(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547-2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2004 15:06 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        2. เงื่อนไขและปัจจัยทางเศรษฐกิจปี   2547                                                                                  
2.1 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในครึ่งหลังและตลอดปี 2547
ในครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐญี่ปุ่น จีน และประเทศเอเชียอื่น ๆ แต่อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงในครึ่งแรกทำให้โดยรวมตลอดปีเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่น่าพอใจคือร้อยละ 4.4 สูงกว่าร้อยละ 3.9 ในปี 2546 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวได้ดีกว่าในปี 2546 อย่างชัดเจน จากผลการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยมาตรการเฉพาะสาขา ในขณะที่เศรษฐกิจเอเชียได้รับผลบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประกอบกับยังมีผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ปริมาณการค้ากับจีนและภายในภูมิภาคเองก็ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ และเศรษฐกิจกำลังพัฒนามีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าอัตราเงินเฟ้อในปีที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แรงกดดันต่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ยังมีไม่มากจนน่าเป็นห่วงนั้นเนื่องจากเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) กำลังการผลิตส่วนเกินยังมีอยู่ในระดับค่อนข้างสูง แม้จะมีทิศทางลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มีการแข่งขันสูงและ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในหลายประเทศช่วยลดแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศจึงค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ความเคลื่อนไหวที่สำคัญ 2 ประการในหลายประเทศที่เป็นเศรษฐกิจหลักและเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่จะเป็นแรงเหวี่ยงและช่วยรักษาการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ไม่ให้ชะลอลงรุนแรงเกินไป คือ อัตราการว่างงานที่ลดลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้ดี
เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นร้อยละ 4.4 ในปี 2547 สูงกว่าร้อยละ 3.0 ในปี 2546 ประสิทธิภาพแรงงานของสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความพยายามของธุรกิจเอกชนในการปรับปรุงกิจการและผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนในเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับสูงเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายปีก่อนช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวในปี 2544 ทำให้แรงกดดันต่อราคาสินค้ายังไม่มากแม้ว่าเศรษฐกิจจะเร่งตัวมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเท่ากับร้อยละ 2.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2546 เล็กน้อย และอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 5.7 ณ ต้นปี 2547 เป็นร้อยละ 5.5 ณ สิ้นปี 2547
อย่างไรก็ตามการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นควบคู่กับการขาดดุลการคลังยังเป็นปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์สรอ. อ่อนค่าลง
เศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2546 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.2 โดยที่เศรษฐกิจกลุ่มยูโรมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากผลต่อเนื่องจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้ว ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว รวมทั้งสถานการณ์ด้านการจ้างงานที่อัตราการว่างงานเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปโดยรวม และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ในปัจจุบัน
เศรษฐกิจญี่ปุ่น เริ่มชะลอตัวในไตรมาสที่สองจากการชะลอตัวของทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออก ภายหลังจากที่ขยายตัวในอัตราสูงในไตรมาสแรกตามภาวะความต้องการในตลาดสหรัฐฯ เอเชีย และจีนที่ขยายตัวสูงในไตรมาสแรก ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยในครึ่งแรกเท่ากับร้อยละ 5.7 และจากแนวโน้มที่ความต้องการสินค้าภายในประเทศ การลงทุน และการส่งออกจะชะลอตัวตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และของโลกโดยรวมทำให้คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 4.0 ในปี 2547 ซึ่งนับว่ายังเป็นอัตราที่สูง โดยมีอัตราเงินเฟ้อยังติดลบ นั่นคือราคาสินค้าโดยเฉลี่ยยังลดลงแต่ลดความรุนแรงลงกว่าในปี 2546 เนื่องจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2547 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงจาก ปัญหาพื้นฐานในเชิงโครงสร้างที่จะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายได้ในระยะต่อไป อาทิ ภาคธุรกิจการเงินและธุรกิจเอกชนทั่วไปยังอ่อนแอ หนี้ภาครัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง และภาวะเงินฝืดที่ต่อเนื่อง
เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความพยายามของรัฐบาลในการลดความร้อนแรงของการลงทุน โดยการเพิ่มเงินรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน และการชะลอการขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์สำหรับสาขาเศรษฐกิจที่มีการขยายการลงทุนสูงอย่างต่อเนื่องและมีความร้อนแรงมากเกินไป อาทิ สาขาอสังหาริมทรัพย์ และการผลิตเหล็กกล้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวจะมีผลกระทบต่อสินค้าทุนมากกว่าการจ้างงาน ในขณะที่รายได้ในภาคชนบทและในเมืองยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่สูงขึ้น และยังมีการไหลเข้าของการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีแม้ว่าจะมีการปรับลดการคืนภาษีแก่ผู้ส่งออกลงก็ตาม ในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจจีนเริ่มลดความร้อนแรงลงจากการชะลอตัวของการลงทุน แต่โดยรวมในครึ่งแรกเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 9.7 โดยที่การใช้จ่ายและการส่งออกยังขยายตัวสูงและชดเชยการชะลอตัวของการลงทุน ดังนั้นตลอดปี จึงคาดว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 8.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในปี 2546 อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากจากราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมากประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาอาหารที่สูงขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเท่ากับประมาณร้อยละ 4.4 สูงกว่าร้อยละ 1.2 ในปี 2546 มาก กลุ่มประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น เศรษฐกิจในกลุ่มนี้ยังขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่สอง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวันและมาเลเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มนี้ยังด้รับประโยชน์จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าเกษตร รวมทั้งปริมาณการค้าในภูมิภาคและการส่งออกไปยังประเทศจีนที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงกระตุ้นอุปสงค์ภายในที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีทำให้ผลกระทบจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่จัดการได้ และในการประเมินสถานการณ์ล่าสุดโดยสถาบันต่าง ๆ ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2547 ของประเทศ ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน และโดยรวมเศรษฐกิจเอเชียที่ไม่รวมญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.6 สูงกว่าร้อยละ 6.0 ในปี 2546 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 1.6 ในปี 2546
2.2 ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2547
ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในครึ่งปี 2547 เป็นปัจจัยที่ได้ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปี แต่เริ่มอ่อนตัวลงและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้น้อยกว่าในช่วงครึ่งแรก ประกอบด้วย
(1) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกนับว่ายังเป็นปัจจัยบวกแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลัง
(2) ปัจจัยที่ยังเอื้ออำนวยต่อการลงทุนภาคเอกชนประกอบด้วย อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งเป็นต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำแม้จะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ณ ราคาตลาด และผลประกอบการภาคธุรกิจเอกชนที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะในอัตราที่ชะลอช้าลงก็ตาม
(3) ปัจจัยสนับสนุนด้านรายได้ซึ่งส่งผลบวกต่อการใช้จ่ายครัวเรือนทั้งการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรและผลประกอบการภาคธุรกิจเอกชนที่ยังเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นความได้เปรียบอัตราการค้าที่ยังมีอยู่ก็จะช่วยเพิ่มรายได้และชดเชยกำลังซื้อที่ถูกกระทบโดยราคาน้ำมันได้ในบางส่วน
(4) แนวโน้มการเบิกจ่ายจากงบกลางมากขึ้นในช่วงปลายปีเนื่องจากการเบิกจ่ายในส่วนนี้ยังล่าช้ามาก และการใช้จ่ายในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงปลายปีจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน
(ยังมีต่อ).../3.ข้อจำกัด/..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ