ข้อชี้แจงเรื่อง GDP สาขาเกษตร ไตรมาสที่ 1/2547*

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 18, 2004 16:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2547 ซึ่งสรุปได้ว่า GDP เติบโตร้อยละ 6.5 โดยที่สาขาเกษตรมีอัตราการขยายตัวติดลบร้อยละ 2.8 อันเนื่องมาจากผลผลิตของ 2 หมวดหลักคือ หมวดพืชผลลดลงร้อยละ 3.8 มีสาเหตุจากภาวะภัยแล้งต้นปีและข้อจำกัดทางด้านอุปทาน และหมวด ปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 20.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรคไข้หวัดนก ส่วนหมวดประมงขยายตัวร้อยละ 13.7 จากที่สามารถปริมาณกุ้งส่งออกเพิ่มขึ้น และต่อมาได้ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีความแตกต่างระหว่างทิศทางการขยายตัวของการผลิตสาขาเกษตรของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ชี้ว่าผลผลิตสาขาเกษตรมีอัตราการขยายตัวเป็นบวก สศช. ขอชี้แจงสาเหตุของความแตกต่างดังนี้ 
1. ระบบการประมวลผล QGDP
1.1 มาตรฐานการประมวลผล GDP
1.1.1 มาตรฐานองค์การสหประชาชาติ
(1) การประมวลผล GDP ของ สศช.ได้จัดทำภายใต้มาตรฐานระบบบัญชีประชาชาติขององค์การสหประชาชาติ (System of National Accounts of United Nations, UNSNA) ที่มีการวางระบบการจัดทำบัญชีประชาชาติขึ้นอย่างเป็นทางการและประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1953 เรียกว่า ระบบ 1953 UNSNA และได้มีการพัฒนามาเป็นระบบบัญชีประชาชาติปัจจุบันในปี พ.ศ. 2536 หรือเรียกว่าระบบ 1993 UNSNA
(2) ระบบบัญชีรายได้ประชาชาติเป็นบัญชีหนึ่งภายใต้ระบบ 1993 UNSNA ซึ่งเป็นการบันทึกข้อมูลการไหลเวียนของผลผลิตหรืออุปทาน (Supply) ที่อยู่ในรูปของสินค้าและบริการ ผลตอบแทน ปัจจัยการผลิต และรายจ่ายเพื่อซื้อผลผลิตหรืออุปสงค์ต่อสินค้าและบริการ (Demand) โดยวัดมูลค่าธุรกรรมทุกชนิดให้อยู่ในรูปของตัวเงิน ดังนั้นการคำนวณรายได้ประชาชาติจึงสามารถคำนวณได้ 3 ด้านคือ ด้านการผลิตสินค้าและบริการ การใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการ และรายได้ของเจ้าของปัจจัยการผลิต โดยการคำนวณทั้ง 3 ด้านจะสมดุลกัน
(3) ในทางปฏิบัติ สศช. ได้มีการประมวลผลครบทั้งสามด้านสำหรับการจัดทำรายได้ประชาชาติรายปี ส่วนการประมวลผล GDP ที่มีความถี่สั้นกว่า 1 ปีคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส(Quarterly Gross Domestic Product, QGDP) นั้น เนื่องจากเป็นข้อมูลระยะสั้นและข้อจำกัดของข้อมูลด้านรายได้ สศช. จึงได้จัดทำเพียง 2 ด้านคือการผลิตและการใช้จ่าย เพื่อให้การใช้ประโยชน์ทำได้อย่างกว้างขวางและเป็นการตรวจสอบความสมดุลระหว่าง 2 ด้าน โดยการประมวลผลด้านการผลิต สศช. ได้ใช้การคำนวณผลรวมของมูลค่าเพิ่ม (Value added) ที่เกิดจากกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการทุกชนิดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลภายใต้กรอบของระบบบัญชีประชาชาติ
1.1.2 การจำแนกรายการ สศช.ได้ใช้ระบบการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศไทย (Thailand Standard Industrial Classification: TSIC) ปี 2544 เป็นกรอบรายการกิจกรรมและประเภทสินค้าและบริการในการจัดทำ GDP รายปี เนื่องจากมีการจำแนกรายละเอียดย่อยถึงระดับรหัส 5 หลัก (Digits) แต่การจัดทำ QGDP สศช. ได้ใช้ระบบการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรมสากล (International Standard Industrial Classification: ISIC) ขององค์การสหประชาชาติ เป็นกรอบรายการในการจัดทำในรายละเอียดระดับรหัสสินค้า 4 หลัก รายละเอียดรายการของ QGDP จึงมีน้อยกว่า GDP รายปี อย่างไรก็ดีข้อมูลต่าง ๆ สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างชัดเจนเนื่องจากข้อมูลระดับ 4 digits ของทั้ง 2 ระบบเป็นกิจกรรมประเภทเดียวกัน ดังนั้นการจำแนกรายการต่าง ๆ ที่ สศช. จัดทำจึงเป็นมาตรฐานสากลสามารถเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ได้
1.1.3 GDP ในราคาตลาดหรือราคาประจำปีและราคาปีฐาน สศช. ได้จัดทำ GDP ทั้งราคาตลาดหรือราคาประจำปี และราคาคงที่โดยใช้ปี 2531 เป็นราคาปีฐานดังนี้
(1) ราคาตลาด (ประจำปี) เป็นการคำนวณมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการ โดยใช้ราคาตามภาวะราคาตลาดที่เกิดขึ้นริงในแต่ละปี (Market value) เป็นตัววัดมูลค่าการผลิตและค่าใช้จ่ายสินค้าขั้นกลาง มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการคำนวณโดยวิธีนี้ จะรวมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านปริมาณและราคาไว้ด้วยกันซึ่งจะเป็นข้อมูลที่แสดงถึงขนาดของรายได้ประชาชาติของประเทศ
(2) ราคาปีฐาน เป็นการคำนวณมูลค่าเพิ่มของกิจกรรมการผลิตทุกกิจกรรม โดยใช้ราคาสินค้าในปีใดปีหนึ่ง หรือเรียกว่า "ปีฐาน" เป็นตัววัดมูลค่าการผลิตและค่าใช้จ่ายสินค้าขั้นกลาง ในกรณีของประเทศไทย สศช. ได้ใช้ราคาปี 2531 เป็นราคาปีฐาน ดังนั้น มูลค่าเพิ่มที่คำนวณได้ในราคาคงที่จะแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าที่แท้จริง (Real term) ที่ขจัดผลทางด้านการเปลี่ยนแปลงของราคารวมทั้งประเภทสินค้าที่มีหน่วยวัดเชิงปริมาณที่แตกต่างกันแล้ว ด้วยเหตุนี้ GDP ในราคาปีฐาน จึงมีประโยชน์ในการนำมาใช้วิเคราะห์อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละปี และถ้านำข้อมูลอนุกรมในระยะยาวมาวิเคราะห์โดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติแล้ว ก็จะสามารถทำนายแนวโน้มการผลิตในอนาคตได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี แม้ว่าปีฐานที่ใช้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม การประมวลผลของ สศช. ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมประเภทรายการสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นใหม่ในระบบเศรษฐกิจให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่น ผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ฯลฯ จึงสามารถสะท้อนสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
1.2 การประมวลผลข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส (QGDP) ของสศช. ได้ใช้มาตรฐานระบบบัญชีประชาชาติขององค์การสหประชาชาติล่าสุดปี ค.ศ.1993 (UN System of National Accounts, UNSNA1993) และได้รับการจัดให้อยู่ในมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลระดับสูงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Special Data Dissemination Standard, SDDS) ซึ่งมีขั้นตอนการประมวลผลที่ชัดเจนเป็นลำดับขั้นดังนี้คือ
1.2.1 การรวบรวมข้อมูล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดส่งข้อมูลให้กับ สศช. ภายใน 7 สัปดาห์หลังจากสิ้นสุดไตรมาสอ้างอิง (ตามมติคณะรัฐมนตรี)
1.2.2 การประมวลผล เริ่มการประมวลผลข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศและให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์ที่ 8 หลังจากสิ้นสุดไตรมาสอ้างอิง
1.2.3 การประชุมพิจารณาผล ปรับปรุงและจัดทำบทวิเคราะห์ สศช. มีการพิจารณาผลกระทบยอดผลการคำนวณของด้านการผลิตและการใช้จ่ายโดยละเอียด โดยพิจารณาความสอดคล้องของข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหลายแหล่ง และปรับปรุงข้อมูลให้สอดคล้องกันและจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อดำเนินการเผยแพร่ให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์ที่ 9
1.2.4 การเผยแพร่ข้อมูล สศช. เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเป็นประจำทุกวันจันทร์แรกของเดือนสุดท้ายในแต่ละไตรมาส ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูล GDP ของไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 21 จากเดิมอันดับที่ 30 เมื่อปี 2546 จากจำนวน 57 ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลระดับสูง
1.2.5 การปรับปรุงข้อมูล ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสจะมีการปรับปรุงย้อนหลัง 1 ไตรมาสทุกครั้ง ในการจัดทำข้อมูลในไตรมาสถัดไป และจะมีการปรับปรุงย้อนหลังมากกว่า 1 ไตรมาสเมื่อมีการจัดทำข้อมูลรายได้ประชาชาติรายปีในรายละเอียดทุก ๆ ปีเพื่อให้การจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสมีความถูกต้องที่สุด
1.3 ข้อมูลปริมาณการผลิตของ สศก. มี 2 ลักษณะคือ
1.3.1 ข้อมูลรายปีจากการสำรวจ สศก. ทำการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติเกษตรที่สำคัญรายปี เป็นปีเพาะปลูกเพื่อเผยแพร่ในแต่ละปี โดยเผยแพร่หลังปีอ้างอิงประมาณ 1 ปี
1.3.2 ข้อมูลพยากรณ์การเกษตร สศก. ได้มีการสำรวจข้อมูลเพาะปลูกสินค้าเกษตร และได้ใช้เป็นฐานในการประมาณการผลผลิตเกษตรแต่ละชนิดเป็นรายเดือน ข้อมูลจะมีการปรับปรุงทุก ๆ เดือนตามผลการสำรวจพืชแต่ละชนิดที่ได้รับเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้มีกำหนดเผยแพร่ที่แน่นอน ซึ่งข้อมูลนี้ สศช. ได้ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคำนวณมูลค่าเพิ่มสาขาเกษตร และจะทำการปรับปรุงข้อมูลในการคำนวณมูลค่าเพิ่มสาขาเกษตรใหม่เมื่อข้อมูลพยากรณ์การเกษตรของ สศก. ที่จัดส่งให้ปรับเปลี่ยนไป โดยในบางไตรมาสข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงมีความแตกต่างกันค่อนข้างสูงส่งผลต่อความแม่นยำในประมวลผลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส โดยเฉพาะมูลค่าเพิ่มสาขาเกษตรในแต่ละไตรมาส ทั้งนี้ สศช. ได้ชี้แจงสาเหตุการเปลี่ยนแปลงไว้ในเอกสารเผยแพร่ในหนังสือสถิติข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในแต่ละฉบับ
2. ข้อมูลที่แตกต่างในไตรมาสที่ 1/2547
การจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส1/2547 สศช. ได้รับข้อมูลพื้นฐานด้านปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรจาก ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สศก. ซึ่งได้จัดส่งให้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ตามมติของคณะรัฐมนตรี ที่ขอให้หน่วยราชการจัดส่งข้อมูลเพื่อสนับสนุนในการจัดทำข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสภายใน 7 สัปดาห์หลังสิ้นสุดไตรมาสอ้างอิง และได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาสที่1/2547 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ของ สศก. ที่อ้างอิงและยังไม่ได้จัดส่งให้ สศช. ว่าเป็นข้อมูลล่าสุดแล้ว พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในพืชหลัก 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน และยางพารา โดยมีสาเหตุแตกต่างกันในแต่ละชนิดดังนี้
2.1 ข้าวเปลือก ข้อมูลที่ สศช. ได้รับจาก สศก. ในไตรมาสที่1/2547 ผลผลิตข้าวนาปีและนาปรังรวม 3.55 ล้านตัน แต่ข้อมูลที่ สศก. อ้างอิงล่าสุดปรากฏว่า ผลผลิตรวม 3.70 ล้านตันเป็นผลให้อัตราการขยายตัวแตกต่างกันโดยขยายตัวร้อยละ -0.6 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ดีในการคำนวณมูลค่าเพิ่มของการผลิตข้าวเปลือกสศช. ได้แยกการคำนวณเป็นข้าวนาปีและข้าวนาปรังเนื่องจากราคาและค่าใช้จ่ายในการผลิตของข้าวทั้ง 2 ชนิดแตกต่างกัน ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก (Weight) ของข้าวเปลือก 2 ชนิดที่แตกต่างกันและเก็บเกี่ยวในเวลาเดียวกัน
2.2 อ้อยโรงงาน ข้อมูลที่ สศช. ได้รับจาก สศก. ในไตรมาสที่1/2547 ผลผลิตอ้อยรวม 50.76 ล้านตันซึ่งได้ตรวจสอบกับปริมาณอ้อยที่เข้าหีบที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลพบว่า ข้อมูลอ้อยเข้าหีบประมาณ 50.55 ล้านตันใกล้เคียงกับข้อมูลที่ได้รับ และวิเคราะห์แล้วว่าสอดคล้องกับการผลิตน้ำตาลทรายแต่ข้อมูลที่ สศก. อ้างอิงล่าสุดผลผลิตอ้อยรวม 53.01 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลให้การขยายตัวแตกต่างกันโดยขยายตัวร้อยละ -6.9 และร้อยละ -1.2 ในไตรมาสที่1/2547 ตามลำดับ ซึ่งแม้จะปรับตัวเลขให้ตรงกันแล้ว อัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตอ้อยก็ยังติดลบ
2.3 ยางพารา ข้อมูลที่ สศก. จัดส่งให้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547 ไม่มีการพยากรณ์ผลผลิตยางพาราในไตรมาส1/2547 ในการคำนวณมูลค่าเพิ่มของยางพารา สศช.จึงได้ใช้ข้อมูลจากสถาบันวิจัยยางประกอบ เนื่องจากมีข้อมูลรายละเอียดของยางแต่ละประเภทที่มีราคาแตกต่างกันและมีทั้งข้อมูลการผลิต การส่งออก และการใช้ในประเทศทำให้การประมวลผลมีความถูกต้องมากที่สุด โดยข้อมูลรายปีจะถูกใช้เป็นฐานข้อมูลในการคำนวณรายไตรมาส แต่เนื่องจากข้อมูลรายไตรมาสของสถาบันวิจัยยางจะเผยแพร่ล่าช้ากว่าการประมวลผลสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสของ สศช. ดังนั้นในการคำนวณมูลค่าเพิ่มของยางพารารายไตรมาสจะคำนวณจากข้อมูลการส่งออกที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 90 ของการผลิตยางทั้งประเทศและประมาณการส่วนที่ใช้ในประเทศและส่วนเปลี่ยนของสินค้าคงคลังรวมเป็นผลผลิตของยางในแต่ละไตรมาส โดยข้อมูลผลผลิตยางที่ สศช. ประมาณขึ้นดังกล่าวหดตัวลงร้อยละ 5.9 แต่ข้อมูลที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรอ้างอิงขยายตัวร้อยละ 1.1 ซึ่งน่าจะไม่สอดคล้องกับปริมาณยางส่งออกที่หดตัวลงร้อยละ 18.3ในขณะที่ราคายางส่งออกสูงจูงใจในการส่งออกหากมีผลผลิตเพียงพอ
เปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของผลผลิตพืชสำคัญบางชนิดไตรมาส 1/2547
อัตราการเปลี่ยนแปลง (%)
สศก.* สศช.**
ข้าว 3.4 -0.6
ข้าวโพด -3.2 -3.6
มันสำปะหลัง 7.2 7.2
ยางพารา 1.1 -5.9
ถั่วเหลือง 13.7 2.6
ปาล์มน้ำมัน 3.5 9.1
อ้อยโรงงาน*** -1.2 -6.9
รวมปริมาณพืชผล 3.5 -4.2
หมายเหตุ
* ข้อมูลอ้างอิงล่าสุดของ สศก.
** ข้อมูลที่ สศช. ได้รับเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2547
*** ปริมาณอ้อยเข้าหีบจากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลในไตรมาส 1/2547 ลดลงร้อยละ 7.2
(ยังมีต่อ).../3.ความไม่แน่นอน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ