ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 3, 2012 14:50 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

                                               ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555
(% YOY)                                    2554                      2555
                                      Q4    ทั้งปี    Q1             Q2      ประมาณการ
GDP (ณ ราคาคงที่)                     -8.9    0.1   0.4            4.2        5.5-6.0
การลงทุนรวม                          -3.6    3.3   5.2           10.2           11.3
(ณ ราคาคงที่)
   ภาคเอกชน                         -1.3    7.2   9.2           11.8           12.2
   ภาครัฐ                           -12.1   -8.7  -9.6            4.0            8.1
การบริโภครวม                         -3.0    1.3   2.4            5.4            4.7
(ณ ราคาคงที่)
   ภาคเอกชน                         -2.8    1.3   2.9            5.3            4.8
   ภาครัฐบาล                         -4.1    1.1  -0.2            5.6            3.8
มูลค่าการส่งออก                        -5.2   16.4  -4.0           -0.4            7.3
สินค้า (US$)
   ปริมาณ                            -7.5   10.2  -5.0           -0.8            6.8
มูลค่าการนำเข้าสินค้า                    12.2   24.7   9.6           10.3           13.5
 (US$)
   ปริมาณ                             3.7   13.3   3.5            8.5           11.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด                         2.3    3.4   0.6           -2.7            0.1
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                               4.0    3.8   3.4            2.5        2.9-3.4
อัตราการว่างงาน                        0.6    0.7   0.7            0.9            0.7

-เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยสำคัญจาก การขยายตัวทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่าย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มขยายตัวเป็นบวก การเร่งขึ้นของสาขาก่อสร้าง การค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร รวมทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่การผลิตภาคเกษตรชะลอตัว และการส่งออกยังคงหดตัว

-หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2555 ร้อยละ 3.3 (% QoQ SA)

-การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 - 6.0 จาก การขับเคลื่อนของอุปสงค์ภายในประเทศ และการเร่งตัวขึ้นของภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมจะขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 11.3 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 7.3 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วงร้อยละ 2.9 - 3.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.1 ของ GDP

-ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2555 (1) เร่งรัดการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพื่อให้สามารถกลับมาใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจและใช้กำลังการผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างเต็มที่ (2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของรายจ่ายภาครัฐในการชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออก สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญอื่น ๆ ของรัฐวิสาหกิจ (3) ดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในภาวะผ่อนคลาย ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน และ (4) ดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะในผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และการเตรียมการ เพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว

เศรษฐกิจไตรมาสที่สองและแนวโน้มปี 2555

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ขยายตัวร้อยละ 4.2 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยสำคัญจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการผลิต และบริการ ในขณะที่การส่งออกยังหดตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง ปี 2555

(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 5.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นผลมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก มาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 67.7 เทียบกับ 65.3 ในไตรมาสแรก และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังอยู่ต่ำกว่าระดับความเชื่อมั่นในไตรมาสสามของปี 2554 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติก่อนอุทกภัย

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.1

(2) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 11.8 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อซ่อมแซมและทดแทนความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย และการก่อสร้างที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ขยายตัวถึงร้อยละ 22.1

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.5

(3) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.8 ล้านคนสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 200,965 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.2 และ 12.0 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเข้าพักอยู่ที่ระดับร้อยละ 55.3 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 51.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจากจีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่งผลให้สาขาโรงแรมภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.4

รวม 6 เดือนแรกของปีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 10.5 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.6

(4) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 4.3 และเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 2554 เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยสามารถเริ่มการผลิตได้อีกครั้ง โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ระดับร้อยละ 69.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.6 ในไตรมาสก่อน อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมใน 3 เดือนข้างหน้าของเดือนมิถุนายนปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 105.8 เทียบกับระดับ 111.1 ในเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อสถานการณ์ในยุโรป

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.9

(5) ภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 เป็นผลมาจากการขยายตัวของผลผลิตทางการเกษตรในทุกหมวด ยกเว้นอ้อย ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 11.9 โดยเฉพาะราคายางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวร้อยละ 9.3

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5

(6) ภาคการส่งออกสินค้า มีมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จำนวน 56,686 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่หดตัวร้อยละ 4.0 เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยการส่งออกสินค้าเกษตรยังคงหดตัว โดยเฉพาะข้าว และยางพารา โดยตลาดส่งออกที่ขยายตัว ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา (ขยายตัวร้อยละ 4.6) อาเซียน (ขยายตัวร้อยละ 7.2) จีน (ขยายตัวร้อยละ 13.7) ออสเตรเลีย (ขยายตัว ร้อยละ 20.5) และตะวันออกกลาง (ขยายตัวร้อยละ 9.8) ในขณะที่การส่งออกไปยุโรป และญี่ปุ่น ยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.5 และ 1.4 ตามลำดับ

รวมครึ่งแรกของปี การส่งออกมีมูลค่า 110,489 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 2.1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.5 - 6.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง แนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับแรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้ม ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากความกังวลต่อวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนยังมี ความเสี่ยงที่จะล่าช้า

คาดว่าในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 - 3.4 การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.8 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 11.3 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.3 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 0.1 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2555 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

-ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สองของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.9 ใน ไตรมาสแรก ตามการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการจ้างงาน ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายสินค้าคงทนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ได้ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสนี้ขยายตัวมากถึงร้อยละ 103.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนจากเหตุการณ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตรถยนต์สามารถกลับมาผลิตได้อย่างเต็มที่และเร่งส่งมอบรถยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการซื้อที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสนี้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 67.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ระดับ 65.3 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจหลังน้ำท่วมที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงครึ่งแรกของปี การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 11.8 เป็นการขยายตัวสูงต่อเนื่องจากร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 12.2 ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 11.2 เนื่องจากมีการเร่งลงทุนเพื่อชดเชยและซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว และการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 โดยเฉพาะสินค้าทุนเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และการผลิตเครื่องจักรกล ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศขยายตัวสูงถึงร้อยละ 88.9

เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 เนื่องจากความต้องการในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนการลงทุนด้านการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 10.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวจากการเร่งซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลขยายตัวร้อยละ 22.1 ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.5 ซึ่งเท่ากับอัตราการขยายตัวในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 51.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ ระดับ 53.0 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากระดับ 55.9 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อที่เริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ทั้งนี้ ความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบาย รวมทั้งการเร่งลงทุนตามแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในระยะต่อไป

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 56,686 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,775,105 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 0.4 เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปเริ่มส่งผลกระทบในช่วงปลายไตรมาส แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 4.0 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว จะทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 รวมครึ่งปีแรก การส่งออกของไทยมีมูลค่า 110,489 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ตลาดส่งออก: หดตัวลงในตลาดหลัก โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.4 และ 7.5 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา และอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 4.6 และ 7.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกอื่นๆ ปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกตลาดยกเว้นการส่งออกไปยังฮ่องกงที่ลดลงร้อยละ 33.2 จากการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า และทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป

การนำเข้า: มูลค่าและปริมาณขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคาขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสองของปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 55,203 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 10.3 สูงกว่าร้อยละ 9.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ปริมาณ การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.5 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนตามการขยายตัวของ การนำเข้ารถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี การนำเข้าของไทยมีมูลค่า 107,833 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าเกือบทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง ยกเว้นสินค้าทุนที่ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าวัตถุดิบมูลค่าขยายตัวร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ สินแร่ และ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน สินค้าทุน มูลค่าขยายตัวร้อยละ 27.0 เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.7 ในไตรมาสก่อน สินค้าทุนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถไฟ เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม

สินค้าอุปโภคบริโภค มูลค่ายังคงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 13.3 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 สอดคล้องกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น รายการนำเข้าที่ขยายตัวสูง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สองของปี 2555 อยู่ที่ 96.6 เทียบกับ 96.1 ในไตรมาสก่อน

ดุลการค้า: เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยเกินดุล 1,483 ล้านดอลลาร์ สรอ. (47,324 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 1,173 ล้านดอลลาร์ สรอ. (36,548 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า

-ด้านการผลิต:

สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรทุกหมวดยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะหมวดประมงและพืชผลที่ขยายตัวร้อยละ 9.6 และ 2.5 ตามลำดับ ยกเว้น อ้อยเนื่องจากผลผลิตอ้อยในปีการผลิต 2553/54 มีปริมาณสูงมากเป็นประวัติการณ์ทำให้ต้องขยายระยะเวลาการเปิดหีบอ้อยของโรงงานน้ำตาลเพื่อรองรับผลผลิต จึงส่งผลให้ผลผลิตอ้อยลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 58.1 และเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตภาคเกษตรในไตรมาสนี้ชะลอตัว

พืชผลสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย มันสำปะหลัง ยางแผ่นดิบชั้น 3 และ ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.5 12.9 และ 10.9 ตามลำดับ เป็นผลมาจาก (1) การขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับผลผลิตต่อไร่ของมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น (2) ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของพื้นที่ให้ผลผลิตในทุกภาค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายเนื้อที่ปลูกยางพาราใน 36 จังหวัด ช่วงปี 2547 - 2549 ตามโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ และ (3) ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวนาปีรอบสอง เพื่อชดเชยข้าวนาปีที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย

อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 11.9 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม และเป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า ทั้งหมวดประมง หมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์ซึ่งลดลงร้อยละ 14.3 11.9 และ 10.9 ตามลำดับ ราคาพืชผลสำคัญที่ลดลงประกอบด้วย ยางพารา และมันสำปะหลังซึ่งลดลงร้อยละ 31.2 และ 24.7 ตามลำดับ เป็นผลมาจากอุปสงค์ยางพาราที่ลดลงเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งการชะลอการสั่งซื้อมันสำปะหลังของรัฐบาลจีน การลดลงของราคาสินค้าเกษตร1 ดังกล่าวส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 9.3

สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสแรก และเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากหดตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาส ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งส่วนใหญ่ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ ยกเว้นอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และการผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เนื่องจากต้องใช้เวลาในการติดตั้งเครื่องจักรที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวสูง ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 78.0 จากการเร่งผลิตเพื่อชดเชยการหยุดผลิตในช่วงที่เกิดอุทกภัย ประกอบกับนโยบายคืนเงินภาษีรถยนต์คันแรก ที่ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้น (2) อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 8.0 ตามการผลิตเบียร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1 เพื่อรองรับเทศกาล การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 และ (3) อุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 4.5 อย่างไรก็ตาม การผลิตในกลุ่มสิ่งทอยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 และกลุ่มเครื่องหนัง ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็น ไตรมาสที่ 4 เนื่องจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงาน รวมทั้งได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของสินค้าในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอ

อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 69.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจาก (1) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย ซึ่งสามารถกลับมาผลิตได้ถึงร้อยละ 81 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้เป็นโรงงานที่กลับมาผลิตได้เต็มกำลังเพียงร้อยละ 48 และผลิตได้บางส่วนร้อยละ 33 (2) ความต้องการสะสมจากช่วงอุทกภัย และ (3) การเพิ่มขึ้นของอำนาจซื้อจากเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คูปองพลังงาน 2 พันบาท เงินช่วยเหลือฉุกเฉิน 5 พันบาท และเงินชดเชยความเสียหายไม่เกิน 2 หมื่นบาท) รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร อยู่ที่อัตราร้อยละ 116.1 จากเดิมร้อยละ 32.2 และอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่อัตราร้อยละ 96.6 จากเดิมร้อยละ 88.8

สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.9 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.4 ซึ่งเป็นการก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมในส่วนของที่อยู่อาศัยและโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน รวมทั้งการขยายตัวของการก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ ในขณะที่การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามงบลงทุนของภาครัฐที่มีการเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น

ทั้งนี้ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลรวมทั้งประเทศในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 22.1 เทียบกับหดตัว ร้อยละ 24.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนถึงการฟื้นตัวและการขยายตัวของภาคการก่อสร้างในพื้นที่ใหม่ ซึ่ง สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 ในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างในไตรมาสที่สอง เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์คอนกรีต สุขภัณฑ์ และเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 18.4 2.2 และ 1.6 ตามลำดับ เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ในด้านอุปสงค์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หดตัวร้อยละ 3.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสแรก ในด้านอุปทาน ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.1 เทียบกับการหดตัวที่ร้อยละ 3.2 ใน ไตรมาสแรก ในขณะที่ระดับราคาส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น เช่น ทาวส์เฮาส์พร้อมที่ดิน อาคารชุด และที่ดิน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 7.3 และ 3.0 ตามลำดับ ยกเว้นราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินที่ลดลงร้อยละ 0.6

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 8.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในไตรมาสนี้ซึ่งมีจำนวน 4.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลให้มีรายรับจากการท่องเที่ยวทั้งสิ้น 200,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 179,354 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 55.3 เทียบกับร้อยละ 51.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาสนี้ ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เพิ่มขึ้น 165,679 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7 รองลงมา คือ รัสเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งเพิ่มขึ้น 58,143 และ 42,068 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 และ 17.0 ตามลำดับ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรปเพิ่มขึ้น 163,478 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 แม้ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะไม่เอื้ออำนวยก็ตาม นอกจากนั้น การท่องเที่ยวในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยสังเกตจากจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำขยายตัวร้อยละ 3.4 และ 9.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ

การจ้างงาน ในไตรมาสที่สอง มีการจ้างงาน 38.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการค้าส่งค้าปลีก ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 4.9 และ 0.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ การจ้างงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลผลิตการเกษตรที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ในขณะที่การจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 13.5 และ 1.6 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดลงเนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานตามฤดูกาล

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 334,140 คน เพิ่มขึ้น 103,000 คนเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีนักศึกษาจบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดแรงงานยังคงตึงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ ไตรมาสแรกของปี 2553 โดยสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่ยังใกล้เคียงกันที่ 0.8 โดยภาพรวม อัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 0.7 ในไตรมาสแรก

-ภาวะการคลัง

การจัดเก็บรายได้ในไตรมาสสามปีงบประมาณ 2555 (เมษายน - มิถุนายน 2555) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 620,150.2 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,692.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต่ำกว่าประมาณการ 22,863.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.0 ที่เป็นผลจากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนิติบุคคล และส่งผลต่อการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2554 (ภ.ง.ด. 50) ที่ครบกำหนดยื่นแบบในเดือนพฤษภาคม 2555 อย่างไรก็ตามการจัดเก็บรายได้จากอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถจัดเก็บได้สูงกว่าที่ประมาณการไว้ 14,752.8 5,702.6 และ 4,784.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 91.3 20.5 และ 2.9 ตามลำดับ สำหรับการจัดเก็บรายได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนรัฐบาลสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 22,666.6 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้จากอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวร้อยละ 32.5 61.1 และ 18.9 ตามลำดับ ซึ่งการขยายตัวของการจัดเก็บเป็นไปตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากการประสบปัญหาอุทกภัย

การเบิกจ่ายงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสาม (เมษายน - มิถุนายน) ปีงบประมาณ 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 459,612 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จำนวน 435,486 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 18.3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 25.0 เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 376,020 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 59,466 ล้านบาท โดยรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 14.5 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 20.0 และเมื่อรวม 9 เดือนของปีงบประมาณ มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีไปแล้วทั้งสิ้น 1,607,543 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 67.5 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 67.0 เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้วในไตรมาสก่อนหน้าหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 มีผลบังคับใช้ และ 2) การเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2555 จำนวน 24,126 ล้านบาท รวม 9 เดือนแรกมีการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีไปแล้ว 122,528 ล้านบาท

โครงการตามมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (งบกลาง 120,000 ล้านบาท) ณ 8 สิงหาคม 2555 มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว 2,489 โครงการ วงเงินงบประมาณ 118,121.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 98.4 ของวงเงินงบประมาณโครงการ โดยมีโครงการที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้วจำนวน 2,381 โครงการ วงเงินงบประมาณ 112,443.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 95.2 ของวงเงินงบประมาณโครงการ ในจำนวนนี้ได้มีการเบิกจ่ายงบประมาณ 2,271 โครงการ หรือคิดเป็นเงิน 82,827.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 70.1 ของวงเงินงบประมาณโครงการ

ในส่วนของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงินทั้งสิ้น 350,000.00 ล้านบาท มีการจัดสรรแล้ว ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2555 จำนวนทั้งสิ้น 17,868.38 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้วจำนวน 462.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.59 ของวงเงินที่จัดสรร

ฐานะการคลัง ในไตรมาสสามของปีงบประมาณ 2555 รัฐบาลเกินดุลเงินงบประมาณ 169,130.5 ล้านบาท และเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 42,413.6 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีก จำนวน 138,818.7 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสดหลังกู้เกินดุลจำนวน 350,362.7 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะเงินคงคลังของรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 มีจำนวน 424,897.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 350,363.0 ล้านบาท แต่ยังคงต่ำกว่า ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 จำนวน 96,393.0 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 18.5

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2555 มีจำนวน 4,668,099.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.6 ของ GDP สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว 388,834.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และ เมื่อเทียบ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 (กันยายน 2554) หนี้สาธารณะคงค้างปรับตัวเพิ่มขึ้น 219,804.9 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ทั้งนี้หนี้สาธารณะคงค้าง ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐบาลมีจำนวน 3,430,151.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 73.5 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด

-ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวตลอดทั้งไตรมาส ไตรมาสที่สองของปี 2555 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.00 แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่ปัญหาเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวในอนาคต ประกอบกับอัตรา เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสอดคล้องกับประเทศในภูมิภาคและประเทศคู่ค้าที่สำคัญส่วนใหญ่ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ตามความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และในเดือนกรกฎาคม กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2555 ในขณะที่บางประเทศเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทรงตัว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ในไตรมาสที่สอง ของปี 2555 ทรงตัวที่ร้อยละ 2.86 และร้อยละ 7.13 ต่อปีตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก และส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่แท้จริงเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ -0.59 และ 3.68 ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 0.30 และ 4.57 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ในเดือนกรกฎาคม 2555 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ธนาคารพาณิชย์ทรงตัวต่อเนื่องตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลง ตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นไตรมาสที่สอง

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.2 จากร้อยละ 14.4 ในไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเงินฝากเป็นสำคัญ โดยในไตรมาสสอง เงินฝากขยายตัวที่ร้อยละ 17.7 จากการเร่งระดมเงินทุนของสถาบันการเงินเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง และเพื่อเป็นการรักษาฐานเงินฝาก ในขณะที่ตั๋วแลกเงินชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส โดย ณ สิ้นไตรมาส ยอดคงค้างของตั๋วแลกเงินหดตัวลงร้อยละ 5.3

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ขยายตัวร้อยละ 16.1 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 15.3 ในไตรมาสที่แล้ว ตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับร้อยละ 16.4 ในไตรมาสก่อน โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการซื้อ/เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่เร่งตัวสูงขึ้นตามความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นภายหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลง และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐบาล สำหรับสินเชื่อภาคธุรกิจ ชะลอตัวลงเล็กน้อยตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อธุรกิจการเงินและธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต แต่โดยรวมยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 13.9 จำนวนบัตรเครดิตและยอดสินเชื่อคงค้างลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs 2) ต่อสินเชื่อคงค้างลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 93.2 จากร้อยละ 93.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเร่งระดมเงินทุนโดยเฉพาะเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยไตรมาสสองของปี 2555 เท่ากับ 31.32 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 ที่ร้อยละ 1.05 และ 3.38 ตามลำดับ โดยตลอดทั้งไตรมาสค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลง จากความกังวลของนักลงทุนต่อปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซที่เริ่มลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรป ในขณะที่แนวทางการแก้ไขยังขาดความชัดเจน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555

ค่าเงินบาทปิดที่ระดับ 31.83 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในเดือนกรกฎาคม การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของจีนออกมาแข็งแกร่งกว่าคาดการณ์ ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายเดือน ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเดือนมิถุนายน ที่ 31.65 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ล่าสุดค่าเงินบาทเฉลี่ยตั้งแต่วันที่ 1 - 17 สิงหาคม 2555 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในขณะที่ปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปยังไม่มีความกังวลใหม่เพิ่มเติม

เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยในไตรมาสสองของปี 2555 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 101.45 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวอ่อนค่าลงร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.03 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวอ่อนค่าลงร้อยละ 0.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ไตรมาสสองปี 2555 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 3.50 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวจากการไหลเข้าสุทธิที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นผลจากการไหลออกสุทธิที่เพิ่มสูงขึ้นในภาคอื่นๆ และภาค ธปท. โดยภาคอื่นๆ มีการไหลออกสุทธิที่ 7.46 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการให้สินเชื่อทางการค้าแก่คู่ค้าต่างชาติและการไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุนไทย และภาค ธปท. ไหลออกสุทธิที่ 1.43 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการขายสุทธิพันธบัตร ธปท. ของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับการชะลอตัวลงของเงินทุนไหลเข้าในภาคธนาคารตามการชะลอตัวลงของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจยุโรปที่เพิ่มขึ้น

ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 2,453 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 75,991 ล้านบาท) เทียบกับไตรมาสก่อนที่เกินดุล 551 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 17,820 ล้านบาท) เป็นผลจากการเกินดุลการค้า 1,483 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3,936 ล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2555 เท่ากับ 175.37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 29.90 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ไตรมาสแรก ปี 2555) และเท่ากับมูลค่าการนำเข้า 3.1 เดือน (ไตรมาสสอง ปี 2555)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2555 เท่ากับร้อยละ 2.5 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูป อาหารสดประเภทเนื้อสัตว์เป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เป็นผลมาจากการเพิ่มสูงขึ้นของราคาในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่มีการปรับขึ้นค่า FT 30 สตางค์ต่อหน่วยในงวดเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2555 ประกอบกับการลดการอุดหนุนการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับภาคครัวเรือนในเดือนมิถุนายน 2555 ทั้งนี้ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศในไตรมาสนี้ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (เนื่องจากภาวะอุปทานที่ ตึงตัวจากปัญหาในตะวันออกกลางได้คลี่คลายลงและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก) ประกอบกับรัฐบาลได้ชะลอมาตรการการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเท่ากับร้อยละ 2.0 ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ตามการชะลอตัวของราคาอาหารสำเร็จรูปที่บริโภคทั้งในและนอกบ้าน และราคาเครื่องประกอบอาหาร

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สองของปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาในหมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งเป็นการชะลอตัวตามราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยราคาผลผลิตเกษตร และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.6 และ 0.5 จากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และ 2.3 ตามลำดับ ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เหมืองแร่ ลดลงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เมื่อพิจารณาดัชนีราคาผู้ผลิตจำแนกตามขั้นตอน การผลิตพบว่า แรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบที่มิใช่อาหาร

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลงตลอดทั้งไตรมาส เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาคเอเชีย ณ สิ้นไตรมาสสอง SET index ปิดที่ 1,172.8 จุด ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเป็น 28.6 พันล้านบาท จาก 30.5 พันล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิรวม 19.3 พันล้านบาท เทียบกับยอดซื้อสุทธิ 82.8 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า ตลอดทั้งไตรมาสดัชนีปรับตัวในทิศทางลดลง ตามการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะและการหดตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการทำ Window Dressing ของนักลงทุนสถาบันในช่วงเดือนมิถุนายนส่งผลให้ดัชนียังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 1,100 จุด

ในเดือนกรกฎาคม 2555 ดัชนีปรับตัวสูงขึ้น ปิดที่ 1,199.3 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 จากสิ้นเดือนมิถุนายน เนื่องจากมีการประกาศแผนการให้ความช่วยเหลือแก่ธนาคารพาณิชย์ในยุโรป ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิ 0.3 พันล้านบาท จากการขายสุทธิ 5.7 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 27.3 พันล้านบาท จาก 25.9 พันล้านบาท และล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 17 สิงหาคม ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 4.31 พันล้านบาท จากแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น

มูลค่าซื้อขายพันธบัตรและยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับสูง มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สอง เท่ากับ 88.5 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 76.1 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสแรก นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิต่อเนื่องที่ 213.7 พันล้านบาท โดยอยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า สำหรับปัจจัยที่ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยนั้น เป็นผลมาจากการโยกย้ายเงินจากสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนตามความกังวลของนักลงทุนต่อปัญหา หนี้สาธารณะของยุโรป และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของพันธบัตรออกใหม่ในตลาดแรกที่จะมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) โดยเฉพาะอายุระยะกลางเป็นต้นไปปรับลดลงตามความต้องการซื้อของนักลงทุนที่มีมากขึ้น

ในเดือนกรกฎาคม 2555 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 90.7 พันล้านบาท จาก 82.4 พันล้านบาทในเดือนมิถุนายน แม้ว่าสถานการณ์หนี้สาธารณะยุโรปจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในตลาดยังคงจูงใจ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังมียอดซื้อสุทธิอยู่ในระดับสูงที่ 61.5 พันล้านบาท

การระดมทุนในตลาดแรกของภาครัฐเพิ่มขึ้น ส่วนภาคเอกชนยังคงมีความต้องการระดมทุนผ่านหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สอง ตราสารภาครัฐออกใหม่อยู่ที่ 328.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 310.7 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า จากความต้องการใช้เงินที่เพิ่มขึ้นตามการเร่งรัดการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 282.2 พันล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาตัวกลางทางการเงิน สาขาเหมืองแร่ สาขาอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการผลิต ซึ่งแม้ว่ามูลค่าการระดมทุนจะลดลงจาก 459.4 และ 343.4 พันล้านบาท ในไตรมาสแรก และช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับมูลค่าการระดมทุนเฉลี่ยในปี 2553 และ 2554 สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้เงินทุนในการฟื้นฟูกิจการหลังภาวะอุทกภัยและการดำเนินธุรกิจตามปกติ

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สอง ของปี 2555

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก: ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา จากความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมในไตรมาสสองของปี 2555 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 103.74 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล หดตัวร้อยละ 6.1 ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 12.6

ในช่วงครึ่งแรกของปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 108.18 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ขยายตัวร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

3. ภาพรวมเศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สอง ของปี 2555 และแนวโน้มปี 2555

วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางปีส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าของประเทศที่สำคัญๆ ในไตรมาสที่ 2 ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศอุตสาหกรรมใหม่และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีสัดส่วนทางการค้าต่อ GDP สูง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่อปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปการชะลอตัวของรายจ่ายภาครัฐได้ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชะลอตัวลง ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศในยุโรปที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอหดตัวซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศหลักในกลุ่มนี้ชะลอตัวเนื่องจากการค้าในภูมิภาคอยู่ในเกณฑ์สูงรวมทั้งผลจากการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังอย่างเข้มงวด การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤติเศรษฐกิจทำให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวลดลงท่ามกลางแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ

-เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 2.2 (%YoY) ชะลอตัวลงเทียบกับร้อยละ 2.4 ในไตรมาสแรก เมื่อปรับฤดูกาลแล้วขยายตัวร้อยละ 0.4 (QoQ, s.a.) ชะลอตัวลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 เป็นผลมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัวลง การสะสมสินค้าคงคลังและการส่งออกขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อย ในเดือนกรกฎาคมเครื่องชี้สำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจยังคงแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของดัชนี PMI มาที่ระดับ 52.7 ในช่วงไตรมาสสอง ซึ่งในเดือนมิถุนายนดัชนี PMI ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.7 และเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 49.8 แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจเริ่มทรงตัว อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นอีกที่ร้อยละ 8.3 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confdence Index) ปรับตัวลดลงจาก 69.5 ในเดือนมีนาคม เป็น 65.9 ในเดือนกรกฎาคม สะท้อนถึงความวิตกกังวลของภาคการบริโภคและการลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและแนวโน้มการตัดลดงบประมาณรายจ่ายและการขึ้นภาษีและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องโดย (1) ประกาศเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555 ขยายระยะเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0 - 0.25 จากเดิมจนถึงกลางปี 2556 เป็นจนถึงสิ้นปี 2557 (2) ขยายมาตรการ Operation Twist จากเดิมที่สิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2555 เป็นสิ้นปี 2555 พร้อมทั้งเพิ่มมูลค่าการซื้อพันธบัตรอีก 267 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (3) ประกาศว่ามีความพร้อมที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม หากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจน

-เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซน วิกฤติการณ์ทางการเมืองในกรีซส่งผลกระทบซ้ำเติมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ PIIGS ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอและส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนโดยภาพรวมหดตัวร้อยละ 0.4 (%YoY) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสแรก เมื่อปรับฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ 0.2 (QoQ, s.a.) เทียบกับไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 โดยเศรษฐกิจกลุ่ม PIIGS ได้แก่ กรีซ อิตาลี โปรตุเกส สเปน ยังคงหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 6.2 2.5 3.3 และ 1.0 (%YoY) ตามลำดับ เทียบกับการหดตัวร้อยละ 6.5 1.4 2.3 และ 0.4 ในไตรมาสแรกในขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11.2 จากร้อยละ 10.9 ในไตรมาสแรก และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศหลักชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเศรษฐกิจเยอรมันขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 เทียบกับร้อยละ 0.5 ในไตรมาสแรก (%YoY) ทั้งนี้การขยายตัวของเศรษฐกิจเยอรมันมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการส่งออกไปยังตลาดนอกกลุ่มยูโรโซนซึ่งยังได้ประโยชน์จากการอ่อนตัวของค่าเงินสกุลยูโรและเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของภาคการผลิต การจ้างงานและและ อุปสงค์ภายในประเทศ โดยอัตราการว่างงานของเยอรมันอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ลดลงจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสแรก เศรษฐกิจฝรั่งเศสทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 เท่ากับไตรมาสแรก ในขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ในภาวะทรงตัวที่ร้อยละ 10.0 ส่วนเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 0.5 แต่ปรับตัวดีขึ้นเทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 5.1 การหดตัวของกลุ่ม PIIGS และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Core ส่งผลให้อัตราการว่างงานของกลุ่มประเทศยูโรโซนโดยภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยร้อยละ 11.2 เทียบกับร้อยละ 10.9 ในขณะเดียวกันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศ PIIGS โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสเปนปรับตัวเพิ่มขึ้นรุนแรงตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาวิกฤติการณ์กรีซและผลกระทบสืบเนื่อง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของกลุ่มประเทศ Core โดยเฉพาะประเทศลักเซมเบอร์กปรับตัวลดลง พร้อม ๆ กับการอ่อนค่าของเงินสกุลยูโรจาก 1.3210 ดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนเมษายน เป็น 1.2320 ดอลลาร์ สรอ. ณ ต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงและพฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนที่เกิดขึ้นจากวิกฤติการณ์กรีซในระลอกที่ 3 และผลกระทบสืบเนื่อง เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทางการยูโรและธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ประกอบด้วย (1) มาตรการภายใต้การประชุม Euro Summit เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 และการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 (2) การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ลงเหลือร้อยละ 0.75 (3) การประกาศแทรกแซงตลาดพันธบัตรของประเทศสมาชิกที่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก ESM เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศ PIIGS เริ่มทรงตัวและปรับตัวลดลงในขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ Madrid Stock Exchange General Index ของสเปน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 เดือนซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น

                                      มาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤตในยูโรโซน
 --------------------------------------------------------------------------------------------------------
          ที่มาของมาตรการ
   1. การประชุม Euro Summit                  ชื่อมาตรการ
      28-29 มิ.ย. 2555             1) การบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซน
                                     เพื่อนำไปสู่ Banking Union
                                  2) การอนุมัติให้ธนาคารของยูโรโซนได้รับการเพิ่มทุนโดยตรงจากกองทุนรักษาเสถียรภาพ
                                     การเงินยุโรป (EFSF) และกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM)
                                  3) การผ่อนคลายกฎระเบียบของ EFSF/ESM ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้า
                                     แทรกแซงพันธบัตรของประเทศสมาชิกในตลาดรอง (Secondary Market)
                                  4) การบรรลุข้อตกลงกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในยุโรป
                                     วงเงิน 1.2 แสนล้านยูโร (1.5 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นร้อยละ 1.3
                                     ของ GDP กลุ่มยูโรโซน และร้อยละ 4.0 ของ GDP กลุ่ม PIIGS
                                  5) การอนุมัติมาตรการต่อต้านวิกฤต 2 ฉบับ ได้แก่ มาตรการการคลังฉบับใหม่ว่าด้วยการสร้าง
                                     วินัยด้านงบประมาณ และมาตรการอัดฉีดเงินมูลค่า 2.0 แสนล้านยูโรเข้าสู่กองทุน
                                     European Stability Mechanism (ESM)
 --------------------------------------------------------------------------------------------------------
                                            ชื่อมาตรการ
   2. การประชุมรัฐมนตรี
      คลังยุโรป 9 ก.ค. 2555          1) อนุมัติการให้ความช่วยเหลือสเปนไม่เกิน 100 พันล้านยูโร
                                     (ตามที่สเปนขอเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2555) โดยจะมีการลงนาม MoU ระบุมาตรการแก้ไข
                                      ปัญหาของแต่ละธนาคาร รวมทั้งแผนการปฎิรูปธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลภาคการเงิน
                                      การธนาคาร
                                   2) การขยายกรอบเวลาที่สเปนจะลดงบประมาณขาดดุล (Public defcit) ให้เหลือไม่เกิน
                                      ร้อยละ 3.0 ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปี 2556
                                   3) การวางเงื่อนไขการปล่อยกู้โดยเรียกร้องให้มีการปฏิรูปธนาคารสเปนบางแห่ง และภาคการ
                                      ธนาคารโดยรวม
                                   4) เงินช่วยเหลือมาจาก EFSF จนกว่า ESM จะมีผลบังคับใช้

   3. การประชุมธนาคารกลางยุโรป       1) ECB มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับร้อยละ 0.75
     (ECB Meeting) 2 ส.ค. 2555     2) การแทรกแซงตลาดพันธบัตรของ ECB จะเป็นมาตรการระยะสั้น และทำในตลาดรองเท่านั้น
                                   3) รัฐบาลแต่ละประเทศต้องพร้อมบังคับใช้การเข้มงวดทางการคลังและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
                                   4) ECB ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสกุลเงินยูโร

-เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 3.6 (%YoY) สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.8 ในไตรมาสแรก แต่ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอตัวลงเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.3 (%QoQ, s.a.) ในไตรมาสแรกของปี 2555 โดยการลงทุนและการส่งออกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินเยนและวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป อย่างไรก็ตามแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจากแผ่นดินไหวเริ่มชะลอตัวลง ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.9 ในไตรมาสนี้ สูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการบริโภคเริ่มชะลอตัวลง การขยายตัวทางเศรษฐกิจทำให้ญี่ปุ่นสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเงินฝืดติดต่อกันสองไตรมาส โดยอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สองอยู่ที่ร้อยละ 0.2 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ยังยืนเหนือร้อยละ 0.0 ในขณะที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 83.98 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. เป็น 80.5 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการลดแรงกดดันดังกล่าวธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินมาตรการซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Program) มูลค่า 5 ล้านล้านเยนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2555

-เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.1 ในไตรมาสแรก (%YoY) และร้อยละ 9.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว สอดคล้องกับดัชนี PMI ซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 51.5 ใน ไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งการลงทุนและการบริโภคซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.8 และร้อยละ 14.0 เทียบกับ ร้อยละ 24.7 และร้อยละ 18.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 10.5 แม้ว่าจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 7.6 ในไตรมาสแรก แต่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากขึ้นโดยลำดับ ดังเห็นได้จากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนี PMI จากระดับ 51.5 และ 51.3 ในไตรมาสแรกและ ไตรมาสที่สอง มาอยู่ที่ระดับ 50.1 ในเดือนกรกฎาคม และมูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคมซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 1.0 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 3.8 และ 2.9 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง เป็นร้อยละ 1.9 ในเดือนกรกฎาคมตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการลดลงของแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ทางการจีนได้ประกาศดำเนินนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่องโดย (1) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 6.56 เมื่อเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 เมื่อเดือนกรกฎาคม (2) ลดอัตราการสำรองเงินสดให้ธนาคารพาณิชย์จากร้อยละ 20.5 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เหลือร้อยละ 20.0 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่ต้นปี 2555 เมื่อรวมกับมาตรการอุดหนุนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่า 32.5 พันล้านหยวน หรือร้อยละ 0.069 ของ GDP ณ ราคาตลาด คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจในครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มดีขึ้น

-เศรษฐกิจอินเดีย ในไตรมาสที่สอง มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสแรกเนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลกและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะปัญหาการขาดดุลงบประมาณและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (Twin Defcit) ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนตัวและแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยสัญญาณที่ชี้ให้เห็นแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจประกอบด้วย (1) การส่งออกซึ่งหดตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก (2) การปรับตัวลดลงของดัชนี PMI จากระดับ 56.3 ในไตรมาสแรก 54.9 ในไตรมาสที่สองและลดลงไปต่อเนื่องเป็น 52.9 ในเดือนกรกฎาคม อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและราคาน้ำมันเริ่มส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มลดลงซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาขายส่งจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 7.4 ในไตรมาสที่สอง ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการลดลงของแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางอินเดียจึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 8.5 ในช่วงไตรมาสที่สอง เป็นร้อยละ 8.0 ในเดือนกรกฎาคม และในวันที่ 1 สิงหาคมธนาคารกลางอินเดียได้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เท่าเดิมที่ร้อยละ 8 เป็นเดือนที่สองติดต่อกันเพื่อพยายามสกัดเงินเฟ้อ

-เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ในไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 0.5 1.1 และ 1.9 ตามลำดับ (%YoY) เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสแรกแต่ชะลอตัวเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.6 5.2 และ 1.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว นอกจากนั้นเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในไตรมาสที่สองชะลอตัวเป็นร้อยละ 2.4 (YoY) เทียบกับร้อยละ 2.9 ในไตรมาสแรก และชะลอตัวเป็นร้อยละ 0.4 (QoQ) เทียบกับ ร้อยละ 0.9 ในไตรมาสแรกตามการลดลงของอุปสงค์ในตลาดโลก โดยการส่งออกของเกาหลีใต้และไต้หวันหดตัวร้อยละ 1.6 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกของสิงคโปร์ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 1.4 อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในเกณฑ์ดีซึ่งจะเห็นจากอัตราการว่างงานของประเทศในกลุ่มนี้ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงหรือทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้กระนั้นก็ตามธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 3.25 เป็น ร้อยละ 3.00 ในเดือนกรกฎาคมเพื่อลดแรงกดดันของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

-เศรษฐกิจออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสแรกของปี 2555 (%YoY) เป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ก่อนวิกฤตซับไพร์มในปี 2550 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการขยายตัวของภาคเหมืองแร่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงต้นปี 2554 รวมทั้งการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศจากการลงทุนและการบริโภค ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ยังชะลอตัว โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ อัตราการว่างงานทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ในขณะที่เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 จากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เป็นร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2555 ซึ่งเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางออสเตรเลียดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 1 ปี เหลือร้อยละ 3.50 ในช่วงไตรมาสที่สอง

-เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 6.4 5.4 และ 4.7 เทียบกับร้อยละ 6.3 4.7 และ 4.0 ในไตรมาสแรกและร้อยละ 6.5 4.3 และ 5.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มผ่อนคลายลงตามการลดลงของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกโดยเฉพาะเวียดนามที่เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงร้อยละ 5.4 ในเดือนกรกฎาคมเทียบกับร้อยละ 22.5 ในไตรมาสที่สามของปี 2554 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศนี้ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น

-แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2555

การปะทุของวิกฤติการณ์การเมืองและเศรษฐกิจกรีซในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2555 ส่งผลกระทบสืบเนื่องให้เศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2555 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการเดิม อย่างไรก็ตาม ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มทรงตัวก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวได้ร้อยละ 3.2 - 3.6 และร้อยละ 5.0 - 6.0 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวทางและมาตรการการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่มีความชัดเจนมากขึ้น (2) การดำเนินมาตรการทางการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะจีน และ (3) ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนอีกครั้ง ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ คำตัดสินของรัฐธรรมนูญเยอรมันในเรื่องการเพิ่มทุนให้แก่กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพของกลุ่มประเทศยูโร (European Stabilization Mechanism: ESM) และผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ รวมทั้งความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหายุโรป และการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ ในการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับลดการขาดดุลงบประมาณ

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับร้อยละ 1.8 ในปี 2554 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคเอกชนซึ่งปรับตัวดีขึ้นมากในช่วงหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินในปี 2551 โดยเฉพาะการลดลงของหนี้สินในภาคครัวเรือน การปรับตัวของภาคธุรกิจและการส่งออก การปรับตัวลดลงของอัตราการว่างงานและภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือน (ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของ GDP สหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยภาพรวม อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวลดลงจากความวิตกกังวลในเรื่อง (1) ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและผลกระทบ (2) การสิ้นสุดอายุมาตรการลดภาษีที่สำคัญๆ ในปลายปี 2555 และการปรับลดรายจ่ายงบประมาณเพื่อลดการขาดดุลทางการคลังมูลค่า 606 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งหากทางการสหรัฐฯ ไม่ดำเนินการใด ๆ การขึ้นภาษีและการลดรายจ่ายดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ (3) การว่างงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและกลับมาเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 3 เดือน อย่างไรก็ตาม หากความวิตกกังวลและปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งอาจรวมถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินฝากที่ธนาคารกลางและการขยายปริมาณเงิน

เศรษฐกิจยูโรโซน มีแนวโน้มที่จะหดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ PIIGS และประเทศอื่น ๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอคาดว่าจะยังมีการหดตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจเยอรมัน ฝรั่งเศส ที่มีขนาดใหญ่สุด 2 ลำดับแรกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.5 ของกลุ่มประเทศยูโรคาดว่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การอ่อนตัวของค่าเงินสกุลยูโรอย่างต่อเนื่อง (2) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายโดยเฉพาะการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 0.75 ของธนาคารกลางยุโรป เข้าสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 (3) อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำที่เกิดจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง และ (4) บรรยากาศการลงทุนที่เริ่มทรงตัวและเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ประกาศในช่วงที่ผ่านมาทั้งในช่วงการประชุม Euro Summit เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2555 การประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปและการประชุมธนาคารกลางยุโรปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 รวมทั้งความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจของไอร์แลนด์ ความสำเร็จของการขายพันธบัตรของประเทศต่างๆ ซึ่งรวมถึงการระดมทุนของกรีซมูลค่า 4.1 พันล้านยูโรเพื่อชำระหนี้ให้แก่ ECB เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 ปัจจัยและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของเยอรมันและฝรั่งเศสในปี 2555 ขยายตัวได้ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 0.2 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.1 และร้อยละ 1.7 ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปียังมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลให้วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปทวีความรุนแรงและสร้างความผันผวนต่อระบบเศรษฐกิจโลกอีกครั้งซึ่งยังเป็นเหตุการณ์ที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในเดือนกันยายนซึ่งประกอบด้วย (1) ผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันในวันที่ 12 กันยายน 2555 ในเรื่องความชอบด้วยกฎหมายของการเพิ่มทุนให้แก่กองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพของกลุ่มประเทศยูโร (ESM) (2) ผลการประเมินความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาของกรีซและการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของกรีซซึ่งรวมถึงการเจรจาต่อรองระหว่างกรีซกับ Troika ในเรื่องแนวทางและระยะเวลาสำหรับการปรับลดการขาดดุลทางการคลังและหนี้สาธารณะ (3) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีซึ่งอาจส่งผลให้อิตาลีขอรับความช่วยเหลือทางการเงินบางส่วนจาก ESM เพื่อให้เข้าเงื่อนไขการแทรกแซงพันธบัตรของ ECB เนื่องจากอิตาลียังมีความจำเป็นในการระดมทุนเพื่อไถ่ถอนพันธบัตรมูลค่าประมาณ 180 พันล้านยูโร ในช่วงที่เหลือของปี และ (4) มาตรการของ ECB ในการประชุมเดือนกันยายน 2555

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2554 แม้ว่าการขยายตัวของภาคส่งออก การลงทุนและรายจ่ายเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศจะส่งผลให้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่การแข็งค่าของเงินเยนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปีซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 8.0 (Annualized rate) ในไตรมาสที่สอง ทั้งนี้ การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนทำให้ค่าเงินเยนในช่วงครึ่งปีแรกแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเฉลี่ย 82.43 ในเดือนมีนาคม เป็นเฉลี่ย 79.02 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 5 เดือน สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทางการทางการญี่ปุ่นดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงินและการซื้อพันธบัตรต่างประเทศเพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของสกุลเงินเยน

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในปี 2554 โดยปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในครึ่งปีหลัง เมื่อรวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกและสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม รวมทั้งความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและการลดลงของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางจีนดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องโดยการปรับลดอัตราเงินสำรองทางกฎหมายและอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหากเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามยังไม่มีสัญญาณของการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นแม้ว่าขนาดของมาตรการกระตุ้นทางการคลังดังกล่าวจะไม่สูงมากนักก็ตามเนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น

4. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังและทั้งปี 2555 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (2) การลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง (3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ (4) เม็ดเงินภาครัฐมีเพียงพอสำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และ (5) ราคาน้ำมันและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจาก (1) เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ (2) แนวโน้มความล่าช้าของการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม (3) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนการบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า (4) การผลิตในภาคเกษตรที่ยังมีความสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยและราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

-ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(1) การขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งคาดว่าจะมีการเร่งรัดให้ฟื้นตัวซึ่งจะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น (2) ฐานการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่ต่ำผิดปกติในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 (3) มาตรการของภาครัฐ โดยเฉพาะการขยายระยะเวลามาตรการคืนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งจะสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง และความคืบหน้าในการสร้างเขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจติดตั้งเครื่องจักรและใช้กำลังผลิตของฐานการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น

(2) การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การลงทุนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีความล่าช้าในครึ่งปีแรก (2) การลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิตภายในประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัย (3) การลงทุนของภาคเอกชนเพื่อปกป้องตนเองจากปัญหาน้ำท่วม และ (4) การลงทุนใหม่ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีซึ่งจะเห็นได้จากวงเงินของโครงการลงทุนที่ขอรับสนับสนุนการลงทุนจาก BOI และวงเงินของโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกที่เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 97.9 และร้อยละ 33.6 ตามลำดับ

(3) การบริโภคภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แม้ว่าแรงกระตุ้นจากเงินชดเชยสำหรับผู้ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยจะเริ่มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่การจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อของประชาชนในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีตาม (1) ภาคการผลิตที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง (2) เงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ (3) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐโดยเฉพาะมาตรการการปรับขึ้นเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำรวมทั้งการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร และมาตรการคืนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก

(4) เม็ดเงินภาครัฐยังมีเพียงพอสำหรับการเร่งรัดการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี โดยยังคงมีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2555 อีก 569,083.0 ล้านบาท รวมถึงเม็ดเงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ 350,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายเพียง 426.7 ล้านบาท ดังนั้น ในช่วงที่เหลือของปีจึงยังมีโอกาสในการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อชดเชยการชะลอตัวของแรงขับเคลื่อนด้านการส่งออก

(5) แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำซึ่งสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและประเทศสำคัญ ๆ ที่เป็นตลาดส่งออกของประเทศไทย

-ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

(1) เศรษฐกิจโลกแม้จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีแต่ยังมีแนวโน้มที่ที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความวิตกกังวลในเรื่อง (1) วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปและความคืบหน้าของการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาของทางการยูโร (2) การปรับลดการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออกและการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ในช่วงที่เหลือของปียังมีเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) คำตัดสินของรัฐธรรมนูญเยอรมันในเรื่องการเพิ่มทุนให้แก่ ESM (2) รายงานผลการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อตกลงภายใต้แผนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่กรีซ (3) แนวโน้มการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจาก ESM ของอิตาลีเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขการเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรของ ECB (4) ผลการเลือกตั้งในฮอลแลนด์ในวันที่ 12 กันยายน 2555 (5) ท่าทีและการดำเนินการของทางการสหรัฐฯ และ Fed ในการลดผลกระทบของการปรับลดการขาดดุลงบประมาณ

(2) การฟื้นตัวของบางอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าไปจนถึงสิ้นปี นอกจากนั้น การขาดความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาอุทกภัยและความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจชะลอการฟื้นกำลังการผลิตและชะลอการใช้กำลังการผลิต โดยเฉพาะการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เครื่องจักรมีมูลค่าสูง

(3) การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนภายใต้แผนการบริหารจัดการน้ำระยะเร่งด่วนยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของภาคธุรกิจและนักลงทุนแล้ว ยังจะส่งผลให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาครัฐต่ำกว่าการคาดการณ์

(4) ภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงยังมีแนวโน้มที่จะหดตัวอย่างต่อเนื่องจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงานและแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ นอกจากนั้นการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงที่มีตลาดส่งออกหลักที่ยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการลดลงของอุปสงค์ในต่างประเทศ เงื่อนไขดังกล่าวจะยังคงเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี

(5) ราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้นสภาวะการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

-สมมุติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ

(1) เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.2 - 3.6 และ ร้อยละ 5.0 - 6.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.4 - 3.8 และร้อยละ 6.1 - 7.1 ในสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 โดยมีสาเหตุมาจากปัญหาวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจกรีซในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนและผลกระทบสืบเนื่องซึ่งทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าในสมมุติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมาและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี

(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 105 -110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 108.18 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม - ครึ่งแรกของเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 101.57 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบยังเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 91-110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) เศรษฐกิจของประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ทั้งในจีน สหรัฐฯ และยุโรป (2) การหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนในช่วงที่ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปยังอยู่ในเกณฑ์สูงซึ่งทำให้ความต้องการเพื่อการเก็งกำไรลดลง (3) การเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันของอเมริกาเหนือ

(3) ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับซึ่งเป็นการปรับลดจากร้อยละ 3.3 และร้อยละ 5.8 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนทำให้ราคาน้ำมันและสินค้า โภคภัณฑ์ในตลาดโลกลดลงรวมถึงสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตร ทองคำและอัญมณีซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าของไทยในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ

(4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 21 ล้านคน เทียบกับ 19.1 ล้านคนในปี 2554 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

-การประมาณการเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5.5 - 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2.9 - 3.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.1 ของ GDP เทียบกับเฉลี่ยร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.4 ของ GDP ในปี 2554 ในการแถลงข่าววันที่ 20 สิงหาคม 2555 สศช. ได้ปรับช่วงการประมาณการทางเศรษฐกิจให้แคบลงจาก ร้อยละ 5.5 - 6.5 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 เป็นร้อยละ 5.5 - 6.0 ในการประมาณการครั้งนี้ โดยมีเหตุผลที่สำคัญ ๆ คือ (1) การปรับสมมติฐานการประมาณการโดยเฉพาะสมมติฐาน ด้านอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งสมมติฐานด้านราคาส่งออกและนำเข้าซึ่งมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น (2) ความล่าช้าในการฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในประเทศซึ่งในประมาณการเดิมคาดว่าจะสามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ภายในครึ่งปีแรก เหตุผลทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกินร้อยละ 6.0 ลดลง

-องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 1.3 ในปี 2554 และเป็นการปรับขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและภาครัฐจากร้อยละ 4.5 และ 3.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 4.8 และร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งนี้ตามข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 2 ที่การบริโภคภาครัฐและเอกชนขยายตัวได้สูงกว่าการคาดการณ์และอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มต่ำกว่าในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 11.3 เทียบกับร้อยละ 3.3 ในปี 2554 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 12.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากการปรับลดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐลงเป็นร้อยละ 12.2 และร้อยละ 8.1 ตามข้อมูลจริงในไตรมาสที่ 2 ซึ่งขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์รวมทั้งการปรับสมมติฐานด้านอัตราแลกเปลี่ยนและแนวโน้มความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้แผนบริหารจัดการน้ำในระยะเร่งด่วน

(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 ในปี 2554 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 15.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจาก (1) การปรับลดสมมติฐานด้านราคาส่งออกจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในการประมาณการครั้งนี้ (2) การปรับลดปริมาณการส่งออกจากการขยายตัวร้อยละ 11.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในการประมาณการครั้งนี้เนื่องจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณการส่งออกในครึ่งปีแรกยังหดตัวร้อยละ 2.9 รวมทั้งการปรับสมมติฐานด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังแม้ว่าการผลิตจะฟื้นตัวจากภาวะน้ำท่วมมากขึ้นก็ตาม

(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 24.7 ในปี 2554 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 22.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาโดยมีสาเหตุมาจาก (1) การปรับลดสมมติฐานด้านราคาสินค้านำเข้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ในการประมาณการครั้งนี้ (2) การปรับลดอัตราการขยายตัวของการส่งออกซึ่งส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนของการนำเข้าต่อมูลค่าการผลิตสูงและมีความล่าช้าในการฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัย (3) การปรับลดการขยายตัวของการลงทุนซึ่งส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าทุนต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(5) ดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 12.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการปรับการขยายตัวของการส่งออกและการนำเข้า

(6) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 2.9 - 3.4 เทียบกับร้อยละ 3.8 ในปี 2554 และร้อยละ 3.5 - 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาซึ่งเป็นการปรับตามข้อมูลที่เกิดจริงที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีแรกยังอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.9 และการลดลงของแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้า

5. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี

ความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพในขณะที่การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน แนวโน้มดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังยังต้องพึ่งพิงอุปสงค์ในประเทศ ดังนั้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจจึงควรให้ความสำคัญกับ

(1) เร่งรัดการฟื้นตัวของภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเพื่อให้สามารถกลับมาใช้กำลังการผลิตได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสร้างความมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมเพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจและใช้กำลังการผลิตจากฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างเต็มที่

(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินการตามโครงการลงทุนสำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะเร่งด่วนเพื่อใช้ประโยชน์จากการขยายตัวของรายจ่ายภาครัฐในการชดเชยการชะลอตัวของภาคการส่งออก สร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งการเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญอื่น ๆ ของรัฐวิสาหกิจ

(3) ดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้ออยู่ในภาวะผ่อนคลาย ในช่วงครึ่งปีหลังการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพิง แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อีกทั้งการขยายตัวของภาคการส่งออกในช่วงเศรษฐกิจโลกชะลอตัวยังต้องได้รับปัจจัยสนับสนุนจากขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน

(4) ดูแลและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยเฉพาะในผู้ประกอบการ SMEs ที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้ประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่อยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว และการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและลดชั่วโมงการทำงานในช่วงของการปรับตัว

นัยสำคัญของผลการประชุม Euro Summit (29 มิถุนายน 2555)

และรัฐมนตรีคลังยุโรป (9 กรกฎาคม 2555) ต่ออนาคตกลุ่มประเทศยูโร

วิกฤติการณ์ PIIGS ที่เกิดขึ้นนับจากปี 2552 เป็นความเสี่ยงต่อการล่มสลายความเป็นเอกภาพของระบบเงินตราสกุลเดียวในยุโรป (Single currency) และส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าทางการยุโรปจะได้พยายามดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่มาตรการในช่วงที่ผ่านมายังมีจุดอ่อนที่สำคัญประกอบด้วย

(1) การเน้นการรัดเข็มขัดทางการคลังแต่เพียงด้านเดียวโดยไม่ได้คำนึงถึงข้อจำกัดในการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้ระบบเงินตราสกุลเดียวทำให้เศรษฐกิจหดตัวและส่งผลกระทบรุนแรงต่อการจ้างงานและความเป็นอยู่ของประชาชนซึ่งเป็นเงื่อนไขทำให้ประชาชนต่อต้านมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง

(2) การใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับประเทศที่มีพื้นฐานของปัญหาที่แตกต่างกันเป็นการซ้ำเติมปัญหาวิกฤติการณ์ในบางประเทศ เช่น สเปน ให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น

(3) การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องและการแทรกแซงตลาดพันธบัตรเพื่อลดแรงกดดันด้านต้นทุนการกู้ยืมโดยผ่านมาตรการปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษ (LTRO ) และการแทรกแซงโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) ทำได้ในขอบเขตจำกัดและให้ผลเพียงในระยะสั้น

(4) ขีดความสามารถสุทธิ (หลังหักภาระเงินช่วยเหลือแก่ประเทศก่อนหน้า) มีเพียงประมาณ 200 - 250 พันล้านยูโรในขณะที่การจัดตั้ง ESM ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติทำให้ขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือไม่เพียงพอที่จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน

(5) การอัดฉีดสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อแก้ไขปัญหาความตึงตัวของสภาพคล่องในประเทศที่ประสบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจากสภาพคล่องดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล

(6) การเพิ่มทุนให้กับระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่ประสบปัญหาความไม่มั่นคงของสถาบันการเงินนั้นไม่สามารถลดความตึงเครียดในตลาดพันธบัตรและลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศสมาชิกได้เนื่องจากการใช้มาตรการดังกล่าวส่งผลให้หนี้ภาครัฐเพิ่มสูงขึ้น

(7) ความซับซ้อนของทางโครงสร้างและกฎหมายที่เกี่ยวข้องทำให้การตัดสินใจกำหนดมาตรการและการดำเนินมาตรการมีความล่าช้าและในบางกรณีไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ตามที่ประกาศไว้ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้น

(8) ขาดกลไกแก้ปัญหาในลักษณะองค์กรถาวรและมีข้อกฎหมายรองรับ ทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายสำหรับการแก้ปัญหาจำเป็นต้องตัดสินใจโดยผู้นำประเทศที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ของยูโรโซนโดยภาพรวมกับคะแนนนิยมทางการเมืองในประเทศ

(9) ขาดมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของที่แท้จริงของวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศสมาชิกที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอและการจัดตั้งกลไกเพื่อนำไปสู่การถ่ายโอนทางการคลังให้กับประเทศดังกล่าวในการบริหารจัดการเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างจากประเทศสมาชิกอื่น ๆ (Asymmetric Shock)

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม Euro Summit (29 มิถุนายน 2555) ได้มีการบรรลุข้อตกลงในแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญๆ ประกอบด้วย

(1) การบรรลุข้อตกลงการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซน โดยให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นแกนนำ ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะปูทางไปสู่การจัดตั้งสหภาพธนาคารยุโรป (Banking Union)

(2) การอนุมัติให้ธนาคารของยูโรโซนได้รับการเพิ่มทุนโดยตรงจากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) และกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพยุโรป (European Stability Mechanism: ESM) เพื่อเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิก รวมทั้งกองทุน ESM จะสามารถเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารพาณิชย์ได้โดยตรงตั้งแต่ปี 2556 โดยไม่ส่งผลให้ภาระหนี้สินในประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือเพิ่มสูงขึ้น

(3) การผ่อนคลายกฎระเบียบของ EFSF/ESM ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าแทรกแซงพันธบัตรของประเทศสมาชิกในตลาดรอง (Secondary Market) เพื่อช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในตลาดพันธบัตร และช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมของประเทศต่างๆ ในยูโรโซน

(4) การบรรลุข้อตกลงกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในยุโรป วงเงิน 1.2 แสนล้านยูโร (1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) คิดเป็นร้อยละ 1.3 ของ GDP กลุ่มยูโรโซน และร้อยละ 4.0 ของ GDP กลุ่ม PIIGS รวมทั้งส่งเสริมการขยายตัวด้านการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของยุโรป

(5) การพิจารณาทบทวนเงื่อนไขในข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์ ซึ่งมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ

(6) การอนุมัติมาตรการต่อต้านวิกฤต 2 ฉบับ ได้แก่ มาตรการการคลังฉบับใหม่ว่าด้วยการสร้างวินัยด้านงบประมาณ มาตรการอัดฉีดเงินมูลค่า 2.0 แสนล้านยูโร (2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) เข้าสู่กองทุน ESM

นอกจากนั้น ในการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรป (9 กรกฎาคม 2555)มีการดำเนินมาตรการเพื่อแก้ปัญหาประกอบด้วย

(1) การอนุมัติวงเงินช่วยเหลือธนาคารสเปนจำนวน 30 พันล้านยูโร (จากวงเงินทั้งหมด 100 พันล้านยูโรตามข้อตกลงในเดือนมิถุนายน 2555)

(2) การขยายกรอบเวลาสำหรับการลดการขาดดุลงบประมาณของสเปนให้เหลือร้อยละ 3.0 ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2556 รวมทั้งวางเงื่อนไขสำหรับการปล่อยสินเชื่อโดยการกำหนดให้มีการปฏิรูปธนาคารสเปน

แนวทางและมาตรการในการประชุม Euro Summit และการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปดังกล่าวสามารถปิดจุดอ่อนของมาตรการการแก้ไขปัญหาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ

(1) มาตรการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจการจ้างงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน วงเงิน 1.2 แสนล้านยูโร (1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) หากนำมาสู่การปฏิบัติจริงจะอยู่ในระดับที่เพียงพอในการช่วยลดความรุนแรงของการหดตัวทางเศรษฐกิจและช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศ PIIGS ในปี 2555 กลับมาฟื้นตัวอย่างช้าๆ

(2) การขยายกรอบเวลาที่สเปนจะลดงบประมาณขาดดุล (Public defcit) ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อไปอีก 1 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ภายในปี 2556 และข้อตกลงที่จะพิจารณาทบทวนเงื่อนไขในข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์ซึ่งมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาและการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางจากการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาโดยใช้มาตรฐานเดียวกันมาเป็นการดำเนินมาตรการที่มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละประเทศมากขึ้น

(3) การมีผลในทางปฏิบัติของ ESM ภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้จะช่วยให้การดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับประเทศสมาชิกที่มีปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งลดข้อจำกัดในเรื่องขีดความสามารถในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกของกองทุน EFSF เนื่องจากการจัดตั้ง ESM นั้นจะทำให้มีเงินทุนสุทธิสำหรับการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

(4) ข้อตกลงในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนโดยให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) เป็นแกนนำก่อนที่จะให้ ESM สามารถเพิ่มทุนให้กับธนาคารพาณิชย์ได้โดยตรงในปี 2556 เป็นการแยกระบบธนาคารในประเทศสมาชิกให้มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลมากขึ้น หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการเสริมสภาพคล่องให้กับภาคเอกชนในประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาความตึงตัวของสินเชื่อเนื่องจากจะสามารถลด Crowding Out Effects ที่เกิดจากระบบธนาคารในประเทศสมาชิกที่มีปัญหานำเม็ดเงินที่ได้จากการช่วยเหลือของทางการยูโรไปใช้ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาล นอกจากนั้นมาตรการดังกล่าวจะทำให้เม็ดเงินความช่วยเหลือสำหรับการเสริมสภาพคล่องแก่ระบบธนาคารไม่ถูกนำไปรวมเป็นหนี้สินภาครัฐซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันในด้านต้นทุนการกู้ยืมในตลาดพันธบัตรของประเทศสมาชิกที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ

(5) การจัดตั้ง ESM และหน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนมีลักษณะเป็นการจัดตั้งกลไกถาวรโดยมีกฎหมายรองรับชัดเจนจะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างอัตโนมัติและเป็นอิสระจากแรงกดดันทางการเมืองของประเทศสมาชิกซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(6) แม้ว่าการจัดตั้งกลไกการถ่ายโอนทางการคลังจะยังขาดความชัดเจนก็ตาม แต่หากสามารถจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของ ยูโรโซนและสหภาพธนาคาร (Banking Union) ได้สำเร็จก็จะเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่อาจจะนำไปสู่การจัดตั้งสหภาพการคลัง (Fiscal Union) เนื่องจากเหตุผลที่สำคัญ 2 ประการคือ ประการแรก การดำเนินการของหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซน จะเป็นเงื่อนไขให้รัฐบาลในประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างภาคการคลังเนื่องจากโอกาสที่จะชดเชยการขาดดุลงบประมาณ

โดยการกู้ยืมจากระบบธนาคารเป็นไปได้ยากขึ้น ในขณะเดียวกันการดำเนินการของหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนจะตัดวงจรความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับระบบธนาคารจะสามารถทำให้ระบบธนาคารในประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติการณ์ทางการคลังมีความเข้มแข็งมากขึ้น ประการที่สองแนวคิดการจัดตั้งสหภาพธนาคาร (Banking Union) มีลักษณะเป็นการถ่ายโอนทางการคลัง โดยผ่านทางกองทุนค้ำประกันเงินฝากของยูโร (Mutual Deposit Insurance Fund) และกองทุนเพื่อฟื้นฟูระบบธนาคาร (Mutual Bailout Fund) ซึ่งจะมีความชัดเจนน้อยกว่าการถ่ายโอนทางการคลังโดยการออกพันธบัตรยูโรหรือการจัดตั้งกองทุนเพื่อไถ่ถอนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิดการจัดตั้งสหภาพการคลัง (Fiscal Union) ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีแรงต่อต้านทางการเมืองในประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือน้อยกว่าการถ่ายโอนทางการคลังภายใต้กรอบแนวคิดการจัดตั้งสหภาพการคลัง (Fiscal Union)

ดังนั้น มาตรการการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของทางการยูโรในการประชุม Euro Summit และในการประชุม รัฐมนตรีคลังยุโรปจึงนับเป็นความคืบหน้าที่สำคัญของการแก้ไขปัญหาการหดตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วยการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละประเทศมากขึ้น รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาความตึงตัวของ สภาพคล่องในประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาและวางกรอบมาตรการเพื่อนำไปสู่การแก้ไขความไม่สมบูรณ์ของระบบเงินตราสกุลเดียวซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมาตรการดังกล่าวสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนปรับตัวดีขึ้นและจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ -0.5 ถึงร้อยละ -0.2 เมื่อรวมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในปี 2555 จะสามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 3.2 - 3.6

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2555 และในปี 2556 ยังมีความเสี่ยงและเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายประการที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจยุโรปและส่งผลให้วิกฤติการณ์กลับมาทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกซึ่งเป็นสถานการณ์ที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ

(1) ความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายใต้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 1.2 แสนล้านยูโร

(2) การเจรจาต่อรองเพื่อผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังระหว่างประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหารุนแรงและทางการยูโร

(3) ความคืบหน้าของการจัดหาเงินทุนตามข้อตกลงการจัดตั้ง ESM มูลค่า 500 พันล้านยูโรและความเพียงพอของเงินกองทุนดังกล่าวในการ รับมือกับความต้องการความช่วยเหลือของประเทศสมาชิกในกรณีที่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินทวีความรุนแรง

(4) ท่าทีของประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจต่อการถูกลดความเป็นอิสระในการบริหารจัดการระบบสถาบันการเงินภายใต้แผนการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำกับดูแลภาคธนาคารของยูโรโซนรวมทั้งท่าทีต่อการถูกลดความเป็นอิสระในการบริหารการคลังภายใต้ข้อเสนอการจัดตั้งสหภาพการคลังยุโรป (Fiscal Union) ในอนาคต

(5) ท่าทีของประเทศสมาชิกขนาดเล็กที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีซึ่งไม่ได้รับประโยชน์มากนักจากระบบเงินตราสกุลเดียวในช่วงที่ผ่านมาแต่จะต้องเข้าร่วมแบกรับภาระทางการคลังสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ยูโร ทั้งภาระที่จะเกิดจากการถ่ายโอนทางการคลังภายใต้การจัดตั้งสหภาพการธนาคาร (Banking Union) และสหภาพการคลังยุโรป (Fiscal Union) ที่อาจมีขึ้นในอนาคต

(6) แรงสนับสนุนทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางและความต่อเนื่องของมาตรการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทาง เศรษฐกิจโดยเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีและเยอรมันที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2556 และเดือนกันยายน 2556 ตามลำดับ

(7) ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์และโปรตุเกสและการตอบสนองของตลาดพันธบัตรก่อนที่ทั้งสองประเทศจะ ออกจากแผนการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินในปี 2555

                                                          ประมาณการเศรษฐกิจปี 2555
                                                    ข้อมูลจริง                    ประมาณการ ปี 2555
                                       ปี 2552     ปี 2553      ปี 2554       21 พ.ค. 55     20 ส.ค. 55
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)          9,041.6   10,104.8    10,540.1         11,573.1       11,478.6
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)             135,144    150,117     155,926          170,415      169,023.0
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    263.3      318.8       345.6            373.3          367.3
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)    3,936.0    4,735.5     5,113.0          5,497.3        5,408.7
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)      -2.3        7.8         0.1          5.5-6.5      5.5 - 6.0
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                -9.2        9.4         3.3             12.3           11.3
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)              -13.1       13.8         7.2             13.0           12.2
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                   2.7       -2.2        -8.7             10.0            8.1
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                0.1        5.1         1.3              4.4            4.7
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)               -1.1        4.8         1.3              4.5            4.8
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                7.5        6.4         1.1              3.5            3.8
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)    -12.5       14.7         9.5             11.5            7.7
   มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)  150.7      193.7       225.4            259.5          241.8
      อัตราการขยายตัว (%)                 -14.0       28.4        16.4             15.1            7.3
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)          -14.2       17.7        10.2             11.8            6.8
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)    -21.5       21.5        13.7             14.2           10.5
   มูลค่าการนำเข้าสินค้า(พันล้านดอลลาร์สรอ.)1/  118.1      161.9       201.9            246.8          229.2
      อัตราการขยายตัว (%)                 -25.2       37.0        24.7             22.3           13.5
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)          -23.2       26.8        13.3             16.5           11.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)1/             32.6       31.8        23.5             12.7           12.6
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/       21.9       13.2        11.9              2.7            0.3
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                    8.3        4.1         3.4              0.7            0.1
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                         -0.9        3.3         3.8          3.5-4.0        2.9-3.4
   GDP Deflator                           1.9        3.7         4.2          3.5-4.0        2.9-3.4
          ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 20 สิงหาคม 2555
    หมายเหตุ:
          1/ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดุลการชำระเงินให้เป็นไปตามคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 ของ IMF
(ดูรายละเอียดที่ http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/Newtable.aspx) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าที่ใช้เป็นฐานในการประมาณการในครั้งก่อนหน้าลดลง

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ