ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2554-2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 15, 2011 14:58 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาฟื้นตัวจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี
  • หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2554ร้อยละ 0.5 (%QoQ SA)
  • ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 17.2 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.5และ 4.7 ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP
  • การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 — 5.5ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมีแรงกระตุ้นทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ19.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.4 และ 10.3ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.0 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.7และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2554 และในปี 2555 (1) การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำ ในปี 2555ประกอบด้วย (1.1) การเร่งรัดดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูและเยียวยา เพื่อให้ภาคการผลิตและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2555 (1.2) การดูแลป้องกันปัญหาการขาดแคลนสินค้าและความเป็นธรรมทางด้านราคาสินค้าในช่วงหลังน้ำลด โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูบูรณะที่อยู่อาศัยของประชาชนและภาคธุรกิจ (1.3) การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเร่งรัดการสร้างระบบเตือนภัยและระบบป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย และ (1.4) การวางแผนและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวเพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน(2) การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนของค่าเงิน และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังอย่างเหมาะสมโดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่สำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ และ (3) การเร่งรัดการปฏิรูปทางการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวและการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอัตราภาษี ควบคู่ไปกับการขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2554 - 2555

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีแรงขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรมที่กลับมาฟื้นตัวจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2554 (ปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว) ขยายตัวร้อยละ 0.5 เฉลี่ยในช่วง 9เดือนแรกของปี 2554 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.1

ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สาม ปี 2554

(1) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้สูงถึง 63,296 ล้านดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 27.3 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 19.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าหลัก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขยายตัวร้อยละ 14.1 10.8 และ 30.6 ตามลำดับ

รวม 9 เดือนแรกของปี การส่งออกมีมูลค่า 176,641 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 24.6

ตลาดส่งออกหลักยังคงขยายตัว ได้แก่ จีน สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 62.8 25.5 34.7 21.0 และ 10.8 ตามลำดับ

(2) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสสาม มีจำนวน 4.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชียเป็นหลัก เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.2 43.8 และ 38.1 ตามลำดับ โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 197,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 56.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 46.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.0

รวม 9 เดือนแรกของปี มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 14.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1

(3) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตหลัก เริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 14.3 4.3และ 9.2 ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 64.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.1 และ64.2 ของไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เฉลี่ย 9 เดือนแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.6

(4) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 9.1 เทียบกับร้อยละ 8.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือและการก่อสร้าง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.1 และ 6.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และปูนซิเมนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.4 ในไตรมาสที่ผ่านมา

ปัจจัยลบต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม ปี 2554

(1) ภาคเกษตรกรรม หดตัวร้อยละ 0.9 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้รับผลกระทบจากอุทกภัย รวมทั้งการลดลงของผลผลิตยางเนื่องจากภาวะฝนตกชุกในภาคใต้ ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ชะลอตัว ทำให้โดยรวมเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.4 เทียบกับร้อยละ 25.7ในไตรมาสก่อน

(2) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ชะลอตัวลง โดยมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการบริโภคในสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งแนวโน้มที่สูงขึ้นของเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีขยายตัวร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยประสบภัยพิบัติอุทกภัยตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสที่สาม ต่อเนื่องในไตรมาสที่สี่ ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทำให้ภาคการผลิตทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตในเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น และเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วน และวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งได้ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเนื่องจากประเทศต่างๆ ได้ประกาศเตือนในการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยประมาณ 18.8 ล้านคน ลดลงจากเดิมที่ประมาณการไว้ 19.5 ล้านคน

ดังนั้นในการแถลงภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้ สศช. ได้ปรับลดการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 จากร้อยละ 3.5 — 4.0 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 เป็นร้อยละ 1.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.5 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 17.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 2.2 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.4 ของ GDP ในปี 2553

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.5 — 5.5 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งอุปสงค์ภายในและต่างประเทศ โดยการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 พร้อมทั้งการดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อและมาตรการภาษีที่มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนในการสร้างงานเพิ่มขึ้น รวมถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลงทุนของภาคเอกชนในเครื่องจักรใหม่และซ่อมแซมเครื่องจักร ส่วนด้านอุปสงค์ต่างประเทศปรับได้ดีจากขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นหลัก

คาดว่าในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 — 4.0 การบริโภคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.4 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 10.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 19.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 1.2 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2554 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายซื้อสินค้าชะลอตัวลงในทุกประเภท ยกเว้นสินค้าคงทนประเภทรถยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตและประกอบรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นได้คลี่คลายลง ในไตรมาสนี้สินค้าคงทนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 10.2 ปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน ได้แก่การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้ที่เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งได้ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 73.5 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ระดับ 71.3 ทั้งนี้ สถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายในระยะต่อไปมากขึ้น

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 9.1 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.1 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักรชะลอตัวในช่วงปลายไตรมาส เนื่องจากได้มีการเร่งนำเข้าในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสตามแผนการลงทุนขยายกำลังการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 6.1 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากระดับ 55.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 53.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจในอนาคตลดลง จากต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การปรับราคาสินค้าดำเนินการได้ยาก ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตลอดจนปัญหาอุทกภัย ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะต่อไป

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามปี 2554 คิดเป็นมูลค่า 63,296 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,906,882 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 27.3 โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 และ 6.4 ตามลำดับ เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 68.6 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.5 และ 17.6 ตามลำดับ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการจากประเทศจีน ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และผลไม้สดและแช่แข็ง สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และ 25.9 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 5.2 โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนขยายตัวร้อยละ 11.3 ยานพาหนะและชิ้นส่วนขยายตัวร้อยละ 10.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่สองที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 11.0 เนื่องมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต ในขณะที่การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 14.1 เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 และ 36.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.3 และ 32.1 ในไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 17.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2554

ตลาดส่งออก: ขยายตัวทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะ สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน (9) ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 และ 34.7 ตามลำดับ ตลาดหลักที่มีอัตราการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกาที่ขยายตัวร้อยละ 21.0 และ 5.2 เทียบกับร้อยละ 35.9 และ 17.5 ในไตรมาสก่อนตามลำดับ ส่วนตลาดอื่นๆ ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.8 จากร้อยละ 22.7 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปออสเตรเลียกลับมาขยายตัวร้อยละ 10.8 หลังจากที่ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาสจากการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบและทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป

การนำเข้า: ทั้งมูลค่า ปริมาณและราคาขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สามของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 33.4ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 28.0 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากราคาสินค้าเชื้อเพลิงและทองคำที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 24.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 19.0 ในไตรมาสก่อนปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการนำเข้าในไตรมาสนี้เป็นผลมาจากอุปสงค์สินค้าเกือบทุกหมวดขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ชะลอตัวลงทั้งมูลค่า ปริมาณ และราคา

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่า ราคา และปริมาณ ยกเว้นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ชะลอตัวลงทั้งมูลค่า ปริมาณและราคา หลังจากขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่ผ่านมา โดยสินค้าทุนมีมูลค่าขยายตัวร้อยละ 23.9 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 20.9 ในไตรมาสก่อน สินค้าทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งเครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรม คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์ที่ใช้กับสายตา ภาพยนตร์และการถ่ายภาพ สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางมูลค่าขยายตัวร้อยละ 19.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 27.0 ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าขยายตัวร้อยละ20.6 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 17.2 สินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ชาและกาแฟและนาฬิกาและเครื่องประดับ ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมูลค่าขยายตัวร้อยละ 63.8 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 38.0 ในไตรมาสก่อน โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.6เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเก็งกำไรในตลาดทุนและความไม่สงบในแอฟริกาเหนือ

อัตราการค้า (Term of Trade) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2554 หดตัวร้อยละ 4.7 เป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกัน 3 ไตรมาส

ดุลการค้า: เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยเกินดุล 7,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. (231,562 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล7,295 ล้านดอลลาร์ สรอ. (221,424 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้ข้าวนาปี และนาปรังบางส่วนได้รับความเสียหายส่งผลให้ผลผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.7 ส่วนยางพาราลดลงร้อยละ 10.9 เนื่องจากมีฝนตกชุกในแหล่งผลิตสำคัญ อย่างไรก็ตามผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 เนื่องจากการขยายตัวของพื้นที่ให้ผลผลิต

ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.7 โดยราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 และปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 และ 10.3 ซึ่งชะลอลงจากร้อยละ 36.4 และ 44.7 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ โดย

(1) ราคายางพาราชะลอลงตามอุปสงค์ในตลาดโลก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และยุโรป และ (2) ราคาปาล์มน้ำมันชะลอลงตามราคาในตลาดโลกเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากทั้งผลผลิตของไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในขณะเดียวกันราคาข้าวเปลือกขยายตัวร้อยละ 14.3 จากการที่ผู้ประกอบการส่งออกข้าวมีความต้องการซื้อข้าวเก็บสำรองไว้ก่อนการปรับเปลี่ยนนโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตรจากมาตรการประกันราคามาเป็นการรับจำนำข้าวเปลือกซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 7 ตุลาคม2554การลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรและการชะลอตัวของราคาสินค้าเกษตรสำคัญส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวเพียงร้อยละ 7.4 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 43.1 และ 25.7 ในไตรมาสแรกและสองของปี ตามลำดับ

สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.1 จากที่หดตัวร้อยละ 0.1 ในจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติกที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 4.3 และ 9.2 ตามลำดับ หลังจากประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อต้นปี รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาคเอกชน ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์และคอนกรีต ขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 9.3 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จากการที่สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกยังไม่คลี่คลายประกอบกับค่าเงินบาทที่ยังคงผันผวนทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศต่อสินค้าอุตสาหกรรมบางประเทศของไทยหดตัวลง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม หลอดอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ ที่หดตัวร้อยละ 26.5 9.8 และ 39.4 ตามลำดับ ส่วนดัชนีสินค้าคงคลังไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับไตรมาสก่อน แสดงให้เห็นว่ายังคงมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มสินค้าคงคลังในระบบอย่างต่อเนื่อง

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 64.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 59.1 และร้อยละ 64.2 ตามลำดับ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 90.3) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (ร้อยละ 83.7) การผลิตยางรถยนต์ (ร้อยละ 83.4) การผลิตเครื่องปรับอากาศ (ร้อยละ 82.6) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 80.8) และการผลิตเม็ดพลาสติก (ร้อยละ 80.5) ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตน้อยกว่าร้อยละ 50 เช่น การผลิตยาสูบ (ร้อยละ 49.6) การผลิตเหล็กกล้า (ร้อยละ49.4) การผลิตเครื่องนุ่งห่ม (ร้อยละ 48.2) อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ร้อยละ 44.8) การผลิตหนังฟอก (ร้อยละ40.7) และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 28.9) เป็นต้น

สาขาก่อสร้าง หดตัวร้อยละ 5.6 ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากก่อสร้างภาครัฐที่หดตัวร้อยละ 15.3 เนื่องจากโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ส่วนใหญ่สิ้นสุดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุนด้านการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจชะลอลง ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 เป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ

ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 6.5 เป็นผลมาจากราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ส่วนราคาไม้ และซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 และ 12.5 ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.2 และ 15.2 ตามลำดับ การที่ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในระยะต่อไป

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอการตัดสินใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อรอความชัดเจนของมาตรการอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐบาล ซึ่งเห็นได้จากเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 5.8 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบกับระดับราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งราคาบ้านเดี่ยว ทาวส์เฮาวส์ และอาคารชุด รวมถึงราคาที่ดิน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 9.2 15.7 และ 8.6 ตามลำดับ

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 10.0 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 19.8 ไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 4.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.7 ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทวีปเอเชีย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.2 43.8 และ 38.1 ตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 56.9 ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 46.7

ด้านรายรับจากการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้มีมูลค่า 197,815 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 142,424 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.9

การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงขยายตัว สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.4 และ 25.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ในไตรมาสนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวมากนัก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตามเมื่อเมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมได้ขยายมาถึงเขตปริมณฑลและกรุงเทพตั้งแต่เดือนตุลาคม และสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ประกอบกับประเทศต่างๆจำนวน 42 ประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2554) ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2554 ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาประเทศไทยในเดือนตุลาคมมีจำนวน 1.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7

การจ้างงาน ไตรมาสที่สาม ปี 2554 มีการจ้างงาน 39.32 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร โดยภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 และนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาอุตสาหกรรม ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 2.3 และ 0.9 ตามลำดับ

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 2.62 แสนคน ลดลงจำนวน 0.79 แสนคนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 23.0 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

สถานการณ์ตึงตัวของตลาดแรงงานในไตรมาสนี้เริ่มผ่อนคลายลง โดยสะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่เท่ากับร้อยละ 0.7 ลดลงจากไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 1.0และ 0.8 ตามลำดับ

ภาวะการคลัง

ในไตรมาสสี่ปีงบประมาณ 2554 (กรกฎาคม — กันยายน 2554) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ504,151.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน และสูงกว่าประมาณการ59,381.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการค่อนข้างมาก ได้แก่ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวค่อนข้างสูงของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เก็บจากยอดการประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบบัญชีปี 2554 (ภ.ง.ด. 51) ที่ครบกำหนดชำระในเดือนสิงหาคม 2554 ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ในครึ่งปีแรกของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 31.3 ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น สำหรับรายได้รวมสุทธิของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — กันยายน 2554) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,891,026 ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 241,017 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.6 และสูงกว่าปีงบประมาณก่อน 186,548.9ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.9

การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสี่ปีงบประมาณ 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 479,370.6 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 จำนวน 457,956 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.1 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 ทั้งหมด ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ 384,839 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21.2 ของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 73,117.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.6 ของรายจ่ายลงทุน และ 2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันเหลื่อมปี จำนวน 21,414.6 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 11.7 ของงบประมาณกันเหลื่อมปีทั้งหมด ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 17.7 เมื่อรวมทั้งปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — กันยายน 2554) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี2554 รวม 2,050,523.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 1.5 (เป้าหมายการเบิกจ่าย ร้อยละ 93.0) ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนมีการเบิกจ่ายรวม263,557.4 คิดเป็นร้อยละ 74.1 ของงบประมาณรายจ่ายงบลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 72.0 ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณกันเหลื่อมปี รวม 127,355.3 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.3 ของงบกันเหลื่อมปีทั้งหมด

โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ไตรมาส 4 ปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายรวม12,094.8 ล้านบาท โดย ณ สิ้นไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลได้มีการจัดสรรงบประมาณ ทั้งสิ้น342,666.4 ล้านบาท มีการเบิกจ่าย 295,763.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 86.3 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.3 โดยมีโครงการที่มีการเบิกจ่ายเสร็จสมบูรณ์ 29,384 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 65.8 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) ดำเนินการเบิกจ่ายไปแล้ว 12,205 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 27.4 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) ยังไม่มีการเบิกจ่าย 377 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง 1,791 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 4.0 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) และโครงการที่รอการจัดสรรงบประมาณ 872 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของจำนวนโครงการทั้งหมด) โดยมีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งหมด 44,629 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 349,960.4 ล้านบาท

ฐานะการคลังในไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 2554 ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสดก่อนกู้เกินดุล159,018.3 ล้านบาท เป็นการเกินดุลเงินงบประมาณ 21,019.9 ล้านบาท และเงินนอกงบประมาณ137,998.4 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน รวมทั้งสร้างความมั่นคงของฐานะทางการคลัง โดยการกู้เงินเพิ่มเติมจำนวน 61,228.0 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 220,246.3 ล้านบาท และเมื่อรวมทั้งปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 —กันยายน 2554) รัฐบาลเกินดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) เกินดุล 91,967.9 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 มีจำนวน 521,290 ล้านบาท ยังอยู่ในระดับที่มีความมั่นคงสูง ส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายด้านการคลังของรัฐบาลให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 มีจำนวน 4,269,026.8 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 2,325.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.1 และสูงกว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553 (กันยายน 2553)38,282.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.9 โดยเมื่อเทียบสัดส่วนต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้างคิดเป็นร้อยละ 40.2 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 41.9 ของ GDP ณ สิ้นปีงบประมาณ 2553

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มสูงขึ้น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง รวมร้อยละ 0.50 จากร้อยละ 3.00 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี จากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของจีนอินเดียและสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากได้ปรับขึ้นในไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยมีสาเหตุหลักจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2554 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงและปัญหาอุทกภัยภายในประเทศ ในขณะที่อินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในไตรมาสที่ 3 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ย MLR ของ 4 ธนาคารใหญ่ ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 2 อีกร้อยละ 0.52 และร้อยละ 0.37 ทำให้ ณ สิ้นไตรมาส อัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ประเภทอยู่ที่ร้อยละ 2.87 ต่อปีและร้อยละ 7.25 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.06 ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 เป็นร้อยละ 4.03 ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้น โดยณ สิ้นไตรมาสที่ 3 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.82 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.22 ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบน้อยลงจากร้อยละ -1.71 ต่อปีเป็นร้อยละ -1.16 ต่อปี

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 14.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชะลอตัวลงของตั๋วแลกเงิน (B/E) จากร้อยละ 81.9ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 69.4 ตามทิศทางการปรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลการออกตั๋วแลกเงินที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องนับรวมมูลค่าการออกตั๋วแลกเงินเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายที่ร้อยละ 6 ของเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น สำหรับเงินฝากชะลอตัวลงเล็กน้อยโดยส่วนหนึ่งมาจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทำให้ประชาชนหันไปถือครองเงินสดเพิ่มขึ้น

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.3 จากร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจยังคงขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 18.5 จากร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อนหน้าตามความต้องการสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 16.8 จากร้อยละ 16.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และมาตรการในการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ชะลอตัวลงเนื่องจากนโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาลความยังไม่มีความชัดเจน จำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อคงค้างขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs1) ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากร้อยละ1.6 ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้เป็นสำคัญ

สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 94.0 จากร้อยละ 93.2 ในไตรมาสก่อนหน้าจากการขยายตัวของสินเชื่อในขณะที่เงินฝากชะลอตัวลงส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงจาก 1.49 ล้านล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1.41 ล้านล้านบาท แต่ยังเป็นระดับที่สูงและสามารถเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสที่สามของปี 2554 เท่ากับ 30.13 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่ร้อยละ 0.5 และ 4.6 ตามลำดับ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในเดือนกรกฎาคมจากความชัดเจนของสถานการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งมุมมองเชิงบวกต่อตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ตามค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในเดือนสิงหาคมและกันยายน และอ่อนค่าสุดที่ 31.18 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยสาเหตุหลักมาจากความไม่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ลดลงร้อยละ1.4 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ลดลงร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 30.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.5 ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ย 10 เดือนแรกของปีอยู่ที่ 30.37 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ส่วนค่าเฉลี่ยในวันที่ 1 - 18 พฤศจิกายน เท่ากับ 30.79 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ(2) ในไตรมาสที่สามปี 2554 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 2.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.เพิ่มขึ้นจากการไหลออกสุทธิ 0.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยที่เพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 0.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า และการเพิ่มขึ้นของการให้สินเชื่อการค้าต่อคู่ค้าต่างชาติของภาคธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่รับฝากเงิน

หมายเหตุ(2) ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้าย ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ปี 2554 เป็นตัวเลขประมาณการที่อ้างอิงจากข้อมูลเร็วบางส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยและจะมีการปรับในเดือนถัดไป

ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 3,146 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 94,891 ล้านบาท) เกินดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 1,396 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 42,925 ล้านบาท) เป็นผลจากการเกินดุลการค้า 7,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอน 4,530 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2554 เท่ากับ 182.01 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 28.89 พันล้านดอลลาร์) และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.3 เดือน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2554 คงที่ที่ร้อยละ 4.1 หลังจากที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปี 2553 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาอาหารสดประเภทผักผลไม้และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.3 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาอาหารสดประเภทผักผลไม้เป็นสำคัญ ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารสำเร็จรูปและเนื้อสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของดัชนีราคาในหมวดเคหสถาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า เนื่องจากได้มีการปรับมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ให้มีผลเฉพาะผู้ใช้มิเตอร์ไฟฟ้าที่มีขนาดไม่เกิน 5 แอมแปร์โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงชะลอตัวตามราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับผลจากการใช้มาตรการชะลอการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพื่อลดภาระของผู้บริโภค ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 และ 2.4 ในไตรมาสที่หนึ่งและสองตามลำดับโดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งผ่านของราคาอาหารสำเร็จรูปที่บริโภคทั้งในและนอกบ้านเป็นสำคัญ(3)

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามของปี 2554 เท่ากับร้อยละ 5.6 ลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 6.4 และ 5.8 ในไตรมาสที่หนึ่งและสอง ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์แร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ตลอดจนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตทั้งราคาวัตถุดิบสำหรับอาหาร และที่มิใช่อาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง(4)

หมายเหตุ(3) ในเดือนตุลาคม 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 4.2 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.9 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.8 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.3

(4) ในเดือนตุลาคม 2554 ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 4.2 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 5.8

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงมาก จากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติและสถาบัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมตามสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากการเลือกตั้งทั่วไป ก่อนที่จะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซที่อาจจะลุกลามไปยังอิตาลีและสเปน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันมียอดขายสุทธิรวมทั้งไตรมาส 24.2 พันล้านบาท โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาสที่สามปิดที่ 916.21 จุด ลดลงร้อยละ 12.0จาก ณ สิ้นไตรมาสที่สอง มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 29.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สองมาอยู่ที่ 32.3 พันล้านบาท

ในเดือนตุลาคม ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาปิดที่ 974.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิที่1.5 พันล้านบาท และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 32.3 พันล้านบาทเป็น 25.7 พันล้านบาท โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปที่มีความชัดเจนขึ้น และแนวโน้มผลประกอบการที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาล ในขณะที่ช่วงปลายเดือนตุลาคมตลาดหลักทรัพย์ไทยกลับมาเคลื่อนไหวผันผวนอีกครั้ง เนื่องมาจากนักลงทุนมีความกังวลต่อผลการทำประชามติของรัฐบาลกรีซตามแผนช่วยเหลือของสหภาพยุโรป ล่าสุดวันที่ 18 พฤศจิกายน ดัชนีราคาปิดตัวที่ 984.2 จุด

มูลค่าซื้อขายพันธบัตรและนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิลดลงเล็กน้อย มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด(Outright Transaction) ในไตรมาสที่สาม อยู่ที่ 69.8 พันล้านบาทต่อวัน ลดลงจาก 77.7 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 171.5 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 197.1 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเทขายพันธบัตรและการชะลอการลงทุนในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนตามความกังวลในมาตรการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซที่ยังขาดความชัดเจน และสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความเปราะบาง ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุต่ำกว่า 1 ปีและ 20 ปีขึ้นไปปรับตัวสูงขึ้น แต่อายุระหว่าง 1-20 ปีปรับลดลง

ในเดือนตุลาคม มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดปรับลดลงเหลือเพียง 59.2 พันล้านบาทต่อวัน จาก 69.8 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสที่สาม เนื่องจากอุปทานพันธบัตรที่มีจำกัด ส่วนนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 9.9 พันล้านบาท ตามความชัดเจนขึ้นของแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤติการเงินในยุโรปและแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงถัดไป ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงทุกช่วงอายุ

การระดมทุนของภาคเอกชนลดลงเนื่องจากมีการเร่งระดมทุนไปในช่วงก่อนหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีมูลค่ารวม 200.5 พันล้านบาท ลดลงจาก 339.5พันล้านบาทและ 246.4 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สอง และช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นการระดมทุนในตราสารหนี้ 191.6 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตัวกลางทางการเงิน ภาคเหมืองแร่และภาคบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการระดมทุนในตราสารทุน 8.9 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในภาคการขนส่ง และภาคการผลิต

ตราสารภาครัฐหมุนเวียนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั๋วเงินคลังที่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น 125.7 พันล้านบาทและพันธบัตรรัฐบาลที่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น85.8 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากความล่าช้าในการประกาศใช้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555

2. ความเคลื่อนไหวและแนวโน้มราคาน้ำมันปี 2554-2555

ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สาม ปี 2554

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงขยายตัว เป็นผลจากการเก็งกำไรในตลาดทุนและสถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาเหนือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) ในไตรมาสที่สามของปี2554 อยู่ที่ 104.05 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขยายตัวร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ราคาเฉลี่ย 75.03 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2554 - 2555

ในไตรมาสที่สามของปี 2554 และ 10 เดือนแรกของปี 2554 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเท่ากับ 106.92 และ105.73 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และ ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ราคา 110.81ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ 77.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2553 และ สศช.คาดว่าในปี 2554 และปี 2555 ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 105 และ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ

ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ประมาณการราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 โดยหน่วยงานส่วนใหญ่คาดว่าราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 จะสูงกว่ากว่าราคาเฉลี่ยในปี 2554 ยกเว้น Energy Information Administration (EIA)ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าราคาน้ำมัน WTI ปี 2555 จะต่ำกว่าปี 2554 โดยประมาณราคาในปี 2555จะอยู่ที่ 91.13 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ต่ำกว่าปี 2554 ที่คาดว่าจะมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 93.80 ดอลลาร์สรอ. ต่อ บาร์เรล ส่วน Business Monitor International (BMI) คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี2555 จะอยู่ที่ 93.50 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่คาดว่าราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่92.50 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ในขณะที่ JP Morgan และ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบWTI ในปี 2555 จะอยู่ที่ 114.0 และ 109 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ สศช. คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี 2555 จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ราคาน้ำมันในปี 2555 มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่ง EIA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 87.06ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2553 เป็น 88.23 และ 89.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2554 และปี 2555 ตามลำดับ (3) การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน และ (4) สถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาเหนือ

3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามปี 2554

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศที่เร่งตัวขึ้น แต่ความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนสิงหาคม รวมถึงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ โดยบริษัทสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) เป็นสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ชะลอตัวเศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ยังเป็นปัญหาหลักสำคัญของยุโรป เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นโดยมีผลมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่สูงขึ้น และการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลง ประกอบกับการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.5 (%QoQ, sa annualized) เพิ่มขึ้นเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน การใช้จ่ายเพื่อการซื้อบ้านพักอาศัยและการดูแลสุขภาพ การลงทุนในด้านอุปกรณ์และซอฟท์แวร์เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในเครื่องจักรกลก่อสร้างและเครื่องจักรกลทางการเกษตร รวมทั้งเครื่องมือเครื่องจักรอุตสาหกรรมและการขนส่ง อย่างไรก็ดี ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องอีกในไตรมาสที่สาม อยู่ที่ระดับ 51.0 เทียบกับ 56.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และในเดือนตุลาคมลดลงอีกอยู่ที่ระดับ 50.8 สะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมจากความกังวลเกี่ยวกับความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับเพิ่มเพดานหนี้ที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนสิงหาคม ตลอดจนความกังวลในปัจจัยต่างๆ ข้างต้น รวมถึงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ โดยบริษัทสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ (S&P) เป็นสำคัญ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุลเท่ากับ 418.6 พันล้านเหรียญ สรอ. สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดดุล 381.3 พันล้านเหรียญ สรอ. อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สามทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ9.1 เท่ากับในไตรมาสก่อนหน้า มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 14.0 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 14.1 ล้านคน ในเดือนตุลาคมอัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ร้อยละ 9.0 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลงเป็น 13.9ล้านคน การจ้างงานนอกภาคเกษตรในไตรมาสที่สามมีจำนวน 158.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 131.0 ล้านคน ณ สิ้นไตรมาสที่สอง โดยเป็นการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม และนอกภาคเกษตรอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคมการจ้างงานนอกภาคเกษตรได้เพิ่มขึ้น 80,000 ตำแหน่ง โดยการจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาครัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.4 (%YoY) ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ประเทศสำคัญที่มีการชะลอตัวลง เช่น เยอรมัน (ร้อยละ 2.6 จากเดิม ร้อยละ 2.9) ออสเตรีย (ร้อยละ2.8 จากเดิม ร้อยละ 4.0) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 1.1 จากเดิม ร้อยละ 1.6) ในขณะที่สเปน และฝรั่งเศสขยายตัวคงที่ร้อยละ 0.8 และ 1.6 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่แล้ว (%QoQ) ขยายตัวคงที่ร้อยละ 0.2 โดยเยอรมัน และฝรั่งเศสขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และ 0.4 ตามลำดับ สำหรับการว่างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.0 ในไตรมาสที่แล้ว เป็นร้อยละ 10.1 และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยสเปนยังคงมีอัตราการว่างงานสูงที่สุดร้อยละ 22.6 (กันยายน 2554) ในขณะที่ออสเตรียมีอัตราการว่างงานต่ำสุดร้อยละ 3.9 เงินเฟ้อเฉลี่ยคงที่ร้อยละ 2.7 สูงกว่าเป้าหมายระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรป ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2.0 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปซึ่งปรับลดลง 25 basis points เหลือเพียงร้อยละ 1.25 (9 พฤศจิกายน 2554) นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนยังเป็นข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ในขณะที่ปัญหาสถาบันการเงินและหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มยูโรโซนร้ายแรงขึ้นในภาพรวมได้

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสก่อนหน้าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ, s.a.) ในไตรมาสที่สอง เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบสี่ไตรมาส ซึ่งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจมีผลมาจากการใช้จ่ายผู้บริโภคของญี่ปุ่นที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 (%YoY) ขณะที่การลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยของเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และการใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการที่ภาคเอกชนเพิ่มปริมาณการผลิต ทำให้ยอดผลผลิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงกับในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ดังจะเห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ซึ่งได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 51.1 จากระดับ 49.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนี Tankan ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของญี่ปุ่น โดยวัดความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 2 ในไตรมาสที่สามจากระดับ -9 ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ยอดการส่งออกสินค้าและบริการได้ปรับตัวสูงขึ้น โดยขยายตัวร้อยละ 1.1 (%YoY) จากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาเงินเยนแข็ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริษัทส่งออกของญี่ปุ่น ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน และสหรัฐอเมริกาที่ยังคงซบเซา ประกอบกับปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตของญี่ปุ่น รวมทั้งปัญหาต่อระบบการผลิตและจัดส่งสินค้าในเอเชียด้วย

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 9.1 (%YoY) เป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.3 (%QoQ) การที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่ทางการจีนได้บังคับใช้เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในช่วงที่ผ่านมา และความต้องการบริโภคของโลกที่ลดลงโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป โดยการที่ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามชะลอลงสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.9ลดลงจากระดับ 51.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อของจีนยังคงสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 4.0 โดยในเดือนกรกฎาคมได้พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 สูงสุดในรอบ 3 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อได้ปรับลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และ 6.1 ในเดือนสิงหาคม และกันยายน ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ธนาคารกลางจีนได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่สามของปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.56 และ 3.50 ตามลำดับ อัตราเงินสดสำรองทางการสำหรับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 21.5 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสหน้า เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด และอุปสงค์จากต่างประเทศที่ลดลง ประกอบกับการส่งออกและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง

เศรษฐกิจอินเดีย ในไตรมาสที่สามมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากไตรมาสที่สองที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 (%YoY)สะท้อนจากดัชนี PMI (5) ในไตรมาสที่สามได้ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.2 จากระดับ 57.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ และคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง รวมทั้งสัญญาณผลผลิตอุตสาหกรรมประจำเดือนกันยายนที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 จากร้อยละ 4.1 ในเดือนก่อนหน้า ประกอบกับปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อ (WPI) ในเดือนสิงหาคมได้พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.78 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยมีปัจจัยมาจากราคาน้ำมัน และราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลอินเดียได้ประกาศใช้มาตรการคุมเข้มด้านการเงินเพื่อควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) เป็นครั้งที่ 12 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 อีกร้อยละ 0.25จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.25 ทั้งนี้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดได้ส่งผลให้การลงทุนในอินเดียอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำอีกด้วย

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง) สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ5.9 (%YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์เป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวถึงร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตยาที่มีการปรับโครงสร้างใหม่ได้ปรับตัวดีขึ้น(6) อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัย อาหาร และต้นทุนการขนส่ง โดยอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ในเดือนสิงหาคมนับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบสามปี

เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.4 เท่ากับไตรมาสที่สอง อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนสิงหาคมสูงถึงร้อยละ 5.3 สูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้กำหนดไว้ที่ระดับร้อยละ 2-4 เป็นเดือนที่ 8ติดต่อกัน ถือเป็นอัตราสูงที่สุดในรอบสามปี

ไต้หวัน และฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 4.3 ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 และ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ การชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงและไต้หวันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าและบริการเนื่องจากอุปสงค์ภายนอกยังคงอ่อนแอ ประกอบกับการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรม เงินเฟ้อยังเป็นปัญหาสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์และราคาอาหาร ทำให้ในไตรมาสที่สามอัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 6.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สอง ส่วนไต้หวันอัตราเงินเฟ้อได้เร่งขึ้นเล็กน้อยหลังพายุไต้ฝุ่นนันมาดอลได้ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคม ทำให้ในเดือนกันยายนเงินเฟ้อขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 1.37

เศรษฐกิจของออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สองของปี 2554 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกแร่เหล็ก อย่างไรก็ตาม ภาคเศรษฐกิจหลายส่วนของออสเตรเลียยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิตถ่านหิน การส่งออก และความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ในขณะที่การว่างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 5.0 เทียบกับร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่แล้ว สำหรับเงินเฟ้อ (CPI) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่แล้วเหลือร้อยละ 3.5 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของต้นทุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และราคาเวชภัณฑ์ รวมทั้งแนวโน้มของต้นทุนแรงงานนอกภาคเหมืองแร่ทรงตัว ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อคลายตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25 bps เหลือร้อยละ4.5 มีผลตั้งแต่ 2 พ.ย. 2554 นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนยังคงผันผวนในช่วงกว้าง (ประมาณร้อยละ 14)

หมายเหตุ (5) ดัชนี PMI ของอินเดีย จัดทำโดยธนาคารฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ (HSBC PMI)

(6) ด้วยการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตยาที่มีสิทธิบัตร ไปเป็นการเน้นผลิตยาชื่อสามัญ (Generic)

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีโดยเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่แล้ว และคาดว่าทั้งปีจะสูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเวียดนามโดยยังอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ22.4 เพิ่มจากร้อยละ 19.4 ในไตรมาสที่แล้ว ทำให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 15 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 เดือน มาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสที่แล้ว เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่คาดว่าจะขยายตัวเกินร้อยละ 4 เทียบกับร้อยละ 3.4ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอินโดนีเซียขยายตัวคงที่ร้อยละ 6.5 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม (%YoY) ปัญหาเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเริ่มคลายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่แล้ว และมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึง 2ครั้งในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน เหลือร้อยละ 6.5 และ 6.0 ตามลำดับ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

ภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบหลายสิบปี มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีขยายตัวได้ร้อยละ 3.1 ความเสียหายในวงกว้างและการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มหดตัว ทั้งภาคเกษตรซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรและผลผลิตได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้านอุตสาหกรรมแหล่งการผลิตที่สำคัญต้องหยุดการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตของ 7 นิคมอุตสาหกรรม จากจำนวน 15 แห่งทั้งประเทศ และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ภาคการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มลดลง ด้านภาคการท่องเที่ยวความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวลดลง เป็นผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าคาดการณ์ นอกจากนี้ความไม่สะดวกในการเดินทางส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบต่อ GDP โดยรวมลดลงประมาณร้อยละ 2.3

ประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2554

สศช. ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงเป็นร้อยละ 1.5 เทียบกับการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยว่าทั้งปี2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP

องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2554

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 โดยการใช้จ่ายภาครัฐจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ลดลงจากร้อยละ 3.0 การใช้จ่ายครัวเรือนจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับลดลงจากขยายตัวร้อยละ 3.3 ในการประมาณการครั้งก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานรายได้ของประชาชนในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ลดลงจากผลกระทบของอุทกภัย ทั้ง (1) ภาคเกษตรที่ผลผลิตสำคัญได้รับความเสียหายจำนวนมาก (2)ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีโรงงานจำนวนมากต้องหยุดการผลิตเป็นเวลานาน และ (3) ภาคบริการที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง นอกจากนี้การบริโภคยังได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

(2) การลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ปรับลดลงจากร้อยละ 6.2 โดยเป็นผลมาจากการหดตัวอย่างรุนแรงของการลงทุนภาครัฐซึ่งคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 7.9 ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ1.5 เนื่องจากใน 3 ไตรมาสแรกการลงทุนภาครัฐหดตัวถึงร้อยละ 7.8 ประกอบกับความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2555 อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการประการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.7 เนื่องจาก 3 ไตรมาสแรกขยายตัวมากกว่าการคาดการณ์ที่ร้อยละ 10.1

(3) การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 17.2 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.5 เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณส่งออก เป็นขยายตัวร้อยละ 10.7 จากเดิมที่ประมาณการไว้ร้อยละ 9.7 เนื่องจาก 3 ไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 14.7 ขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ปรับลดลงจากร้อยละ6.8 ขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.8 เนื่องจาก 3 ไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 15.2

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 27.2 เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดุลชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(7) รวมทั้งได้ปรับเพิ่มทั้งปริมาณและราคานำเข้า โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 16.7 เพิ่มจากร้อยละ 12.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจาก3 ไตรมาสแรก ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.0 และการนำเข้ายังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ด้านราคานำเข้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.8 ซึ่งมีผลมาจากการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 11.3

หมายเหตุ (7) ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดุลการชำระเงินให้เป็นไปตามคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 ของ IMF (ดูรายละเอียดที่ http://www.bot.or.th/Thai/tatistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/Newtable.aspx) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าที่ใช้เป็นฐานในการประมาณการในครั้งก่อนหน้าลดลง

(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 21.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 8.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณดุลชำระเงินประกอบกับใน 9 เดือนแรกมีการเกินดุลการค้าสูงถึง 23.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 7.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 2.2 ของ GDP ซึ่งเป็นการเกินดุลลดลงจาก 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 4ดุลการค้าและดุลการบริการมีแนวโน้มหดตัวจากผลกระทบของอุทกภัย

(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ซึ่งอยู่ในช่วงเดิมจากการประมาณการครั้งก่อนที่ร้อยละ 3.6-4.0 ส่วนการจ้างงานมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากผลกระทบของอุทกภัย ส่งผลให้อัตราการว่างงานยังคงมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำที่ร้อยละ 0.7 สะท้อนถึงภาวะตึงตัวของตลาดแรงงาน

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำเนื่องจากอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากผลกระทบอุทกภัย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่การขยายตัวไม่สูงมากนัก ส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าระดับปกติด้านการนำเข้ายังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ทำให้การส่งออกสุทธิหดตัว ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าเกษตรเนื่องจากผลิตได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัยรวมถึงความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในปีงบประมาณ 2555 ส่วนการบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าคงทนและใช้จ่ายในการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนหลังน้ำลด ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสแรก คาดว่ามีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และการจ้างงาน รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จะทำให้มีการเร่งผลิตสินค้าเพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงในช่วงการผลิตหยุดชะงัก ประกอบกับการส่งออกสามารถกลับมาขยายตัวได้ในระดับปกติ และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น ภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูง ด้านอุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ดี เป็นผลมาจากการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายตัวสูงของสินค้าคงทน เนื่องจาก (1) รายได้ภาคการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าที่สำคัญและ (2) การซื้อรถยนต์ที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุล และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(1) มาตรการเร่งรัดการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการสนับสนุนสินเชื่อ ปรับลดภาษีรายได้นิติบุคคล เร่งสร้างความเชื่อมั่น และการให้ความช่วยเหลือเยียวยาในรูปแบบต่างๆจากภาครัฐ จะส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุน ทั้งการก่อสร้างใหม่ การซ่อมแซมและการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ได้รับความเสียหาย

(2) เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี IMF ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 6.6 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เป็นผลมาจากเศรษฐกิจของประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เวียดนาม ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าปี 2554รวมถึงการขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพระดับสูงของ จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบกรณีที่เศรษฐกิจยุโรปขยายตัวในระดับต่ำ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง

(3) รายได้ภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากนโยบาย (1) การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท (2) การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรี เป็นเดือนละ 15,000 บาทและ (3) การรับจำนำสินค้าเกษตร แม้ว่าผลผลิตทางการเกษตรบางส่วนได้รับความเสียหาย โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การผลิตกลับเข้าสู่ภาวะปกติรายได้เกษตรกรจะสูงขึ้น นอกจากนี้ผลกระทบจากอุทกภัยต่อการจ้างงานจะมีผลในระยะสั้น ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว และเมื่อรวมมาตรการการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค ทั้งด้าน (1) การชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซินและดีเซล (2) การคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก (ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท)คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้อย่างเข้มแข็ง

ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

(1) ความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจในช่วงแรกของการฟื้นฟูจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวในไตรมาสแรก โดยภาคเศรษฐกิจบางส่วนอาจไม่สามารถดำเนินกิจการได้เต็มศักยภาพทำให้การส่งออกในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าระดับปกติ เมื่อรวมกับการนำเข้าที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงจากการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรจะส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล

(2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง โดย สหภาพยุโรปเศรษฐกิจยังมีความอ่อนแอ การขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ หนี้สาธารณะสูง มาตรการแก้ปัญหาดำเนินไปอย่างช้าๆ ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติหนี้สาธารณะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะลุกลามไปสู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น เช่น อิตาลี และส่งผลกระทบต่อเนื่องให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุน

(3) ตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน จากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง

(4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทานและการเก็งกำไรส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

(5) รายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 ยังมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจที่อ่อนแอในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2555 รวมถึงการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล การชะลอการเก็บภาษีน้ำมัน และมาตรการยกเว้นภาษีต่างๆ สำหรับการฟื้นฟูประเทศจากภัยพิบัติน้ำท่วม

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2555

(1) กรณีที่ไม่มีภาวะอุทกภัยในขั้นวิกฤติ หรือในกรณีที่เกิดอุทกภัยได้มีการเตรียมการในการบริหารจัดการน้ำและลงทุนในระบบป้องกันพื้นที่สำคัญต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ในเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น

(2) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวในระดับเดียวกับปี 2554 ที่ร้อยละ3.6 - 4.0 และ 6.7-7.7 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ6.6 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 รวมทั้งเศรษฐกิจญี่ปุ่นและสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาหนี้สาธารณะสูงและคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง รวมถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกสภาพยุโรปมีแนวโน้มถดถอยมากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อของโลกในปี 2555 มีแนวโน้มชะลอลง

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2555 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 โดยการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออก ในขณะที่การนำเข้าชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลลดลง อย่างไรก็ตามอุปสงค์ภายในประเทศยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัว เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสหรัฐฯจะขาดดุลการคลังลดลงจากร้อยละ 6.0-7.0 ต่อ GDP ในปี 2554 เป็นร้อยละ 4.5-5.5 ในปี 2555 เพื่อลดแรงกดดันจากหนี้สาธารณะที่สูงถึงร้อยละ 100.0 ต่อ GDP ในปี 2554 ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแอเนื่องจากยังคงเผชิญแรงกดดันจากอัตราว่างงานสูง โดยคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 8.5-9.0 ในปี 2555รวมถึงความอ่อนแอในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ส่งสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0-1.5 จากร้อยละ 2.2 ในปี 2554

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2555 ชะลอลงจากขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 เนื่องจากการปรับลดลงการใช้จ่ายภาครัฐและการชะลอลงของอุปสงค์จากต่างประเทศ รวมถึงอัตราว่างงานที่สูงยังเป็นแรงกดดันต่อการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เสถียรภาพของสถาบันการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความกังวลเรื่องประเทศกรีซจะผิดชำระหนี้ รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะของอิตาลีที่เพิ่มขึ้น ส่วนแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง ด้านนโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น คาดว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรปมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก หลังจากได้ปรับลดลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.25 เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2554

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2555 ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 0.3 ในปี2554 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการใช้จ่าย รวมถึงการขยายตัวของการส่งออกสุทธิโดยอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างชัดเจน การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวหลังจากที่หดตัวในปี 2554 ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวการลงทุนในสิ่งก่อสร้าง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเพิ่มขึ้นแม้ว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ระดับสูงถึง230 ต่อ GDP และคาดว่าดุลการคลังจะขาดดุลสูงถึงร้อยละ 9.0-10.0 ต่อ GDP ด้านการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวจากการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกซึ่งได้แรงส่งจากการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติของภาคการผลิต ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะติดลบที่ร้อยละ 0.5-1.0 ส่วนเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงหลังจากแข็งค่าขึ้นมากในปี 2554

เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.0ในปี 2555 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.2 ในปี 2554 นอกจากนี้แนวโน้มราคาสินค้ามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 ลดลงจากร้อยละ 5.5-6.0 ในปี2554 ด้านอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวสูง ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดยอุปสงค์จากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอลงจากผลกระทบของการฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ส่วนนโยบายการเงินยังคงมีแนวโน้มเข้มงวดทั้งการชะลอการปล่อยสินเชื่อและปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

(3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2555 เท่ากับ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ 105 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2554 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้แก่ (1) อุปสงค์ของน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง OPEC คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2555จะเพิ่มขึ้นเป็น 89.0 ล้านบารเรลต่อวัน จาก 87.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2554 โดยเฉพาะประเทศจีนมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้นมากถึง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การเก็งกำไรในช่วงสภาพคล่องในตลาดการเงินสูง และ (3) ปัญหาความตึงเครียดทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งการผลิตน้ำมัน แม้ว่าสถานการณ์ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางมีแนวโน้มผ่อนคลายลง แต่ความตึงเครียดในด้านผลิตอื่นๆ ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ

(4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 7.0 เทียบกับปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 เนื่องจาก (1) ราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตได้รับกระทบจากภัยธรรมชาติ โดยมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาสแรกของปี รวมถึงนโยบายรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาล และ (2) การปรับเพิ่มค่าจ้างภายในประเทศ ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 ชะลอเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.5เนื่องมาจากราคาน้ำมันในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าปี 2554

(5) อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ในช่วง 30.0-31.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปี2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 30.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นต่อการถือเงินสกุลยูโรลดลงจากความกังวลเรื่องหนี้สาธารณะที่มีอย่างต่อเนื่อง

(6) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2555 คาดว่าจะมีประมาณ 20.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 18.8 ล้านคน

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555: เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.5-4.0 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP

องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 4.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยที่การใช้จ่ายครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 4.4ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ และ (2) แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่สูงของการบริโภคสินค้าคงทนเพื่อทดแทนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ในด้านการใช้จ่ายภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 1.2 ในปี 2554

(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 10.3 สูงกว่าปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 11.0 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.8 ในปี 2554 เนื่องจาก (1) การขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการทดแทนส่วนที่เสียหายจากภัยน้ำท่วมและ (2) การขยายตัวได้ดีของภาคการส่งออก ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0จากหดตัวร้อยละ 7.9 ในปี 2554 โดยการขยายตัวได้รับแรงส่งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในโครงการที่สำคัญๆของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วม

(3) การส่งออกสินค้ารูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 19.0 ปรับตัวดีขึ้นจากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.2 ในปี 2554 เป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งปริมาณและราคาส่งออก โดยราคาส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 7.0 จากร้อยละ 6.5 ในปี 2554 ด้านปริมาณมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 12.0 จากร้อยละ 10.7 ในปี 2554 ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมหลังจากได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งกรณีขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตจากประเทศญี่ปุ่นและกรณีหยุดการผลิตในช่วงภัยพิบัติน้ำท่วมในปี 2554 (2) อุปสงค์จากต่างประเทศยังขยายตัวได้ดี และ (3) เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปี 2554 โดยปริมาณการส่งออกทั้งสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 11.3 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.9 ในปี 2554

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 25.0 เป็นผลมาจาก (1) การนำเข้าเครื่องจักรเครื่องมือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (2) แนวโน้มขยายตัวสูงของการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และ (3) การขยายตัวได้ดีของการส่งออก ด้านปริมาณนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.0 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 16.7 ในปี 2554 ส่วนราคานำเข้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.0 เทียบกับร้อยละ 10.5 โดยปริมาณการนำเข้าทั้งสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 14.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 ตามการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ

(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 13.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่คาดว่าจะเกินดุล 21.7พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2554 เป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าขยายตัวมากกว่ามูลค่าการส่งออกขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มขาดดุลมากถึง 9.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หลังจาก 9 เดือนแรกปี 2554 มีการขาดดุลถึง 12.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2555 มีแนวโน้มเกินดุลเพียง 4.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 1.2 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 2.2 ของ GDP ในปี 2554

(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2555 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 เทียบกับปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ส่วนอัตราการว่างงานยังคงระดับต่ำอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.7

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2555

6.1 การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และการบริหารจัดการน้ำ ในปี 2555ประกอบด้วย

(1) การเร่งรัดดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูและเยียวยา เพื่อให้ภาคการผลิตและกำลังซื้อของภาคครัวเรือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2555

(2) การดูแลป้องกันปัญหาการขาดแคลนสินค้าและความเป็นธรรมทางด้านราคาสินค้าในช่วงหลังน้ำลด ซึ่งอาจจะยังมีปัญหาการขาดแคลนสินค้า และการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าที่ขาดแคลนรวมทั้งสินค้าที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูบูรณะที่อยู่อาศัยของประชาชนและภาคธุรกิจ

(3) การบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเร่งรัดการสร้างระบบเตือนภัยและระบบป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยทั้งในระดับประเทศ ชุมชนและฐานการผลิตที่สำคัญ

(4) การวางแผนและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาวเพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนเพื่อไม่ให้กระทบต่อบรรยากาศของการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว

6.2 การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังอย่างเหมาะสม โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่สำคัญ และจำเป็นต่อการเพิ่มศักยภาพของระบบเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับฐานเศรษฐกิจในประเทศ

6.3 การเร่งรัดการปฏิรูปทางการคลังเพื่อเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวและการรักษาเสถียรภาพทางการคลัง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างอัตราภาษี ควบคู่ไปกับการขยายฐานภาษี และการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายภาครัฐ

การประเมินผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัย

อุทกภัยในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 และต่อเนื่องไตรมาส 4 ของปี 2554 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ดังนี้

1. ภาคเกษตร มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1,464,790 ราย มีพื้นที่เสียหาย 11,429,901 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว 9,180,657 ไร่

2. ภาคอุตสาหกรรม ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานการผลิตในเขตนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี (นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมนวนตร และ สวนอุตสาหกรรมบางกระดี) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก เป็นต้น ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบต้นน้ำ ทำให้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมในจังหวัดอื่นๆ ทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต รวมทั้งได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานเนื่องจากการหยุดดำเนินกิจการในช่วงน้ำท่วม

3. ภาคบริการ

3.1 การท่องเที่ยว: เมื่อเกิดเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย ประกอบกับประเทศต่างๆ ออกคำเตือนการเดินทางมายังไทย ข้อมูลล่าสุดเดือนตุลาคม 2554 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1.41 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 เมื่อรวม 10 เดือนมีจำนวนนักท่องเที่ยว 15.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0จากเดิมที่ประมาณการทั้งปี 2554 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 19.5 ล้านคน จากผลกระทบอุทกภัยจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง 0.7ล้านคนจากประมาณการเดิม ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลงประมาณ 23,800 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 34,000 บาท) ดังนั้นทั้งปี2554 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทย 18.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับปี 2553

3.2 การส่งออก: มูลค่าการส่งออกใน 9 เดือนแรก มีมูลค่า 176,639 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งตามแนวโน้มการส่งออกนี้ คาดว่าการส่งออกทั้งปีจะมีมูลค่า 243,144 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 24.5 สูงกว่าประมาณการเดิมของ สศช. ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 16.5 และสูงกว่าเป้าหมายการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ตั้งไว้เพียงร้อยละ 15

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้พื้นที่การเกษตรบางส่วน และนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางหลายแห่งได้รับความเสียหาย สินค้าส่งออกที่จะได้รับผลกระทบประกอบด้วย อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อาหาร ยางและผลิตภัณฑ์ และพลาสติก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 และทำให้การส่งออกทั้งปีจะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 17.2 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 226,900 ล้านดอลลาร์ สรอ.

3.3 ภาคการค้า ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ได้รับผลกระทบในช่วงน้ำท่วม จากการที่ผู้บริโภคมีความกังวลต่อแนวโน้มการจ้างงานและรายได้ในอนาคต และการปิดกิจการชั่วคราวในช่วงน้ำท่วม

4. ผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2554 จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้นโดย สศช. ความเสียหายด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ณ ราคาประจำปี ลดลง 248,386 ล้านบาท และส่งผลให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจโดยรวมลดลงร้อยละ 2.3 ดังนั้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.5ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ