(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547(ภาพรวม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 9, 2004 14:45 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        3.  ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี 2547                                                              
ในการประมาณการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547 ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศดังนี้
ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อันเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 2 ประการคือ ปัจจัยแรก เป็นเรื่องของความไม่ชัดเจนของแนวทางการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐอเมริกา ปัจจัยที่สอง ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น จากเงื่อนไขด้านปริมาณการผลิต ความต้องการใช้น้ำมัน และผลด้านจิตวิทยาจากปัญหาในตะวันออกกลาง
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก การสอบสวนเพื่อตอบโต้การทุ่มตลาดของการส่งออกกุ้งจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ อีก 5 ประเทศตามข้อกล่าวหาของสมาพันธุ์ผู้ค้ากุ้งในตอนใต้ ของสหรัฐฯ ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มค่าแรงเงินเดือนและค่าจ้าง และราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจในครั้งนี้ ประเมินว่าความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงกว่าในการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากในไตรมาสแรกเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดนำโดยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน เศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราสูงในไตรมาสแรกจะช่วยชดเชยผลกระทบที่เกิดจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังประสบปัญหาของประเทศเองที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งประกอบด้วย
(1) การระบาดของไข้หวัดนกที่ทำให้ทั้งยุโรปและญี่ปุ่นยังห้ามการนำเข้าไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งจากโรงงานบางส่วน จึงคาดว่าปัญหาต่อการส่งออกไก่สดแช่แข็งจะยืดเยื้อกว่าที่ประมาณการไว้เดิม จะเห็นว่าในช่วง 4 เดือนปริมาณและมูลค่าการส่งออกไก่แช่แข็งลดลงร้อยละ 78.6 และ 73.1 ซึ่งเป็นผลกระทบที่คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยคาดว่าตลอดทั้งปีผลกระทบต่อการส่งออกไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งจะมีมูลค่าประมาณ 19,000 ล้านบาท
(2) การสอบสวนการทุ่มตลาดกุ้งของสหรัฐฯ สำหรับประเทศส่งออกกุ้งสำคัญในขณะนี้อาจจะนำไปสู่การปรับเพิ่มภาษีนำเข้าที่เป็นอัตราสูงถึงร้อยละ 30-300 รวมทั้งการเรียกเก็บอากรย้อนหลังเป็นเวลา 90 วัน ซึ่งจะมีผลการตัดสินในประมาณเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ยังอาจได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศผู้นำเข้าตั้งข้อกำหนดเรื่องการ จับสัตว์น้ำเค็มที่ต้องไม่กระทบเต่าทะเล
(3) การส่งออกอาหารกระป๋อง ประสบปัญหาต้นทุนเหล็กที่ใช้ทำกระป๋องสูงขึ้นและขาดแคลน และการส่งออกปลากระป๋องทูน่ากระป๋องที่ยังมีปัญหาเรื่องสารไนโตรฟูแรนตกค้าง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนปลาทูน่าที่เป็นวัตถุดิบ เป็นต้น
4. สมมติฐานประมาณการปี 2547 4.1 เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 4.4 สูงกว่า ร้อยละ 3.9 ในปี 2546 และเป็นการปรับข้อสมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกจากเดิมร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นผลจากการปรับประมาณเศรษฐกิจสูงขึ้นของประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน ตามภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสแรกจนอาจร้อนแรงเกินไปและอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต้องคำนึงถึงมาตรการชะลอเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามคาดว่าการปรับตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และ จีนจะค่อยเป็นค่อยไป โดยไม่เกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรง (Hard landing) เนื่องจาก
(1) ในกรณีของสหรัฐฯ แม้จะมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยแต่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ค่อยเป็นค่อยไปและจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยจากฐานที่ต่ำ ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในปี 2538-2539 ซึ่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นมากถึงประมาณ 300 จุดจากฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในปัจจุบัน จึงเกิดการปรับตัวของตลาดทุนที่รุนแรง
(2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะไม่รุนแรง แม้ว่าการ ลงทุนที่มากเกินไปแสดงถึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจแต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นว่า สาขาที่มีลงทุนมากและจะเกิดเป็นกำลังการผลิตส่วนเกิน ประกอบด้วยสาขาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียมและซิเมนต์ ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลเริ่มควบคุมด้านสินเชื่อมากขึ้น จึงเป็นการแก้ปัญหาเพื่อลดความร้อนแรงเฉพาะจุด และผลกระทบที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นต่อสินค้าทุนมากกว่าการจ้างงานที่จะมีผลต่อเนื่องต่อการใช้จ่ายครัวเรือน ที่จะไปสู่การปรับตัวชะลอลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ นอกจากนั้นจะเห็นการส่งออกของประเทศจีนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและแข่งขันได้มากขึ้นในกลุ่มสินค้าที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ประกอบกับรายได้จากการเกษตรเพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยพยุงให้การชะลอตัวของเศรษฐกิจไม่รุนแรง และที่สำคัญรัฐบาลจีนได้ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ดำเนินมาตรการที่แตกต่างไปจากที่ดำเนินการแล้วเรื่องการเพิ่มสัดส่วนสำรอง และการลดการขยายสินเชื่อแก่สาขาเศรษฐกิจที่มีความกังวลว่าจะร้อนแรงเกินไป เป็นต้น
4.2 ราคาน้ำมันดิบโอมาน เฉลี่ยเท่ากับ 32 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 จากราคาเฉลี่ย 27.13 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาเรล ในปี 2546 และสูงกว่าข้อสมมุติฐาน 28.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรลในการประมาณการ ณ วันที่ 8 มีนาคม 2547 ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เพิ่มที่สูงกว่าที่คาดไว้เดิมมาก การขยายตัวในอัตราสูงของจีนสูงขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา เมื่อกลุ่มประเทศโอเปคตกลงลดโควต้าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากวันละ 24.5 ล้านบาเรล เป็น 23.5 ล้านบาเรลโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 โดยที่ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงจากแหล่งโอมานเฉลี่ยเท่ากับ 29.75 ในไตรมาแรก และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นบาเรลละ 33.85 ในไตรมาสที่สอง และลดลงเหลือบาเรลละ 32 ดอลลาร์ ในไตรมาสที่สามซึ่งเป็นผลจากที่กลุ่มประเทศโอเปคตกลงที่เพิ่มเพดานปริมาณการผลิตขึ้นวันละ 2 ล้านบาเรล ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ก่อนที่จะปรับเพิ่มอีกวันละ 5 แสนบาเรล ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป ในขณะที่ระดับการสำรองน้ำมันของสหรัฐฯ ได้เริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว จึงคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบแหล่งโอมานจะเท่ากับ 32 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ลดลงมากเนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องความไม่สงบในประเทศอิรักยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ประกอบกับเข้าสู่ช่วงหน้าหนาวในกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรปที่จะทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความอบอุ่นเพิ่มขึ้นอีก
4.3 ราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 โดยที่ราคาสินค้าส่งออกในทุกหมวดทั้งราคาสินค้าเกษตร สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าอุตสาหกรรมและเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าในปี 2546 ราคาสินค้านำเข้าโดยเฉลี่ยทั้งปี 2547 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.0 ดังนั้นจึงเป็นแนวโน้มที่ประเทศจะได้เปรียบอัตราการค้า
4.4 การส่งออกไก่ได้รับผลกระทบในช่วง 3 ไตรมาสแรก รวมผลกระทบ 19,000 ล้านบาท โดยเป็นผลกระทบต่อการส่งออกไก่แช่แข็ง 13,400 ล้านบาท และผลกระทบต่อการส่งออกไก่แปรรูปเท่ากับ 5,600 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมปี 2547 และผลกระทบต่อการท่องเที่ยวประมาณ 6,000 ล้านบาท ร้อยละ 1.6 ของรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2547 สำหรับผลกระทบที่ทำให้มีการบริโภคไก่น้อยลงนั้นส่วนใหญ่ถูกทดแทนด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ประเภทอื่น นอกจากนี้การชดเชยค่าไก่ที่ถูกทำลายและเพื่อซื้อพันธุ์ลูกไก่นั้นทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งของผู้เลี้ยงและแรงงาน จึงคาดว่าสุทธิแล้วผลกระทบต่อการใช้จ่ายจากรายได้ที่ลดลงจะมีไม่มาก
(ยังมีต่อ).../แนวโน้ม..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ