2. เงื่อนไขและปัจจัยทางเศรษฐกิจปี 2547
2.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2547
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.4 สูงกว่าร้อยละ 3.2 ในปี 2546 โดยเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ มีแนวโน้ม ขยายตัวได้สูงกว่าในปี 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และเอเชีย การส่งออกของกลุ่มประเทศในเอเชียได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและยังมีผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่การค้ากับจีนและภายในภูมิภาคเองก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
แม้ว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นแต่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนาจะเพิ่มขึ้นไม่มาก การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจะค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แรงกดดันต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ยังมีไม่มากจนน่าเป็นห่วงนั้นเนื่องจากเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) กำลังการผลิตส่วนเกินจะยังมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แม้จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีการแข่งขันสูงและ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในหลายประเทศโดยเฉพาะเป็นแรงกดดันให้เกิดการปรับตัวจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ 2 ประการในหลายประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักและเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่จะเป็นแรงเหวี่ยงและช่วยรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ชะลอลงรุนแรงเกินไป คืออัตราการว่างงานที่ลดลง และการลงทุนภาคเอกชนที่มีทิศทาเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ
มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ในปี 2547 สูงกว่าร้อยละ 3.1 ในปี 2546 แรงงานของสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความพยายามของธุรกิจเอกชนปรับปรุงกิจการและผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสูงเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายปีก่อนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2544 ทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้ายังไม่มากแม้ว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเท่ากับร้อยละ 1.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี 2546เล็กน้อย และอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 5.7 ในปี 2547
อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ ยังต้องแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด ในไตรมาสแรกปี 2547 การขาดดุลงบประมาณต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
เป็นร้อยละ 1.5 จากการขาดดุลเฉลี่ยร้อยละ 0.90 แต่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นบ้างอันเป็นผลจากค่าเงินที่อ่อนลง
เศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2546
อุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นจากผลต่อเนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมทั้งสถานการณ์ด้านการจ้างงานที่อัตราการว่างงานเริ่มทรงตัว
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ในไตรมาสแรกขยายตัวสูงเกินที่คาดไว้เนื่องจากการส่งออกที่ยังเพิ่มขึ้นมากตามภาวะความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เอเชีย และจีนที่ขยายตัวสูงในไตรมาสแรก ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจปรับดีขึ้น ประกอบกับดอกเบี้ยต่ำและการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความชัดเจนมากขึ้นในการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการภายใต้กรอบการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่เรียกว่า Basic Policies for Economic and Fiscal Policy Management and Structural Reform 2003 ที่ได้ผ่านรัฐสภาได้ผ่านร่างกรอบงบประมาณและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางไปเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา จะสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค และทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อไป จึงคาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2547
เศรษฐกิจจีน
มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความพยายามของรัฐบาลในการลดความร้อนแรงของการลงทุน โดยการเพิ่มเงินสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน และการชะลอการขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์สำหรับสาขาเศรษฐกิจที่มีการขยายการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่องและมีความร้อนแรงมากเกินไป อาทิ สาขาอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตเหล็กกล้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวจะมีผลกระทบต่อสินค้าทุนมากกว่าการจ้างงาน ในขณะที่รายได้ในภาคชนบทและในเมืองยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังมีการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างชาติ อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจโลกแม้ว่าจะมีการปรับลดการคืนภาษีแก่ผู้ ส่งออกลงก็ตาม ดังนั้นจึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 7.5-8.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในปี 2546
กลุ่มประเทศอาเซียน
โดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วภายหลังจากที่การระบาดโรคของทางเดินหายใจเฉียบพลันได้ผ่านพ้นไป ในปี 2547 เศรษฐกิจในกลุ่มนี้จะยังได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเกษตรจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น ประกอบแรงกระตุ้นอุปสงค์ภายในที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และในการประเมินสถานการณ์ล่าสุดโดยสถาบันต่าง ๆ ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2547 ของประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน
2.2 ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปี 2547
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2547 ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ได้ประเมินไว้ในการประมาณการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 ซึ่งประกอบด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนภาคเอกชน ดอกเบี้ยต่ำ และปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้ทั้งการจ้างงาน ราคาสินค้าเกษตร ผลประกอบการภาคธุรกิจเอกชน และการปรับเพิ่มค่าจ้างและเงินเดือนทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายได้มากขึ้น
(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนขึ้น ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และกลุ่มประเทศเอเชียขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้ในเดือนมีนาคม ในขณะที่เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวชัดเจนขึ้นจากภาวะการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าการฟื้นตัวจะมีความแข็งแกร่งและความต่อเนื่องกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียที่ดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวในตลาดหลัก ๆ อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงในช่วงกลางปี จึงคาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.4
(2) เงื่อนไขด้านการลงทุนภาคเอกชนชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุน ประกอบด้วย ดอกเบี้ยต่ำ ผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เกือบเต็มและเต็มกำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรม แนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้นตามลำดับจะเห็นได้จาก เงินลงทุนของโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 75.8 ในปี 2546 และเพิ่มขึ้นอีก ร้อยละ 110.2 ใน 4 เดือนแรกของปี 2547 จากที่ลดลงร้อยละ 39 ในปี 2545 และการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 โดยเฉพาะเป็นการลงทุนในกิจการประเภทการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งได้สะท้อนในเครื่องชี้ต่าง ๆ ด้านการลงทุนโดยเฉพาะการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วในเกือบทุกกลุ่มสินค้าทุน เช่น อุปกรณ์ขนส่ง เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้และไม่ใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้วงเงินลงทุนของกิจการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 134.3 ใน 4 เดือนของปีนี้ เงินลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดเพิ่มขึ้นร้อยละ 164.9 และ 360.1 ตามลำดับ และเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับเกิน 50
(3) อัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะลดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงให้ต่ำลงอีกและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนต่อไป
(4) รายได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีเงื่อนไขสนับสนุนประกอบด้วย ราคาสินค้าเกษตรที่ยังเพิ่มขึ้น และการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ รวมทั้งผลประกอบการและการจ่ายปันผลของภาคธุรกิจเอกชนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในการประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้ ได้พบว่าอัตราการค้าของประเทศปรับตัวดีขึ้น (Term of trade) จากการที่ราคาสินค้าออกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาสินค้าเข้าซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ช่วยเพิ่มรายได้ที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายภาคเอกชน
(5) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้มากขึ้น ทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนของการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ และเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการตามแผนการพัฒนาจังหวัดซึ่งมีความชัดเจนมากขึ้น และโดยเฉพาะการเบิกจ่ายในหมวดค่าจ้างเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นจากการขึ้นเงินเดือน การเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด และการเบิกล่วงหน้าเงินบำนาญบางส่วน
(ยังมีต่อ).../ปัจจัยเสี่ยง..