(ต่อ5)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสสอง ปี 2547 และแนวโน้มปี 2547-2548

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 14, 2004 15:45 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

        5. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2547                                                                          ในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปี 2547 ในครั้งวันที่ 6 กันยายนนี้ สศช. ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงจากร้อยละ6.0-7.0 ในการประกาศ ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2547 เป็นร้อยละ 6.0-6.5 และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อเป็นร้อยละ 2.7 จากคาดการณ์เดิมร้อยละ 2.5 การปรับลดปริมาณการใช้จ่ายครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนตามแนวโน้มการชะลอตัวค่อนข้างชัดเจนในครึ่งหลังของปีเป็นองค์ประกอบหลักที่ทำให้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในครั้งนี้ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นตัวชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจน้อยกว่าในการประมาณการครั้งก่อน อย่างไรก็ตามลักษณะของการขยายตัวยังเป็นการขยายตัวที่มีอุปสงค์ภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิเป็นปัจจัยที่ชะลอการขยายตัวเนื่องจากปริมาณการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปริมาณการส่งออก การปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ 
(1) ปรับตามฐานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยในครึ่งแรกของปีเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 6.4 จากครึ่งแรกปี 2546 การขยายตัวรายไตรมาสแสดงแนวโน้มชะลอตัวทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าโดยกำจัดปัจจัยในทางฤดูกาลออกแล้ว นอกจากนี้ข้อมูลรายเดือนล่าสุดในเดือนกรกฎาคมก็สะท้อนภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจหลัก ๆ แสดงว่า -ข้อมูลการส่งออกที่ได้กำจัดปัจจัยทางฤดูกาลออกแล้วแสดงว่าการส่งออกได้ผ่านพ้นช่วงขยายตัวสูงสุด และเริ่มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการเปลี่ยนแปลงที่ แสดงว่าการนำเข้าของตลาดออกที่สำคัญของไทยกำลังอยู่ในช่วงการขยายตัวสูงสุดของวัฏจักร จึง คาดว่าความต้องการการนำเข้าของตลาดหลักของ ไทยจะเริ่มชะลอตัวในช่วงต่อไป
-ข้อมูลเศรษฐกิจในช่วง 7 เดือนแรกของปีแสดงว่าการใช้จ่ายครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนกำลังชะลอตัว และเป็นการชะลอตัวที่เร็วและมากกว่าที่ คาดไว้เดิมในการประเมินครั้งก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาสิน ค้าที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและกำลังซื้อ รวมทั้งการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ประชาชนมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
(2) ราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า ที่คาดไว้เดิมและได้มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นแม้จะมีการตรึงราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันดีเซลไว้ ณ ระดับหนึ่งและการยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันเบนซินทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกสูงขึ้นและทำให้ส่วนแบ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้บริโภคสูงขึ้นจึงกระทบกำลังซื้อสินค้าในหมวดอื่น ๆ ประกอบกับผลทางจิตวิทยาที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง
(3) การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีการปรับเพิ่มเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วน ใหญ่คาดกันไว้เดิมว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดในช่วงไตรมาสสุดท้าย
การประมาณการเศรษฐกิจรายสาขา เป็นดังนี้
(1) การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.6 ปรับลดประมาณการจากร้อยละ 6.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายในช่วงครึ่งแรกของปี ผลกระทบของราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและผลผลิตเกษตรที่ลดลง รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง
(2) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 16 ปรับ ลดลงจากการประมาณการร้อยละ 20.5 บนฐานข้อมูลล่า สุดที่แสดงแนวโน้มการชะลอตัวของการลงทุนเอกชน และความเชื่อมั่นนักลงทุนที่ลดลง รวมทั้งการคาดการณ์ความต้องการสินค้าทั้งในประเทศและจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว อย่างไรก็ตามโดยภาพรวมยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ดี และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น
(3) ปรับลดประมาณการการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาคงที่ลงจากร้อยละ 10.0 เป็นร้อยละ 7.0 ตามแนวโน้มการเบิกจ่ายที่ยังเบิกจ่ายได้ช้ากว่าที่คาดไว้เดิมทั้งรัฐวิสาหกิจและจากงบกลางของรัฐบาลที่เป็นงบลงทุน โดยเฉพาะงบลงทุนในการก่อสร้าง อย่างไรก็ตามคาดว่าจะมีการเร่งเบิกจ่ายในส่วนของรายการใช้จ่ายประจำจากงบกลางมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งการเบิกจ่ายค่าจ้างเงินเดือนในส่วนของเงินประจำตำแหน่งที่มีการตกเบิกเพิ่มขึ้นจึงคงการประมาณการใช้จ่ายรัฐบาล ณ ราคาคงไว้ที่ร้อยละ 8.0 เท่ากับการประมาณการในครั้งก่อน
(4) การส่งออกสินค้าและบริการ ปรับลดปริมาณการส่งออกสินค้าลงจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 6.0 แม้ว่าจะคงข้อสมมุติฐานการขยายตัวเศรษฐกิจโลกไว้เท่าเดิม ทั้งนี้เป็นผลจากด้านราคาและปัญหาที่เป็นปัจจัยชั่วคราว ประกอบด้วยปัญหาการส่งออกไก่สดแช่แข็งที่ยืดเยื้อมากกว่าที่ประเมินสถานการณ์ไว้เดิม ปัญหาการแข่งขันการส่งออกกุ้งไปยังสหรัฐฯ และปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามปริมาณการส่งออกบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นรวดเร็วจากการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นมากและได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น รวมทั้งฐานจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต่ำในไตรมาสที่สองปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคซาร์สรุนแรงมากที่สุด ทำให้อัตราการขยายตัวของภาคบริการอยู่ในระดับสูง
การส่งออกสินค้าจะมีมูลค่า 94.9 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 หรือมีมูลค่าประมาณ 3,843.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.4 ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ราคาสินค้าส่งออกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ15 สำหรับรายรับบริการ ณ ราคาคงที่ ตลอดปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากที่ลดลงร้อยละ 3.4 ในปี 2546 การส่งออกสินค้าและบริการ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 7.3
(5) การนำเข้าสินค้าและบริการ การนำเข้าสินค้ามีมูลค่า 93.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.6 โดยที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ปรับลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อนตามสัญญาณการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชน และราคาในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มเนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เมื่อคิดเป็นเงินบาทการนำเข้าสินค้ามีมูลค่าเท่ากับ 3,744.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.9 จากปี 2546
การนำเข้าบริการ ณ ราคาคงที่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ดังนั้นการนำเข้าสินค้าและบริการ ณ ราคาคงที่ ในปี 2547 จึงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 สูงกว่าร้อยละ 7.4 ในปี 2546
(6) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้ามีแนวโน้มเกินดุลประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือเท่ากับ68.9 พันล้านบาท ลดลงจากการเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 174.4 พันล้านบาท ในปี 2546 อย่างชัดเจน เนื่องจากปริมาณการนำเข้าเร่งตัวมากขึ้น สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นภายหลังจากที่ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกได้คลี่คลายลง จะทำให้ดุลบริการเกินดุลสูงกว่าในปี 2546 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 6.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นประมาณ 243 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 ของ GDPลดลงกว่าการเกินดุล 8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือ329.9 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของ GDP ในปี 2546
(7) อัตราเงินเฟ้อ เท่ากับร้อยละ 2.7 ปรับเพิ่มจากประมาณการเดิมร้อยละ 2.5 เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ราคาน้ำมัน และค่าจ้าง เงินเดือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และราคาหมวดขนส่ง แต่อย่างไรก็ตามราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มรวมเพิ่มขึ้นช้ากว่าเนื่องจากค่าเช่าและการตกแต่งบ้านซึ่งมีน้ำหนักมากที่สุดในหมวดนี้เพิ่มขึ้นน้อย
(ยังมีต่อ).../6.แนวโน้มเศรษฐกิจ..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ