(ต่อ3)บทสรุปสำหรับผู้บริหาร Executive Summary (ส่วนที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 2, 2004 15:28 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                              ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ
ความสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ
ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญมากในการสนับสนุน ยุทธศาสตร์รายสาขาของหน่วยงานอื่นๆ ด้านเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลสำคัญ 4 ประการ
1. การดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศและการทูต เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในทุกมิติ และทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับรัฐกับรัฐ ช่วยให้เกิดบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานเชิงรุกในด้านการค้าและบริการ การเกษตร การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการลงทุน ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2. ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินงานผ่านผู้แทน และคณะผู้แทนของไทยที่ประจำการในประเทศต่างๆ เอกอัครราชทูต ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทน ดำรงสถานะอันเป็นที่ยอมรับในประชาคมระหว่างประเทศ สามารถที่จะเปิดช่องทางการเจรจาระดับสูง สร้างเครือข่ายของความสัมพันธ์ แสวงหาโอกาส และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มพูน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากนั้น เอกอัครราชทูตและคณะผู้แทนไทยยังมีหน้าที่ คุ้มครอง/ป้องกัน และเจรจาแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยเฉพาะของภาคธุรกิจและแรงงานไทยในต่างประเทศ
3. ปัจจุบันรัฐบาลไทยมีสถานเอกอัครราชทูต คณะทูตถาวรฯ ประจำองค์การ สหประชาชาติ สถานกงสุลใหญ่ รวม 80 แห่ง ใน 57 ประเทศทั่วโลก คณะผู้แทนไทยทั้ง 80 คณะนี้ คือ กลไกถาวรที่สำคัญของไทยในการผลักดันยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการ ส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทย
ในขณะที่ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประเทศต่างๆ อยู่ในสภาวะต้องแข่งขันและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมากขึ้นควบคู่กันไป หน่วยงานของรัฐ และเอกชน มีการดำเนินภารกิจด้านต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประเด็นท้าทายในการบริหาร จัดการ เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย คือ "รัฐบาลจะบริหารจัดการภายในประเทศ เพื่อการดำเนินภารกิจต่างประเทศที่เป็นเอกภาพอย่างไร (Internal Management of External Relations) จึงจะทำให้เป้าหมายของยุทธศาสตร์บรรลุผล"
หากพิจารณายุทธศาสตร์ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในเชิงบูรณาการแล้ว จะเห็นความเชื่อมโยงของบทบาท และภารกิจ ที่ชัดเจนมากขึ้นใน 3 กลุ่มหน่วยงาน คือ
1. หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับปัจจัยและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงคมนาคม
2. หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับนโยบาย แผนงานและปฏิบัติการ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน
3. หน่วยงานที่มีภารกิจประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับการต่างประเทศ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศ (สถานเอกอัครราชทูต คณะทูตถาวรฯ สถานกงสุลใหญ่ รวม 80 แห่ง ใน 57 ประเทศทั่วโลก) (กรุณาดูแผนภูมิที่ 12)
ในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ นอกจากจะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเมืองโลกแล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้ให้ความสำคัญกับประเด็น ซึ่งที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ 20 พฤษภาคม 2545 ได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ 5 ประการ ได้แก่
ประการแรก จะต้องเป็นการดำเนินการในเชิงรุก ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เสริมสร้างและเร่งรัดความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและชุมชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย เพื่อเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
ประการที่สอง จะต้องปฏิรูปวิธีคิด วิธีทำงาน ควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้างการจัดกระทรวงใหม่ และอยู่บนพื้นฐานการทำงานร่วมกับภาคเอกชน
ประการที่สาม เน้นการสร้างองค์ความรู้ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ
ประการที่สี่ คำนึงถึงความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ประการที่ห้า คำนึงถึงความคุ้มค่า ยั่งยืน ของการลงทุนภาครัฐในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน
ยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ
แผนปฏิบัติการของกระทรวงการต่างประเทศ ในการดำเนินยุทธศาสตร์ด้านการ ต่างประเทศ จะประกอบด้วยการปฏิรูปใน 3 ด้าน ได้แก่
การปฏิรูปนโยบาย (Policy Reform) ประกอบด้วย
1. การดำเนินการทูตเชิงรุก เพิ่มพูนความสัมพันธ์กับนานาประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทั้งในระดับทวิภาคีและในกรอบความร่วมมือ อนุภูมิภาค เพื่อขยายโอกาส เปิดช่องทางการเจรจาระดับสูง เสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลักดันยุทธศาสตร์ในด้านการเกษตร อุตสาหกรรม การค้าและบริการการลงทุน และการ ท่องเที่ยว และจะนำไปสู่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้าระหว่างกันในภูมิภาคให้มากที่สุด
ในการดำเนินการข้างต้นจะเน้นกลยุทธ์ให้ไทยเป็นจุดเชื่อม (Lead and Link) ของประเทศไทยเอเซีย และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา
2. ผลักดันกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) ต่อไป หลังจากการประชุมครั้งแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพประสบผลสำเร็จ โดยได้รับการตอบสนองอย่างดีจาก 16 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุม สามารถสร้างเวทีหารือ (Dialogue) ในระดับผู้กำหนดนโยบายของประเทศเอเชีย ในลักษณะทั่วทั้งภูมิภาค (Asia-Wide Dialogue and Cooperation) ตลอดจนสามารถโน้มน้าวให้ประเทศในเอเชียมีแนวคิดในเชิงบวก แสวงหาจุดแข็งและโอกาส เพื่อนำมาผนึกกำลังร่วมมือกันในด้านต่างๆ อันจะนำไปสู่การเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเอเชียโดยรวม
3. ดำเนินการทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) โดยการเจรจาระดับสูง เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partnerships) การมี Closer Economic Partnership, Free Trade Area การผลักดัน Niche Market ของไทยในด้านต่างๆ การเพิ่มพูนความร่วมมือด้าน R & D และวิทยาศาสตร์ ตลอดจนการใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มพูนอำนาจต่อรอง และส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทย
4. ปรับวิธีคิด โดยให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศต่อประเทศต่างๆ (ทวิภาคี) และต่อองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญๆ (พหุภาคี) เพื่อวางกรอบความคิด และเป้าหมายในการดำเนินงานต่างประเทศให้ชัดเจน
5. ปรับวิธีการทำงาน จาก inside out เป็น outside in โดยเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายต่างประเทศของภาคเอกชน และภาคประชาชน เช่น การจัดตั้งเครือข่ายการค้าและอุตสาหกรรม สำหรับเอกชนไทย
6. ดำเนินการทูตเชิงวัฒนธรรมในสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ 80 แห่ง ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการท่องเที่ยว
(ยังมีต่อ).../ยุทธศาสตร์ด้านการคลัง..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ