4 ข้อคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ
4.1 นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้ให้ความเห็นว่า
(1) ในภาพรวมของการพัฒนา ควรทบทวนมิติและสาขาต่าง ๆ ของการพัฒนาตามแผนฯ 9 ให้มีความบูรณาการให้มากขึ้น และเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(2) ในระดับปฏิบัติการ จะต้องเน้นแนวทางการบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนอย่างสมดุลในแต่ละสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิรูประบบราชการและกลไกการพัฒนา ควรมีกลไกการถ่วงดุลและแยกอำนาจออกจากกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายที่ได้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
(3) นอกเหนือจากกลไกทางด้านนโยบายแล้ว ควรปรับปรุงกลไกทางด้านการคลัง เช่น การจัดเก็บภาษีเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และวิธีการจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น ให้สอดคล้องและส่งเสริมการพัฒนาตามแนวทางที่ยั่งยืน
(4) ควรพิจารณาใช้ประโยชน์ในโครงการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้ลงทุนไปแล้ว ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
4.2 นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ได้ให้ความเห็นว่า
(1) การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ "การพัฒนาที่ดำเนินไปได้อย่าง ราบเรียบ มั่นคง ต่อเนื่อง ไม่สะดุดด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง รวมถึง เหตุด้านเศรษฐกิจ เหตุด้านประชากรและสังคม เหตุด้านการเมืองการปกครอง เหตุด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเหตุด้านสถานการณ์ระหว่างประเทศ"
5 ผลการประชุมกลุ่มย่อย
5.1 กลุ่มเศรษฐกิจ สรุปได้ดังนี้
(1) ในด้านความเชื่อมโยงของตัวแปรหลักของทั้ง 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
จะต้องทำความเข้าใจที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจไทยเสียก่อนว่า
- เศรษฐกิจไทยมีลักษณะเป็น 2 ระบบคู่ขนาน (Dualism) กัน คือ เศรษฐกิจทุนและเศรษฐกิจชุมชน
- ที่ผ่านมา มีการปรับตัวเป็นไปอย่างช้าๆ (Transformation) จากเศรษฐกิจชุมชนไปสู่เศรษฐกิจทุน โดยที่เศรษฐกิจชุมชนมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจทุน
ลักษณะของเศรษฐกิจชุมชน มีการพึ่งตนเองและใช้แรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีความเชื่อมโยงกันในทั้ง 3 มิติอยู่แล้ว
(2) การวาดฝันทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องการเห็น
- เส้นทางการพัฒนาของประเทศที่สอดคล้องกับลักษณะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชนให้มากขึ้น
- การพัฒนาเพื่อสร้างความสมดุล และยั่งยืนของการพัฒนา
(3) ในการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจในบริบทไทย ควร
- ยึดหลักการ ดังนี้
- ประสานเชื่อมโยงเศรษฐกิจทุนและเศรษฐกิจชุมชนให้เอื้อต่อกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
- สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ระบบเศรษฐกิจชุมชน ให้ได้รับผลกระทบทางลบน้อยที่สุด (Automatic stabilizer)
ดำเนินยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ดังนี้
- ถักทอร้อยรัดด้วยทุนทางสังคม: เชื่อม 2 ระบบเศรษฐกิจ และโยงเครือข่ายเข้าด้วยกัน
- สร้างความมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของทุนทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวและชุมชน : กองทุนหมู่บ้าน ระบบการออมท้องถิ่น และสหกรณ์
- ปรับกลไกภาครัฐ เช่น นโยบายการคลังให้เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและการเชื่อมโยง: การสนับสนุนสร้างองค์ความรู้ และการถักทอเครือข่าย เป็นต้น
- ส่งเสริมการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม: ใช้เทคโนโลยีที่สะอาด
- สร้างองค์ความรู้ เลือกสรรรับของดีจากภายนอกมาต่อยอดกับภูมิปัญญาดั้งเดิม
ตัวอย่างการเชื่อมโยงเศรษฐกิจทุนและเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่
- การผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
- การสร้างงานในประเทศ
- การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม (Redistribution of income)
- การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค ให้คำนึงถึงผลกระทบทางลบแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสังคม
(4) ดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ประกอบด้วย
เชิงปริมาณ :ได้แก่
- จำนวนชุมชนเข้มแข็ง
- จำนวนเครือข่าย
- อัตราส่วนการเป็นเจ้าของทุนของชุมชน
เชิงคุณภาพ ได้แก่
- เสถียรภาพของเครือข่าย
- ความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่าย
5.2 กลุ่มสังคม สรุปได้ดังนี้
(1) กรอบแนวคิด อันเป็นตัวกำหนดความเชื่อมโยงของมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิสัยทัศน์ คือ ทุนทางสังคม อาทิ ภูมิปัญญาดั้งเดิม วัฒนธรรม จิตใจ ความเอื้ออาทรและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสถาบันศาสนา เป็นต้น จะช่วยสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง รู้จักใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ เพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและอนุรักษ์ เพื่อสร้างวิสาหกิจชุมชน อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
(2) ประเด็นสำคัญ ที่ถือเป็นกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
ให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความเข้มแข็งและเข้ามีส่วนร่วมคิดและร่วมดำเนินการของชุมชน ไม่ใช่พัฒนาแบบสั่งการจากส่วนกลาง (Top Down) เป็นหลัก
เสริมสร้างสถาบันทางสังคมที่มีอยู่ เช่น โรงพยาบาล วัด โบสถ์ หรือมัสยิด มหาวิทยาลัย รวมทั้งสถานศึกษาโดยทั่วไป โดยมีระบบการประสานงานแบบภาคีร่วมพัฒนา (Partnership) ในทุกระดับ
พัฒนากระบวนการจัดการองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
ปรับปรุงทัศนคติและค่านิยม โดยยึดวิถีพระพุทธเจ้ามากกว่าวิถีตะวันตก
คุ้มครองคนด้อยโอกาส โดยการพัฒนาศักยภาพและสร้างระบบให้เอื้อต่อการพัฒนา แทนการสงเคราะห์แต่เพียงอย่างเดียว
เชื่อมโยงระบบความรู้ ระบบข้อมูล และระบบความคิด ให้เกิดผลในการพัฒนา
ต้องมีการเปลี่ยนแปลงระดับลึกถึงจิตสำนึกและจิตวิญญาณของคนในชาติ
(3) หลักการปฏิบัติ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ได้แก่
จัดทำ Mapping ทุนทางสังคมที่มีอยู่เพื่อขยายองค์ความรู้
พัฒนาระบบสื่อสารและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เป็นทุนทางสังคมออกไป เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
ขยายเครือข่ายความร่วมมือ (Networking) ในลักษณะพหุภาคีในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวนอน
(4) สิ่งที่สังคมต้องปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สร้างกลไกให้ชุมชนได้แสดงบทบาทในฐานะภาคีร่วมพัฒนา (Partnership) โดยการกระจายอำนาจให้เข้ามามีส่วนร่วม
ปรับบทบาทของระบบราชการจากการสั่งการมาเป็นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก รวมทั้งวิธีการทางงบประมาณและวัดผลงาน
ปรับระบบข้อมูลข่าวสารและบทบาทของสื่อมวลชนให้ร่วมสร้างสรรค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปรับกติกา กฎหมาย และระบบต่างๆ ให้เอื้อต่อการรวมกลุ่มกันของชุมชน
ส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งรวบรวม สังเคราะห์ และวิเคราะห์ภูมิปัญญาของท้องถิ่น เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์
(5) วิธีดำเนินการ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่
สร้างภาคีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีฝ่ายเลขานุการร่วมของวาระแห่งชาติ 4 ด้าน ร่วมกับภาคีการพัฒนาจากภายนอก และกลไกส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ
จัดเวทีการประชุมสมัชชาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยต้องใช้กลไกระดับจังหวัดเป็นจุดเชื่อมต่อให้เกิดการปฏิบัติ
ขยายบทบาทของสื่อมวลชนให้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้อย่างสร้างสรรค์
ต้องมีกรอบกติกาที่ชัดเจน มีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ปรับกลไกงบประมาณเพื่อขยายบทบาทของมหาวิทยาลัยในการถ่ายทอดความรู้อย่างสอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์จริง
5.3 กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ได้เสนอกรอบแนวคิดเพื่อนำไปสู่ยุทธศาสตร์และวิธีดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในแต่ละประเด็นไว้ดังนี้
(1) การมีส่วนร่วมของประชาชน
การมีส่วนร่วมต้องมาจากทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนและชุมชนท้องถิ่น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมต้องมีอยู่ในทุกขั้นตอนของการจัดทำแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งแผนชุมชน แผนท้องถิ่น และแผนระดับชาติ จนกระทั่งสามารถนำแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ทั้งนี้โดยเริ่มกระบวนการจาก การมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ปัญหา กำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดนโยบาย จัดทำแผนปฏิบัติการ การนำแผนไปสู่การปฏิบัติ (และร่วมลงมือปฏิบัติ) การติดตามและประเมินผล (ตามดัชนีชี้วัด) ตลอดจนการทบทวนผลสัมฤทธิ์ ทั้งนี้การจัดทำแผนควรต้องเริ่มมาจากการจัดทำแผนชุมชนในลักษณะจากระดับรากหญ้าขึ้นมา (Bottom-up) ให้แล้วเสร็จ แล้วจึงค่อยจัดทำแผนท้องถิ่นและแผนชาติตามลำดับ
ต้องปรับสัดส่วนของการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความเหมาะสม เพื่อสร้างสังคมเรียนรู้ เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ควรมีผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคอื่นๆ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เป็นต้น
เนื่องจากระดับความรู้ของประชาชนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge) และศักยภาพของประชาชนและท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจากความแตกต่างของฐานความคิดตามมา รวมทั้งต้องมีการกำหนดระดับของการเข้ามามีส่วนร่วมไว้ด้วย
ควรมีเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน
ในขณะนี้ยังขาดช่องทางที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบและได้รับการยอมรับในหลักการ ดังนั้น การที่จะให้ภาคประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง จะต้องมีกฎหมายรองรับ และต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดของภาครัฐให้มีการยอมรับและสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
(2) กฎหมายและกฎระเบียบของสังคม
ที่ผ่านมาองค์ความรู้ด้านกฎหมายจะแยกส่วนในแต่ละด้าน ทำให้การบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นไปได้ยาก จึงควรมีการจัดการองค์ความรู้ด้านกฎหมายให้บูรณาการอย่างเป็นองค์รวม
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นต่างๆ ควรมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น ด้านการมีส่วนร่วม เป็นต้น โดยจะต้องสามารถนำไปบังคับใช้ให้บังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
ควรเพิ่มเติมการพิจารณาทั้งในส่วนข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและส่วนที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกๆ ด้าน ต้องมีกฎหมายประกอบ เพื่อช่วยให้การมีส่วนร่วมสามารถบังเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม
(3) สถาบัน
ต้องมีการพัฒนาสถาบัน โดยมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายของสถาบัน (Policy Assessment) อย่างต่อเนื่อง เพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ของสถาบัน อันจะนำไปสู่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสถาบันให้ดีขึ้น
ควรจัดตั้งสถาบันอิสระที่จะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการดำเนินงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การให้ความรู้ และการส่งเสริมการวิจัย ที่ประกอบด้วยทุกภาคส่วนของสังคม อาทิ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นต้น โดยมีกฎหมายรองรับเพื่อให้การดำเนินงานสถาบันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
(4) การพัฒนาดัชนีชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย เพื่อเป็นกลไกติดตามประเมินผลความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนา มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
การจัดทำดัชนีชี้วัดการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรใช้หลักการเชิงพื้นที่มาร่วมวิเคราะห์ด้วย
ควรมีการรวบรวมและสังเคราะห์ผลการศึกษาวิจัยของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ทำไว้แล้ว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เป็นดัชนีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ไม่ควรจัดทำดัชนีชี้วัดในลักษณะเป็นด้าน ๆหรือแต่เพียงด้านเดียว แต่ควรพิจารณาถึงด้านต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันด้วย เช่น การสร้างดัชนีชี้วัดด้านป่าไม้ ควรพิจารณาความเชื่อมโยงด้านคนและองค์ความรู้เข้าไว้ด้วย เป็นต้น
ควรเพิ่มเติมประเด็นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในแบบสอบถามของ จปฐ. เพื่อให้เกิดการสร้างดัชนีที่มาจากความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ควรเพิ่มเติมตัวชี้วัดเชิงมิติทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ อาทิ ตัวชี้วัดความรู้ ทัศนคติ และความพึงประสงค์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
(5) ประเด็นอื่นๆ
ควรกำหนดแนวทางในการปรับเปลี่ยนฐานคิดและค่านิยม และสร้างจิตสำนึก อาทิ
- การปรับฐานคิดของคนในชาติและทุกภาคส่วนในสังคม ให้มีความสอดคล้องกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน
- การสร้างจิตสำนึกและค่านิยมในการบริโภคของคนในสังคมไทยให้เกิดความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่
- การสร้างค่านิยมความรับผิดชอบของประชาชนเพื่อให้เกิดการยอมรับ อาทิ การจ่ายค่าบริการต่างๆ ค่าบำบัดน้ำเสีย ค่ากำจัดขยะ หรือบริการอื่นๆ รวมทั้งการเสียภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
- การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต จะต้องคำนึงถึงการจัดการเชิงพื้นที่ โดยไม่แยกเป็นแต่ละด้าน แต่มีความบูรณาการ
- การวางแผนพัฒนาและการกำหนดนโยบายสาธารณะต้องออกมาจากผู้ที่มีฐานคิดในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่มาจากผู้ที่ไม่มีฐานคิดหรือไม่เข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่มีฐานคิดจากการรักษาผลประโยชน์ส่วนตนหรือกลุ่มตน
ลศช. ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่มีผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่
- กฎระเบียบของสังคมและการบังคับใช้
- การมีส่วนร่วมของประชาชนต้องมีการจำกัดขอบเขตการเข้าร่วม กล่าวคือ ถ้าเป็นการวางแผนของท้องถิ่น ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในท้องถิ่น แต่ถ้าเป็นการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ที่มีผลกระทบกว้าง จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้รับผิดชอบ และต้องมีการประชาพิจารณ์โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นเสียก่อน
- จะต้องเร่งดำเนินการตามกลไกการทำงานที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังอยู่ในกระบวนการดำเนินการ เช่น การปฏิรูประบบราชการ เป็นต้น ต่อไป
- ต้องมีงบประมาณสนับสนุนเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
(6) การปรับแก้แผนผังเชื่อมโยงความคิดเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ประชุมมีความเห็นว่า แผนผังเชื่อมโยงความคิดที่เสนอยังขาดหลักคิดและยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งไม่สะท้อนกระบวนการ (Process) ว่าจะทำให้เกิดการเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร และขาดการเชื่อมโยงของทรัพยากรและกระบวนการ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพได้ว่าจะนำไปสู่ผลลัพธ์ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน ได้อย่างไร จึงควรปรับแก้ ดังนี้
กระบวนการ ขั้นตอนในการขับเคลื่อน เชื่อมโยงด้านการมีส่วนร่วม
ต้องเน้นคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา
ให้เพิ่มเรื่อง สถาบัน และ เมืองยั่งยืน เข้าไว้ในแผนผังความคิดด้วย
ในวงจรการพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ปรับเปลี่ยนจากคำว่า "ความหลากหลายทางชีวภาพ" เป็น "ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติ" และแก้ไขคำว่า "เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ได้มาตรฐานสากล" เป็น "เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล"
ในวงจรการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ให้เปลี่ยนจากคำว่า "มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม" เป็น "มีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างสมดุลและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม"
ให้เพิ่มประเด็นย่อยภายใต้ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" 3 ประเด็นย่อย ได้แก่
- ท้องถิ่น
- ลุ่มน้ำ
- ระดับชาติ
(7) การปรับแก้สาระในเอกสาร "กรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนฯ" (หน้า 6)
ให้แก้ไขจาก "5.2.1 กำหนดยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญและสาระของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเชิญชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" เป็น "5.2.1 กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดการสื่อสารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้าใจความสำคัญและสิ่งแวดล้อม" นอกจากนี้ ให้เพิ่มประเด็น "การถ่ายทอดองค์ความรู้" ไว้ในข้อ 5.2.1 ด้วย
ให้แก้ไขจาก "5.2.2 จัดตั้งสมัชชาการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกจังหวัด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็น "ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่น ระดับลุ่มน้ำ และระดับชาติ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่ยั่งยืน"
(ยังมีต่อ).../6.ผลการ..