4. ขบวนการเพิ่มผลผลิต : จักรกลหล่อลื่นกระบวนการพัฒนาของชาติ
4.1 เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และสามารถพัฒนาทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนฐานะจากการเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบและแรงงานที่อาศัยทุนจากต่างประเทศโดยมีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของมูลค่าผลผลิตโดยรวม มาเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน (Equal Partnership) การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องยกระดับความสามารถทางสมองและฝีมือให้สูงขึ้น ดังนั้นการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต (Productivity Improvement) จะต้องได้รับความสนใจอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพเพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรที่ยั่งยืน ภายใต้สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างกัน
4.2 ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตอยู่บ้าง โดยในระดับนโยบายได้มีการกำหนดประเด็นของการเพิ่มผลผลิตแฝงอยู่ในแผนพัฒนาหรือนโยบายต่างๆ อยู่เสมอ ทั้งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 และแผนพัฒนารายสาขา อาทิ แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม แผนปรับโครงสร้างเกษตร พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติตลอดจนแผนงานด้านการพัฒนาแรงงาน เป็นต้น ซึ่งมีแผนงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำไปปฏิบัติ
4.3 ส่วนในระดับการปฏิบัติ รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยในปี 2505 ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็นหน่วยงานอิสระในนามสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติในปี 2537 ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมายังคงจำกัดอยู่เฉพาะการให้บริการแก่ธุรกิจที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น อาทิ การให้คำปรึกษาแนะนำด้านการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต การจัดทำระบบคุณภาพมาตรฐานสากล ISO 9000 และ ISO 14000 และการให้บริการฝึกอบรม เป็นต้น แต่ปัญหาด้านการเพิ่มผลผลิตไม่ได้จำกัดอยู่ในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะในภาคการเกษตรแม้ว่าจะมีศักยภาพการผลิตในลำดับสูงของโลก แต่การเพิ่มผลผลิตก็ยังมีอัตราต่ำเมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน รวมไปถึงภาคบริการ เช่น สถาบันการเงิน และหน่วยงานบริการของรัฐ ก็ยังขาดการเพิ่มผลผลิตอยู่เช่นกัน
4.4 ในภาพรวมของการดำเนินนโยบายส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตหรือประสิทธิภาพการผลิตที่ผ่านมาทั้งในด้านแหล่งเงินทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์และแรงงาน โดยผ่านกลไกต่างๆ ของรัฐยังขาดประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุหลักที่สำคัญคือ การขาดการบริหารจัดการที่ดี อันเนื่องจากข้อจำกัดของวัฒนธรรมและระเบียบกฎเกณฑ์ของระบบราชการ ทำให้การบริหารงานขาดความคล่องตัว นอกจากนี้ ยังขาดทรัพยากรที่เพียงพอที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งกลไกหรือหน่วยงานต่างๆ ยังทำงานซ้ำซ้อนขาดการประสานงานหรือเชื่อมโยงกันในด้านการส่งเสริมการเพิ่มผลผลิตและมักมีมาตรฐานในการดำเนินงานแตกต่างกันไป
4.5 การที่จะปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตในระดับชาติให้สำเร็จได้มิใช่มีเพียงแผนงานที่ดีเท่านั้นแต่จะต้องอาศัยขบวนการเพิ่มผลผลิต (Productivity Movement) ซึ่งหมายถึงการรวมพลังจากทุกส่วนของสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพิ่มผลผลิตของประเทศให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรกรแรงงาน ผู้ที่อยู่ในวงการวิชาการ สื่อสารมวลชน และประชาชนทั่วไป โดยมีกลไกและเครือข่ายที่เชื่อมโยงความพยายามดังกล่าวอย่างเป็นระบบ
4.6 การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ จะเป็นแนวทางสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นไปในแนวทางที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวเร่ง (Catalyst) หล่อลื่น (Lubricant) และประสานเชื่อมโยงเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้ทรัพยากรในการพัฒนา เพื่อให้กระบวนการพัฒนาของชาติตามแผนต่างๆ ที่มีอยู่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
แผนพัฒนาของประเทศ แผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ - จิตสำนึก
ฉบับที่ 8 - ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ
- แผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม - เทคโนโลยี
- พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ - องค์กรรับผิดชอบ
- แผน Information Technology 2000 - ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- แผนปรับโครงสร้างเกษตร - ฯลฯ
- แผนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
แห่งชาติ
- ฯลฯ
5. วิสัยทัศน์
สังคมไทยมีการดำเนินงานเพิ่มผลผลิตอย่างเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง และเป็นวาระแห่งชาติ โดยขบวนการเพิ่มผลผลิตนี้จะเป็นต้วเร่งประสิทธิภาพการปฏิบัติตามแผนพัฒนาด้านต่างๆ ให้ไปสู่ทิศทางและเป้าหมายร่วมกันทุกคนในสังคมไทยมีจิตสำนึกด้านการเพิ่มผลผลิตและรู้จักสร้างเลือกรับ ปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างขบวนการเพิ่มผลผลิต
6. วัตถุประสงค์
แผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งครอบคลุมกรอบแนวทางในการสร้างขบวนการเพิ่มผลผลิตในช่วงระยะเวลา พ.ศ. 2545-2549 มีวัตถุประสงค์ดังนี้
6.1 เพื่อสนับสนุนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม และแผนพัฒนารายสาขาให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ และให้พัฒนาอย่างยั่งยืน
6.2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
6.3 เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในทุกส่วนของสังคม
7. เป้าหมาย
7.1 การเพิ่มผลผลิตได้รับการยอมรับในฐานะที่เป็นวาระแห่งชาติ เป็นที่รับรู้และมีจิตสำนึกร่วมกันของคนทั้งประเทศ และได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
7.2 ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตของตนเองที่มีความชัดเจน อยู่ในวิถีทางที่ถูกต้อง เหมาะสม และนำไปปฏิบัติได้
7.3 ขบวนการเพิ่มผลผลิตแห่งชาติได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือในการเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของประเทศ และเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยโดยทั่วไป
7.4 ประเทศไทยสามารถเพิ่มผลผลิตในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า (2545-2549) โดยมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมจากการวัดอัตราเฉลี่ยต่อปีของผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
1) ประสิทธิภาพของการใช้ปัจจัยการผลิตโดยรวม (TFP Growth)
2) ประสิทธิภาพทางแรงงาน (Labor Productivity)
8. ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
8.1 การมีจิตสำนึกด้านการเพิ่มผลผลิตของคนในชาติ
8.2 ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ทั้งในด้านความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดี
8.3 การมีเทคโนโลยีของตนเอง ทั้งจากการเลือกรับ ปรับใช้และพัฒนาขึ้นมาด้วยตนเอง
8.4 องค์กรที่รับผิดชอบมีการบริหารจัดการที่ดีและการสร้างเครือข่าย
8.5 ดัชนีชี้วัดที่เชื่อถือได้
9. ยุทธศาสตร์การสร้างขบวนการเพิ่มผลผลิตการสร้างให้เกิดการยอมรับและเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมอย่างเหมาะสมของกลุ่มคนองค์กรและสถาบันต่างๆ ในลักษณะที่เป็นความร่วมมือและไปในทิศทางเดียวกัน จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นขบวนการในระดับชาติ (National Movement) ในอันที่จะพัฒนาปัจจัยที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิต โดยมีการสร้างเครือข่ายเชิงกลไกในองค์กรนั้นเพื่อรองรับ และผลักดันขบวนการเพิ่มผลผลิตของชาติให้ดำเนินตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด 10 ประการดังต่อไปนี้
9.1 การสร้างจิตสำนึกด้านการเพิ่มผลผลิตให้ทุกคนในชาติ
1) รณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องทั้งในระดับชาติ ระดับสาขา และระดับปฏิบัติโดยมีการรณรงค์เป็นเรื่องๆ ไป เช่น รณรงค์ให้ทุกส่วนของสังคมมีความเข้าใจความหมายของการเพิ่มผลผลิตไปในแนวทางเดียวกัน
2) ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะการเพิ่มผลผลิตของประเทศแก่สาธารณะ ทั้งในด้านสภาพปัญหาของการเพิ่มผลผลิต และผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับเมื่อมีการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต
3) สร้างวินัยและวัฒนธรรมในด้านการเพิ่มผลผลิต โดยปรับแนวคิดเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม การทำงานและการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมให้เหมาะสม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาองค์กรจากสมาชิกทุกระดับ
4) สร้างขบวนการเพิ่มผลผลิต เช่น การสร้างเครือข่ายแนวร่วมในการผลักดันการเพิ่มผลผลิต โดยการสร้างนักเคลื่อนไหว หรือผ่านทางผู้นำองค์กร ผู้นำชุมชน และสื่อมวลชน หรือการสร้าง Productivity Champion ในทุกองค์กร ทุกระดับ
5) สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พันธุ์ดี การใช้ปุ๋ยชีวภาพ การอนุรักษ์ดินและน้ำ การรักษาคุณภาพผลผลิต และลดความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยว เป็นต้น โดยการสนับสนุนร่วมกันของภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน
6) ส่งเสริมการรวมตัวของตัวแทนกลุ่มธุรกิจเอกชนและกลุ่มเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ภาคธุรกิจ และเพิ่มผลผลิตให้ประเทศโดยรวม
7) เสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และสุนทรีภาพทางจิตใจแก่คนโดยต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้จ้างและลูกค้า เช่น การเสียภาษีที่ถูกต้อง การมีสวัสดิการและภาวะการทำงานที่ได้มาตรฐานและการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ
8) สร้างความรู้ ความเข้าใจในกลุ่มผู้นำทางการเมืองให้มีความตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตว่าเป็นหนทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยรัฐต้องสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ
9.2 การสร้างแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิต
1) ให้มีรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (National Quality Award) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มผลผลิตที่มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
2) จัดให้มีกองทุนพัฒนาการจัดการและทักษะแรงงาน (Management and Skill Development Fund)
3) ให้สิ่งจูงใจแก่ภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านการปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต เช่น ภาษี
4) สนับสนุนสิ่งจูงใจให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้ความสำคัญกับปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตและรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรในเรื่องต่างๆ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการผลิต และการจัดหาตลาด เป็นต้น
9.3 การสร้างบรรยากาศและโอกาสในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
1) เร่งผลักดันกระบวนการปฏิรูปการศึกษาทั้งในและนอกระบบให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
2) แทรกเนื้อหาหรือแนวคิดด้านการเพิ่มผลผลิต ในกระบวนการเรียนการสอนและสื่อสำหรับเด็กและครอบครัว
3) ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศให้แทรกอยู่ในทุกระดับการศึกษา รวมทั้งยกระดับความรู้ภาษาอังกฤษที่จำเป็น
4) เสริมสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยกระดับสูงขึ้น โดยผ่านการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของชุมชนและเกษตรกรเพื่อให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ของคนในชุมชนเดียวกันและระหว่างชุมชน
5) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่สร้างสรรค์ และถูกต้อง รวมทั้งการกระจายข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง เช่น ให้ผู้บริโภคมีความรอบรู้ที่จะเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและคุ้มค่า หรือการรู้จักประหยัดพลังงาน
9.4 ยกระดับทักษะ ความรู้ทางการบริหารจัดการ และเทคโนโลยี
1) ยกระดับความรู้ทางการบริหารจัดการด้านการเพิ่มผลผลิตให้ผู้บริหารทุกระดับ รวมทั้งผู้นำเกษตรกรหรือชุมนุมสหกรณ์ โดย
1.1 ให้มีสถาบันในการฝึกอบรมแก่วิสาหกิจในภาคเกษตรอุตสาหกรรม และบริการในระดับภูมิภาค
1.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่สถาบันการศึกษาในภูมิภาคพร้อมทั้งปรับปรุงหลักสูตรของสถาบันการศึกษาด้านการเพิ่มผลผลิตและเป็นสถานที่แก่ผู้บริหารแลกเปลี่ยนความรู้ความเห็นระหว่างผู้บริหารในระดับต่างๆ รวมทั้งจัดการอบรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเกษตรกรและสมาชิกของสถาบันเกษตรกร
2) ยกระดับความรู้และทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานโดยให้ความรู้แก่ผู้ทำงานทั้งก่อนและระหว่างประจำการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสถาบันการศึกษาต้องสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการยกระดับภาคการผลิตและต้องก้าวทันความรู้ของภาคธุรกิจด้วย
3) ให้มีมาตรฐานฝีมือแรงงานทั้งในและนอกระบบโดยเชื่อมโยงกับค่าตอบแทน เช่น ให้มี Certification Authority สำหรับทดสอบฝีมือแรงงาน รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษาในการฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงานตลอดจนการมี กฎระเบียบรองรับผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน
4) สนับสนุนและให้สิ่งจูงใจแก่องค์กรขนาดใหญ่ รวมทั้งผู้มีความรู้ความสามารถหรือผู้เชี่ยวชาญที่ถ่ายทอดความรู้ในด้านการจัดการหรือเทคโนโลยีให้แก่องค์กรขนาดเล็กหรือชุมชน หรือเกษตรกรที่ทำธุรกิจร่วมกัน
9.5 ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มผลผลิต
1 ) เร่งรัดและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของภาครัฐและเอกชนให้มีประสิทธิภาพโดยกำหนดกรอบและทิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศที่ชัดเจนและสนับสนุนการทำงานของสถาบันที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อมุ่งยกระดับการแข่งขันของประเทศ และสามารถนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
2) เพิ่มขีดความสามารถในการถ่ายทอดและรับเทคโนโลยีทั้งในระดับประเทศและนานาาติ
3) นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือในการสร้างขบวนการเพิ่มผลผลิตของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการสร้างจิตสำนึกและให้ความสำคัญต่อข้อมูล โดยรัฐต้องควบคุมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทุกระดับสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
4) สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมทางการเกษตร และเชื่อมโยงกับการส่งเสริมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยี การผลิตที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพทรัพยากรธรรมชาติในไร่นาของเกษตรกร โดยไม่สงผลต่อสภาพสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
9.6 ส่งเสริมการนำแผนไปสู่ภาคปฏิบัติ
1) ปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยงานกลางหรือกลไกที่มีอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพเป็นแกนนำที่จะสามารถประสานพลังระหว่างหน่วยงานได้ โดยให้มีขีดความสามารถ บทบาทและอำนาจหน้าที่ในการผลักดันขบวนการเพิ่มผลผลิต
2) ปรับปรุงประสานแผนงานต่างๆ ของชาติให้เกิดการสนับสนุน สอดคล้อง และลดความซ้ำซ้อนระหว่างกันเพื่อให้เกิดเอกภาพ
3) สนับสนุนให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้มีความชัดเจนและสามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม
4) ให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการเพิ่มผลผลิตร่วมกัน
5) สนับสนุนการจัดสรรและการใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
6) สร้างพันธมิตร โดยการจัดประชุมร่วมระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พรรคการเมืองคณะรัฐมนตรี และผู้บริหารในหน่วยราชการต่างๆ เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญและให้การสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิต
7) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มผลผลิตที่จะไปเอื้อประโยชน์ต่อแผนพัฒนาอื่นๆ
9.7 มีเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ
1) ผลักดันให้มีการจัดทำฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ และเป็นมาตรฐานสากล โดยให้ความสำคัญทุกระดับ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงฐานข้อมูลร่วมกัน โดยให้หน่วยงานกลางร่วมกันจัดวางระบบ
2) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบในการจัดเก็บข้อมูลให้ไปในทิศทางเดียวกันและสามารถเปรียบเทียบกันได้
3) สร้างดัชนีชี้วัด เพื่อประโยชน์ในการติดตามประเมินผล โดยกำหนดกรอบตัวชี้วัดไว้ 3 ระดับ คือ การวัดผลรวมของแผน การวัดประสิทธิผลในแต่ละยุทธศาสตร์ และการวัดประสิทธิภาพของหน่วยงานกลาง
4) มีส่วนร่วมในการกำหนดและจัดทำดัชนีของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
5) เผยแพร่ความรู้และแนวทางประเมินผล
9.8 สนับสนุนการทำงานร่วมกันแบบพหุภาคี
1) พัฒนาระบบแรงงานสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในกระบวนการพัฒนาขององค์กรเอกชน
2) ส่งเสริมองค์กรแรงงานและองค์กรนายจ้างให้มีความรู้ ความรับผิดชอบ และเห็นถึงประโยชน์ของการเพิ่มผลผลิตในหน่วยงานร่วมกัน
3) ส่งเสริมให้เกิดหน่วยงานไตรภาคีในระดับหน่วยการผลิต ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากฝ่ายแรงงาน ฝ่ายจัดการ และรัฐบาลเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อแรงงานและสังคม
4) ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้จากความสำเร็จของบุคลากรในทุกภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในการประกอบการเกษตรที่ยั่งยืน ในการที่จะพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้มีความรู้ในด้านการเกษตรอย่างครบวงจร โดยให้ความสำคัญในการรวมกลุ่มของเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร หรือชุมชนเป็นแกนกลางในการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร
9.9 ปรับปรุงกฎระเบียบภาครัฐให้เอื้อต่อการเพิ่มผลผลิต
1) ปรับบทบาทของภาครัฐจากการควบคุมมาเป็นสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในทุกระดับ
2) ปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิต
3) ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณให้มีอิสระ ยืดหยุ่น โดยมุ่งเน้นผลงานและผลลัพธ์โดยรวม
4 ) ปรับปรุงระบบตรวจสอบและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของราชการและรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบผลการปฏิบัติงาน
9.10 สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มผลผลิต
1) จัดตั้งกลไก/หน่วยงานเพื่อทำหน้าที่ในการประสาน เชื่อมโยง และผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนการเพิ่มผลผลิตของประเทศ
2) ขจัดหรือลดปัญหาอุปสรรคที่ก่อให้เกิดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับภาคการผลิตและในการออกกฎระเบียบใหม่ๆภาครัฐควรคำนึงถึงประเด็นที่อาจก่อให้เกิดต้นทุนต่อภาคเอกชน
3) เชื่อมโยงระบบข่าวสารด้านการผลิตและการตลาดให้สมบูรณ์ รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการค้า มาตรฐานคุณภาพ ความต้องการของตลาดเพื่อเอื้ออำนวยในการเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรของเกษตรกร
(ยังมีต่อ).../..10.กลไก..