(ต่อ3)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547-2548

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 10, 2004 15:55 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        3. ข้อจำกัด/ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี  2547                                                       
ในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2547 ณ วันที่ 6 กันยายน 2547 พิจารณาว่าข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปี 2547 ที่สำคัญคือ
3.1 ข้อจำกัด/ปัจจัยเสี่ยงจากภายนอก
(1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปีจากการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นและมาตรการเฉพาะด้านในการควบคุมการขยายสินเชื่อในหลายประเทศเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีน และผลกระทบที่ชัดเจนต่อการส่งออกของญี่ปุ่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกตามวัฏจักรได้รับผลกระทบมากขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากที่อาจจะทำให้ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกรุนแรงกว่าแนวโน้มปกติอย่างไรก็ตามประเมินว่าโดยรวมเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวได้ค่อนข้างดีในช่วงครึ่งหลังเนื่องจาก
- เศรษฐกิจหลัก ๆ อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และเอเชีย ยังได้รับผลต่อเนื่องจากการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งผลบวกต่อเนื่องจากภาวะการค้าโลกที่เพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ปี 2545 ต่ออุปสงค์ภายในประเทศประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มประเทศเอเชีย
- แม้อัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นแต่นับว่ายังอยู่ในระดับต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งสะท้อนต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และสำหรับประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยเป็นช่วงที่ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจเอกชนได้ปรับตัวดีขึ้นมากแล้ว
- ผลกระทบจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2547 จะไม่รุนแรง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่แข็งแกร่งในขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น อาทิ ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ดีของประเทศในเอเชีย ญี่ปุ่น และจีน เป็นต้น ประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ การที่ธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินที่ระมัดระวังและการเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวราคาสินค้าอย่างรอบคอบขึ้นกว่าในอดีตทำให้ประชาชนมีความวิตกกังวลในเรื่องปัญหาเงินเฟ้อน้อยลง และความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราค่อนข้างสูงในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และเอเชียในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้งประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวต่อราคาน้ำมันน้อยลงกว่าในอดีต
แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากราคาน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2548 จะชัดเจนมากกว่าในปี 2547 เนื่องจากเป็นช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจโลกชะลอตัวที่ชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าภาระต้นทุนที่สูงขึ้นตั้งแต่ปี 2547 จะถูกทะยอยผลักไปสู่ผู้บริโภคโดยการทะยอยปรับขึ้นราคาสินค้า ในภาวะที่กำลังการผลิตส่วนเกินได้ลดลงและการจ้างงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานมากขึ้น
- ประเทศที่มีรายได้จากน้ำมันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย มีการใช้จ่ายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงช่วยบรรเทาผลกระทบต่อการส่งออกของโลก
(2) ปัญหาราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าจะเพิ่มขึ้นเร็วจากราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นในขณะที่ปริมาณการใช้ปรับชะลอลงเพียงช้าๆ ซึ่งจะกระทบต่อฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ รวมทั้งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนแม้จะมีการตรึงราคาน้ำมันดีเซลก็ตาม 3.2 ข้อจำกัด/ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศ
ในการประกาศตัวเลขการประมาณการครั้งก่อนพิจารณาว่า ปัญหาการส่งออกไก่และกุ้งเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออก ประกอบกับความเสี่ยงจากราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน เงินเดือนและค่าจ้าง และราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น และปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่มีความรุนแรงมากขึ้น
ในการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจในครั้งนี้ ประเมินว่าในครึ่งหลังของปีปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวเศรษฐกิจประกอบด้วย การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นภายหลังการยกเลิกการตรึงราคากระทบกำลังซื้อของประชาชน และประเทศไทยยังประสบปัญหาของประเทศเองที่เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออก รวมทั้งฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจในอัตราสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2546 ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2547 มีแนวโน้มชะลอตัว
(1) ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในขาขึ้น
- ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในขาขึ้นได้เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในครึ่งแรกปีนี้ และผลกระทบจะมากขึ้นในครึ่งหลังโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าคงทนถาวรที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รายได้และอัตราดอกเบี้ยมากกว่ากลุ่มสินค้าที่ไม่คงทนถาวรหรือกึ่งคงทนถาวร ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง ในขณะที่การออมที่ชะลอลงเนื่องจากครัวเรือนได้นำการออมมาใช้จ่ายติดต่อกันมาหลายปีตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขี้น ในครึ่งแรกปีนี้การใช้จ่ายครัวเรือนเพื่อซื้อสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ณ ราคาคงที่เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกปีที่แล้วร้อยละ 14.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 24.4 และ 18.8 ในครึ่งแรกและครึ่งหลังของปีที่แล้ว การใช้จ่ายในกลุ่มนี้ที่ชะลอลงชัดเจนคือ หมวดยานยนต์และอุปกรณ์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 21.1 เทียบกับร้อยละ 43.2 และร้อยละ 30.2 ในครึ่งแรกและครึ่งหลังปี 2546
- นอกจากนี้จะเห็นว่าสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ต้นปีนี้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 ยอดคงค้างสินเชื่อประเภทนี้เพิ่มจากระยะเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 8.2 ต่ำกว่าการขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.3 ณ สิ้นปี 2545 และร้อยละ 30.0 ณ สิ้นปี 2546
- แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะไม่เพิ่มขึ้น แต่ผลกระทบจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อการลงทุนภาคเอกชนในระยะสั้นจะผ่านทางการคาดการณ์แนวโน้มการชะลอความต้องการสินค้าทั้งจากตลาดภายในและตลาดต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อแรงจูงใจในการขยายการลงทุนบ้างโดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่ความเชื่อมั่นธุรกิจได้ลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน และดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่ำกว่าระดับ 50 โดยอยู่ที่ระดับ 48.3 ในเดือน กรกฎาคม ประกอบกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนได้ชะลอลงในไตรมาสที่สองซึ่งมีการขยายตัวร้อยละ 16.2 ต่ำกว่าร้อยละ 35.6 ในไตรมาสแรกแต่คาดว่าการชะลอตัวของการลงทุนจะไม่รุนแรงเนื่องจากนักลงทุนจะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังดีและต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และที่สำคัญคืออัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ ระดับ 70.9
(2) ปัญหาการส่งออก การที่ยุโรปและญี่ปุ่นยังห้ามการนำเข้าไก่สดแช่เย็นและแช่แข็งจากประเทศไทยทำให้ใน 7 เดือนแรกปี 2547 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกไก่แช่แข็งลดลงถึงร้อยละ 88.0 และ 86.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน จึงคาดว่าผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกไก่สดแช่แข็งจะมากกว่าที่ประมาณการไว้เดิมว่าจะเริ่มส่งออกได้ในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตามคิดเป็นผลกระทบที่เป็นมูลค่าการส่งออกไก่สดแช่แข็งตลอดทั้งปีประมาณ 19,000 ล้านบาท เท่าที่คาดไว้เดิม
(ยังมีต่อ).../4.สมมติฐาน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ