บทสรุปสำหรับผู้บริหาร Executive Summary (ส่วนที่ 1 ยุทธศาสตร์การแข่งขันของเศรษฐกิจไทยโดยรวม)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2004 16:28 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ส่วนที่ 1 ยุทธศาสตร์การแข่งขันของเศรษฐกิจไทยโดยรวม
1. การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเมืองโลก
1.1 ภาวะการแข่งขันในโลกปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ซึ่งเน้นการใช้แรงงานและต้นทุนเป็นการแข่งขันที่มุ่งเน้นความได้เปรียบเชิงแข่งขัน (Competitive Advantage) ครอบคลุมถึงการกำหนดตลาด การสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น พัฒนาการทางเทคโนโลยี และการประหยัดต่อขนาด รวมทั้งความก้าวหน้าทางคุณภาพ คุณลักษณะ และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ โดยศักยภาพของการแข่งขันขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการพัฒนาไปสู่สังคมเศรษฐกิจความรู้ (Knowledge Based Economy/Society) ซึ่งระบบฐานข้อมูล การติดต่อสื่อสารและการแลกเปลี่ยนข้อมูลมีการขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมถึงคนกลุ่มใหญ่ขึ้น การดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจในโลกยุคโลกาภิวัตน์ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สำคัญ เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีด้านข่าวสารและโทรคมนาคม (Information and Communication Technology: ICT) ส่งผลให้โลกมีพลวัตร (Dynamic) สูงมาก การเคลื่อนย้ายของแรงงาน เงินทุน และสินค้าเป็นไปโดยเสรีมากขึ้น
1.2 ในด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระแสได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในหลายๆ ด้าน ความล่าช้าในการดำเนินงานขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค และทวิภาคีมากขึ้น ในขณะที่การเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก ของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจาก จีนยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์และต้นทุนค่าแรงที่ต่ำอยู่ อีกทั้งยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สำคัญ นอกจากนี้ แนวโน้มการปกป้องทางการค้า (Protectionism) โดยใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier: NTB) ได้เพิ่มรูปแบบใหม่ๆ ขึ้น เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น อีกทั้งการเพิ่มข้อจำกัดในเรื่องคุณภาพ และมาตรฐานสินค้า นอกจากนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วยังเป็นตลาดส่งออก และแหล่งเงินทุนที่สำคัญ จนทำให้ประเทศกำลังพัฒนาขาดอำนาจต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลก ในขณะเดียวกัน การปรับตัวของประเทศกำลังพัฒนา ที่มีต่อการดำเนินนโยบายของ สหรัฐอเมริกา หลังเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมที่นครนิวยอร์ค เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 รวมทั้งโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสนใจ
1.3 นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มของภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเมืองโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ การเข้ามามีบทบาทใหม่ในเศรษฐกิจโลกของ บรรษัทข้ามชาติ (Multi-National Corporation: MNC) องค์กรอาสาสมัครเอกชน (Non-Governmental Organization: NGO) รวมทั้ง สภาวะภูมิโลกาภิบาล(Geo-Governance) และการปรับจากยุคเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่ยุคเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-Technology)
1.4 กระแสโลกาภิวัตน์และปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเมืองโลกทำให้กระบวนทรรศน์ของการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมแตกต่างไปจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่างสิ้นเชิง คือ การปรับเปลี่ยนตนเองไปสู่การแข่งขันที่ต้องใช้ความรวดเร็ว (Speed-Based Competition)แทนการแข่งขันในเชิงขนาด (Scale-Based) การสร้างความได้เปรียบด้านการผลิตที่ใช้สินทรัพย์ทาง กายภาพ (Tangible Assets) เป็นการผลิตที่อาศัยความรู้ ทักษะ และเทคโนโลยี (Intangible Assets) โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทุนหรือเป็นผู้ดำเนินการเองทั้งหมด (Owning Assets) แต่อาศัยความ เชื่อมโยงและเข้าถึง (Gaining Assets Network) ดังนั้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creativity Base) จึงมีความสำคัญมากกว่าด้านทุน (Capital Base) อีกทั้งการให้ความสำคัญต่อผู้บริโภค (Consumption Base) แทนการมุ่งการผลิต (Production Base) เพียงอย่างเดียว ซึ่งกระบวนทรรศนี้ใหม่ทางธุรกิจเหล่านี้ทำให้ประเทศต่างๆ ในโลกมีการปรับกลยุทธ์การพัฒนาไว้พร้อมกับการแข่งขันตลอดเวลา
ภูมิทัศน์เศรษฐกิจ-การเมืองโลก
ยุคของ ICT (Information and Communication Technology) แนวโน้มในอนาคต
ความล่าช้าของ WTO ทำให้ภูมิภาคนิยม สถานการณ์ปัจจุบัน
และทวิภาคี มีบทบาทมากขึ้น
เปลียนจากระบบการปกป้อง สถานการณ์ปัจจุบัน
(Protectionism)
เป็นระบบการค้าและการลงทุนเสรี
ปัญหา NTB รูปแบบใหม่ๆ จะรุนแรงขึ้น สถานการณ์ปัจจุบัน
ประเทศกำลังพัฒนาขาดอำนาจ สถานการณ์ปัจจุบัน
การเจรจาต่อรองในเวทีเศรษฐกิจโลก
เหตุการณ์ 11 กันยายน 2544 ทำให้ สถานการณ์ปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ทางการเมืองเปลี่ยน
บทบาทของจีนหลังเข้า WTO/การฟื้นตัวของญี่ปุ่น/ปฏิกิริยาต่อการปรับนโยบายสหรัฐ แนวโน้มในอนาคต
ประเทศต่างๆ กำหนดตำแหน่ง สถานการณ์ปัจจุบัน
เชิงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ผู้มีบทบาทใหม่ในเศรษฐกิจโลก ภูมิโลกาภิบาล (Geogovernance) แนวโน้มในอนาคต
การปรับจากยุค IT สู่ยุค Bio-Tech
2. สถานภาพทางการแข่งขันของไทยในเวทีโลก
2.1 ด้านการค้า
(1) ส่วนแบ่งการค้าโลกของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มถดถอยลง โดยภาวะการส่งออกของไทยที่ถดถอยเกิดจากการหดตัวของสินค้าอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ ซึ่งหดตัวถึงร้อยละ 6.9โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการสินค้าไทยในตลาดคู่ค้าสำคัญลดลง เช่น ตลาดญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนี้ การแข่งขันจากจีนและเวียดนาม ซึ่งยังคงมีความได้เปรียบในด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและค่าจ้างแรงงานต่ำ ทำให้สามารถผลิตสินค้าประเภทเดียวกับไทยในต้นทุนที่ต่ำกว่า ไทยต้องสูญเสียตลาดในการส่งออกสินค้าบางประเภท การกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ ถึงแม้ว่าประเทศคู่ค้าไม่สามารถที่จะใช้ภาษีหรือระบบโควต้าในการจำกัดการส่งออกของไทยอันเนื่องมาจากข้อบังคับของ WTO แต่ประเทศคู่ค้าจะหันมาใช้ข้อจำกัดในทางคุณภาพเป็นตัวกีดกันทางการค้าได้
(2) ในส่วนของการนำเข้าก็มีการขยายตัวที่ลดลง โดยสินค้านำเข้าในหมวดวัตถุดิบและกึ่งวัตถุดิบลดลงตามภาวะการส่งออกที่ซบเซา ขณะที่ การนำเข้าสินค้าทุนหดตัวเช่นกัน เนื่องจากความต้องการลงทุนเพื่อขยายการผลิตมีน้อยซึ่งเป็นผลจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เป็นต้นมา
(3) จากข้อมูลอัตราการขยายตัวของสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยในตลาดโลกเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป กลุ่มประเทศอาเซียน จีน และอินเดีย จะเห็นว่าส่วนแบ่งการค้าโลกของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ ในขณะที่สหรัฐอเมริกา และจีน ยังคงมีการขยายตัวในระดับสูงทั้งด้านการส่งออกและนำเข้า
2.2 ด้านการลงทุน
(1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI)ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในระดับต่ำและมีแนวโน้มลดลง โดยในปี 2543 การลงทุนโดยตรงนำเข้าของประเทศไทยคิดเป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของการลงทุนโดยตรงนำเข้าของโลกลดลงจากปีก่อนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 3.7 เนื่องจาก ต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศที่มีทรัพยากร ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และแรงงานที่ถูกกว่า อาทิเช่น จีน และเวียตนาม ซึ่งแสดงถึงความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ของไทยในตลาดการค้าการลงทุนโลกที่ลดลง นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยยังคงซบเซา นับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจไทยที่หดตัว ทำให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทยมีผลประกอบการที่ไม่ดีพอที่จะดึงดูดให้ทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
(2) การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ของไทยจัดอยู่ในกลุ่มตลาดริมขอบ ที่ไม่มีความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก เมื่อพิจารณาจากจำนวนสัญญา และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคและในโลก อย่างไรก็ตามมีเพียงไม่กี่ประเทศแถบเอเชียที่มีความสามารถในการแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ คือสิงคโปร์ และฮ่องกง
2.3 ด้านการผลิต
(1) อัตราการเจริญเติบโตของผลิตภาพโดยรวม (Total Factor Productivity Growth : TFP)ของประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Asia - Pacific Region) จากรายงานของPacific Economic Outlook Structure Project ตั้งแต่ปี 2533 พบว่า อัตราการเติบโตของ TFPของประเทศไทยมีค่าต่ำกว่าประเทศในแถบเอเซีย ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และมาเลเซีย แต่มีค่าสูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียตนาม
(2) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาคการผลิต (Sector) ในช่วงปี 2535-2543 อัตราการขยายตัวในสาขาเกษตรกรรมสูงขึ้นโดยตลอดเฉลี่ยร้อยละ 1.72 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของผลิตภาพปัจจัยทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 ในขณะที่ TFP ลดลงร้อยละ 0.87 ผลิตภาพจากปัจจัยแรงงานและปัจจัยที่ดินลดลงร้อยละ 0.15, และร้อยละ 0.22 ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาแต่ละช่วงเวลาพบว่า TFP ของสาขาเกษตรกรรมในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจมีค่าสูงถึงร้อยละ 3.85 เทียบกับในช่วงก่อนวิกฤติและช่วงวิกฤติเศรษฐกิจมีค่า TFP ติดลบร้อยละ 3.26 และร้อยละ 0.41 ตามลำดับ การที่ TFPของสาขาเกษตรกรรมมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงดังกล่าวแรงงานจากสาขาอุตสาหกรรมที่ถูกเลิกจ้างงานได้เคลื่อนย้ายสู่ภาคเกษตรกรรม จึงมีการนำประสบการณ์ส่วนหนึ่งมาใช้ในกระบวนการผลิต ส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของสาขาเกษตรกรรมดีขึ้น ประกอบด้วยการพัฒนางานวิจัยทางด้านเกษตรกรรมที่ได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในภาคการเกษตรกรรมให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
(3) สำหรับสาขาอุตสาหกรรม ช่วงปี 2535-2543 มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.67 ต่อปี เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นในการเพิ่มผลิตภาพของปัจจัยแรงงาน และปัจจัยทุนร้อยละ 1.47 และร้อยละ 6.58 ตามลำดับ ในขณะที่ TFP ลดลงร้อยละ 1.37 และเมื่อพิจารณาในแต่ละช่วงเวลา พบว่า TFP ของสาขาอุตสาหกรรมในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ มีค่าสูงสุดถึงร้อยละ 3.89เทียบกับในช่วงก่อนวิกฤติและช่วงวิกฤติที่ TFP มีค่าเท่ากับร้อยละ 0.41 และติดลบร้อยละ 11.08ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มผลิตภาพโดยรวมของสาขาอุตสาหกรรมมีแนวโน้มดีขึ้น
(ยังมีต่อ).../(4) ในภาคบริการ..

แท็ก ขันที  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ