ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547-2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2004 13:22 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรกของปี จากปัจจัยทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย 
อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 3.0 ณ ปลายไตรมาสที่สอง เนื่องจากราคาสินค้าอาหารที่ยังเพิ่มสูงและสินค้าอื่นๆ ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศและด้านต่างประเทศยังมีความมั่นคง
ในครึ่งหลังของปี ข้อจำกัดทั้งภายในและภายนอก เช่น การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังเพิ่มสูงจะมีผลให้เศรษฐกิจขยายตัวได้น้อยกว่าครึ่งปีแรกและคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.0-6.5
ข้อจำกัดที่จะยังมีแนวโน้มต่อไปถึงปีหน้า ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.5-6.5 ในปี 2548
ภาพรวม
ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่สองและแนวโน้มปี 2547-2548
ในไตรมาสที่สอง ปี 2547 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 6.3 ชะลอตัวจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรก ภาคเกษตรมีผลผลิตน้อยกว่าไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในอัตราชะลอลง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูงยังช่วยให้รายได้ของเกษตรกรขยายตัวดี ในภาคการเงินธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นแต่การบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังขยายตัวในอัตราชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก
ราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นร้อยละ 3.0 ในเดือนมิถุนายนและร้อยละ 3.1 ในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เนื่องจากราคาทั้งในหมวดอาหารและมิใช่อาหารเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพด้านอื่นๆ เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนและหนี้สาธารณะยังมีความมั่นคง
ในครึ่งหลังของปี การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังเพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงกว่าครึ่งแรกของปี ดังนั้น เศรษฐกิจไทยในปี 2547 จะขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 6.0-6.5
ในปี 2548 เศรษฐกิจโลกจะยังชะลอตัวลงทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน นอกจากนั้น ยังมีข้อจำกัดในประเทศ เช่น แนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตาม Fed Fund Rate และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และการทยอยปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกเพื่อลดภาระของรัฐในการชดเชยราคาน้ำมันจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5-6.5 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 2.8-3.0
1. เศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547
1.1 เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสอง ปี 2547
เศรษฐกิจหลักทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ชะลอตัวในไตร มาสที่สอง จากผลของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลต่อเนื่องทำให้การส่งออกและการลงทุนเอกชนของญี่ปุ่นชะลอตัวลง ในขณะที่ญี่ปุ่นเองก็มีการลดการลงทุนภาครัฐลงด้วยเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ตามกลุ่มประเทศในเอเชีย และสหภาพยุโรป ขยายตัวได้มากขึ้นในไตรมาสที่สองทั้ง จากอุปสงค์ภายในที่ยังเข้มแข็งในหลายประเทศ และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่สอง โดยเฉพาะในประเทศ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่สอง ต่ำลงกว่าร้อยละ 5.0 ในไตรมาสแรกของปี สัญญาณของเศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจนมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เปรียบเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยที่ไตรมาสที่สองขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่อปีลดลงจากร้อยละ 4.5 ในไตรมาสแรก แม้ว่าราคาสินค้ายังไม่ปรับเพิ่มขึ้นมากและอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งสะท้อนว่าการปรับตัวชะลอลงมากนั้นอาจเป็นภาวะชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตจากการที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมากและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นจึงทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่ายลงมาก อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ และซอฟแวร์ยังขยายตัวได้ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอจากการขยายตัวร้อยละ 5.9 ในไตรมาสแรก เนื่องจากทั้งการส่งออก การใช้จ่ายครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนชะลอลง การส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก การใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวมาก อัตราการว่างงานค่อน ข้างทรงตัวที่ร้อยละ 5.0 และแรงกดดันต่อราคาสินค้ายังมีน้อย เศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.2 สูงกว่าร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรก จากการฟื้นตัวของการส่งออกโดยเฉพาะการส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งมีผลต่อเนื่องต่อความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้การใช้จ่ายภาคเอกชนฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาการว่างงานจากเงื่อนไขด้านตลาดแรงงานที่ไม่ยืดหยุ่นและความกังวลต่อความสามารถในการจ่ายสิทธิประโยชน์ของกองทุนการประกันสังคมในหลายประเทศ เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อย ละ 9.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวในอัตราร้อยละ 9.8 ในไตรมาสแรกของปี โดยที่การใช้จ่ายครัวเรือนยังขยายตัวได้ดี เช่นเดียวกับการส่งออก อย่างไรก็ตามจากความพยายามของรัฐบาลจีนในการควบคุมอัตราการขยายตัวของการลงทุนในประเทศทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 43.0 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 29.0 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นสัญญาณของการลดวามร้อนแรงของเศรษฐกิจค่อนข้างชัดเจนที่ทำให้คลายความกังวลเรื่องความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงได้ระดับหนึ่ง
เศรษฐกิจเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น เศรษฐกิจของหลายประเทศขยายตัวได้มากขึ้นในไตรมาสที่สอง อาทิ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ไต้หวัน ฮ่องกงและมาเลเซีย โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 13.0 7.7 12.1 และ 8.0 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 5.3 7.5 6.7 7.0 และ 7.6 ในไตรมาสแรก การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนในไตรมาสนี้ยังมีลักษณะฐานกว้าง กระจายตัวสู่ภาคการผลิตและสนับสนุนโดยแหล่งการใช้จ่ายต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจ ความต้องการภายในประเทศทั้งการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและการลงทุนขยายตัวได้ดีในทุกประเทศ และประเทศเหล่านี้ยังสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดจีน สหรัฐฯ และในภูมิภาคเอเชียเอง กลุ่มสินค้าส่งออกที่ภูมิภาคเอเชียได้รับประโยชน์ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือสื่อสารโทรคมนาคมและเคมีภัณฑ์และยารักษาโรค ซึ่งยังเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสนี้
(ยังมีต่อ).../1.2 เศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ