สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค แถลงข่าว 9.30 น. 18 พฤศจิกายน 2556
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 และ 2557
(% YOY) 2555 2556 ประมาณการ ทั้งปี H1 Q3 2556 2557 GDP (ณ ราคาคงที่) 6.5 4.2 2.7 3.0 4.0-5.0 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่) 13.2 5.2 -6.5 0.9 7.1 ภาคเอกชน 14.4 2.4 -3.3 0.7 5.8 ภาครัฐ 8.9 17.0 -16.2 1.3 12.0 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่) 6.8 3.7 0.5 1.6 2.9 ภาคเอกชน 6.7 3.4 -1.2 0.8 2.7 ภาครัฐบาล 7.5 5.4 7.4 5.8 3.8 มูลค่าการส่งออกสินค้า 3.1 1.2 -1.8 0.0 7.0 ปริมาณ 2.5 1.2 -1.2 0.3 6.0 มูลค่าการนำเข้าสินค้า 8.8 3.2 -2.9 0.6 6.7 ปริมาณ 7.1 5.8 -0.9 2.9 6.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -0.4 -2.6 -0.9 -0.9 -0.6 เงินเฟ้อทั่วไป 3.0 2.7 1.7 2.4 2.1-3.1 อัตราการว่างงาน 0.7 0.7 0.8 0.7 0.7 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลง จากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออก ขยายตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า(% QoQ SA)
- ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว ในด้านการผลิต การขยายตัวมีปัจจัยสนับสนุนจากสาขา การโรงแรมและภัตตาคาร การเงิน และคมนาคมขนส่งที่ยังคงขยายตัว
- เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยการบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ร้อยละ 2.4 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.9 ของ GDP
- การประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การดำเนินการตามแผน การลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งราคาน้ำมันและเงินเฟ้อซึ่งอยู่ในระดับต่ำ และเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว ร้อยละ 7.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และ 7.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ร้อยละ 0.6 ของ GDP
- ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2557 ประกอบด้วย 1) การเร่งรัด การส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเพิ่มรายได้จากตลาดหลัก ซึ่งรวมถึงการแก้ไขปัญหาของภาคการผลิต (2) การเพิ่มรายได้จาก ตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และ (3) การส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค และการส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น 2) การเร่งรัด การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) เร่งรัดการใช้นโยบายการส่งเสริม การลงทุนภาคเอกชนภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้มีความชัดเจน และ (2) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคตลอดกระบวนการที่ทำให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาคเอกชนมีความล่าช้า 3) การเร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... และแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว 4) การดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการขยายประเภทหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนการจัดตั้งกลไกร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ เป็นต้น
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว ในด้านการผลิต มีปัจจัยสนับสนุนจากภาคโรงแรมและภัตตาคาร การเงิน และคมนาคมขนส่งที่ยังคงขยายตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสองของปี 2556 และปรับผลของฤดูกาลออก ขยายตัวร้อยละ 1.3 (QoQ_SA %) รวม 9 เดือนแรกของปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.7
(1) การใช้จ่ายครัวเรือน ลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการหดตัวของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ลดลงร้อยละ 24.8 ตามการลดลงของแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสนี้ มีจำนวน 145,801 คัน ลดลงจาก 193,756 คัน ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่การบริโภคสินค้า ในหมวดอื่นๆ ชะลอตัวตามเงื่อนไขทางด้านรายได้และการเงิน โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรและรายได้จากการส่งออกที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว รวมทั้งความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของภาคการเงินภายใต้ การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 72.9 ในไตรมาสที่สอง มาอยู่ที่ระดับ 69.3 ในไตรมาสนี้
รวม 9 เดือนแรกของปี การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.9
(2) การลงทุนรวม ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 จากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ลดลงร้อยละ 16.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการลดลงทั้งการลงทุนของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 3.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากฐานการขยายตัวที่สูงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงร้อยละ 6.1 ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.8 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากระดับ 50.9 ในไตรมาสที่สอง เป็นระดับ 47.8 ในไตรมาสนี้
รวม 9 เดือนแรกของปี การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.1
(3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่ารวม 57,964 ล้านดอลลาร์ สรอ. หดตัวร้อยละ 1.8 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์และราคาสินค้าในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะซบเซา รวมทั้งการผลิตสินค้าประมงได้รับความเสียหายเนื่องจากโรคตายด่วนของกุ้ง และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
สินค้าส่งออกที่ยังขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ 7.2) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 18.7) ผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม (ร้อยละ 9.6) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 4.6) ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวเล็กน้อย (ลดลงร้อยละ 0.2) จากสินค้าหลัก คือ ยางพารา แม้ว่าการส่งออกข้าว และมันสำปะหลังจะกลับมาขยายตัว
การส่งออกไปตลาดหลัก สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 0.7 และ ร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ตลาดญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 10.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการอ่อนลงของค่าเงินเยน ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.8 การส่งออกไปยังฮ่องกง และออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 1.4 และ ร้อยละ 5.5 ตามลำดับ
รวม 9 เดือนแรกของปี มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 169,708 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 2.4
(4) ภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง และกุ้งเนื่องจากการระบาดของโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) สำหรับราคาสินค้าเกษตรขยายตัว เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดประมง ปศุสัตว์ ไม้ผล และ มันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาสินค้าพืชผลสำคัญหดตัว ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 1.4
รวม 9 เดือนแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9
(5) ภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลง ของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกและปริมาณการผลิตรถยนต์ที่สูงกว่าปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ 3.6 ในขณะที่การผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศขยายตัว
รวม 9 เดือนแรกของปี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.1
(6) ภาคการก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน ตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐที่หดตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อน ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และร้อยละ 17.9 ตามลำดับ
รวม 9 เดือนแรกของปี ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.9
(7) สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 15.1 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1 มีรายรับประมาณ 3.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.7 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวสูง 3 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน ลาว และมาเลเซีย ตามลำดับ
รวม 9 เดือนแรกของปี สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.7
สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่ำกว่าช่วงการประมาณการร้อยละ 3.8 - 4.3 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เนื่องจากการส่งออกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ และปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปีมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายการผลิตของภาคเอกชนที่ 2.5 ล้านคัน รวมทั้งการดำเนินการ ตามแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ไม่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน การบริโภคของครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 0.9 อัตรา เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.9 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 7.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และ ร้อยละ 7.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP
- ด้านการใช้จ่าย
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวเนื่องจากฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การบริโภคสินค้าอื่นๆ ชะลอตัวลง ตามภาวะรายได้และการเงินที่มีข้อจำกัดมากขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2556 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการหดตัวของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 24.8 เนื่องจากการลดลงของแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสนี้ปรับตัวลงมาอยู่ที่ 145,801 คันเทียบกับปริมาณการจำหน่ายในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสูงถึง 193,756 คัน เมื่อประกอบกับเงื่อนไขทางด้านรายได้และการเงิน โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรและรายได้จากการส่งออกที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว รวมทั้งความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของภาคการเงินภายใต้การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจและ การเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนในช่วงหลังปัญหาอุทกภัย ทำให้การใช้จ่ายอื่นๆ ชะลอตัว โดยปริมาณ การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค หดตัวร้อยละ 8.6 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ และปริมาณการจำหน่ายโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลง คือขยายตัวร้อยละ 0.7 4.2 และร้อยละ 22.4 ตามลำดับสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) ซึ่งลดลงร้อยละ 7.2 ในไตรมาสนี้ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากระดับ 73.8 ในไตรมาสแรก เป็นระดับ 72.9 และระดับ 69.3 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ
การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงเนื่องจากฐานที่สูงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร แต่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามของปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากฐานการขยายตัวที่สูงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศลดลงร้อยละ 26.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 53.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2555 และร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2556 อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างยังขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.8 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายเหล็กและปูนซีเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 17.9 และร้อยละ 8.7 ตามลำดับ และในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับตัวลดลงจากระดับ 52.2 และระดับ 50.9 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ มาอยู่ที่ระดับ 47.8 ในไตรมาสที่สาม ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เริ่มปรับตัวลดลงจากฐานที่สูง 302.8 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สามของปี 2555 เป็น 105.1 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สามของปีนี้ (ลดลงร้อยละ 65.3) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนยังคงเพิ่มขึ้น 309.6 พันล้านบาท เทียบกับ 192.6 พันล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.7)
การส่งออก: ยังคงหดตัวต่อเนื่องเนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ และราคาสินค้าในตลาดโลกที่ยังอยู่ในภาวะซบเซา รวมทั้งข้อจำกัดทางด้านการผลิตสินค้าประมง และการเปลี่ยนแปลง ทางด้านเทคโนโลยี การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2556 มีมูลค่ารวม 57,964 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 1,824,862 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 1.8 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.2 ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 อย่างไรก็ตาม เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
การส่งออกสินค้าเกษตร: ปริมาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ราคาส่งออกลดลงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลง มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลลดลง และส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยภาพรวมลดลงร้อยละ 1.5 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เนื่องจากราคาข้าวไทยในตลาดโลกลดลงและอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง จึงทำให้สามารถส่งออกข้าวในปริมาณที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 19.1 จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 11.1 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคายางที่ลดลงต่อเนื่องในตลาดโลก ในภาวะที่เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลที่ลดลงตามการลดลงของทั้งราคาและปริมาณการส่งออก สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังอ่อนแอ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้การใช้ Hard Disk Drive ลดลง ซึ่งทำให้ปริมาณและมูลค่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1.4 แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง ตามลำดับ แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สินค้าส่งออกอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ 7.2) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 18.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 9.6) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 4.6) ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออก Hard Disk Drive ยังคงปรับตัวลดลงจากฐานที่ต่ำร้อยละ 17.5 เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ Solid State Drive (SSD) และ Flash Drive ซึ่งเป็นสินค้าในประเภทเดียวกันได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น
ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (15) ขยายตัวจากฐานที่ต่ำใน ไตรมาสเดียวกันของปี 2555 ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลียหดตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกไปยังสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 0.7 และร้อยละ 3.3 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคธุรกิจเอกชนในสหรัฐฯ และการเริ่มฟื้นตัวจากภาวะความถดถอยของเศรษฐกิจยุโรป ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.8 การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการอ่อนลงของค่าเงินเยน ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงลดลงร้อยละ 1.4 และการส่งออก ไปออสเตรเลียลดลงร้อยละ 5.5 จากการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์
การนำเข้า: ปรับตัวลดลงตามการหดตัวของภาคการส่งออก อุปสงค์ในประเทศที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว รวมทั้งฐานการนำเข้าสินค้าทุนที่สูงผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และราคานำเข้าที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามของปี 2556 การนำเข้ามีมูลค่ารวม 52,931 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.9 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ในขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ร้อยละ 0.2 จากฐานการขยายตัวที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ตามการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลก โดยเฉพาะทองคำ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เมื่อหักการนำเข้าทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 1,665,658 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า มูลค่าสินค้านำเข้าลดลงในทุกหมวด โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง หดตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าเชื้อเพลิงและสินค้าอุตสาหกรรมที่มิใช่อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นสำคัญ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่ พลาสติก และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว มูลค่า การนำเข้าสินค้าหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะการนำเข้าในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วนและหม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า เป็นต้น ในขณะที่การนำเข้าสินค้าในกลุ่มอากาศยานขยายตัวต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้ มีการนำเข้าอากาศยานคิดเป็นมูลค่า 762 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 91.8 มูลค่าการนำเข้าสินค้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของการใช้จ่ายครัวเรือน รายการสินค้านำเข้าที่ชะลอตัวลง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) เครื่องดนตรี และผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง เป็นต้น ในขณะที่รายการสินค้านำเข้าในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ยังขยายตัวต่อเนื่อง
อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 ในขณะที่ราคานำเข้าหดตัวร้อยละ 2.0 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2556 อยู่ที่ 101.9 เทียบกับ 102.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
ดุลการค้า: เกินดุลหลังจากการขาดดุลติดต่อกัน 2 ไตรมาส โดยดุลการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2556 เกินดุล 5,033 ล้านดอลลาร์ สรอ. (159,204 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 271 ล้านดอลลาร์ สรอ. (9,366 ล้านบาท) และ 497 ล้านดอลลาร์ สรอ. (13,046 ล้านบาท) ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าการนำเข้าหดตัวเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก
- ด้านการผลิต
สาขาเกษตรกรรม การผลิตหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น แต่รายได้เกษตรกรลดลงตามผลผลิตที่ลดลงและ การปรับตัวลดลงของราคาพืชผลสำคัญๆ ในไตรมาสที่สาม การผลิตสาขาเกษตรกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 0.7 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการลดลงของผลผลิตข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพด ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วง และการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคตายด่วน (EMS) ในกุ้ง ซึ่งเกษตรกรต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวและคาดว่าการผลิตกุ้งจะเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2557 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตไม้ผล เช่นเดียวกับผลผลิตปศุสัตว์ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรก ในรอบ 8 ไตรมาส ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดประมง (ร้อยละ 60.8) ไม้ผล (ร้อยละ 14.1) และปศุสัตว์ (ร้อยละ 17.2) ในขณะที่ราคาพืชผลสำคัญส่วนใหญ่ลดลง การลดลงของผลผลิตและราคาพืชผลสำคัญส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 1.4
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวตามการหดตัวของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก รวมทั้งปริมาณ การผลิตรถยนต์ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม การผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศขยายตัว ในไตรมาสที่สาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการหดตัวช้าลงจากการหดตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 3.6 โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ (1) การสิ้นสุดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกซึ่งส่งผลให้การผลิตรถยนต์หดตัวร้อยละ 11.0 และทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30 - 60 หดตัวร้อยละ 8.3 และ (2) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ลดลงร้อยละ 4.1 โดยอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำ (ร้อยละ 30.5) หลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 2.1) ฮาร์ดดิสไดรฟ์ (ร้อยละ 0.7) และอัญมณี (ร้อยละ 21.4) อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ขยายตัว ร้อยละ 0.9 ในภาพรวม อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม (ร้อยละ 8.4) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 7.1) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 1.0) และอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ (ร้อยละ 0.3) อุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 11.2) ยานยนต์ (ร้อยละ 11.0) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 19.4) เครื่องหนัง (ร้อยละ 6.6) สิ่งทอ (ร้อยละ 1.1) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 2.3) และการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.6 เทียบกับร้อยละ 64.1 และร้อยละ 66.6 ในไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วตามลำดับ
สาขาก่อสร้าง หดตัวตามการก่อสร้างภาครัฐ ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาส ที่สาม สาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อน เนื่องจาก การก่อสร้างภาครัฐหดตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.1 ในไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.0 และร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่สองและสาม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 8.7 และร้อยละ 17.9 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต
สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ราคาบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ปรับตัว เร่งขึ้นตามราคาที่ดิน ในไตรมาสที่สาม สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อน ในด้านอุปสงค์ ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสที่สอง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 12.2 ในไตรมาสที่สอง ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการของธนาคารพาณิชย์และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.3 และร้อยละ 30.6 ตามลำดับ ในขณะที่ระดับราคายังคงเพิ่มขึ้น โดยราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ส่งผลให้ราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาอาคารชุดชะลอตัวจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 ร้อยละ 4.3 ในไตรมาสแรกและ ไตรมาสที่สอง ตามลำดับ มาเป็นร้อยละ 3.8 ในไตรมาสนี้
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สาม สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 15.1 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 14.2 ในไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในไตรมาสที่สามทั้งสิ้น 6.7 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 320,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 26.1 และร้อยละ 32.7 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 57.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 62.5 ในไตรมาสนี้
นักท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง ได้แก่ จีน (ร้อยละ 82.9) ลาว (ร้อยละ 32.3) และมาเลเซีย (ร้อยละ 22.8) โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนสูง 5 อันดับแรก ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน (ร้อยละ 21.0) มาเลเซีย (ร้อยละ 11.3) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 6.2) เกาหลี (ร้อยละ 5.0) และลาว (ร้อยละ 5.0)
ภาคการค้าส่งค้าปลีก ชะลอตัวตามภาวะอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สาม ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการหดตัวของการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 1.2 รวมทั้งการปรับตัวลดลงของดัชนีค้าปลีกร้อยละ 3.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นการหดตัวของดัชนีในหมวดห้างสรรพสินค้าและรถยนต์ ในขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มขยายตัวในระดับสูง เช่นเดียวกับดัชนีค้าส่งที่หดตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการหดตัวของดัชนีในหมวดเชื้อเพลิงและเครื่องจักร ในขณะที่หมวดอาหาร และวัสดุก่อสร้างขยายตัวสูง และหมวดวัตถุดิบการเกษตรขยายตัวเล็กน้อย
การจ้างงาน ไตรมาสที่สาม ปี 2556 มีการจ้างงาน 39.11 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.2 ตามการจ้างงานของภาคเกษตร (ลดลง 278,646 คน หรือลดลงร้อยละ 1.7) และนอกภาคเกษตร (ลดลง 187,298 คน หรือลดลง ร้อยละ 0.8) โดยการจ้างงานภาคเกษตรลดลงเนื่องจากภูมิอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในการปลูกพืชโดยเฉพาะข้าว ส่วนนอกภาคการเกษตรลดลงตามสาขา (1) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร จ้างงานลดลง 138,456 คน หรือลดลงร้อยละ 6.0 โดยเป็นการลดลงในส่วนของการบริการอาหารและเครื่องดื่ม (2) สาขาก่อสร้าง จ้างงานลดลง 74,550 คน หรือลดลงร้อยละ 3.2 โดยเป็นการลดลงในส่วนของการก่อสร้างอาคาร และ (3) สาขาค้าส่งและค้าปลีก จ้างงานลดลง 72,087 คน หรือลดลงร้อยละ 1.2 โดยเป็นการลดลงในส่วนของการขายส่ง ทั้งนี้ การลดลงของการจ้างงานในภาคบริการส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประกอบกับแรงงานในระบบส่วนหนึ่งไม่ต้องการทำงานหนักโดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง ส่งผลให้มีการจ้างแรงงานนอกระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สาขาอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 129,740 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ยางและพลาสติก และการพิมพ์ เป็นสำคัญ
สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 305,600 คน เพิ่มขึ้น 74,790 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ สัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่อยู่ที่ระดับ 0.5 เทียบกับระดับ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนตลาดแรงงานที่สถานการณ์ตึงตัวน้อยลง
- ภาวะการคลัง
การจัดเก็บรายได้: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2556 (กรกฎาคม - กันยายน 2556) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 537,473.5 ล้านบาท ลดลง 6,279.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 จากไตรมาสเดียวกัน ของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของการนำส่งรายได้จากรัฐวิสาหกิจร้อยละ 57.5 เนื่องจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เลื่อนการนำส่งเงินปันผลเป็นเดือนตุลาคม 2556 ประกอบกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัวส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าลดลง ประกอบกับผลจากการดำเนินมาตรการคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ทำให้การจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงกว่าปกติ และส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลดลงร้อยละ 26.6 นอกจากนั้น การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในไตรมาสที่สี่ต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 4.9 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้รับผลกระทบจากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 20 และผู้ประกอบการบางส่วนยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 ซึ่งจัดเก็บจากฐานรายได้ครึ่งปีบัญชีแรกของปี 2556
รวมทั้งปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,157,471.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 9.2 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นรายได้จาก การประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท
การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 682,625 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.8 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 451,205 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 2.4) และรายจ่ายลงทุน 231,420 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 18.4) ประกอบด้วย
(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ไตรมาสที่สี่มีการเบิกจ่ายจำนวน 506,329.5 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.1 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 ซึ่งเป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายไปแล้วในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและสองของปีงบประมาณ โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 429,046.6 ล้านบาท (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 21.5 และต่ำกว่าการเบิกจ่ายในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วร้อยละ 1.1) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 77,282.8 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30 เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณมีความล่าช้า ประกอบกับอุปสรรคในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การขาดแคลนผู้รับจ้างและความล่าช้าในขั้นตอน การประกวดราคา) ทำให้หน่วยงานไม่สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ทันตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย
(2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี จำนวน 41,326.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 73.6 เนื่องจากมีการกันเงินเหลื่อมปีเพื่อเบิกจ่ายในปีนี้สูงกว่าปีก่อน (โดยมีอัตรา การเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 13.8 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.6)
(3) เงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 10,782 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 3,162 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 4,005 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 3,615 ล้านบาท และ
(4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนจำนวน 124,184 ล้านบาท ลดลง 36,079 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว หรือลดลงร้อยละ 22.5 โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่
รวมทั้งปี 2556 มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,880,204 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.3 โดยเป็น การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 จำนวน 2,171,425 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 90.5 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 94) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 276,574 ล้านบาท (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 67.8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 80) การเบิกจ่ายงบประมาณกันเหลื่อมปี อยู่ที่ 231,020.9 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 57.6 และคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 77.2 ซึ่ง ถือว่าสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่ค้างอยู่ได้ดีกว่าปีก่อนหน้า) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่าย 36,244 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.6) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายจำนวน 441,502 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.9)
ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลเกินดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด จำนวน 180,426.4 ล้านบาท เป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 16,955.1 ล้านบาท และเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 137,129.4 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 60,252.1 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 603,924 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 43,587 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.8
รวมทั้งปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 244,872.3 ล้านบาท แต่เกินดุลเงินนอกงบประมาณ 6,510.7 ล้านบาท และมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 281,948.8 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2556 วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 300,000 ล้านบาท) ส่งผลให้ทั้งปีรัฐบาลมีดุลเงินสด หลังกู้ทั้งสิ้น 43,587.2 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 มีจำนวน 5,430,560 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.5 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จำนวน 116,976.8 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณที่แล้ว 499,300 ล้านบาท) โดยแบ่งออกเป็น หนี้ของรัฐบาล 3,774,819.5 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,112,973 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 541,932 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.5 ร้อยละ 20.5 และร้อยละ 10.0 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ
- ภาวะการเงิน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ในไตรมาสที่สามของปี 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นอินเดียและอินโดนีเซีย ที่ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่สาม เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน ในประเทศ ส่วนประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในเดือนตุลาคม 2556 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ในขณะที่ธนาคารกลางของอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 ต่อปี เพื่อลด แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2556 ธนาคารกลางยุโรป ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinance rate) ลงจากร้อยละ 0.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี และอัตราดอกเบี้ย marginal lending facility อีกร้อยละ 0.25 ต่อปีซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ เพื่อลดความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืดและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่อินโดนีเซียประกาศ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งจากร้อยละ 7.25 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.50 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันจากการ ไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายและรักษาเสถียรภาพด้านราคา
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งและธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2556 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนและอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งและธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางยังทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยปรับเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงมีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเพื่อรักษาฐานเงินฝาก อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นไตรมาสที่สาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริง1 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 1.08 ต่อปี และร้อยละ 5.58 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส ล่าสุด ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2556 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยยังทรงตัวต่อเนื่องจากสิ้นไตรมาสที่สาม
เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 7.5 ชะลอตัวลงจาก ร้อยละ 10.1 ในไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสถาบันการเงินจะเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในอนาคตและเพื่อรักษาฐานลูกค้าของสถาบันการเงิน แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ฝากเงินโดยลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (เช่น LTF RMF และประกันชีวิต) ส่งผลให้เงินฝากขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 คาดว่า การแข่งขันในการระดมเงินฝากของสถาบันการเงินมีแนวโน้มสูงขึ้น ในการรองรับสินเชื่อและเพื่อชดเชยการลดลงของเงินฝาก อันเนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของ ผู้ฝากเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงและสามารถลดหย่อนภาษีได้
สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 14.5 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ ร้อยละ 12.4 ตามการลดลงของสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 8.1 และสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 12.8 ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวประกอบกับสถาบันการเงินเริ่มเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ยังขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนไทยในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 13.4 เร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 13.0 ในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 11.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว และจำนวนบัตรเครดิตยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ตึงตัวน้อยลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่สภาพคล่องส่วนเกิน2 ปรับตัวลดลง โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์คลายตัวขึ้นจากร้อยละ 101.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 100.4 ในขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินปรับตัวลดลงจาก 1,314.4 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 1,237.5 พันล้านบาท
ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามการคาดการณ์ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ โดยอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สามอยู่ที่เฉลี่ย 31.48 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ย 29.91 และ 31.36 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในช่วง ต้นไตรมาส เงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ตามการไหลออกของเงินทุน เนื่องจาก (1) การคาดการณ์ ในการปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (QE Tapering) ภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองของไทยและประเทศในภูมิภาคชะลอตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาสแรก และ (3) ความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของอินโดนีเซียและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนกันยายน เงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะคงมาตรการ QE ต่อไป ส่งผลให้เงินทุนไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย โดยภาพรวม ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สามอ่อนค่าลงจากไตรมาสที่สองร้อยละ 5.2 สอดคล้องกับการอ่อนค่าของเงินตราสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย และค่าเงินรูปีของอินเดีย ที่อ่อนค่าลง ร้อยละ 11.1 และ 8.9 ตามลำดับ
ในเดือนตุลาคม เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนกันยายน โดยมีค่าเฉลี่ยเดือนตุลาคมที่ 31.22 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. (แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.5) และเฉลี่ยในวันที่ 1-15 พฤศจิกายน เท่ากับ 31.41 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆปรับตัวอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อน แต่ยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับข่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2556 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 104.55 อ่อนค่าลงร้อยละ 1.97 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 3.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.83 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยลดลง
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิจากภาคธนาคารเป็นสำคัญ3 ในไตรมาสที่สาม มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 3.33 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการปรับตัวจากการไหลเข้าสุทธิในสองไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) การชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคธนาคาร ซึ่งทำให้บัญชีเงินกู้จากต่างประเทศ มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 4.57 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หลังจากที่ภาคธนาคารมีการกู้ยืมเงินระยะสั้น จากต่างประเทศเพื่อบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี (2) บัญชีสินเชื่อทางการค้ากับคู่ค้าต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกสุทธิที่ 2.22 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และ (3) การไหลออกสุทธิในบัญชีการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติในภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และภาคธนาคาร จากความกังวลต่อการลดขนาดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติในภาคอื่นๆ ยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการไหลเข้าสุทธิของเงินทุนจำนวน 4.04 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก 1.13 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า
ดุลบัญชีเดินสะพัด: ในไตรมาสที่สามของปี 2556 บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 888 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 27,354 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 561 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 18,076 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปี 2555 และการขาดดุล 6,664 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 196,744 ล้านบาท) ในไตรมาสที่สองของปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 5,033 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 5,921 ล้านดอลลาร์ สรอ.
เงินสำรองระหว่างประเทศ: ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 172.29 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 21.21 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ปี 2556) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 9.8 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สาม ปี 2556)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สามของปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาผักผลไม้และราคาพลังงานเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคา ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวลงของราคาผักและผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่ปริมาณผลผลิตผักและผลไม้ออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงตามการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ในงวดเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2556 ลงในอัตรา 5.12 สตางค์ต่อหน่วย โดยราคาสินค้าในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า4
ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า5
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งไตรมาส จากความไม่ชัดเจน ในทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ณ สิ้นไตรมาสที่สาม SET index ปิดที่ 1,383.2 จุด ลดลงร้อยละ 4.7 จากไตรมาสที่สอง มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงมาอยู่ที่ 42.5 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ รวม 29.8 พันล้านบาท โดยแรงขายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม คิดเป็นมูลค่าขายสุทธิสูงถึง 39.9 พันล้านบาท ตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นปัจจัยกดดันต่อการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากความกังวลต่อ (1) การปรับลดขนาดวงเงินของมาตรการ QE ของ FED ภายหลังเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง (2) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว รวมทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศ และ (3) ปัญหาเศรษฐกิจในอินโดนีเซียและอินเดีย อย่างไรก็ตามภายหลัง FED มีมติในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายน 2556 ที่จะคงระดับวงเงินที่ใช้ในมาตรการ QE ต่อไป นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิอีกครั้ง และทำให้ SET index ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,275.7 จุดในวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เป็น 1,439.1 จุด ในวันที่ 18 กันยายน 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 และในช่วงปลายไตรมาส ดัชนีปรับตัวผันผวนอีกครั้ง จากความกังวลของนักลงทุน ต่อความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาทางการคลังของสหรัฐฯ
ในเดือนตุลาคม 2556 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,442.9 จุด แต่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันปรับลดลงเป็น 36.7 พันล้านบาท จาก 43.8 พันล้านบาทในเดือนกันยายน โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1.2 พันล้านบาท ต่อเนื่องจากการซื้อสุทธิที่ 9.6 พันล้านบาทในเดือนกันยายน ภายหลัง FED ส่งสัญญาณการคงมาตรการ QE ต่อไป ในการประชุมวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2556 ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 15 พฤศจิกายน ดัชนีปรับตัวในทิศทางลดลง จากเดือนก่อนหน้า ตามความกังวลของนักลงทุนต่อการลดขนาดมาตรการ QE ในไตรมาสแรกปี 2557 และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดขายสุทธิสูงถึง 21.9 พันล้านบาท
มูลค่าการซื้อขายพันธบัตรลดลง แต่ยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลทรงตัว มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สามเท่ากับ 74.4 พันล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 100.5 พันล้านบาทในไตรมาสสอง แต่นักลงทุนต่างชาติยังคงมียอดซื้อสุทธิ 91.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดซื้อสุทธิ 38.6 พันล้านบาทในไตรมาส ก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินในช่วงที่เหลือ ของปี 2556 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) อายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 5.2 จากไตรมาสสอง ตามการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 22.2 จากไตรมาสสองปี 2556
ในเดือนตุลาคม 2556 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 75.4 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับ 75.8 พันล้านบาทในเดือนกันยายน โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงมียอดซื้อสุทธิที่ 44.5 พันล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า Fed จะยังคงดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินต่อไป จนกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านกรอบงบประมาณรายจ่ายและแนวทาง การแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ หลังจากมาตรการแก้ไขปัญหาชั่วคราวสิ้นสุดลง และเป็นปัจจัยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้
การระดมทุนในตลาดแรกของภาครัฐยังคงอยู่ในระดับสูงและใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ การระดมทุนภาคเอกชนลดลงอย่างมาก ในไตรมาสที่สาม มีพันธบัตรออกใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 1,757.4 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 106.1 พันล้านบาท ตั๋วเงินคลังและตั๋วสัญญาใช้เงิน 105.0 พันล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 94.9 พันล้านบาท และพันธบัตรของธนาคาร แห่งประเทศไทย 1,451.4 พันล้านบาท สำหรับการระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ มีมูลค่ารวม 342.3 พันล้านบาท ลดลงจาก 732.1 พันล้านบาท และ 362.5 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า และในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ในสาขาตัวกลางทางการเงิน สาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาการผลิต และสาขาการขนส่ง สถานที่เก็บสินค้า และการคมนาคม
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สามของปี 2556 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 106.89 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.9 และร้อยละ 3.8 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบตลาด เวสท์เท็กซัส (WTI) เป็นสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.5 ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนท์อยู่ในระดับทรงตัว ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโอมาน และดูไบลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 และร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.3 และร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบดังกล่าวเป็นผลมาจากปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางโดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในซีเรีย ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเหตุการณ์ความไม่สงบอาจขยายไปทั่วตะวันออกกลางและกระทบต่อกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่
ในช่วง 10 เดือนแรกของปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 104.40 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ saar) โดยเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ขยายตัวร้อยละ 1.6 (%YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นอัตราการขยายตัวเท่ากับไตรมาสที่สอง โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าและบริการที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 เทียบกับร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อน ส่งผลให้ การส่งออกสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นและเป็นแรงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อุปสงค์ภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางยังคงหดตัวร้อยละ 1.7 ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 อันเป็นผลมาจากการตัดลดงบประมาณของรัฐบาลกลางเพื่อปรับสมดุลภาคการคลัง (Fiscal consolidation) เครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ยังแสดงให้เห็นการฟื้นตัวของภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 ขณะเดียวกันเครื่องชี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ดังจะเห็นได้จากดัชนีตลาดบ้าน NAHB ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 58 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่พฤศจิกายน 2548 เช่นเดียวกับดัชนีราคาที่อยู่อาศัย FHFA ในเดือนสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 8.5 เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 เสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 7.2 ในเดือนกันยายนเทียบกับร้อยละ 7.8 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สาม สูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนต่อรายได้ลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้นและอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่อง ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงขนาดมาตรการขยายปริมาณเงิน (Quantitative easing) ไว้ที่ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือนเช่นเดิม โดยได้ให้เหตุผลว่าสถานการณ์ด้านการคลังยังมีความเปราะบาง อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Mortgage rate) ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจึงทำให้ Fed ยังตัดสินใจคงขนาดของมาตรการขยายปริมาณเงิน และคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำต่อไป ในขณะที่สถานการณ์ด้านการคลังยังคงเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2556 จากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับงบประมาณประจำปี 2557 และการปฏิรูประบบสาธารณสุขกอปรกับระดับ หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มถึงระดับเพดานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายจนนำมาสู่การปิดทำการชั่วคราว ของรัฐบาลกลางในช่วงวันที่ 1 ถึง 18 ตุลาคม 2556 อย่างไรก็ตามพรรคเดโมเครทและรีพลับริกันสามารถ หาข้อตกลงร่วมกันในการที่จะเพิ่มเพดานหนี้ชั่วคราวเพื่อให้รัฐบาลสามารถกลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง ทั้งนี้การปิดทำการของรัฐบาลดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสที่สาม
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ sa) เป็นการขยายตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส อย่างไรตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อนยังคงหดตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเป็นการหดตัวที่น้อยที่สุดในรอบ 5 ไตรมาส สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้ม การฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงที่ผ่านมา โดยแรงสนับสนุนการขยายตัวที่สำคัญมาจาก อุปสงค์ต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังคงอ่อนแอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการว่างงานที่สูงถึงร้อยละ 12.2 ภายใต้เงื่อนไขอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวในระดับต่ำ อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันอยู่ในภาวะซบเซา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สามอยู่ที่ร้อยละ 1.3 ซึ่งต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการเกิดแนวโน้มภาวะเงินฝืด ทำให้ธนาคารกลางยุโรปตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือเพียงร้อยละ 0.25 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลเนื่องจากได้แรงส่งจากการอ่อนค่าของเงินยูโรและอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (%YoY) เร่งขึ้นจากไตรมาสหนึ่งและสองที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 และ 1.2 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.5 (%QoQ sa) ต่อเนื่องจากร้อยละ 1.1 และ 0.9 ในไตรมาสที่หนึ่งและสองตามลำดับ เฉลี่ยรวมสามไตรมาสแรกของปี 2556 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยแรงสนับสนุนหลักของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สาม มาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวดีทั้งการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเร่งการบริโภคก่อนที่จะมีการดำเนินมาตรการเพิ่มอัตราภาษีการบริโภค (Consumption tax) จากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2557 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยนประมาณร้อยละ 19 ในช่วง 9 เดือนแรกของปีเนื่องจากผลของมาตรการขยายปริมาณเงินยังส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นมากในไตรมาสที่สาม โดยขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 12.5 เช่นเดียวกับภาคการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (IPI) เฉลี่ยเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมขยายตัวร้อยละ 0.8 ขยายตัวเป็นครั้งแรกหลังจากติดลบมา 4 ไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกัน สำหรับอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สาม เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันด้านเงินฝืดเริ่มมีแนวโน้มลดลง
- เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 7.8 เร่งตัวสูงขึ้นจากสองไตรมาสแรกของปี และขยายตัว ได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยเฉลี่ยรวมสามไตรมาสแรกของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 7.7 โดยเป็นผลจากการดำเนินมาตรการการคลังของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มในเดือนกรกฎาคม 2556 เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและช่วยสร้างสมดุลของโครงสร้างเศรษฐกิจ อาทิ การลดอัตราภาษีนิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศในไตรมาสที่สามขยายตัวดีขึ้น โดยดัชนี การผลิตภาคอุตสาหกรรม (PMI) ในไตรมาสที่สามเฉลี่ยอยู่ที่ 49.6 สูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าและยังคงสูงขึ้นเป็น 51.4 ในเดือนตุลาคม 2556 ส่วนการบริโภคภาคครัวเรือน พบว่ายอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวได้สูงต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 13.3 เร่งขึ้นจากครึ่งปีแรก สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ขยายตัวร้อยละ 20.2 รวมถึงการลงทุนก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการทางภาษีและลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ขณะที่มูลค่าการส่งออกเริ่มหดตัว โดยหดตัวร้อยละ 0.4 ในเดือนกันยายน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สาม ขยายตัวเพียง ร้อยละ 3.9 ชะลอลงมากจากร้อยละ 11.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี ทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่องจากราคาอาหารสด โดยในไตรมาสที่สาม เฉลี่ยร้อยละ 2.8 เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 2.4 ในครึ่งแรกของปี ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากที่เคยหดตัวมาโดยตลอด โดยสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมประเภทโลหะ
- เศรษฐกิจอินเดีย ในไตรมาสที่สามคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่สอง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.4 โดยมีแรงสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.6 ในไตรมาสที่สาม เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่สอง ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ 9.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากการลดลงของมูลค่านำเข้าทองคำ ส่งผลให้การขาดดุลการค้าในไตรมาสที่สามลดลง ในขณะที่ดัชนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สามกลับมาขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อน ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจน ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจอินเดียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและราคาน้ำมัน โดยดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่สามยังคงอยู่ในระดับสูงร้อยละ 9.7 เทียบกับร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นสี่เดือนติดต่อกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องคิดเป็นเฉลี่ยร้อยละ 15 ในช่วงไตรมาสที่สาม เช่นเดียวกับดัชนีราคาขายส่งปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.4 เทียบกับร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่สอง ในขณะที่รัฐบาลยังเผชิญปัญหาการขาดดุลแฝด (Twin Deficit) เนื่องจากงบประมาณรัฐบาลที่ยังคงขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงขาดดุลแม้จะเริ่มน้อยลง ทั้งนี้ธนาคารกลางของอินเดียได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งหมดร้อยละ 0.5 นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ร้อยละ 7.75 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงต่อเนื่อง
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrial Economies) ในไตรมาสที่สามขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 3.3 1.6 5.1 และ 2.9 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 2.3 2.5 4.2 และ 3.2 ในไตรมาสก่อน แรงสนับสนุนสำคัญมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้เร่งตัวจากการใช้จ่ายภายในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งชดเชยการส่งออกที่หดตัวเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการอ่อนค่าของค่าเงินเยนที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาส่งออก โดยเปรียบเทียบของเกาหลีใต้ ขณะเดียวกัน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันเร่งตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนทางด้านเครื่องจักร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่วนเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวดีขึ้นจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งขยายตัวสูงร้อยละ 4.5 สูงกว่า การขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจาก การขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวในภาคการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน ในขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัวได้สูงโดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคการเงินและการค้าปลีก ค้าส่งภายในประเทศ สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของ NIEs พบว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกันกับอัตราการว่างงาน นอกจากนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้ ไต้หวันและสิงคโปร์เกินดุล มีเพียงฮ่องกงประเทศเดียวที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจากการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น
- เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน โดยรวมยังคงขยายตัวได้ดีในไตรมาสที่สาม โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เวียดนามและมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.6 5.5 และ 5.0 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 5.8 5.0 และ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีอัตราการขยายตัวในไตรมาสที่สามชะลอลงจากไตรมาสก่อน ถือเป็นอัตรา การขยายตัวที่ต่ำที่สุดในรอบสี่ปี โดยเป็นผลมาจากการลงทุนที่ชะลอตัวมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 5.75 ในเดือนพฤษภาคมเป็นร้อยละ 7.50 ในเดือนพฤศจิกายน เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงถึงเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ในไตรมาสที่สาม นอกจากนี้ยังมีปริมาณเงินทุนไหลออกจำนวนมากทำให้อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงไตรมาส ที่สามอ่อนค่าลงเฉลี่ยร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก มาจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ยังคงขยายตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจมาเลเซียปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นตัวของการส่งออกในไตรมาสที่สามซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 2.6 และ 5.4 ในไตรมาสแรกและสอง ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเร่งขึ้น โดยเป็นผลจาก การขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 51.5 สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2554 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 52.2 ส่งผลให้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในไตรมาส ที่สอง เป็นร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สาม ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่สามขยายตัวดีต่อเนื่องจากเงินส่งกลับของแรงงานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดี เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2555 อัตรา เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 3.0 ในปี 2555 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.9 ของ GDP จากการขาดดุลร้อยละ 0.4 ของ GDP ในปี 2555
ในการแถลงข่าววันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่ำกว่าช่วงการประมาณการร้อยละ 3.8 - 4.3 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 โดยมีเหตุผลดังนี้
(1) การปรับตัวดีขึ้นของพลวัตทางเศรษฐกิจยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะในด้านการส่งออกซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของดัชนีปริมาณการส่งออกร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 (%QoQ sa.) ในขณะที่การฟื้นตัวของอุปสงค์ภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัดจากการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการบริโภคสินค้าคงทน เมื่อรวมกับฐานการขยายตัวที่สูงทำให้ GDP ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.7 (%YoY) ต่ำกว่า ประมาณการ
(2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความล่าช้ากว่าการคาดการณ์ โดย สศช. ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2556 เป็นร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปีเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 3.3 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนหน้า ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเมื่อรวมกับความล่าช้าในการฟื้นตัวของการผลิตสินค้าประมงและการฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลกทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 และส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีทรงตัว เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในการประมาณการครั้งก่อน
(3) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของพลวัตทางเศรษฐกิจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังเผชิญกับแรงต้านจากฐานการขยายตัวที่สูง โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 สูงถึง 399,697 คัน เทียบกับปริมาณการจำหน่ายล่าสุด 295,967 คัน ในไตรมาสที่ 3 ปี 2556 ซึ่งทำให้อัตราการขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี อยู่ในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2556 มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่า 2.5 ล้านคัน ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เช่นเดียวกับแรงต้านจากฐานที่สูงของการลงทุนภาคเอกชน ในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร เงื่อนไขดังกล่าวจะทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า
(4) ความล่าช้าในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 มีการเบิกจ่ายเพียง ร้อยละ 90.3 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 94.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณจากแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สามารถเบิกจ่ายสะสม ได้เพียง 15,502 ล้านบาทเทียบกับสมมติฐานการเบิกจ่ายสะสมที่ 22,428 ล้านบาทในการประมาณการ ครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้การเบิกจ่ายจากแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง มีแนวโน้มที่จะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในปี 2557 เทียบกับสมมติฐานการเบิกจ่าย 6,600 ล้านบาทในปี 2556 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้ม ที่จะขยายตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับร้อยละ 13.8 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า
(5) ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายประมาณ 4 ล้านไร่และส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตรในช่วง ไตรมาสสุดท้ายของปี 2556
เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในปี 2556 นำโดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ร้อยละ 2.5 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและการลดลงของแรงต้านจากการปรับลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.0 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการหดตัวประมาณร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศสมาชิกยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ เนื่องจากการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและการดำเนินมาตรการการคลังเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการบริโภค และเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้ม ที่จะขยายตัวร้อยละ 7.5 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในปี 2556
การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับลดมาตรการ ขยายปริมาณเงินในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 ก่อนที่จะเริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านอัตราดอกเบี้ยและการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์ สรอ. (Trade weighted) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการการเงินผ่อนคลาย อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอและลดความเสี่ยง จากภาวะเงินฝืด เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่อง เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้เงินยูโรและเยนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ.
เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งตัวขึ้นจากประมาณร้อยละ 1.6 ในปี 2556 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวและขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ภาคครัวเรือนซึ่งได้รับแรงส่งจากการปรับตัว ดีขึ้นของรายได้และฐานะทางการเงิน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์และที่อยู่อาศัยในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการจ้างงานและการลดลงของภาระหนี้สินภาคครัวเรือน (2) การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์คงค้างในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (Pent-up demand) (3) การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งได้รับแรงส่งจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และค่าแรงที่อยู่ในภาวะทรงตัวในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและการลงทุนทางตรงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (4) แรงต้านจากมาตรการปรับลดรายจ่ายภาครัฐลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2556 และ (5) การขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมัน
ทั้งนี้การปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดมาตรการ ขยายปริมาณเงินอย่างระมัดระวังในไตรมาสแรกของปี 2557 (ซึ่งคาดว่าผลการเจรจากำหนดกรอบงบประมาณและแนวทางการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้มีความชัดเจนก่อนที่มาตรการชั่วคราวด้านการเปิดทำการภาครัฐและการขยายเพดานหนี้จะหมดอายุลงในวันที่ 15 มกราคม 2557 และ 7 กุมภาพันธ์ 2557 ตามลำดับ) โดยคำนึงถึงแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะยาวต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0 - 0.25 จนถึงครึ่งหลังของปี 2558
เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการหดตัวประมาณร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและการปรับตัวลดลงของค่าแรง ที่แท้จริงในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจซึ่งทำให้ภาคการส่งออกและฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงมีแนวโน้มที่จะทำให้อุปสงค์ภาคครัวเรือนยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ เช่นเดียวกับอุปสงค์ภาครัฐที่ยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวเนื่องจากความจำเป็นในการดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างเข้มงวด ภาวะความอ่อนแอของอุปสงค์ภายในประเทศทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อจากร้อยละ 1.3 ในเดือนสิงหาคม เป็นร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.7 ในเดือนกันยายนและตุลาคมตามลำดับ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องและอาจพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากการ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความล่าช้าและแรงกดดันที่จะเกิดภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทิศทางนโยบายการเงินดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ.
เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.8 ในปี 2556 ตามการลดลง ของแรงส่งจากมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มภาษีการบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคภาคครัวเรือนชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากปลายปี 2556 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนก่อสร้าง ที่อยู่อาศัย ในขณะที่ภาคการส่งออกและฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป และการอ่อนค่าของเงินเยน นอกจากนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งทำให้เงินเยนยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินยูโร
เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 ใกล้เคียงกับร้อยละ 7.6 ในปี 2556 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของภาค การส่งออกและเศรษฐกิจจีนโดยภาพรวมก็ตาม แต่การขยายตัวของภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินหยวนและการขยายตัวของ อุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนั้น อุปสงค์ในประเทศมีแนวโน้มที่จะได้รับกระทบจากการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการ ปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รวมทั้งการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ 1) การลดกำลังการผลิตส่วนเกิน 2) การบริหารจัดการด้านสินเชื่อเพื่อลดภาระหนี้สิน 3) การดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวังเพื่อลดแรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ และการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 3.4 3.6 3.5 และร้อยละ 3.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.4 2.6 2.2 และร้อยละ 3.4 ในปี 2556 ตามลำดับ
เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย จะขยายตัวร้อยละ 5.4 ใกล้เคียงกับร้อยละ 5.5 ในปี 2556 โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินรูเปียร์ที่อ่อนค่า รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินมาตรการจำกัดการนำเข้าและกระตุ้นการส่งออกของภาครัฐ เศรษฐกิจเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 เท่ากับในปี 2556 เนื่องจากความก้าวหน้าของมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในภาคธนาคาร ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เศรษฐกิจมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เทียบกับร้อย 4.5 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ปรับตัว ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปที่เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาการขาดดุลงบประมาณยังมีแนวโน้มที่จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 5.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.8 ในปี 2556 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนประกอบกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกฟื้นตัวจากภาวะความซบเซาในปี 2556 ซึ่งจะเป็นฐานรายได้ให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนปรับตัวดีขึ้น เมื่อรวมกับแรงขับเคลื่อนจากการดำเนินงานตามแผนการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 2557 ขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยแรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันและสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก ในขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังมีข้อจำกัดที่สำคัญๆ โดยเฉพาะ (1) การส่งออกยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ (2) การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแรงต้านจากฐานที่สูง (3) การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยน และ (4) การ ออกกฎหมายการท่องเที่ยวของจีนมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของไทย
- ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
(1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2556 ซี่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 4 ปี เป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2557 ซึ่งจะทำให้ภาคการส่งออกและการผลิตปรับตัวดีขึ้นหลังจากขยายตัวต่ำร้อยละ 3.1 ในปี 2555 และไม่ขยายตัวในปี 2556
(2) การดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาท และ แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยมีกรอบของการกู้เงินเพื่อการดำเนินการในปี 2557 ประมาณ 66,522 ล้านบาท และ 160,000 ล้านบาทตามลำดับ
(3) แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่จะเพิ่มอย่างช้าๆ ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
(1) การส่งออกยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจาก 1) การลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกด้านราคาและต้นทุนการผลิตของไทยและภูมิภาคเอเชียโดยภาพรวม เนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ. เงินยูโร และเงินเยนที่ยังอ่อนค่ากว่าในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของค่าแรงโดยเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค 2) การฟื้นตัวของการผลิตและการส่งออกสินค้าประมงและอุตสาหกรรมการแปรรูปสัตว์น้ำจากปัญหาโรคตายด่วนในกุ้งยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้ากว่าการคาดการณ์ของภาครัฐ และ 3) ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามการ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ในตลาดโลกและปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น
การส่งออกของไทยภายใต้การปรับตัวจากภาวะความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจโลกในปี 2556 ขยายตัวต่ำเพียงร้อยละ 2.9 ซึ่งหากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการส่งออกกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะพบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวจะสอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการส่งออกของไทยที่ประมาณร้อยละ 3.1 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ปริมาณการส่งออกหดตัว ร้อยละ 1.2 ต่ำกว่าศักยภาพ
แม้ว่าการขยายตัวของการส่งออกที่ต่ำกว่าศักยภาพในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางด้านอุปทานก็ตาม แต่อีกส่วนหนึ่งคาดว่ามีสาเหตุ มาจากการเปลี่ยนแปลงของเงื่อนไขในระดับโลกซึ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะ (1) การอ่อนค่าของเงินสกุลหลักโดยเฉพาะ ดอลลาร์ สรอ. ยูโรและเงินเยน ซึ่งในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับอ่อนค่ากว่าช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ (2) ความจำเป็นในการปรับตัวจากภาวะหนี้สินทำให้การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศพัฒนาแล้วยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (3) การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานทำให้ค่าแรงและต้นทุนการผลิตของประเทศพัฒนาแล้วในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่ต้นทุนค่าแรงในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบระหว่างภูมิภาค เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ฐานะ ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการปรับตัวลดลงของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกสูงในเอเชียซึ่งเป็นตลาดการส่งออกของไทย
ในปี 2557 และในระยะปานกลางเงื่อนไขภายนอกดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดสนับสนุนให้การส่งออกสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นฐานรายได้สำหรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการนำเข้าภายใต้แผนการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ รวมทั้งเพื่อรักษาภาพลักษณ์ทางด้านเสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยโดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขที่ ดุลงบประมาณยังคงขาดดุล
การส่งออกกุ้งกับการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome: EMS)
การส่งออกกุ้งแช่แข็งมีมูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2554 อย่างไรก็ตามนับจากปี 2553 การผลิตกุ้งเริ่มประสบปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกกุ้งแช่แข็งในปี 2555 ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.4 และร้อยละ 15.6 ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 สภาพปัญหาทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากขึ้น ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่องร้อยละ 47.1 และร้อยละ 36.8 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ตามลำดับ การลดลงอย่างรุนแรงของมูลค่าการส่งออกกุ้งแช่แข็งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในภาพรวม
หน่วยงานของภาครัฐได้แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมประมงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยใช้ยาควบคุมจำนวนเชื้อแบคทีเรียในกุ้ง ควบคู่ไปกับการพัฒนาและจัดหาสายพันธุ์กุ้งใหม่ที่มีลักษณะต้านทานต่อโรคดังกล่าวซึ่งคาดว่าสถานการณ์ด้านการผลิตจะเริ่มดีขึ้นในปี 2557 โดยจะสามารถผลิตกุ้งได้ประมาณร้อยละ 70 ของระดับการผลิตปกติ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องได้รับ ความร่วมมือและขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของเกษตรกรเนื่องจากการผลิตกุ้งมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งยังเป็นปัจจัยที่ยังท้าทายต่อความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
(2) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัดในการขยายตัวจาก 1) ฐานการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่สูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 2) ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ 3) การเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินภายใต้ภาวะหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
(3) การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดจาก 1) การอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งทำให้ต้นทุนของการลงทุนในประเทศไทยในสายตานักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น 2) การชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของการลงทุนภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... 3) การชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของนโยบายการส่งเสริมภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ และ 4) แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว
(4) การประกาศบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีนซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ทำให้ต้นทุนการเดินทางออกไปท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย
การท่องเที่ยวกับ Tourism Law of the People's Republic of China
นักท่องเที่ยวจากจีนมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวไทยทั้งในด้านจำนวน อัตราการขยายตัว และรายได้ โดยในปี 2555 นักท่องเที่ยวจากจีนมีจำนวนทั้งสิ้น 2.79 ล้านคน คนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น และ สร้างรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวไทยประมาณ 1.07 แสนล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 นักท่องเที่ยวจากจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 93.0
รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมาย Tourism Law of the People's Republic of China ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยมีสาระสำคัญโดยสังเขปประกอบด้วย (1) การควบคุมผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจีนมิให้เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวโดยการคิดราคาค่าบริการนำเที่ยวต่ำเกินจริงเพื่อดึงดูดลูกค้าแต่มีการชดเชยและสร้างรายได้โดยวิธีแอบแฝง อาทิ การนำลูกค้าไปเยี่ยมชมร้านค้าโดยได้รับค่าตอบแทนพิเศษจากร้านค้า และการคิดค่าบริการเพิ่มเติมโดยมิได้แจ้งให้ลูกค้าทราบแต่แรก (2) จัดระเบียบผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว โดยการควบคุม กำกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ไม่ผูกขาด และคำนึงถึงสิทธิอันพึงได้รับของลูกค้าอย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่รุนแรงและชัดเจน (3) ห้ามมิให้นักท่องเที่ยวจีนพำนักในประเทศอื่นโดยผิดกฎหมาย หรือแยกตัวออกจากคณะนักท่องเที่ยวของตนโดยมิได้รับอนุญาต และ (4) ควบคุมพฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีนให้เคารพสถานที่ วัฒนธรรม และธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศที่เดินทางไป แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาวทั้งในด้านการลดปัญหานักท่องเที่ยวต้นทุนต่ำ (ทัวร์ศูนย์เหรียญ) การลดความแออัดของสถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นโอกาสของไทยในการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยการเจาะตลาดและให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายต่อหัวสูงก็ตาม แต่ผลจากกฎหมายดังกล่าวทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้นประมาณเท่าตัว รวมทั้งทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปี และในปี 2557 ซึ่งยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
- ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2557
(1) เศรษฐกิจโลกในปี 2557 และปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 4.5 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.9 ในปี 2556 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซนซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีนมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 1.2 และ 7.5 ตามลำดับ
(2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2557 อยู่ในช่วง 105 - 110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับประมาณ 105 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2556 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งมีปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้ราคาน้ำมัน ในปี 2557 ไม่เพิ่มเร็วเกินไปประกอบด้วย (1) อุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะสมดุล โดยองค์การประเทศ ผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) คาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันในปี 2557 จะอยู่ที่ประมาณ 90.8 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับกำลัง การผลิตรวมประมาณ 90.2-92.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก (3) เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีความสำคัญลำดับสอง มีแนวโน้มที่จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาไม่ส่งผลให้มีแรงกดดันจากต้องการเพิ่มขึ้นมากนัก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้บริโภคที่มีความสำคัญลำดับสาม มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปี 2556 และ (4) การลดมาตรการขยายปริมาณเงินของสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่ามากขึ้นและลดแรงจูงใจ ในการเก็งกำไรในตลาดน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์
(3) ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 2557 อยู่ในช่วง 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ยประมาณ 30.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2556 โดย ปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงจากปี 2556 ประกอบด้วย (1) การปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินของสหรัฐฯ ซึ่งในกรณีฐาน คาดว่าจะเริ่มปรับลดขนาดมาตรการดังกล่าวลง 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 และสามารถยุติมาตรการขยายปริมาณเงินได้ภายในสิ้นปี 2557 และ (2) แนวโน้มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2557 ต่อเนื่องจากปี 2555 และ 2556
(4) ราคาสินค้าส่งออกและนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 - 1.5 และร้อยละ 0.0 - 1.0 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากการหดตัวประมาณร้อยละ 0.3 และร้อยละ 2.3 ในปี 2556 ตามภาวะราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้า ขั้นปฐมในตลาดโลกที่ยังอ่อนตัว โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ
(5) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ในประเทศไทยจำนวน 28.0 ล้านคน เทียบกับ 26.2 ล้านคนในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 โดยปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัว อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น ของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะทำให้เงื่อนไขด้านรายได้ของนักท่องเที่ยวในตลาดสำคัญๆ ปรับตัวดีขึ้น และความสามารถในการแข่งขันของไทยในด้านการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีน
(6) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 ของวงเงินงบประมาณ ในขณะที่การเบิกจ่ายจากแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของกรอบการจัดหาเงินประมาณ 66,522 ล้านบาทและการเบิกจ่ายภายใต้แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมและขนส่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 ของกรอบการจัดหาเงินในปี 2557 ประมาณ 160,000 ล้านบาท
ราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในตลาดโลกยังมีแนวโน้มอ่อนตัว
ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปี 2555 และสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าส่งออกและรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน การปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรในช่วงดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรหลังจากการเกิดวิกฤตราคาอาหารในช่วงปี 2553-
2554 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรลดลง รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คาดการณ์ว่าราคาสินค้าเกษตรในช่วงที่เหลือของปี 2556 และปี 2557 ว่าจะยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าว ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปริมาณผลผลิตยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม หลังจากราคายางปรับตัวลดลงมากในปี 2555-2556 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตหนี้ในสหภาพยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ในปี 2557 ราคายางพารามีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เงื่อนไขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวและยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนของไทยในปี 2557
- ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557:
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.1-3.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP
เศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP โดยที่เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 5.0 ภายใต้เงื่อนไข (1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.5 (2) การเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้กรอบแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 70 ของกรอบการจัดหางบประมาณในปี 2557 จำนวน 66,522 ล้านบาท และ 160,000 ล้านบาท ตามลำดับ (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ไม่ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 80 (4) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2557 ไม่สูงกว่า 105 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (5) ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีความรุนแรงจนเกิดผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและ ความเชื่อมั่นต่อการท่องเที่ยวและการลงทุน
- องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2557
(1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมในปี
2557 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2556 โดยที่การบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 0.8 ในปี 2556 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เนื่องจาก (1) การขยายตัวของรายได้เกษตรกรยังมีข้อจำกัดจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มอ่อนตัว (2) ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงในขณะที่สถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และ (3) ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในครึ่งแรกของปี 2556 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าแนวโน้มปกติทำให้การขยายตัวของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนในครึ่งแรกของปี 2557 ยังมีแรงต้านจากฐานการขยายตัวที่สูง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.8 เทียบกับร้อยละ 5.8 ในปี 2556
มาตรการรถยนต์คันแรกกับแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน*
มาตรการคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์รวมภายในประเทศในปี 2555 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.35 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.7 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนั้น มาตรการดังกล่าวยังส่งผล
ให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.6 และสนับสนุน ให้การบริโภคภาคเอกชนในปี 2555 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.7 สำหรับปี 2556 คาดว่าการผลิตรถยนต์รวมจะอยู่ที่ประมาณ 2.4 ล้านคัน แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายที่ภาคเอกชนตั้งไว้ที่ 2.5 ล้านคันซึ่งเป็นสมมติฐานในการประมาณการเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจในปี 2556 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิมก็ตามแต่ยังสูงกว่าปริมาณการผลิตในปี 2555 ประมาณร้อยละ 1.25 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการขยายตัวของ GDP ในปี 2556 แม้กระนั้นก็ตาม การกระจายตัวที่ไม่เท่ากันของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งระหว่างครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของปี 2556 ทำให้ แรงขับเคลื่อนจากการจำหน่ายรถยนต์นั่งต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในครึ่งปีแรก โดยการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งสูงถึงร้อยละ 134.8 และร้อยละ 13.7 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง และสนับสนุนให้การขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สาม การกระจายตัวที่ไม่เท่ากันดังกล่าวทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวร้อยละ 17.3 ส่งผลให้รายจ่ายการบริโภคในหมวดอุปกรณ์การขนส่งหดตัวร้อยละ 13.6 และการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมหดตัวร้อยละ 1.2
ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ผลกระทบจากการกระจายตัวที่ไม่เท่ากันของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งต่อการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 สูงถึง 1.83 แสนคัน ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสสุดท้ายของปียังปรับตัวเข้าหาแนวโน้มปกติอย่างต่อเนื่องซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 30 - 50
ในครึ่งปีแรกของปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้าหาแนวโน้มปกติอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเข้าใกล้แนวโน้มปกติ (ที่ประมาณ 1.0 แสนคันต่อไตรมาส) มากขึ้น ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2556 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 1.84 และ 1.52 แสนคัน ตามลำดับซึ่งจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2557 ยังคงมีแนวโน้มที่จะหดตัวและอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนโดยภาพรวมในปี 2557
หมายเหตุ: *การวิเคราะห์ในส่วนนี้ใช้ชุดข้อมูลที่มีข้อมูลย้อนหลังโดยเผยแพร่ทาง www.bot.or.th ซึ่งอาจจะแตกต่างจากชุดข้อมูลอื่น
ความต่อเนื่องของการให้สินเชื่อเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ
ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 มีข้อจำกัดในการขยายตัวเนื่องจากการชะลอตัวในภาคการส่งออก และความล่าช้าของการลงทุนในโครงการ ขนาดใหญ่ของรัฐ ประกอบกับแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเริ่มอ่อนแรงลง ในขณะที่ภาระหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้น ภายใต้สภาวะดังกล่าว ส่งผลให้สถาบันการเงินเริ่มให้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็น ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก (SMEs) (ผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อของสถาบันการเงิน (Senior Loan Officer Survey) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556)
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกในปี 2557 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมและนอกภาคอุตสาหกรรมต่างมีมุมมองในเชิงบวกต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคตเช่นกัน สะท้อนให้เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็น 52.3 (เทียบกับระดับ 47.5 ในปัจจุบัน) และยังคงมีความต้องการสินเชื่อในการลงทุนและการขยายธุรกิจ เพื่อรองรับอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ดังนั้นการที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ ในขณะที่ศักยภาพการชำระหนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ดี (สัดส่วนสินเชื่อค้างชำระเกิน 1 เดือนต่อเงินให้สินเชื่อทั้งหมด (Delinquency and NPL Ratio) ของสินเชื่อภาคเอกชนทั้งหมด ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 5.3) อาจจะเป็นข้อจำกัดสำหรับภาคเอกชนในการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี 2556 และ 2557 ต่อไป
(2) การลงทุนรวมขยายตัวประมาณร้อยละ 7.1 เทียบกับประมาณร้อยละ 0.9 ในปี 2556 โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวประมาณร้อยละ 0.7 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตและการส่งออกซึ่งจะส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ หมวดเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และหมวดผลิตภัณฑ์เคมีซึ่งการใช้กำลัง การผลิตในเดือนกันยายนสูงถึงร้อยละ 68.7 76.2 และร้อยละ 80.6 ตามลำดับ (2) การประมูลระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลซึ่งกำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ที่ 15,190 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.7 ของการลงทุนภาคเอกชนทั้งปี และ (3) ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะ การลงทุนเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและรองรับการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีเงื่อนไขที่เป็นปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วย (1) การอ่อนตัวของค่าเงินเยนซึ่งทำให้ต้นทุนการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น (2) การใช้กำลังการผลิตในภาพรวมที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 64.0 ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะหมวดอาหารเครื่องดื่ม หมวดเครื่องแต่งกาย หมวดเครื่องหนัง และหมวดเครื่องจักรสำนักงานซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำเพียงร้อยละ 46.9 45.7 35.7 และ 60.6 ตามลำดับ (3) แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในปี 2556
(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เทียบกับการไม่ขยายตัวในปี 2556 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกร้อยละ 1.0 ตามสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกร้อยละ 6.0 เทียบกับ ร้อยละ 0.3 ในปี 2556 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการอ่อนค่าลงของเงินบาท ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงื่อนไขในปี 2556 ในขณะที่การส่งออกภาคบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 7.0 เร่งตัวขึ้นจากประมาณร้อยละ 4.8 ในปี 2556
(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.6 ในปี 2556 โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ตามสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะขยายตัวประมาณ ร้อยละ 6.2 ตามมูลค่าการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนในภาพรวมที่ทำให้ความต้องการนำเข้าขยายตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เทียบกับประมาณร้อยละ 3.4 ในปี 2556
(5) ดุลการค้าในปี 2557 คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการเกินดุล 4.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2556 และดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2557 ขาดดุลประมาณ 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการขาดดุล 3.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2556
(6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2557 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.4 ในปี 2556 เนื่องจากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังคงมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก และข้อจำกัดการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของภาคการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมทั้งฐานการขยายตัวที่สูงในปีก่อน ในปี 2557 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะสามารถขยายตัวในระดับที่น่าพอใจตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่การขยายตัวของภาคการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งความเสี่ยงด้าน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่สถาบันการเงินมีแนวโน้มที่จะระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ มากขึ้นในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวในปี 2557 จึงมีแนวทางที่สำคัญ ดังนี้
1) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นฐานรายได้สำหรับการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและรองรับการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในช่วงการดำเนินการตามแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเพิ่มรายได้จากตลาดหลัก ซึ่งรวมถึงการปรับตัวของภาค การผลิต เช่น การแก้ไขปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง การปรับเปลี่ยนสู่การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เป็นต้น (2) การเพิ่มรายได้จากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดอาเซียน ตลาด ภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลาดสินค้าฮาลาล เป็นต้น และ (3) การส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้า ในภูมิภาค โดย การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน การส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
2) การเร่งรัดการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) เร่งรัดการใช้นโยบายการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้มีความชัดเจน และ (2) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคตลอดกระบวนการที่ทำให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาคเอกชนมีความล่าช้า
3) การเร่งรัดการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ..... และแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศระยะยาว
4) การดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและ ขนาดย่อม รวมถึง การขยายประเภทหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ การส่งเสริมการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน การจัดตั้งกลไกร่วมลงทุนในธุรกิจใหม่ เป็นต้น
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 และ 2557 ข้อมูลจริง ประมาณการ ปี 2556 ปี 2557 ปี 2554 ปี 2555 19 ส.ค.56 18 พ.ย.56 18 พ.ย.56 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท) 10,540 11,375 12,126 11,922 12,769 รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี) 155,926 167,501 177,664 174,685 186,116 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 346 366 400 391 399 รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) 5,114 5,389 5,864 5,727 5,816 อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %) 0.1 6.5 3.8 - 4.3 3.0 4.0-5.0 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %) 3.3 13.2 6.0 0.9 7.1 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 7.2 14.4 4.0 0.7 5.8 ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %) 8.7 8.9 13.8 1.3 12.0 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %) 1.3 6.8 2.6 1.6 2.9 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 1.3 6.7 2.5 0.8 2.7 ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %) 1.1 7.5 3.6 5.8 3.8 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 9.5 3.1 7.4 4.8 7.0 มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 219.1 225.9 237.5 225.8 241.0 อัตราการขยายตัว (%)2/ 14.3 3.1 5.0 0.0 7.0 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/ 8.3 2.5 5.0 0.3 6.0 ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 13.7 6.2 7.2 3.4 6.2 มูลค่าการนำเข้าสินค้า(พันล้านดอลลาร์สรอ.)1/ 202.1 219.9 232.0 221.2 236.0 อัตราการขยายตัว (%)2/ 24.9 8.8 6.5 0.6 6.7 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/ 13.4 7.1 7.8 2.9 6.2 ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)1/ 17.0 6.0 5.5 4.7 5.8 ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/ 4.1 -1.5 1.2 -3.6 -2.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) 1.2 -0.4 0.3 -0.9 -0.6 เงินเฟ้อ (%) ดัชนีราคาผู้บริโภค 3.8 3.0 2.3 – 2.8 2.4 2.1-3.1 GDP Deflator 4.2 1.3 2.3 – 2.8 1.8 2.1-3.1 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 18 พฤศจิกายน 2556 หมายเหตุ: 1/ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดุลการชำระเงินให้เป็นไปตามคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 ของ IMF (ดูรายละเอียดที่ http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/Newtable.aspx) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าที่ใช้เป็นฐานในการประมาณการในครั้งก่อนหน้าลดลง 2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--