สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค 17 พฤศจิกายน 2557
ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 - 2558
(% YOY) 2556 2557 ประมาณการ ทั้ง H1 Q3 2557 2558 GDP (ณ ราคาคงที่) 2.9 0.0 0.6 1.0 3.5-4.5 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่) -2.0 -8.1 2.9 -1.9 5.8 ภาคเอกชน -2.8 -7.2 3.9 -1.0 4.8 ภาครัฐ 1.3 -11.3 -0.8 -5.0 9.8 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่) 1.1 -0.7 1.9 1.2 3.1 ภาคเอกชน 0.3 -1.3 2.2 0.7 2.6 ภาครัฐบาล 4.9 3.1 0.4 3.6 5.6 มูลค่าการส่งออกสินค้า -0.2 -0.1 -1.7 0.0 4.0 ปริมาณ 0.2 1.2 -1.4 0.9 4.0 มูลค่าการนำเข้าสินค้า -0.5 -13.3 -0.8 -6.5 5.0 ปริมาณ 1.6 -12.7 -0.4 -5.8 5.5 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -0.6 4.7 -1.6 2.9 2.2 เงินเฟ้อ 2.2 2.2 2.0 2.1 1.4-2.4 อัตราการว่างงาน 0.7 0.9 0.8 0.9 0.8-1.0
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สามขยายตัวจากไตรมาสที่สองร้อยละ 1.1 (QoQ_SA %) รวม 9 เดือนแรก ของปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.2 - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน แต่การส่งออกหดตัว ในด้านการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัว ภาคเกษตรชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรม และภาคก่อสร้างหดตัวในอัตราที่ช้าลง - เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 โดยการบริโภคของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.7 การลงทุนรวมหดตัวร้อยละ 1.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 2.1 และ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.9 ของ GDP - แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนประกอบด้วย (1) การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) การปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเงื่อนไขภายในประเทศรวมทั้งผลของการดำเนินนโยบาย (3) การลงทุนเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมไปแล้วในปี 2557 (4) การเร่งการใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ (5) การเริ่มกลับมาขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ ในประเทศ และ (6) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดแรงกดดันด้านราคาและ เพิ่มอำนาจซื้อ โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 - 2.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2557 และปี 2558 ต้อง ให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย (2) การจัดทำมาตรการเพื่อดูแลแรงงานผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่จำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยลง แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และ ผู้ว่างงาน โดยส่งเสริมการอบรมพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพของแรงงานเพื่อก่อให้เกิดอาชีพเสริมหรือทางเลือก (3) การส่งเสริมการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและลดอุปสรรคทางการค้า (4) การเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง (5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน และติดตามให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วดำเนินการลงทุนโดยเร็ว (6) การเร่งรัดปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น (7) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (8) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐและโครงการ/แผนงานสำคัญๆ ตามแผนปฏิบัติการ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2557 และแนวโน้มปี 2557 - 2558 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.6 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่การชะลอตัว ของภาคเกษตร การส่งออกที่ยังลดลง และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ช้า ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมยังขยายตัวต่ำกว่า ที่คาดการณ์ไว้เดิม ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชน แต่การส่งออกหดตัว ในด้านการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์กลับมาขยายตัว ภาคเกษตรชะลอตัว ภาคอุตสาหกรรมและภาคก่อสร้างหดตัวช้าลง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สามขยายตัวจากไตรมาสที่สอง ร้อยละ 1.1 (QoQ_SA %) เมื่อรวมกับครึ่งแรกของปีซึ่งเศรษฐกิจ หดตัวร้อยละ 0.1 ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.2 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2557 (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สอง ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีการจับจ่ายใช้สอยโดยเฉพาะในหมวดสินค้าไม่คงทนมากขึ้น แต่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งยังลดลงส่งผลให้การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนลดลงต่อเนื่อง รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.2 (2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่สอง โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สอง โดยเป็นการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้น โดยที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 49.2 ใกล้เคียงกับระดับที่นักธุรกิจขยายการลงทุน (ระดับ 50) ในขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็ปรับตัวดีขึ้นมากทั้งการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง โดยรวมการลงทุนภาครัฐจึงลดลงเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสที่สอง รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 4.5 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 7.8 และ การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.6 (3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 56,934 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.7 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ และจีนขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศ ยูโรโซนยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ประกอบกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรลดลง ปริมาณการส่งออกในไตรมาสที่สามลดลงร้อยละ 1.4 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ทองคำ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยางพารา และกุ้ง ปูกระป๋องและแปรรูป สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปิโตรเคมี เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า การส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง การส่งออกไปตลาดอาเซียนขยายตัว แต่การส่งออกไปยังญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลียลดลง เมื่อหักทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวร้อยละ 0.7 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 แต่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 (4) สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตข้าวเปลือกและยางพาราลดลง แต่ผลผลิตไม้ผล ปศุสัตว์ และมันสำปะหลังขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศ ที่เอื้ออำนวย ความต้องการของตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 5.3 รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 2.4 ราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยลดลงร้อยละ 5.0 ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 2.6 (วัดโดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีรายได้) (5) สาขาก่อสร้าง หดตัวร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สอง โดยที่ทั้งการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนลดลง รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 สาขาก่อสร้างหดตัวร้อยละ 5.8 โดยการก่อสร้างภาครัฐหดตัวร้อยละ 5.2 และการก่อสร้างภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 5.5 (6) สาขาอุตสาหกรรม หดตัวร้อยละ 0.7 ช้าลงจากการหดตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 1.6 ในสองไตรมาสแรก การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มที่ส่งออกได้ดีขึ้นปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่การผลิตรถยนต์ยังลดลงต่อเนื่อง และการผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีลดลงเนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น อัตราการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.7 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.6 (7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ลดลงร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวช้าลงตามลำดับและเริ่มกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนตุลาคม อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.6 เทียบกับร้อยละ 47.3 ในไตรมาสที่สองและร้อยละ 62.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 9 เดือนแรกของปี 2557 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 4.1 แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2557 - 2558 ในการแถลงข่าวครั้งวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 1.0 ปรับลดลงจากประมาณการร้อยละ 1.5 - 2.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1)เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสที่สอง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ประกอบกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรลดลงมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกกลับมาหดตัวหลังจากที่เริ่มขยายตัวในไตรมาสที่สอง (2) ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 41.9 หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้และส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ต่ำกว่า ที่ประมาณการ (3)การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 20.8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดร้อยละ 25.0 และอัตราเบิกจ่ายรวมทั้งปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 89.0 ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายร้อยละ 95.0 และ (4) การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ช้า โดยที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในไตรมาสที่สามลดลงมากกว่าที่คาดไว้ สำหรับองค์ประกอบอื่นของเศรษฐกิจคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ในรูปดอลลาร์ สรอ. จะไม่เพิ่มขึ้นจากปี 2556 การบริโภคของครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.7 การลงทุนรวมหดตัว ร้อยละ 1.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 2.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.9 ของ GDP เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 - 2.4 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP 1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2557 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้ - ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สอง โดยที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) และปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 3.9 ตามลำดับเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.1 และร้อยละ 3.1 ในไตรมาสที่สอง การใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวช้าลงตามปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งซึ่งหดตัวช้าลง โดยลดลง ร้อยละ 44.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 49.5 ในไตรมาสที่สอง ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ ขยายตัวร้อยละ 0.6 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.0 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับในไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 61.2 ในไตรมาสที่สอง มาอยู่ที่ระดับ 69.3 ในไตรมาสที่สามนี้ การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงหดตัว ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สอง การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนร้อยละ 1.9 การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.6 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลงร้อยละ 11.0 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 254.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.1 ดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 69.4 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากกระบวนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนสามารถดำเนินการได้ตามปกติภายหลังจากการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 นักลงทุน จึงกลับมายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากขึ้น แม้ว่าจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสที่สามยังลดลงร้อยละ 5.9 แต่นับว่าปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 44.4 ในไตรมาสที่สอง เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.2 จากระดับ 47.0 ในไตรมาสที่สอง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่นักธุรกิจเริ่มขยายการลงทุน) เป็นไตรมาสที่ 5 การส่งออก: มูลค่าการส่งออกกลับมาหดตัวหลังจากที่เริ่มขยายตัวในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ เช่น สหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย รวมทั้งการลดลงอย่างต่อเนื่อง ของราคาส่งออกสินค้า โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตร การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 56,934 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สอง โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.4 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.3 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตาม เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1,827,392 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกร้อยละ 15.6 โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง แต่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังยังลดลงต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 9.7 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่า การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 โดยที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 69.3 จากการเร่งระบายข้าวของรัฐบาล มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 15.5 จากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ การส่งออกไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญและมีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 24.8 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 4.7 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 21.1 เนื่องจากสต็อกยางพาราของโลกยังอยู่ในระดับสูง มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าอุตสาหกรรมยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ เพราะอุปสงค์ในตลาดโลกฟื้นตัวช้า โดยปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 6.8 2.4 และร้อยละ 7.8 ตามลำดับ แต่การส่งออกยานยนต์ กุ้ง ปูกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ลดลงร้อยละ 3.9 11.8 และร้อยละ 7.2 ตามลำดับ สินค้าประมงขยายตัวร้อยละ 4.7 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลา และปลาหมึก สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น กุ้ง ปู กั้ง และ ล็อบสเตอร์เริ่มหดตัวช้าลง สินค้าส่งออกอื่นๆ หดตัวร้อยละ 77.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่ ลดลงถึงร้อยละ 85.4 ตลาดส่งออก: การส่งออกไปตลาดหลักชะลอตัวลงทั้งตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จีน และออสเตรเลียหดตัว การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 3.4 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การส่งออกไปตลาด สหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 1.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และจีน หดตัวร้อยละ 1.0 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจจีน และการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 14.4 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกง ที่หดตัวร้อยละ 13.5 การนำเข้า: หดตัวช้าลง เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มขยายตัวและตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของอุตสาหกรรมส่งออก ในไตรมาสที่สามของปี 2557 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 52,154 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.8 ในไตรมาสที่สอง โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 ตามการลดลงของราคาทองคำ และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เมื่อหักการนำเข้าทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.4 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,674,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรายหมวด มูลค่าสินค้านำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว แต่สินค้านำเข้าในหมวดอื่นๆ หดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวร้อยละ 1.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถ่านหิน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม พลาสติก และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุน ขยายตัวร้อยละ 1.9 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ คอมพิวเตอร์ หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า อากาศยาน และเรือ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 1.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม ยาและเวชภัณฑ์ และสิ่งทอ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ หดตัวร้อยละ 23.0 ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) และยานยนต์ อัตราการค้า (Term of Trade): อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่สอง เนื่องจากราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 0.3 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2557 อยู่ที่ 102.0 เทียบกับ 101.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ดุลการค้า: เกินดุลต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ดุลการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2557 เกินดุล 4,780 ล้านดอลลาร์ สรอ. (153,315 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 6,052 ล้านดอลลาร์ สรอ. (196,667 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า - ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม: ชะลอตัวลงตามการลดลงของผลผลิตสินค้าสำคัญโดยเฉพาะข้าวและยางพารา ในไตรมาสที่สาม สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการลดลงของผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา และกุ้งทะเล ร้อยละ 6.1 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ เนื่องจาก (1) ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาปรังรอบสองและพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรลดลง (2) ฝนชุกในภาคใต้ทำให้จำนวนวันกรีดยางลดลง และ (3) การผลิตกุ้งทะเลยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลัง ไม้ผล และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ร้อยละ 26.8 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ผลผลิตต่อไร่ของ มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น (2) ผลผลิตไม้ผลเพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย และ (3) การผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สาขาเกษตรกรรมโดยรวมขยายตัว สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 0.9 และร้อยละ 7.0 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับพืชผลเกษตรสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา เนื่องจาก (1) การระบายข้าวสารของรัฐบาลในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2557 (2) ปริมาณมันสำปะหลังในตลาดเพิ่มขึ้น และ (3) การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยางของจีน และความกังวลต่อผลกระทบจากผลผลิตส่วนเกินของยางในตลาดโลก รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ดี ราคาปาล์มน้ำมัน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้น เนื่องจาก (1) ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น หลังภาครัฐมีนโยบายบังคับใช้สัดส่วนไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 และอินเดียนำเข้าน้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งเป็น พืชน้ำมันหลักของอินเดียที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม (2) ความต้องการอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตปศุสัตว์ และ (3) ปริมาณการผลิตกุ้งทะเลยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความต้องการของตลาดยังอยู่ในระดับสูง การลดลงของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสนี้ สาขาอุตสาหกรรม: หดตัวช้าลงต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ในไตรมาสที่สาม สาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการหดตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่สอง ตามลำดับ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวช้าลงจากร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 3.9 ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วน การส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ที่ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 2.5 จากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่สอง อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30-60 ของผลผลิตรวม หดตัวร้อยละ 17.1 โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ และปิโตรเลียมหดตัวมาก ตามการลดลงของปริมาณการจำหน่ายและส่งออกรถยนต์ และ การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมนอกช่วงเวลาการซ่อมบำรุงปกติจำนวน 3 โรง (ไทยออยล์ เอสโซ่ และไออาร์พีซี) ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 หดตัวร้อยละ 4.0 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 60.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในไตรมาสที่สอง แต่ยังต่ำกว่าร้อยละ 63.9 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2556 อุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องหนัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8) เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 1.3) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ 2.1) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 14.2) และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (ร้อยละ 2.4) อุตสาหกรรมการผลิตที่หดตัว ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ 22.6) ปิโตรเลียม (ร้อยละ 11.0) อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 1.9) สิ่งทอ (ร้อยละ 0.4) เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 0.3) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 1.9) และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 1.2) สาขาก่อสร้าง: หดตัวต่อเนื่องทั้งการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน ในไตรมาสที่สาม สาขาก่อสร้างหดตัว ร้อยละ 2.7 ตามการหดตัวของการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนร้อยละ 1.9 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้าง ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ และดัชนีการค้าส่งหมวดส่งวัสดุก่อสร้าง ซึ่งลดลงร้อยละ 12.6 ร้อยละ 11.0 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ตามต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะหมวดซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต สาขาอสังหาริมทรัพย์: เริ่มกลับมาขยายตัว ในไตรมาสที่สาม สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 0.2 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการหดตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สอง ในด้านอุปสงค์ ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 แต่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลหดตัวร้อยละ 15.6 ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สอง ร้อยละ 2.3 แม้จะยังลดลงร้อยละ 24.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในด้านราคา ราคาที่ดินและราคา ที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดิน ทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดิน และอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ร้อยละ 8.4 และร้อยละ 8.0 ตามลำดับ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ยังหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว แต่มีแนวโน้มปรับตัว ในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ในไตรมาสที่สาม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร หดตัวร้อยละ 4.6 ต่อเนื่องจาก การหดตัวร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่สอง โดยในไตรมาสที่สามมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 10.1 ลดความรุนแรงลงเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 13.3 ในไตรมาสที่สอง โดยนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาคยังคงลดลง ยกเว้นแอฟริกาและตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกันยายน 2557 ลดลงร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นการหดตัวที่ช้าลงนับจากเหตุการณ์รัฐประหารในเดือนพฤษภาคม และล่าสุดในเดือนตุลาคม 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 โดยรวม การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตรา (VISA) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีนและจีนไทเป (ระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม - 8 พฤศจิกายน 2557) (2) สถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่อนคลายลง และ (3) การเปิดเส้นทางการบินใหม่ราคาประหยัดของสายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี สำหรับอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 51.6 เทียบกับร้อยละ 47.3 ในไตรมาสที่สองและร้อยละ 62.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่น ในไตรมาสที่สาม สาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 0.6 จากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อน ด้านการค้าส่งดัชนีการค้าส่งในหมวดเชื้อเพลิงและวัตถุดิบการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีการค้าส่งในหมวดวัสดุก่อสร้างลดลง สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตภาคการก่อสร้าง ด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกในหมวดอาหาร สิ่งทอ และการขายในห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.7 และ ร้อยละ 4.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีการค้าปลีกหมวดยานยนต์ยังลดลงร้อยละ 18.1 เนื่องจากยังเป็นช่วงของการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ โดยภาพรวม การขยายตัวของสาขาการค้าส่งค้าปลีกสอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและการปรับตัวดีขึ้นของ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม การจ้างงาน: เริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากการลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงในไตรมาสที่สาม การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 โดยการจ้างงานในสาขาการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตในสาขาค้าส่งค้าปลีก การจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของ ภาคครัวเรือน การจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ และการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ในขณะที่การจ้างงานสาขาบริการอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 โดยรวมการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในสาขาสำคัญๆ ดังกล่าวส่งผลให้การจ้างงานนอกภาคเกษตรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 แต่การจ้างงานรวมในภาคเกษตรยังปรับตัวลดลงร้อยละ 2.2 สำหรับอัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 0.8 เทียบกับการว่างงานร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สอง - ด้านการคลัง การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลต่ำกว่าประมาณการและต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสสุดท้าย ของปีงบประมาณ 2557 (กรกฎาคม - กันยายน 2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 524,952.0 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.2 และ 3.1 ตามลำดับ ตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภค และฐานรายได้ ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในขณะที่การขยายฐานภาษีไม่เป็นไปตามเป้าหมาย (2) การลดลงของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เนื่องจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ลดลงภายหลังการสิ้นสุดนโยบายคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก และ (3) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ลดลง เนื่องจากผู้สูบบุหรี่หันมาสูบบุหรี่ที่มีราคาถูกลง รวมทั้งปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,073,912.1 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ และในปีงบประมาณ 2556 ร้อยละ 8.8 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 (กรกฎาคม-กันยายน) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 721,654.0 ล้านบาท2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.2 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 มีการเบิกจ่ายจำนวน 525,832.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.9 เป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.8 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 450,946.5 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.1 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 21.5 เท่ากับไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 74,886.1 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 17.4 ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว) ทั้งนี้ เนื่องจากความล่าช้าในการจัดซื้อจัดจ้างในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้การขออนุมัติการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากโครงการที่คาดว่าจะไม่สามารถจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ยังสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 12.0 (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 34,927.9 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.5 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 11.6 ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 13.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,388.8 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 2,000.9 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 1,015.9 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและ สร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 1,372.0 ล้านบาทและ (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 156,504.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.3 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รวมทั้งปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 2,246,257.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.4 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 89.0 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 95.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 90.5 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 284,074.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 2.7 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 65.8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 82.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 67.8 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบลงทุนสูงสุด ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เบิกจ่ายได้จริงคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 49.9 22.5 และ 10.3 ของการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2557 ตามลำดับ ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 213,684.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.0 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่าย 16,762.1 ล้านบาท และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 447,172.8 ล้านบาท ฐานะการคลัง: ในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 44,906.2 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 87,257.6 ล้านบาท และการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 62,113.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลเกินดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด 104,464.3 ล้านบาท รวมทั้งปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 385,758.8 ล้านบาท แต่เกินดุลเงินนอกงบประมาณทั้งสิ้น 27,123.1 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลรวมทั้งสิ้น 250,000.0 ล้านบาท (กรอบวงเงินการขาดดุลประจำปีงบประมาณ 2557 เท่ากับ 250,000.0 ล้านบาท) ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นงวด อยู่ที่ 495,746.0 ล้านบาท หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 (ณ สิ้นไตรมาสสุดท้ายปีงบประมาณ 2557) มีจำนวนทั้งสิ้น 5,690,814.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46.5 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจาก 35,393.2 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสก่อน) โดยเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 2,816,418.5 ล้านบาท (ร้อยละ 23.0 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 2,874,395.6 ล้านบาท (ร้อยละ 23.5 ของ GDP) แบ่งออกเป็น หนี้ของรัฐบาล 3,965,455.0 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,087,393.9 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 626,508.2 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69.7 ร้อยละ 19.1 และร้อยละ 11.0 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ - ภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ในไตรมาสที่สามของปี 2557 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปีเท่ากับไตรมาสที่สอง เนื่องจากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับดังกล่าวเพียงพอต่อการกระตุ้นการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจ เริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และยังไม่มีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงิน ทั้งนี้ ประเทศอุตสาหกรรมหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ ยกเว้นสหภาพยุโรปที่ปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่สอง ส่วนธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม ยกเว้นมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันด้านการคาดการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น และล่าสุดเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินผ่อนปรนในระดับปัจจุบันเพียงพอต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2557 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.13 ต่อปี เป็นร้อยละ 1.73 ต่อปี จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อีกสามแห่ง ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเงินฝากประจำ 12 เดือนไว้ที่ระดับเดิม อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งทรงตัวที่ระดับร้อยละ 6.75 ต่อปี สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ทรงตัว สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับตัวลดลงร้อยละ 0.08 และ 0.12 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี และ 2.13 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์การแข่งขันระดมเงินฝากผ่อนคลายลงตามสินเชื่อที่ชะลอตัว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.17 ต่อปี และ 6.92 ต่อปี ตามลำดับ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ -0.50 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ -0.03 ต่อปี เปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.40 เป็นร้อยละ 5.00 ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลง เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่สอง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากการที่ผู้ฝากเงินปรับเปลี่ยนไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ที่ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นการชะลอตัวทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่แล้ว และสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 7.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อน การชะลอตัวของสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงภาคครัวเรือน ประกอบกับธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนเลือกระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้และตราสารทุน ในภาวะที่ตลาดทุนเอื้ออำนวยมากขึ้น ในส่วนสินเชื่อรายสาขา พบว่า ปรับตัวชะลอลงเกือบทุกสาขา ยกเว้น การให้สินเชื่อกันเองในระหว่างสถาบันการเงินและธุรกิจการเงินที่ยังหดตัวแต่ในอัตราที่น้อยลงเมื่อเปรียบเทียบกับในไตรมาสก่อน ในด้านสินเชื่อบัตรเครดิต ปริมาณการใช้จ่ายรวมขยายตัวร้อยละ 6.0 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 ในไตรมาสที่สอง สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายของประชาชนในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ลดลงเล็กน้อย และสภาพคล่องส่วนเกิน4 ในระบบเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สอง โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ลดลงมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 101.0 จากร้อยละ 102.6 ในไตรมาสที่สอง เพราะสินเชื่อชะลอตัวเร็วกว่าการชะลอตัวของเงินฝาก ซึ่งทำให้สภาพคล่องส่วนเกินเพิ่มขึ้นจาก 1,255.1 พันล้านบาทในไตรมาสที่สองมาอยู่ที่ 1,371.7 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นตามการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่สามค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งไตรมาส โดยแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งแรกของไตรมาสตามการไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศไหลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศอุตสาหกรรมและนักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและเป็นที่คาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าการคาดการณ์ จึงส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทเฉลี่ยรวมทั้งไตรมาสที่สามของปี 2557 อยู่ที่ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสที่สองร้อยละ 1.08 แม้ว่าจะยังคงอ่อนค่าลงร้อยละ 1.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง เนื่องจากเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงตาม การคาดการณ์ของนักลงทุนว่าการฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2558 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงถึงการฟื้นตัว ที่ดีกว่าคาดการณ์ โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือนตุลาคมอยู่ที่ 32.45 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในช่วงวันที่ 3-14 พฤศจิกายน ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องโดยอยู่ที่เฉลี่ย 32.77 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนและ ช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2557 ดัชนีค่าเงินบาท5 (NEER) อยู่ที่ 105.5 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.81 และร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.26 เทียบกับไตรมาสที่สอง แต่อ่อนค่าลงร้อยละ 0.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่สามหลังจากมีการไหลออกสุทธิในไตรมาสที่สอง ในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2.17 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 1.14 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากการไหลเข้าสุทธิในภาครัฐและภาคอื่นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลเข้าของเงินลงทุนโดยตรงในสาขาธุรกิจโทรคมนาคมและการไหลเข้าของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตามนักลงทุนไทยยังคงมีการลงทุนในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศ ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่เพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติ ในไตรมาสที่สามนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 37.3 พันล้านบาท หลังจากขายสุทธิต่อเนื่อง 5 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นหลังสถานการณ์การเมืองในประเทศผ่อนคลายลง ประกอบกับได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของประเทศอุตสาหกรรมหลัก และการคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครึ่งแรกของปี 2558 ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสที่สาม SET Index ปิดที่ 1,585.7 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองและช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.7 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 38.9 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสที่สองเป็น 48.5 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสที่สาม ในเดือนตุลาคม 2557 นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิ 16.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม SET Index ปิดตลาด ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ 1,584.2 จุด ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนกันยายน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงสัปดาห์สุดท้าย เนื่องจาก (1) การเข้ามาซื้อของนักลงทุนสถาบัน ทั้งจากกองทุน LTF และ RMF (2) ผลการประชุม FOMC เมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ และ (3) นโยบายการเพิ่มปริมาณเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น ล่าสุดวันที่ 3-14 พฤศจิกายน SET Index ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกและการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ ในไตรมาสที่สาม นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 128.0 พันล้านบาท เทียบกับยอดขายสุทธิ 69.3 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะในเดือนกรกฏาคมซึ่งมีการซื้อสุทธิสูงถึง 170.2 พันล้านบาท เนื่องจากการเข้ามาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ภายหลังจากสถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายลง และการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนถึงช่วงกลางปี 2558 จึงส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยมากขึ้น ก่อนที่จะกลับมามียอดขายสุทธิในเดือนสิงหาคมและกันยายน 23.6 และ 18.6 พันล้านบาทตามลำดับ จากการขายทำกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้น มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สามเท่ากับ 74.0 พันล้านบาท ลดลงจาก 87.8 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สอง อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาส ปรับลดลงเกือบทุกช่วงอายุ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้าซื้อตราสารหนี้ระยะยาวอย่างต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับปริมาณการออกพันธบัตรในตลาดแรกที่ลดลง ส่งผลให้ราคาพันธบัตรของไทยปรับตัวสูงขึ้นตลอดทั้งไตรมาส ในเดือนตุลาคม 2557 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท โดยเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตราสารหนี้ระยะยาวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 จากการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจนถึงช่วงกลางปี 2558 ส่งผลให้ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจาก 105.0 จุดในเดือนกันยายน เป็น 106.4 จุด ในเดือนตุลาคม ดุลบัญชีเดินสะพัด: ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,479 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 47,556 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 531 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 17,376 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 4,780 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 6,259 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ: ณ สิ้นเดือนกันยายน 2557 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 161.57 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 24.75 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 2.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ปี 2557) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 9.3 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สาม ปี 2557) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สามของปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากราคาผักและผลไม้ลดลง และราคาพลังงานชะลอลง โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาผักและผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 2.2 ในไตรมาสนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เทียบกับร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.1 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรม และการชะลอตัวลงของราคาผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.6 ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.2 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สามของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 100.63 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 103.98 ดอลลาร์ สรอ. ของทั้งปี 2556 และ 105.02 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในครึ่งแรกของปี 2557 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองราคาน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 5.3 การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) อุปทานน้ำมันดิบของโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมาอยู่ที่เฉลี่ย 14.05 และ 4.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 และร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ประกอบกับประเทศลิเบียสามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้เพิ่มขึ้นภายหลังจากสถานการณ์ภายในประเทศเริ่มผ่อนคลาย จึงส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.27 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2) อุปสงค์ยังคงเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว 3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามของปี 2557 ในไตรมาสที่สาม ปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอลงจากไตรมาสที่สอง ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโรโซนยังอ่อนแอซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวลง และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมชะลอตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องและยุติมาตรการดังกล่าวในเดือนตุลาคม สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศในยูโซน การชะลอตัวของเศรษฐกิจท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืดทำให้มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาตรการขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและทิศทางของนโยบายการเงินดังกล่าวทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ.ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเงินเยน ในขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกลดลง - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องและดีกว่าที่คาดแม้จะชะลอลงเล็กน้อย ในไตรมาสที่สาม ปี 2557 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งที่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง (%QoQ saar.) ชะลอลงจากขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่สอง และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 2.3 (%YOY) ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าไม่คงทนและการหดตัวของการลงทุนในภาคก่อสร้าง อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องดีกว่าที่คาด โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญมาจากการส่งออกสุทธิและการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวได้ดี ส่วนตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยอัตราการว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสที่สามลดลงเป็นร้อยละ 6.1 และลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 5.8 ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 6 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอลงเป็นร้อยละ 1.8 ตามการลดลงของราคาพลังงาน ซึ่งการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของนโยบายการเงิน ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) มีมติยุติมาตรการขยายปริมาณเงิน (QE) ในการประชุมเมื่อวันที่ 28-29 ตุลาคม 2557 แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงร้อยละ 0.0 - 0.25 รวม 3 ไตรมาสแรกเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนยังอ่อนแอ ไตรมาสที่สาม ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 0.2 (%QoQ, sa) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สอง โดยที่เศรษฐกิจเยอรมันและฝรั่งเศสขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 และ 0.3 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากภาวะหดตัวในไตรมาสที่สอง แต่เศรษฐกิจอิตาลีหดตัวร้อยละ 0.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 ในไตรมาสที่สอง และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวของปีก่อน เศรษฐกิจอิตาลีขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 (%YoY) โดยรวมเศรษฐกิจยูโรโซนจึงยังอ่อนแอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการลดลงของดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมจากระดับ 53.4 ในไตรมาสที่สอง เป็นระดับ 52.9 และการชะลอตัวของดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจากขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 0.3 ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องกัน 39 เดือน และแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สาม ลดลงเป็นร้อยละ 0.3 ต่ำสุดในรอบ 5 ปี แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวท่ามกลางการเพิ่มขี้นของแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นร้อยละ 0.05 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 0.30 และดอกเบี้ยเงินฝากที่ร้อยละ -0.20 รวมทั้งดำเนินมาตรการผ่านตลาดการเงิน (Open Market Operations) เพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2557 รวมสามไตรมาสแรกของปี 2557 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.9 - เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นแต่นับว่ายังอ่อนแอ ในไตรมาสที่สามของปี 2557 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการหดตัวร้อยละ 1.7 (%QoQ sa) ในไตรมาสที่สองเมื่อได้รับผลกระทบจากการเพิ่มภาษี การบริโภค การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสุทธิและการบริโภคภาคเอกชน โดยดัชนีการค้าปลีกในไตรมาสที่สาม กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับ การหดตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง และมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่การนำเข้าชะลอตัว ส่งผลให้การขาดดุลการค้าลดลง นอกจากนี้ อัตราการว่างงานยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.6 ส่วนอัตราเงินเฟ้อชะลอลงเป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.3 แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างช้าๆ และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นตัดสินใจดำเนินการผ่อนคลายนโยบายการเงิน (QE) เพิ่มเติมในเดือนตุลาคม - เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ในไตรมาสที่สาม ขยายตัวร้อยละ 7.3 (%YoY) ชะลอลงจากร้อยละ 7.5 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.9 (%QoQ saar.) การชะลอตัวของเศรษฐกิจมีสาเหตุมาจากการชะลอตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและการบริโภคภาคเอกชน และการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี มูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.9 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และอาเซียน ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 1.2 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ สำหรับอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สาม ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เนื่องจากการลดลงของราคาอาหารและพลังงาน และราคาในหมวดที่อยู่อาศัยที่ยังลดลงตามความต้องการในตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังลดลงต่อเนื่อง รวม 3 ไตรมาสแรกของปี 2557 เศรษฐกิจจีนขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 7.4 - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.8 (%YoY) ใกล้เคียงกับร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่สอง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของ ภาคการส่งออก การลงทุนภายในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจฮ่องกงที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 (%YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการค้าปลีกที่กลับมาขยายตัว ขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 2.4 (%YoY) เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสที่สอง โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากภาคบริการ ขณะที่ภาคการผลิตและ ภาคการก่อสร้างชะลอลงมาก ส่วนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.2 (% YoY) ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการส่งออกสุทธิ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร สำหรับอัตราเงินเฟ้อชะลอลงในเกือบทุกประเทศเนื่องจากราคาพลังงานลดลง ยกเว้นฮ่องกงที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้าและค่าเช่าบ้าน รวมสามไตรมาสแรกของปี 2557 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 3.2 3.5 และ 2.3 ตามลำดับ - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สาม โดยภาพรวมยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนหลักจาก การขยายตัวของภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และการก่อสร้าง เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.0 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสที่สอง และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลและ การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือน ที่ยังขยายตัวดีจากแรงสนับสนุนของเงินส่งกลับของแรงงานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และการส่งออก ที่ขยายตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจมาเลเซียชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่สอง เป็นร้อยละ 5.6 ตามการชะลอตัวของการลงทุนรวมและการส่งออก สำหรับอัตราเงินเฟ้อเกือบทุกประเทศปรับลดลง รวมสามไตรมาสแรกของปี 2557 เศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 5.6 5.1 และ 6.1 ตามลำดับ 4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558 เศรษฐกิจโลกในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากร้อยละ 3.2 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวแข็งแกร่งมากขึ้นในขณะที่ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นที่คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและเศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยในช่วงของการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความสมดุลและมีเสถียรภาพ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ คาดว่าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2557 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวได้ดีขึ้นในปี 2558 แนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางยุโรป คาดว่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ในขณะที่เงินสกุลเยนและยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2557 ภายใต้ทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลสำคัญๆ ดังกล่าว กอปรกับการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ กำลังการผลิตน้ำมันของประเทศนอกกลุ่ม OPEC และสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในปี 2558 ลดลงจากปี 2557 และราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังอยู่ในภาวะอ่อนตัวอย่างต่อเนื่อง - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2557 โดยได้รับ แรงสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนตามการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน การลดลงของภาระหนี้สินในภาคครัวเรือน และการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยและหลักทรัพย์ ขณะที่แรงกดดัน เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และ (2) การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัย การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการจ้างงานคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างระมัดระวังในช่วงกลางปี 2558 เพื่อมิให้การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ - เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2557 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบ ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจาก (1) อัตราการว่างงานที่สูง โดย 9 เดือนแรกของปี 2557 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 11.6 (2) การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดในช่วงปลายปี 2557 ประกอบกับการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง (3) การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและความตึงตัวของสินเชื่อ (4) ข้อจำกัดของการดำเนินมาตรการทางการคลัง เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ (5) ผลกระทบจากการคว่ำบาตรรัสเซียของกลุ่มประเทศใน ยูโรโซน และความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่อาจจะส่งผลต่อ ความเชื่อมั่น แนวโน้มการฟื้นตัวเพียงช้าๆ ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืดคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องและขยายขอบเขตมาตรการปริมาณเงินมากขึ้น - เศรษฐกิจญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้นแต่ยังเปราะบาง ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้น อย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานและค่าจ้างแรงงาน (2) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชน และ (3) การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีตามการอ่อนค่าของเงินเยนและการปรับตัวดีขึ้นของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ อาทิ สหรัฐฯ และยุโรป อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีในเดือนตุลาคม 2558 - เศรษฐกิจจีนชะลอลงเล็กน้อย ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.2 ชะลอลงจากร้อยละ 7.4 ในปี 2557 เนื่องจากผลของการดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างสมดุลโดยลดการพึ่งพาการลงทุน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจะยังขยายตัวต่อเนื่องจากผลของการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรองรับการจ้างงาน อาทิ มาตรการเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งจากการก่อสร้างบ้านราคาสำหรับผู้มีรายได้น้อย ทางรถไฟ พลังงานทดแทนและสาธารณูปโภค มาตรการผ่อนคลายทางภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงสิ้นปี 2559 มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ คาดว่าการส่งออกน่าจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินหยวน - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 2558 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 4.2 4.0 3.5 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากในปี 2557 ทั้งนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้วและการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในแต่ละประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ยังมีข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปี 2557 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออก และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เทียบกับร้อยละ 5.1 ในปี 2557 โดยมีแรงสนับสนุนจาก การลงทุนภาคเอกชนที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นภายหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และการใช้จ่ายภาครัฐ ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.4 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคครัวเรือนตามเงินส่งกลับของแรงงานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และการใช้จ่าย เพื่อการก่อสร้างใหม่ที่จะขยายตัวเร่งขึ้น และเศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.5 ในปี 2557 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการขยายตัวเร่งขึ้นของส่งออก ประกอบกับผลของมาตรการแก้ไขปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ในภาคธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2557 เนื่องจากผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในช่วงก่อนหน้าเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคและ การลงทุนภาคเอกชน แต่คาดว่าการส่งออกจะยังขยายตัวดี 5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 เศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เทียบกับร้อยละ 2.2 ในปี 2556 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.9 ของ GDP จากที่ขาดดุลร้อยละ 0.5 ของ GDP ในปี 2556 ในการแถลงข่าววันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2557 จะขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่ำกว่าช่วงการประมาณการร้อยละ 1.5 - 2.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2557 โดยมีเหตุผลประกอบการปรับลดประมาณการที่สำคัญ ดังนี้ 1) การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามยังคงต่ำเพียงร้อยละ 0.6 ซึ่งเมื่อรวมกับการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในครึ่งปีแรกเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 2) ความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในการประมาณการครั้งก่อนคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะ ขยายตัวเร่งตัวขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก แต่ข้อมูลในไตรมาสที่สามแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ของไทยขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสที่สอง ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่เศรษฐกิจ กลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะอ่อนแอท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืดและมีความเสี่ยง ที่จะเข้าสู่ภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ประกอบกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรยังปรับตัวลดลงมากตามภาวะความซบเซาของเศรษฐกิจโลก การลดลงของราคาน้ำมันและแนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของ เงินเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญทั้ง 2 ประการดังกล่าวทำให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สามกลับมาหดตัวหลังจากเริ่มขยายตัวในไตรมาสที่สอง สศช. จึงปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 3.2 และปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่าส่งออกทั้งปีจากร้อยละ 2.0 เป็นร้อยละ 0.0 3) การจำหน่ายรถยนต์นั่งและการผลิตรถยนต์รวมยังลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อน และเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งในด้านการบริโภคภาคครัวเรือนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยในไตรมาสที่สาม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 185,000 คันและ 450,000 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และร้อยละ 21 ตามลำดับ ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ในช่วง 200,000 - 230,000 คัน และ 500,000 - 550,000 คัน ตามลำดับ สศช. จึงปรับลดประมาณการปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งจากเดิมในช่วง 850,000 - 900,000 คันเป็น 750,000 - 800,000 คัน และปรับลดปริมาณการผลิตรถยนต์รวมทั้งปี 2557 จาก 1.98 - 2.05 ล้านคันเป็น 1.90 - 1.95 ล้านคัน 4) การเบิกจ่ายเงินงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมายของการเบิกจ่ายและต่ำกว่าข้อสมมติฐานที่ใช้ ในการประมาณการครั้งก่อน โดยอัตราเบิกจ่ายในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 20.8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 25.0 ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ร้อยละ 89.0 ต่ำกว่าข้อสมมุติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 91.3 ที่ใช้ในประมาณการครั้งก่อน และต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 95.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 66.4 ซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐต่ำกว่าที่คาดไว้ 5) การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้า แม้ว่าจะมีทิศทางการปรับตัวที่ดีขึ้นตามลำดับก็ตาม โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่สาม มีจำนวนรวม 5.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 10.1 ซึ่งลดลงมากกว่าข้อสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะลดลงร้อยละ 7.0 จึงปรับลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมของทั้งปี 2557 ลงเป็นประมาณ 25.0 ล้านคน จากการคาดการณ์เดิมจำนวน 25.7 ล้านคน 6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558 เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนที่ได้เริ่มปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 การใช้จ่ายภาครัฐ และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่ผลกระทบจากฐานปริมาณการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงจะหมดไปและกลับเข้าสู่แนวโน้มปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จะยังมีปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ประกอบด้วย เงื่อนไขด้านค่าเงินและนโยบายเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจโลก และฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะความซบเซาของราคาสินค้า สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าจะยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยที่แรงกดดัน ด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล - ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2558 ภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยหน่วยงานต่างๆ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.0 ซึ่งจะทำให้การค้าโลกขยายตัวได้ดีขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของการการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในภาพรวม เมื่อเปรียบเทียบกับในปี 2555 และ 2556 ซึ่งเศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.1 และส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 และ ร้อยละ 3.0 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2556 จึงหดตัวร้อยละ 0.2 และคาดว่า จะไม่ขยายตัวในปี 2557 2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการลงทุน ผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ ต่อการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มลดลงตามลำดับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2557 และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ในด้านการท่องเที่ยว จำนวนประเทศที่แจ้งเตือนพลเมืองให้ระมัดระวังการเดินทางมายังประเทศไทยลดลงจาก 66 ประเทศในเดือนมิถุนายน 2557 เป็น 58 ประเทศในเดือนกันยายน 2557 ในขณะที่บรรยากาศการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนตุลาคม 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 6.1 เป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ในด้านการลงทุน มูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนสิงหาคม 2557 เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เมื่อรวมกับการเร่งรัดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่ได้อนุมัติไปแล้วนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายน ที่คาดว่าจะดำเนินการลงทุนได้ในปี 2558 มูลค่าประมาณ 380 พันล้านบาท และยังมีวงเงินรอการอนุมัติประมาณ 280 พันล้านบาท คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ การลงทุนภาคเอกชนในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้น 3) การใช้จ่ายภาครัฐ ในปี 2557 การใช้จ่ายภาครัฐมีปัญหาที่สำคัญๆ หลายประการรวมทั้งผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศซึ่งส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายทั้งปีต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายลงทุน อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ การเบิกจ่ายภายใต้มติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 โดยเฉพาะการกำหนดให้หน่วยงานราชการเร่งรัดทำสัญญาผูกพันงบรายจ่ายลงทุนภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 และการเร่งรัดเบิกจ่าย งบเหลื่อมปี ในขณะเดียวกันได้กำหนดวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจไว้ที่ 657,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20 และการเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายภาครัฐสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น 4) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนและธุรกิจ และลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อซึ่งจะสนับสนุนให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่อง โดยการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบจากเฉลี่ย 108 ดอลลาร์ สรอ. ในเดือนมิถุนายนเป็นเฉลี่ย 86.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในเดือนตุลาคม 2557 (หรือร้อยละ 19.5) ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่สำคัญๆ ในประเทศ เริ่มปรับตัวลดลง (เบนซิน 95 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ 91 E20 E85 และดีเซลลดลงร้อยละ 9.5 9.1 8.5 6.7 3.4 และร้อยละ 0.7 ในช่วงเดียวกันตามลำดับ) แม้ว่าการปรับลดราคาในประเทศยังช้ากว่า การปรับลดราคาในตลาดโลกเนื่องจากยังต้องดำเนินนโยบายเรียกเก็บเงินชดเชยของกองทุนน้ำมันและ การเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันและการส่งเสริมพลังงานทางเลือก แต่การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดังกล่าวคาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2558 5) ผลกระทบจากฐานการขยายตัวที่สูงผิดปกติของปริมาณการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในประเทศจะหมดไปและปริมาณการผลิตและการจำหน่ายจะเข้าสู่แนวโน้มปกติในปี 2558 การขยายตัว ในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากผลของฐานการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงผิดปกติอันเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการรถยนต์คันแรก ซึ่งได้ส่งผลให้การจำหน่ายรถยนต์นั่งเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 700,000 - 800,000 คัน ในปี 2553 - 2554 เป็น 1.35 และ 1.2 ล้านคัน ในปี 2555 และ 2556 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งอยู่ที่ 573,800 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 42.6 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์รวมลดลงร้อยละ 23.3 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจากฐานที่สูงดังกล่าวจะหมดไปภายในปี 2557 โดยคาดว่าทั้งปี 2557 จะมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งปีประมาณ 750,000 - 800,000 คัน (ลดลงจากปี 2556 ร้อยละ 35-40) ใกล้เคียงกับปริมาณการจำหน่ายเฉลี่ยในปี 2553 - 2554 - ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด 1) ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจ และต้นทุนการผลิตในประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2558 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม แต่การส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายเศรษฐกิจและต้นทุน การผลิตในประเทศที่สำคัญๆ ดังนี้ (1) การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินในช่วงหลังวิกฤติการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2551 ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ และประเทศที่เป็นแหล่งเงินลงทุนทางตรงของไทยอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องทั้งค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ยูโร และเยน สำหรับในปี 2558 คาดว่าการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds จะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แต่อย่างไรก็ตาม การขยายปริมาณเงินในกลุ่มประเทศยูโรและญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน อย่างต่อเนื่อง (2) ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต้นทุนค่าแรงในไทยและเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ค่าแรงในประเทศสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยุโรปมีแนวโน้มทรงตัวในภาวะที่อัตราการว่างงานในกลุ่มประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (3) การดำเนินนโยบายส่งเสริมการลงทุนในประเทศของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปส่งผลให้นักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในประเทศมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวจะยังเป็นข้อจำกัด ต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยและแรงดึงดูดการเคลื่อนย้าย เงินลงทุนทางตรงเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 2) รายได้ในภาคเกษตรยังมีแนวโน้มอ่อนตัวเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะซบเซา และ การลดลงของแรงส่งจากการใช้จ่ายทางตรงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรระยะสั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2557 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 5.0 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ โดยเฉพาะข้าว (ลดลงร้อยละ 14.8) ยางพารา (ลดลงร้อยละ 22.4) และมันสำปะหลัง (ลดลงร้อยละ 3.4) ในขณะที่ภาครัฐได้มีการใช้จ่ายดำเนินมาตรการการใช้จ่ายทางตรงในระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ ในปี 2557 เช่น การใช้จ่ายเม็ดเงินภายใต้โครงการรับจำนำข้าว การใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนาภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท (มติ ครม. 30 ก.ย. 2557) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง (มติ ครม. 21 ต.ค. 2557) ซึ่งคาดว่า แรงขับเคลื่อนจะลดลงในช่วงต้นปี 2558 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังมีแนวโน้มซบเซา อย่างต่อเนื่องและการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในปี 2558 จะเป็นการดำเนินการผ่านมาตรการทางอ้อมซึ่งยังมีวงเงินต่ำกว่ากรอบมาตรการช่วยเหลือทางตรง 3) การเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน ในขณะที่เศรษฐกิจโลกโดยรวมยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยในปี 2558 ยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ทิศทางนโยบายการเงินและนโยบายเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินและมาตรการภาษีและความคืบหน้าในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น การใช้มาตรการขยายปริมาณเงิน ความคืบหน้าในการลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและความเสี่ยงจากภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมทั้งเศรษฐกิจจีนที่ยังมีความเสี่ยงที่ชะลอตัวมากกว่าการคาดการณ์ - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.8 ในปี 2557 โดยได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่น 2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2558 อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากเฉลี่ย 100 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2557 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงได้แก่ (1) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และประเทศนอกกลุ่ม OPEC (2) ความต้องการใช้น้ำมันที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว (3) ความต้องการใช้น้ำมันในฤดูหนาวต่ำกว่าในปีที่ผ่านมาซึ่งกลุ่มประเทศยูโรโซนและอเมริกาเหนือประสบกับปัญหาความหนาวเย็นที่รุนแรงผิดปกติ (4) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และ (5) การใช้มาตรการราคาต่ำของซาอุดิอาระเบียเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดน้ำมัน 3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ (-0.5)-0.5 เทียบกับที่ลดลงประมาณร้อยละ 0.9 ในปี 2557 เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มทรงตัวในขณะที่สินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มหดตัวช้าลงจากการหดตัวในปี 2557 ราคานำเข้าในรูปเงินดอลลาร์สรอ. ลดลงร้อยละ (-1.0)- 0.0 ใกล้เคียงกับการลดลงร้อยละ 0.7 ปี 2557 ซึ่งเป็นการลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในปี 2558 4) อัตราแลกเปลี่ยน ในช่วง 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 32.45 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 ตามการปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2558 หลังจากยุติมาตรการ QE ในเดือนตุลาคม 2557 5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 จำนวน 27.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 จากจำนวนนักท่องเที่ยว 25.0 ล้านคนในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญประกอบด้วย (1) ความสงบภายในประเทศและความมีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้จำนวนประเทศ ที่ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (2) แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบล่าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวได้ 6) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ทั้งปีงบประมาณ 2558 เท่ากับร้อยละ 92.0 ของวงเงินงบประมาณ เพิ่มขึ้นจากอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 89.0 ในปีงบประมาณ 2557 โดยมีอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำและงบประมาณรายจ่ายลงทุนร้อยละ 96.3 และร้อยละ 73.0 เทียบกับร้อยละ 96.7 และร้อยละ 66.4 ในปีงบประมาณ 2557 ตามลำดับ - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558: เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 เร่งขึ้นชัดเจนจากร้อยละ 1.0 ในปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 1.4 - 2.4 และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 2.3 ของ GDP - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558 1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวม ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 สูงกว่าการขยายตัว ร้อยละ 1.2 ในปี 2557 โดยที่การบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2557 ตามการปรับตัวของปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งเข้าสู่แนวโน้มปกติ และคาดว่ามีแนวโน้มจะขยายตัวในปี 2558 นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รายได้ของครัวเรือนที่จะขยายตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ อันเป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของ ภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ ในขณะที่การใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2557 ตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายของรัฐบาล 2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 1.9 ในปี 2557 และ เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและนักลงทุนตามทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ความชัดเจนของโครงการลงทุนของภาครัฐ และผลจากการเร่งรัดอนุมัติโครงการส่งเสริมลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีการดำเนินโครงการในปี 2558 ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัว ดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.0 ในปี 2557 จากการเร่งรัดงบประมาณรายจ่ายลงทุนและการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในปี 2557 โดยปริมาณการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก สำหรับราคาส่งออกคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.5) - 0.5 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 4.4 ดีขึ้นชัดเจนจากการหดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2557 4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 6.5 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เพิ่มขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.8 ในปี 2557 ตามการเร่งตัวขึ้นของการลงทุน การใช้จ่าย และการส่งออกซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการ สินค้าทุน วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคานำเข้ามีแนวโน้มหดตัวร้อยละ (-1.0) - 0.0 เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2557 5) ดุลการค้า เกินดุลประมาณ 19.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุลประมาณ 20.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับ การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้ดุลบริการขาดดุลน้อยกว่าปี 2557 และส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2558 เกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 2.3 ของ GDP 6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2558 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.4-2.4 ซึ่งมีโอกาสต่ำกว่าร้อยละ 2.1 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก 7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2557 และในปี 2558 ผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 ขยายตัวต่ำ ทั้งนี้ การเร่งรัดแก้ปัญหาของรัฐบาล ทำให้ ภาคเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่สองและขยายตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่สาม รวมทั้ง ภาคการท่องเที่ยวได้เริ่มกลับมาขยายตัวตั้งแต่ช่วงต้นของไตรมาสสุดท้าย แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2558 ยังมีข้อจำกัดที่อาจทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวเพียงช้าๆ โดยที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสำคัญทั้งญี่ปุ่นและยุโรปยังอ่อนแอและมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้ ภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตร และการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ และการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังต้องเร่งรัด ดังนั้น ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2558 จึงควรให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังนี้ 1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดย (1) เร่งรัดดำเนินการตามมาตรการการใช้จ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือชาวนาในวงเงิน 40,000 ล้านบาท มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางวงเงิน 8,200 ล้านบาท รวมทั้งการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก สินเชื่อเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง และสินเชื่อเพื่อแปรรูปยางพารา เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้วสามารถลดปัญหา ความเดือดร้อนของเกษตรได้ (2) ดูแลต้นทุนปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้ปรับลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ขั้นปฐมในตลาดโลกที่ลดลง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินตราสกุลสำคัญ ๆ โดยเฉพาะราคาปุ๋ย เคมีภัณฑ์และเครื่องจักรกลทางการเกษตร (3) เตรียมมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง (4) เร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบประกันภัยสินค้าเกษตร และการใช้กลไกตลาดในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนในราคาสินค้าเกษตร และ (5) เร่งรัดส่งเสริมอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรแปรรูป 2) การจัดทำมาตรการเพื่อดูแลแรงงานผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่จำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยลง แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงาน โดยส่งเสริมการอบรมพัฒนาทักษะและเพิ่มศักยภาพของแรงงาน เพื่อก่อให้เกิดอาชีพเสริมหรือทางเลือก รวมทั้งการสร้างงานสำหรับบัณฑิตที่จบใหม่เพื่อสร้างรายได้และ เสริมทักษะเพิ่มเติมให้สามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการทำงานหรือประกอบกิจการส่วนตัว 3) การส่งเสริมการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยการดำเนินมาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย (1) เร่งดำเนินการกำหนดเป้าหมายและจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนการส่งออก ในปี 2558 โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 (2) เจรจาและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ปรับลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการภาษีและมิใช่ภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีกำหนดปรับลดอัตราภาษีเป็นศูนย์ ในปี 2558 และ (3) เร่งรัดเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญ ๆ ในปี 2558 โดยเฉพาะผลกระทบจากปัญหาการใช้แรงงานต่างชาติต่อการส่งออกกุ้งและสินค้าประมง 4) การเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดย (1) เจรจาและเร่งรัดทำความเข้าใจกับประเทศที่ยังคงมาตรการแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวจำนวน 58 ประเทศให้มีความเข้าใจและมั่นใจ ในสถานการณ์ความสงบและความปลอดภัยภายในประเทศ (2) ยกระดับความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวจากปัญหาอาชญากรรม และการเอารัดเอาเปรียบของผู้ค้า/ผู้บริการ และเร่งจัดระเบียบแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์ปีท่องเที่ยววิถีไทย ตามเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (3) พิจารณาต่ออายุมาตรการยกเว้น VISA ให้กับนักท่องเที่ยวจีน/ไทเป ซึ่งหมดอายุลงในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557 ให้ครอบคลุมตลอดฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงต้นปี 2558 และ (4) ร่วมกับภาคเอกชนและสายการบินในการจัดแคมเปญท่องเที่ยว และเปิดตัวเส้นทางการบินใหม่ ในตลาดท่องเที่ยวที่มีความสำคัญ 5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน และติดตามให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วดำเนินการลงทุนโดยเร็ว รวมทั้งการเร่งรัดการประกาศยุทธศาสตร์ การส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี (2558 - 2564) ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในแนวทาง การลงทุนที่ชัดเจนและเร่งวางแผนการลงทุน 6) การเร่งรัดปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกในการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดย (1) พิจารณาทบทวนราคา LPG ควบคู่ไปกับราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น (2) ดูแลและทบทวนราคาพลังงานทางเลือกให้มี ความเหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตเพื่อมิให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกก่อให้เกิดภาระ ที่ไม่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ และ (3) พิจารณาการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันและภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก 7) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังลดลงและอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการอ่อนค่าในสกุลเงินของประเทศผู้นำเข้าสำคัญ ๆ โดยเฉพาะเงินสกุลเยนและยูโร 8) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐ ตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะ 3 เดือนแรก รวมทั้ง การติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการและแผนงานด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติราชการระยะ 1 ปี (2558) เช่นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และการปรับโครงสร้างภาคการผลิต ประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 - 2558 ข้อมูลจริง ประมาณการ ปี 2557 ปี 2558 ปี 2555 ปี 2556 18 ส.ค. 57 17 พ.ย. 57 17 พ.ย. 57 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท) 11,375 11,899 12,364 12,268 12,979 รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี) 167,501 174,337 180,203 178,801 188,157 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 366 387 380 378 393 รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) 5,389 5,673 5,545 5,510 5,702 อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %) 6.5 2.9 1.5-2.0 1.0 3.5-4.5 การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %) 13.2 -2.0 -2.0 -1.9 5.8 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 14.4 -2.8 -2.9 -1.0 4.8 ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %) 8.9 1.3 1.0 -5.0 9.8 การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %) 6.8 1.1 1.3 1.2 3.1 ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %) 6.7 0.3 0.8 0.7 2.6 ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %) 7.5 4.9 3.7 3.6 5.6 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 3.1 4.2 1.7 -0.3 4.4 มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 225.9 225.4 229.9 225.4 234.4 อัตราการขยายตัว (%)1/ 3.1 -0.2 2.0 0.0 4.0 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)1/ 2.5 0.2 3.0 0.9 4.0 ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 6.2 2.3 -3.1 -4.3 5.4 มูลค่าการนำเข้าสินค้า(พันล้านดอลลาร์สรอ.) 219.9 218.7 208.1 204.6 214.8 อัตราการขยายตัว (%)1/ 8.8 -0.5 -4.9 -6.5 5.0 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)1/ 7.1 1.6 -4.4 -5.8 5.5 ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 6.0 6.7 21.8 20.8 19.6 ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) -1.5 -2.5 9.9 10.9 8.8 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -0.4 -0.6 2.6 2.9 2.2 เงินเฟ้อ (%) ดัชนีราคาผู้บริโภค 3.0 2.2 1.9-2.4 2.1 1.4-2.4 GDP Deflator 1.3 1.7 1.9-2.4 2.1 1.4-2.4
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 17 พฤศจิกายน 2557
หมายเหตุ: 1/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--