2. เงื่อนไขและปัจจัยทางเศรษฐกิจปี 2547
2.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2547
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.1 สูงกว่าร้อยละ 3.2 ในปี 2546 โดยเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯที่มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 4.6 ในปี 2547 การส่งออกของกลุ่มประเทศในเอเชียจะได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและยังมีผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่การค้ากับจีนและภายในภูมิภาคเองก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรปที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ผ่านช่วงการขยายตัวสูงสุดของวัฏจักรเศรษฐกิจไปแล้วในปี 2546 ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.7 และมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.5 ช้าลงเล็กน้อยในปี 2547 ตามภาวะการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความพยายามของรัฐบาลในการลดความร้อนแรงของการลงทุน โดยการเข้มงวดมากขึ้นกับการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตามปี 2547 จะยังเป็นช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งยังมีแรงกระตุ้นจากภาคการคลังในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯที่นับว่ายังมีมากแม้ว่าจะประสบกับปัญหาการขาดดุลการคลังก็ตามอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา เนื่องจากเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) กำลังการผลิตส่วนเกินจะยังมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แม้จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในหลายประเทศโดยเฉพาะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับตัวจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปีนี้ การจ้างงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับในประเทศต่างๆ และกำลังความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 จะทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้ามีมากกว่าในปีที่ผ่านมา
(1) เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับร้อยละ 3.1 ในปี 2546 โดยที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้เร็วขึ้น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นโดยเป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ที่อ่อนตัวลงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมากขึ้นได้สร้างความมั่นใจและบรรยากาศทางการตลาดดีขึ้น ทำให้การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกจากนี้ประสิทธิภาพแรงงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเร็วขึ้น ทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้ายังไม่มากแม้ว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเท่ากับร้อยละ 1.5 และอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 5.7 ในปี 2547 ประสิทธิภาพแรงงานยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งสะท้อนถึงความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานและการเพิ่มประสิทธิภาพจากการปรับปรุงกิจการของภาคเอกชน รวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสูงเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายปีก่อนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2544
(2) เศรษฐกิจกลุ่มสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2546 อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากผลต่อเนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมทั้งสถานการณ์ด้านการจ้างงานที่อัตราการว่างงานเริ่มทรงตัว
(3) เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2547 การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ในขณะที่มาตรการด้านการเงินและการคลังในประเทศต่างๆ ยังผ่อนคลาย เพื่อรักษาความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.7 ในปี 2546 โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราสูงต่อเนื่องจากปี 2546 ตามเงื่อนไขตลาดโลกโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และเอเชียที่การนำเข้ายังมีแนวโน้มขยายตัวมาก รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2545 ภายใต้ภาวะความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น อัตราการว่างงานเริ่มทรงตัวที่ระดับร้อยละ 5.3 ภาวะเงินฝืดลดความรุนแรงลง ในปี 2546 ระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในปี 2545 แสดงถึงการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นและสะท้อนการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินมาตรการภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า Basic Policies for Economic and Fiscal Policy Management and Structural Reform 2003 และรัฐสภ ได้ผ่านร่างกรอบ งบประมาณและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางไปเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา
เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 7.5-8.0 แม้จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในปี 2546 แต่นับว่ายังเป็นการขยายตัวในระดับสูง แนวโน้มการชะลอตัวเป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลที่จะลดความร้อนแรงของการลงทุนและของเศรษฐกิจลงโดยการควบคุมสินเชื่อและลดการใช้มาตรการภาษีในการกระตุ้นเศรษฐกิจลงโดยภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2547 จะยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะมีการปรับลดการคืนภาษีแก่ผู้ส่งออกลงก็ตาม การลงทุนและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าการตอบสนองต่อแรงกดดันต่อค่าเงินนั้นจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี และในกรณีที่จีนจะปรับค่าเงินคาดว่าจะเป็นการปรับให้มีช่วงของการเคลื่อนไหวประมาณร้อยละ 5-10 เท่านั้น
สำหรับในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วภายหลังจากที่การระบาดโรคของทางเดินหายใจเฉียบพลันได้ผ่านพ้นไป ในปี 2547 เศรษฐกิจในกลุ่มนี้จะยังได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเกษตรจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ประกอบแรงกระตุ้นอุปสงค์ภายในที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ
(ยังมีต่อ.../2.2 ปัจจัยบวก..