บทสรุปสำหรับผู้บริหาร Executive Summary (ส่วนที่ 2 ยุทธศาสตร์การแข่งขันรายสาขา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 2, 2004 14:47 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ส่วนที่ 2 ยุทธศาสตร์การแข่งขันรายสาขา
การค้าขายสินค้าเกษตรในตลาดโลกในปัจจุบันมักจะประสบกับปัญหาที่หลายประเทศจะพยายามสร้างมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ผลิต และผู้บริโภคในประเทศของตน มีการตั้งเงื่อนไขจนกลายเป็นอุปสรรคไปในที่สุด
ประเด็นท้าทาย
ประเด็นท้าทายสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การแข่งขันของภาคเกษตรไทย ได้แก่
ประเด็นแรก : การอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศของประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งการอุดหนุนการผลิตและการอุดหนุนการส่งออก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับ สินค้านำเข้า หรือสินค้าส่งออกในตลาดโลก ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจาก ประเทศไทยมีการอุดหนุนสินค้าเกษตรน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วมาก
ประเด็นที่สอง : การใช้มาตรการอื่นที่มิใช่มาตรการด้านภาษีนำเข้า (Non-tariff Barrier : NTB)ซึ่งเป็นมาตรการที่เป็นอุปสรรคมากขึ้น เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่มีแนวโน้มเพิ่มความสำคัญขึ้น เช่น การกำหนดมาตรการป้องกันการก่อการร้ายโดยอาศัยเครื่องมือทางชีววิธี การเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการทารุณสัตว์ รวมทั้ง การหยิบยกประเด็นการผลิตสินค้าโดยอาศัยเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมซึ่งมีผลต่อการกำหนดนโยบายให้ชัดเจนและเหมาะสมกับปัจจัยที่เปลี่ยนไป
ประเด็นที่สาม : บทบาทของจีนเมื่อเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งประเทศไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ พร้อมที่จะปรับตัวและแสวงโอกาส เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ มีกำลังการผลิตและกำลังซื้อสูงมาก ประเทศไทยต้องมั่นใจในสินค้าที่จะสามารถแข่งขันกับจีนในตลาดโลก รวมไปถึงการช่วงชิงตลาดในจีนสำหรับสินค้าบางชนิดที่จีนจะต้องเปิดตลาดมากขึ้น
กรอบแนวคิด
เนื่องจาก ปัจจัยและองค์ประกอบในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรมี มากมาย แต่ปัจจัยพื้นฐาน และสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า" ซึ่งคุณภาพที่กล่าวถึงนี้รวมความถึงคุณภาพในด้านรูปร่าง ขนาด สีสัน รสชาติ และประเด็นที่สำคัญยิ่ง คือ คุณภาพด้านความปลอดภัยทั้งในด้านการบริโภคและความปลอดภัยที่จะไม่นำเอาศัตรูทั้งพืชและสัตว์ติดไปกับสินค้าส่งออกด้วย
ในอดีต การพัฒนาและการควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตร มักจะเน้นในขั้นสุดท้ายของการเตรียมส่งสินค้า ซึ่งก็ใช้ได้ผลมาระยะหนึ่ง แต่ต่อไปนี้ มีความจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาและควบคุมคุณภาพตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตวัตถุดิบจากไร่นา เพื่อให้แน่ใจว่ามีการผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ปลอดจากสารตกค้างและปราศจากศัตรูพืช สมควรที่จะยอมรับให้นำไปแปรรูปต่อไป ซึ่งจะเป็นกระบวนการควบคุมคุณภาพจากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) และที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ถือเป็นหลักการพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสินค้าเกษตรและอาหารที่ต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งนี้ เพื่อลดแรงกดดันจากประเทศผู้นำเข้าที่มักจะกำหนดมาตรฐานในด้านคุณภาพไว้สูง และใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันการนำเข้าด้วย
กระบวนการควบคุมคุณภาพจากไร่นาถึงโต๊ะอาหารนี้ นอกจากจะช่วยปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสมีรายได้เพิ่มจากการเพิ่มกิจกรรมในด้านอื่นนอกจากการผลิตเฉพาะวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูป เป็นการเพิ่มบทบาทของเกษตรกรและองค์กรเกษตรกรในวงจรการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้มากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มช่องทางการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไปในคราวเดียวกัน
ยุทธศาสตร์การแข่งขันสินค้าเกษตร
1. ยุทธศาสตร์ด้านการผลิตสินค้าเกษตร (Product Strategy)
1.1 ต้องเน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพในด้านความปลอดภัยในการบริโภค เช่น เรื่องสารตกค้าง รวมทั้งในด้านความปลอดภัยทาง ชีวภาพ เช่น ปราศจากศัตรูพืช-สัตว์ ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาโดยการตัดต่อพันธุกรรม เป็นต้น
1.2 การจัดระบบการพัฒนาและควบคุมคุณภาพจากไร่นาถึงโต๊ะอาหาร เพื่อให้ ผู้นำเข้าและผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพสินค้าไทย
1.3 การยกระดับความสามารถในการตรวจสอบและรับรองคุณภาพในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขีดความสามารถของห้องปฏิบัติการที่จะใช้ในการตรวจสอบ ทั้งในระดับไร่นา และในด้านการแปรรูป
1.4 กระจายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น สร้างชื่อเสียงของ ผลิตภัณฑ์ (Brand Name) รวมทั้งพัฒนาในด้านการบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของลูกค้า
1.5 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านต้นทุนการผลิตต่อหน่วยสินค้า ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์พื้นฐานที่พยายามทำกันมาโดยตลาด โดยเน้นการกำหนดเป็นเขตเกษตรเศรษฐกิจหรือเป็นเขตการผลิตเพื่อการส่งออก
1.6 การกำหนดนโยบายในเรื่อง GMO ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดเป็นนโยบายให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการวิจัย GMO เพื่อการผลิต ถึงแม้ไทยจะมีนโยบายไม่ผลิตสินค้า GMO แต่มี ความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิจัยเพื่อมิให้ล้าหลังในทางวิชาการ อันจะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถ ในการผลิตและการแข่งขัน หากในอนาคตสังคมโลกไม่มีการต่อต้านเรื่อง GMO อีกต่อไป ประสิทธิภาพ ในการผลิตจะกลายเป็นปัญหาสำคัญทันที่หากไม่มีวิชาการด้าน GMO ไว้
2. ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ (New Product Development)
นอกจากการปรับปรุงสินค้าดั้งเดิมที่มีอยู่ จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อกระจายการส่งสินค้าออกไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศ ได้แก่
2.1 สินค้าประเภทอุตสาหกรรมจากป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งไทยมีป่าร้อนชื้นที่อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ควรจะได้พัฒนามาใช้ประโยชน์ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการไปตามหลักสากลที่ปฏิบัติกัน
2.2 สินค้าที่ปลอดจากสารพิษและสินค้าเกษตรอินทรีย์ จัดว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่มีอนาคต ที่ผู้บริโภคมักจะยอมลงทุนซื้อในราคาสูง ดังนั้น หากสามารถผลิตได้ตามคุณภาพที่กำหนด ก็จะมี โอกาสในการส่งออกและนำเงินตราเข้าประเทศได้เป็นอย่างดี
2.3 สินค้าประเภทสมุนไพรและเครื่องเทศ ความนิยมเริ่มมีมากขึ้นอย่างชัดเจน จึงเป็น อีกทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
2.4 กิจการท่องเที่ยวเกษตรและการท่องเที่ยวธรรมชาติ นับวันจะเป็นที่นิยมมากขึ้นเป็น ลำดับ สมควรที่จะได้กำหนดแนวทางและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการที่จะเชื่อมโยงกับการเพิ่มยอดขายสินค้าอื่น
เช่น ร้านอาหารไทย หากได้รับการสนับสนุนให้มีความนิยมแพร่หลายยิ่งขึ้น ก็จะเป็นช่องทาง ในการเพิ่มการนำเข้าสินค้าไทย ทั้งที่เป็นวัตถุดิบสำหรับอาหารไทย และที่มีโอกาสเป็นสินค้า ต่อเนื่อง เช่น ไวน์ไทย หัตถกรรมต่างๆ ที่นำไปเผยแพร่และจำหน่ายในร้านอาหารไทย
4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาขีดความสามารถของชุมชนในการผลิตและการตลาดสินค้า เกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม
เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีโอกาสเพิ่มมูลค่าและรายได้ในภาคเกษตรมากขึ้น แทนที่จะผลิต และขายแต่วัตถุดิบเท่านั้น นอกจากนั้น ชุมชนยังจะเป็นฐานการผลิตและการตลาดที่กระจายไปตาม ท้องถิ่นต่างๆ และช่วยสนับสนุนให้เป็นฐานการผลิตที่ยังยืนต่อไป รัฐบาลจึงควรสนับสนุน
4.1 ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในสาขาต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งด้านเกษตรและเกษตร อุตสาหกรรม
4.2 สร้างโอกาสในการประกอบการให้กับองค์กรเกษตรกรและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในระดับท้องถิ่น โดยเพิ่มและสนับสนุนการลงทุน ทั้งการก่อสร้าง การดำเนินการแล้วจึงถ่ายโอน (Built Operate and Transfer) ตลอดจนการสร้างและสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการจัดการให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
5. ยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนา
เป็นยุทธศาสตร์ที่จะเป็นพื้นฐานในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากปราศจากเทคโนโลยีที่เหมาะสมแล้ว ประสิทธิภาพและคุณภาพของการผลิตสินค้าย่อมด้อยกว่าของประเทศอื่น ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ดังนี้
5.1 สนับสนุนให้มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิต โดยสนับสนุนให้ผสมผสานกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังไม่ได้รับความสนใจมาก่อน เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต
5.2 สนับสนุนและคุ้มกรอบงานวิจัย ตลอดจนดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นต้นทุนในการกระจายการผลิตสินค้าชนิดใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง
5.3 ปรับปรุงระบบบริหารจัดการภาครัฐในเรื่องงานวิจัย โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน เข้ามาร่วมงานวิจัยกับภาครัฐ และควรทบทวนในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้รับจากงานวิจัยด้วย
5.4 การพัฒนาบุคลากร ยังคงถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่จะต้องดำเนินการอย่าง ต่อเนื่อง
ยุทธศาสตร์การแข่งขันภาคอุตสาหกรรม
ประเด็นท้าทาย
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลกทำให้การท้าทายของภาคอุตสาหกรรมที่เผชิญในการแข่งขันในเวทีโลกนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน กล่าวคือ การแข่งขันทางด้านราคาเริ่มลดลง แต่หันมาแข่งขันทางด้านการพัฒนาการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และการอาศัยความได้เปรียบของการแข่งขันในด้านการผลิต เปลี่ยนจากด้านแรงงานราคาถูกมาสู่การแข่งขันทางด้านฝีมือและความรู้ (Knowledge) รูปแบบของการกีดกันทางการค้าที่เคยใช้มาตรการด้านภาษีศุลกากรและปริมาณ เปลี่ยนมาสู่รูปแบบการกีดกันทางด้านคุณภาพ มาตรฐาน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้การรับรู้ข่าวสาร รสนิยมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ที่มีระยะเวลาสั้นลงกว่าแต่ก่อน รวมทั้ง การเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ของจีนที่ทำให้โอกาสของจีนมาเป็นคู่แข่งทางการค้าและการ ลงทุนของไทยมากกว่าแต่ก่อน
ทั้งนี้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยสามารถคงศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลกได้ จำเป็น ที่จะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรม โดยคำนึงถึงรูปแบบและแนวคิดที่แตกต่างจากที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพการแข่งขัน
1. กรอบแนวคิด
1.1 ยุทธศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก ภายใต้สภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น จะเน้นความสำคัญและทิศทางในการที่จะสร้างให้อุตสาหกรรมของประเทศมีความแตกต่าง (Differentiation) และเน้นการพัฒนาการผลิตในเชิง Mass Customization มากกว่า Mass Production เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาของวัฎจักรของผลิตภัณฑ์ที่มีระยะเวลาสั้นลง ดังนั้น ต้องมีการกำหนดตำแหน่ง (Position) ของอุตสาหกรรมในตลาดโลกให้ชัดเจน ควบคู่กับการคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ (Demand Driven) โดยการพัฒนาความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า (Customer Responsiveness) และส่งมอบสินค้าอย่างตรงเวลาและรวดเร็ว เพื่อให้สามารถสร้างความได้เปรียบทางด้าน Economies of Speed
1.2 การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันที่จะเน้นการเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านความรู้(Knowledge-based) จำเป็นต้องมีการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านนวัตกรรม (Innovation) การสร้างพื้นฐานของการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะทางด้านคุณภาพ และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์
2. การจัดกลุ่มอุตสาหกรรม
กลุ่มอุตสาหกรรมไทยที่สำคัญ แบ่งตามความสามารถในการแข่งขันและความเป็นที่สนใจของอุตสาหกรรมนั้นๆ ออกได้เป็น 3 กลุ่มอุตสาหกรรม คือ
2.1 กลุ่ม Global Industry เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศสูง ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
2.2 กลุ่ม Regional and Domestic Industry เป็นอุตสาหกรรมที่ความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศในระดับปานกลาง ตลาดส่วนใหญ่เป็นตลาดในประเทศและภูมิภาค ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมเซรามิกและแก้ว
2.3 กลุ่ม Basic and Strategic Industry เป็นอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐาน ได้แก่ ปิโตรเคมี เหล็กและเหล็กกล้า และกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักร
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม
ยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมจะแยกเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มีทั้งยุทธศาสตร์ร่วม (Common Strategies) และบางส่วนเป็น ยุทธศาสตร์เฉพาะ (Customized Strategies) สำหรับแต่ละอุตสาหกรรม สรุปได้ดังนี้
ยุทธศาสตร์การค้าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ
ประเด็นท้าทาย
1. กฏเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศของโลกยังไม่เป็นธรรมและมีช่องโหว่ ทำให้มีการใช้มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ได้แก่
1.1 ภาษีศุลกากร เมื่อต่างประเทศลดอัตราภาษีศุลกากรลง เฉพาะอย่างยิ่งประเทศคู่ค้าใหญ่ๆ ที่พัฒนาแล้วได้มีการนำมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff-Barriers) มาใช้เพิ่มขึ้น
(1) ไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยสูง ขณะที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีอัตราภาษีเฉลี่ยต่ำ
(2) มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น SPS/TBT AD/CVD ซึ่งไทยใช้มาตรการเหล่านี้น้อย ขณะที่ประเทศคู่ค้าสำคัญใช้มาตรการเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าสูง
1.2 การอุดหนุนสินค้าเกษตรมีสูง โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วมีการให้การอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ขณะที่ไทยมีการอุดหนุนต่ำ
2. ประเทศคู่ค้ามีการนำเรื่องใหม่ๆ มากีดกันการค้ามากขึ้น เช่น เรื่อง GMOsสิ่งแวดล้อม Animal welfare และแรงงาน เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทยมีการนำมาใช้น้อยมาก
3. อำนาจต่อรอง ไทยมีอำนาจการต่อรองต่ำ ขณะที่ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจมีอำนาจการต่อรองสูงการเจรจาการค้าระหว่างประเทศจึงมักจะถูกครอบงำ (Dominate)
โดยประเทศมหาอำนาจ
4. ประเทศคู่แข่งและคู่ค้าของไทยมีการทำ FTA/CEP กันแพร่หลาย จึงได้เปรียบประเทศไทยซึ่งมีการทำ FTA/CEP น้อย
5. ศักยภาพการแข่งขันภาคบริการของไทยยังต่ำ มีการแข่งขันจากต่างชาติสูงและการเจรจาถูกผลักดันให้เปิดตลาดมากขึ้นขณะที่กฎเกณฑ์ที่จะจัดระเบียบภาคบริการไม่เพียงพอ และการบังคับใช้กฎระเบียบไม่มีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์การค้าและบริการระหว่างประเทศของไทย
1. ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ
1.1 กรอบแนวคิด
เพื่อให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและบริการในเวทีเศรษฐกิจโลกได้ จะต้องดำเนินยุทธศาสตร์ใน 2 ด้านพร้อมๆ กัน (Dual Track) คือ
Track 1
ด้าน Demand มี 2 ส่วน
(1) ใช้ประโยชน์จากเวทีเศรษฐกิจโลกให้มากที่สุด โดยปรับกลยุทธ์ของไทยให้เป็นในเชิงรุกมากกว่ารับและให้ได้ประโยชน์มากขึ้น
(2) ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกเชิงรุก (Demand Management)
Track 2
ด้าน Supply หรือภาคการผลิตภายในประเทศทั้งทางด้านการเกษตรและ อุตสาหกรรมการเกษตร โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ แต่มิใช่เป็นการปิดประเทศ
1.2 ยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ
(1) กลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออกเชิงรุก
กลยุทธ์เชิงรุกในการส่งออกเพื่อนำไปสู่ Economy of Speed และช่วยในเรื่องของการเพิ่มการส่งออกสินค้าและบริการทั้งที่เป็น Value Added และ Hi-end ประกอบด้วย
* การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และบทบาทด้านการส่งเสริมการ ส่งออก โดยเน้นการเข้าถึงตลาดโดยให้การส่งออกไปตลาดต่างประเทศมีอุปสรรคน้อยที่สุด ซึ่งในขณะนี้ได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งออก (One-Stop Export Service Center) สำหรับการเข้าถึงลูกค้าใน ต่างประเทศให้มากขึ้น โดยวิธีให้ลูกค้าในต่างประเทศเป็นแหล่งข้อมูลทางการค้า (Intelligence) ของแต่ละตลาดและลูกค้า เพื่อจะได้สนองความต้องการของแต่ละตลาดและลูกค้าที่แตกต่างกัน
* สินค้าที่จะผลิตควรผลิตสินค้าที่มี Value Added ซึ่งสามารถทำได้โดยการเพิ่ม Design และ Packaging ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มีแผนงานที่จะจัดตั้งศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์แห่งชาติ (Thailand Design Center) รวมทั้งการสร้างตราหรือยี่ห้อของไทย (Branding) เพื่อให้ลูกค้ามองแล้วรู้ว่าเป็นสินค้าจากประเทศไทย
* การเข้าสู่ตลาด (Accessibility) โดยจัดตั้งศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ (Distribution Center) มีโครงการจัดทำ Thailand Plaza ไปตลาดที่สำคัญของไทย เป็นต้น
* การเจาะตลาดใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างประตูการค้า (Gateway) ของสินค้าไทยเข้าสู่ประเทศในภูมิภาคเอเซียใต้ ตะวันออกกลางและจีน
(2) กลยุทธ์การใช้ประโยชน์การเจรจาในเวทีเศรษฐกิจโลก
การสร้างบรรยากาศการค้าโลกให้เอื้อต่อการส่งออก โดยการใช้เวทีเศรษฐกิจโลกให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ทั้งในระดับโลก ได้แก่ องค์การการค้าโลก (WTO) ระดับภูมิภาค เช่น ASEAN / APEC / ASEM / GMS-EC และระดับทวิภาคี เช่น FTA / CEP / CER เป็นต้น โดย
ระดับโลก
* WTO : การเจรจารอบใหม่ (Doha Development Agenda) ขณะนี้ กำลังมีการเจรจาการค้ารอบใหม่ภายใต้องค์การการค้าโลก ได้เปิดเจรจาแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้มีเรื่องเจรจาใน 8 เรื่อง (เกษตร บริการ การเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมและประมง การปรับปรุงกฎเกณฑ์ของ WTO ให้มีความชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น เช่น ความตกลง AD/CVD สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา การระงับข้อพิพาท และการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลง) ที่จะต้องเจรจาให้เสร็จสิ้นภายใน 1 มกราคม 2548 และทุกประเทศจะต้องรับผลการเจรจาพร้อมกัน ทุกเรื่อง (Single Undertaking) โดยกลยุทธ์ของประเทศไทยจะเป็นทั้งฝ่ายรุกและฝ่ายรับในเรื่องที่เจรจา ดังนี้
เรื่องที่ไทยเป็นฝ่ายรุก เป็นเรื่องที่ประเทศไทยค่อนข้างมี ความพร้อม ได้แก่
- สินค้าเกษตรรวมถึง เกษตรอุตสาหกรรม (Agro-Industry) และอาหารกระป๋อง โดยจะผลักดันให้เปิดตลาดมากขึ้น ลดการอุดหนุนภายในลง และยกเลิกการอุดหนุนส่งออกทุกชนิดในที่สุด
- กฎเกณฑ์ของ WTO ให้มีการปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้เป็นธรรมกับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเช่น AD/CVD, TBT/SPS
- สินค้าอุตสาหกรรม จะเจรจาให้มีการลดภาษีสินค้าในกลุ่ม Global Industry (Food, Leather, Garment, Electronics, Jewelry, Auto) สินค้าอุตสาหกรรมที่น่าจะแข่งขันได้ คือ อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) อาหาร และผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่อยู่ในกลุ่ม Global Industry ของกระทรวงอุตสาหกรรม
เรื่องที่ไทยต้องเป็นฝ่ายตั้งรับ เช่น
บริการ
- การเจรจาการค้าบริการรอบใหม่เพื่อให้สมาชิกผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการ เป็นการสร้างความมั่นใจและเป็นหลักประกันว่าประเทศสมาชิกจะไม่ถอยหลังไปสร้างข้อกีดกันมากกว่าที่เคยอนุญาตและได้ผูกพันไว้ ซึ่งในการเจรจารอบใหม่ ไทยถูกเรียกร้องให้เปิดตลาดมากขึ้น ซึ่งไทยยังไม่พร้อมที่จะเปิดเสรีมากกว่าที่กฎหมายปัจจุบันอนุญาต เพราะกฎหมายภายในยังไม่เอื้ออำนวย
- หลักการสำคัญประการหนึ่งของกฎเกณฑ์การค้าของ WTO คือ การปฏิบัติต่อประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน จะเลือกปฏิบัติโดยให้สิทธิแก่ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษไม่ได้ ซึ่งในส่วนของไทยมีพันธะตามสนธิสัญญาทางไมตรีให้สหรัฐฯ สามารถมาเปิดธุรกิจภายในประเทศไทยได้ 100% ในกิจการเกือบทุกอย่าง ยกเว้น 6 สาขา ได้แก่ การธนาคารที่เกี่ยวกับการรับฝากเงิน การคมนาคม การขนส่ง การแสวงหาประโยชน์จากที่ดินหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ การค้าภายในเกี่ยวกับผลิตผลทางเกษตรพื้นเมือง และการรับดูแลทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ในขณะที่ ปัจจุบันกฎหมายของไทยจำกัดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 ประเทศสมาชิกอื่นๆ จึงพยายามจะผลักดันให้ไทยเปิดตลาดให้เท่ากับที่ให้สหรัฐฯ (Treaty of Amity)
สิ่งแวดล้อม แรงงาน และ GMOs : ประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ไทยจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้มีการใช้เรื่อง สิ่งแวดล้อมมาเป็นข้ออ้าง
ระดับภูมิภาค
เป็นเรื่องของความร่วมมือเป็นส่วนใหญ่ เช่น APEC และ ASEM ซึ่งจะมีกลยุทธ์ดังนี้
* สร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเซีย (Asian Cooperation Dialogue: ACD) ให้เป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยในภูมิภาค
* ผลักดันให้ข้อตกลงของอาเซียนมีผลในทางปฏิบัติมากขึ้น
* เร่งสร้างกลไก AFTA+3 ให้เป็น East Asian Economic Area ให้ได้เพื่อให้เป็นเขตการค้าเสรี
* ใช้ GMS-EC เป็นฐานการผลิตสินค้าที่เป็น low-end
ระดับทวิภาคี
* เน้นการขยายการค้าและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นลำดับแรก
* ทำ FTA กับจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีศักยภาพ เป็น Gate way ลดอุปสรรคทางการค้าในประเทศคู่ค้า สามารถเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจ และเพิ่มอำนาจการต่อรองของไทย
2. ยุทธศาสตร์การค้าบริการระหว่างประเทศของไทย
ประเภทธุรกิจบริการของไทย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) กลุ่มธุรกิจบริการที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความพร้อมสูง ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ภัตตาคารไทย สุขภาพ (ธุรกิจรักษาพยาบาล long-stay ทันตกรรม) การศึกษา การออกแบบและก่อสร้างและเสริมความงาม
(2) กลุ่มธุรกิจบริการที่ควรพัฒนา โดยสถานะและ logistic ไทยเรามีศักยภาพ แต่ความสามารถยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากขาดเงินทุน เทคโนโลยี หรือขาดทักษะทางด้านภาษาและขาดประสบการณ์ ซึ่งต้องพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่กลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ เช่น ในด้านวิชาชีพก็ปรับเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ด้านธุรกิจก็ควรปรับกฎระเบียบเงื่อนไขการเข้ามาลงทุนหรือมีผู้เข้ามาบริหาร สร้างโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่จะดึงดูดให้เข้ามาในประเทศ ได้แก่ สวนสนุก ศูนย์ประชุม วิชาชีพ (วิศวกร สถาปนิก บัญชี กฎหมาย) บันเทิง โฆษณา
(3) กลุ่มธุรกิจบริการพื้นฐานที่จะต้องดูแลมาก ซึ่งรัฐจะต้องเข้ามาให้ความ ช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นธุรกิจรากฐานและเกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือขาดกฎหมายที่จะรองรับ ได้แก่ โทรคมนาคม ขนส่ง การเงิน การค้าส่ง-ค้าปลีก
(ยังมีต่อ).../ยุทธศาสตร์การ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ