สรุป บัญชีเศรษฐกิจเงินทุนของประเทศไทยปี 2544 (ส่วนที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจเงินทุนของไทยปี 2544)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 3, 2004 15:48 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        ส่วนที่ 3 ภาวะเศรษฐกิจเงินทุนของไทยปี 2544 
ภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างภาคสถาบันเศรษฐกิจ
ในปี 2544 ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างภาคเศรษฐกิจโดยผ่านทางเครื่องมือทางการเงินชนิดต่างๆ เช่น หุ้นทุน เงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ภาครัฐ เป็นต้น ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคเศรษฐกิจจริงกับภาคสถาบันการเงิน และภายในภายเศรษฐกิจจริงด้วยกัน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจไทยคือการที่ภาคสถาบันการเงินมีเงินออมเป็นปีแรก หลังจากที่ขาดดุลเงินออมมาหลายปีตั้งแต่ประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา
ภาวะเศรษฐกิจเงินทุนรายภาคสถาบันเศรษฐกิจ
1. ภาคครัวเรือน
มีสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นจาก 682,681 ล้านบาทในปีที่แล้วเป็น 759,744 ล้านบาทในปีนี้ โดยมีเงินฝากที่สถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 242,970 ล้านบาท ลงทุนในตราสารทุนของธุรกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์เพิ่มขึ้น 331,240 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 281,698 ล้านบาทในปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 ประชาชนให้ความสนใจในการออมเงินกับบริษัทประกันชีวิตและกองทุนฯ เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะเป็นการออมเงินที่ให้ผลตอบแทนน่าพอใจแล้ว ยังสามารถกู้เงินจากบริษัทฯได้อีกด้วย ส่วนสินเชื่อการค้าปีนี้เพิ่มขึ้น 6,967 ล้านบาทจากที่ลดลง 480 ล้านบาทในปีที่แล้ว จากการที่สถาบันการเงินมีสภาพคล่อง และมีการแข่งขันการให้กู้ผ่านบัตรเครดิตมากขึ้น ทำให้ภาคครัวเรือนมีหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้น 209,857 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 109,828 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มของสินเชื่อการเช่าซื้อสินค้าคงทน 61,135 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.8 นอกจากนี้ยังมีการกู้ยืมระยะสั้นและระยะยาวจากธนาคารออมสิน สหกรณ์ออมทรัพย์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่เพิ่มขึ้น
2. ภาคธุรกิจ
การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินเพิ่มขึ้นจาก 143,834 ล้านบาทในปีที่แล้วเป็น 224,689 ล้านบาทในปีนี้ เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.2 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในตราสารหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเพิ่มขึ้น 40,195 ล้านบาทจากที่ลงทุนลดลง 4,410 ล้านบาทในปีที่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การผลิตลดลง ภาคธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มยอดขายโดยการให้สินเชื่อการค้าและสินเชื่อเช่าซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น 6,550 และ 39,561 ล้านบาท ตามลำดับ แหล่งเงินทุนที่สำคัญของภาคธุรกิจมาจากการระดมทุนของภาคธุรกิจเอง โดยการออกตราสารทุนเพิ่มขึ้น 339,244 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปีที่แล้ว และออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น 33,580 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 14,426 ล้านบาทในปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว และภาคธุรกิจก็ยังมีการชำระหนี้คืนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
3. ภาครัฐบาล (ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น)
จากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นและรักษาระดับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รัฐจึงต้องชดเชยการขาดดุลด้วยการออกหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น 92,754 ล้านบาท ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่ม 8,278 ล้านบาทจากที่ออกเพิ่มเพียง 478 ล้านบาทในปีที่แล้ว เงินนอกงบประมาณสุทธิเพิ่มถึง 9,818 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 2,058 ล้านบาทในปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังมีการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศสุทธิเพิ่มขึ้น 18,473 ล้านบาท การใช้ไปของเงินทุน ได้นำส่วนเกินดุลเงินออมส่วนหนึ่งไปฝากไว้กับสถาบันการเงินซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 18,768 ล้านบาทเทียบกับเงินฝากที่ลดลง 9,534 ล้านบาทในปีที่แล้ว ให้รัฐวิสาหกิจบางแห่งกู้ยืมเช่น องค์การโทรศัพท์ฯ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นต้น มีการเพิ่มทุนให้กับรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 10,816 ล้านบาท
4. ภาครัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมสถาบันการเงิน)
ในปี 2544 การใช้เงินทุนของภาครัฐวิสาหกิจชะลอลงเล็กน้อย มีการฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน 5,798 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 23,589 ล้านบาทในปีที่แล้ว มีการลงทุนในตั๋วเงินคลังของรัฐบาลเพิ่มขึ้น 36,581 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 6,082 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจถือหุ้นของบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุนเพิ่มขึ้น 3,823 ล้านบาทจากที่เคยถือลดลงในปีที่แล้ว การให้สินเชื่อทางการค้าลดลง 6,126 ล้านบาทเทียบกับที่เพิ่มขึ้น 14,969 ล้านบาทในปีที่แล้ว โดยเป็นการลดลงของรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ เช่น บริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ส่วนแหล่งเงินทุนของภาครัฐวิสาหกิจได้จากการระดมเงินภายในประเทศโดยการออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจสุทธิ 17,924 ล้านบาทซึ่งมีภาครัฐบาลและสถาบันการเงินเป็นผู้ถือครองรายใหญ่ มีการออกหุ้นทุน 37,765 ล้านบาท โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 850 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นมูลค่าทุนจดทะเบียน 8,500 ล้านบาท และให้มีการขายหุ้นเดิมที่กระทรวงการคลังถืออยู่ควบคู่ไปด้วยในจำนวนไม่เกิน 100 ล้านหุ้น และมีการออกหุ้นกู้โดยบริษัทปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 5,991 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนดจำนวน 16,190 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจมีการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศสุทธิ 17,820 ล้านบาท
(ยังมีต่อ).../5.ภาคสถาบัน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ