียวกันในปีงบประมาณ 2545 จำนวน 1,594.53 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2545 และ 2546 ปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2546 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีกำไรสุทธิจำนวน 80,724.33 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายจำนวน 16,585.25 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 25.9 แต่ต่ำกว่ากำไรสุทธิของปีงบประมาณ 2545 จำนวน 21,499.67 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 21.0 โดยมีเงินสดที่ต้องจัดหาเพื่อการลงทุน (RI) จำนวน 137,527.99 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 5,734.02 ล้านบาท และต่ำกว่าเงินสดที่ต้องจัดหาเพื่อการลงทุน (RI) ในปีงบประมาณ 2545 จำนวน 20,991.01 ล้านบาท และการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2546 นี้ ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 93,488.03 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายจำนวน 54,444.65 ล้านบาท และต่ำกว่าการเบิกจ่ายของปีงบประมาณ 2545 จำนวน 25,037.97 ล้านบาท
(6) สถานะหนี้ของประเทศ : ยอดหนี้สาธารณะคงค้างในช่วง 3 ไตรมาสแรกที่ผ่านมาเปลี่ยนแปลงลดลงเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟู แต่เมื่อเทียบกับ GDP แล้วลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้นของ GDP เป็นสำคัญ
(6.1) หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 : อยู่ที่ระดับร้อยละ 49.7 ของ GDP ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายตามแผนฯ 9 หนี้สาธารณะคงค้าง ประกอบด้วย หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) โดยมีจำนวนยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 รวม 2,918,056 ล้านบาทหรือร้อยละ 49.7 ของ GDP ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 60-62 ของ GDP ตามที่กำหนดเป็นเป้าหมายในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 นอกจากนี้ในกรณีที่ไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจเนื่องจากที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจไทยมีความมั่นคงสูง ยังไม่เคยมีการผิดนัดชำระหนี้ และถ้าหากไม่นับรวมหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ในส่วนที่รัฐไม่ได้ค้ำประกันเข้าไปด้วยแล้วพบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เหลือเฉพาะในส่วนของรัฐบาลกู้โดยตรงรวมกับส่วนของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่รัฐบาลค้ำประกัน จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 29 ซึ่งนับว่ายังเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำ
(6.2) โครงสร้างหนี้สาธารณะ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 : สัดส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ต่อ GDP อยู่ที่ประมาณร้อยละ 28, 15 และ 7 ตามลำดับ
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง มีจำนวน 1,639,644 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.9 ของ GDP ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศถึงร้อยละ 79.7 และในจำนวนนี้เป็นการกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มากที่สุด ในขณะที่ยอดหนี้คงค้างเงินกู้ต่างประเทศมีสัดส่วนร้อยละ 20.3
(2) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มีจำนวน 851,049 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 ของ GDP โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ในส่วนที่รัฐบาลค้ำประกันสูงถึงร้อยละ 81.6 และหากพิจารณาในรูปสัดส่วนหนี้ในประเทศต่อต่างประเทศ (ทั้งที่รัฐค้ำประกันและไม่ค้ำประกัน) จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 57 : 43
(3) หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ มีจำนวน 427,363 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 ของ GDP โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันสูงถึงร้อยละ 85.5
(6.3) การเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะคงค้างในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 : ยอดหนี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ในประเทศในส่วนที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพื่อชดเชยการขาดดุล รวมทั้งหนี้ในส่วนที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันให้กับทั้งของรัฐวิสาหกิจและกองทุนฟื้นฟูฯ
ยอดหนี้สาธารณะคงค้างรวม ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 เทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปีเดียวกัน เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจำนวน 18,099 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สาเหตุสำคัญเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของเงินกู้ในประเทศเพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณการเปลี่ยนแปลงหนี้สาธารณะในส่วนต่าง ๆ เป็นดังนี้
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง เพิ่มขึ้น 24,665 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะในส่วนของหนี้ในประเทศจำนวนมากถึง 53,491.ล้านบาท ในขณะที่หนี้ต่างประเทศลดลง 28,826 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนหนี้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะในส่วนของเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน 55,491 ล้านบาท ในขณะที่การกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ลดลงจำนวน 2,000 ล้านบาท
(2) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ลดลง 12,756 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.5 โดยเป็นการลดลงทั้งในส่วนของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกัน (ทั้งหนี้ในประเทศและต่างประเทศ) จำนวน 29,656 ล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันเฉพาะหนี้ต่างประเทศจำนวน 4,765 ล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ในประเทศนั้นเพิ่มขึ้น 21,665 ล้านบาท แต่หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของหนี้รัฐวิสาหกิจทั้งหมดในรูปหนี้ในประเทศและต่างประเทศแล้ว ปรากฏว่าหนี้ต่างประเทศลดลงอย่างมากถึง 32,186 ล้านบาท ในขณะที่หนี้ในประเทศเพิ่มขึ้น 19,430 ล้านบาท
(3) หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 6,190 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากเฉพาะในส่วนของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เป็นหนี้ที่เกิดจากการเข้าไปให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และรัฐบาลรับที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินงานดังกล่าว1 ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 กองทุนฯ มีหนี้สินรวม
(6.4) การเปลี่ยนแปลงของหนี้สาธารณะคงค้างในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2546 : ยอดหนี้คงค้างลดลงเล็กน้อย เนื่องจากการลดลงของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง และหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูค่อนข้างมากก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับ GDP แล้วลดลงค่อนข้างมากนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้นของ GDP เป็นสำคัญ
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 ลดลงจากปลายปี 2545 จำนวน 12,744 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.4 แต่เมื่อเทียบสัดส่วนต่อ GDP แล้วลดลงค่อนข้างมากจากร้อยละ 53.9 ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2545 เป็นร้อยละ 49.7 ต่อ GDP ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 เนื่องจากการเพิ่มสูงขึ้นมากของ GDP ในช่วงดังกล่าว ส่วนสาเหตุสำคัญที่ยอดหนี้สาธารณะลดลงในช่วงดังกล่าวนั้น เนื่องจากการลดลงของหนี้รัฐบาลกู้โดยตรงและหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงหนี้สาธารณะในส่วนต่าง ๆ ดังนี้
(1) หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง ลดลง 50,493 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3 โดยเป็นการลดลงเฉพาะในส่วนของหนี้ต่างประเทศจำนวน 63,971 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 16.1 ในขณะที่หนี้ในประเทศเพิ่มขึ้นจำนวน 13,479 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเฉพาะจากส่วนเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลเงินงบประมาณ จำนวน 25,479 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แต่ในส่วนของเงินกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ ลดลงจำนวน 12,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดคงค้างจากการกู้เงินในโครงการช่วยเพิ่มเงินกองทุนโดยการออกพันธบัตรนั้นยังคงที่ที่จำนวน 69,146 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบสัดส่วนของสถานะหนี้ต่างประเทศต่อหนี้ในประเทศแล้ว ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากู้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2546 หนี้ในประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรงได้เพิ่มจากร้อยละ 77 ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ร้อยละ 80 ของหนี้ในประเทศที่รัฐบาลกู้โดยตรงทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546
(2) หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ลดลง 49,620 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นการลดลงเฉพาะในส่วนของหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันจำนวน 61,835 ล้านบาท ในขณะที่หนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกันยังคงเพิ่มขึ้น 12,215 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาในแง่โครงสร้างการก่อหนี้แล้ว รัฐวิสาหกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงมากู้ในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับภาครัฐบาล โดยหนี้ในประเทศที่รัฐวิสาหกิจกู้ได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 53 ณ สิ้นปี 2545 มาอยู่ที่ร้อยละ 57 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546
(3) หนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 87,369 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันจำนวน 137,369 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.3 ในขณะที่หนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงจำนวน 50,000 ล้านบาทหรือลดลงร้อยละ 44.6
(6.5) ยอดหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณ : มีจำนวน 1.6 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 27 ของ GDP ในทางปฏิบัติ ยอดหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณจะไม่เท่ากับยอดหนี้คงค้างที่รัฐบาลกู้โดยตรง เนื่องจากต้องหักหนี้ส่วนที่รัฐบาลกู้แล้วให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อออกไป และหักหนี้พันธบัตรตามโครงการช่วยเพิ่มกองทุนขั้นที่ 1 และ 2 (เนื่องจากรัฐบาลได้หุ้นบุริมสิทธิ์หรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์จากสถาบันการเงินเหล่านั้นเป็นการตอบแทน ซึ่งตราสารดังกล่าวให้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนพันธบัตรรัฐบาล) รวมทั้งต้องบวกการชำระหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลรับภาระแทนตามมติ ครม. เข้าไปด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงกับยอดหนี้ที่เป็นภาระต่องบประมาณจะใกล้เคียงกัน คือ ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงมีจำนวน 1,639,644 ล้านบาท ในขณะที่ยอดหนี้ที่เป็นภาระงบประมาณมีจำนวน 1,608,904 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP ซึ่งก็คือยอดหนี้ที่เป็นภาระต่อประชาชนผู้เสียภาษีอากร โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 ยอดหนี้เงินกู้คงค้างที่เป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีเดียวกัน แต่ลดลงถึง 81,676 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 4.8 นับตั้งแต่ต้นปี 2546
(6.6) ยอดหนี้คงค้างต่างประเทศของภาครัฐแยกตามสกุลเงิน : ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี2546 มีจำนวน 16,525 ล้านดอลลาร์ สรอ. และมีสัดส่วนเงินกู้สกุลเยนและดอลลาร์สรอ. ร้อยละ 60.4 และ 37.0 ตามลำดับ โดยเงินกู้สกุลเยนมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่สัดส่วนเงินกู้สกุลดอลลาร์ สรอ. ลดลงอย่างต่อเนื่อง
(1) ยอดหนี้คงค้างต่างประเทศของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่รัฐค้ำประกันยังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องโดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2546 มีจำนวนรวม 16,525 ล้านดอลลาร์ สรอ. แบ่งเป็นหนี้ของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน จำนวน 8,317 และ 8,208 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.3 และ 49.7 ของหนี้คงค้างต่างประเทศ ตามลำดับ ซึ่งจากยอดหนี้คงค้างรวมหนี้ในสกุลเงินเยนมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 60.4 ในขณะที่หนี้ในสกุลดอลลาร์สรอ. มีสัดส่วนรองลงมาที่ร้อยละ 37.0 ของยอดหนี้คงค้างต่างประเทศ
(2) สัดส่วนสกุลเงินกู้ในยอดหนี้คงค้างเริ่มทรงตัว โดยสกุลเยน และดอลลาร์ สรอ.รวมกันยังคงมีสัดส่วนสูงสุด กล่าวคือเงินกู้คงค้างในรูปสกุลดอลลาร์ สรอ. และเยนรวมกันยังคงมีสัดส่วนสูงสุดประมาณร้อยละ 97 ในขณะที่ส่วนที่เหลือได้แก่ ฟรังค์สวิสและสกุลอื่น ๆ นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในแง่โครงสร้างสกุลเงินกู้หลักในยอดหนี้คงค้างแล้ว สัดส่วนการกู้ในสกุลเยนได้เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย จากที่ได้เริ่มทรงตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2546 จากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 60 ในขณะที่สัดส่วนการกู้ในสกุลดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากร้อยละ 39 เป็นร้อยละ 37 ในช่วงเวลาเดียวกัน
(ยังมีต่อ).../(7) ภาพรวมสถานะ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ