(ต่อ2)บทสรุปสำหรับผู้บริหาร Executive Summary (ส่วนที่ 2 ยุทธศาสตร์การลงทุน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 2, 2004 15:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                ยุทธศาสตร์การลงทุน
สถานภาพด้านการลงทุนของไทยในเวทีโลก
การแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนของประเทศต่างๆ ได้ทวีความรุนแรงสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากประเทศจีนเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) แม้ว่าโดยภาพรวมคลื่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเซียมากขึ้น แต่การลงทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่จีนทั้งในรูปของเม็ดเงินและสัดส่วน ในปี 2543 ในจำนวนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทั้งหมดมีสัดส่วนที่ไหลสู่เอเชียร้อยละ 57.2 เพิ่มขึ้นจากปี 2542 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 43.3 แต่ในส่วนของการลงทุนในไทยนั้น กลับพบว่า มีสัดส่วนการลงทุนลดลง โดยในปี 2543 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยมีมูลค่าประมาณ 2,448 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 1.8 ของการลงทุนทั้งหมดที่เข้ามาในภูมิภาคเอเชีย (หรือร้อยละ 0.19 ของการลงทุนโดยตรงของโลก) ลดลงจากปี 2542 ซึ่งมีการลงทุนถึง 3,562 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของการ ลงทุนในภูมิภาคเอเชีย (หรือร้อยละ 0.33 ของการลงทุนโดยตรงของโลก ) สถานภาพการลงทุนของไทยที่ถดถอยทั้งในรูปเม็ดเงินและสัดส่วน แสดงว่า ความสามารถในการแข่งขันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยได้เสื่อมถอยลง พึงจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข
รูปแบบขององค์กรส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ
รูปแบบและขอบเขตงานขององค์กรส่งเสริมการลงทุนของประเทศคู่แข่งที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียเปรียบเทียบกับไทย สามารถสรุปได้ ดังนี้
* องค์กรส่งเสริมการลงทุนเกือบทุกประเทศในเอเชียเป็นหน่วยงานราชการ ยกเว้นในกรณีของญี่ปุ่นเป็นองค์กรเอกชน
* ประเทศที่องค์กรส่งเสริมการลงทุนขึ้นตรงกับประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ได้แก่ องค์กรส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย และอินโดนีเซีย
* ประเทศที่องค์กรส่งเสริมการลงทุนสังกัดกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ได้แก่องค์กรส่งเสริมการลงทุนของประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และจีน
* ประเทศที่องค์กรส่งเสริมการลงทุนสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ ได้แก่ องค์กรส่งเสริมการลงทุนของประเทศไต้หวัน
* อย่างไรก็ดี ผู้นำระดับสูงสุดของทุกประเทศล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายการลงทุน และการเจรจาชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศด้วยตนเองมากขึ้นโดยลำดับ
* องค์กรส่งเสริมการลงทุนของทุกประเทศ ยกเว้นอินโดนีเซีย มีขอบเขตหน้าที่ความ รับผิดชอบกว้างกว่าของไทย
มาตรการชักจูงการลงทุนของต่างประเทศ
สำหรับการแข่งขันในการปรับปรุงมาตรการชักจูงการลงทุนของแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งทางด้านมาตรการที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวกับภาษีและที่ไม่เกี่ยวกับภาษี หากเปรียบเทียบสิทธิและประโยชน์ที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เสนอให้กับนักลงทุนในปัจจุบัน จะเห็นว่าได้เพิ่มทั้งความหลากหลายของสิทธิประโยชน์และขอบเขตการให้ส่งเสริมมากขึ้น สิทธิและประโยชน์ของไทย ซึ่งได้บังคับใช้มากว่า 25 ปี ยังมีข้อเสียเปรียบคู่แข่งอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย (รายละเอียดตามตารางที่ 1) นอกจากมีสิ่งจูงใจในรูปแบบที่จำกัดแล้ว ยังขาดความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในแต่ละอุตสาหกรรม หากไม่แก้ไขปรับปรุงให้สามารถใช้ในการชักจูงและดึงดูดการลงทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นแล้ว ก็อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนโดยรวมของประเทศไทยในระยะยาวได้ นอกจากนี้ ไทยจะต้องปรับยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการลงทุนทางด้านอื่น โดยเฉพาะด้านที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เพราะสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรกำลังจะมีความสำคัญลดน้อยลง
ยุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศไทย : บทบาทใหม่ของ BOI
การปรับยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน เพื่อพัฒนาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศจะต้องมุ่งการพัฒนาและเสริมสร้างมิติการลงทุนรูปแบบใหม่ กล่าวคือ ปรับเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งเน้นดึงดูดเม็ดเงินลงทุน มาเป็นการมุ่งเน้นการลงทุนที่ส่งเสริมและบ่มเพาะบุคลากรที่มีศักยภาพเชี่ยวชาญเฉพาะ (talent) การพัฒนาและการถ่ายโอนทักษะบุคลากรระดับต่างๆ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมและพัฒนาความคิดริเริ่มเพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่
สำหรับในส่วนของสำนักงานก็จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการอำนวยความสะดวกและการให้บริการนักลงทุน รวมถึงการออกมาตรการใหม่เพื่อชักจูงการลงทุน เพื่อรองรับการปรับยุทธศาสตร์การลงทุนแนวใหม่ ดังนั้น บทบาทของสำนักงานจะต้องเปลี่ยนการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเป็นหลัก เป็น "ผู้อำนวยความสะดวกและผู้ให้บริการเพื่อการส่งเสริมการลงทุน" มากขึ้นในด้านต่างๆ แก่นักลงทุน ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ โดยจะมียุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
1. การปรับปรุงและเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดี
1.1 การแก้ไขปัญหาและขจัดอุปสรรคต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝงของภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความน่าลงทุน และเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกลงทุนในไทย
1.2 การส่งเสริ มและประสานงานให้ มีการลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวก พื้นฐาน (infrastructure) ทั้งทางด้าน Hardware และ Software ที่เพียงพอที่จะเอื้อต่อการลงทุนด้านต่างๆ
2. การปฏิบัติการชักจูงการลงทุนเชิงรุก
2.1 จะรณรงค์ส่งเสริมและชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง
2.2 กำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Target Industries) และประเทศ เป้าหมาย (Country Specific)ในการชักจูงการลงทุน อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน และกลุ่มประชาคมยุโรป เพื่อดึงดูดการลงทุนสู่ไทยอย่างมีประสิทธิผล
3. การพัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายการลงทุน
ส่งเสริมการก่อตั้งและขยายเครือข่ายหรือแนวร่วมของไทยทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน เช่น
3.1 การทำสัญญาความร่วมมือกับกลุ่มธนาคารใหญ่ทั้ง 4 กลุ่มในประเทศญี่ปุ่น
3.2 จัดตั้งและส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับกลุ่มผู้บริหารของบริษัทที่ลงทุนในประเทศไทยและเคยทำงานในไทยเมื่อกลับไปประเทศตนแล้ว รวมตัวกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์เศรษฐกิจและการลงทุนมาสู่ไทย
3.3 การจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรเอกชนไทยในต่างประเทศ
3.4 สถาปนาความสัมพันธ์ในระดับจังหวัดของไทยและจังหวัดของต่างประเทศ (Local to Local) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ผลิตท้องถิ่นของไทยที่จะได้รับความรู้และวิธีการใหม่ๆ และเข้าถึงตลาดในต่างประเทศ
3.5 สถาปนาเครือข่ายกับสถาบันและองค์กรภายในประเทศ รวมทั้งองค์กร เอกชนของไทยและต่างประเทศ เช่น องค์การการค้าต่างประเทศในประเทศไทย
4. การพัฒนาขีดความสามารถในกฎ ระเบียบและข้อตกลงด้านการลงทุนในเวทีระหว่างประเทศ
4.1 พัฒนาและสั่งสมองค์ความรู้และฐานข้อมูลด้าน International Investment Regimeในเวทีระหว่างประเทศในระดับต่างๆ
4.2 เพิ่มพูนทักษะของเจ้าหน้าที่โดยการอบรมและการปฏิบัติจริง (on the job training) เพื่อเตรียมบุคลากรไว้สำหรับการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบการลงทุนระหว่างประเทศ
4.3 การติดตามความเคลื่อนไหวของการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศ เพื่อเผยแพร่และกระตุ้นผู้ประกอบการไทยในการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
5. การบริหารงานส่งเสริมการลงทุน
5.1 เพิ่มประสิทธิภาพและขยายขอบเขตการให้บริการแก่นักลงทุนอย่างครบวงจร
5.2 ลดขั้นตอนและปรับปรุงกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่ยุ่งยากและไม่จำเป็น เพื่อให้ง่ายและไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน
5.3 การลดภาระงานที่สำนักงานไม่จำเป็นต้องดำเนินการเอง โดยให้องค์กรอื่นดำเนินการแทน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านการลงทุน ซึ่งเป็นงานหลักขององค์กร
6. การพัฒนาและเสริมสร้างวิสาหกิจไทย
6.1 ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทย โดยร่วมกับส่วนราชการและองค์กรเอกชนทั้งของไทยและต่างประเทศ
6.2 ดำเนินการให้ SMEs ของไทย เชื่อมโยงกับ SMEs ของต่างประเทศโดยตรง เพื่อการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรของต่างประเทศ เช่น GTZ (บรรษัทอุตสาหกรรมขนาดย่อม) แห่งประเทศเยอรมัน
6.3 ส่งเสริมและพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน รายใหญ่กับ SMEs ไทย เพื่อให้เกิดการใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนต่างๆ ในประเทศมากขึ้น
7. การพัฒนาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของวิสาหกิจชุมชน
7.1 ประสานและร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรต่างประเทศ เพื่อจัดให้มีการสนับสนุนและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนเป็นบูรณาการเดียวกันเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยการให้การสนับสนุนที่จำเป็นทางด้านการเงิน การจัดการ และ การตลาด เพื่อให้โครงการวิสาหกิจชุมชนไทยเกิดขึ้นได้และเป็นที่ยอมรับในตลาด
7.2 เสริมสร้างและสนับสนุนการลงทุนของวิสาหกิจชุมชนในรูปสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
(ยังมีต่อ).../ยุทธศาสตร์ด้าน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ