(ต่อ4) ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 และแนวโน้มปี 2548-2549

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2005 16:14 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          2. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2549:  มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.7-5.7 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 3.5-4.5 และดุลบัญ ชี
เดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.2-2.7 ของ GDP
2.1 ปัจจัย/เงื่อนไขเศรษฐกิจปี 2549
(1) ปัจจัยภายนอก
* ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.0 ในขณะที่กำลังการผลิตยังตึงตัวทั้งกำลังการผลิตน้ำมันดิบและกำลังการผลิตของโรงกลั่น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนได้ง่ายต่อผลกระทบด้านการผลิตหรือแม้แต่ข่าวสารในทางลบที่เกี่ยวกับสถานการณ์การผลิต รวมทั้งการปรับเพิ่มความต้องการใช้และการสะสมสะต็อก นอกจากนี้การเกิดพายุเฮอริเคนซึ่งมีความถี่มากขึ้น ประกอบกับภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนได้ง่ายก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับราคาน้ำมัน ทั้งนี้คาดว่าการเก็งกำไรของกองทุนประกันความเสี่ยงต่าง ๆ ยังจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ๆ ได้ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ในเรื่องการประหยัดพลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกจะช่วยลดแรงกดดันลงได้บ้าง ประกอบกับในปี 2549 กำลังการผลิตส่วนเกิน (spare capacity) จะอยู่ที่ระดับวันละ 2.0-2.5 ล้านบาเรล ซึ่งสูงกว่าวันละ 1.0-1.5 ล้านบาเรลในปี 2548 เล็กน้อย และนอกจากนี้ราคาน้ำมันได้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ต้นปี 2549 อยู่แล้ว จึงคาดว่าช่วงความผันผวนของราคาจะไม่กว้างมาก
* เศรษฐกิจโลกชะลอตัว นำโดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งนับเป็นการชะลอตัวตามแนวโน้มปกติของวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เข้มงวดมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2548 ซึ่งได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามลำดับเพื่อลดแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แม้กระทั่งกลุ่มสหภาพยุโรปซึ่งมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับต่ำ ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ธนาคารกลางก็ได้ประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.0 เป็นร้อยละ 2.25 ภายหลังจากที่คงระดับอัตราดอกเบี้ยเดิมมาเป็นเวลา 2 ปีและเป็นที่คาดกันว่าภายในสิ้นปี 2549 ธนาคารกลาง ยุโรปจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็นร้อยละ 2.50 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate จะเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 4.50 ภายในกลางปี 2549 และคงอยู่ที่ระดับนั้นจนถึงสิ้นปี สำหรับญี่ปุ่นนั้นระดับราคาสินค้าโดยเฉลี่ยเริ่ม เพิ่มขึ้นและแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดลดลงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.1 ภายในสิ้นปี 2549
แต่อย่างไรก็ตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปี 2549 นี้ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ต่างๆ ไ ด้แก่ (1) ภาวะการขาดดุลแฝดของสหรัฐฯ (**) ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินดอลลาร์มีค่าอ่อนลงมากและผันผวนได้ ซึ่งในขณะนี้เป็นที่คาดกันว่าในปี 2549 เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน (2) ภาคอสังหาริมทรัพย์ร้อนแรง ในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และ ออสเตรเลีย ที่ ราคาอสังหาริมทรัพย์ได้เพิ่มสูงขึ้นมาก และคาดว่าจะเริ่มชะลอลงในปี 2549 ซึ่งนักลงทุนยังคงระมัดระวังว่าจะเป็นการชะลอลงที่ค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ และ (3) เป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่เกิดจากราคาน้ำมันผันผวน และ (4) ความเสี่ยงที่เกิดจากอุบัติภัย โรคติดต่อ ความไม่สงบและ การก่อการร้าย เป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในประเทศและ จากภายนอกที่กระทบประเทศไทย
(2) ปัจจัยภายในประเทศ
* แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2548 เป็นต้นมา จะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับการใช้จ่ายครัวเรือน และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าแรงกดดันเงินเฟ้อจะลดลงในครึ่งหลังของปี 2549 เนื่องจากการส่งผ่านต้นทุนราคาน้ำมันจะเริ่มบรรเทาลงจากการที่ฐานราคาน้ำมันและราคาสินค้าได้ปรับเพิ่มขึ้นมากแล้วในครึ่งหลังของปี 2548
* การลงทุนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจาก (1) อัตราการใช้การผลิตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ ณ สิ้นเดือนตุลาคม อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 71.9 เพิ่มขึ้นจากอัตราเฉลี่ยร้อยละ 68.7 ในปี 2547 โดยที่มีการใช้กำลังการผลิตในระดับเต็มกำลังหรือเกือบเต็มกำลังในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น หมวดอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ และ ผลิตภัณฑ์กระดาษ (2) การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และการตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายร้อยละ 100 จากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ และ (3) ผลประกอบการของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและการคาดการณ์ภาวะตลาดทั้งภายในประเทศและตลาดโลกในระยะปานกลางจะทำให้ภาคธุรกิจเอกชนขยายการลงทุน
* การส่งออกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร หมวดอาหาร ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอัตราอย่างน้อยร้อยละ 3.0 จะยังสนับสนุนการส่งออกได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกยังคงคาดว่าปริมาณการค้าโลกจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.0-7.0 ในปี 2549
* ภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีทั้งในด้านราคาและปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นภายหลังประสบปัญหาภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา สินค้าที่คาดว่าราคาจะสูงขึ้นประกอบด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง
* การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในภาคอื่นของประเทศเพื่อรองรับและทดแทนพื้นที่ที่ยังได้รับผลกระทบ
* ความไม่สงบในภาคใต้ การระบาดของไข้หวัดนก และอุบัติภัยต่าง ๆ ยังนับเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ต้องระมัดระวัง และสร้างความพร้อมในการแก้ปัญหาและเตือนภัย
*********************************************************************************************************
(**) การขาดดุลการค้าและดุลการคลัง
*********************************************************************************************************
(ยังมีต่อ).../2.2 สมมุติฐาน..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ