นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จะแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนอย่างไร” ในงานวันข้าราชการพลเรือน ประจำปี 2547 ซึ่งมีหัวข้อการจัดงานในปีนี้ว่า “ร่วมแก้จน คนทั้งชาติ” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
เลขาธิการฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศให้ปัญหาดังกล่าวเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน โดยจะต้องแก้ปัญหาที่ครอบคลุมในทุกด้านหรือทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
เลขาธิการฯ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยพบว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540-2541 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือร้อยละ 9.8 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 6.2 ล้านคนในปี 2545 จากเดิมที่ในปี 2541 มีสัดส่วนคนจนคิดเป็นร้อยละ 13 หรือ ประมาณ 7.9 ล้านคน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัดส่วนคนจนลดลงนั้นเนื่องมาจาก 1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2543-2545 2) ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง 3) การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล โดยจัดให้มีโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน และโครงการเอื้ออาทรต่างๆ 4) การจัดทำแผนชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเอาชนะความยากจน โดยจากข้อมูลจดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจน ปรากฏว่ามีประชาชนลงทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน มีปัญหาทั้งหมดประมาณ 12 ล้านปัญหา โดย 3 ลำดับแรกของปัญหาคือ ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาความยากจน พบว่า มีปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนได้แก่ การขาดการศึกษา ขาดทักษะในการประกอบอาชีพ ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากร มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ด้านสุขภาพ และขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ขาดความเชื่อมโยง องค์กรท้องถิ่นยังมีบทบาทน้อย และคนจนบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ขาดโอกาสในการศึกษาภาคบังคับ
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยสรุปมี 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามเกณฑ์พื้นฐาน 10 ประการ 2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 3) การแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนอย่างเป็นระบบและครบวงจร 4) การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจน
ในโอกาสนี้ ข้าราชการดีเด่นของ สศช. ได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณและครุฑทองคำจากประธานในพิธีด้วย นอกจากนี้ สศช. ได้ร่วมจัดบอร์ดนิทรรศการในงานวันข้าราชการพลเรือนครั้งนี้ ในหัวข้อ “สภาพัฒน์ร่วมแก้จน” โดยมีข้าราชการและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมบอร์ดนิทรรศการและรับเอกสารอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-สส-
เลขาธิการฯ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ซึ่งได้ประกาศให้ปัญหาดังกล่าวเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องอาศัยการผนึกกำลังจากทุกภาคส่วน โดยจะต้องแก้ปัญหาที่ครอบคลุมในทุกด้านหรือทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น
เลขาธิการฯ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทยพบว่า หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540-2541 สัดส่วนคนจนลดลงเหลือร้อยละ 9.8 ของประชากรทั้งประเทศ หรือประมาณ 6.2 ล้านคนในปี 2545 จากเดิมที่ในปี 2541 มีสัดส่วนคนจนคิดเป็นร้อยละ 13 หรือ ประมาณ 7.9 ล้านคน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัดส่วนคนจนลดลงนั้นเนื่องมาจาก 1) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2543-2545 2) ได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ แก้ไขปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง 3) การแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายของรัฐบาล โดยจัดให้มีโครงการต่าง ๆ ที่เป็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน และโครงการเอื้ออาทรต่างๆ 4) การจัดทำแผนชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเอาชนะความยากจน โดยจากข้อมูลจดทะเบียนปัญหาสังคมและความยากจน ปรากฏว่ามีประชาชนลงทะเบียนประมาณ 8 ล้านคน มีปัญหาทั้งหมดประมาณ 12 ล้านปัญหา โดย 3 ลำดับแรกของปัญหาคือ ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน ปัญหาที่ดินทำกิน และปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการวิเคราะห์สาเหตุปัญหาความยากจน พบว่า มีปัจจัยที่ส่งผลต่อความยากจนได้แก่ การขาดการศึกษา ขาดทักษะในการประกอบอาชีพ ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและทรัพยากร มีปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ด้านสุขภาพ และขาดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้ ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจน ยังมีประเด็นปัญหาที่สำคัญคือ ปัญหาด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตค่อนข้างต่ำ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้ขาดความเชื่อมโยง องค์กรท้องถิ่นยังมีบทบาทน้อย และคนจนบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ ขาดโอกาสในการศึกษาภาคบังคับ
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน โดยสรุปมี 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ตามเกณฑ์พื้นฐาน 10 ประการ 2) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 3) การแก้ไขปัญหาความยากจนของกลุ่มเป้าหมายลงทะเบียนอย่างเป็นระบบและครบวงจร 4) การปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาความยากจน
ในโอกาสนี้ ข้าราชการดีเด่นของ สศช. ได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณและครุฑทองคำจากประธานในพิธีด้วย นอกจากนี้ สศช. ได้ร่วมจัดบอร์ดนิทรรศการในงานวันข้าราชการพลเรือนครั้งนี้ ในหัวข้อ “สภาพัฒน์ร่วมแก้จน” โดยมีข้าราชการและประชาชนที่สนใจเข้าร่วมชมบอร์ดนิทรรศการและรับเอกสารอย่างต่อเนื่อง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-สส-