แผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 30, 2004 16:23 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        1.  อารัมภบท
1.1 คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วยความสนับสนุนจากคณะกรรมการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (กปพ.) ได้พิจารณาเห็นว่าการเพิ่มผลผลิตเป็นปัจจัยหลักที่มีความสำคัญต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเห็นควรกำหนดให้การเพิ่มผลผลิตเป็น "วาระแห่งชาติ"
1.2 ในการนี้ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ประกอบด้วยผู้แทนจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญจากวงการวิชาการ และผู้แทนจากภาคเอกชน เพื่อจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางในการสร้างขบวนการเพิ่มผลผลิตของประเทศในภาพรวมระยะยาว โดยคำนึงถึงความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตที่จะต้องมีการปรับปรุงไปพร้อมกันกับการปรับโครงสร้างการผลิตในอันที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างสมรรถนะที่แข็งแกร่งของระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งคำนึงถึงมิติของการพัฒนาที่สามารถสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น และเอื้อต่อกระบวนการผลิตที่ยั่งยืนและสังคมที่มีเสถียรภาพพร้อมทั้งคัดเลือกสาขาการผลิตใช้เป็นโครงการนำร่องในเบื้องต้น เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายผลผลิตไปสู่ภาคการผลิตโดยรวมในระยะต่อไป
2. สัญญาณเตือนภัย : ข้อบ่งชี้ถึงการขาดประสิทธิภาพและความไม่ยั่งยืน
2.1 เศรษฐกิจไทยมีวิวัฒนาการของฐานการผลิตมาจากการพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรไปสู่องค์ความรู้โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วงคือ ช่วงแรก (หลังสงครามโลกครั้งที่2-แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-2) ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบบการผลิตจึงเน้นความได้เปรียบในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ที่ดินและวัตถุดิบธรรมชาติ ช่วงที่สอง (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 3-5) ระบบการผลิตจึงได้เปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับแรงงานราคาถูก เนื่องจากมีแรงงานส่วนเกินในภาคการเกษตรค่อนข้างมาก ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมได้เข้ามามีบทบาทแทนภาคการเกษตรโดยสินค้าส่งออกที่ใช้แรงงานมากได้กลายมาเป็นหัวหอกของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะต่อมา ช่วงที่สาม (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6-7) การผลิตให้ความสำคัญต่อการดึงดูดทุนและเทคโนโลยีจากภายนอกประเทศ และช่วงสุดท้าย (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8) การร่างแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ แข่งขันในยุคโลกาภิวัตน์รุนแรงมากขึ้น การใช้แรงงานราคาถูกหรือการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญการผลิตในช่วงนี้จึงต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ดังนั้นการปรับโครงสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจะต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาปัจจัยหลักในการผลิต
2.2 อย่างไก็ตาม จากการศึกษาของ TDRI พบว่าการเพิ่มผลผลิตโดยรวม (Total Factor Productivity) มีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่ลดลงมาโดยตลอด จากร้อยละ 3.47 ในช่วงปี 2529-2533 เหลือเพียงร้อยละ 1.02 ในปี 2534-2538 และในปี 2539 ซึ่งเป็นปีของวิกฤตเศรษฐกิจ การเพิ่มผลผลิตโดยรวมลดลงถึงร้อยละ 0.02 ต่ำกว่าประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่พบว่าการเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศยังมีแนวโน้มลดลงอีกช่วงปี 2540-2541 ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิตในภาพรวม
2.3 จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของสถาบันต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น International Institute for Management Development (IMD) หรือ World Economic Forum (WEF) ต่างบ่งชี้ว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจลดลง เมื่อเทียบกับประเทศที่มีพลวัตรทางเศรษฐกิจเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ดังจะเห็นได้จากช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2538-2542) อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยมีแนวโน้มลดลงในกลางปี 2540 โดยเฉพาะภายหลังจากที่ประเทศประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
2.4 เมื่อวิเคราะห์ถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD ในปี 2542 ได้มีการระบุถึงปัจจัยถ่วงที่สำคัญและมีความอ่อนแอที่สุด รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อพื้นฐานในร่างแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันนี้ รวมถึงการขาดการเพิ่มผลผลิตโดยรวม (Overall Productivity) และการเพิ่มผลผลิตของแรงงานต่ำ (Labor Productivity)
2.5 สาเหตุที่ทำให้การเพิ่มผลผลิตโดยรวมขยายตัวลดลง เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการ ลงทุนโดยใช้ทุนจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขยายการลงทุนที่มาก เกินไป จนกระทั่งทุนที่ลงไปในแต่ละหน่วยไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ในปัจจัยแรงงานก็เช่นกัน การเพิ่มผลผลิตของแรงงานมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ จากขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.27 ในปี 2531 ลดลงในอัตราร้อยละ 7.11 ในปี 2541 และเมื่อเปรียบเทียบกับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงส่งผลให้ไทยสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในด้านแรงงานไปในที่สุด
2.6 หากสถานการณ์ยังคงดำเนินไปในลักษณะเช่นนี้ไทยคงไม่สามารถสร้างสถานะที่ดีขึ้นในเวทีการค้าโลกได้ การได้เปรียบในเชิงราคาด้วยทรัพยากรราคาถูกหรืออัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าคงไม่สามารถทำให้ไทยมีสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากเป็นความได้เปรียบเชิงการค้าในระยะสั้นเท่านั้น การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตจึงเป็นแนวทางเดียวที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาว โดยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้บริโภค มีกระบวนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำเพื่อให้ขายสินค้าได้ในราคาที่เหมาะสม การส่งมอบที่ทันเวลา และการมีคุณธรรมจริยธรรมที่จะไม่เบียดเบียนสังคม และสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงอย่าง ต่อเนื่อง จึงจะช่วยให้ประเทศ ยืนหยัดในตลาดการค้าโลกได้ยาวนาน
2.7 นอกจากการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของปัจจัยหลักแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกประการหนึ่ง คือ ความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความสมดุลของโครงสร้างการผลิตในภาคการผลิตต่างๆ การกระจายความเจริญในแง่พื้นที่ และการสร้างโอกาสในการ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มต่างๆ และเมื่อเสริมด้วยแนวคิดของเศรษฐกิจ พอเพียงที่มุ่งเสริมสร้างให้ภาคเกษตรเป็นฐานการผลิตที่สังคมโดยรวมสามารถพึ่งพาในด้านปัจจัยยังชีพขั้นพื้นฐานและการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการผลิตขนาดเล็กและขนาดย่อม (Micro and Small Enterprises : MSE) แล้ว จะทำให้เกิดความมั่นคงของระบบการผลิตโดยรวม โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และศักยภาพด้านอื่นๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมทั้งลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศ
3. การเพิ่มผลผลิต : ไม่ทำ ไม่ได้
3.1 ในระยะที่ผ่านมาแม้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจะได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องแต่การกำหนดนโยบายจากภาครัฐ หรือการทำงานในภาคเอกชนยังขาดการบูรณาการและในบางส่วนเป็นไปโดยขาดทิศทางที่ชัดเจน ทำให้การปรับตัวของระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นไปอย่างเชื่องช้า มีความลักลั่นระหว่างส่วนต่างๆ ของสังคม ดังเช่น การเปิดเสรีทางการเงินในขณะที่สถาบันการเงินยังไม่มีความพร้อมอย่างแท้จริงทำให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินตามมา หรือนโยบายเขตการค้าเสรีที่จะเริ่มใช้ในปี 2543 แต่ภาคการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมยังปรับตัวอย่างเชื่องช้า จนอาจไม่สามารถอยู่รอดได้ภายใต้กระแสการแข่งขันที่รุนแรงนี้ นอกจากนี้รัฐบาลยังขาดยุทธศาสตร์ในการเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศ ตลอดจนการสร้างทักษะการบริหารจัดการภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นรากฐานของการเพิ่มผลผลิตอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาประเทศและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว
3.2 อย่างไรก็ตามการใช้ปัจจัยหลักในการผลิตของแต่ละภาคเศรษฐกิจที่ผ่านมายังขาดประสิทธิภาพอยู่มาก โดยในภาคเกษตร ประสิทธิภาพการผลิตของพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้าว ยางพารา ข้าวโพด และอ้อย ยังมีผลผลิตต่ำกว่าประเทศพม่า อินเดีย และจีนเนื่องจากขาดการพัฒนาคนและเทคโนโลยีในการผลิตอย่างเหมาะสม รวมทั้งนโยบายและมาตรการที่เน้นการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรด้วยวิธีการผลิตในลักษณะของเกษตรเชิงเดี่ยวและการใช้สารเคมี ได้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ ดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ การลดลงของความหลากหลายด้านชีวภาพสารพิษตกค้าง รวมทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ ตามมา
3.3 ในภาคอุตสาหกรรม การขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยการพึ่งพาทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และใช้แรงงานไทยเป็นเพียงแรงงานระดับล่าง จนกระทั่งไม่สามารถปรับตัวหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ ประกอบกับการกระจุกตัวของแหล่งอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ส่งผลให้ความเจริญในภาคอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ความแออัดของหน่วยการผลิต และการขาดระบบโครงสร้างพื้นฐาน ได้ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนในการประกอบการสูงกว่าที่ควรจะเป็น
3.4 การละเลยความสำคัญในการสร้างฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นของตนเองและนวัตกรรมที่สนับสนุนภาคการผลิตของไทยยังอยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ต้องนำเข้าเทคโนโลยีในรูปเครื่องมือเครื่องจักรจากต่างประเทศในปี 2538 เป็นมูลค่าสูงถึง 800,000 ล้านบาท ในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวและมีศักยภาพในการพัฒนาสูงระหว่างปี 2529-2538 ประเทศไทยกลับไม่ได้ลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เป็นรากฐานสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว โดยการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามีเพียงประมาณร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ ซึ่งยังห่างไกลกับอัตราส่วนที่เหมาะสมคือร้อยละ 0.5-1.0 นอกจากนี้ ไทยยังให้การสนับสนุนในการสร้างนักวิจัยน้อยมาก โดยมีอัตราส่วนนักวิจัยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพียง 2 คน ต่อประชากร 10,000 คน เปรียบเทียบกับประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่มีนักวิจัย 10-15 คน ส่งผลให้ประเทศมีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการคัดเลือก จัดหา ดูดซับ และพัฒนาเทคโนโลยี ในขณะที่สิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ที่จดทะเบียนในประเทศมากกว่าร้อยละ 90 เป็นของต่างชาติ
3.5 การพัฒนาที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการปรับปรุงประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ หรือการเพิ่มผลผลิตนอกจากจะทำให้สูญเสียโอกาสสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการจัดระเบียบทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การมีวินัยทางสังคม การใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างระมัดระวัง การทำงานเป็นทีมการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ ฯลฯ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ทางสังคมเหล่านี้ได้กลับมามีผลในทางที่เป็นตัวขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยวต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม
3.6 นอกจากนี้ภายใต้กติกาการค้าใหม่ของโลกที่กำลังก้าวสู่ยุคการค้าเสรีตามพันธกรณีขององค์การการค้าโลก (WTO) และความร่วมมือในระดับภูมิภาค เช่น ความร่วมมือในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค (APEC) และเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถคุ้มครองธุรกิจภายในประเทศได้ด้วยมาตรการทางภาษีหรือความช่วยเหลือทางตรงอื่นๆ อีกต่อไป ดังนั้น มาตรการการกีดกันการค้าในที่มิใช่ภาษี (Non-tariff barriers) จึงทวีความสำคัญขึ้น ในกรณีของประเทศไทย นอกจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) แล้วยังต้องเผชิญกับมาตรการที่เป็นเครื่องมือเพื่อกีดกันการค้าอื่นๆ อาทิ การกำหนดมาตรฐานและคุณภาพสินค้า รวมถึงข้ออ้างเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขอนามัย สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ภายใต้เงื่อนไขระหว่างประเทศเหล่านี้ รัฐบาลจะต้องมีแนวทางชัดเจนในการให้ความรู้และส่งเสริมภาคเอกชนให้ปรับเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและบริการที่ไม่มีมาตรฐาน ด้วยการใช้วัตถุดิบและแรงงานราคาต่ำมาเป็นการปรับปรุงกระบวนการผลิตตามแนวทางการเพิ่มผลผลิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมูลค่าเพิ่มสูง
3.7 การเพิ่มผลผลิต นอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำประเทศไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกแล้ว ยังเป็นตัวนำประเทศไปสู่ความสมดุลและยั่งยืนอีกด้วย กล่าวคือ แนวคิดการเพิ่มผลผลิตจะนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากร (Reallocation) เพื่อให้เกิดคุณค่าสูงสุดทางเศรษฐกิจ การมีวินัยทางสังคม การทำงานเป็นทีม การใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาที่มีอยู่รวมถึงการสร้างความเท่าเทียมกันให้กับทุกส่วนในสังคมอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อธุรกิจมีความได้เปรียบในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก หมายถึงผู้ประกอบธุรกิจจะมีผลกำไรมากขึ้น ผลกำไรที่มากขึ้นนี้ควรจะถูกแบ่งปันให้กับผู้เกี่ยวข้องอย่างยุติธรรม ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งหมายรวมไปถึงเกษตรกรจะมีผลกำไรสูงขึ้นและมีเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ในการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น พนักงานมีความมั่งคงในหน้าที่การงานได้รับค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการเพิ่มมากขึ้น มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้น ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ในราคายุติธรรม รัฐบาลสามารถนำรายได้ที่มาจากการเก็บภาษีอากรที่เพิ่มมากขึ้นมาพัฒนาประเทศให้มีเสถียรภาพมากขึ้น คนในทุกส่วนของสังคมจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และในขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ก็จะได้รับการดูแลรักษาเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนทุกคนในสังคมสูงขึ้น
3.8 อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ผ่านมาไม่บรรลุผลสำเร็จ เนื่องจากขาดการเชื่อมโยงของการพัฒนาปัจจัยที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน 4 ระดับด้วยกันคือ
1) ประชาสังคม (Meta Level) คือปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีผลต่อค่านิยมและทัศนคติในการทำงาน
2) นโยบายระดับมหภาคที่สนับสนุนและเอื้อประโยชน์ต่อทุกภาคการผลิต (Macro Level)
3) นโยบายและแผนในระดับจุลภาค รวมถึงกลไกภาครัฐและเอกชนที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน (Meso Level)
4) ภาคการผลิตที่เป็นภาคเอกชน (Micro Level)
3.9 กรอบการวิเคราะห์ตามแบบจำลองดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ หรือการดำเนินนโยบายใดเพื่อเป้าหมายที่จะนำไปสู่ขีดความสามารถในการแข่งขัน ควรต้องพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 4 ระดับไปพร้อมกัน เพราะหากมีแต่นโยบายระดับมหภาคที่ดี แต่ไม่ได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ และหน่วยงานผู้ปฏิบัติยังทำงานแบบต่างคนต่างทำ ขาดความโปร่งใส นโยบายเหล่านั้นก็คงไม่สามารถเอื้อประโยชน์ให้ภาคเอกชนได้อย่างเต็มที่ หรือการปรับโครงสร้างการผลิตโดยมุ่งไปยังภาคการผลิต แต่ขาดนโยบายที่จะสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีที่จะหล่อหลอมให้ประชาชนหรือแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีทัศนคติที่ดีในการทำงาน การมีวินัย ใฝ่เรียนรู้แล้ว การปรับโครงสร้างภาคการผลิตจะไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ ดังนั้น จึงนับเป็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการปฏิรูปปัจจัยภายนอกทั้งในระดับประชาสังคม ระดับนโยบาย และระดับหน่วยงาน เพื่อให้ทำงานสอดประสานไปกับการปรับปรุงปัจจัยภายในที่ภาคการผลิตสามารถปรับปรุงได้เองแล้ว
(ยังมีต่อ).../..4.ขบวนการ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ