(ต่อ1)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547-2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2004 14:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        1.2 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสองปี 2547:  
เศรษฐกิจไตรมาสที่สอง: เศรษฐกิจชะลอตัวแต่แรงกระตุ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 6.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสแรกปีนี้และ 7.8 ในไตรมาสสุดท้ายปี 2546 และเมื่อพิจารณาความเคลื่อนไหวไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจในไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกร้อยละ 2.9 ต่อปี ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 9.4 10.2 และ 3.2 ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอย่างชัดเจนแม้ว่าผลกระทบจากปัญหาระยะสั้นซึ่งประกอบด้วย ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกและปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้คลี่คลายมากขึ้น ในไตรมาสที่สองนี้อุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่การสะสมสะต็อคมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของการสะสมสะต็อคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ปริมาณการขายหรือยอดขายขั้นสุดท้าย (final sale) มีการชะลอตัวลง โดยยอดขายในไตรมาสที่สองนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ช้าลงกว่าการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสแรก และค่อนข้างช้าลงมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 5.7 และ 7.0 ในสองไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงสุด
สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจเหล่านี้สะท้อนทั้งการปรับตัวตามแนวโน้มปกติของวัฏจักรเศรษฐกิจและผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวเช่นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ที่ทำให้การชะลอตัวเกิดขึ้นเร็วและแรงกว่าแนวโน้มการปรับตัวตามปกติ ซึ่งเมื่อปัจจัยระยะสั้นเหล่านี้หมดไปเศรษฐกิจก็กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตามการปรับตัวตามวัฏจักรแสดงว่าประเทศไทยได้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวสูงมาระยะหนึ่งและมีการใช้ประโยชน์จากกำลังการผลิตส่วนเกินที่สะสมอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าศักยภาพการขยายตัวได้ระยะหนึ่งโดยไม่สร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อจนกระทบเสถียรภาพ อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านไประยะหนึ่งและกำลังการผลิตส่วนเกินลดลงต่อเนื่อง แรงกดดันต่อเงินเฟ้อก็เริ่มปรากฏมากขึ้น ประกอบกับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมากเป็นภาวะชั่วคราวทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อยิ่งมากขึ้นกว่าแนวโน้มปกติ การปรับตัวชะลอลงของการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงปี 2547 นี้จึงเป็นการ ปรับตัวเข้าสู่การขยายตัวตามศักยภาพในระยะปานกลางตามแนวโน้มปกติที่ถูกซ้ำเติมโดยปัจจัยชั่วคราว ที่รัฐบาลจะต้องระมัดระวังไม่ให้การปรับตัวผันผวนมากเกินไป
ในด้านอุปสงค์จะเห็นว่าอุปสงค์ภายในประเทศยังเป็นแรง สนับสนุนการขยายตัวที่สำคัญ การใช้จ่ายครัวเรือน ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก เนื่องจากราคาสินค้าเริ่มปรับตัวขึ้น โดยเฉพาะการปรับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ส่งผลต่อการปรับตัวของผู้บริโภค ทำให้มีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น อย่างไรก็ดี กำลังซื้อของประชาชนยังคงเพิ่มขึ้นจาก (1) ภาคราชการมีการปรับเงินเดือนในวันที่ 1 เมษายน (2) รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และ (3) สินเชื่อเพื่อการบริโภคของธนาคารพาณิชย์ การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 12.1 ต่ำกว่าร้อยละ 16.2 ในไตรมาสที่ 1 การขยายตัวยังคงมาจากการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ร้อยละ 16.2 แต่ก็ชะลอตัวลงจากร้อยละ 17.8 ในไตรมาสที่ 1 เช่นกัน การลงทุนภาคเอกชนยังขยายได้ดีทั้งการลงทุนด้านการก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ส่วนภาครัฐเป็นการเพิ่มขึ้นของการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐลดลง สำหรับการใช้จ่ายรัฐบาลเพื่อการอุปโภคและบริโภค ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ในไตรมาสแรก
ในภาคการค้าต่างประเทศปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 เร่งตัวมากขึ้นกว่าการขยายตัวร้อยละ 12.9 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นการเร่งตัวมากขึ้นทั้งสินค้าและบริการ ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสแรกเช่นกันเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นมากจากฐานที่ต่ำเป็นสำคัญโดยที่ปริมาณการส่งออกสินค้ามิได้เร่งตัวมากขึ้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าด้านการส่งออกทำให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิยังคงเป็นปัจจัยที่ชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจลง อย่างไรก็ตามราคาสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาสินค้านำเข้า เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะข้าวและยางพาราประกอบกับกลุ่มสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงก็มีราคาเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ดังนั้นประเทศไทยจึงได้เปรียบอัตราการค้า (Term of trade) ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ การเกินดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดจึงลดลงไม่มากและยังเป็นปัจจัยบวกต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชนและช่วยชดเชยผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นได้ในระดับหนึ่ง
ในด้านการผลิต สาขาเกษตรลดลงร้อยละ 7.5 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 เนื่องจากภาวะฝนแล้งและไข้หวัดนกระบาดต่อ เนื่อง ผลผลิตลดลงใน 3 หมวดคือ (1) พืชหลัก คือ ข้าวนาปรัง อ้อยซึ่งหมดฤดูหีบอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด (2) ประมง โดยเฉพาะกุ้งส่งออกเนื่องจากการไต่สวน Anti-dumping ของสหรัฐฯ ทำให้ผู้ส่งออกเร่งส่งออกกุ้งไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 และ (3) ปศุสัตว์ ผลผลิตที่ลดลง ได้แก่ สัตว์ปีก โดยเฉพาะไก่เนื้อและไก่ไข่ ในส่วนของยางพารา ผลผลิตดีขึ้น แต่ก็ไม่ทันกับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ในไตรมาสที่ 1 ปริมาณการส่งออกยางลดลงค่อนข้างมาก เนื่องจากมีการเร่งส่งออกยางพาราในปีที่แล้วค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้สต็อกยางพาราลดลงไปมาก สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 7.7 เท่ากับไตรมาสที่ 1 อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังคงขยายตัวได้ตามภาวะการส่งออก ยกเว้นหมวดอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะการระบาดของไข้หวัดนก แต่หมวดวัสดุก่อสร้างเริ่มมีปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นและเริ่มเกิดภาวะขาดแคลนในวัตถุดิบบางประเภท เช่น เหล็กและปูนซีเมนต์ ซึ่งมีการส่งออกมากขึ้น สาขาอื่น ๆ ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสาขาบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งปีที่แล้วประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ดังนั้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ยอดจำนวนนักท่องเที่ยวจึงเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 88.0 จากฐานปีที่แล้วที่ต่ำมาก
เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีจำนวนผู้มีงานทำ ณ ณ สิ้นไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2546 ร้อยละ 4.7 โดยที่จำนวนผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาสที่สองมีผู้ว่างงานจำนวน 0.813 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 2.3 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ว่างงาน 0.865 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.50 ในระยะเดียวกันปี 2546
ในด้านสถานการณ์ราคาสินค้า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 สูงกว่าอัตราร้อยละ 1.9 ในไตรมาสแรกเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดอาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.6 5.0 ตามราคาเนื้อสุกรและสัตว์ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์ปีก ในขณะที่ราคาพืชผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์จากแป้ง รวมทั้งราคาไข่ที่เพิ่มขึ้นมาก สำหรับในหมวดอื่น ๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 สูงกว่าร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรกเนื่องจากผลกระทบราคาน้ำมันแม้จะมีการตรึงราคาน้ำมันภายในประเทศไว้ ณ ระดับหนึ่งก็ตาม ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้วทำให้เริ่มมีการทะยอยปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสที่สองเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 0.4 สูงกว่าร้อยละ 0.1 ในไตรมาสแรกเนื่องจากเริ่มมีผลกระทบต่อเนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ใน 8 เดือนแรกอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 0.3
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต ณ ระดับขั้นตอนการผลิตต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้น ในช่วง 7 เดือนแรกปี 2547 ดัชนีราคาผู้ผลิตในขั้นตอนของวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 สูงกว่าร้อยละ 6.0 ในขั้นตอนของสินค้ากึ่งวัตถุดิบ สูงกว่าอัตราเพิ่มร้อยละ 3.2 ในขั้นตอนของสินค้าสำเร็จรูปอย่างชัดเจน โครงสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแสดงว่า การผลักภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคทำได้ไม่มากและเป็นลักษณะที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มขึ้น
ภาคการเงินและสถานการณ์ทางการเงิน:
มีการขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชน ณ สิ้นไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 4.4 ณ สิ้นไตรมาสแรก ความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อเริ่มเพิ่มขึ้นเร็วกว่ายอดเงินฝากซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ณ สินไตรมาสที่สองนี้ สัดส่วนของสินเชื่อต่อเงินฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 อยู่ที่ระดับ 94.1 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับตัวลดลงแม้จะยังอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ภาคธุรกิจเอกชนบางส่วนใช้ผลกำไรสุทธิของบริษัทในการลงทุนและเป็นทุนดำเนินการ ในไตรมาสที่สองนี้ การระดมทุนโดยใช้การออกตราสารทุนใหม่ยังเพิ่มขึ้นมากโดยที่ส่วนหนึ่งเป็นการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน แต่หุ้นกู้เอกชนที่ออกใหม่ลดลงร้อยละ 4.6
สถานการณ์โดยรวมภาคการเงินมีการปรับตัวดีขึ้น โดยมูลค่าเพิ่มของภาคการเงินที่วัดโดยระบบบัญชีประชาชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ต่อเนื่องจากร้อยละ 11.7 ในไตรมาสแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องจากการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสัดส่วน NPLs ตลอดช่วงปีนี้ยังค่อนข้างทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 12.0 จนถึงสิ้นไตรมาสที่สอง แต่เป็นอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 15.7 ณ สิ้นไตรมาสที่สองปีที่แล้ว
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสที่สองอ่อนค่าลงตลอดช่วงไตรมาสที่สองโดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 39.04-40.94 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และมีค่าเฉลี่ยของไตรมาสเท่ากับ 40.22 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่ากว่าในไตรมาสแรกร้อยละ 2.6 เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้น ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และนักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์จากตลาดทุนมากขึ้น เป็นสำคัญ และราคาสินค้าที่ยังปรับเพิ่มไม่มากนักทำให้ค่าเงินที่แท้จริงยังอ่อนลง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ค่อนข้างทรงตัว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นไตรมาสสอง เท่ากับ 646.6 ใกล้เคียงกับระดับ 647.3 ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2547 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระดับ 484.11 ณ สิ้นไตรมาสเดียวกันปี 2546 โดยมูลค่าซื้อขายต่อวันลดลงมากจากเฉลี่ย 28,729 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2547 เป็นเฉลี่ย 19,237 ล้านบาทต่อวันในเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 87.5 จากข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 กันยายน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เท่ากับ 629.08 โดยมีมูลค่าซื้อขายเท่ากับ 16,882.2 ล้านบาท
โดยภาพรวมเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ
- ฐานะการคลังรัฐบาลปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2547 ดุลการคลังรวมเกินดุล 84,650 ล้านบาท และ ณ สิ้นไตรมาสที่สองปี 2547 หนี้สาธารณะคงค้างมีจำนวน 2,932,228 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.30 ของ GDP โดยจำแนกเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงร้อยละ 25.54 ของ GDP หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินร้อยละ 13.4 และหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ร้อยละ 6.36 ของ GDP โดยที่สัดส่วนและยอดคงค้างหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาการที่รัฐบาลกู้โดยตรงเพิ่มขึ้นโดยการออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ
- ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ระดับ 43.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 คิดเป็น 3.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
นอกจากนี้ในระดับจุลภาคเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้น อาทิ ผลประกอบการภาคธุรกิจเอกชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2545 และในไตรมาสที่สองปีนี้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ต่อเนื่องจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.6 ในไตรมาสแรกทำให้บริษัทธุรกิจเอกชนมีแหล่งเงินทุนจากภายในเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดให้เกิดรายได้ลดลง และความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจมีมากขึ้น โดยที่สัดส่วนหนี้ต่อทุนลดลงจากร้อยละ 4.42 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2546 เป็นร้อยละ 4.21 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2547 ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัวดีขึ้น และมีการใช้มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อป้องกันการเก็งกำไรและมิให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรงเกินไป บนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดีขึ้น บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยเพิ่มขึ้น
(ยังมีต่อ).../2 เงื่อนไข..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ