สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค 17 กุมภาพันธ์ 2557 ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557
(% YOY) 2555 2556 ประมาณการ ทั้งปี H1 H2 ทั้งปี 2557 GDP (ณ ราคาคงที่) 6.5 4.2 1.6 2.9 3.0-4.0 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่) 13.2 5.2 -8.7 -1.9 3.1 ภาคเอกชน 14.4 2.4 -8.0 -2.8 3.8 ภาครัฐ 8.9 17.0 -11.2 1.3 0.3 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่) 6.8 3.7 -1.6 1.0 1.6 ภาคเอกชน 6.7 3.4 -2.9 0.2 1.4 ภาครัฐบาล 7.5 5.4 4.5 4.9 2.0 มูลค่าการส่งออกสินค้า 3.1 1.0 -1.4 -0.2 5.0-7.0 ปริมาณ 2.5 1.0 -0.5 0.2 4.0-6.0 มูลค่าการนำเข้าสินค้า 8.8 4.6 -5.3 -0.4 5.7 ปริมาณ 7.1 7.2 -3.6 1.7 5.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -0.4 -3.5 2.3 -0.6 -0.2 เงินเฟ้อทั่วไป 3.0 2.7 1.7 2.2 1.9-2.9 อัตราการว่างงาน 0.7 0.7 0.7 0.7 0.7 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจาก การขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออก ขยายตัว ร้อยละ 0.6 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (% QoQ SA)
- ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออก ในด้านการผลิต การขยายตัวมีปัจจัยสนับสนุนจากสาขาโรงแรมและภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรกรรม
- ทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยการบริโภคของครัวเรือนขยายตัว ร้อยละ 0.2 การลงทุนรวม และมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.2 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.6 ของ GDP
- เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากการขยายตัวของการส่งออก การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายของภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำกว่าประมาณการที่ผ่านมา เนื่องจาก มีข้อจำกัดในการขยายตัวจากความล่าช้าของการลงทุนภาครัฐ และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2558 รวมทั้งฐานการขยายตัวที่สูงในหมวดสินค้าคงทน และผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองต่อการท่องเที่ยว คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 - 7.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 - 2.9 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP
- ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2557 ควรให้ความสำคัญกับ 1) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้ จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การให้ความสำคัญกับการปรับตัวของ ภาคการผลิต และการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค 2) การดูแลขับเคลื่อนให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 และการเตรียมและเร่งรัดกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2558 รวมทั้งปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่เพื่อกระตุ้นการลงทุน และสร้างความชัดเจนในมาตรการและนโยบายต่างๆ 3) การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ และการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ 4) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้ม ทวีความรุนแรงมากขึ้น
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 2.9 และร้อยละ 2.7 ในไตรมาสแรก ไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งออก และการสะสมสินค้าคงคลัง ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ลดลง ในด้านการผลิต มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของสาขาโรงแรมและภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ และเกษตรกรรม แต่สาขาอุตสาหกรรมและก่อสร้างหดตัว เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2556 และปรับผลของฤดูกาลออก ขยายตัวร้อยละ 0.6 รวมทั้งปี 2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9
(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ลดลงร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 42.0 ซึ่งในไตรมาสที่สี่ของปี 2555 เป็นช่วง ที่มีการส่งมอบรถยนต์ตามมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกมากที่สุด ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง จึงมีการระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งปี 2556 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.2
(2) การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 11.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 4.7 เนื่องจากเงินนอกงบประมาณในส่วนของโครงการไทยเข้มแข็ง เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำลดลง ซึ่งสะท้อนในการลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐที่ลดลงร้อยละ 13.2 การลงทุนภาคเอกชน ลดลงร้อยละ 13.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรร้อยละ 15.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากฐานการขยายตัวที่สูง สะท้อนจากมูลค่า การนำเข้าสินค้าทุน (ราคาคงที่) ที่ลดลงร้อยละ 15.3 รวมทั้งการก่อสร้างภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 4.6 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 47.8 ในไตรมาสที่สาม เป็นระดับ 46.4 ในไตรมาสนี้ รวมทั้งปี 2556 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 1.9 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.8 ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.3
(3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 55,884 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องจากการลดลง ร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งการผลิตสินค้าประมงได้รับผลกระทบจากโรคตายด่วนของกุ้ง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 สินค้าส่งออกที่
ยังขยายตัว ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 1.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 11.8) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 8.9) และสินค้าเกษตร (ร้อยละ 5.9) ตามลำดับ การส่งออกไปตลาดหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ ตลาดญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.5 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินเยน ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 1.2 การส่งออกไปยังฮ่องกง และออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 12.0 และร้อยละ 10.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและหักปัจจัยฤดูกาลออก ดัชนีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 สอดคล้องกับการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งปี 2556 มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 225,397 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.2 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.3 ส่วนในรูปเงินบาทมีมูลค่า 6,927,604 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.3
(4) ภาคเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาส ก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ยางพารา และปศุสัตว์ ในขณะที่ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และประมง ลดลง ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 1.8 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 รวมทั้งปี 2556 ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.4 ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.3 และรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
(5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสนี้มีจำนวน 7.1 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 26.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มีรายรับประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 รวมทั้งปี 2556 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 12.1 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และรัสเซีย
(6) ภาคอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.5 ในไตรมาส ที่สองและสาม ตามลำดับ เนื่องจากการลดลงของปริมาณการผลิตรถยนต์ รวมทั้งการหดตัวของ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 7.1 และการใช้กำลังการผลิตที่ร้อยละ 62.2 ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำสุดในรอบ 2 ปี รวมทั้งปี 2556 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.1
(7) ภาคการก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย การก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 13.2 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับ การลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก รวมทั้งการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวมทั้งปี 2556 ภาคการก่อสร้างขยายตัว ร้อยละ 1.2
สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 - 5.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งแนวโน้มความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัว ต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 5.0 -7.0 ในขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.4 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 - 2.9 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP
- ด้านการใช้จ่าย
การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ปรับตัวลดลงตามการหดตัวจากฐานที่สูงของการใช้จ่ายในหมวดรถยนต์นั่ง การชะลอตัวของรายได้ และการลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวร้อยละ 4.5 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหดตัวของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์นั่งที่ปริมาณการจำหน่ายลดลงร้อยละ 42.0 จากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 296.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ที่ผู้บริโภค เร่งใช้สิทธิ์ก่อนการสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ขณะที่การใช้จ่ายอื่นๆ ชะลอตัวตามฐานรายได้จากภาคการส่งออก และการปรับขึ้นภาษีของสุรา เบียร์และไวน์ รวมทั้ง การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค
รวมทั้งปี 2556 การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.2 ชะลอตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7
การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการก่อสร้าง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 13.1 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 15.4 สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน (ราคาคงที่) ร้อยละ 15.3 เนื่องจากมีการเร่งการนำเข้าสินค้าทุน ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศลดลงร้อยละ 26.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 18.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 46.4 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากระดับ 52.2 50.9 และ 47.8 ในไตรมาสแรก ไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ปรับตัวลดลงจากฐานที่สูง 450 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2555 เป็น 373 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สี่ของปีนี้
รวมทั้งปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.8 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรหดตัวร้อยละ 4.7 ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 4.0
การส่งออก: ปริมาณการส่งออกปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่มูลค่าการส่งออกยังลดลงเนื่องจากภาวะความซบเซาของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งข้อจำกัดในการผลิตสินค้า
ประมงและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 มีมูลค่า 55,884 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 1,772,782 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.2 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและหักปัจจัยฤดูกาลออก ดัชนีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 แสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.4 เทียบกับ การหดตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
การส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9: ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ตามราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล ยังปรับตัวลดลง และส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 4.8 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าวลดลงร้อยละ 14.0 เนื่องจากปริมาณและราคาลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 12.1 ตามลำดับ มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 20.0 เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น การส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาสร้อยละ 13.8 เนื่องจากการยกเลิก การเก็บเงินสงเคราะห์เกษตรกรจากผู้ส่งออกยางพารา (CESS) เป็นการชั่วคราวในช่วงวันที่ 2 กันยายน - 31 ธันวาคม 2556 ทำให้ต้นทุนการส่งออกลดลง ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลลดลง ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ร้อยละ 1.2 เนื่องจากการลดลงของราคาส่งออกเป็นหลัก สินค้าอุตสาหกรรมหดตัวเล็กน้อย เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 0.8 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ โดยการส่งออกยานยนต์ลดลงจากฐานที่สูงร้อยละ 3.9 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟลดลงต่อเนื่องร้อยละ 17.6 เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตและพฤติกรรมผู้บริโภค สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องจักรและอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 1.7 11.8 และร้อยละ 8.9 ตามลำดับ สินค้าประมงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ที่ร้อยละ 29.8 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง
รวมทั้งปี 2556 การส่งออกมีมูลค่า 225,397 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2555 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แต่ราคาลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.3 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในปี 2555
ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่อง แต่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และออสเตรเลียหดตัว การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6.3 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 และร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฟื้นตัวเศรษฐกิจยูโรโซน การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.5 เนื่องจากเงินเยนอ่อนค่าลง ในขณะที่การส่งออกไปจีนขยายตัวร้อยละ 12.9 การส่งออกไปยังตลาดฮ่องกง และออสเตรเลีย ลดลงร้อยละ 12.0 และร้อยละ 10.7 ตามลำดับ
การนำเข้า: ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามการหดตัวของการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้ง ผลจากฐานการนำเข้าสินค้าทุนที่สูงผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการลดลงของราคานำเข้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 52,036 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลง ร้อยละ 7.6 เนื่องจากปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.3 และเป็นการลดลงในทุกหมวดสินค้า ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.5 ตามการลดลงของราคาทองคำ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ ยานยนต์ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก เมื่อหักการนำเข้าทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.5 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่า 1,649,766 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 1.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป วัสดุก่อสร้าง วัสดุที่ทำด้วยโลหะ เคมีภัณฑ์ พลาสติก ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ยังอยู่ในภาวะหดตัว มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุน ลดลง ร้อยละ 14.1 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเฉพาะการนำเข้าในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบ เช่น หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น ในขณะที่การนำเข้าสินค้าในกลุ่มอากาศยานขยายตัวต่อเนื่อง มูลค่า การนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ขยายตัวเทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2556 การนำเข้ามีมูลค่า 219,042 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในปีก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับ การเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
อัตราการค้า (Term of Trade): ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.2 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.5 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สี่ ของปี 2556 อยู่ที่ 101.1 เทียบกับ 101.9 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปี 2556 อัตราการค้าอยู่ที่ 101.7 ลดลงจากอัตรา 100.0 ในปี 2555 โดยราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.5 ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.1
ดุลการค้า: เกินดุลติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ดุลการค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 เกินดุล 3,849 ล้านดอลลาร์ สรอ. (123,016 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 5,033 ล้านดอลลาร์ สรอ. (159,204 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าลดลงเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก รวมทั้งปี 2556 ดุลการค้าเกินดุล 6,355 ล้านดอลลาร์ สรอ. (207,680 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 6,015 ล้านดอลลาร์ สรอ. (188,767 ล้านบาท) ในปี 2555
- ด้านการผลิต
สาขาเกษตรกรรม: ขยายตัวตามผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ยางพารา และ ปศุสัตว์ ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับ มีการร่นระยะเวลาการเพาะปลูกข้าวนาปีในปีก่อนหน้าให้เร็วขึ้น (2) การเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลผลิตยางพารา และ (3) การขยายการผลิตสินค้าปศุสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และประมง ลดลงร้อยละ 3.0 ร้อยละ 1.4 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 20.2 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้ง ภาวะฝนทิ้งช่วง การระบาดของไรแดงและเพลี้ยแป้งในบางพื้นที่เพาะปลูก และการระบาดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ในกุ้ง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 26.8) ซึ่งเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส สอดคล้องกับราคาอ้างอิงในตลาดมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการนำเข้าเพื่อการบริโภคของจีนและเพื่อการผลิต ไบโอดีเซลของกลุ่มสหภาพยุโรป ผลผลิตปศุสัตว์ (ร้อยละ 18.5) และกุ้งขาวแวนนาไม (ร้อยละ 82.6) เนื่องจากผลผลิตอยู่ในระดับต่ำ ราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ได้แก่ข้าว อ้อย และยางพารา เนื่องจาก (1) การชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น (2) ปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกต่ำกว่าระดับราคาพื้นฐาน (ประมาณ 20 เซนต์ต่อออนซ์) โดยรวม ผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8
รวมทั้งปี 2556 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.4 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 0.3 และดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3
ลดลงตามการหดตัวของการผลิตรถยนต์ การส่งออก และอุปสงค์ในประเทศในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 1.1 และร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่สองและสาม ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 62.2 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) การหดตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุน (2) การลดลงจากฐานที่สูงของการผลิตรถยนต์ร้อยละ 23.9 เนื่องจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรกสิ้นสุดลง และส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงถึงร้อยละ 42.0 (3) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัวในช่วงที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ(4) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ส่งผลให้ความต้องการฮาร์ดดิสก์ลดลง ในภาพรวม อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ อุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์
รวมทั้งปี 2556 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.4
สาขาก่อสร้าง: ลดลงทั้งการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อน โดยการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 13.2 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงของพื้นที่ รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กร้อยละ 17.7 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.7 อย่างไรก็ตามราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต รวมทั้งปี 2556 สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.2
สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 4.4 ในด้านอุปสงค์ ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 และร้อยละ 11.8 ตามลำดับ ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการของธนาคารพาณิชย์และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ ในขณะที่ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงร้อยละ 11.4 สำหรับราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 ส่งผลให้ราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ เช่นเดียวกับราคาอาคารชุดที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.3
รวมทั้งปี 2556 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.6
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ชะลอตัวตามภาวะการท่องเที่ยวซึ่งได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวฉบับใหม่ของจีนในเดือนตุลาคมและสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในเดือนธันวาคม ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 5.4 ชะลอตัวลงมากจากการขยายตัวร้อยละ 15.1 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว จากการขยายตัวร้อยละ 26.1 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 10.7 (จำนวน 7.1 ล้านคน) โดยเฉพาะในเดือนธันวาคมซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพียงร้อยละ 6.7 ส่งผลให้รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 (มูลค่า 348,877 ล้านบาท) ชะลอลงจากร้อยละ 32.6 (มูลค่า 320,894 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.7 ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รวมทั้งปี 2556 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 12.1 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมทั้งสิ้น 26.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย และรัสเซีย
ภาคการค้าส่งค้าปลีก:ชะลอตัวตามภาวะอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สี่ การค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการค้าปลีก การค้าปลีกหมวดอาหารและเครื่องดื่มชะลอตัวลง และการค้าปลีกในหมวดรถยนต์และเชื้อเพลิงหดตัว ในขณะที่การค้าปลีกของห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้น ในด้านการค้าส่ง การค้าส่งหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ในขณะที่การค้าส่งหมวดวัสดุก่อสร้างชะลอตัว และหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ และวัตถุดิบทางการเกษตรลดลงมาก
รวมทั้งปี 2556 สาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 3.2
การจ้างงาน: ลดลงทั้งการจ้างงานในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ในไตรมาสที่สี่ ปี 2556 มีการจ้างงาน 39.14 ล้านคน ลดลงร้อยละ 1.1 โดยการจ้างงานของภาคเกษตร ลดลง 33,610 คน (ลดลงร้อยละ 0.2) ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง 408,192 คน (ลดลงร้อยละ 1.7) เนื่องจาก (1) สาขาค้าส่งและค้าปลีก จ้างงานลดลง 221,244 คน หรือลดลงร้อยละ 3.7 (2) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร จ้างงานลดลง 152,434 คน หรือลดลงร้อยละ 6.3 และ (3) สาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ จ้างงานลดลง 91,881 คน หรือลดลงร้อยละ 5.5 โดยเป็นการลดลงในส่วนของการก่อสร้างอาคาร อย่างไรก็ตาม สาขาอุตสาหกรรมมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 70,522 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และสิ่งทอ เป็นสำคัญ สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 257,849 คน เพิ่มขึ้น 67,602 คน เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7
รวมทั้งปี 2556 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.1
- ภาวะการคลัง
การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล: สูงกว่าประมาณการแต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 (ตุลาคม - ธันวาคม 2556) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 504,568.0 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสุราในเดือนกันยายน 2556 รวมทั้งการนำส่งคืนรายได้ที่กันไว้เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม และการขยายตัวของรายได้ภาคเอกชน อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ยังคงต่ำกว่าช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 0.8 เนื่องจากในปีที่แล้วมีการนำส่งรายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่สูงกว่าปกติในช่วงของการดำเนินนโยบาย คืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก
การเบิกจ่ายงบประมาณ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 964,741.8 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.4 โดยมีการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำทั้งสิ้น 670,927.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 293,814.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 แบ่งเป็น (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จำนวน 760,824.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.7 คิดเป็นร้อยละ 30.1 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 22 ทั้งนี้ เป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 644,281.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 116,542.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.5 1 และมีอัตรา การเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 27.2 สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 15 (2) งบประมาณเหลื่อมปีจำนวน 70,233.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.5 (3) เงินกู้นอกงบประมาณ จำนวน 7,873 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.5 โดยเป็นเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 2,247.1 ล้านบาท และ (4) งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 125,837.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.9
ฐานะการคลัง ในไตรมาสที่หนึ่งของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลขาดดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสดจำนวน 279,191.8 ล้านบาท เป็นการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 334,812.2 ล้านบาท การขาดดุลเงินนอกงบประมาณ จำนวน 7,673.6 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 63,294.1 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นงวด มีจำนวน 324,732.0 ลานบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 5,393,439.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.3 ของ GDP
- ภาวะการเงิน
อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 2.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่วนมากยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ส่วนประเทศอุตสาหกรรมหลักยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2556 ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinance rate) ลงจากร้อยละ 0.50 ต่อปี เป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี
รวมทั้งปี 2556 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงสองครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม กนง. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 2.75 ต่อปี เป็นร้อยละ 2.50 ต่อปี และในเดือนพฤศจิกายน กนง. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี3
อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ปรับตัวลดลงตามการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดย ณ สิ้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 2.50 2.50 และ 2.71 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 2.23 2.37 และ 2.60 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.00 7.38 และ 7.04 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 6.85 7.25 และ 6.92 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ย ของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ทรงตัวที่ร้อยละ 3.02 และ 8.05 ต่อปี ตามลำดับ
ทั้งปี 2556 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐส่วนมากปรับตัวลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ มีเพียงอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่ไม่เปลี่ยนแปลงจาก ณ สิ้นปี 2555 ที่ร้อยละ 8.05 ต่อปี4
เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 7.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่าสถาบันการเงินจะยังคงมีการเร่งระดมเงินฝากเพื่อรองรับ การขยายตัวของสินเชื่อในช่วงสิ้นปีและเพื่อรักษาฐานลูกค้าก็ตาม แต่การแข่งขันระดมเงินฝากได้ลดความรุนแรงลงเนื่องจากสินเชื่อขยายตัวในอัตราชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับมี ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (เช่น LTF RMF และประกันชีวิต) มากขึ้นในช่วงสิ้นปี
สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ขยายตัวในอัตราชะลอตัวลงจากร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 10.0 โดยสินเชื่อธุรกิจเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 8.1 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 8.5 เนื่องจากการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ในสาขาอุตสาหกรรมการผลิตและสาขาการพาณิชย์ ในขณะที่สาขาการธนาคารและธุรกิจการเงินรวมทั้งสาขาการเกษตรชะลอลงมาก เช่นเดียวกับสินเชื่อธุรกิจของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ ชะลอลงมาก ซึ่งเป็นผลมาจากฐานสูงในปีก่อนหน้า ส่วนสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวในอัตราชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 10.5 จากการที่สถาบันการเงินเริ่มเพิ่ม ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ฐานสินเชื่อที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกลดลง สอดคล้องกับมูลค่าการใช้จ่าย ผ่านบัตรเครดิตของคนไทย ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต รวมทั้งการเบิกเงินสดล่วงหน้าจาก บัตรเครดิตที่ชะลอตัวลง
สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า แต่สภาพคล่องส่วนเกินปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อ เงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 100.4 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 101.4 ในขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,237.4 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 1,312.0 พันล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐเป็นสำคัญ
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวในทิศทางที่ลดลงตลอดทั้งไตรมาส เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อการลดขนาดมาตรการ QE ของ FED และปัญหาการเมืองในประเทศ ณ สิ้น ไตรมาสที่สี่ SET index ปิดที่ 1,298.7 จุด ลดลงร้อยละ 6.1 จากไตรมาสที่สาม มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงมาอยู่ที่ 32.9 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 87.5 พันล้านบาท โดยแรงขายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนต่างชาติ แต่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาค เนื่องจากปัญหาการเมืองภายในประเทศ
ในปี 2556 ตลาดหลักทรัพย์ไทยผันผวนสูง ตามการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นปี 2556 ปรับลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2555 โดยในระหว่างปีดัชนีได้ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 20 ปี ที่ระดับ 1,643.4 จุด
ในเดือนมกราคม 2557 SET Index ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,274.3 จุด มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 31.1 พันล้านบาท จาก 32.9 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สี่ โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 13.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากความกังวลต่อปัญหาการเมืองภายในประเทศที่มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชุมนุม การปิดสถานที่ราชการ และความล่าช้าของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 13 กุมภาพันธ์ SET Index ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากปัญหาทางการเมืองในประเทศยังไม่มีข้อยุติ
มูลค่าการซื้อขายพันธบัตรลดลง นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิลดลงมาก มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สี่เท่ากับ 69.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าซื้อขายต่ำสุดในปี 2556 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในไตรมาสที่สี่เพียง 7.5 พันล้านบาท ลดลงมากจาก 91.2 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สาม เนื่องจาก (1) นักลงทุนลดความเสี่ยงจาก ความผันผวนในตลาดทุนภูมิภาค (2) นักลงทุนต่างชาติลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยและปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลลดลงจากที่ประมาณการไว้เดิม ประกอบกับมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาส ปรับลดลงเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นถึงปานกลาง
ในปี 2556 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 85.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า แต่นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 420.0 พันล้านบาท ลดลงจากปี 2555 มากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในประเทศอุตสาหกรรมหลักมากขึ้น ตามสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ในเดือนมกราคม 2557 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 70.9 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สี่และเดือนธันวาคม 2556 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิที่ 6.0 พันล้านบาท ภายหลัง FED ลดขนาดมาตรการ QE ลง และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิในไตรมาสที่สี่ 7.92 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการไหลออกใน ภาคอื่นๆ ที่ 5.23 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และภาคธนาคารกลางที่ 3.44 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดย การไหลออกที่สำคัญมาจากการขายพันธบัตร ธปท. และตราสารทุนของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความกังวลต่อการปรับลดมาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และปัญหาทางการเมืองในประเทศ เป็นสำคัญ
รวมทั้งปี 2556 มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ 1.24 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการกู้เงินทั้งในภาคธนาคารและภาคอื่นๆ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การไหลเข้าสุทธิในปี 2556 ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับปี 2555 จากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะพันธบัตร ธปท. และตราสารทุน
ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามการคาดการณ์และการประกาศลดขนาดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในไตรมาสที่สี่เฉลี่ยอยู่ที่ 31.69 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับ 31.48 และ 30.68 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ โดยค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากมี การคาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐฯ เริ่มจะลดขนาดมาตรการ QE ทำให้เริ่มมีกระแสเงินทุนไหลออกของ นักลงทุนต่างชาติ ทั้งจากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทย และในวันที่ 17 - 18 ธันวาคม 2556 เมื่อ FOMC มีมติให้ลดขนาดมาตรการ QE ลงเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงต้นปี 2557 ทำให้นักลงทุนปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัว ทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส และ โดยภาพรวม ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สี่อ่อนค่าลงจากไตรมาสที่สามร้อยละ 0.68 โดยอ่อนค่า รองมาจากเงินรูเปียร์อินโดนีเซียและเงินเยนญี่ปุ่น
ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2556 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 102.95 อ่อนค่าลงร้อยละ 1.46 และร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) อ่อนค่าลงร้อยละ 2.71 และร้อยละ 3.22 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ทั้งปี 2556 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกก่อนที่จะปรับตัวอ่อนค่าลงต่อเนื่องอย่างรวดเร็วตั้งแต่ไตรมาสที่สาม และมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยกรอบการเคลื่อนไหวทั้งปี 2556 อยู่ที่ 28.63 - 32.81 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 30.73 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.แข็งค่าขึ้น ร้อยละ 1.15 เมื่อเทียบกับเฉลี่ยในปี 2555 ส่วนดัชนีค่าเงินบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.14 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.78
ในเดือนมกราคม 2557 เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 ปี ที่ 33.11 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ.เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2557 โดยมีค่าเฉลี่ยที่ 32.94 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. (อ่อนค่าลงร้อยละ 1.86) และเฉลี่ยในวันที่ 1 - 13 กุมภาพันธ์ เท่ากับ 32.78 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
ดุลบัญชีเดินสะพัด: ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 บัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,197 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 166,037 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 888 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 27,354 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 3,849 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1,349 ล้านดอลลาร์ สรอ.
รวมทั้งปี 2556 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2,790 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 71,816 ล้านบาท)ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 1,470 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 46,398 ล้านบาท) ในปี 2555
เงินสำรองระหว่างประเทศ: ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 167.23 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 22.95 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2.7 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ปี 2556) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 9.6 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ ปี 2556)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 เท่ากับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ซึ่งทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูป เนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาพลังงานตามทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคาสินค้า ในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งผลจากฐานที่สูงของค่ากระแสไฟฟ้าจากการเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราค่าไฟอัตโนมัติ (FT) ในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2555 ในอัตรา 30 สตางค์ต่อหน่วยในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2555 และอัตรา 48 สตางค์ต่อหน่วยในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2555 ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราค่า FT ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน (อัตราค่า FT ในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2556 อยู่ที่ 54 สตางค์ต่อหน่วย) จึงส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมชะลอตัว ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
รวมทั้งปี 2556 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากร้อยละ 3.0 ในปีก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 2.1 ในปีก่อนหน้า
ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สี่ของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เท่ากับในสองไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสัตว์มีชีวิตและสัตว์น้ำ และปลาและสัตว์น้ำ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 0.2 ตามการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
รวมทั้งปี 2556 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ในปีก่อนหน้า โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ
ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สี่ ปี 2556 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) ในไตรมาสที่สี่ ปี 2556 อยู่ที่ 105.16 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจาก 107.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาดทั้งปี 2556 อยู่ที่ 104.52 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 106.10 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2555 การลดลงของราคาน้ำมันดิบมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริโภคและนำเข้าน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุด (2) การฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังเป็นไปอย่างช้าๆ (3) เศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันดิบเป็นลำดับที่ 2 ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้อุปสงค์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ความต้องการในการเก็งกำไรในราคาของสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญๆ อยู่ในระดับที่ต่ำในช่วงการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกตลอดปี 2556 ยังทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 3.2 (%QoQ saar., first estimate) ชะลอลง จากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการปรับลดรายจ่ายของรัฐบาลกลางทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตามการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวอย่างแข็งแกร่งร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 6.7 ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งฟื้นตัวเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2553 อย่างไรก็ตาม ผลของการปรับลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ การปรับเพิ่มภาษีเงินได้ รวมทั้ง ความล่าช้าของการแก้ปัญหาทางการคลังและหนี้สาธารณะ ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2555
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ, sa) ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 3 ไตรมาส และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสุทธิ ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนธันวาคมที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราเฉลี่ยระยะยาวเป็นครั้งแรกในรอบ 31 เดือน อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่สาม เป็นร้อยละ 0.8 รวมทั้งปี เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนหดตัวร้อยละ 0.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2555
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสที่สาม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่ง ใช้จ่ายก่อนการขึ้นภาษีบริโภค (Consumption tax) ในเดือนเมษายน 2557 รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินเยนและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจส่งผลให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาตรการปริมาณเงิน รวมทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.7
- เศรษฐกิจจีน ในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 7.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง รวมทั้งการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยยอดค้าปลีกในไตรมาสที่สี่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ13.6 แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะชะลอตัวลงเล็กน้อยก็ตาม ในด้านอุปสงค์ต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 7.5 รวมทั้งปีเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.7 เท่ากับปี 2555
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrial Economies: NIEs) ในไตรมาสที่สี่ เศรษฐกิจเกาหลีใต้และไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 และ ร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภค การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอลงจากร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวในภาคการผลิตและก่อสร้าง รวมทั้งภาคการค้าส่งค้าปลีกและบริการ คาดว่าทั้งปี 2556 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 ร้อยละ 2.2 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน ในไตรมาสที่สี่ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.7 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวสูงของการส่งออกร้อยละ 7.4 อย่างไรก็ตามเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาเงินทุนไหลออก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงิน รูเปียอ่อนค่าและอัตราเงินเฟ้อสูงร้อยละ 8.4 รวมทั้งปี 2556 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.2 ในปี 2555 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อน โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการส่งออกและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ รวมทั้งปี 2556 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 5.4 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคบริการและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุไห่เยี่ยนก็ตาม รวมทั้งปีเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.8 ในปี 2555 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.1 ตามการขยายตัวของทั้งภาคบริการและภาคการผลิต ในขณะที่การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 2.9 รวมทั้งปีเศรษฐกิจขยายตัว ร้อยละ 4.7
ในปี 2557 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.1 ในปี 2556 โดยเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน และการฟื้นตัวของ ภาคอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มประเทศยูโรโซนฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเริ่มกลับมาขยายตัวในปี 2557 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2556 เนื่องจาก การลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการขึ้นภาษีการบริโภคที่จะเริ่มใช้ในเดือนเมษายน 2557 เศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2556 เนื่องจากการปรับตัวภายใต้มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาคการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.9 ในปี 2556 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน การฟื้นตัวของราคาหลักทรัพย์และที่อยู่อาศัย รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และการลดลงของภาระหนี้สินภาคครัวเรือน ในขณะที่แรงต้านจากการปรับลดงบประมาณภาครัฐเริ่มลดลงตามลำดับ แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องหลังจากการปรับลด 2 ครั้งในเดือนธันวาคม 2556 และมกราคม 2557 ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
- เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินยูโร และการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของค่าแรงที่แท้จริง รวมทั้งความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งทำให้ความจำเป็นในการปรับลดการขาดดุลทาง การคลังเริ่มลดลง ในขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงิน อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากการว่างงานยังอยู่ในระดับสูง
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.8 ในปี 2556 เนื่องจากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้สิ้นสุดลง และมีการปรับเพิ่มภาษี การบริโภคจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2557 ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การบริโภคชะลอลง อย่างไรก็ตามการส่งออกและการลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในปี 2556 โดยส่วนหนึ่ง เป็นผลจากการสิ้นสุดลงของการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและผลของการปรับเพิ่มอัตราภาษี VAT ในขณะที่การดำเนินมาตรการชะลอการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อลดความร้อนแรง ของเศรษฐกิจ และลดแรงกดดันด้านภาระหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นมีแนวโน้มที่จะทำให้การลงทุนชะลอลง อย่างไรก็ดีการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวของสหรัฐฯ และยุโรป
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากภาคการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศกลุ่มนี้ รวมทั้งการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 3.4 3.6 3.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน คาดว่าในปี 2557 เศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่จะปรับตัวดีขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการฟื้นตัวของการส่งออก เศรษฐกิจเวียดนาม คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 5.5 ใกล้เคียงกับปี 2556 เนื่องจากมาตรการภาครัฐในการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในภาคธนาคาร จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออก เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.5 เทียบกับ ร้อยละ 7.2 ในปี 2556 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการใช้จ่าย เพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่ได้รับความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน ซึ่งจะส่งผลให้ ภาคการก่อสร้างของทั้งภาครัฐและเอกชนขยายตัวดีขึ้น เศรษฐกิจมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 4.9 ใกล้เคียงกับร้อยละ 4.7 ในปี 2556 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.8 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 5.4 เนื่องจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบและถ่านหินซึ่งแนวโน้มราคาและความต้องการยังอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้ง แรงกดดันจากความอ่อนแอของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะช่วยให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศยังมีข้อจำกัดจากแนวโน้มความยืดเยื้อของสถานการณ์ทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินการ ตามแผนการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ การจัดตั้งรัฐบาลและกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและจำเป็นที่จะต้องพึ่งพิงภาคการส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้นจากปี 2556
- ปัจจัยสนับสนุน
1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.7 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.9 ในปี 2557 และเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 30.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปีที่ผ่านมา เป็นเฉลี่ย 32.0 - 33.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกมีโอกาสที่จะขยายตัวร้อยละ 7.0 หลังจากการหดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2556 และการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 3.1 ในปี 2555
2) แรงกดดันด้านราคาน้ำมันและเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตามแนวโน้มราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังอ่อนตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศฟื้นตัวอย่างช้าๆ
- ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
1) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 มีประเทศที่ประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยทั้งสิ้น 48 ประเทศ เพิ่มขึ้นจาก40 ประเทศในเดือนธันวาคม และจำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมขยายตัวเพียงร้อยละ 0.06
2) แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจาก (1) การใช้จ่ายภายใต้แผน การลงทุนภาครัฐจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม ทั้งในส่วนของแผนการลงทุนภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และโครงการลงทุนภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และ (2) การจัดตั้งรัฐบาลที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปจะส่งผลกระทบให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีความล่าช้า ซึ่งจะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียงบางส่วนเท่านั้นในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558
3) อุปสงค์ภาคเอกชนยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว โดยการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีข้อจำกัดจาก (1) ฐานการบริโภครถยนต์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าแนวโน้มปกติ (2) ราคาสินค้าเกษตรยังมีแนวโน้มอ่อนตัว โดยเฉพาะราคาข้าว ในขณะที่ การดำเนินมาตรการแทรกแซงราคาของภาครัฐมีข้อจำกัดและความไม่แน่นอนมากขึ้น (3) สถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มที่จะซ้ำเติมให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวได้ช้า (ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงต่อเนื่องนับจากเดือนมีนาคม 2556) และ (4) ความเข้มงวด ในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน เช่นเดียวกับการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีข้อจำกัดจาก (1) การใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 60.14 ในเดือนธันวาคม2556 (2) ปัญหาทางการเมืองทำให้การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมีความล่าช้า (3) การอ่อนค่า ของเงินเยน (4) ดอกเบี้ยระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ (5) การปรับตัวลดลงของดัชนี ความเชื่อมั่นทางธุรกิจต่ำกว่าระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และการรอดูความชัดเจนทางด้านสถานการณ์ทางการเมือง นโยบายส่งเสริมการลงทุน และแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ
4) ผลผลิตทางการเกษตรยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงไตรมาสที่สองและสามของปี
- ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 1.9 - 2.9 เทียบกับร้อยละ 2.2 ในปี 2556 และบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP ลดลงจากการขาดดุลร้อยละ 0.6 ในปี 2556
ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเดิมร้อยละ 4.0 - 5.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 เป็นการขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีเหตุผลหลักของการปรับประมาณการดังนี้
1) ปรับสมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี 2557 จะมีจำนวนประมาณ 27.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ต่ำกว่าสมมติฐาน 28.0 ล้านคนที่เป็นเป้าหมายของทางการและเป็นสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากผลกระทบจาก การประกาศของประเทศต่าง ๆ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวของตนที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมกราคมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.06
2) การปรับสมมติฐานด้านรายจ่ายของภาครัฐ ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายภายใต้แผนการลงทุน
ภาครัฐจะล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เดิม ทั้งในส่วนของแผนการลงทุนภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และโครงการลงทุนภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (2) กระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 มีความล่าช้าและจะสามารถเบิกจ่ายได้เพียงบางส่วนในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ไตรมาสสุดท้ายของปีปฏิทิน 2557) (4) การปรับสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณจากเดิมร้อยละ 95 ในการประมาณการ ครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 92.0 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราการเบิกจ่ายจริงร้อยละ 90.5 ในปี 2556
3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากฐานการขยายตัวที่สูงผิดปกติ
อย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2556 อยู่ในระดับสูงถึง 210,214 คันและ 158,563 คันตามลำดับ เทียบกับปริมาณการจำหน่ายภายใต้แนวโน้มปกติที่ประมาณ 90,000 คันต่อไตรมาสและปริมาณการจำหน่ายล่าสุด 119,563 คันในไตรมาสที่สี่ ของปี 2556 เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในไตรมาสแรกและไตรมาส ที่สองจะยังหดตัวในช่วงร้อยละ 38 - 48 และร้อยละ 20 - 30 ตามลำดับ ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ของปี 2556 นอกจากนั้น สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองและความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เม็ดเงินจากมาตรการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรลดลงและขาด ความต่อเนื่องและยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน
4) การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างล่าช้าออกไปจนถึงไตรมาสที่สองเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง การฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มล่าช้ากว่าการคาดการณ์ที่ผ่านมา รวมทั้งการขาดความชัดเจนในการดำเนินมาตรการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ของภาครัฐ
5) การปรับลดสมมติฐานประกอบด้วย (1) ราคาน้ำมันดิบดูไบจากเฉลี่ยร้อยละ 105 - 110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในการประมาณการครั้งที่แล้วเป็นเฉลี่ย 102.5 - 107.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และ (2) ค่าเงินบาทจากเฉลี่ย 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เป็น 32.0 - 33.0 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ.
- องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0
ในปี 2556 และการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนจากร้อยละ 2.7 เป็นร้อยละ 1.4 ตามแนวโน้มการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในครึ่งปีแรก และการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมที่ต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับลดประมาณการการขยายตัวของรายจ่ายการบริโภคภาครัฐจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในการประมาณการ ครั้งที่ผ่านมา เป็นการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในการประมาณการครั้งนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับสมมติฐานด้านอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ
2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2556 และการขยายตัวร้อยละ 7.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับลดประมาณการการลงทุนภาครัฐจากการขยายตัวร้อยละ 12.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 0.3 ในการประมาณการครั้งนี้ ตามการปรับสมมติฐานด้านการเบิกจ่ายและการดำเนินการ ตามแผนการลงทุนภายใต้ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูงและคาดว่าจะยังไม่สามารถเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ทันในปี 2557 รวมทั้งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการเบิกจ่ายเพิ่มเติมในปี 2557 ยกเว้นในส่วนที่ได้มีการอนุมัติแล้ว ประกอบกับสมมติฐานความล่าช้าในกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนลงจากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 3.8
3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.0 - 7.0 เทียบกับร้อยละ 7.0 เท่ากับการประมาณครั้งที่ผ่านมา แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม การปรับสมมติฐานด้านการท่องเที่ยวทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 5.7 เทียบกับการหดตัวร้อยละ
0.4 ในปี 2556 และการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก การปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 เป็นร้อยละ 5.2 ตามการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคซึ่งส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าต่ำกว่าในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เมื่อรวมกับการปรับประมาณการการนำเข้าบริการ ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 4.6 ลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาและการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2556
5) บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการขาดดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2556 และการขาดดุล 2.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดประมาณการดุลการค้าจากการเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เป็นการเกินดุล 9.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ตามการปรับประมาณการการนำเข้า และการปรับเพิ่มการขาดดุลบริการตามการปรับสมมติฐานด้านการท่องเที่ยวและข้อมูลจริงในปี 2556 ที่ดุลบริการยังคงขาดดุลมากกว่าการคาดการณ์
6) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 1.9 - 2.9 เทียบกับร้อยละ 2.2 ในปี 2556 และร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับสมมติฐานด้านราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) จากเฉลี่ย 105 - 110 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็นเฉลี่ย 102.5 - 107.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวและสนับสนุนให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของภาครัฐปรับตัวลดลงจากการประมาณการครั้งก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายใต้กรอบงบประมาณปกติ มีข้อจำกัดจากกรอบการขาดดุลงบประมาณที่ลดลงจากปี 2556 และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เช่นเดียวกับอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศที่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ เงื่อนไขดังกล่าวทำการขยายตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพิงแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและแนวโน้มความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในปี 2557 จึงควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายได้จากตลาดหลักและตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ สนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการค้าชายแดนและการค้าในภูมิภาค โดยการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการขนส่งผ่านชายแดน และการส่งเสริมผู้ประกอบการไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น
2) การกำกับดูแลแผนงานและโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการดูแลด้านการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย การเตรียมความพร้อมของแผนงานและโครงการที่จะต้องได้รับการพิจารณาเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ให้สามารถเร่งรัดดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี การกำหนดแนวทางการดำเนินการโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภายใต้เงื่อนไขต่างๆ การปรับปรุงนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่รออยู่
3) การดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้มีความผันผวนจนเกินไป รวมทั้งการดูแลสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจและการเข้าถึงเงินทุนของภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
4) การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น การสร้างอาชีพเสริมช่วงภาวะน้ำแล้ง และการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เป็นต้น
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 ข้อมูลจริง ประมาณการ ปี 2557 ปี 2555 ปี 2556 18 พ.ย.56 17 ก.พ.57 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท) 11,375 11,897 12,769 12,599 รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี) 167,501 174,319 186,116 183,638 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 366 385 399 388 รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) 5,389 5,647 5,816 5,650 อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %) 6.5 2.9 4.0-5.0 3.0-4.0 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %) 13.2 -1.9 7.1 3.1 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 14.4 -2.8 5.8 3.8 ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %) 8.9 1.3 12.0 0.3 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %) 6.8 1.0 2.9 1.6 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 6.7 0.2 2.7 1.4 ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %) 7.5 4.9 3.8 2.0 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 3.1 4.2 7.0 6.0 มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 225.9 225.4 241.0 241 อัตราการขยายตัว (%)2/ 3.1 -0.2 7.0 5.0 - 7.0 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/ 2.5 0.2 6.0 4.0 - 6.0 ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 6.2 2.3 6.2 4.6 มูลค่าการนำเข้าสินค้า(พันล้านดอลลาร์สรอ.)1/ 219.9 219.0 236.0 231.6 อัตราการขยายตัว (%)2/ 8.8 -0.4 6.7 5.7 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/ 7.1 1.7 6.2 5.2 ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)1/ 6.0 6.4 5.8 9.6 ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/ -1.5 -2.8 -2.5 -0.6 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -0.4 -0.6 -0.6 -0.2 เงินเฟ้อ (%) ดัชนีราคาผู้บริโภค 3.0 2.2 2.1-3.1 1.9-2.9 GDP Deflator 1.3 1.7 2.1-3.1 1.9-2.9 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 17 กุมภาพันธ์ 2557 หมายเหตุ: 1/ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดุลการชำระเงินให้เป็นไปตามคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 ของ IMF (ดูรายละเอียดที่ http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/Newtable.aspx) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าที่ใช้เป็นฐานในการประมาณการในครั้งก่อนหน้าลดลง 2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--