ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555
(% YOY) 2553 2554 ประมาณการ ทั้งปี H1 H2 ทั้งปี 2555 GDP 7.8 3.0 -2.8 0.1 5.5-6.5 (ณ ราคาคงที่) การลงทุนรวม 9.4 6.6 0.0 3.3 14.2 (ณ ราคาคงที่) ภาคเอกชน 13.8 10.5 3.8 7.2 14.5 ภาครัฐ -2.2 -5.9 -11.4 -8.7 13.0 การบริโภครวม 5.1 2.8 -0.1 1.3 4.4 (ณ ราคาคงที่) ภาคเอกชน 4.8 3.0 -0.4 1.3 4.5 ภาครัฐบาล 6.4 1.4 1.3 1.4 3.5 มูลค่าการส่งออกสินค้า(US$) 28.4 22.6 10.7 16.4 17.2 ปริมาณ 17.7 14.8 6.0 10.2 11.8 มูลค่าการนำเข้าสินค้า(US$) 37.0 26.9 22.7 24.7 24.3 ปริมาณ 26.8 15.0 11.5 13.1 17.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) 4.1 3.9 3.0 3.4 1.2 เงินเฟ้อ 3.3 3.5 4.1 3.8 3.5-4.0 อัตราการว่างงาน 1.0 0.7 0.6 0.7 0.7
-เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 หดตัวร้อยละ 9.0 โดยมีปัจจัยสำคัญจากเหตุการณ์อุทกภัย ที่กระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภค การลงทุน การส่งออก และการท่องเที่ยว ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเล็กน้อย ส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท
-หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยหดตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2554 ร้อยละ 10.7 (%QoQ SA)
-ภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 16.4 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 7.2 ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยร้อยละ 0.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.4 ของ GDP
-การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 - 6.5 จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยคาดว่า การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 14.2 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 17.2 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.0 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP
-ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 (1) การเร่งป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในชุมชนและฐานการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยซ้ำซากและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการเร่งรัดดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัย และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ต้องการสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคการผลิตและนักลงทุน (2) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการลงทุน ให้ได้ตามเป้าหมายของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (3) การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย (4) การดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลข่าวสารราคาสินค้ากับผู้บริโภคและเสริมด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประหยัดหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น และ (5) การดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างอนาคตของประเทศ เช่น การสร้างรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย นโยบายด้านพลังงาน การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2554 และแนวโน้มปี 2555
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ หดตัวร้อยละ 9.0 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบของอุทกภัยที่ผ่านมา ทำให้อุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งภาคการผลิตส่วนใหญ่หดตัว มีเพียงภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวเล็กน้อยเนื่องจากมีการขยายพื้นที่เพาะปลูก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2554 (ปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว) เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 10.7 และทั้งปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 0.1
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ ปี 2554
(1) ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 21.8 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ประสบอุทกภัยได้รับความเสียหายและกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต อัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 46.4 ลดลงจากร้อยละ 64.5 และ 64.2 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ ทั้งปี 2554 สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.3
(2) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน หดตัวร้อยละ 3.0 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากผลกระทบของอุทกภัยต่อฐานการผลิตหลายแห่ง โดยยอดจำหน่ายสินค้าคงทนลดลงมากถึงร้อยละ 21.8 และความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอยู่ที่ระดับ 62.3 เทียบกับ 73.5 ในไตรมาสที่แล้ว รวมทั้งผู้บริโภคมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับการลดลงของรายได้เกษตรกรจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรหลักๆ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง
ทั้งปี 2554 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.3
(3) การลงทุนภาคเอกชน หดตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ส่งผลให้การลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือหดตัวลงร้อยละ 2.4 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ระดับ 41.4 ลดลงจากระดับ 50.6 ในไตรมาสที่ผ่านมาทั้งปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.2
(4) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้คิดเป็นมูลค่า 49,162 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 5.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 27.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย รวมทั้งปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
รวมทั้งปี 2554 การส่งออกมีมูลค่า 225,366 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.4 ตลาดสำคัญที่ยังคงขยายตัวได้ดีคือ จีน (ร้อยละ 27.6) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 26.8) และอาเซียน (ร้อยละ 22.5)
(5) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสสุดท้าย มีจำนวน 4.4 ล้านคนลดลงร้อยละ 4.4 เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา โดยมีรายได้จากการท่องเที่ยว 188,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 55.7 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 54.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 5.3 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสที่แล้ว
รวมทั้งปี 2554 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเมืองไทยจำนวน 19.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสสี่ของปี 2554 ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.7 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตสำคัญ เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ทำให้มีผลผลิตลดลง โดยรวมเกษตรกรมีรายได้ลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อน รวมทั้งปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 3.8 ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9
เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554
เศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 0.1 จากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายไตรมาสที่สามต่อเนื่องถึงไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในราคาประจำปี คิดเป็นมูลค่า 328,154 ล้านบาท อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.8 การบริโภคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.3 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.3 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11,869 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 3.4 ของ GDP
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555
สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.5-6.5 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวและเร่งการผลิตของภาคอุตสาหกรรมการลงทุนเพื่อการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ทั้งในส่วนของการลงทุนเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 และการก่อสร้างเพิ่มเติม รวมถึงการดำเนินมาตรการสนับสนุนด้านสินเชื่อและมาตรการภาษีที่มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูทั้งภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ของประชาชน ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาคการผลิตที่คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลทำให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนด้านอุปสงค์ต่างประเทศน่าจะยังขยายตัวได้ดีเนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเอเชียเป็นหลัก
คาดว่าในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 - 4.0 การบริโภคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.4 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 14.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 1.2 ของ GDP
-ด้านการใช้จ่าย
การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สี่หดตัวร้อยละ 3.0 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงภาคการผลิต และการคมนาคมขนส่ง โดยปริมาณการจำหน่ายสินค้าคงทนหดตัวมากถึงร้อยละ 21.8 โดยเฉพาะรถยนต์ เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต จากการที่โรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ในเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญได้รับความเสียหายจากอุทกภัยจนต้องหยุดการผลิต ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 62.3 ปรับตัวลดลงจาก ไตรมาสก่อนที่ระดับ 73.5 โดยมีสาเหตุหลักมาจากอุทกภัยที่ได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่อาจปรับตัวสูงขึ้นหลังจากที่ราคาสินค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ได้แก่ การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ได้แก่ การปรับเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ การลดหย่อนภาษีสำหรับบ้านหลังแรก และการคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก
ทั้งปี 2554 การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 4.8 โดยเป็นการขยายตัวของการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนร้อยละ 3.2 สินค้ากึ่งคงทนร้อยละ 3.4 และสินค้าไม่คงทนร้อยละ 1.5 ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคบริการลดลง ร้อยละ 1.1 เนื่องมาจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสุทธิลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกของปี
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน
2552 --------------- 2553------------- ------------- 2554 ------------ %YoY ทั้งปี ทั้งปี Q1 Q2 Q3 Q4 ทั้งปี Q1 Q2 Q3 Q4 การใช้จ่ายภาคเอกชน -1.1 4.8 3.9 6.4 5.0 3.9 1.3 3.3 2.7 2.4 -3.0 สินค้าคงทน -7.1 25.1 28.9 32.8 24.0 16.6 3.2 23.6 3.6 10.2 -21.8 สินค้ากึ่งคงทน -8.8 6.7 9.5 6.7 5.9 5.1 3.4 4.5 5.7 4.8 -0.7 สินค้าไม่คงทน 0.7 1.8 2.0 1.1 1.9 2.0 1.5 2.0 3.4 1.8 -1.3 - อาหาร 0.6 0.5 0.7 1.1 0.2 -0.2 2.0 2.0 4.4 1.8 -0.3 - มิใช่อาหาร 0.7 2.7 3.1 1.2 3.2 3.3 1.1 2.1 2.7 1.7 -1.9 บริการ 2.2 1.4 -4.8 5.9 2.5 1.3 -1.1 -5.5 0.0 -1.7 1.9
ที่มา: สศช.
การลงทุนภาคเอกชน: หดตัวร้อยละ 1.3 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 เป็นผลมาจากการหดตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสำคัญ โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรหดตัวร้อยละ 2.4 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 10.1 เนื่องจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ได้ส่งผลให้โรงงานหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางได้รับความเสียหายและหยุดการผลิตลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สะท้อนจากการชะลอตัวลงอย่างมากของการนำเข้าสินค้าทุน เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศที่หดตัวถึงร้อยละ 62.4 ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ในเขตพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ปัญหาอุทกภัยได้ส่งผลให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องหยุดชะงัก และปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างชะลอตัวลงอย่างมาก
ทั้งปี 2554 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.2 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.8 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.8 และ 5.0 ตามลำดับ
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41.4 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.6 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากระดับ 53.8 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 51.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อภาวะธุรกิจที่ลดลง จากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่การปรับราคาสินค้าดำเนินการได้ยาก ทั้งนี้ ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสสี่ปี 2554 คิดเป็นมูลค่า 49,162 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,524,918 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 5.2 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 27.3 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 7.5 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 มูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวลดลงเป็นผลจากปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบให้โรงงานหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญได้รับความเสียหายและหยุดการผลิต รวมทั้งความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย
ทั้งปี 2554 การส่งออกมีมูลค่า 225,366 ล้านดอลลาร์ สรอ. (6,865,650 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และ 5.6 ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในไตรมาสที่สี่ปี 2554 ชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ 11.3 ปริมาณและราคาการส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงร้อยละ 11.1 และ 0.1 ตามลำดับ ปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวลงเป็นผลมาจากการลดลงของปริมาณการส่งออกข้าวเป็นหลักจากปัญหาอุทกภัย และราคาข้าวที่ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ในขณะที่ปริมาณการส่งออกมันสำปะหลัง ยางพารา และน้ำตาลยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สินค้าอุตสาหกรรมทั้งปริมาณและมูลค่าหดตัวร้อยละ 9.5 และ 7.1 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยานพาหนะและชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ลดลงร้อยละ 38.4 31.4 และ 23.3 ตามลำดับ เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.5 ในขณะที่มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงหดตัวร้อยละ 21.7 และ 9.1 ตามลำดับ
ตลาดส่งออก: หดตัวลงในตลาดหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.7 3.2 และ 18.3 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดอาเซียน (9) ยังคงขยายตัวร้อยละ 11.0 แต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง ตลาดส่งออกอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกหดตัวในหลายตลาด ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย ยกเว้นเกาหลีใต้ อินเดีย และจีน ที่ยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง
การนำเข้า: ทั้งมูลค่า ปริมาณและราคาขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 12.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 33.4 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 จากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเชื้อเพลิงและทองคำเป็นสำคัญ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอตัวจากร้อยละ 19.4 ในไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัย ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุนชะลอตัวลงจาก ไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ และสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัว
เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าเกือบทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งมูลค่า ราคา และปริมาณ ยกเว้นสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่หดตัวลงทั้งมูลค่า และปริมาณ สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มีมูลค่าหดตัวร้อยละ 5.4 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.7 จากวิกฤตอุทกภัย และการนำเข้าที่สูงในไตรมาสก่อนหน้า สินค้าทุน มูลค่าขยายตัวร้อยละ 9.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 23.8 ในไตรมาสก่อน สินค้าทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักรและชิ้นส่วนที่ใช้ในการเกษตร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ในขณะที่ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์หดตัวร้อยละ 39.1 สินค้า
อุปโภคบริโภค มูลค่าขยายตัวร้อยละ 9.9 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 20.6 รายการนำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องดื่ม เสื้อผ้า นาฬิกาและเครื่องประดับ ชะลอตัวตามการลดลงของการใช้จ่ายครัวเรือน สินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น มูลค่าขยายตัวร้อยละ 10.7 ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 63.8 ในไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 14.1 ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 เป็นผลมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการเก็งกำไรในตลาดทุน
ทั้งปี 2554 มูลค่า ปริมาณ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 13.1 และ 5.6 ตามลำดับ ชะลอลงจากปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 28.4 26.8 และ 9.1 ตามลำดับ
อัตราการค้า (Term of Trade) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 หดตัวร้อยละ 5.3 เป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันสี่ไตรมาส
ทั้งปี 2554 อัตราการค้าหดตัวร้อยละ 4.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2553 โดยราคาส่งออกขยายตัวร้อยละ 5.6 ราคานำเข้าขยายตัวร้อยละ 10.1
ดุลการค้า: เกินดุลลดลง โดยเกินดุล 993 ล้านดอลลาร์ สรอ. (30,617 ล้านบาท) ต่ำกว่าการเกินดุล 7,676 ล้านดอลลาร์ สรอ. (231,563 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งปี2554 ดุลการค้าเกินดุล 23,502 ล้านดอลลาร์ สรอ. (713,715 ล้านบาท) ต่ำกว่าปี2553 ที่เกินดุล 31,759 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,000,330 ล้านบาท)
-ด้านการผลิต:
สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.7 ตามผลผลิตพืชผลโดยเฉพาะยางพารา มันสำปะหลัง และ ปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 35.7 และ 152.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต อย่างไรก็ตามปัญหาอุทกภัยได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกเจ้านาปีลดลงร้อยละ 14.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งปี 2554 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 3.8
ราคาสินค้าเกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 17.7 16.9 และ 25.3 ตามลำดับ (1) ราคายางพาราลดลง ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ทั้งจากจีนและภายในประเทศ เนื่องจากจีนชะลอการสั่งซื้อยางพารา และรอนำเข้ายางพาราที่มีราคาลดลงหลังการประกาศใช้มาตรการลดภาษีนำเข้ายางธรรมชาติของรัฐบาลจีนซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป นอกจากนี้อุทกภัยส่งผลให้อุปสงค์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง (2) ราคามันสำปะหลังลดลงเนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.7 รวมทั้งเป็นผลจากการที่ประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อเพื่อดูสถานการณ์ด้านราคาและนโยบายด้านพลังงานทดแทนของรัฐบาล (3) ราคาปาล์มน้ำมันลดลงเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิต ประกอบกับในช่วงเดียวกันของ ปีก่อนราคาปาล์มน้ำมันอยู่ในระดับสูงจากภาวะการขาดแคลนผลผลิต อย่างไรก็ตามราคาข้าวเปลือกเจ้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้มาตรการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล(1)
การที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงส่งผลให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 0.2 รวมทั้งปีรายได้เกษตรกรขยายตัวร้อยละ 17.9 โดยในครึ่งแรกของปีรายได้เกษตรกรขยายตัวถึงร้อยละ 35.3 ส่วนในครึ่งหลังของปีขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8
หมายเหตุ
(1) ระยะเวลาดำเนินโครงการ : วันที่ 7 ตุลาคม 2554 - 29 กุมภาพันธ์ 2555 และ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 - 31 กรกฎาคม 2555 สำหรับภาคใต้ และมีระยะเวลาไถ่ถอน 4 เดือนนับจากเดือนที่รับจำนำ
สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 21.8 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง เป็นผลให้โรงงานอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ตามปกติ รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำ ท่วมไม่สามารถดำ เนินการผลิตได้เช่นกันกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิตวิทยุและโทรทัศน์ที่หดตัวร้อยละ 61.6 59.9 และ 58.5 ตามลำดับทั้งปี 2554 สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.3
อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสสุดท้ายของปีอยู่ที่ร้อยละ 46.4 ลดลงจากร้อยละ 64.5 ในไตรมาสก่อนเนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัย อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคม 2554 สถานการณ์น้ำท่วมบริเวณพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้อัตราการใช้กำ ลังการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นร้อยละ 52.3 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าร้อยละ 50 ได้แก่ การผลิตยานยนต์(31.7) การผลิตสิ่งทอ (34.7) การผลิตวิทยุและโทรทัศน์ (22.5) การผลิตเส้นใยสิ่งทอ (33.7) ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเกินร้อยละ 70 ได้แก่ การผลิตเม็ดพลาสติก (78.6)การผลิตแก้วและผลิตภัณฑ์จากแก้ว (77.3) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (73.9) และ การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (71.6) ตามลำดับ เนื่องจากที่ตั้งของโรงงานไม่ได้อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 107.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 106.3 ในเดือนธันวาคม เนื่องจากปริมาณยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น
สาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 5.9 เป็นผลมาจากการก่อสร้างภาครัฐที่หดตัวลงร้อยละ 15.9 เนื่องจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และการลดลงของการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (TKK 2555) ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จหรือใกล้จะแล้วเสร็จ ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอตัวจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.1ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวทั้งการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเขตภาคกลางลดลงร้อยละ 14.6 ทั้งปี 2554 สาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 5.1
ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาเหล็กในตลาดโลก ส่วนราคาไม้ และซีเมนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และ 5.4ชะลอจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 และ 12.5 ตามลำดับ
สาขาอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 0.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากสถานการณ์ น้ำท่วม ส่งผลให้ผู้บริโภคเลื่อนการตัดสินใจซื้อ สะท้อนจากปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งลดลงร้อยละ 32.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยมากกว่าความต้องการสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ ประกอบกับระดับราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ทาวส์เฮาวส์พร้อมที่ดิน อาคารชุด และที่ดิน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 4.4 14.7 และ 5.0 ตามลำดับ ทั้งปี 2554 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 3.5
ด้านผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลให้การก่อสร้างชะลอตัวสะท้อนจากปริมาณที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งลดลงร้อยละ 62.9 ในไตรมาสนี้
สาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 5.3 จากที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทยจำนวน 4.4 ล้านคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.4 ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 55.7 สูงกว่าช่วงเดียวกันของ ปีก่อนที่ร้อยละ 54.3 ส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากการที่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมเข้าพักตามโรงแรมต่างๆ เป็นการชั่วคราว ทั้งปี 2554 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.4
กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศออสเตรเลีย รัสเซีย และจีน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.7 16.9 และ 7.7 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ลดลง ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศไต้หวัน สวีเดน และญี่ปุ่น โดยลดลงร้อยละ 39.0 31.6 และ 17.9 ตามลำดับ
ด้านรายรับจากการท่องเที่ยวในไตรมาสนี้มีมูลค่า 188,075 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 186,548 ล้านบาท ใน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8
การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงขยายตัว สะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินราคาต่ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.69 และ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ
ทั้งปี 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 19.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับปีก่อน
การจ้างงาน ไตรมาสที่สี่ ปี 2554 มีการจ้างงาน 38.92 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงานนอกภาคเกษตรและภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และ 0.2 ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์น้ำท่วมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมากนัก เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนค่าจ้างแรงงานเพื่อรักษาสภาพการจ้างงานในสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยการจ่ายค่าจ้างแทนนายจ้าง 2,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ภายใต้เงื่อนไขในช่วงเวลาดังกล่าวนายจ้างจะไม่เลิกจ้างลูกจ้างและต้องจ่ายค่าจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างเดิม
การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น เช่น สาขาบริการชุมชน สาขาบริหารราชการแผ่นดิน และสาขาอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 11.3 และ 2.6 ตามลำดับ ส่วนสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงร้อยละ 5.0
สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 237,627 คน ลดลง 99,787 คนเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 29.6 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.6
สัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 0.7 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ตึงตัวของตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสสองที่มีสัดส่วนร้อยละ 1.0 และ 0.8 ตามลำดับ
ทั้งปี 2554 มีการจ้างงาน 38.46 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 อัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 0.7
-ภาวะการคลัง
การจัดเก็บรายได้ในไตรมาสหนึ่งปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม - ธันวาคม 2554) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 396,152.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน และสูงกว่าประมาณการ 13,674.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.6 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีสรรพสามิตยาสูบ โดยภาษีเงินได้นิติบุคคลมีสาเหตุสำคัญจากกรมสรรพากรได้อนุโลมให้ผู้ประกอบการที่ต้องหยุดกิจการชั่วคราวจากปัญหาอุทกภัย รวมถึงผู้ประกอบการที่ไม่สามารถนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรที่อยู่ในพื้นที่อุทกภัยให้สามารถเลื่อนการนำส่งภาษีให้มาส่งในเดือนธันวาคม 2554 ได้ ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยาสูบเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการเร่งผลิตเพื่อทดแทนสินค้าคงเหลือที่มีจำนวนลดลงไปในช่วงเกิดภาวะอุทกภัย อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2555 การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังคงมีปัจจัยเชิงลบ โดยเฉพาะผลกระทบจากอุทกภัย โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถึงกำหนดยื่นแบบในเดือนพฤษภาคม 2555 จะใช้ฐานกำไรในช่วงปลายปี 2554 ในการประเมินภาษี ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศประสบปัญหาอุทกภัย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลในการคงอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ 0.005 บาท/ลิตร
การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสหนึ่งปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 489,807.0 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 439,179 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ทั้งหมด สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 20.0 โดยเป็นการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ 401,051.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.4 ของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 38,128.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของรายจ่ายลงทุนและ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณกันเหลื่อมปี จำนวน 50,6286.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 10.3 ของงบประมาณกันเหลื่อมปีทั้งหมด
สำหรับการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในหมวดครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในไตรมาส 1 ของปีงบประมาณ 2555 มีจำนวน 93,329.1 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 เป็นผลจากการลดลงค่อนข้างมากของโครงการลงทุนใหม่ของงบประมาณปี 2555 ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเพราะร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 ยังไม่มีผลบังคับใช้ และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (TKK 2555) ส่วนใหญ่ดำเนินการแล้วเสร็จ หรือใกล้จะแล้วเสร็จ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนหมวดดังกล่าวแบ่งเป็น 1) การเบิกจ่ายภาครัฐทั้งหมดจำนวน 33,073.2 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.6 โดยเป็นการเบิกจ่ายของรัฐบาลผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 4,860.8 ล้านบาท งบประมาณเหลื่อมปี 24,120.4 ล้านบาท งบประมาณภายใต้โครงการ TKK 2555 จำนวน 4,091.3 ล้านบาท และ 2) การเบิกจ่ายภาครัฐวิสาหกิจจำนวน 60,255.9 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8
สำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ณ สิ้นสุดไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2555 (ธ.ค. 54) ได้รับการจัดสรรงบประมาณรวม 343,481.1 ล้านบาท ได้มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 301,823.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 87.9 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
ฐานะการคลังในไตรมาสหนึ่งของปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลมีดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุลจำนวน 256,612.9 ล้านบาท เป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 91,839.2 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 164,773.7 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลยังไม่มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ยังไม่มีผลบังคับใช้ ส่งผลให้สถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 มีจำนวน 264,677.0 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นเดือนกันยายน 2554 (สิ้นปีงบประมาณ 2554) 256,613.0 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 49.2
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 4,303,532.11 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 137,210.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 แต่เมื่อเทียบ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 (กันยายน 2554) หนี้สาธารณะคงค้างปรับตัวลดลง 144,762.5 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3.3 ทั้งนี้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 คิดเป็นร้อยละ 40.5 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 44.0 ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 (เดือนกันยายน 2554)
-ภาวะการเงิน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้ง จากร้อยละ 3.50 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย เช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มมีสัญญาณการเข้าสู่วงจรอัตราดอกเบี้ยขาลง เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและอัตราเงินเฟ้อหลังจากที่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่หนึ่งถึงไตรมาสสาม
ทั้งปี 2554 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรก คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 2.00 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.50 ต่อปี เพื่อให้เหมาะสมกับอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นและเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ต่อมาเมื่อเกิด
ปัญหาอุทกภัยในประเทศไทยประกับกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวมากขึ้น ส่งผลให้ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี และในการประชุมครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เนื่องจากประเมินว่าความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจไทยยังคงมีอยู่ ในขณะที่แรงกดดันด้านราคาจะไม่เร่งตัวขึ้นมาก ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี
ล่าสุดในเดือนมกราคม2555 กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมมีความรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกยังมีความอ่อนแอจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปและความเปราะบางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย อีกทั้งทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อชะลอตัวลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทรงตัว แม้ว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่ 4 แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เฉลี่ยของ 4 ธนาคารใหญ่ทรงตัวตลอดทั้งไตรมาส ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 4 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.22 ต่อปี เป็นร้อยละ 3.72 ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบน้อยลงจากร้อยละ -1.16 เป็นร้อยละ -0.66 ต่อปี ทั้งนี้ธนาคารที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และส่วนมากเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ล่าสุดในเดือนมกราคม 2555 มีเพียงธนาคารออมสินประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงร้อยละ 0.19 และ 0.12 ตามลำดับ
เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 14.3 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 14.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยตลอดทั้งไตรมาสตั๋วแลกเงิน (B/E) ชะลอลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 60.4 จากร้อยละ 69.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับเงินฝากขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 10.1 จากร้อยละ 9.9 เนื่องจากสถาบันการเงินมีการระดมเงินเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อภายหลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์อุทกภัย
สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 16.2 ซึ่งภาคธุรกิจมีการชะลอการขอสินเชื่อเนื่องจากปัญหาอุทกภัย โดยเป็นผลจากการชะลอตัวลงของสินเชื่อภาคธุรกิจจากร้อยละ 18.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 15.9 ในขณะที่สินเชื่อครัวเรือนชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 17.0 เป็นร้อยละ 16.5 เนื่องจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลขยายตัวได้ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ตามความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยรวมทั้งเพื่อจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ สำหรับจำนวนบัตรเครดิตชะลอลงและยอดสินเชื่อคงค้างลดลงสอดคล้องกับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนไทยที่ชะลอลงจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs)(2) ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากร้อยละ 1.5 2ในไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับชำระหนี้และการจำหน่ายหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ เป็นสำคัญ
สำหรับทั้งปี 2554 เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีตั๋วแลกเงินขยายตัวในระดับสูงจากผลตอบแทนที่จูงใจ และการปรับตัวของผู้ฝากเงินเพื่อรองรับพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝากแต่ในช่วงครึ่งหลังของปีการปรับหลักเกณฑ์กำกับดูแลการออกตั๋วแลกเงินที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องนับรวมมูลค่าการออกตั๋วแลกเงินเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณ การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามกฎหมายที่ร้อยละ 6 ของเงินฝากและเงินกู้ยืมระยะสั้น สถาบันการเงิน จึงชะลอการออกตั๋วแลกเงิน ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัวในระดับสูง แต่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลง
อย่างไรก็ตาม สถาบันเฉพาะกิจของรัฐได้กำหนดวงเงินสินเชื่อเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยรวม 257,000 ล้านบาท และจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 9,528.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7
สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 93.7 จากร้อยละ 93.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มากกว่าเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) อย่างไรก็ตามสภาพคล่องส่วนเกินนั้นยังอยู่ในระดับสูงและสามารถเอื้อต่อการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เท่ากับ 31.017 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันของปี 2553 ที่ร้อยละ 3.0 และ 3.4 ตามลำดับ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงต้นไตรมาสจากแนวทางการช่วยเหลือประเทศกรีซที่เริ่มมีความชัดเจนขึ้น ก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงจากความกังวลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังขาดความชัดเจน ประกอบกับความเสียหายจากมหาอุทกภัยในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนปรับกลยุทธ์การลงทุน โดยลดการถือครองในสินทรัพย์เสี่ยงลง และเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) ลดลงร้อยละ 4.31 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (Real Effective Exchange Rate: REER) ลดลงร้อยละ 0.85
ตลอดปี 2554 ค่าเงินบาทปรับตัวผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก และอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง โดยกรอบการเคลื่อนไหวทั้งปี 2554 อยู่ที่ 29.696 - 31.692 ต่อดอลลาร์ สรอ. และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.492 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.78 เมื่อเทียบกับปี 2553 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.84
หมายเหตุ
(2) NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธนกิจและบริษัทเครดิตฟองสิเอร์
อัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2555 เท่ากับ 31.576 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.15 และล่าสุดในวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์ การอ่อนค่าของค่าเงินบาทเริ่มชะลอตัวลง โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.869 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ(3) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 5.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการไหลออกสุทธิ 2.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า จากการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นและการเพิ่มบัญชีเงินฝากในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์เพื่อปรับฐานะจากการที่ผู้ส่งออกไทยปรับลดการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีสาเหตุจากปัญหาอุทกภัย ที่ส่งผลให้ธุรกรรมการส่งออกปรับตัวลดลง
ทั้งปี 2554 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 6.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการไหลเข้าสุทธิ 24.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2553 ซึ่งเป็นการขาดดุลในภาคธนาคารจากการปรับฐานะตามการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของผู้ส่งออกและภาคอื่น ๆ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการให้สินเชื่อการค้ากับคู่ค้าต่างชาติของผู้ส่งออกไทย
ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 1,843 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 57,539 ล้านบาท) เกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 3,146 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 94,891 ล้านบาท) เป็นผลจากการเกินดุลการค้า 993 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 850 ล้านดอลลาร์ สรอ.
ทั้งปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 11,869 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 363,197 ล้านบาท) เกินดุลลดลงจากปี 2553 ที่เกินดุล 13,176 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 412,320 ล้านบาท)
เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2555 เท่ากับ 178.55 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 30.80 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.0 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ไตรมาสสาม ปี 2554) และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.7 เดือน (ไตรมาสสี่ ปี 2554)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 เท่ากับร้อยละ 4.0 ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับผลจากการใช้มาตรการชะลอการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลเพื่อลดภาระของผู้บริโภค ซึ่งเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2555 และการขยายมาตรการลดอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปจนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 9.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.2 เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ และผักผลไม้ เนื่องจากพื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายจากอุทกภัยส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.5 2.4 และ 2.8 ในไตรมาสที่หนึ่ง สอง และสาม ตามลำดับ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานได้เร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งผ่านของราคาอาหารสำเร็จรูปที่บริโภคทั้งในและนอกบ้าน ตลอดจนราคาเครื่องประกอบอาหารประเภทน้ำตาล และน้ำมันพืช เนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดอุทกภัย(4)
ทั้งปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาอาหารสำเร็จรูป ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์เป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 และมิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8
ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 เท่ากับร้อยละ 4.1 ลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.5 สาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ตามการลดลงของราคาในตลาดโลก เช่นเดียวกับการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์แร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลผลิตการเกษตรหดตัวน้อยลงจากร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อน เป็นหดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสนี้ เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยได้ส่งผลให้ราคาพืช ผัก ผลไม้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่มิใช่อาหารที่ลดลงอย่างมาก
ทั้งปี 2554 ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 5.5 ลดลงจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.4 เป็นผลมาจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ(5)
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางของตลาดในภูมิภาค แต่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรายวันลดลง ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกระแสเงินไหลเข้าในภูมิภาคเอเชีย และได้รับปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศจากเม็ดเงินของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปิด ณ สิ้นไตรมาสปิดที่ 1,025.3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 และนักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิตลอดทั้งไตรมาสรวม 30.2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวนตามปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เป็นแรงกดดันทำให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจาก 32.3 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 23.0 พันล้านบาท
หมายเหตุ
(4) ในเดือนมกราคม 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 3.4 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.8
(5) ในเดือนมกราคม 2555 ดัชนีราคาผู้ผลิตเท่ากับร้อยละ 3.6
ตลอดปี 2554 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ผันผวนอยู่ในกรอบ 855.5 - 1,144.1 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 1,032.7 จุด ณ สิ้นปี 2553 คิดเป็นการลดลงร้อยละ 0.7 ในขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยรายวันทั้งปีอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2553 ที่ 28.6 พันล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิตลอดปีที่ 5.1 พันล้านบาท หลังจากที่มียอดซื้อสุทธิในระดับสูงตลอดปี 2553
ในเดือนมกราคม 2555 ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาปิดที่ 1,084.0 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 จากสิ้นเดือนธันวาคม จากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและการประกาศของธนาคารสหรัฐฯที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจนถึงปลายปี 2557 อย่างไรก็ตาม มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 23.9 พันล้านบาท โดย นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิรวมกัน 4.4 พันล้านบาท และล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 17 กุมภาพันธ์ ดัชนียังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิอยู่ในระดับสูงที่ 31.7 พันล้านบาท
มูลค่าซื้อขายพันธบัตรและยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติลดลงอย่างมาก มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสสี่ เท่ากับ 60.5 พันล้านบาทต่อวัน ลดลงจาก 69.8 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสสาม โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิเพียง 30.5 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิที่ 171.5 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) ความกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป และความไม่ชัดเจนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ (2) จำนวนพันธบัตรออกใหม่ในตลาดลดลงทั้งพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยและพันธบัตรรัฐบาล
ทั้งนี้แนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงประกอบกับอุปทานของพันธบัตรออกใหม่ที่ลดลง ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับลดลงทุกช่วงอายุ ในขณะที่ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณา ภาพรวมตลอดทั้งปี 2554 พบว่ามูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 72.1 พันล้านบาท เทียบกับ 68.6 พันล้านบาท ในปี 2553 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 322.4 พันล้านบาท ในปีก่อนหน้าเป็น 688.8 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการยืดระยะเวลาการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ทำให้เกิดแรงซื้ออย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาสที่สาม
การระดมทุนของภาคเอกชนผ่านหุ้นกู้เพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้เงินในการดำเนินธุรกิจ การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ มีมูลค่ารวม 255.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 200.5 พันล้านบาท ในไตรมาสสาม แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 286.2 พันล้านบาท โดยเป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ 248.2 พันล้านบาท ซึ่งมาจากความต้องการใช้เงินในการดำเนินธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนจากภาคตัวกลางทางการเงิน ภาคบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ และภาคการผลิตเป็นหลัก ส่วนการระดมทุนในตราสารทุนอยู่ที่ 7.1 พันล้านบาท ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนในภาคการผลิต และภาคการบริการด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์
ภาพรวมปี 2554 การระดมทุนของภาคเอกชนมีมูลค่ารวม 1,216.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,066.0 พันล้านบาท ในปี 2553 โดยภาคเอกชนได้เร่งระดมทุนผ่านหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงถึง 782.9 พันล้านบาท จากการที่ภาคธุรกิจคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ก่อนที่จะลดลงในไตรมาสสาม จากความต้องการเงินทุนที่ลดลงภายหลังปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปทวีความรุนแรงขึ้น
-ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สี่ และทั้งปี 2554
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินในประเทศกรีซโดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2554 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 104.07 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขยายตัวร้อยละ 22.1 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 38.7 และราคาสูงกว่าราคาเฉลี่ย 85.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสเดียวกันของปี 2553
ทั้งปี 2554 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 104.64 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยปี 2553 ที่อยู่ที่ 78.90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
-แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในปี 2555
ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในปี 2554 อยู่ที่ 106.03 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ยที่ 77.91 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2553 และ ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 อยู่ที่ 116.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สศช. คาดว่าในปี 2555 ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2554 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ หลายหน่วยงานได้ปรับประมาณการราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 ส่วนใหญ่คาดว่าราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 จะสูงกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2554 ที่อยู่ในระดับ 95.14 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดย Energy Information Administration (EIA) ประเทศสหรัฐอเมริกา JP Morgan และ Goldman Sachs คาดว่าราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 จะอยู่ที่ 100.0 110.0 และ 123.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ตามลำดับ .
ในขณะที่ Business Monitor International (BMI) ของประเทศอังกฤษ คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมัน WTI ในปี 2555 จะต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในปี 2554 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ 93.50 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล
ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ราคาน้ำมันในปี 2555 มีแนวโน้มสูงขึ้น ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) ความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ทั้งนี้ EIA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 88.11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2554 เป็น 89.38 และ 90.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2555 และ 2556 ตามลำดับ (3) การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน (4) สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และ (5) ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ
ประมาณการราคาน้ำมันดิบ WTI ปี 2555 หน่วยงาน ประมาณการราคาน้ำมัน WTI ปี 2555 BMI (ณ ตุลาคม 2554) 93.50 เหรียญ/บาร์เรล EIA (ณ มกราคม 2555) 100.00 เหรียญ/บาร์เรล Goldman Sachs (ณ มกราคม 2555) 123.5 เหรียญ/บาร์เรล JP Morgan (ณ พฤศจิกายน 2554) 110 เหรียญ/บาร์เรล ที่มา: รวบรวมโดย สศช.
เศรษฐกิจยูโรโซนชะลอตัวโดยอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ยังคงเป็นปัญหาหลักสำคัญที่อาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มยูโรโซนร้ายแรงขึ้นในภาพรวม ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวในการผลิตภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานที่สูงขึ้นต่อเนื่องแสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจเอเชีย ได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ภายนอกที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส เศรษฐกิจญี่ปุ่นแม้จะหดตัวลงแต่อุปสงค์ภายในประเทศยังเติบโตได้ดี ประเทศกลุ่มอาเซียนส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดี เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาแต่มีแนวโน้มดีขึ้น
-เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.8 (%QoQ, sa annualized) เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการซื้อบ้านพักอาศัย ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.9 เทียบกับ 51.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนแนวโน้มการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมซึ่งสอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม อุปสงค์รวมในประเทศเติบโตได้อย่างจำกัดตามการชะลอตัวในการใช้จ่ายภาครัฐ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องลดรายจ่ายมากขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการคลัง
ในทั้งปี 2554 สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุลเท่ากับ 558.0 พันล้านเหรียญ สรอ. สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ขาดดุล 500.0 พันล้านเหรียญ สรอ. ภาวะการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานลดลงมาที่ร้อยละ 8.7 เทียบกับร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และในเดือนมกราคม 2555 อัตราการว่างงานได้ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 8.3 จำนวนผู้ว่างงาน ณ สิ้นไตรมาสที่สี่มีทั้งสิ้น 13.1 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สามที่มีจำนวนผู้ว่างงาน 13.9 ล้านคน แม้ว่าผู้ว่างงานจำนวนหนึ่งจะหยุดการหางาน แต่ผู้สามารถหางานใหม่มีจำนวน 683,000 คน การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ณ สิ้นไตรมาสที่สี่มีจำนวน 132.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 131.7 ล้านคน ณ สิ้นไตรมาสที่สาม โดยเป็นการจ้างงานในภาคเอกชนเกือบทั้งหมด ในขณะที่การจ้างงานภาครัฐลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส
-เศรษฐกิจประเทศกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 0.7 (%YoY) และ หดตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ) เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว ประเทศส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีการชะลอตัวลง เช่น เยอรมัน (ร้อยละ 2.0 จากเดิม ร้อยละ 2.7) ออสเตรีย (ร้อยละ 1.5 จากเดิม ร้อยละ 2.7) และเนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ -0.7 จากเดิม ร้อยละ 1.1) กรีซ (ร้อยละ -7.0 จากเดิม ร้อยละ -5.0) ในขณะที่ฝรั่งเศสชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.5 เหลือร้อยละ 1.4 อัตราการว่างงานเฉลี่ยของประเทศกลุ่มยูโรโซนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.2 ในไตรมาสที่แล้ว เป็นร้อยละ 10.4 และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยสเปนยังคงมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด ร้อยละ 22.9 (ธันวาคม) ในขณะที่ออสเตรียมีอัตราการว่างงานต่ำสุดร้อยละ 4.1 เงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.9 สูงกว่าเป้าหมายระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรป ที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 2.0 และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปซึ่งปรับลดลง 2 ครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เหลือเพียงร้อยละ 1.0 นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซนยังเป็นข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ในขณะที่ปัญหาสถาบันการเงินและหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญ ที่อาจทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของกลุ่มยูโรโซนร้ายแรงขึ้นในภาพรวมได้ โดยภาพรวม เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.5 (%YoY) และคาดว่าจะหดตัว ร้อยละ 0.5 ในปี 2555
-เศรษฐกิจญี่ปุ่น ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าของเงินเยน และอุทกภัยในประเทศไทย เมื่อปรับฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 (%QoQ, s.a.) การหดตัวในไตรมาสนี้มีผลมาจากการส่งออกที่หดตัวร้อยละ 1.7 (%YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศเติบโตร้อยละ 0.5 (%YoY) และการใช้จ่ายภาครัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 (%YoY) นอกจากนี้ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้หดตัวลงเช่นกัน โดยปรับลดลงเฉลี่ยร้อยละ 2.2 (%YoY) ต่อเดือนในไตรมาสที่สี่ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ได้ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 50.0 จากระดับเฉลี่ย 51.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนี Tankan ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของญี่ปุ่น โดยวัดความเชื่อมั่นของบริษัทรายใหญ่ในญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมาที่ระดับ -4 ในไตรมาสที่สี่ จากระดับ +2 ในไตรมาสที่สอง
อย่างไรก็ตามสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการอนุมัติแผนการลดภาระการคลังของกรีซจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและเกื้อหนุนการส่งออกของญี่ปุ่นได้ แม้ว่าอุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากงบประมาณฟื้นฟูประเทศของรัฐบาลมูลค่า 2.5 ล้านล้านเยน (The 4 th Supplementary Budget) และดัชนี PMI ได้ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 50.7 ในเดือนมกราคม 2555 แต่เศรษฐกิจโดยรวมยังมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินเยน
-เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 8.9 (%YoY) เป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส โดยปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 2.0 (%QoQ) การที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปและความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของธนาคารกลางจีน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.9 ลดลงจากระดับ 50.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของจีนยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 4.0 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 ลดลงจากร้อยละ 6.3 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่องและอุปสงค์จากตลาดโลกชะลอตัวลง แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงเอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่เปลี่ยนแปลงในไตรมาสที่ 4 และอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2554 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 21.0 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง แม้ว่าการลงทุนในประเทศและการส่งออกจะชะลอตัว แต่เศรษฐกิจจีนจะยังได้รับแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคในประเทศ
-เศรษฐกิจอินเดีย มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่สามที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 (%YoY) สะท้อนจากดัชนี PMI ในไตรมาสที่สี่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 52.4 จากระดับ 52.2 และยังสูงขึ้นต่อเนื่องเป็น 57.5 ในเดือนมกราคม 2555 เนื่องจากธุรกิจที่ก่อตั้งใหม่เพิ่มกำลังการผลิตตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้น แม้ว่าดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สี่ ลดลงจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สามเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกตามภาวะเศรษฐกิจโลก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกและราคาอาหารที่ชะลอตัว โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 8.8 ลดลงจากร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงได้อีกครั้งเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินรูปี ทำให้ภาคธุรกิจต้องนำเข้าวัตถุดิบและเชื้อเพลิงในราคาสูง ธนาคารกลางจึงมีความจำเป็นต้องเข้มงวดนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) จากร้อยละ 8.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 ในไตรมาสที่สี่
-เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง) สิงคโปร์มีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการขนส่งและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมูลค่าการส่งออกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.3 (%YoY) ในขณะที่ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.2 ลดลงจากร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 5.54 เนื่องจากต้นทุนที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นโดยเป็นผลมาจากการลดลงในอุปทานและการปรับขึ้นค่าเช่า
เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.9 ลดลงจากร้อยละ 4.31 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอยู่ที่ร้อยละ 3.25
ไต้หวันและฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 2.9 ชะลอลงจากร้อยละ 3.4 และ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ การชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงและไต้หวันเป็นผลมาจากการหดตัวในอุปสงค์จากตลาดโลกแต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้จากการบริโภคในประเทศ นอกจากนี้ไต้หวันยังได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการลงทุนของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ของฮ่องกงและไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ 5.8 และ 1.2 ตามลำดับ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม ปัจจัยที่ช่วยลดอัตราเงินเฟ้อในไต้หวันได้แก่ราคาของผักสดและโทรคมนาคมต่ำลง ในขณะที่ฮ่องกงยังประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงจากราคาอาหารและที่อยู่อาศัย
-เศรษฐกิจออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2554 หดตัวจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สอง โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาคเศรษฐกิจหลายส่วนของออสเตรเลียยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการผลิตถ่านหิน อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายจะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในประเทศอันเนื่องมาจากการขยายตัวของการลงทุนในประเทศ ในขณะที่การว่างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 5.2 เทียบกับร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่แล้ว สำหรับเงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่แล้วเหลือร้อยละ 3.1 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผ่อนคลายของค่าแรงและผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มฟื้นตัวได้ดี รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อคลายตัว ส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายเหลือเพียงร้อยละ 4.25 นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 12 เดือน อย่างไรก็ตามยังคงมีเสี่ยงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งคาดว่าจะผันผวนในกรอบค่อนข้างกว้างเทียบกับเหรียญ สรอ. โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.25 ในปี 2554 และดีขึ้นเล็กน้อยในปี 2555
-เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี โดยเวียดนามขยายตัวคงที่ร้อยละ 6.1 โดยเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 19.8 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 22.5 ในไตรมาสที่แล้ว และยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเวียดนาม ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังคงที่ร้อยละ 15 มาตั้งแต่เดือนตุลาคม สำหรับมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 4.8 ลดลงจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 3.7 ดีขึ้นเล็กน้อยเทียบกับร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่ขยายตัวคงที่ร้อยละ 6.5 ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สี่ (%YoY) ปัญหาเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเริ่มคลายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สองไตรมาสที่แล้ว และคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 6
เศรษฐกิจโดยรวมในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราสูง จากการขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยแนวโน้มการขยายตัวแต่ละไตรมาสดังนี้
ไตรมาสแรกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ เนื่องจากอยู่ในช่วงการฟื้นตัวจากผลกระทบของอุทกภัย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรมแม้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแต่การขยายตัวไม่สูงมากนัก โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนหลัก คือ (1) การบริโภคภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการบริโภคสินค้าคงทนและการซ่อมแซมอาคารบ้านเรือน รวมถึงอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ (2) อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำหลังจากรัฐบาลได้ขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 และ (3) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลาย ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการการสนับสนุนสินเชื่อจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดคือ (1) การส่งออกสุทธิมีแนวโน้มหดตัว โดยการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าระดับปกติ เนื่องจากการผลิตภายในประเทศยังฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ รวมถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอลง โดยเฉพาะผลกระทบจากการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป ขณะที่การนำเข้ายังขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 และ (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐในปีงบประมาณ 2555 มีความล่าช้า ซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือนมกราคม และต้นกุมภาพันธ์ 2555 และ (3) ความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวน ของตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากเป็นช่วงที่ประเทศสมาชิกของยูโรโซนต้องชำระหนี้พันธบัตร เช่น อิตาลีต้องจ่ายเงินใน เดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม และ เมษายน ปี 2555 จำนวน 36.4 27.1 และ 27.8 พันล้านยูโร ตามลำดับ หรือประมาณร้อยละ 5.7 ของ GDP ขณะที่กรีซต้องชำระหนี้พันธบัตรในเดือน มีนาคม 2555 จำนวน 14.0 พันล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 6.8 ของ GDP
ไตรมาสสองเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสแรก และมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เข้มแข็งอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยสนับสนุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ (1) การเร่งการผลิตสินค้าเพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงในช่วงหยุดการผลิต (2) การขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในหมวดยานยนต์ เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่าในไตรมาสแรกของปี 2555 รวมทั้งฐานที่ต่ำของการบริโภคและการลงทุนในหมวดนี้ในปี 2554 ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นจนนำมาสู่การหยุดการผลิต (3) การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (4) การขยายตัวของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง โดยการเบิกจ่ายภาครัฐสามารถดำเนินได้อย่างปกติ ขณะที่ภาคเอกชนมีการลงทุนในการสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันผลกระทบของอุทกภัย และ (5) การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภายในประเทศและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังจากมีแนวโน้มหดตัวในไตรมาส 1 ปี 2555 ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด (1) การเข้าสู่ฤดูฝนอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคการผลิตและนักลงทุน ในกรณีที่มาตรการและแผนฟื้นฟูต่างๆ จากภาครัฐดำเนินไปอย่างล่าช้า และ (2) อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น จากแนวโน้มการทยอยปรับการจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล
เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงสุดในรอบปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำ ในปี 2554 โดยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ (1) ภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญสามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ ทั้ง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (2) ภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี (3) ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวสูง และ (4) การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการขยายตัวสูงของสินค้าคงทน เนื่องจากการปรับโครงสร้างรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้ง การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ค่าแรงขั้นต่ำ และการรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาสูง รวมถึงการซื้อรถยนต์ที่มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ด้านปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงิน เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อทั้งด้านอุปสงค์และต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (2) เงินบาทมี
แนวโน้มแข็งค่ากว่าในครึ่งปีแรก และ (3) ความเสี่ยงที่จะเกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน เนื่องจากถึงช่วงเวลาที่ประเทศสมาชิกของยูโรโซนต้องชำระหนี้พันธบัตร โดยอิตาลีต้องจ่ายเงินในครึ่งปีหลังถึง 102.5 พันล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 6.4 ของ GDP และสเปนต้องจ่ายเงินในช่วงเวลาเดียวกันจำนวน 35.2 พันล้านยูโร หรือประมาณร้อยละ 3.3 ของ GDP
-ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(1) การขยายตัวของการลงทุนด้านการก่อสร้าง ทั้งการลงทุนเพื่อซ่อมแซมความเสียหายจากผลกระทบของน้ำท่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และการลงทุนเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของภาครัฐและภาคธุรกิจ ส่วนมาตรการเร่งรัดฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนของภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ได้พิจารณาแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในปี 2555-2559 ในกรอบวงเงินประมาณ 2.65 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงแผนปฎิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืนกรอบวงเงินงบประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ที่เสนอโดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
(2) ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดย (1) จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคม 2555 มีจำนวน 1.94 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 17.9 และ 2.5 ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2554 ตามลำดับ (2) การส่งออกในไตรมาส 4 หดตัวเพียงร้อยละ 4.8 แม้ว่าต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างรุนแรงทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบของน้ำท่วม (3) อัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในเดือนพฤศจิกายน 2554 และ (4) กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 52.3 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 40.5 ในเดือนพฤศจิกายนและคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2555
(3) รายได้ภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะจากนโยบายการปรับโครงสร้างรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจาก (1) การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ (2) การปรับเพิ่มรายได้แรกเข้าของข้าราชการที่จบปริญญาตรีเป็นเดือนละ 15,000 บาท และ (3) การรับจำนำสินค้าเกษตรที่สำคัญ ทั้ง ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งเมื่อรวมมาตรการลดค่าครองชีพและกระตุ้นการบริโภค ทั้งด้าน (1) การชะลอการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของน้ำมันเบนซินและดีเซล รวมทั้งการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และ (2) การคืนเงินแก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก (ไม่เกินคันละ 1 แสนบาท) คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
(4) อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะในครึ่งปีแรก เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงและทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้ดี
-ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
(1) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติรุนแรงในปี 2555 จะทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบ และอาจนำมาสู่การเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐบาลจำนวนมากซึ่งจะส่งกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศ รวมทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ นอกจากนี้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศไทย ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับประเทศผู้ผลิตและส่งออกชิ้นส่วนประกอบสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมทั้งภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นกับแหล่งการผลิตน้ำมัน ที่จะนำมาสู่ราคาน้ำมันที่เร่งตัวสูงขึ้น
(2) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะการหดตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปซึ่งเป็นผลจากปัญหาหนี้สาธารณะสูง และนำไปสู่การปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงความอ่อนแอของภาคการผลิตจริงและการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่าวิกฤติหนี้สาธารณะจะลุกลามไปสู่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น อิตาลี การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกลดลง ซึ่งเป็นผลให้ประเทศที่มีการพึ่งพาการส่งออกสูงมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะ กลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ญี่ปุ่น เยอรมัน และรวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงยังส่งผลให้ราคาน้ำมันและความต้องการน้ำมันลดลงด้วย และจะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้รายได้และเศรษฐกิจของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือชะลอลง
(3) ตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน โดยปัจจัยหลักมาจาก (1) ความไม่แน่นอนและความเปราะบางของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งจะมีความผันผวนสูงในช่วงที่ประเทศต่างๆต้องชำระหนี้พันธบัตร เนื่องจากมีความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะการชำระหนี้ของประเทศอิตาลี และกรีซ ที่จำเป็นต้องชำหนี้ระพันธบัตรในปี 2555 จำนวน 193.7 และ 33.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12.2 และ 15.9 ของ GDP ตามลำดับ และ (2) สภาพคล่องในระบบสูง เนื่องจากธนาคารกลางประเทศต่างๆ ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและเพื่อเก็งกำไร
(4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ในกรณีที่ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างอิหร่านและประเทศสหรัฐฯ รวมถึงสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสหภาพยุโรปประกาศจะยกเลิกการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอิหร่านภายในเดือนกรกฏาคม 2555 แต่อิหร่านได้ตอบโต้โดยจะหยุดส่งน้ำมันไปยังสหภาพยุโรปให้เร็วที่สุด ปัจจุบันอิหร่านมีกำลังการผลิต 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นประมาณร้อยละ 12.1 ของกำลังการผลิตทั้งหมดของโอเปค
(5) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากอุปสงค์ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศลดลง และนำไปสู่รายได้เกษตรกรลดลง
(6) การขยายตัวต่ำในไตรมาสแรกของปี 2555 แม้ว่าภาคเศรษฐกิจต่างๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี แต่อย่างไรก็ตามภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรุนแรง ยังจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูจะทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้เต็มศักยภาพ และส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าระดับปกติ
(7) การขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม การตึงตัวของตลาดแรงงานและการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำนำมาสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงงานสูง และอาจนำมาสู่การย้ายฐานการผลิต ประกอบกับความไม่ชัดเจนด้านนโยบายแรงงานต่างชาติจะทำให้แรงงานผิดกฎหมายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านสังคมอีกด้วย
-ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2555
(1) ไม่มีภาวะอุทกภัยในขั้นวิกฤติ หรือในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมเป็นต้น
(2) เศรษฐกิจโลกในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 - 3.8 ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6-4.0 ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1-7.1 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7-7.7
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยคงประมาณการจากครั้งก่อนหน้า และปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2554 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 2.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq, sa annualized) โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวที่สำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง สะท้อนถึงภาคเศรษฐกิจจริงสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวไม่เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2555 โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ (1) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน โดยอัตราว่างงานเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 8.3 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี (2) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต โดยดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2555 อยู่ที่ 54.1 สูงสุดในรอบ 7 เดือน (3) ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และ (4) การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงไม่มากนัก แม้ว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ (1) การหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งทางด้านการค้า และด้านตลาดเงินและตลาดทุนที่จะได้รับความผันผวน และ (2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการถือเงินดอลลาร์ สรอ. มากกว่าเงินยูโร ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกของสหรัฐฯ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1 และชะลอลงจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกมีแนวโน้มขยายตัวต่ำ โดยเฉพาะในไตรมาสแรกมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง ส่วนในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยคาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ PIIGS มีแนวโน้มหดตัวทุกประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักอย่างฝรั่งเศสและเยอรมันนีมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปหดตัว คือ (1) หนี้สาธารณะอยู่ระดับสูง ซึ่งนำมาสู่การลดการใช้จ่ายภาครัฐในด้านต่างๆ ทั้งการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายด้านสวัสดิการประชาชน (2) ภาคเศรษฐกิจจริงภายในประเทศยังคงอ่อนแอ และอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับสูง (3) สถาบันการเงินของหลายประเทศมีเสถียรภาพต่ำ เนื่องจากเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีหนี้สูง และมีความกังวลต่อการผิดชำระหนี้ และ (4) ความไม่แน่นอนและผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ของกลุ่มประเทศ PIIGS
เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงจากร้อยละ 2 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า แต่ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2554 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังคงมีความเปราะบางและค่อยๆฟื้นตัว แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นและขยายตัวได้สูงกว่าในครึ่งปีแรก โดยปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ (1) การขยายตัวของการลงทุนภาคก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายจากผลกระทบของแผ่นดินไหว (2) การเพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง หลังจากหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกันในปี 2554 (3) การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ยานพาหนะและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปี 2554 หดตัวประมาณร้อยละ 10 และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 17 ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ (1) การแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งนำไปสู่การลดลงของขีดความสามารถทางการแข่งขัน (2) การหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนของตลาดการส่งออกของญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11 (3) อัตราการว่างงานมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง และ (4) หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงเกินร้อยละ 200 ต่อ GDP
เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.6 ชะลอลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 9 และจากร้อยละ 9.2 ในปี 2554 โดยปัจจัยบวกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ (1) การลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในเดือนมกราคม อยู่ที่ร้อยละ 4.5 ลดลงเมื่อเทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 (2) นโยบายการเงินมีแนวโน้มผ่อนคลายหลังจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์ลดลง และ (3) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯและญี่ปุ่นมีสัดส่วนของตลาดส่งออกร้อยละ 17 และ 8 ตามลำดับ ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวคือ (1) การหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนตลาดส่งออกประมาณร้อยละ 20 โดยในเดือนมกราคม 2555 การส่งออกจีนหดตัวร้อยละ 0.5 เป็นการหดครั้งแรกในรอบ 26 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกไปยุโรปและฮ่องกงที่หดตัวร้อยละ 3.2 และ 16.5 ตามลำดับ และ (2) เงินหยวนมีแนวโน้มแข็งค่า
(3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนหน้า โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 คือ (1) ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จาก 27.6 และ 9.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2554 เป็น 28.2 และ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับในปี 2555 ตามการคาดการณ์ของ OPEC (2) การเก็งกำไรในกองทุนน้ำมันมากกว่าในช่วงปกติ เนื่องจากช่วงสภาพคล่องในตลาดการเงินสูง แต่ขณะที่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมีน้อย (3) ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างประเทศอิหร่านกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ และ (4) ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อแหล่งการผลิต และฤดูหนาวที่มีแนวโน้มรุนแรง ส่วนปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ได้แก่ (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการหดตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (2) เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่า (3) ปริมาณการผลิตน้ำในประเทศลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากในปี 2554 ผลิตได้เพียง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตในปี 2553 ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ (4) กลุ่มประเทศ OPEC ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยในปี 2554 ผลิตเพียง 29.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตที่ 31.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2551
(4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.4 ปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 7 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาส่งออกมีแนวโน้มลดลง คือ (1) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆมีแนวโน้มลดลง และ (2) ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มลดลงตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.8 เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 8 เนื่องจากราคานำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
(5) อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ 30-31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เป็นการคงประมาณการจากครั้งก่อน โดยคาดว่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอ่อนค่าเนื่องจากการที่เงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าในครึ่งปีแรก เนื่องจาก (1) ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นหลังจากการผลิตภายในประเทศกลับมาผลิตในระดับปกติ (2) ปริมาณเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีกว่าในครึ่งปีแรก และ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง
(6) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2555 คาดว่าจะมีประมาณ 21 ล้านคน ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่ 20 ล้านคน เนื่องจาก (1) จากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของจำนวนนักท่องเที่ยวหลังจากได้รับผลกระทบของภัยพิบัติน้ำท่วม (2) เหตุการณ์ความปรองดองภายในประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งเพิ่มความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว และ (3) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอินเดีย เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี
-ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555 :
คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.5-6.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 และขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.5-4.0 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2554 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 3.4 ของ GDP ในปี 2554
การปรับประมาณการมีเหตุผลดังนี้
(1) ภาคการผลิตที่สำคัญมีแนวโน้มการฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยภาคเกษตรกรรมสามารถขยายตัวได้ในไตรมาส 4 ของปี 2554 ภาคการท่องเที่ยวมีการขยายตัวในเดือนมกราคม 2555 และภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวได้เต็มศักยภาพในครึ่งปีแรกของปี 2555
(2) การหดตัวอย่างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ในไตรมาส 4 ปี 2554 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 2554 เป็นฐานที่ต่ำกว่าการประมาณการครั้งก่อน
(3) การหดตัวในไตรมาส 4 เป็นการหดตัวที่เกิดจากการได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงด้านการผลิต แต่ด้านอุปสงค์ยังมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากตลาดแรงงานไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เมื่อรวมกับเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพที่ดี ทำให้การฟื้นตัวสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
-องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555
(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 4.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4 โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 4.5 ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.4 จากการประมาณการครั้งก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ของประชาชน และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ของภาคการผลิตที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ด้านการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อน
(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 14.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.3 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นทั้งการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.5 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจาก (1) การฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ของการบริโภคสินค้าทุน เช่น การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และ (2) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของ การลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13 ปรับเพิ่มขึ้นจากคาดว่าขยายตัวร้อยละ 8 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยได้รับแรงส่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการที่สำคัญๆ ของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วมและแผนบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ
(3) การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.2 ปรับตัวลดลงจากขยายตัวร้อยละ 19 จากการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงทั้งปริมาณและราคาส่งออก โดยราคาส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.4 จากร้อยละ 7 จากการคาดการณ์ครั้งก่อน ด้านปริมาณมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 11.8 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12 จากการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่วนปริมาณการส่งออกทั้งสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 11.5 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.3 ในการคาดการณ์ครั้งก่อน เนื่องจากได้ปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 20 ล้านคน เป็น 21 ล้านคน
(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 24.3 ปรับลดลงจากร้อยละ 25 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นผลมาจากการปรับลดราคานำเข้า ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 จากร้อยละ 8 ในการคาดการณ์ครั้งก่อน อย่างไรก็ตามด้านปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 17.5 จากร้อยละ 17 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุน ส่วนปริมาณการนำเข้าทั้งสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 15.1 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 14.7 ในการประมาณการครั้งก่อน
(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 13.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากที่คาดว่าจะเกินดุล 13.5 จากประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากได้ปรับลดการคาดการณ์มูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้า ขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มขาดดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวดีขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ขาดดุล 9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากรายได้ภาคบริการมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2555 มีแนวโน้มเกินดุล 4.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ ร้อยละ 1.2 ของ GDP
(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2555 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 คงตามการประมาณการครั้งก่อน และอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2554 ที่ร้อยละ 3.8 ส่วนอัตราการว่างงานยังคงระดับต่ำอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.7
(1) การเร่งป้องกันผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในชุมชนและฐานการผลิตที่สำคัญ รวมทั้งเร่งรัดการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยซ้ำซ้อนและป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยการเร่งรัดการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยั่งยืน การจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัย และการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยที่ต้องการสภาพคล่องเพื่อฟื้นฟูธุรกิจในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ภาคการผลิตและนักลงทุน
(2) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านการลงทุนให้ได้ตามเป้าหมายของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ
(3) การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับรองรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบการเงินโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรป โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนของค่าเงิน รวมทั้งการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรฐษกิจที่ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย
(4) การดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นให้เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ผลิต ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญกับการให้ข้อมูลข่าวสารราคาสินค้ากับผู้บริโภคและเสริมด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประหยัดหรือปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
(5) การดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างอนาคตของประเทศ เช่น การสร้างรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อย นโยบายพลังงาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
(1) สถานการณ์ในกรีซน่าจะยังเป็นปัญหาเรื้อรังต่อไปแม้ว่าโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือจาก กองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) มูลค่า 130 พันล้านยูโร ยังมีอยู่สูง แต่ข้อตกลงต่างๆ ในการลดภาระหนี้และขาดดุลงบประมาณจะทำให้เกิดปัญหาในประเทศทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยกรีซเป็นประเทศเดียวในกลุ่มยูโรโซนที่มีอัตราการขยายตัวลดลงต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ปี 2549 ร้อยละ 5.2 (2549) ร้อยละ 4.3 (2550) ร้อยละ 1.0 (2551) และหดตัวร้อยละ 2.0 4.5 และ 6.0 ในปี 2552 2553 และ 2554 ตามลำดับ
(2) ในกรณีที่กรีซไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศได้ ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบอย่างมาก นอกเหนือจากกลุ่มยูโรและสหภาพยุโรป คือ ฝรั่งเศส และเยอรมัน โดยเยอรมันมีสัดส่วนในหนี้สาธารณะของกรีซสูงที่สุด (22.6 พันล้าน USD) ตามด้วยฝรั่งเศส (15 พันล้าน USD) .ในขณะที่ฝรั่งเศสถือครองหนี้ภาคเอกชนของกรีซสูงที่สุด (41.7 พันล้าน USD) ตามด้วยเยอรมัน (11.3 พันล้าน USD)
(3) ผลจากมาตรการเข้มงวดทางการคลังของกลุ่มยูโรบางประเทศกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อมของไทย โดยผลกระทบทางอ้อมเป็นการส่งผ่านประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน (ปัจจุบันไทยส่งออกไปอาเซียนร้อยละ 22.7 จีนร้อยละ 11.5 และญี่ปุ่นร้อยละ 10.4) โดย อาเซียน จีน และญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มยูโรโซน ร้อยละ 11.0 20.0 และ 11.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อการส่งออกของไทยคาดว่าจะไม่รุนแรงมากนัก
อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่มยูโรโซน
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับลดความน่าเชื่อถือประเทศในกลุ่มยูโรโซนอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 13 มกราคม 2555 สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจำนวน 16 ประเทศ และต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 มูดี้ส์ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือจำนวน 9 ประเทศ โดยภาพรวมมีดังนี้
สถานการณ์ของกรีซ
การเจรจาระหว่างกรีซและกลุ่ม Troika (6) เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือในครั้งที่ 2 ดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยธนาคารกลางยุโรปต้องการให้กรีซตอบรับมาตรการปรับโครงสร้างการคลังและภาษี ซึ่งการเจรจาหลายครั้งไม่สามารถหาข้อสรุปได้และส่งผลให้เกิดความกังวลและความผันผวนในตลาดเงินตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 รัฐสภากรีซได้ผ่านมติตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม Troika และในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 จะมีการลงมติรับรองแผนความช่วยเหลือแก่กรีซรอบใหม่ ซึ่งหากความช่วยเหลือที่กรีซได้รับและสามารถชำระหนี้จำนวน 14.5 พันล้านยูโร ที่ครบชำระในวันที่ 20 มีนาคม 2555 จะส่งผลให้ความกังวลต่อการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซลดลง และเสถียรภาพในตลาดการเงินดีขึ้น
หมายเหตุ
(6) ประกอบด้วยผู้แทน IMF EU และ ECB
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--