เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ศกนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมด้วยรองเลขาธิการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายวิรัตน์ วัฒนศิริธรรม และคณะเจ้าหน้าที่ ได้ให้การต้อนรับ Mr. Ch. Ganzoring อธิบดีกรมนโยบายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจของมองโกเลีย และคณะผู้แทนรัฐบาลมองโกเลียในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และหารือความเป็นไปได้ ในเรื่องการแปลงแผนแม่บทความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจ และวิชาการไทย-มองโกเลียไปสู่ขั้นการปฏิบัติ
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวต่อคณะมองโกเลียว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวิชาการระดับทวิภาคี กับมองโกเลียอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงร่างแผนแม่บท ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-มองโกเลียตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สศช.เป็นแกนกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและมองโกเลียต่อไป
สำหรับผลการหารือร่วมกันครั้งนี้ในประเด็นการพิจารณาแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัตินั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นควรสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งกงสุลกิติมศักดิ์ของไทยประจำประเทศมองโกเลียโดยให้สามารถออกวีซ่าให้แก่ชาวมองโกเลีย เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางฝ่ายรัฐบาลมองโกเลียได้แต่งตั้งให้ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำประเทศไทย ซึ่งสามารถออกวีซ่าให้แก่คนไทย เพื่อเดินทางเข้าประเทศมองโกเลียได้ ส่วนเรื่องการจัดตั้งสถานฑูตมองโกเลียประจำในประเทศไทย และการตั้งสถานฑูตไทยประจำในประเทศมองโกเลียนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้เป็นนโยบายในระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ ฝ่ายมองโกเลียยังเห็นด้วยในการปรับเวลาเที่ยวบินทั้งไปและกลับที่เดิมมีอยู่แล้ว จากกรุงเทพฯ ไปกรุงปักกิ่ง และจากกรุงปักกิ่งไปกรุงอูลันบาตอร์ ให้อยู่ในช่วงเวลาที่สามารถเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงปักกิ่งต่อไปยังกรุงอูลันบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลียได้ โดยไม่ต้องพักค้างแรมที่กรุงปักกิ่งอีกต่อไป ทั้งนี้จะช่วยให้มองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่มีศักยภาพในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมาก สามารถติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ โดยให้ไทยเป็นประตูการค้าการท่องเที่ยวทางอากาศของมองโกเลียในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน มองโกเลียมีความประสงค์ที่จะร่วมลงทุนกับไทยในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น ในด้านธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเห็นว่า ทางฝ่ายไทยประสบความสำเร็จทางด้านนี้และ เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาประเทศมองโกเลียให้มีประสิทธิภาพในทุกด้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เคยให้การฝึกอบรมบุคคลากรของมองโกเลีย โดยเฉพาะในสาขาที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอัญมณี ธุรกิจการท่องเที่ยวทรัพยากรธรณี การแพทย์ สาธารณสุข แนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และความรู้ด้านภาษาไทยหรืออังกฤษ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยโดยกรมวิเทศสหการได้เป็นแกนกลางจัดสรรทุนแก่เจ้าหน้าที่มองโกเลียให้เดินทางมาศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นการหารือดังกล่าวจะได้นำไปบรรจุลงในแผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-มองโกเลีย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้เห็นความเห็นชอบซึ่งจะได้มีการแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
--ข่าวการพัฒนา กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 13 ฉบับที่ 5 / พฤษภาคม 2539--
เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้กล่าวต่อคณะมองโกเลียว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ(สศช.)ได้ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวิชาการระดับทวิภาคี กับมองโกเลียอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงร่างแผนแม่บท ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-มองโกเลียตามที่คณะรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ สศช.เป็นแกนกลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและมองโกเลียต่อไป
สำหรับผลการหารือร่วมกันครั้งนี้ในประเด็นการพิจารณาแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัตินั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นควรสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งกงสุลกิติมศักดิ์ของไทยประจำประเทศมองโกเลียโดยให้สามารถออกวีซ่าให้แก่ชาวมองโกเลีย เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางฝ่ายรัฐบาลมองโกเลียได้แต่งตั้งให้ ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์มองโกเลียประจำประเทศไทย ซึ่งสามารถออกวีซ่าให้แก่คนไทย เพื่อเดินทางเข้าประเทศมองโกเลียได้ ส่วนเรื่องการจัดตั้งสถานฑูตมองโกเลียประจำในประเทศไทย และการตั้งสถานฑูตไทยประจำในประเทศมองโกเลียนั้น ทั้งสองฝ่ายเห็นควรให้เป็นนโยบายในระยะยาวต่อไป
นอกจากนี้ ฝ่ายมองโกเลียยังเห็นด้วยในการปรับเวลาเที่ยวบินทั้งไปและกลับที่เดิมมีอยู่แล้ว จากกรุงเทพฯ ไปกรุงปักกิ่ง และจากกรุงปักกิ่งไปกรุงอูลันบาตอร์ ให้อยู่ในช่วงเวลาที่สามารถเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงปักกิ่งต่อไปยังกรุงอูลันบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลียได้ โดยไม่ต้องพักค้างแรมที่กรุงปักกิ่งอีกต่อไป ทั้งนี้จะช่วยให้มองโกเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่มีศักยภาพในด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมาก สามารถติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้ โดยให้ไทยเป็นประตูการค้าการท่องเที่ยวทางอากาศของมองโกเลียในภูมิภาคนี้
ขณะเดียวกัน มองโกเลียมีความประสงค์ที่จะร่วมลงทุนกับไทยในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว เช่น ในด้านธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะเห็นว่า ทางฝ่ายไทยประสบความสำเร็จทางด้านนี้และ เพื่อเป็นการช่วยพัฒนาประเทศมองโกเลียให้มีประสิทธิภาพในทุกด้าน ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เคยให้การฝึกอบรมบุคคลากรของมองโกเลีย โดยเฉพาะในสาขาที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอัญมณี ธุรกิจการท่องเที่ยวทรัพยากรธรณี การแพทย์ สาธารณสุข แนวทางการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และความรู้ด้านภาษาไทยหรืออังกฤษ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา ฝ่ายไทยโดยกรมวิเทศสหการได้เป็นแกนกลางจัดสรรทุนแก่เจ้าหน้าที่มองโกเลียให้เดินทางมาศึกษาหรือฝึกอบรมในประเทศไทย
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ประเด็นการหารือดังกล่าวจะได้นำไปบรรจุลงในแผนแม่บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการไทย-มองโกเลีย และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้เห็นความเห็นชอบซึ่งจะได้มีการแปลงแผนแม่บทดังกล่าวไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของทั้งสองประเทศให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
--ข่าวการพัฒนา กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 13 ฉบับที่ 5 / พฤษภาคม 2539--