ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 30, 2012 13:56 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555

                                               2554                               2555
    (% YOY)                      Q3             Q4           ทั้งปี             Q1      ประมาณการ
GDP (ณ ราคาคงที่)                  3.7           -8.9           0.1           0.3        5.5-6.5
การลงทุนรวม                       3.3           -3.6           3.3           5.2           12.3
(ณ ราคาคงที่)
   - ภาคเอกชน                    9.1           -1.3          7.2            9.2           13.0
   - ภาครัฐ                     -10.9          -12.1         -8.7           -9.6           10.0

การบริโภครวม                      2.8           -3.0          1.3            2.0            4.4
(ณ ราคาคงที่)
   - ภาคเอกชน                    2.4           -2.8          1.3            2.7            4.5
   - ภาครัฐบาล                    4.9           -4.1          1.1           -1.6            3.5
มูลค่าการส่งออก                    27.3           -5.2         16.4           -4.0           15.1
สินค้า (US$)
   - ปริมาณ                      19.7           -7.5         10.2           -5.0           11.8
มูลค่าการนำเข้าสินค้า                33.4           12.2         24.7            9.6           22.3
(US$)
   - ปริมาณ                      19.5            3.7         13.3            3.5           16.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด                     3.5            2.3          3.4            0.6            0.7
ต่อ GDP (%)
   - เงินเฟ้อ                      4.1            4.0          3.8            3.4        3.5-4.0
อัตราการว่างงาน                    0.7            0.6          0.7            0.7            0.7

-เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรม และ การส่งออกปรับตัวดีขึ้น

-เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ร้อยละ 11.0 (%QoQ SA)

-การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 - 6.5 จาก การขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการผลิตโดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.5 และ 12.3 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 15.1 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.0 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.7 ของ GDP

-ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 ได้แก่ (1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศเพื่อชดเชยการหดตัวของงบลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกในช่วงที่โครงการยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (2) การแก้ไขปัญหาให้กับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง(3) การดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดย การเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว การเตรียมการเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว รวมถึงการเร่งรัดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ปี 2554 ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่เพียงประมาณร้อยละ 0.97 จากวงเงินรวม (4) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนให้มีความสอดคล้องและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ค้าคนกลาง และผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาวะเงินเฟ้อของประเทศ รวมถึง การประสานแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การสนับสนุนด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาดของสินค้าเกษตร สอดคล้องกับความผันผวนตามฤดูกาลของแต่ละสินค้า และลดความผันผวนของราคา (5) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพ แวดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่เป็นการขยายตัวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นการขยายตัวของภาคการผลิตในช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไตรมาสแรกและแนวโน้มปี 2555

เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ขยายตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสำคัญจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของภาคการผลิต และบริการ ในขณะที่การส่งออก ยังหดตัว แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ปี 2555

(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.8 เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์สินและซื้อสินค้าเพื่อทดแทนส่วนที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในปี 2554 รวมทั้งความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ เช่น มาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ65.3 เทียบกับ 62.3 ในไตรมาสที่แล้ว และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเงินเดือนข้าราชการ อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

(2) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 9.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.3 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ(Business Sentiment Index : BSI) ที่ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่เหนือระดับเกณฑ์ 50 ทั้งในช่วงไตรมาสแรก (ระดับ 53.0) และช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ระดับ 55.9)

(3) ภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้ มีจำนวน 5.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.1 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 258,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 66.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 64.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีน ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง ส่งผลให้สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.2 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา

(4) ภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา ในขณะที่ผลผลิตข้าวเปลือกลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.2 ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 10.9 เทียบกับไตรมาสที่แล้วที่หดตัวร้อยละ 2.3

(5) ภาคอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 21.6 เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยสามารถเริ่มทำการผลิตได้อีกครั้ง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 63.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46.3 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมใน3 เดือนข้างหน้าของเดือนเมษายนที่ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 112.6 เทียบกับระดับ 109.5 ในเดือนมีนาคม 2555

(6) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้คิดเป็นมูลค่า 53,803 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 5.2 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และอาเซียน (9 ประเทศ) ยังขยายตัวได้ดีในอัตราร้อยละ 2.1 และ 9.2 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) และญี่ปุ่นยังคงหดตัวร้อยละ 16.9 และ 7.0 ตามลำดับ ราคาการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงร้อยละ 5.5-6.5 โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการเร่งตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ในขณะที่แรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายเนื่องจากราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แม้ว่าจะยังมีความเสี่ยงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปแต่คาดว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง

คาดว่าในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.5 - 4.0 การบริโภคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.5 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 12.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 0.7 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2555 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสแรกของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายซื้อสินค้า เพื่อทดแทนทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนส่วนหนึ่งจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและสถาบันการเงินต่างๆ ประกอบกับความต้องการซื้อสินค้าที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้าอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะรถยนต์ที่รัฐบาลมีมาตรการ คืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก โดยยอดจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสนี้หดตัวเพียงร้อยละ 17.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 54.4 ในไตรมาสก่อน กำลังการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และ ผู้ผลิตรถยนต์ได้รับอนุญาตให้สามารถนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูปบางส่วนจากต่างประเทศมาชดเชยการผลิตที่ต้องชะงักงันไปในช่วงน้ำท่วมทำให้สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ทันกับยอดค้างจองที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 11.8 สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ65.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 62.3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำท่วมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามราคาพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ได้แก่ การจ้างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี รายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ และมาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาล

การใช้จ่ายภาคครัวเรือน

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 9.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.3 ตามการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสำคัญโดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ11.2 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 2.4 เนื่องจากมีการเร่งลงทุนเพื่อชดเชยและซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้วส่งผลให้การนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 โดยเฉพาะเครื่องจักรอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ47.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวมากถึงร้อยละ 62.4 จากการขยายตัวของความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.1 โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวจากการเร่งซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ53.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.4 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.4 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลง ถึงแม้ว่าจะยังคงมีความกังวลต่อแรงกดดันด้านต้นทุนจากการปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ทั้งนี้ ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบายและกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งการเร่งลงทุนตามแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 53,803 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,665,697 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 4.0 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 5.2 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สี่ของปี 2554 และปรับผลของฤดูกาลออก มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวถึงร้อยละ 12.2

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 25.4 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 19.6 จากการลดลงของปริมาณการส่งออกข้าวเป็นหลักจากปัญหาอุทกภัย และความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลงเนื่องจากราคาข้าวของไทยมีราคาสูงกว่าประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น เวียดนาม และอินเดีย รวมไปถึงการลดลงของปริมาณการส่งออกมันสำปะหลัง ขณะที่ราคาการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.3 จากราคาการส่งออก มันสำปะหลังและยางพารา จากความต้องการซื้อในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลยังคงขยายตัวได้ดี สินค้าอุตสาหกรรมทั้งปริมาณและมูลค่าหดตัวร้อยละ 2.7 และ 1.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ที่หดตัวร้อยละ 7.6 และ 5.3 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงการเริ่มฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยการส่งออกยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 2.6 จากที่หดตัวลงร้อยละ 20.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ8.3 และ 7.9 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ 29.0 และ 17.6 ตามลำดับ

ตลาดส่งออก: หดตัวลงในตลาดหลัก โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 7.0 และ 16.9 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา และอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 9.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกอื่นๆมีมูลค่าการส่งออกหดตัวในหลายตลาด ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน และออสเตรเลีย ยกเว้นอินเดีย และจีน ที่ยังคงขยายตัวแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง

การนำเข้า: ทั้งมูลค่า ปริมาณและราคาขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรกของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 52,630 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.6 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน การชะลอตัวของการนำเข้าในไตรมาสแรกเป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินค้าทุนเป็นหลัก ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค เริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวจากวิกฤตอุทกภัย

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้วและพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าเกือบทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นสินค้าทุนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง มีมูลค่าขยายตัวร้อยละ 6.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 1.3 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

สินค้าทุน มูลค่าขยายตัวร้อยละ 13.7 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 ในไตรมาสก่อน สินค้าทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องจักรอุปกรณ์และเครื่องใช้ประกอบสินค้าทุนเช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรกลอื่นๆและชิ้นส่วนสินค้าทุน สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่าขยายตัวร้อยละ 14.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.3 ตามการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน รายการนำเข้าที่ขยายตัวสูง เช่น อาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเครื่องประดับ(ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง

อัตราการค้า (Term of Trade) ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสแรกของปี 2555 หดตัวร้อยละ 4.5 เป็นการหดตัวติดต่อกันห้าไตรมาส นับจากไตรมาสแรกของปี 2554

ดุลการค้า: เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยเกินดุล 1,173 ล้านดอลลาร์ สรอ. (36,548 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 993 ล้านดอลลาร์ สรอ. (30,617 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า

ด้านการผลิต:

สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 2.8 เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันมันสำปะหลัง และยางพาราขยายตัวร้อยละ 55.2 6.1 และ 4.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และยางพารา อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของมันสำปะหลังสูงขึ้น ถึงแม้ว่าข้าวนาปีบางส่วนจะได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจนทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 26.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม

ราคาสินค้าเกษตรลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.2 เป็นผลมาจากราคามันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 32.5 32.4 และ 22.9 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการสั่งซื้อมันสำปะหลังและยางพาราจากจีนลดลงตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้จีนยังนำเข้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังจากเวียดนามและพม่าซึ่งมีราคาถูกกว่าทดแทนการนำเข้าจากไทยบางส่วน อีกทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศชะลอการซื้อยางพาราเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการติดตามดูผลจากมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของรัฐบาล ส่วนราคาปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจาก

ราคาในช่วงเดียวกันของปีก่อนสูงผิดปกติจากปัญหาผลผลิตตึงตัว อย่างไรก็ตามราคาปาล์มน้ำมันในไตรมาสนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดีที่กิโลกรัมละ 5.4 บาท เทียบกับราคาเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.4 บาท อย่างไรก็ตามราคาข้าวเปลือกเจ้าภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลทางอ้อมจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก1 ที่มีส่วนช่วยพยุงราคาข้าวในประเทศ ในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง การลดลงของราคาสินค้าเกษตรส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 10.9 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อน

สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.2 จากที่หดตัวร้อยละ 21.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ทั้งที่อยู่ในพื้นที่และนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคกลาง สามารถเริ่มเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้อีกครั้งหนึ่ง ส่งผลให้โรงงานที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถเริ่มเดินเครื่องจักรสำหรับการผลิตได้อีกครั้งหนึ่งด้วยโดยบางอุตสาหกรรมต้องเร่งกำลังการผลิต เพื่อชดเชยส่วนที่ควรผลิตได้ในช่วงที่เกิดอุทกภัย ทั้งนี้แนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์คาดว่าจะสามารถกลับมาผลิตได้เต็มกำลังการผลิตอีกครั้งในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตามโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงฟื้นฟู ซึ่งจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องจักรที่ต้องการความแม่นยำสูงเช่น HDD ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตได้อีกครั้งในไตรมาสที่สาม

สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังในไตรมาสแรกอยู่ที่ระดับ 183.0 เทียบกับระดับ 175.0 ในไตรมาสก่อนหน้า หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เป็นการเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยส่วนที่จำหน่ายออกไปในช่วงน้ำท่วมปี2554 เนื่องจากการหยุดการผลิตในช่วงดังกล่าว

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสแรกของปีอยู่ที่ร้อยละ 63.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 46.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจาก(1) การฟื้นตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (2) ความต้องการสะสมจากช่วงอุทกภัย และการเร่งซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของประชาชน และ (3) การเพิ่มขึ้นของอำนาจซื้อจากการปรับขึ้นเงินเดือนราชการและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสูงได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ อยู่ในระดับร้อยละ 96.9 จากร้อยละ 31.8 การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ และการสื่อสารเท่ากับร้อยละ 41.7 จากร้อยละ 22.3 การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 86.4 จากร้อยละ 71.1 เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 109.5 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากปริมาณยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น

สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจาก (1) การก่อสร้างภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 จากการซ่อมแซมในส่วนของที่อยู่อาศัยและโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งการฟื้นตัวของการก่อสร้างต่างๆ ที่ชะงักในช่วงน้ำท่วม และ (2) การก่อสร้างภาครัฐปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 15.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา เป็นหดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ตาม พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลรวมทั้งประเทศยังคงหดตัวร้อยละ 26.5 ส่วนหนึ่งเกิดจากการก่อสร้างที่ชะงักในช่วงน้ำท่วม ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่วางแผนไว้ จึงชะลอการขออนุญาตก่อสร้างใหม่ออกไป

ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 4.7 เป็นผลมาจากราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีตและวัสดุก่อสร้างอื่นๆ(อิฐ ทราย ยางมะตอย และหินย่อย) ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 13.3 และ 10.7 ตามลำดับ

สาขาอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับการหดตัวที่ร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ผู้บริโภคเลื่อนการตัดสินใจซื้อสะท้อนจากปริมาณการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ลดลงร้อยละ 14.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ขยายตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 13.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยส่วนระดับราคายังคงขยายตัว ทั้งราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ทาวส์เฮาวส์พร้อมที่ดิน อาคารชุด และที่ดิน โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.9 3.3 8.1 และ 6.9 ตามลำดับ

สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 5.2 ปรับตัวดีขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยสะท้อนจาก (1) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในไตรมาสนี้มีจำนวน 5.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(2) รายรับจากการท่องเที่ยวจำนวน 258,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 235,348 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และ (3) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.8 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสที่ผ่านมา ที่ร้อยละ 64.7 และร้อยละ 56.3 ตามลำดับ

ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 16.2 และ 14.7 ตามลำดับ

การท่องเที่ยวภายในประเทศยังคงมีการขยายตัวสะท้อนจากจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารของสายการบินราคาต่ำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 และ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาตามลำดับ

การจ้างงาน ไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2555 มีการจ้างงาน 38.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการจ้างงานภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และ 0.5 ตามลำดับ การจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ส่วนนอกภาคเกษตรขยายตัวตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของภาคอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการผลิตที่ฟื้นตัวหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 285,150 คน ลดลง 20,843 คนเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือลดลงร้อยละ 6.8 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

ตลาดแรงงานยังคงตึงตัว สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ เท่ากับ 0.8 เมื่อเทียบกันไตรมาสก่อนที่มีสัดส่วนเท่ากับ0.7

ภาวะการคลัง

การจัดเก็บรายได้ในไตรมาสสองปีงบประมาณ 2555 (มกราคม - มีนาคม 2555) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 414,360.1 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 17,578.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อน 20,568.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังชะลอตัวจากปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะรายได้ที่จัดเก็บจากการนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหายจากอุทกภัยส่งผลให้การจัดเก็บรายได้จากอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม สูงกว่าที่ประมาณการไว้ถึง 5,232.87 และ 7,451.84 ล้านบาทหรือร้อยละ 21.2 และ 4.9 และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 และ 15.2 ตามลำดับ ประกอบกับอุตสาหกรรมรถยนต์ภายในประเทศเริ่มดำเนินการผลิตหลังจากชะลอตัวจากปัญหาอุทกภัย ซึ่งเห็นได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่แม้ว่าจะต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย แต่ยังขยายตัวสูงกว่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.2 นอกจากนี้การจัดเก็บรายได้จากภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และการนำส่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนร้อยละ 13.7 10.2 และ 33.2 ตามลำดับ โดยภาษียาสูบและภาษีเบียร์เป็นผลจากกำลังการผลิตได้กลับสู่ภาวะปกติหลังจากที่ต้องหยุดการผลิตไปเนื่องจากภาวะน้ำท่วมและผลิตเพื่อทดแทนสต็อกสินค้าเดิมและสำหรับการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเป็นผลจากการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าที่ประมาณการไว้ อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากลิตรละ 5.310 บาท เหลือลิตรละ 0.005 บาท (ลดลง 5.305 บาท/ลิตร) ส่งผลให้

การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันฯ ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ร้อยละ 29.4 และต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 61.5

การเบิกจ่ายงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสองปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 780,912 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 733,065 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 32.1 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 651,239 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.1 ของรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน 81,826 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.1 ของรายจ่ายลงทุน รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 1,172,279 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.4 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 42.0 เป็นผลมาจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีผลบังคับใช้ และ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ2555 จำนวน 47,847 ล้านบาท รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณมีการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีไปแล้ว98,303 ล้านบาท

การใช้จ่ายในโครงการ มาตรการของรัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (งบกลาง 120,000 ล้านบาท)จนถึง ณ วันที่ 11 พฤษภาคม 2555 พบว่า มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรไปแล้ว 2,344 โครงการ วงเงิน 119,536 ล้านบาท หรือร้อยละ 99.6 ของงบประมาณโครงการ โดยโครงการที่มีการลงนามในสัญญาแล้ว 2,103 โครงการ หรือร้อยละ 89.7 ของโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ คิดเป็นเงิน 98,986 ล้านบาท หรือร้อยละ 82.5 ของงบประมาณโครงการ และมีโครงการที่มีการเบิกจ่ายแล้ว 1,639 โครงการ หรือร้อยละ 69.9 ของโครงการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ คิดเป็นการเบิกจ่ายจำนวน 55,507 ล้านบาทหรือร้อยละ 46.3 ของงบประมาณโครงการ

ฐานะการคลัง ในไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 375,167.7 ล้านบาท แต่มีการเกินดุลของเงินนอกงบประมาณ 91,414.8 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 93,610.0 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุลจำนวน 190,143.0 ล้านบาท ซึ่งสถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 มีจำนวน 74,534.0 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นเดือนกันยายน 2554 (สิ้นปีงบประมาณ 2554) จำนวน 446,756.0 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 85.7

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีจำนวน 4,345,979.9 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 88,570.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 แต่เมื่อเทียบณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 (กันยายน 2554) หนี้สาธารณะคงค้างปรับตัวลดลง 102,314.7 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 2.3 ทั้งนี้รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 คิดเป็นร้อยละ 37.6 ของ GDP ในจำนวนนี้เป็นหนี้ของรัฐบาลจำนวน 3,143,585.6 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.2 ของ GDP

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลง ในไตรมาสแรกของปี 2555 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.25 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 ประกอบกับมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศในภูมิภาค ที่เริ่มดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.00 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นภาคเอกชนทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจ

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงตามทิศทางการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.87 และ 7.25 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เป็นร้อยละ 2.86 และ 7.13 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ปรับลดลงเป็นร้อยละ 3.45 จากร้อยละ 3.53 ในเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบน้อยลงเป็นร้อยละ -0.59 ต่อปี ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับลดลงเล็กน้อยเป็น 3.45 ต่อปี ในเดือนเมษายน 2555 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวที่ร้อยละ 2.86 และ 7.13 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญมาอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบสองปีที่ร้อยละ 0.39 ต่อปี

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 10.4 ชะลอลงจาก ร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้ ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการระดมทุนผ่านเงินฝากแทนการออกตั๋วแลกเงินจากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การลงทุนในตั๋วแลกเงินที่จะมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มระดับการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนได้ยากขึ้น อีกทั้งมีมาตรการที่ทำให้การระดมทุนของธนาคารพาณิชย์ด้วยการออกตั๋วแลกเงินมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงระดมทุนในรูปเงินฝากมากขึ้นเพื่อเตรียมการสำหรับกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวส่งผลให้ตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมากอยู่ที่ร้อยละ 8.9 จากร้อยละ 60.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เงินฝากขยายตัวร้อยละ 10.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่แล้ว

สินเชื่อภาคเอกชน(ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 16.2 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 15.5 จากการชะลอลงของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เป็นสำคัญโดยเฉพาะสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงและสินเชื่อภาคตัวกลางทางการเงินที่หดตัวลงอย่างไรก็ตาม สินเชื่อภาคธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวถึงร้อยละ 50.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของรัฐบาล สำหรับสินเชื่อครัวเรือนทั้งระบบขยายตัวในระดับร้อยละ16.3 ใกล้เคียงกับไตรมาสที่แล้ว โดยสินเชื่อครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งจำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อคงค้างที่ขยายตัวขึ้นจากความต้องการใช้เงินในการฟื้นฟูซ่อมแซมบ้านเรือนและจับจ่ายใช้สอยหลังจากภาวะอุทกภัยและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ แม้จะยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและราคาค่าครองชีพ ในขณะที่สินเชื่อครัวเรือนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนสินเชื่อ(ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับร้อยละ94.9 จากร้อยละ 93.7 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากอัตราการขยายตัวของสินเชื่อสูงกว่าการขยายตัวของเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่เหลือของปี ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มที่จะระดมเงินออมอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สรอ. แข็งค่าขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2555 เท่ากับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแต่อ่อนค่าลงร้อยละ 1.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในไตรมาสแรกเคลื่อนไหวผันผวน โดยในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ของประเทศในกลุ่ม PIIGS และแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของไทย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงจากเดิมเล็กน้อยในเดือนมีนาคมจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น ประกอบกับความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอีกครั้ง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 30.69 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในเดือนเมษายน ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 30.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวอ่อนค่าลงร้อยละ 0.65 จากค่าเฉลี่ยในเดือนมีนาคม เนื่องจากความกังวลในปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปและปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้กดดันให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงลง ล่าสุดค่าเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1-18 พฤษภาคม 2555 อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่31.15 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากสถานการณ์ในยุโรปมีแนวโน้มที่จะขยายตัวลุกลามไปในวงกว้างมากขึ้น

เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆค่าเงินบาทเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนอ่อนค่าลง โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2555 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 101.16 อ่อนค่าลงร้อยละ 0.03 และ 1.64 เช่นเดียวกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 0.07 และร้อยละ 1.19 ตามลำดับ

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ2ไตรมาสแรกปี 2555 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ2.02 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวจากการไหลออกที่ 5.77 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าในภาคธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยในภาคธนาคารมีเงินทุนไหลเข้าจากการกู้เงินระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์และการเข้าซื้อตราสารทุนภาคธนาคารของนักลงทุนต่างชาติ เช่นเดียวกันกับภาค ธปท. ที่เป็นการไหลเข้าจากการเข้าซื้อพันธบัตร ธปท. ของนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่ภาคอื่นๆปรับตัวเป็นการไหลออกสุทธิ 7.37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลเข้าที่ 3.97 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเงินทุนเคลื่อนย้ายตามประเภทการลงทุนพบว่าการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนเคลื่อนย้ายเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติที่ 6.79 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเป็นการเพิ่มขึ้นของทั้งการลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้

ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุล 551 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 17,820 ล้านบาท) เกินดุลลดลงจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 1,843 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 57,539 ล้านบาท) เป็นผลจากการเกินดุลการค้า 1,173 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 622 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2555 เท่ากับ 178.96 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 30.39 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ของไตรมาสที่สี่ ปี 2554 และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.4 เดือน ของไตรมาสแรก ปี 2555

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2555 เท่ากับร้อยละ 3.4 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.0 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาอาหารสดเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเท่ากับร้อยละ7.3 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ9.7 เป็นผลมาจากปริมาณผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม ออกสู่ตลาดมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลง นอกจากนี้ยังเป็นไปตามฤดูกาลของผลผลิตผักและผลไม้หลายชนิดอีกด้วย แต่ทั้งนี้ราคาอาหารสำเร็จรูปทั้งบริโภคในและนอกบ้านยังคงเพิ่มสูงขึ้นแม้จะเป็นไปในทิศทางที่ชะลอตัวก็ตาม ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเท่ากับร้อยละ1.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.5 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาพลังงาน ตามการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับการทยอยเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์เพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.7 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ2.8 ตามการชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูปที่บริโภคทั้งในและนอกบ้าน ตลอดจนราคาเครื่องประกอบอาหารประเภทน้ำตาลและน้ำมันพืช3

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคเอเชีย ณ สิ้นไตรมาสแรก SET index ปิดที่ 1,196.8 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 จากสิ้นปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 3 รองจากประเทศเวียดนาม และฟิลิปปินส์ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นเป็น 30.5 พันล้านบาท จาก 23.0 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวม 82.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 30.2 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ SET index เป็นผลมาจากมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนต่อสถานการณ์การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และการแก้ไขปัญหาในสหภาพยุโรป ประกอบกับการปรับระดับของ SET จากกลุ่ม Secondary Market มาเป็นกลุ่ม Advanced Emerging Market ส่งผลให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น

ในเดือนเมษายน 2555 ดัชนีปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาปิดที่1,228.5 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากสิ้นเดือนมีนาคม จากปัจจัยบวกที่มาจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีได้ปรับตัวสูงขึ้นมากนั้น ส่งผลให้การซื้อขายของนักลงทุนเบาบางลง โดยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับลดลงมาอยู่ที่ 27.2 พันล้านบาท จาก 33.5 พันล้านบาท ในเดือนมีนาคม นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิลดลงเหลือเพียง 1.2 พันล้านบาท จาก 33.4 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า และล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 18 พฤษภาคม ดัชนีปรับลดลงอย่างมากจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1,154.4 จุด และนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท จากความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยุโรป

การระดมทุนในตลาดแรกของภาครัฐเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกับภาคเอกชนมีการระดมทุนผ่านหุ้นกู้เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจภายหลังปัญหาอุทกภัยในไตรมาสนี้มีพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินออกใหม่ 258.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 121.2 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า จากการที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2555 เริ่มมีการประกาศใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ประกอบกับมีความต้องการใช้เงินในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงทำให้มีการออกพันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าส่วนการระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ มีมูลค่ารวม 423.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 257.0 พันล้านบาท ในไตรมาสสี่ ปี 2554 แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่443.4 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสแรกของปี2555

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศกรีซในไตรมาสแรกของปี 2555 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 112.61 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขยายตัวร้อยละ 12.6 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 22.1

ราคาน้ำมันดิบดูไบโดยเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2555 อยู่ที่ 115.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลสูงกว่า 100.17 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในไตรมาสเดียวกันของปี 2554 และณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2555 อยู่ที่ราคา 106.98 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาสแรกปี 2555

เศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดียกเว้นสหภาพยุโรป ส่งผลให้การว่างงานอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะสเปน และกรีซ สำหรับออสเตรเลียมีแนวโน้มชะลอตัว ทำให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อของโลกยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ยกเว้นญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืด ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อในภูมิภาคมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะเวียดนาม ส่งผลให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดุลบัญชีเดินสะพัดส่วนใหญ่เกินดุล ยกเว้น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ที่ยังขาดดุล อัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ยกเว้น จีน และออสเตรเลียที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง สอดคล้องกับทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว

-เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 2.1 (%YoY) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากอุปสงค์โดยรวมขยายตัวทั้งการบริโภคการซื้อบ้าน การลงทุน และการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัว เมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ2.2 (%QoQ, sa annualized) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.3 เทียบกับ 52.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงขึ้นต่อเนื่องที่54.8 ในเดือนเมษายน 2555 สะท้อนแนวโน้มการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การหดตัวในการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออุปสงค์ในประเทศ โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องลดรายจ่ายมากขึ้นในอนาคตเพื่อสร้างเสถียรภาพการคลัง

-ในไตรมาสแรกของปี 2555 สหรัฐฯ มีดุลการค้าขาดดุล 173.7 พันล้านเหรียญ สรอ. สูงขึ้นจากปีที่แล้วที่ขาดดุล 159.5 พันล้านเหรียญ สรอ. ซึ่งดุลการค้าขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 (%YoY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 15.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้นโดยอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ลดลงจากร้อยละ 8.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ8.1 ในเดือนเมษายน 2555 ผู้ว่างงาน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2555 มีจำนวน 12.7 ล้านคน ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวนผู้ว่างงาน13.1 ล้านคน การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 132.9 ล้านคน จากจำนวน 132.2 ล้านคนในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการจ้างงานในภาคเอกชน ในขณะที่การจ้างงานภาครัฐลดลงอย่างต่อเนื่องรัฐบาลยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงิน เช่น การคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 - 0.25 ไปจนถึงปี 2557 การลงทุนในพันธบัตรที่มีอายุนานขึ้น (Operation Twist) เป็นต้น รวมถึงการใช้นโยบายการคลังด้วยการเพิ่มรายจ่ายในหมวดการทหาร สินเชื่อซื้อบ้านและการประกันสังคม

-เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 0.0 (YoY) เท่ากับไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ส่วนใหญ่ชะลอตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมาเช่น เยอรมัน (ชะลอตัวร้อยละ 1.2 จากร้อยละ 2.0) ออสเตรีย (ชะลอตัวร้อยละ 0.7 จากเดิมร้อยละ 1.4) ฝรั่งเศส (ชะลอตัวร้อยละ 0.3 จากเดิมร้อยละ1.2) และเนเธอร์แลนด์หดตัวต่อเนื่องจากร้อยละ0.1 เป็นร้อยละ 1.3 ในขณะที่ประเทศกลุ่ม PIIGS ยังหดตัวอย่างต่อเนื่องกรีซ หดตัวร้อยละ 6.2 (จากเดิมหดตัวร้อยละ 7.5) อิตาลี หดตัวร้อยละ 1.3 (จากเดิมหดตัวร้อยละ 0.4) โปรตุเกส หดตัวร้อยละ 2.2 (จากเดิมหดตัวร้อยละ 2.9) สเปน หดตัวร้อยละ 0.42 (จากเดิมขยายตัวร้อยละ 0.3) สำหรับการว่างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.4 ในไตรมาสที่แล้ว เป็นร้อยละ 10.9 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนเมษายนโดยสเปนยังคงมีอัตราการว่างงานสูงที่สุด (ร้อยละ 24.1 มีนาคม 2555) ในขณะที่การว่างงานของออสเตรียต่ำสุดในกลุ่มที่อัตราร้อยละ 4.0 เงินเฟ้อเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.6 อย่างไรก็ตาม ยังสูงกว่าเป้าหมายระยะปานกลางของธนาคารกลางยุโรปที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.0 ทำให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปคงที่ที่ร้อยละ 1.0 ในขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS และผลของมาตรการเข้มงวดทางการคลังของยุโรปยังเป็นประเด็นเสี่ยงที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

-เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.6 (%YoY) เร่งตัวขึ้นจากที่หดตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานเมื่อปรับฤดูกาลแล้ว เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 1.0 (%QoQ s.a.) เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรเน้นความแม่นยำแร่โลหะ อุปกรณ์อุตสาหกรรมขนส่ง เป็นต้น โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 (%YoY) และค่าเฉลี่ยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing PMI) ได้ปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 50.8 จากระดับเฉลี่ย 50.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 4.8 (%YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวร้อยละ 17.1 (%YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 5.4 แม้ว่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่การส่งออกยังคงหดตัวลงร้อยละ 1.6 แต่ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับการหดตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5

ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินเยนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อการส่งออกของญี่ปุ่น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงต้องหวังพึ่งแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจากการขยายวงเงินโครงการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการซื้อสินทรัพย์ จาก 55 ล้านล้านเยน เป็น 70 ล้านล้านเยน

-เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 8.1 (%YoY) เป็นการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ไตรมาส โดยปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ1.8 (%QoQ, sa.) การที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตในอัตราลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ส่งผลให้ทั้งการค้าปลีก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสแรกเกินดุลเล็กน้อยจำนวน 1.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. แต่ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับขาดดุลการค้า 706.4 ล้านดอลลาร์ สรอ.ในไตรมาสแรกของปี 2554 อย่างไรก็ตาม ดุลการค้าของจีนในเดือนเมษายน 2555 เกินดุล 18.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมพบว่ามีการขยายตัวเล็กน้อย โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนอยู่ที่ระดับ 51.5 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 49.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของจีนลดลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ในไตรมาสนี้ แต่ราคาอาหารสดยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.4 แนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลงเอื้อต่อการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยอัตราเงินสดสำรองธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดลงร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 20.0 สำหรับธนาคารทั่วไปและร้อยละ 18.5 สำหรับธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งชาติส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ไม่เปลี่ยนแปลง คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลงลงต่อเนื่องโดยไม่หดตัวรุนแรงเนื่องจากธนาคารกลางพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน การบริโภคในประเทศยังคงขยายตัวได้ และรัฐบาลยังมีความสามารถในการใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติม

-เศรษฐกิจอินเดีย คาดว่าขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสที่สี่ของปีก่อนหน้าซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.3 (%YoY) สะท้อนจากดัชนี PMI ในไตรมาสที่หนึ่งซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 56.3 จากระดับ 52.4 ในไตรมาสที่ 4/2554 อย่างไรก็ตาม ดัชนี PMI มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม2555 จนมาอยู่ที่ระดับ 54.9 ในเดือนเมษายน ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2555) ขยายตัวร้อยละ 2.6 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้าแต่ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินเดียยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังอ่อนแอ โดยการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 2.1 ลดลงจากร้อยละ 11.3 การที่อุปสงค์ที่ชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศทำให้อัตราเงินเฟ้อ (WPI) ลดลงจากร้อยละ 9.0 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.9 รัฐบาลอินเดียได้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติที่เข้าซื้อกิจการในอินเดียเพื่อส่งเสริมบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุน ในขณะที่ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Repo Rate) จากร้อยละ 8.5 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.0 และลดอัตราสำรองเงินสดจากร้อยละ 6.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.75 เมื่อเดือนเมษายน2555

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฮ่องกง) ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกที่ชะลอตัวลง โดยการส่งออกของไต้หวันและฮ่องกงหดตัวร้อยละ 4.0 และ 1.5 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกของสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.7 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.2 ใน ไตรมาสก่อนหน้า

เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมและการค้าปลีกค้าส่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ลดลงจากร้อยละ 5.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เนื่องจากราคาอาหารสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย

เกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกและการก่อสร้างชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ลดลงจากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเช่นกัน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 เพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและแรงกดดันจากปัญหาอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงแล้ว

เศรษฐกิจไต้หวันและฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 0.4 และ 0.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.5 และ 3.0 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการหดตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ทำให้ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และค้าปลีกค้าส่งของไต้หวันชะลอตัว และภาคโลจิสติกส์ของฮ่องกงชะลอตัวลงเช่นกัน อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสที่หนึ่งของไต้หวันและฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และ 5.2 ตามลำดับ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

-เศรษฐกิจของออสเตรเลีย คาดว่าขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของภาคเหมืองแร่ ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆยังชะลอตัว การว่างงานเฉลี่ยยังทรงตัวที่ร้อยละ 5.2 แต่ลดลงในเดือนเมษายนเหลือร้อยละ 4.9 ในขณะที่เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรก เทียบกับร้อยละ 3.5 และ 3.1 ในไตรมาสที่สามและสี่ของปี 2554 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดลงของราคาผักผลไม้ และที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ธนาคารกลางออสเตรเลียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วเหลือเพียงร้อยละ3.75 นับเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 4 ในรอบ 12 เดือน อย่างไรก็ตามยังคงมีความเสี่ยงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศซึ่งคาดว่าจะผันผวนในกรอบค่อนข้างกว้างเทียบกับเหรียญ สรอ. โดยรวมคาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวได้ในปี 2555

-เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ฟิลิปปินส์ยังขยายตัวได้ดีร้อยละ 5.5 (จากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่แล้ว) ในขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซียชะลอตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 4.0 4.6 และ 6.3 ตามลำดับ โดยปัญหาเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของเวียดนามที่ได้ผลอย่างต่อเนื่องทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 19.8 ในไตรมาสที่แล้วเหลือเพียงร้อยละ 10.5 ในเดือนเมษายน (ร้อยละ 15.9 ในไตรมาสแรก) ทำให้แรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคลดลง โดยอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 5.75

4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

เศรษฐกิจไทยในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.5-6.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

ปัจจัยสนับสนุน

(1) การเร่งตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมทั้งแรงส่งจากฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสที่ 2 และ 4 ของปี 2554 แม้ว่าอุตสาหกรรมสำคัญๆ มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ภายในไตรมาสที่ 2 ก็ตาม แต่การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมยังมีความล่าช้า โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วนร้อยละ 23.9 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด

(2) การฟื้นตัวของกำลังซื้อภาคครัวเรือนตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การปรับเงินเดือนข้าราชการ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมาตรการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น การต่ออายุมาตรการขึ้นรถเมล์และรถไฟฟรี และโครงการมหกรรมธงฟ้าลดค่าครองชีพ เป็นต้น

(3) การขยายตัวของการลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมผ่าน BOI ในไตรมาสแรกของปี 2555 จำนวน 470 โครงการ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9) มูลค่าเงินลงทุน 231 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 106.7) โดยอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภคได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติมากที่สุด ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 55.9 จากระดับ 51.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังสถานการณ์อุทกภัยได้คลี่คลายลง

(4) แรงกดดันด้านราคาน้ำมันในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 4 เดือนแรกซึ่งจะส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลง คาดว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มลดลงในไตรมาสที่สองและสาม จากความไม่แน่นอนในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซ และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่สี่ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมัน ได้แก่ความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศอิหร่าน และผลการเจรจาระหว่างประเทศอิหร่านกับ 6 ชาติมหาอำนาจ (ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และ จีน) ในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่านที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 รวมทั้งท่าทีของกลุ่มประเทศ OPEC ที่อาจพิจารณาเพิ่มหรือลดกำลังการผลิต

(5) เศรษฐกิจโลกยังคงขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยุโรประลอกใหม่มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้กรีซผิดนัดชำระหนี้และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกมากขึ้นก็ตาม ซึ่งคาดว่าผลกระทบทางตรงของปัญหากรีซต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีจะยังอยู่ในขอบเขตจำกัด โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2555 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 - 3.8

ปัจจัยเสี่ยง

(1) ความผันผวนของระบบการเงินโลก จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจกรีซคาดว่าจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศและอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนั้นผลกระทบทางอ้อมจากแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซยังมีความเสี่ยงที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์

(2) การปรับตัวของภาคการผลิตในประเทศต่อการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำ และการหดตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนังซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

(3) ความเสี่ยงของปัญหาภัยธรรมชาติต่อการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตร

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2555

(1) ไม่มีภาวะอุทกภัยในขั้นวิกฤติ หรือในกรณีที่เกิดอุทกภัยก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมเป็นต้น

(2) เศรษฐกิจโลกในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 - 3.8 ชะลอลงจากปี 2554 ที่ขยายตัว ร้อยละ 3.9 โดยปัญหาเสถียรภาพของเศรษฐกิจยุโรปซึ่งเกิดจากหนี้สาธารณะสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.1-7.1

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2554 โดยในไตรมาสแรกของปี 2555 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (qoq, sa annualized) หรือขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัว คือมีการเปลี่ยนถ่ายจากแรงขับเคลื่อนของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลังมาสู่การขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนสะท้อนถึงภาคเศรษฐกิจจริงสหรัฐฯ มีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่การส่งออกสุทธิหดตัวน้อยลงเนื่องจากการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี2555 โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ (1) การบริโภคภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น โดยเห็นได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เดือนมีนาคม 2555 อยู่ที่ 14.3 ล้านคัน สูงสุดในรอบเกือบสี่ปี การปรับตัวดีขึ้นของภาคครัวเรือนเป็นผลมาจากตลาดแรงงานมีการปรับตัวดีอย่างต่อเนื่องโดยอัตราการว่างงานเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 8.1 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ (2) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2555 อยู่ที่ 54.8 เทียบกับ 53.4 ในเดือนมีนาคม (3) ภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และ (4) การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มลดลงไม่มากนัก แม้ว่าสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ (1) การหดตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งทางด้านการค้า และด้านตลาดเงินตลาดทุนที่จะได้รับความผันผวน และ (2) อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มแข็งค่า เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นในการถือเงินดอลลาร์สรอ. มากกว่าเงิน ยูโร ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นจะเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออกของสหรัฐฯ

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป คาดว่าจะหดตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 โดยในไตรมาสแรกเศรษฐกิจทรงตัวร้อยละ 0.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแต่ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวในครึ่งปีแรก และจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ PIIGS มีแนวโน้มหดตัวทุกประเทศ ขณะที่เศรษฐกิจประเทศหลักอย่างเช่น ฝรั่งเศสและเยอรมันมีแนวโน้มขยายตัวในระดับต่ำ ด้านนโยบายการเงินยังคงมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว ประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำทำให้การดำเนินนโยบายเป็นแบบผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่องทั้ง การคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำ และการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ ขณะที่แนวทางการดำเนินนโยบายการคลังที่เน้นให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพทางการคลังยังเป็นประเด็นที่ท้าทายเนื่องจากหลายประเทศที่ประสบปัญหาภาคเศรษฐกิจจริงยังคงอ่อนแอและอัตราการว่างงานสูง แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการคลังจะสร้างความกังวลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2554 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกยังคงมีความเปราะบางและค่อยๆฟื้นตัว แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มแข็งแกร่งมากขึ้นและขยายตัวได้ดีกว่าในครึ่งปีแรก โดยปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือ (1) การขยายตัวของการลงทุนภาคก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหายจากผลกระทบของแผ่นดินไหว (2) การเพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง หลังจากหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกันในปี 2554 (3) การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น ยานพาหนะและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในปี 2554 หดตัวประมาณร้อยละ 10.0 โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคมขยายตัวร้อยละ 14.0 สูงสุดนับจากเดือนสิงหาคม 2553 และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกสุทธิโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และภาคการผลิตภายในประเทศฟื้นตัว รวมทั้งค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยในไตรมาสแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 79.36 เยนต่อดอลลาร์ สรอ. และเดือนมีนาคมอยู่ที่ 82.43 เยนต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ซึ่งแข็งค่าอยู่ที่ 77.40 เยนต่อดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การหดตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่มีสัดส่วนของตลาดการส่งออกของญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.0 ของการส่งออกทั้งหมด

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยในไตรมาสแรกเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 8.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวประกอบกับอัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อนและยังถือว่ามีเสถียรภาพคาดว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อยคลายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวได้ในระหว่างที่อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง โดยเมื่อวันที่15 พฤษภาคม 2555 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศปรับลดสัดส่วนเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 0.5 และคาดว่าเครื่องมือทางการเงินอื่นๆจะถูกใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณสินเชื่อ

(3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2555 คาดว่าจะอยู่ที่ 105-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยใน ไตรมาสแรกราคาน้ำมันอยู่ที่ 115.11 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขณะที่ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมราคาน้ำมันปรับลดลงอย่างต่อเนื่องปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ได้แก่ (1) ความกังวลที่เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ โดยเฉพาะจากปัจจัยของแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (2) ปริมาณการผลิตน้ำมันในประเทศลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากในปี 2554 ผลิตได้เพียง 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตในปี 2553 ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน (3) ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่า และ (4) กลุ่มประเทศ OPEC ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยในปี 2554 ผลิตเพียง 29.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับกำลังการผลิตที่ 31.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2551 ขณะที่ปัจจัยจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ (1) ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างประเทศอิหร่านกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ความกังวลที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำมันคาดการณ์ปรับตัวสูงขึ้นและเป็นแรงขับเคลื่อนให้ราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายปรับตัวสูงขึ้นด้วย(2) ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้นจาก 87.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2554 เป็น 88.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2555 ตามการคาดการณ์ของ OPEC (3) มีความต้องการเก็งกำไรในกองทุนน้ำมันมากกว่าในช่วงปกติ ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการเก็งกำไรในตลาดทองคำ เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดการเงินสูงแต่ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ทั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตร และ (4) ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อแหล่งการผลิต

(4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 โดยไตรมาสแรกราคาส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวถึงร้อยละ7.3 และคาดว่าราคาส่งออกในช่วงที่เหลือจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ (1) ราคาส่งออกข้าวยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นผลจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล และ (2) ต้นทุนการผลิตภายในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.8 โดยไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 5.9 เนื่องจากการขยายตัวสูงของราคานำเข้าวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสสองราคานำเข้าวัตถุดิบและเชื้อเพลิงมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ขณะที่ในไตรมาสสุดท้ายราคานำเข้าจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น

(5) อัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าจะอยู่ที่ 30.5-31.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยคาดว่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรกมีแนวโน้มอ่อนค่าเนื่องจากการที่เงินดอลลาร์สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังคาดว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ากว่าในครึ่งปีแรก เนื่องจาก(1) ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นหลังจากการผลิตภายในประเทศกลับมาผลิตในระดับปกติ (2) ปริมาณเงินลงทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีกว่าในครึ่งปีแรกและ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง

(6) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2555 คาดว่าจะมีประมาณ 21.0 ล้านคน

องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2555

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ4.4 โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งที่ร้อยละ 4.5 เทียบกับปี 2554 ที่ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.3 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของรายได้ของประชาชน และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ของภาคการผลิตที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และเกษตรกรรม ด้านการใช้อุปโภคบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 จากที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ในปีก่อนหน้า

(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 12.3 ขยายตัวทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวระดับสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ13.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในปี 2554 เนื่องจาก(1) การฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดการณ์ของการบริโภคสินค้าทุน เช่น การนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และ (2) แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 ปรับตัวดีขึ้นจากหดตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2554 โดยได้รับแรงส่งจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการที่สำคัญๆ ของรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากน้ำท่วมและแผนบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำ

(3) การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 15.1 โดยราคาส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ด้านปริมาณมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 11.8 ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มการขยายตัวสูงกว่าปี 2554 ปริมาณการส่งออกทั้งสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.5

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.3 โดยราคานำเข้าคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ด้านปริมาณการนำเข้ามีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 16.5 ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 13.3 ในปี 2554 เนื่องจากมีความจำเป็นต้องนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรมากขึ้นเพื่อทดแทนหรือซ่อมแซมส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและจากการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุน ส่วนปริมาณการนำเข้าทั้งสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 14.2 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 13.7 ในปี 2554

(5) ดุลการค้า ดุลบริการ และดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 12.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงเมื่อเทียบกับปี2554 ที่เกินดุล 23.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากการนำเข้ายังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องขณะที่ดุลบริการมีแนวโน้มขาดดุล 10.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2555 มีแนวโน้มเกินดุล 2.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 0.7 ของ GDP

(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2555 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 และอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2554 ที่ร้อยละ 3.8 ส่วนอัตราการว่างงานยังคงระดับต่ำอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ0.7

5. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในปี 2555 ควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้

(1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศเพื่อชดเชยการหดตัวของงบลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกในช่วงที่โครงการยังอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อม รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

(2) การแก้ไขปัญหาให้กับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ยังมีความล่าช้าในการฟื้นตัว โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่การใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้นและได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนังในปี 2554 หดตัวร้อยละ 17.7 และ 18.0 ต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี2555 ที่หดตัวร้อยละ 30.2 และ 31.6 ตามลำดับ

(3) การดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต การพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว การเตรียมการเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว รวมถึงการเร่งรัดโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหาย ปี 2554 ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงินตามโครงการทั้งสิ้น 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่เพียงประมาณร้อยละ 0.97 จากวงเงินรวม

(4) การแก้ไขปัญหาราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนให้มีความสอดคล้องและเป็นธรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ค้าคนกลาง และผู้บริโภค ซึ่งจะมีผลต่อค่าครองชีพของประชาชนและภาวะเงินเฟ้อของประเทศ รวมถึงการประสานแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้การสนับสนุนด้านการผลิตการแปรรูป และการตลาดของสินค้าเกษตร สอดคล้องกับความผันผวนตามฤดูกาลของแต่ละสินค้า และลดความผันผวนของราคา

(5) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแต่เป็นการขยายตัวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากฐานการผลิตที่ต่ำในปีที่ผ่านมา นอกจากนั้นการขยายตัวของภาคการผลิตในช่วงที่เหลือของปียังต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงจากปัญหาวิกฤติการณ์ยุโรป ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังคงต้องอาศัยการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สถานการณ์ยูโรโซนในปี 2555

-สถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้ม

(1) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในกรีซและมีแนวโน้มการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลซึ่งสนับสนุนการใช้มาตรการการคลังที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) และเพิ่มโอกาสในการแยกตัวออกจากกลุ่มยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสถาบันการเงินและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนได้รับผลกระทบในวงกว้าง อย่างน้อยในระยะแรกของการปรับตัว ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2-3 ไตรมาส หรือนานกว่านั้น ซึ่งสถานการณ์น่าจะชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 3 หลังการเลือกตั้งรอบใหม่ของกรีซในวันที่ 17 มิถุนายน 2555

(2) ในระยะสั้น ผลจากมาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษของธนาคารกลางยุโรป (Long-Term Refnancing Operations: LTRO) น่าจะทำให้สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปเพิ่มขึ้นหากมีการกระจายลงสู่ภาคธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มอุปสงค์ในกลุ่มยูโรโซนและชดเชยภาวะการหดตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวอาจเป็นภาระความเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินของ ECB และเพิ่มความยุ่งยากในการจัดการปัญหาเงินเฟ้อที่มีลักษณะทวิลักษณ์โดยใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเดียวของยูโรโซนในระยะต่อไป

(3) ประเทศส่วนใหญ่ของยูโรโซนยังมีสถานะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ในขณะที่ เยอรมัน และเนเธอร์แลนด์ ยังเกินดุล ทุกประเทศขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน สะท้อนถึง twin defcits ที่ชัดเจนของกลุ่มยูโรโซน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาการขาดดุลงบประมาณในระดับสูงและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด จะส่งผลกระทบถึงการจำกัดการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐโดยตรง ทำให้แนวโน้มของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภายนอก ทั้งที่เป็นเงินช่วยเหลือ และการลงทุน โดยภาคเอกชนต้องมีบทบาทมากขึ้น

(4) ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2555 นอกเหนือจากกรีซแล้วยังมีอิตาลี และสเปน โดยมีภาระรายไตรมาสในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างสูง เฉลี่ยประมาณ 1.3 แสนล้านเหรียญ สรอ. สำหรับอิตาลี และ 6.1 หมื่นล้านเหรียญสรอ. สำหรับสเปน รวมทั้งโปรตุเกส และไอร์แลนด์ที่ต้องมีการทบทวนความช่วยเหลือจากคณะกรรมการร่วมของสหภาพยุโรป IMF และ ECB (Troika) อีกครั้งในเดือนพฤษภาคม และกรกฎาคมตามลำดับ โดยเฉพาะไอร์แลนด์ ที่นอกจากจะมีปัญหาภาระหนี้ระดับสูงแล้วยังมีปัญหาการขาดดุลงบประมาณระดับสูงถึงประมาณร้อยละ 13 ของ GDP เป็นข้อจำกัดต่อการบริหารงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป(EFSF)

-อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่มยูโรโซน

ผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่ม PIIGS ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตปรับลด credit rating ของกลุ่ม PIIGS ลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามหลังจากกรีซมีการปรับโครงสร้างหนี้บางส่วน ทำให้อันดับปรับเพิ่มสูงขึ้น 4 อันดับ จากเดิม SD เป็น CCC

-ผลกระทบต่อไทย

(1) สถานการณ์ของกรีซและกลุ่ม PIIGS รวมทั้งความผันผวนของการใช้มาตรการการคลังแบบเข้มงวดของยุโรปที่สร้างความแตกแยกทั้งทางการเมือง และสังคมในหลายประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดและอาจเปิดโอกาสให้มีการเก็งกำไร โดยใช้ความผันผวนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเครื่องมือดังนั้น คาดว่าค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยในกลุ่มยูโรโซนมีแนวโน้มผันผวนตลอดทั้งปี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระทบที่สร้างความผันผวนในตลาดการเงินในประเทศไทยได้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ

(2) ความสำคัญของกลุ่มยูโรโซนในฐานะประเทศคู่ค้าของไทย แม้จะมีมูลค่าการส่งออกสูงขึ้น แต่สัดส่วนการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 15.8 ในปี 2543 เหลือเพียงร้อยละ 9.4 ในปี 2554 ในขณะที่ตลาดส่งออกในเอเชีย และตะวันออกกลางมีความสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและสัดส่วน โดยเฉพาะจีน และอาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 และ 19.3 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 12.0 และ 23.7 ในปี 2554 ตามลำดับ สะท้อนถึงบทบาทความสำคัญของการค้าไทยกับประเทศในภูมิภาค และตลาดใหม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเทียบกับตลาดเดิม อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมโยงของการค้าระหว่างตลาดในภูมิภาคกับยุโรปที่มีลักษณะของการพึ่งพาทางการค้าสูงอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปแต่คาดว่าจะอยู่กรอบจำกัด

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ