สรุปผลการประชุมโต๊ะกลมเรื่อง"การพัฒนาที่ยั่งยืน"

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 17, 2004 15:22 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        1 ความเป็นมา
ทปษ.อุทิศ ขาวเธียร ได้รายงานให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทราบว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน และ 17 ธันวาคม 2545 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และ เลขาธิการ สศช.เป็นกรรมการและเลขานุการฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ ดังกล่าวได้มีมติในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2546 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2546 ให้จัดที่ระดมความเห็น เพื่อกำหนดกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืนที่ชัดเจนของประเทศ และรายงานให้คณะกรรมการฯ ทราบ ประกอบกับ สศช. กำหนดจัดให้มีการประชุมประจำปี 2546 เรื่อง "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ขึ้นในเดือนมิถุนายน 2546 ดังนั้น สศช.จึงได้จัดการประชุมโต๊ะกลมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อพิจารณากระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ใน 4 ด้าน คือ
1.1 การวิเคราะห์ความเชื่อมโยง รวมทั้งเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
1.2 การวาดฝันอนาคตและความมุ่งหวัง
1.3 กำหนดกรอบยุทธศาสตร์ ทางเลือก ลำดับความสำคัญ และขั้นตอนการปฏิบัติ
1.4 กำหนดดัชนีชี้วัด
การประชุมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 77 ท่าน โดยจำแนกเป็นกรรมการบริหาร สศช. 2 ท่าน ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 23 ท่าน องค์กรพัฒนาเอกชน 8 ท่าน เจ้าหน้าที่ สศช. 20 ท่าน และเจ้าหน้าที่ สศช.ที่ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการอีก 24 ท่าน ซึ่งผลการประชุม จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาที่ยั่งยืน และที่ประชุมวิชาการประจำปี 2546 ของ สศช.ต่อไป
2 คำกล่าวเปิดของ ลศช.
ภายหลังจากกล่าวต้อนรับและขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุม ที่ได้กรุณาสละเวลามาร่วมประชุมแล้ว ลศช.ได้กล่าวเปิดงานมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรมมาเป็นลำดับ แต่ก็ยังเป็นการพัฒนาที่ขาดความสมดุล เพราะการพัฒนาดังกล่าวได้สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นทุกขณะเช่นเดียวกัน จนเราไม่อาจผลักภาระจากปัญหาดังกล่าวไปให้แก่คนรุ่นหลังได้ เราจึงต้องปรับแนวคิด วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และวิธีการพัฒนาให้เปลี่ยนมามุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อส่งมอบแผ่นดินและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ให้แก่คนรุ่นต่อไป ซึ่ง สศช.ตระหนักดีว่า ความร่วมมือและการสร้างกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมร่วมกันเท่านั้น จะเป็นกลไกอันสำคัญ ที่ทำให้การพัฒนาดังกล่าวบรรลุผล การประชุมครั้งนี้ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติเรื่อง "การพัฒนาที่ยั่งยืน" ไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไปในอนาคต
3 ปาฐกถานำ
3.1 แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี สรุปได้ว่า
(1) การพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องเป็นการพัฒนาที่ก่อให้เกิดดุลยภาพของทุกมิติ กล่าวคือ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จิตใจ ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีการบริหารจัดการที่ดี ที่มีพหุภาคีร่วมทุกขั้นตอนเป็นกลไกขับเคลื่อน ซึ่ง สศช. ได้มี 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาทุนทางสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเสริมให้การพัฒนามุ่งสู่ความยั่งยืนที่ชัดเจนขึ้นอยู่แล้ว
(2) ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งสู่ความพอเพียงทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ ปัญญา และระบบการศึกษาที่สร้างปัญญาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมที่พออยู่พอกินและมีไมตรีจิตต่อกัน และทฤษฎีพระมหาชนก ที่มุ่งสู่การพึ่งตนเอง ความเพียรอันบริสุทธิ์ การอนุรักษ์และเพิ่มพูนทรัพยากรธรรมชาติ การมีปัญญาออกจากโมหภูมิ และการมีมหาวิชชาลัย ล้วนก็เป็นทฤษฎีที่เหมาะสมกับการนำมาสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งสิ้น
(3) เศรษฐกิจที่พอเพียง จะช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขัน จากเศรษฐกิจฐานราก ทรัพยากร และทุนทางสังคม โดย
- การสร้างศักยภาพในการแข่งขัน จะต้องมีการเชื่อมโยงให้เป็นเอกภาพระหว่างนโยบายและการดำเนินการตามนโยบาย โดยทั้งนี้จะต้องผ่านกระบวนการสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
- การสร้างเศรษฐกิจฐานราก จะต้องสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกพื้นที่ มีการจัดการโดยท้องถิ่น มีความชัดเจนเรื่องสิทธิชุมชน และมีการสนับสนุนจากทุกหน่วยงาน
- การอนุรักษ์และเพิ่มทรัพยากร จะต้องมีการตั้งเป้าหมาย มีกระบวนการทางนโยบายและกฎหมายที่เอื้อ และมีดัชนีชี้วัดที่ชัดเจน
3.2 กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน : ความเชื่อมโยง เหตุปัจจัย และแนวทางการดำเนินงาน โดย ดร.พงษ์พิสิฎฐ์ วิเศษกุล สรุปได้ว่า
(1) ความต้องการบริโภคสินค้าและบริการ ทำให้มนุษย์ต้องนำทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้ในการผลิต เพื่อสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ผลของค่านิยมที่ฟุ่มเฟือยและบริโภคนิยมที่ได้รับจากต่างประเทศ ผนวกกับการเคลื่อนย้ายทุนจากต่างประเทศเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ยิ่งสร้างความเสื่อมโทรมให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันนำมาซึ่งความขัดแย้งในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม กระแสความตื่นตัวทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากต่างประเทศ ก็ช่วยให้เกิดความตระหนักขึ้นในสังคมไทย อันนำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นที่มาของยุทธศาสตร์หลักของแผนฯ 9 กล่าวคือ ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์และเพิ่มทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ ยุทธศาสตร์การเพิ่มทุนทางสังคมและแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี และเกิดการแบ่งสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม ลดความขัดแย้งในสังคม และเสริมสร้างคุณภาพชีวิต ความรู้ และความคิดของคนไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาและพึ่งตนเองของสังคม ยิ่งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจนก่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีมากเพียงใด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็จะกลับคืนสู่สภาพสมดุลมากขึ้นเพียงนั้น ความหลากหลายทางชีวภาพที่ฟื้นคืนมา ผนวกกับการดำเนินการตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยชุมชนที่เข้มแข็งก็จะยิ่งสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ ตามยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(2) การพัฒนาให้เกิดดุลยภาพทางเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในแนวทางดังกล่าว จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำให้คนไทยอยู่ดี มีสุข ตลอดไป
(3) สิ่งที่จะต้องทำเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจะต้องแปลง 4 ยุทธศาสตร์หลักไปสู่แผนปฏิบัติการและการปฏิบัติ ทบทวนและแก้ไขนโยบายและกฎหมายที่เป็นอุปสรรค กำหนดดัชนีชี้วัด จัดระเบียบการบริหารจัดการ ประสานงาน และมีการประเมินผลโดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งแถลงผลการพัฒนาดังกล่าวและเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
3.3 ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ของประเทศไทย : จากฐานข้อมูล GIS ของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม โดย ผศ.สมบัติ อยู่เมือง สรุปได้ดังนี้
(1) ตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ United Nations Commission on Sustainable Development และ ESCAP กำหนดขึ้น จำแนกเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสถาบันหรือองค์กรเช่นเดียวกัน โดยที่ Bruce Mitchell ให้ยึดหลักความหลากหลายของมิติที่เกี่ยวข้อง ในบริบทของแต่ละประเทศ ทั้งเงื่อนไขด้านสถานที่และเวลา ประกอบการจัดทำเข้าไว้ด้วย
(2) ในการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ของประเทศไทย จึงใช้ฐานข้อมูล GIS กำหนดตัวชี้วัดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ทั้งทางด้านอัตราการเจริญเติบโตและการกระจายรายได้ ด้านสังคม ทั้งทางด้านการพัฒนาคนและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งความสมบูรณ์ของดิน น้ำ อากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากร พร้อมทั้งจัดทำดัชนีรวม (Composite Index) จากตัวชี้วัดดังกล่าวไว้ด้วย โดยทั้งนี้ได้มีการนำข้อมูลมาเชื่อมโยงและวิเคราะห์เพื่อวางแผนและกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบและมีความเป็นพลวัต เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง
3.4 การมีส่วนร่วมของประชาชน : กลไกสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ สรุปได้ว่า การรับรองแผนปฏิบัติการ 21 ในการประชุม Earth Summit I ในปี พ.ศ.2535 นับเป็นเครื่องยืนยันถึงการเห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตามจากการระดมความคิดจากพหุภาคีเพื่อทบทวนทิศทางและผลการดำเนินงานในรอบ 10 ปีของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยตามการรับรองดังกล่าว เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อการประชุมสุดยอดของโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ.2545 (WSSD 2002) พบว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย คือ "การมีส่วนร่วม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชน ซึ่งควรจะดำเนินการแก้ไข ดังนี้
(1) สศช.ควรแปลงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีความสมดุลและบูรณาการในทุกมิติของการพัฒนา ไปสู่การมีส่วนร่วมในการดำเนินการในทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เข้มแข็ง มีอำนาจตัดสินใจและบริหารจัดการให้มากขึ้น จนกระทั่งแผนปฏิบัติการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนาตั้งแต่ระดับโลกจนถึงระดับรากหญ้า
(2) ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม โดยกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่คนทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วม ดังเช่นที่ประเทศไต้หวัน ได้ประสบความสำเร็จในการดำเนินการดังกล่าวมาแล้ว
3.5 กฎหมายที่ต้องแก้ไข เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ สรุปได้ว่า
(1) การปรับปรุงกฎหมายขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเกื้อหนุน เช่น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งในขณะนี้ รัฐบาลกำลังอยู่ในระหว่างการปฏิรูประบบราชการ จึงต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้อง และขึ้นอยู่กับความต้องการของสังคม จึงต้องทำให้เกิดการยอมรับและเข้าร่วมรักษากฎหมายอย่างเข้มแข็ง เป็นต้น
(2) ปัญหาหลักเกี่ยวกับกฎหมายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สรุปได้ดังนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรที่ยังไม่กระจายถึงประชาชน เนื่องจากยังมีการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ภาครัฐ
- กฎหมายหลายฉบับยังล้าสมัยและไม่ยืดหยุ่นไปตามสภาพท้องถิ่น
- ปัญหาการจัดการแบบแยกส่วน ไม่สนับสนุนให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
(3) กฎหมายที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่
- กฎหมายป่าไม้ ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการให้มากขึ้น เช่น ร่วมกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ระหว่างเขตของรัฐที่สงวนไว้กับเขตการใช้ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการวางแนวทางพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น
- กฎหมายที่ดินและกฎหมายปฏิรูปที่ดิน เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิทธิในการถือครองที่ดิน
- กฎหมายชลประทาน ในขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมายชลประทาน ซึ่งมีสาระที่เน้นในเรื่องการแบ่งสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ยึดการจัดการลุ่มน้ำเป็นกรอบทิศทางในการบริหารจัดการ
- พระราชบัญญัติน้ำ ได้ดำเนินการร่างกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ทั้งนี้ เพราะขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในขณะนี้จึงกำลังอยู่ในขั้นตอนของการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่
- พระราชบัญญัติประมง กฎหมายเดิมเก่ามาก และยังไม่ได้รวมการประมงทางทะเลและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง จึงต้องเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้เกิดการประมงอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
- กฎหมายสิ่งแวดล้อม ในขณะนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่างและแก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว สาระของร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเน้นประสิทธิภาพในการพิจารณาขององค์กรที่จะพิจารณา EIA และเน้นการปรับปรุงกระบวนการวิเคราะห์ EIA เพื่อให้เกิดการยอมรับมากยิ่งขึ้น
(4) ในการแก้ไขกฎหมาย ต้องยึดแนวทางดังนี้
- ยึดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 เป็นหลัก และจะต้องมีกฎหมายกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่สอดคล้องกันออกมารองรับ
- ยึดหลักธรรมาภิบาล ที่ผ่านมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการยอมรับเนื่องจากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
(ยังมีต่อ).../4.ข้อคิดเห็น..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ