ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2557 และแนวโน้มปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 16, 2015 12:17 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค                    16 กุมภาพันธ์ 2558

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558

(% YOY)                     2556            2557             ประมาณการ
                            ทั้งปี     H1    H2    Q4    ทั้งปี       2558
GDP (ณ ราคาคงที่)             2.9    0.0   1.4   2.3    0.7     3.5-4.5
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่)     -2.0   -8.1   3.0   3.2   -2.8       6.0
   ภาคเอกชน                -2.8   -7.2   4.0   4.1   -1.9       5.0
   ภาครัฐ                    1.3  -11.3  -0.6  -0.3   -6.1       9.8
การบริโภครวม(ณ ราคาคงที่)      1.1   -0.7   2.1   2.4    0.7       3.4
   ภาคเอกชน                 0.3   -1.3   2.0   1.9    0.3       2.9
   ภาครัฐบาล                 4.9    3.1   2.5   5.5    2.8       5.6
มูลค่าการส่งออกสินค้า           -0.2   -0.4  -0.1   1.5   -0.3       3.5
   ปริมาณ                    0.2    0.8   0.6   2.7    0.7       3.5
มูลค่าการนำเข้าสินค้า           -0.5  -13.3  -3.2  -5.7   -8.5       1.8
   ปริมาณ                    1.6  -12.6  -0.4  -0.5   -6.8       4.8
ดุลบัญชีเดินสะพัด ต่อ GDP (%)    -0.6    2.6   4.9  10.2    3.8       4.9
เงินเฟ้อ                      2.2    2.2   1.6   1.1    1.9     0.0-1.0
อัตราการว่างงาน               0.7    0.9   0.7   0.6    0.8       0.8
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ดีขึ้นอย่างชัดเจนจาก การขยายตัวร้อยละ 0.2 ในสามไตรมาสแรก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว  เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสี่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากไตรมาสสาม (QoQ_SA)
          - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ในด้านการผลิต ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบหลายไตรมาส ขณะที่สาขาค้าส่งค้าปลีกและสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้น
          - รวมทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.7 โดยการบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.3 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 2.8 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.8 ของ GDP
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว (3) การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และ (4) การเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ และ (5) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจาก (1) ภาคเกษตรยังมีข้อจำกัดจากการที่ราคาในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจน (2) เศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน และ (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 การบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 - 1.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2558 ต้องให้ความสำคัญกับ (1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตรเพิ่มเติมจากมาตรการการให้เงินช่วยเหลือการผลิตและสินเชื่อต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว (2) การดูแลธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ (3) การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพเสริมและการยกระดับทักษะสำหรับผู้มีรายได้น้อย (4) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 4.0 (5) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงค้างอยู่และโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปี 2557 รวมทั้งเร่งรัดติดตามโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริม การลงทุนแล้วให้ดำเนินการลงทุนโดยเร็ว (6) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และ (7) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน

เศรษฐกิจไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2557 และแนวโน้มปี 2558
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากที่หดตัวร้อยละ 0.5  ในไตรมาสแรก การขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สอง และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สาม ในด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน การส่งออก และรายจ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ในด้านการผลิต ปรับตัวดีขึ้นในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรม สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบหลายไตรมาส ขณะที่สาขาค้าส่งค้าปลีกและสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวเร่งขึ้น และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ขยายตัว จากไตรมาสที่สาม ร้อยละ 1.7 (QoQ_SA) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.2  ในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 0.7 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2556

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2557
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 สูงกว่า 60.0 61.2 และ 69.3 ในสามไตรมาสแรกของปี 2557 ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2557 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.3 เท่ากับการขยายตัวในปีก่อนหน้า
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรชะลอลงเล็กน้อย การลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 8.0  แต่การลงทุนภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 9.4 ปรับตัวดีขึ้นทั้งการก่อสร้างและหมวดเครื่องมือเครื่องจักร
          รวมทั้งปี 2557 การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 2.8  โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 6.1 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.9
          3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 56,763 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 88.7  ของมูลค่าการส่งออกรวม) เป็นร้อยละ 3.1 แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและทองคำลดลงร้อยละ 8.5 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ จึงทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมยังขยายตัวช้า  โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตร สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และกุ้ง ปูกระป๋องและแปรรูป การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) อาเซียน (9) และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และจีนลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 4.7
          รวมทั้งปี 2557  มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 0.3 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 แต่ราคาลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4
          4) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นมากจากที่ลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สาม และเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ขยายตัว ร้อยละ 3.1 การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เสื้อผ้า เคมีและเคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า  กลุ่มอุตสาหกรรมที่หดตัวช้าลง ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่ม และสิ่งทอ  อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2557  การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.1 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.5
          5) สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ลดลง โดยมีสาเหตุสำคัญจากสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะฝนตกหนักในภาคใต้ และฝนทิ้งช่วงในช่วงกลางปี รวมทั้งเป็นผลจากการที่ราคายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง อ้อย ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม  การปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกในพืชบางชนิด ความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น และการฟื้นตัวของผลผลิตกุ้งจากปัญหาโรคตายด่วน ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 13.0
          รวมทั้งปี 2557 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 1.1 ราคาสินค้าเกษตรเฉลี่ยและรายได้เกษตรกรลดลง ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ
          6) สาขาก่อสร้าง ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สาม โดยที่ทั้งการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว
          รวมทั้งปี 2557 สาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8
          7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 3.6 ดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการหดตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนและเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากที่หดตัวติดต่อกันในสามไตรมาสแรก โดยปรับตัวดีขึ้นทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเริ่มกลับสู่ภาวะปกติที่ร้อยละ 64.2 ใกล้เคียงกับไตรมาสเดียวกันของปี 2556
          รวมทั้งปี 2557 สาขาโรงแรมและภัตตาคารลดลงร้อยละ 2.1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทย ปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัว อย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและ ภาคการท่องเที่ยว (3) การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ (4) การเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ และ (5) การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี  การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) การขยายตัวของภาคเกษตรยังมีข้อจำกัดจากราคาในตลาดโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน (2) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน และ (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรก และต้องติดตามและประเมินสถานการณ์การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 - 1.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นและการหดตัวช้าลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ เร่งขึ้น ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่สาม โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนหดตัวช้าลงตามปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งซึ่งลดลงร้อยละ 16.3  เทียบกับการลดลงร้อยละ 45.8 ในไตรมาสที่สาม ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ ขยายตัวเร่งขึ้นทั้งปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.5 ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 18.9 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 11.2 ในไตรมาสที่สาม ตามลำดับ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 สูงกว่าระดับ 60.0  61.2 และ 69.3 ในสามไตรมาสแรก ของปี 2557 ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2557  การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 0.3 เท่ากับการขยายตัวในปี 2556
          การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวเร่งขึ้น โดยที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างกลับมาขยายตัว ในขณะที่ การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรชะลอตัวลงเล็กน้อย ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่สาม การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่สาม โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 3.5 การลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.4 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่สาม โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กกลับมาขยายตัวร้อยละ 18.3 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ หลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้ การลงทุนใหม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาก โดยการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้มีมูลค่า 1,601 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 329.2 เร่งขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 84.0 ในไตรมาสที่สาม และเป็นมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนที่สูงสุดนับจาก การก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2546 เนื่องจากนักลงทุนเร่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเดือนธันวาคมก่อนที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนเดิมจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ขณะที่การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และร้อยละ 31.3 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับ การลดลงร้อยละ 5.8 และร้อยละ 29.9 ในไตรมาสสาม ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.8 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับ 49.2 ในไตรมาสที่สาม
          รวมทั้งปี 2557  การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.9 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 1.3 และการลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.7
          การส่งออก: มูลค่าการส่งออกกลับมาขยายตัวตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา  การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 มีมูลค่าทั้งสิ้น 56,763 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สาม โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ตามการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.1  ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตร เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1,856,402 ล้านบาท  เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สาม
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 8.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 10.0 โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวและยางพารา แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.3 โดยที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.9 จากการเร่งระบายข้าวของรัฐบาล รวมทั้งเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดกลุ่มทวีปแอฟริกา และการส่งออกตามสัญญาแบบรัฐต่อรัฐไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 3.1 แต่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7  มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 42.1 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 13.1 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 33.3 เนื่องจากสต็อกยางพาราของโลกยังอยู่ในระดับสูง มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 93.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อนหน้า  ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและจีน  สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการในตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยปริมาณการส่งออกและมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ ปิโตรเคมี อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 3.3  7.0  6.6 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ แต่การส่งออกกุ้ง ปูกระป๋องและแปรรูป และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ลดลงร้อยละ 6.5 และร้อยละ 22.5 ตามลำดับ  สินค้าประมงขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ขยายตัวร้อยละ 12.2  สินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 7.1 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่ลดลงร้อยละ 12.6
          รวมทั้งปี 2557  การส่งออกมีมูลค่า 224,792 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.2 ในปี 2556 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 แต่ราคาลดลงร้อยละ 1.0  และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในปี 2556
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปตลาดหลักขยายตัวทั้งตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน (9)  แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และจีนลดลง  การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาขยายตัวร้อยละ 7.2 เร่งขึ้น จากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่ การส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 2.0  ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่สาม ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 14.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.4  ในไตรมาสก่อนหน้าซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และจีนลดลงร้อยละ 0.6 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ตามภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและเศรษฐกิจจีน เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงที่ลดลงร้อยละ 1.8
          การนำเข้า: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบในภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 49,127 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สาม โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.5 ขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.3 ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ และทองคำ เมื่อหักการนำเข้าทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.2 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,606,351 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
          ในรายหมวด มูลค่าสินค้านำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และหมวดอื่นๆ ลดลง แต่สินค้านำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก  และการชะลอปริมาณการนำเข้าน้ำมันของโรงกลั่นในภาวะที่คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะลดต่ำลงอีก อย่างไรก็ดี สินค้านำเข้าอื่นๆ มีมูลค่านำเข้าเพิ่มขึ้นในหลายรายการ ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม วัสดุที่ทำด้วยโลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุน ลดลง ร้อยละ 3.5 สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าลดลงได้แก่ คอมพิวเตอร์ อากาศยาน แท่นขุดเจาะน้ำมัน รถไฟ และเครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 4.0 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สิ่งทอ และเครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี)  มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ หดตัวร้อยละ 22.3 ตามการลดลงของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ)
          รวมทั้งปี 2557 การนำเข้ามีมูลค่า 200,210 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในปี 2556 โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลงร้อยละ 6.8 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.8 ในปี 2556
          อัตราการค้า (Term of Trade): ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.1 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 5.3 การลดลงของราคาสินค้านำเข้าที่เร็วกว่าการลดลงของราคาสินค้าส่งออก ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 102.0  ในไตรมาสที่สาม เป็น 105.5 ในไตรมาสที่สี่
          รวมทั้งปี 2557 อัตราการค้าอยู่ที่ 102.6 เพิ่มขึ้นจาก 101.7 ในปี 2556 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.0  และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.8
          ดุลการค้า: เกินดุลต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6  ดุลการค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เกินดุล 7,636  ล้านดอลลาร์ สรอ. (250,051 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 4,780  ล้านดอลลาร์ สรอ. (153,315 ล้านบาท)   ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2557  ดุลการค้าเกินดุล 24,582 ล้านดอลลาร์ สรอ. (798,624  ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 6,661 ล้านดอลลาร์ สรอ. (216,936 ล้านบาท) ในปี 2556

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ลดลงตามการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6  ในไตรมาสที่สามสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงร้อยละ 3.5 เนื่องจาก (1) ฝนตกหนัก ในภาคใต้ทำให้ชาวสวนกรีดยางได้น้อยลง ในขณะที่ราคายังต่ำ (2) ผลปาล์มทะลายลดลงจากผลกระทบภาวะภัยแล้งในแหล่งเพาะปลูกในช่วงกลางปี และ (3) ผลผลิตสับปะรดโรงงานลดลงจากภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2557 ทำให้ผลสับปะรดไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง อ้อย ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น เนื่องจาก (1) ผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำฝน มีเหมาะสม (2) การปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดบางส่วนมาปลูกมันสำปะหลังเนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี (3) มาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยทดแทนทำให้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น (4) การผลิตไก่เนื้อและไข่ไก่เพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ (5) การเริ่มฟื้นตัวของผลผลิตกุ้งทะเลจากปัญหาการระบาดของโรคตายด่วน สำหรับราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 9.8 เนื่องจากการลดลงของราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ข้าวเปลือก และกุ้งทะเล  โดย (1) ราคายางพาราลดลงตามความต้องการนำเข้าของจีนในขณะที่สต็อกยางพาราของโลกที่ยังอยู่ ในเกณฑ์สูง (2) ราคาข้าวเปลือกในประเทศลดลงตามราคาข้าวในตลาดโลก และ (3) การเพิ่มขึ้นของผลผลิตกุ้งทะเล ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักลดลงทำให้ราคากุ้งปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังไม่เพียงพอกับความต้องการ ของผู้ประกอบการทำให้เกิดการแข่งขันกันรับซื้อหัวมันสดจากเกษตรกร ในขณะที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มในประเทศตึงตัว และราคาสุกรเพิ่มขึ้นตามราคาส่งออก ประกอบกับสภาพอากาศร้อนและ โรคระบาดทำให้ผลผลิตสุกรลดลง การลดลงทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 13.0 ในไตรมาสนี้
          รวมทั้งปี 2557 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.1 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 6.2 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ
          สาขาอุตสาหกรรม: กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม และอุปสงค์ภายในประเทศ รวมทั้งการหดตัวช้าลงของการผลิตรถยนต์ ในไตรมาสที่สี่ การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.7 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่สาม และเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังจากที่ลดลงติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสนี้ขยายตัวร้อยละ 3.1 การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เสื้อผ้า (ร้อยละ 8.3)  ผลิตภัณฑ์เคมีและเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 6.0)  เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 6.7) และอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ 6.5)  กลุ่มอุตสาหกรรมที่หดตัวช้าลง ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ 9.4) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 8.6)  อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 0.4)  และสิ่งทอ (ร้อยละ 0.6) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.1 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2557 การผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.1 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.6 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 60.5
          สาขาก่อสร้าง:กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.7 ตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนร้อยละ 5.1 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 และร้อยละ 6.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.2 และร้อยละ 12.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ แต่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.8  เนื่องจากราคาเหล็กและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
          รวมทั้งปี 2557 สาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 3.8
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สี่ สาขาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สาม ในด้านอุปสงค์ ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 12.2 1 ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครลดลงร้อยละ 4.8  ในด้านอุปทาน จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 3.1  ในด้านราคา ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0
          รวมทั้งปี 2557 สาขาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ตามการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของภาคการท่องเที่ยว ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และอัตราการเข้าพัก ในไตรมาสที่สี่ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการหดตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสที่สาม โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียเป็นสำคัญ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินเดีย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.9 ร้อยละ 10.6 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเอเชียดังกล่าวช่วยชดเชยการลดลงของนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย เกาหลี และญี่ปุ่น ที่ลดลงร้อยละ 24.1 ร้อยละ 11.9 และร้อยละ 8.8 ตามลำดับ มีรายรับจากการท่องเที่ยว 394.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.2 ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.2 ใกล้เคียงกับร้อยละ 64.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
          รวมทั้งปี 2557 สาขาโรงแรมและภัตตาคารหดตัวร้อยละ 2.1 โดยมีนักท่องเที่ยว 24.8 ล้านคน ลดลงร้อยละ 6.7 มีรายรับลดลงร้อยละ 2.5 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 55.6
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนและความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสที่สี่ สาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 0.6 ในสองไตรมาสก่อนหน้า ด้านการค้าส่ง ดัชนีการค้าส่งในหมวดวัตถุดิบการเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ การค้าส่งหมวดวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.08 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม ดัชนีค้าส่งในหมวดเชื้อเพลิงขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อน ตามการลดลงของการผลิตปิโตรเลียม ด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการค้าปลีกในหมวดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ยา สิ่งทอ และการขายในห้างสรรพสินค้า ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.9 ร้อยละ 9.5 ร้อยละ 8.1 และ ร้อยละ 3.9 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนีการค้าปลีกหมวดยานยนต์ยังลดลงต่อเนื่องร้อยละ 8.8 แต่ช้าลงจากที่หดตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ที่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น
          รวมทั้งปี 2557  สาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 0.6
          การจ้างงาน: การจ้างงานภาคเกษตรลดลง แต่ภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สี่ การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.1 ตามการจ้างงานของภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 4.9 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ตามการฟื้นตัวที่ชัดเจนของภาคการท่องเที่ยว และการจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 4.4 ตามการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อุปกรณ์ไฟฟ้า และเครื่องแต่งกาย ทั้งนี้ มีผู้ว่างงานจำนวน 237,270 คน ลดลง 19,290 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 0.6
          รวมทั้งปี 2557  การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.8

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลสูงกว่าประมาณการและช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม - ธันวาคม 2557) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 506,978.9 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการและการจัดเก็บในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 และ 0.7 ตามลำดับ ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งคืนเงินกันชดเชยให้แก่ผู้ส่งออกเป็นรายได้แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้รวมเฉพาะของ 3 กรมหลัก  ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ยังต่ำกว่าประมาณการและช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.9 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บลดลง 6,747.2 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 7.0) และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลดลง 6,476.5 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 23.6)
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม-ธันวาคม 2557) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 969,958.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558  ในไตรมาสแรกมีการเบิกจ่าย 766,310.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 0.7 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 29.8 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 32 โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 725,037.8  ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 34.0 สูงกว่าร้อยละ 30.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 41,272.6 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64.6 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 9.3 ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 27.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนที่กำหนดไว้ร้อยละ 29.0) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงการจัดสรรงบประมาณสำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปจากรายจ่ายลงทุนเป็นรายจ่ายประจำขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงทำให้สัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อรายจ่ายประจำโดยรวมของหน่วยงานลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล (กรณีไม่รวมกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 40,381.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 230.3 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 10.3)
          (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 77,792.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.7 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 22.6 ต่ำกว่าร้อยละ 23.3 ของไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า) (3)เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,565.3 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 974.4 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 1,004.1 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 586.8 ล้านบาทและ (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 123,289.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนลดลง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 344,680.0 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เหลื่อมปีที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 3,025.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้ทั้งสิ้น 347,705.0 ล้านบาท ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 31,283.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดหลังกู้ 316,422.0 ล้านบาท
          ทั้งนี้ เมื่อรวมการขาดดุลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 กับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 จำนวน 495,746.3 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 179,324.3 ล้านบาท
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2558 มีหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น 5,623,973.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของ GDP (ลดลงจากไตรมาสก่อน 66,840.3 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,274,551.9 ล้านบาท (ร้อยละ 43.0 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 349,422.0 ล้านบาท (ร้อยละ 2.8 ของ GDP) ประกอบด้วย หนี้ของรัฐบาล 3,954,659.3 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,073,800.7 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 587,543.4 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 70.3 ร้อยละ 19.1 และร้อยละ 10.4 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัว ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)  มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม เนื่องจากประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับดังกล่าวเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศต่างๆ เริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด โดยประเทศอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงิน ธนาคารกลางของประเทศแคนาดา เดนมาร์ก และสวิสเซอร์แลนด์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ร้อยละ 0.15 และร้อยละ 0.25 ตามลำดับ และประเทศในภูมิภาค เช่น จีน และเกาหลีใต้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่สี่ แต่อินโดนีเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และรัสเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างมากจากร้อยละ 8.00 เป็นร้อยละ 17.00 เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินที่อ่อนลงอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 15 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในไตรมาสแรกของปี 2558 อินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในขณะที่จีนปรับลดอัตราการสำรองเงินของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงร้อยละ 0.5 ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.00 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่าระดับดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.73 และ 6.75 ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับการทรงตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12 เป็นร้อยละ 1.87 ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจกลับปรับตัวลดลงร้อยละ 0.09 เป็นร้อยละ 2.04 ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 7.17 และ 6.92 ต่อปี ตามลำดับ
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ -0.03 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 1.13 ต่อปี สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงจากร้อยละ 5.00 เป็นร้อยละ 6.15 ต่อปี อันเป็นผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อลดลง
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์เร่งตัวขึ้น หลังจากการชะลอตัว อย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยไตรมาสที่สี่ ของปี 2557 เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน ขยายตัวร้อยละ 6.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากสถาบันการเงินบางแห่งออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษเพื่อรักษาฐานลูกค้า
          สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการชะลอตัวทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว และสินเชื่อครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ และเป็นการชะลอตัวของสินเชื่อในเกือบทุกสาขา ยกเว้น สาขาการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และสาขาการซื้อที่ดินที่ปรับตัวดีขึ้น ในด้านสินเชื่อบัตรเครดิต มูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตขยายตัวร้อยละ 12.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในไตรมาสที่สาม
          สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง และสภาพคล่องส่วนเกิน2 ในระบบเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 97.6 ลดลงจากร้อยละ 101.0 ในไตรมาสที่สาม ตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นของเงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน  (B/E) ซึ่งสอดคล้องกับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,371.7 พันล้านบาทในไตรมาสที่สามเป็น 1,581.1 พันล้านบาทในไตรมาสที่สี่
          เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แต่ดัชนีค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตลอดทั้งไตรมาสในทิศทางที่อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากขึ้น และเป็นที่คาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในปี 2558 ประกอบกับธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น รวมทั้งเมื่อเทียบกับค่าเงินบาท นอกจากนี้ การไหลออกของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ และเงินลงทุนของนักลงทุนไทย ทั้งเงินลงทุนโดยตรงและเงินลงทุนในหลักทรัพย์เป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 อยู่ที่ 32.71 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสที่สามร้อยละ 1.9 และอ่อนค่าลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 รวมทั้งปี 2557 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.48 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.อ่อนค่าลงจากปี 2556 ร้อยละ 5.7 อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมกราคม เงินบาทกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ตามการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศหลังจากธนาคารกลางยุโรป และญี่ปุ่นประกาศดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือนมกราคมอยู่ที่ 32.73 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับปลายปี 2557 และในช่วงวันที่ 2-13 กุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนในช่วง 32.53-32.68 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.61 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเดือนมกราคม
          อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)3 อยู่ที่ 108.5 แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.9 และร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ซึ่งแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สาม และช่วงเดียวกันของปีก่อน
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ตามการไหลออกของเงินลงทุนของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 7.18 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเนื่องจากการไหลออกสุทธิ 1.85 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สาม เนื่องจากการไหลออกสุทธิในภาคธนาคารและภาคอื่นๆ เป็นสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการไหลออกของเงินลงทุนโดยตรงของนักลงทุนไทย และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของสถาบันรับฝากเงินและการปล่อยสินเชื่อให้กับนักลงทุนต่างชาติ
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลดลงตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ SET Index ปิดที่ 1,497.7 จุด ลดลงจากไตรมาสที่สามร้อยละ 5.6 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 49.0 พันล้านบาทต่อวัน จาก 48.5 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า โดยในช่วง 2 เดือนแรก SET เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่เพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันและบริษัทหลักทรัพย์เป็นสำคัญ ทำให้ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดเหนือ 1,600 จุด โดยมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งจากการทำ Window dressing ของกองทุนต่างๆ และการคาดการณ์การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นที่จะมาทดแทนการยกเลิกมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ  อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาสนักลงทุนมีความกังวลต่อแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการลดลงของราคาน้ำมัน ทำให้นักลงทุนต่างชาติและบริษัทหลักทรัพย์ขายทำกำไรและลดความเสี่ยง โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิสูงถึง 32.8 พันล้านบาท
          ในเดือนมกราคม 2558   แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะมียอดขายสุทธิ 4.3 พันล้านบาท แต่ SET Index ปิดตลาด ณ สิ้นเดือนมกราคมที่ 1,581.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคมร้อยละ 5.6 เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า การประกาศมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางยุโรปจะส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยุติมาตรการขยายปริมาณเงินในเดือนตุลาคม 2557 ล่าสุดในช่วงวันที่ 2 - 13 กุมภาพันธ์ SET Index ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินในประเทศอุตสาหกรรมหลัก และประเทศในภูมิภาค
          ดัชนีราคาพันธบัตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับสูง ในไตรมาสที่สี่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาส ปรับลดลงเกือบทุกช่วงอายุ ตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประกอบกับปริมาณพันธบัตรออกใหม่ของรัฐบาลไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่าความต้องการของนักลงทุนในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้ราคาพันธบัตรของไทยปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 9.9 พันล้านบาท เทียบกับยอดซื้อสุทธิ 128.0 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สี่เท่ากับ 71.6 พันล้านบาท ลดลงจาก 74.0 พันล้านบาท ในไตรมาสที่สาม
          ในเดือนมกราคม 2558 ดัชนีราคาพันธบัตรยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิอยู่ที่ 1.8 พันล้านบาท เนื่องจากการย้ายไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นภายหลังประเทศเศรษฐกิจหลักดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น โดยมูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดอยู่ที่ 81.2 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 67.9 พันล้านบาท ในเดือนก่อนหน้า
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล: ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9,815 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 316,767 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 526 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 16,983 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 7,636 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 2,180 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          รวมทั้งปี 2557  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14,231 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 460,704 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 2,452 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 63,668 ล้านบาท) ในปี 2556
          เงินสำรองระหว่างประเทศ: ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2557 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 157.11  พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 23.13 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 2.6 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ปี 2557) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 9.6 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ ปี 2557)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สามเนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง รวมทั้งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ เช่น มาตรการขอความร่วมมือผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคตรึงราคาสินค้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.3  ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ในช่วงฤดูกาลที่มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.03 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ใน ไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาพลังงานลดลงโดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่มีการปรับราคาลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี 1 เดือน) ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 255 7 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 2.2 ในปี 2556 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 1.0 ในปี 2556
          ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาในทุกหมวดทั้งผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 2.0 ตามการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลงร้อยละ 4.8 ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.2 โดยเฉพาะราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับลดลงมากตามราคาน้ำมันในตลาดโลก
          รวมทั้งปี 2557 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในปี 2556 โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.1 ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.7 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สี่ของปี 2557
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 74.86 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 28.8 ต่อเนื่องจากที่ลดลงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสที่สาม เป็นการปรับตัวลดลงในทุกตลาดทั้งดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส โดยราคาเฉลี่ยปรับตัวลดลงจาก 86.58 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในเดือนตุลาคม 2557 เป็น 77.23 และ 60.78 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบลดลงร้อยละ 25.6
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) อุปทานน้ำมันดิบของโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศนอกกลุ่มโอเปค โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ประกอบกับกลุ่มโอเปคมีนโยบายที่จะไม่ปรับลดกำลังการผลิตเนื่องจากต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่มไว้ และ (2) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัวโดยเฉพาะยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นช้า
          รวมทั้งปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 96.38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 104.52 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2556

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่ของปี 2557
          ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 เศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐซึ่งชะลอตัวลงจากการขยายตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่การฟื้นตัวยังเปราะบาง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่ยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเพิ่มสูงขึ้น การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วทำให้ประเทศต่างๆ ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องควบคู่กับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้ง ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในประเทศที่ยังมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและภาวะเงินฝืด

          - เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวลงจากการขยายตัวสูงในไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.6 (%QoQ, saar.) ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่สาม และเมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนขยายตัวร้อยละ 2.5 (%YOY) ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 2.8 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.3 อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 5.7 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายร้อยละ 2.0 ของธนาคารกลาง และลดลงเป็นร้อยละ 0.66 ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบมากกว่า 5 ปี การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และ การลดลงของอัตราเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 - 0.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 รวมทั้งปี 2557 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2556 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี
          - กลุ่มประเทศยูโรโซนยังมีความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สี่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ, sa) เทียบกับร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สามและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.9 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สาม  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงเป็นเฉลี่ยร้อยละ 0.18 (โดยในเดือนธันวาคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือ Deflation เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี) ภาวะความอ่อนแอของเศรษฐกิจสอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และภาวะความตึงตัวในตลาดการเงินซึ่งสินเชื่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราการว่างงานสูงกว่าร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องกัน 42 เดือน ความอ่อนแอของภาคเศรษฐกิจและแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดดังกล่าวทำให้ทางการยูโรโซนประกาศแผนการลงทุน 3 ปี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 315 พันล้านยูโร เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 และธนาคารกลางยุโรปได้ดำเนินมาตรการผ่านตลาดการเงินเพิ่มเติมในเดือนตุลาคม 2557 โดยการเข้าซื้อตราสารหนี้ที่ค้ำประกันด้วยสินเชื่อคุณภาพ (CBPP) และตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์เอกชนค้ำประกัน (ABSPP)
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจแต่อุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 1.7 (%QoQ, sa.) และร้อยละ 0.5 (%QoQ, sa.) ในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ตามลำดับ การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สามเป็นร้อยละ 9.2 ในขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภายในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ โดยการค้าปลีกเฉลี่ยในไตรมาสที่สี่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้าในขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง อัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างช้าๆ เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.5 และเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ตามลำดับ การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องและความอ่อนแอของอุปสงค์ภายในประเทศทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับเพิ่มขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินจาก 60 - 70 ล้านล้านเยนต่อปีเป็น 80 ล้านล้านเยนต่อปี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557
          - เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวต่ำกว่าในช่วงครึ่งปีแรกอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 1.5 (%QoQ sa.) ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.3 (%YoY) เท่ากับอัตราการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้าและเป็นการขยายตัวต่ำกว่าเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ในครึ่งปีแรก โดยอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทั้งด้านการลงทุนด้านที่อยู่อาศัยและการค้าปลีก เช่นเดียวกับการส่งออกซึ่งชะลอตัวลงตามการแข็งค่าของเงินหยวนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่างไรก็ตาม การนำเข้าชะลอตัวลงเร็วกว่าการส่งออก และส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 1.5 ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกนับจากเดือนกรกฎาคม 2555 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงร้อยละ 0.40 เป็นร้อยละ 5.6 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ลงร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 2.75 รวมทั้งปี 2557 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.4 ชะลอลงจากร้อยละ 7.8 ในปี 2556 และเป็นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบ 24 ปี
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่(Newly Industrial Economies) ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในไตรมาสที่สี่ชะลอตัวลง โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 3.2 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่สาม โดยเป็นการชะลอตัวทั้งในด้านอุปสงค์ภาคครัวเรือนและการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจฮ่องกงซึ่งคาดว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม การค้าปลีก และการส่งออก ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงในเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ซึ่งอัตราเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ 5 ปี ยกเว้นฮ่องกงซึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการอุดหนุนค่าเช่าที่อยู่อาศัย รวมทั้งปี 2557 เศรษฐกิจเกาหลีใต้และไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.3 และ 3.5 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 และร้อยละ 2.2 ในปีก่อนหน้า ในขณะที่เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.9 ในปี 2556
          - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนขยายตัวในเกณฑ์ดี ในไตรมาสที่สี่ปี 2557 เศรษฐกิจอาเซียนในภาพรวมยังขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยเศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 7.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคก่อสร้าง เช่นเดียวกับเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อน ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน การใช้จ่ายของรัฐบาล และการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.0 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อน โดยการส่งออกหดตัวและการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอตัวแต่การลงทุนขยายตัวเร่งขึ้น เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.6  ในไตรมาสที่สาม ตามการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม แต่การส่งออกชะลอลง อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ลดลงเกือบทุกประเทศตามการลดลงของราคาน้ำมัน ยกเว้นอินโดนีเซียที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาพลังงานในประเทศ โดยรวมตลอดทั้งปี 2557 เศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.0 5.0 6.1 และ 6.0 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 5.4 5.8 7.2 และ 4.7 ในปี 2556

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558
          เศรษฐกิจโลกในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2557  สนับสนุนโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวช้าๆ ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2557 และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่และภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาและแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง
          การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้ทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯ และประเทศสำคัญๆ อื่นๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและยุโรปยังอยู่ในช่วงของการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ
          การแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือและการชะลอตัวของเศรษฐกิจผู้บริโภคน้ำมันที่สำคัญๆ ยังทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอและพึ่งพิงรายได้จากสินค้าขั้นปฐมมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในปี 2557 และปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนโดยเฉพาะการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งสนับสนุนโดยการจ้างงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยและหลักทรัพย์ การลดลงของราคาน้ำมันและการลดลงของภาระหนี้สินในภาคครัวเรือน ในขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังลดลงอย่างต่อเนื่องและการลงทุนรวมภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวตามค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ การปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจและการจ้างงาน คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2558
          - เศรษฐกิจยูโรโซน ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 1.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจาก (1) แรงกดดันจากภาวะเงินฝืด (2) อัตราการว่างงานยังอยู่ระดับสูง (3) การกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังยังมีข้อจำกัดจากหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง (4) สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในภาวะตึงตัวแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ (5) การเจรจาต่อรองระหว่างกรีซกับทางการยูโรยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นและความเป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศยูโรโซน ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางและแรงกดดันภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างเต็มรูปแบบโดยการเข้าซื้อพันธบัตรจำนวน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ซึ่งจะดำเนินการจนถึงเดือนกันยายน 2559 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.1 ล้านล้านยูโร เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2558 และมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหากแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดยังไม่ลดลง
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวตามการ อ่อนค่าของเงินเยน รวมทั้งผลของมาตรการขยายปริมาณเงินและการดำเนินมาตรการด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 3.5 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มที่จะล่าช้ากว่าการคาดการณ์ตามภาวะค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องแม้ว่ารัฐบาลจะประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีการบริโภคจากกำหนดเดิมในเดือนตุลาคม 2558 ออกไปเป็นเดือนเมษายน 2560 ก็ตาม
          - เศรษฐกิจจีน ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.0 ชะลอลงจากร้อยละ 7.4 ในปี 2557 และต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อปรับสมดุลทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากความตึงตัวของสินเชื่อมีแนวโน้มที่จะทำให้การลงทุนชะลอตัวลงเร็วมากกว่าการคาดการณ์ ในขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินหยวนมากขึ้น ภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่าการคาดการณ์และการปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อ ทางการจีนได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) จากร้อยละ 20.0 เป็นร้อยละ 19.5 หลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2557 รวมทั้งดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 2558 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 4.2 4.0 3.5 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.3 3.5 2.5 และ 2.8 ในปี 2557 ตามลำดับ โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมทั้งในประเทศฮ่องกงและเกาหลีใต้ และแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลดลงของอัตราเงินเฟ้อตามการลดลงของราคาน้ำมันและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น โดยสิงคโปร์ปรับลดกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่เกาหลีใต้และไต้หวันมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีแรก
          - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปี 2557 โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.0 ในปี 2557 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในปี 2557 ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนจากเงินส่งกลับของแรงงานที่ทำงานอยู่ในต่างประเทศ และการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ เศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าจะขยายร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.0 ในปี 2557 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออก ภายหลังจากการลดค่าเงินดองในช่วงต้นปี 2558 และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ชะลอลงยังส่งผลให้ธนาคารกลางสามารถใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2557 เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังจากรัฐบาลลดการอุดหนุนราคาพลังงานซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และหนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558
          เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 โดยที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมัน การเร่งรัดการใช้จ่ายและการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ของภาครัฐ และการเริ่มกลับมาขยายตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น
          เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรกในขณะที่การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

          - ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
          1) การฟื้นตัวของการส่งออกตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มูลค่าการส่งออกในไตรมาสสุดท้ายของปีเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยดัชนีปริมาณการส่งออกหลังปรับปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 7.1 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สอง และไตรมาสที่สาม ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 2.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส ในปี 2558 มูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2557 อย่างช้าๆ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกซึ่งคาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นและราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและยางพาราซึ่งคาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการปรับตัวลดลงร้อยละ 25.8 และร้อยละ 26.3 ในปี 2557 ตามลำดับ

ราคาสินค้าเกษตรกับการส่งออกในปี 2557
          ในไตรมาสที่สี่ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 88.7 ของมูลค่าการส่งออก ขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นมากจากการหดตัวร้อยละ 3.1 และ 0.4 ในไตรมาสแรก  ไตรมาสที่สอง และการขยายตัวร้อยละ 0.9  ไตรมาสที่สาม ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและทองคำซึ่งมีสัดส่วน ร้อยละ 8.1 และร้อยละ 0.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 8.5 และร้อยละ 12.6 ตามลำดับ และเป็นปัจจัยถ่วงที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของไตรมาสที่สี่ ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 1.5 แม้กระนั้นก็ตาม ดัชนีปริมาณการส่งออกหลังปรับปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 7.1 สูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัวก็ตาม
          การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 และการลดลงของมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2557  ร้อยละ 0.3 มีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา จากการคำนวณโดยใช้การเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกเทียบกับฐานปริมาณการส่งออกในปี 2556 พบว่าการลดลงของราคาส่งออกข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและน้ำตาลมีส่วนทำให้มูลค่าการส่งออกรวมในปี 2557 ลดลงประมาณ 6,562 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นประมาณร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2556 ดังนั้น หากราคาส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2558 มีเสถียรภาพขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกรวมในปี 2558 ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ
          2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 การท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวหลังปรับปัจจัยฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 13.0 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ในปี 2558 สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) นักท่องเที่ยวเริ่มมีความเข้าใจและมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยมากขึ้น  (2) ต้นทุนการเดินทางที่อยู่ในระดับต่ำในช่วงการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและการแข่งขันของสายการบินราคาถูก (3) มาตรการแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและหลอกลวงนักท่องเที่ยว รวมทั้งการจัดระเบียบในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ และ (4) มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2558
          3) แนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ การลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกร้อยละ 3.9 ในไตรมาสที่สามและขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 4.1 ในไตรมาสที่สี่ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและการเร่งรัดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ในปี 2557 แม้ว่าระดับการใช้กำลังการผลิตจะยังอยู่ในระดับต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายเดิมก็ตาม แต่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเร่งรัดพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2557 ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าจะมีการเริ่มลงทุนในปี 2558 (2) มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในเดือนธันวาคม 2557 อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.43 ล้านล้านบาทซึ่งจะมีการเร่งรัดอนุมัติและสนับสนุนให้โครงการลงทุนที่ผ่านการอนุมัติเริ่มดำเนินโครงการในปี 2558 (3) โครงการลงทุนภาครัฐทั้งด้านการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายแดนเริ่มมีความชัดเจนและคืบหน้ามากขึ้น และ (4) การขยายการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับการเปิดเสรี AEC ในปี 2559
          4) การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในระบบเศรษฐกิจโดยราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงจาก 108.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในเดือนมิถุนายน 2557 เป็นเฉลี่ย 60.0 ดอลลาร์ สรอ. ในเดือนธันวาคม ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลงเฉลี่ยร้อยละ 20.0 ในปี 2558 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะอยู่ในช่วง 50 - 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจากเฉลี่ย 96.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2557 หรือลดลงร้อยละ 43.0 การลดลงของราคาน้ำมันดิบดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้อำนาจซื้อของประชาชนในระบบเศรษฐกิจทั้งปีเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของ GDP รวมทั้งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          5) การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรวมภาครัฐอยู่ที่ร้อยละ 29.8 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีแต่อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจยังต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งทำให้รัฐบาลกำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดย (1) การกำหนดให้หน่วยงานที่ไม่สามารถเริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 และพิจารณาทบทวนแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้ หมดความจำเป็น หรือมีความซ้ำซ้อน สามารถพิจารณาโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปดำเนินการอย่างอื่นที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ (2) ใช้ผลการเบิกจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2558 เป็นเกณฑ์พิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 อย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกันรัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญๆ ทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งคาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้น
          6) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของปริมาณการจำหน่ายและผลิตรถยนต์ การปรับตัวของตลาดรถยนต์หลังจากการสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรกทำให้ปริมาณการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ทั้งปี 2557 ลดลงร้อยละ 39.6 และร้อยละ 23.5 ตามลำดับ และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามการปรับตัวของตลาดรถยนต์สิ้นสุดลงในปี 2557 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ปริมาณการจำหน่ายและการผลิตรถยนต์ในปี 2558 เริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมและการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการเปิดเสรีภายใต้กรอบข้อตกลง AEC ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          1) การปรับตัวของการผลิตภาคเกษตรต่อการลดลงของราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญๆ ซึ่งจะยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปสงค์ภาคครัวเรือนและการผลิตในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรทั้งปีลดลงร้อยละ 6.2 ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรเริ่มปรับตัวลดลง ในไตรมาสสุดท้ายของปีร้อยละ 3.5 ในปี 2558 แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มเริ่มทรงตัวมากขึ้น แต่คาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องซึ่งจะยังคงเป็นข้อจำกัด ต่อการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน รวมทั้งเป็นแรงกดดันให้การผลิตในภาคเกษตรปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงล่าช้ากว่าราคาผลผลิต

ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ
          การปรับตัวของตลาดรถยนต์ในประเทศหลังสิ้นสุดมาตรการรถยนต์คันแรกทำให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ ในปี 2557 หดตัว ร้อยละ 23.5 และ 39.6 ซึ่งเป็นปัจจัยถ่วงที่ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศชี้ให้เห็นว่าการปรับตัวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสที่สอง ทำให้ปริมาณการผลิตและจำหน่ายหดตัวช้าลงตามลำดับ โดยปริมาณการจำหน่ายรถยนต์รวมทั้งปี 2557 อยู่ที่ 7.76 แสนคันซึ่งเป็นปริมาณการจำหน่ายปกติในปี 2553 และ 2554 ก่อนที่จะมีมาตรการรถยนต์คันแรก ในขณะที่ปริมาณการผลิตหดตัวช้าลงจากร้อยละ 28.3 ในไตรมาสแรกของปี 2557 เป็นร้อยละ 4.1 ในเดือนธันวาคมซึ่งเป็นสัญญาณว่าในปี 2558 ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์จะเริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศไม่ต่ำกว่า 2.0 ล้านคันและ 7.8 แสนคันตามลำดับ
          2) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้มากตาม  (1) การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ (2) ผลการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลกรีซและทางการยูโร (3) สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง (4) ปัญหาในภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งความเสี่ยงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและยูโรโซนจะชะลอตัวมากกว่าการคาดการณ์ (5) ความเสี่ยงของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอต่อการลดลงของราคาสินค้าขั้นปฐมและการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้พลวัตรของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกขาดความต่อเนื่องและส่งผลให้การส่งออกฟื้นตัวล่าช้ากว่าการคาดการณ์
          3) แนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ แม้ว่าแนวโน้มการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในสหรัฐฯ จะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ก็ตาม แต่การใช้มาตรการขยายปริมาณเงินในกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเยนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนและการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างรีบเร่งของประเทศในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเงินของประเทศคู่แข่งและคู่ค้าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเร็วกว่าเงินบาท เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยอย่างต่อเนื่อง
          4) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในรูปตัวเงิน (Nominal term) จะมีแนวโน้มทรงตัวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม แต่การลดลงของราคาน้ำมันทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงตามลำดับและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ กับค่าเงินบาท และการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง
          แม้ว่าการยุติมาตรการขยายปริมาณเงินในเดือนตุลาคม 2557 และแนวโน้มการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2558 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มอ่อนค่าลงและทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยปรับตัวดีขึ้นก็ตาม แต่ค่าเงินบาทและขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทยในปี 2558 ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันจาก (1) การประกาศใช้มาตรการขยายปริมาณเงินมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโร ของธนาคารกลางยุโรปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 และการใช้มาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางญี่ปุ่นมูลค่าปีละประมาณ 80 ล้านล้านเยน ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร (2) การผ่อนคลายนโยบายการเงินของจีนโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2557 และการไหลออกของเงินทุนที่เข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์จีน (China carry trade) ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 ซึ่งทำให้ค่าเงินหยวนเริ่มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. หลังจากการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง (3) การเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินและการเปลี่ยนแปลงกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางการลดลงของอัตราเงินเฟ้อและการลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น อินเดีย สิงคโปร์ และเวียดนาม
          ในขณะเดียวกัน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในรูปตัวเงิน (Nominal interest rate) ของไทยในปี 2557 จะมีแนวโน้มทรงตัวตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ตาม แต่การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็วและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 4.3 ในเดือนเมษายน 2557 เป็นร้อยละ 7.2 ในเดือนมกราคม 2558

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2558
          1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.5 และ 4.4 ตามลำดับ ปรับลดลงจากร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.8 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ช้ากว่าคาดการณ์
          2) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2558 เท่ากับ 50 - 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบกับ 96.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2557 ปรับลดลงจากสมมติฐาน 80 - 90 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งก่อน โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี ได้แก่  (1) ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และประเทศนอกกลุ่ม OPEC รวมทั้งการคงกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC (2) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง (Inventory) สูงขึ้นโดยเฉพาะของสหรัฐฯ (3) ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศสำคัญของโลกอยู่ในระดับต่ำตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (4) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และ (5) นโยบายทางการตลาดของซาอุดิอาระเบียเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบของโลก อย่างไรก็ดี คาดว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพในช่วงครึ่งปีแรก ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ตามการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันบางรายที่ประสบปัญหาความไม่คุ้มค่าของผลการดำเนินการ
          3) ราคาสินค้าส่งออกในเงินรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ (-0.5) - 0.5 เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีแนวโน้มทรงตัว ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มที่จะมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในปี 2557 โดยเฉพาะราคาส่งออกข้าวซึ่งคาดว่าจะเริ่มอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่ราคาส่งออกยางพาราคาดว่าจะหดตัวช้าลงกว่าในปี 2557 ราคานำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงลงร้อยละ (-3.5) - (-2.5) ปรับลดจากสมมติฐานร้อยละ (-1.0) - 0.0 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันซึ่งจะทำให้ราคานำเข้าวัตถุดิบลดลงมากกว่าที่คาดไว้
          4) ค่าเงินบาทอยู่ในช่วง 32.5 - 33.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อนหน้า อ่อนตัวจากเฉลี่ย 32.47  บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ คือ (1) ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงกลางปี 2558 และ (2) ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นไม่ขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม (3) การเจรจาต่อรองและผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลกรีซกับทางการยูโรไม่ส่งผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่ารุนแรง
          5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 จำนวน 27.0 ล้านคน เท่ากับสมมติฐานในการประมาณครั้งก่อนและเพิ่มขึ้นจาก 24.8 ล้านคนในปี 2557 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ (1) ความสงบภายในประเทศและเสถียรภาพทางการเมือง และ (2) แนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 18 ของจำนวนนักท่องเที่ยวรวมเพิ่มขึ้น และ (3) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของภาครัฐ
          6) อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐร้อยละ 92.2 ของวงเงินงบประมาณเท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนหน้า โดยคาดว่าอัตราการเบิกจ่ายงบประจำจะอยู่ที่ร้อยละ 96.3 และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 73.0 สูงขึ้นเมื่อเทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 93.7 และร้อยละ 65.8 ในปีงบประมาณ 2557 ตามลำดับ

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558:
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 - 1.0 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.9 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2558 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 เท่ากับช่วงประมาณการ ในการแถลงข่าวครั้งก่อนเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ โดยเฉพาะการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และราคาสินค้านำเข้า ส่งผลให้องค์ประกอบของการขยายตัวเปลี่ยนแปลงไปจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

          - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2558
          1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวม ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2557 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยการใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในปี 2557 และปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงและรายได้ที่แท้จริงของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในปี 2557 ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐ
          2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.0  เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.8 ในปี 2557 และปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวร้อยละ 5.0 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 4.8 ในการประมาณการเดิม เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ การเร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคการลงทุนของภาครัฐ รวมทั้งมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 6.1 ในปี 2557 ตามการเร่งรัดงบประมาณรายจ่ายลงทุนและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการ หดตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2557 แต่เป็นการปรับลดการประมาณการจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ส่งผลให้การส่งออกไปประเทศคู่ค้าหลักมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และเมื่อรวมกับการส่งออกภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ในการประมาณการครั้งก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.0 ในปี 2557
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการหดตัว ร้อยละ 8.5 แต่ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เนื่องจาก (1) การปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าจากร้อยละ (-1.0) - (0.0) เป็นร้อยละ (-3.5) - (-2.5) ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลก และ (2) การปรับลดประมาณการการส่งออกทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงจากประมาณการเดิม เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการซึ่งมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากปี 2557 ทำให้คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.9 ลดลงจากร้อยละ 5.4 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า
          5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 28.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 24.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเกินดุล 19.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการประมาณการครั้งก่อน คาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2558 เกินดุลประมาณ 18.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.2 ของ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน
          6) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2558 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.0 - 1.0 ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ลดลงจากเฉลี่ยร้อยละ 1.9 ในปี 2557 และเป็นการปรับลดจากเฉลี่ยร้อยละ 1.4 - 2.4 ในการประมาณการครั้งก่อนตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าภายในประเทศในหมวดพลังงานที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11.4 ของตะกร้าสินค้าในดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงมากโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2558

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญในปี 2558
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจในปี 2558 ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ การลดลงของราคาน้ำมัน และสถานการณ์ในประเทศที่มี ความสงบเรียบร้อยมากขึ้น ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2558 ควรให้ความสำคัญ ทั้งการใช้นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่จะมีประสิทธิผลได้มากในบรรยากาศที่เอื้ออำนวยดังกล่าวและการใช้ประโยชน์จากการที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้การส่งออก และการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่องและเต็มศักยภาพ และการเร่งรัดการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากความตกต่ำของราคาสินค้าในตลาดโลก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน โดยมีประเด็นการบริหารนโยบาย เศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
          1) การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและสนับสนุนการปรับตัวในการผลิตภาคเกษตรเพิ่มเติมจากมาตรการการให้เงินช่วยเหลือการผลิตและสินเชื่อต่างๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วโดยเฉพาะ (1) การสนับสนุน ด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การพักชำระหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการแปลงหนี้จากนอกระบบเป็นหนี้ในระบบสำหรับมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนปี 2558 แก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกษตรกรชาวนาและชาวสวนยาง (2) การดูแลต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัย การผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะราคาปุ๋ย สารเคมีและยากำจัดแมลงและวัชพืช และเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคาน้ำมันและวัตถุดิบทางด้านผลิตภัณฑ์เคมีในตลาดโลก รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่สำคัญๆ (3) การดูแลให้ค่าเช่าที่ดินเพื่อการเกษตรมีความยืดหยุ่นและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาผลผลิตในช่วงการปรับตัวของภาคการเกษตร (4) การป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยแล้ง (5) การเร่งรัดพัฒนาและส่งเสริมการใช้ระบบประกันภัยสินค้าเกษตร และ (6) การเร่งรัดส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร
          2) การดูแลธุรกิจ SMEs และแรงงานในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญๆ โดยเฉพาะ SMEs และแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกไปยังตลาดยุโรป ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศที่พึ่งพิงการผลิตน้ำมันและส่งออกสินค้าขั้นปฐม โดย (1) การสนับสนุนให้ SMEs ที่ได้รับผลกระทบใช้ประโยชน์จากมาตรการต่างๆ เพื่อการช่วยเหลือ SMEs ที่มีอยู่ในปัจจุบันและการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการดังกล่าวดำเนินการในเชิงรุก (2) ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดเล็กในการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของค่าเงิน (3) การเฝ้าระวังการเลิกจ้างและการกำหนดมาตรการเพื่อชะลอการเลิกจ้างสำหรับแรงงานที่อยู่ในข่ายที่จะถูกเลิกจ้างในลักษณะการจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานโดยภาครัฐและสถานประกอบการร่วมกันรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งทางด้านการจัดการศึกษาอบรมและเบี้ยเลี้ยง ในระหว่างการศึกษาอบรม
          3) การเร่งรัดการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 4.0  โดยให้ความสำคัญกับ  (1) การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การส่งออกปี 2558 และให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับตลาดที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ค่าเงินแข็งค่า และตลาดการค้าในภูมิภาค (2) การเจรจาและสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ  ปรับลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นมาตรการภาษีและมิใช่ภาษีภายใต้กรอบข้อตกลงประชาคมอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งมีกำหนดปรับลดอัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ภายในปี 2558 และ (3) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่สำคัญๆ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ส่งออกและประเทศคู่ค้าทราบถึงความคืบหน้าและใช้ประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยังเกาหลีใต้ ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติในสินค้าประมง การลดผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้าในตลาดยุโรป การหาตลาดรองรับผลผลิตกุ้ง ที่ผลผลิตเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาโรคตายด่วนอย่างชัดเจนมากขึ้น
          4) การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนที่ยังคงค้างการพิจารณาและโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปี 2557 รวมทั้งเร่งรัดติดตามให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้วให้ดำเนินโครงการโดยเร็ว
          5) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนโดยสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ (1) การขยายตัวของภาคการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง (2) การลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ที่ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปมีแนวโน้มลดลงและอาจส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อและการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคธุรกิจเอกชนรวมทั้งการใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีความเสี่ยงที่จะลดลงต่ำกว่าการคาดการณ์ และ (3) อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
          6) การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2558 และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสแรกยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งเร่งรัดโครงการลงทุนที่สำคัญๆ โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และโครงการความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ให้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจและกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558

                                              ข้อมูลจริง                  ประมาณการ
                                        ปี 2556     ปี 2557     17 พ.ย. 57      16 ก.พ. 58
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)            11,899     12,141         12,979          12,627
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)              174,337    176,958        188,157         183,049
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)     387.2      373.6          393.0           382.6
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)       5,673      5,445          5,702           5,547
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)        2.9        0.7      3.5 - 4.5       3.5 - 4.5
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                 -2.0       -2.8            5.8             6.0
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                -2.8       -1.9            4.8             5.0
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                    1.3       -6.1            9.8             9.8
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                 1.1        0.7            3.1             3.4
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                 0.3        0.3            2.6             2.9
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                 4.9        2.8            5.6             5.6
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)       4.2        0.0            4.4             4.0
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      225.4      224.8          234.4           232.7
   อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)1/              -0.2       -0.3            4.0             3.5
   อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)1/              0.2        0.7            4.0             3.5
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)       2.3       -4.8            5.4             4.9
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      218.7      200.2          214.8           203.9
   อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)1/              -0.5       -8.5            5.0             1.8
   อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)1/              1.6       -6.8            5.5             4.8
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                 6.7       24.6           19.6            28.8
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)           -2.5       14.2            8.8            18.9
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                    -0.6        3.8            2.2             4.9
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                           2.2        1.9      1.4 - 2.4       0.0 - 1.0
   GDP Deflator                            1.7        1.3      1.4 - 2.4       0.0 - 1.0
          ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 16 กุมภาพันธ์ 2558
          หมายเหตุ: 1/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ