ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547(ภาพรวม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2004 12:16 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ภาพรวม 
ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2547
ในไตรมาสแรกปี 2547 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2546และขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 3.4 ต่อปี ต่ำกว่า การขยายตัวร้อยละ 9.4 และ 10.2 ในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายปี2546 อย่างชัดเจน เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาระยะสั้นซึ่ง ประกอบด้วย ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกที่ส่งผลกระทบ ต่อการส่งออกไก่ และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทบความเชื่อมั่นของประชาชนและเป็น อุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ในขณะ เดียวกันการชะลอตัวส่วนหนึ่งก็เป็นสัญญาณที่ชี้ถึงการปรับ ตัวของภาวะการใช้จ่ายครัวเรือนและปริมาณการส่งออกที่ ขยายตัวในอัตราที่ช้าลงภายหลังจากที่ได้ขยายตัวในอัตราสูง มาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้น มากตามภาวะการผลิตและการลงทุน
โดยภาพรวมนับว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค และเป็นการขยายตัวที่สนับสนุนโดยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ ในขณะที่ภาคการค้าต่างประเทศปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการส่งออก ดังนั้นสุทธิแล้วการส่งออกสินค้าบริการจึงเป็นปัจจัยที่ชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจลง อย่างไรก็ตามราคาสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าราคาสินค้านำเข้า เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวและยางพารา ประกอบกับกลุ่ม สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงมีราคาเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยจึงได้เปรียบอัตราการค้า (Term of trade) ทำให้มีรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นมากแม้ว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ซึ่งเป็นปัจจัยบวกด้านกำลังซื้อของประชาชนและช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูง
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 มีปัจจัยหลายประการที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ ดอกเบี้ยยังอยู่ ในระดับต่ำโดยที่ประชาชนและนักลงทุนส่วนหนึ่งยังไม่ได้ใช้ ประโยชน์จากภาวะดอกเบี้ยต่ำ ราคาพืชผลเกษตรหลัก ๆ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน มีแนวโน้มสูงขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น กำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมลดลงมาก และภาคธุรกิจเอกชนมีผลประกอบการดีขึ้นตามลำดับในขณะที่สัดส่วนหนี้สินต่อทุน ลดลง สถาบันการเงินมีความมั่นคงและขยายสินเชื่อมากขึ้น ในขณะที่ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในระยะสั้นก็มีมากขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ความไม่สงบในภาคใต้ที่มีความยืดเยื้อ ความกังวลในเรื่องการก่อการร้ายในประเทศต่าง ๆ ยังมีอยู่ ความผันผวนของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลง รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของประเทศไทยและของกลุ่มประเทศในเอเชียโดยรวม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สศช. จึงคาดว่าตลอดปี 2547 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.0-7.0 ซึ่งเป็นการปรับประมาณการลงจากร้อยละ 7.0-8.0 ในการประกาศเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 โดยที่โอกาสความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในระดับสูงของช่วงการประมาณการมีมากกว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในทางต่ำ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันจะลดลงได้เร็วกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของรายได้ และการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวได้มาก ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แรงกดด้านราคาสินค้าเพิ่มขึ้นจากด้านความต้องการสินค้าและบริการและต้นทุนการผลิตประเภทเหล็ก น้ำมัน และราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น รวมทั้งผลการปรับเงินเดือนค่าจ้างและการปรับค่าจ้างแรงงานที่เริ่มทะยอยปรับขึ้นตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและผลประกอบการภาคธุรกิจเอกชนที่ดีขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.5 อัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปีประมาณร้อยละ 2.0 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณ 260 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 4.0 ของ GDP และคาดว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 40 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สะท้อนถึงความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
1. เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2547
1.1 เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรก ปี 2547
เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสแรกของปี ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มประเทศในเอเชีย รวมทั้งสหภาพยุโรป โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 5.0 สูงกว่าร้อยละ 4.3 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2546 ซึ่งเป็นผลจากนโยบายการเงินการคลังที่เอื้ออำนวยในการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายครัวเรือน การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 5.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่เร็วขึ้นโดยที่การส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีภายใต้เงื่อนไขภายในประเทศที่ดำเนินมาตรการด้านการเงินและการคลังเพื่อรักษา ความต่อเนื่องของการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อัตราการว่างงานค่อนข้างทรงตัวที่ร้อยละ 5 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ซึ่งซบเซาในช่วงต้นปี 2546 ได้ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปีและขยายตัวได้ต่อเนื่องในไตรมาสแรกปีนี้ด้วยอัตราการขยายตัวร้อยละ 1.5 จากการฟื้นตัวของการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาการว่างงานจากเงื่อนไขด้านตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและความกังวลต่อความสามารถในการจ่ายสิทธิประโยชน์ของกองทุนการประกันสังคมในหลายประเทศ เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสแรกปี 2547 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 สะท้อนการดำเนินมาตรการลดความร้อนแรงที่ค่อยเป็นค่อยไป แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายที่กังวลว่าเศรษฐกิจยังร้อนแรงอยู่ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวประกอบด้วยทั้งการส่งออก การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนที่ยังขยายตัวในอัตราสูงแม้จะเริ่มปรับตัวชะลอลงบ้างอันเป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการควบคุมอัตราการขยายตัวของการลงทุนในประเทศ
เศรษฐกิจอาเชียน ประเทศเศรษฐกิจหลักในภูมิภาค อาเซียน เช่น อินโดนีเชีย มาเลเชีย และสิงคโปร์ ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ ประเทศอินโดนีเชีย มาเลเชีย และสิงคโปร์ ขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 7.6 และ 7.5 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว เร่งขึ้นจากอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.1 6.6 และ 4.9 ในไตรมาสสี่ของปีที่แล้ว การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในไตรมาสนี้มีลักษณะฐานกว้าง กระจายตัวสู่ภาคการผลิตและสนับสนุนโดยแหล่งการใช้จ่ายต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ความต้องการภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ดีในทุกประเทศ โดยเฉพาะในสิงคโปร์และอินโดนีเชีย ในขณะที่การส่งออกของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการส่งออกไปตลาดจีนที่เพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่ภูมิภาคเอเชียได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมและเคมีภัณฑ์และยารักษาโรค ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสแรกของปีนี้
(ยังมีต่อ).../1.2 เศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ