ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2012 11:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                               ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555
(% YOY)                                    2554                      2555
                                      Q4    ทั้งปี    Q1             Q2      ประมาณการ
GDP (ณ ราคาคงที่)                     -8.9    0.1   0.4            4.2        5.5-6.0
การลงทุนรวม                          -3.6    3.3   5.2           10.2           11.3
(ณ ราคาคงที่)
   ภาคเอกชน                         -1.3    7.2   9.2           11.8           12.2
   ภาครัฐ                           -12.1   -8.7  -9.6            4.0            8.1
การบริโภครวม                         -3.0    1.3   2.4            5.4            4.7
(ณ ราคาคงที่)
   ภาคเอกชน                         -2.8    1.3   2.9            5.3            4.8
   ภาครัฐบาล                         -4.1    1.1  -0.2            5.6            3.8
มูลค่าการส่งออก                        -5.2   16.4  -4.0           -0.4            7.3
สินค้า (US$)
   ปริมาณ                            -7.5   10.2  -5.0           -0.8            6.8
มูลค่าการนำเข้าสินค้า                    12.2   24.7   9.6           10.3           13.5
 (US$)
   ปริมาณ                             3.7   13.3   3.5            8.5           11.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด                         2.3    3.4   0.6           -2.7            0.1
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                               4.0    3.8   3.4            2.5        2.9-3.4
อัตราการว่างงาน                        0.6    0.7   0.7            0.9            0.7

-เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยสำคัญจาก การขยายตัวทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวเป็นบวก การเร่งขึ้นของสาขาก่อสร้าง การค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร รวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรชะลอตัว และการส่งออกยังคงหดตัว

-หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2555 ร้อยละ 3.3 (% QoQ SA)

-การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 - 6.0 จาก การขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 11.3 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 - 3.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.1 ของ GDP

-ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 (1) เร่งรัดการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพื่อให้สามารถกลับมาใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจและใช้กำลังการผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างเต็มที่ (2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของรายจ่ายภาครัฐในการชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออก สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญอื่น ๆ ของรัฐวิสาหกิจ (3) ดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในภาวะผ่อนคลาย ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และ (4) ดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะในผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และการเตรียมการ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว

เศรษฐกิจไตรมาสที่สองและแนวโน้มปี 2555

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสำคัญจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการผลิต และบริการ ในขณะที่การส่งออกยังหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ปี 2555

(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 5.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 67.7 เทียบกับ 65.3 ในไตรมาสแรก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นในไตรมาสสามของปี 2554 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติก่อนอุทกภัย

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.1

(2) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 11.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย และการก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22.1

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.5

(3) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.8 ล้านคนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 200,965 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.2 และ 12.0 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 55.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 51.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งผลให้สาขาโรงแรมภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.4

รวม 6 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 10.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.6

(4) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 4.3 และเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 2554 เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.6 ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้าของเดือนมิถุนายนปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 105.8 เทียบกับระดับ 111.1 ในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในยุโรป

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.9

(5) ภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรในทุกหมวด ยกเว้นอ้อย ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 11.9 โดยเฉพาะราคายางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 9.3

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5

(6) ภาคการส่งออกสินค้า มีมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จำนวน 56,686 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 4.0 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงหดตัว โดยเฉพาะข้าว และยางพารา โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวร้อยละ 4.6) อาเซียน (ขยายตัวร้อยละ 7.2) จีน (ขยายตัวร้อยละ 13.7) ออสเตรเลีย (ขยายตัว ร้อยละ 20.5) และตะวันออกกลาง (ขยายตัวร้อยละ 9.8) ในขณะที่การส่งออกไปยุโรป และญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.5 และ 1.4 ตามลำดับ

รวมครึ่งแรกของปี การส่งออกมีมูลค่า 110,489 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 2.1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.5 - 6.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง แนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับแรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้ม ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากความกังวลต่อวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนยังมี ความเสี่ยงที่จะล่าช้า

คาดว่าในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 - 3.4 การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.8 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 11.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 0.1 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2555 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

-ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สองของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.9 ใน ไตรมาสแรก ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าคงทนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ได้ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสนี้ขยายตัวมากถึงร้อยละ 103.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตรถยนต์สามารถกลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่และเร่งส่งมอบรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการซื้อที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 67.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 65.3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำท่วมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 11.8 เป็นการขยายตัวสูงต่อเนื่องจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 12.2 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 เนื่องจากมีการเร่งลงทุนเพื่อชดเชยและซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว และการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 โดยเฉพาะสินค้าทุนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และการผลิตเครื่องจักรกล ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 88.9

เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 เนื่องจากความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 10.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวจากการเร่งซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวร้อยละ 22.1 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.5 ซึ่งเท่ากับอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 51.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ ระดับ 53.0 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากระดับ 55.9 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ทั้งนี้ ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบาย รวมทั้งการเร่งลงทุนตามแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในระยะต่อไป

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 56,686 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,775,105 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 0.4 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบในช่วงปลายไตรมาส แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 4.0 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 รวมครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยมีมูลค่า 110,489 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ