ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองและแนวโน้มปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 17, 2015 13:35 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 17 สิงหาคม 2558 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2558

   (%YoY)                      2557                 2558
                            Q4      ทั้งปี       Q1     Q2       ทั้งปี(f)
GDP (CVM)                  2.1      0.9      3.0    2.8     2.7-3.2
การลงทุนรวม                 3.2     -2.6     10.7    2.5        6.2
ภาคเอกชน                   4.1     -2.0      3.6   -3.4        1.8
ภาครัฐ                     -0.5     -4.9     37.8   24.7       21.8
การบริโภคภาคเอกชน           2.1      0.6      2.4    1.5        1.8
การบริโภคภาครัฐบาล           3.6      1.7      3.3    4.6        3.8
มูลค่าการส่งออกสินค้า           1.5     -0.3     -4.3   -5.5       -3.5
ปริมาณ                      2.7      0.7     -2.6   -3.8       -2.0
มูลค่าการนำเข้าสินค้า          -5.8     -8.5     -7.2  -10.1       -5.5
ปริมาณ                     -0.5     -6.8      4.1   -0.3        2.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด               8.7      3.3      7.9    4.2        4.8
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                     1.1      1.9     -0.5   -1.1   (-0.7)-(-0.2)
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสแรกของปี 2558 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสแรกของปี 2558 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9
          - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวสูงของลงทุนของภาครัฐและการส่งออกบริการโดยเฉพาะบริการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือน ในขณะที่การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูง และสาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามภาคการส่งออก
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558  คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 - 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก (2) การขยายตัวจำนวนนักท่องเที่ยวในอัตราที่สูง (3) การอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทในครึ่งปีหลังปรับตัวเพิ่มขึ้น และ (4) ราคาน้ำมันและเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง  สำหรับข้อจำกัดที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 3.5 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ  (-0.7) - (-0.2) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.8 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2558 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การใช้จ่ายเงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ (2) การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs  (3) การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตรโดยการดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคานำเข้าและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญๆ การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย และการส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิตแทนการคิดค่าเช่าในลักษณะเหมาจ่าย และ (4) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ และการดูแลค่าเงินบาทให้ปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญๆ ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาตลาดโลกและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน การลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ การแก้ปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองและแนวโน้มปี 2558
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสแรกของปี 2558 ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวสูงของการลงทุนภาครัฐและการส่งออกบริการ การขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคครัวเรือนและภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงตามการส่งออก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.4 จากไตรมาสแรกของปี 2558 (QoQ_SA)  รวมครึ่งแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2557 และร้อยละ 1.6 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2558
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค การใช้กระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ร้อยละ 4.7 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.9 เทียบกับระดับ 68.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 255 8 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวสูงต่อเนื่องร้อยละ 24.7 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 31.2 การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 2.7 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.4 ตามการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร รวมทั้งการลงทุนในหมวดยานพาหนะ โดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ลดลงเนื่องจากการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถกระบะ (ปัจจัยชั่วคราว) ส่วนการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.2 เทียบกับระดับ 50.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 30.9 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในภาวะทรงตัว
          3) การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,657 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.5 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและชะลอลงจากไตรมาสแรก (2) การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเงินยูโรและเงินเยน  (3) ราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ ยางพารา ข้าว และน้ำตาล (4) การลดลงของการส่งออกยานยนต์เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถกระบะ (ปัจจัยชั่วคราว) และ (5) การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปยังยุโรป สำหรับสินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ มันสำปะหลัง เครื่องจักรและอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ และวงจรพิมพ์ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลงได้แก่ ข้าว ยางพารา ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และตลาดอาเซียน (9) ลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.7 และในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1,752  พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การส่งออกมีมูลค่า 105,654 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.9 โดยปริมาณ การส่งออกลดลงร้อยละ 3.2 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 3,482 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.7
          4) สาขาการก่อสร้างขยายตัวสูงร้อยละ 17.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 23.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 25.6 โดยที่การก่อสร้างภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 35.6 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 4.0 ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.7
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 20.1 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 34.2 และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3
          5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 18.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 13.5 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 7.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 23.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นยุโรป โอเชียเนีย และแอฟริกา โดยนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61.9 โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง และมาเลเซีย ขณะที่รายรับ จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 323.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 16.0
          6) สาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 ตามการลดลงของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก แต่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศยังขยายตัว กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สิ่งทอ อุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางและผลิตภัณฑ์ยาง  กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 55.5
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.8
          7) สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงช่วงกลางปี 2558 ประกอบกับมีภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา และปาล์มน้ำมันลดลง ส่วนผลผลิตประมง ปศุสัตว์ และอ้อยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงเนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก และยางแผ่นดิบชั้น 3 เป็นต้น การลดลงของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 14.2
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.3 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 6.1 ร้อยละ 6.5 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก (2) การขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะอยู่ที่ 30 ล้านคน (3) การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทซึ่งจะทำให้สภาพคล่องของผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้นแม้ว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะปรับตัวลดลง และ (4) ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง การอ่อนค่าของค่าเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 3.5 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.8 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.7) - (-0.2) และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.8 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2558 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก  ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 และร้อยละ 3.1 ในไตรมาสแรก ตามลำดับ รวมทั้งการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ โซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ร้อยละ 6.5 ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 0.6 ตามลำดับ ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 1.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 64.9 เทียบกับระดับ 68.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง ร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          การลงทุนภาคเอกชน: การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรปรับตัวลดลง ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในไตรมาสแรกของปี 2558 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 5.0  เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ร้อยละ 5.6 และร้อยละ 25.6 ตามลำดับ เทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.9 และร้อยละ 12.7 ในไตรมาสแรก ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและปริมณฑล และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์กลับมาขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 1.7 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 20.3 และร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 42 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 58.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 86.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนเร่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนไปมากแล้วในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ก่อนที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนเดิมจะหมดอายุลง แต่การอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.3 และร้อยละ 29.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 77.8 และร้อยละ 527.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 48.2 เทียบกับระดับ 50.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง ร้อยละ 7.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.3 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.7
          การส่งออก: มูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง การลดลงของราคาสินค้าส่งออก รวมทั้งผลกระทบชั่วคราวจากการลดลงของการส่งออกยานยนต์ และผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2558 มีมูลค่า 52,657 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 เนื่องจากสาเหตุสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขยายตัวต่ำและชะลอจากไตรมาสแรก  (2) การแข็งค่าของเงินบาทโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและเงินเยนร้อยละ 17.2 และร้อยละ 13.7 ตามลำดับ (3) ราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งลดลงร้อยละ 10.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4.2) ราคาเคมีภัณฑ์ร้อยละ 4.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) ราคายางพาราร้อยละ 20.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.1) ราคาข้าวร้อยละ 1.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.1) และราคาน้ำตาลร้อยละ 15.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 7.1)   (4) การลดลงของการส่งออกยานยนต์เนื่องจากการปรับเปลี่ยนรุ่นของรถกระบะ (ปัจจัยชั่วคราว) และ  (5) การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปยังยุโรปที่มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.7 และในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 1,752 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 105,654 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.2 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่ารวม 3,482 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 15.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรร้อยละ 6.3  โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ยางพารา และน้ำตาล แต่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 5.2 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.4 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกร้อยละ 5.7 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตทั้งเวียดนามและปากีสถานมีผลผลิตข้าวปริมาณมาก ในขณะที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดียและเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากราคาส่งออกที่ลดลงร้อยละ 1.5  มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 64.2 เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.4 โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีนซึ่งมีความต้องการมันสำปะหลังเพื่อผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากนโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้เก็บสต็อกข้าวโพดไว้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และห้ามโรงงาน เอทานอลใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ แต่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 12.6 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 12.6 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 20.3 เนื่องจากสต็อกยางพาราของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักของโลกยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 8.2 เนื่องจากการลดลงของราคาส่งออกร้อยละ 15.9 แต่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และการปรับเปลี่ยนรุ่นรถกระบะของผู้ผลิตรายใหญ่ โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น ยานยนต์ (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 13.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด) ลดลงร้อยละ 3.7 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกรถกระบะเนื่องจากค่ายรถยนต์รายใหญ่ได้ปรับเปลี่ยนรุ่นของรถกระบะจึงทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะในตลาดตะวันออกกลางรอซื้อรถกระบะรุ่นใหม่ที่อยู่ระหว่างการผลิต แต่การส่งออกรถยนต์นั่งยังขยายตัวร้อยละ 7.1 ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ Eco car ไปกลุ่มประเทศยุโรป ในขณะที่มูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 21.4 ร้อยละ 17.7 และร้อยละ 12.7 ตามลำดับ  เนื่องจากราคาส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกคอมพิวเตอร์ วงจรพิมพ์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขยายตัวร้อยละ 24.8 ร้อยละ 17.3 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 16.5 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง  และล็อบสเตอร์ ปลา และปลาหมึก สินค้าส่งออกอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เป็นผลจากการส่งออกทองคำ ที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และตลาดอาเซียน (9) ลดลง การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 9.2 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.6 และร้อยละ 9.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส  ร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.4 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 8.4 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโรโซนยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน ขณะที่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) กลับมาหดตัวร้อยละ 5.9 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปตลาดอาเซียน  (5) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.6  ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 9.0 และร้อยละ 21.6 ตามลำดับ
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าลดลงตามการลดลงของราคานำเข้าโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 44,810 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 10.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.2 ในไตรมาสแรกของปี 2558 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 9.7 ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์  ขณะที่ปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดอื่นๆ โดยเฉพาะทองคำ (ปริมาณการนำเข้าทองคำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 23,705 กิโลกรัม ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส หรือลดลงร้อยละ 37.3) แต่ปริมาณการนำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ เมื่อหักการนำเข้าทองคำแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.1 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 4.7  ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,491 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 90,382 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.7  โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.3 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท  การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 2,978 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.6 ในรายหมวด มูลค่าสินค้านำเข้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และหมวดอื่นๆ ลดลง แต่มูลค่าสินค้านำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 13.2 เนื่องจากราคานำเข้าลดลงร้อยละ 14.4 แต่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี สินค้านำเข้าอื่นๆ มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.0 ตามการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 2.9 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงเช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า แท่นขุดเจาะน้ำมัน และอากาศยาน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.7 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.4  สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยาและเวชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สิ่งทอ และเครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 16.3 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 902 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 41.7
          อัตราการค้า (Term of Trade): ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8  แต่ราคานำเข้าลดลงมากถึงร้อยละ 9.7 ส่งผลให้อัตราการค้าอยู่ที่ 110.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 เทียบกับ 101.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  อัตราการค้าอยู่ที่ 111.0 เทียบกับอัตรา 101.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.3
          ดุลการค้า: เกินดุลต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 ดุลการค้าในไตรมาสที่สองของปี 2558 เกินดุล 7,847  ล้านดอลลาร์ สรอ. (261,850 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 7,425 ล้านดอลลาร์ สรอ. (242,286 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  ดุลการค้าเกินดุล 15,272 ล้านดอลลาร์ สรอ. (504,136 ล้านบาท) เทียบกับ การเกินดุล 12,176 ล้านดอลลาร์ สรอ. (395,549 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง  ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 4.7 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 8.9 เนื่องจาก (1) พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลดลงเนื่องจากปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) อยู่ในระดับต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง และส่งผลให้การผลิตข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 38.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 27.3 ในไตรมาสแรก (2) สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ทำให้น้ำยางออกมาน้อยกว่าปกติ อีกทั้งภาครัฐมีนโยบายควบคุมปริมาณการผลิตยางด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรโค่นต้นยางแก่ จึงทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 9.9 (3) ผลผลิตปาล์มน้ำมันในภาคใต้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 7.0 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 ตามการฟื้นตัวของการเลี้ยงกุ้งภายหลังการแก้ปัญหาโรคตายด่วนในกุ้ง  เช่นเดียวกับผลผลิตปศุสัตว์และอ้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 และร้อยละ 10.2 ตามลำดับ ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่หกร้อยละ 5.8 เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งราคาข้าวเปลือก ยางแผ่นดิบชั้น 3 อ้อย กุ้งขาวแวนนาไม และสินค้าปศุสัตว์ร้อยละ 0.2 ร้อยละ 17.2 ร้อยละ 11.6 ร้อยละ 16.9 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ เนื่องจาก (1) การค้าข้าวในตลาดโลกมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น (2) ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดลงตามอุปทานที่เพิ่มขึ้นและการอ่อนค่าของเงินเรียลของประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของโลก (3) ราคายางลดลงเนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อุปทานในตลาดโลกยังคงมีอยู่มาก และการลดลงของราคายางสังเคราะห์  (4) ผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้น ทั้งผลผลิตในประเทศและผลผลิตของประเทศผู้ผลิตอื่น (อินโดนีเซีย อินเดีย เอกวาดอร์ และเวียดนาม) และ (5) ราคาไก่เนื้อ สุกรและไข่ไก่ลดลงเนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก การลดลงของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 14.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.6 ในไตรมาสแรกของปี 2558
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.3 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 6.1 ร้อยละ 6.5 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ
          สาขาอุตสาหกรรม: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการผลิตเพื่อการส่งออก แต่อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศขยายตัว ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 7.6 หลังจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในไตรมาสแรก โดยอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตรวม) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เนื่องจาก (1) การย้ายฐานการผลิตของผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์รายใหญ่ จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท แอลจี อิเล็คทรอนิกส์ (ประเทศไทย) และบริษัท ไทยซัมซุง อิเล็คทรอนิกส์ ไปยังประเทศเวียดนาม และ (2) การส่งออกยังปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก เช่นเดียวกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30 - 60 ของผลผลิตรวม ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 6.3 ตามการลดลงของการผลิตยานยนต์ร้อยละ 8.1 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของผลผลิตรวมขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้
          อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม (ร้อยละ 16.8) อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ลดลง ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ 8.1) เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ (ร้อยละ 14.0) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (ร้อยละ 22.5) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 0.1) อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 0.8) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 0.1) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ 2.6) ยาสูบ (ร้อยละ 30.0) สิ่งทอ (ร้อยละ 4.0) เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 3.6) เครื่องหนัง (ร้อยละ 9.9) อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 15.1) และเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 20.0) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 55.5 เทียบกับร้อยละ 62.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และระดับ 59.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.7 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.8
          สาขาก่อสร้าง: ขยายตัวทั้งการก่อสร้างภาครัฐและเอกชน ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 17.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 23.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 25.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 44.2 ในไตรมาสแรก โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 35.6 ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 4.0 ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียม และการก่อสร้างอาคารโรงงาน สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างลดลงต่อเนื่องร้อยละ 4.4 เนื่องจากการลดลงของต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบ ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกลดลงเนื่องจากปริมาณเหล็กในตลาดโลกมีปริมาณมาก
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 20.1 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า  โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 34.2 และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.3
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 2.5 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสแรกของปี 2558  ในด้านอุปสงค์ ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6  ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ ในด้านราคา ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดิน ทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และอาคารชุดซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และอัตราการเข้าพัก ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 18.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 13.5 ในไตรมาสแรก โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 23.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นยุโรป โอเชียเนีย และแอฟริกา โดยนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก (สัดส่วนร้อยละ 71.6) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 61.9 (โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน ฮ่องกง และมาเลเซีย ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 133.9 ร้อยละ 72.2 และร้อยละ 59.5 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวจากยุโรป โอเชียเนีย และแอฟริกาลดลงร้อยละ 9.0 ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 323.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.6 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 16.0 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้าส่งและการค้าปลีกในห้างสรรพสินค้า ซึ่งขยายตัวตามภาคการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสแรก ด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งในหมวดวัตถุดิบการเกษตร เชื้อเพลิง และเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 61.8 ตามลำดับ ในขณะที่หมวดอาหารและวัสดุก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 19.1 ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกในหมวดการขายในห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ในขณะที่ดัชนีหมวดผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และการจำหน่ายรถยนต์และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 33.3 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 การผลิตสาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงของการจ้างงานในภาคการเกษตร แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สองของปี 2558 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.2 ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 5.8 เนื่องจากชะลอการปลูกข้าวนาปรังจากสถานการณ์ภัยแล้ง ส่งผลให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ไม่จูงใจ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาค้าส่งและค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 โดยส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 336,080 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.9 คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9
          เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2558 การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.3 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 0.9

          - ภาวะการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2558 (เมษายน - มิถุนายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 653,919.1 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการนำเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียนคืน เป็นรายได้แผ่นดิน อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลยังต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 9.4 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะการชำระภาษีจากฐานกำไรสุทธิของผู้ประกอบการ ในปี 2557 (ภ.ง.ด. 50) และการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ลดลงตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ
          รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,631,271.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 แต่ยังต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 3.9
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 704,936.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.3 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558  มีการเบิกจ่ายจำนวน 529,309.2  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 (แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 452,205.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ ร้อยละ 21.0 สูงกว่าร้อยละ 20.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 77,103.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.4 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 18.4 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 19.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 13.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)
          (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 39,621.9 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 11.3 ต่ำกว่าร้อยละ 12.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 7,340.4 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 7,102.9 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 237.5 ล้านบาท (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะสามารถเบิกจ่าย 121,415.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และ (5) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 7,249.3 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 7,057.4 ล้านบาท มาตรการเพิ่มรายได้ชาวนา 158.3 ล้านบาท และมาตรการเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง 33.6 ล้านบาท
          รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งสิ้น 1,853,518.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.7 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 72.0 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 76.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 68.1 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 195,125.0 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.7 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 46.7 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 74.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 48.5 ในในช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนมากสุด ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 35.8 ร้อยละ 14.8 ร้อยละ 13.5 และร้อยละ 9.9 ของการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ตามลำดับในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 177,268.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.4 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 14,062.6 ล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 331,294.2 ล้านบาท1 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1ของรัฐบาล (เงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไร่ละ 1,000 บาท และการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 55,455.6 ล้านบาท
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 91,009.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเกินดุลน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.9 และเมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 14,267.1 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 66,000.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 142,742.2 ล้านบาท น้อยกว่าการเกินดุลเงินสดสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.2
          รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 231,908.2 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ที่มีจำนวน 495,746.3 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสสามของปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 263,838.9 ล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ร้อยละ 46.8
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสสามของปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,684,490.8 ล้านบาท   คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP 2 (ลดลงจากไตรมาสก่อน 46,028.5 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,343,786.0 ล้านบาท (ร้อยละ 39.2 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 340,704.8 ล้านบาท (ร้อยละ 2.5 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,070,193.6 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,046,279.7 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 561,979.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.6 ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 9.9 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่สองของปี 2558  เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและดูแลเสถียรภาพทางด้านราคา ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ จีน อินเดีย และรัสเซีย ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน ขณะที่ประเทศผู้นำเศรษฐกิจ (สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น) ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเช่นเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การประชุม กนง. เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 และวันที่ 5 สิงหาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดปรับตัวลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ในไตรมาสที่สองของปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 และ ร้อยละ 6.52 ต่อปี สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.56 และร้อยละ 6.93 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.73 และร้อยละ 6.78 ต่อปี ตามลำดับ ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางบางแห่งได้มีการปรับลดเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงเล็กน้อย
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงจากร้อยละ -0.57 ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็นร้อยละ -1.07  ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.10 ต่อปีในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 2.57 ต่อปี สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงจากร้อยละ 7.20 ต่อปี เป็นร้อยละ 7.59 ต่อปี
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังคงออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับตัวลดลงตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
          สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบ ขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 7.2 ในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนในสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในสาขาการจัดหาที่อยู่อาศัย และสาขาการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธุรกิจชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สอง ตามการชะลอตัวของสินเชื่อในสาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการก่อสร้าง ซึ่งสอดคล้องกับระดับความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวลดลง ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งปรับเพิ่มมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน
          สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องส่วนเกิน3 ในระบบลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สองของปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 98.6 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 96.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเร็วกว่าการขยายตัวของปริมาณเงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ซึ่งสอดคล้องกับสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงจาก 1,734.2 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1,649.1 พันล้านบาทในไตรมาสที่สองของปี 2558
          เงินบาทอ่อนค่าลง และมีความผันผวนมากขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงอย่างต่อเนื่องของไทย และการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ตลอดทั้งไตรมาสค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยมีกรอบการเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 32.36 - 33.87 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลมาจาก (1) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงินลงสองครั้งติดต่อกัน (วันที่ 11 มีนาคม และวันที่ 29 เมษายน 2558) และการประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ (2) การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่นักลงทุนคาดว่าจะปรับขึ้นครั้งแรกภายในปี 2558 ตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซที่ทำให้นักลงทุนย้ายการลงทุนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น และ (3) การชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลทำให้ค่าเงินของประเทศในภูมิภาคเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยในไตรมาสที่สอง อยู่ที่ 33.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ4 (NEER) เงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากปี 2557 ร้อยละ 1.5
          ในเดือนกรกฎาคม 2558  ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวอ่อนค่าลงมากภายหลังการแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ที่ทำให้นักลงทุนคาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ ประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 34.30 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 3 - 14 สิงหาคม ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35.16 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเดือนกรกฎาคมร้อยละ 2.5
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ เทียบกับการไหลออกสุทธิในไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2558 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 2.17 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 1.44 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก แม้ว่าในไตรมาสนี้จะมีนักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และมีเงินทุนไหลออกจากการขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ค่อนข้างมากก็ตาม แต่มีการไหลเข้าสุทธิจากสินเชื่อระยะสั้นและการถอนเงินฝากจากต่างประเทศเพื่อปรับฐานะเงินตราต่างประเทศของสถาบันรับฝากเงิน รวมทั้งยังมีเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย สาขาอสังหาริมทรัพย์ สาขาการขายส่งและการขายปลีก และการถอนเงินฝากในต่างประเทศที่ครบกำหนดของกองทุน FIF ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้บัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายปรับฐานะจากการไหลออกสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2558 เป็นการไหลเข้าสุทธิในไตรมาสที่สอง
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลงตามการลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค ความวิตกกังวลต่อปัญหาหนี้กรีซ และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยตลอดทั้งไตรมาส SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในภูมิภาคจากการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลงจากแนวโน้มการอ่อนค่าของค่าเงินบาท ประกอบกับความกังวลของนักลงทุนต่อปัญหาหนี้ของกรีซที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระบบการเงินโลก และแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายไตรมาสการทำราคาปิดสิ้นไตรมาส (window dressing) ของนักลงทุนสถาบัน ทำให้ SET Index ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2558 ปิดที่ 1,504.6 จุด ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดลงเป็น 37.8 พันล้านบาทต่อวัน จาก 49.3 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 7.2 พันล้านบาท และนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 26.1 พันล้านบาท
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากดัชนีราคาปิด ณ สิ้นปี 2557  และนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 15.7 พันล้านบาท
          ในเดือนกรกฎาคม 2558  SET Index ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,440.1 จุด หรือลดลงร้อยละ 4.5 จากเดือนก่อนหน้า ตามการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติที่สูงถึง 26.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของสกุลเงินในภูมิภาคตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการลดลงอย่างรุนแรงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์จีนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 3 - 14 สิงหาคม SET Index ยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลง เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะกลางปรับตัวลดลงตามการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ในช่วงอายุระยะสั้นและระยะกลางปรับตัวลดลงตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนอัตราผลตอบแทนช่วงอายุระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จากการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความวิตกกังวลต่อปัญหากรีซ และผลตอบแทนของสินทรัพย์ในรูปเงินบาทที่ลดลงจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของไทย โดย ณ สิ้นไตรมาส นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 26.4 พันล้านบาท เทียบกับยอดซื้อสุทธิ 7.3 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 90.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 82.4 พันล้านบาท ในไตรมาสแรก รวมครึ่งแรกของปี 2558  นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 19.1 พันล้านบาท
          ในเดือนกรกฎาคม 2558  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะปานกลางขึ้นไป จากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้นตามความกังวลของนักลงทุนต่อแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ของกรีซ และการลดลงอย่างมากของดัชนีราคาหลักทรัพย์ของจีน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 9.4 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 76.2 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 78.6 พันล้านบาทในเดือนก่อนหน้า
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล: ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,134 ล้านดอลลาร์ สรอ. (137,694 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8,188 ล้านดอลลาร์ สรอ. (267,255 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการขาดดุล 533 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 7,847 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3,713 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 12,322 ล้านดอลลาร์ สรอ. (404,949 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 4,971 ล้านดอลลาร์ สรอ. (161,875 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2558 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 160.27 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 18.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.0 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2558) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.7 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สอง ปี 2558)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สองของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.1 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ -0.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาพลังงานและราคาอาหารสด โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาอาหารสดปรับตัวลดลงโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาพลังงานลดลง ซึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับราคาลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ (2) การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2558 ที่ลดลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 14.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 12.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของราคาอาหารสำเร็จรูปที่สูงขึ้นในช่วงเดียวกันของปีก่อน
          รวมครึ่งแรกของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.2
          ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สองของปี 2558 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรม และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 3.5 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ปลาและสัตว์น้ำ และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก อย่างไรก็ดี ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3  เนื่องจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4
          รวมครึ่งแรกของปี 2558  ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สองของปี 2558
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 60.98 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 42.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกตลาด อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สองของปี 2558 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2558 ร้อยละ 16.0 (QoQ)
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) อุปทานน้ำมันดิบของโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดาปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบมาอยู่ที่เฉลี่ย 15.08 และ 4.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 13.92 และ 4.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ) ประกอบกับกลุ่มโอเปคไม่มีนโยบายในการลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 95.70  ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 92.39  ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ (2) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สองของปี 2558
          ในไตรมาสที่สองของปี 2558 เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรกแต่การฟื้นตัวยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ นำโดยการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น การปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างช้าๆ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเมื่อเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขยายตัวต่ำกว่าในไตรมาสแรก  ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและประเทศสำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชียยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว แนวโน้มการขยายตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ประเทศสำคัญๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ ทำให้ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีแนวโน้มแตกต่างจากประเทศสำคัญอื่นๆ มากขึ้น
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติ  แต่อัตราการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สอง ของปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3  (%QoQ, saar) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคเอกชน การส่งออกสุทธิ และการใช้จ่ายภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรชะลอตัวลงมาก และแรงขับเคลื่อนจากการสะสมสินค้าคงคลังลดลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ดี  อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจสหรัฐฯขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอลงจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสแรก อัตราเงินเฟ้อ (PCE price Index) ยังอยู่ในระดับต่ำ เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ  ของเศรษฐกิจทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0 - 0.25 แม้ว่าตลาดแรงงานจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ  7 ปีก็ตาม
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ต่อเนื่องจากไตรมาสแรก ในไตรมาสที่สอง เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.2 (%YoY) ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ, sa) การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นและการขยายตัวของสินเชื่อ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม แต่การส่งออกชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.1 แต่ปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 เทียบกับร้อยละ -0.3 ในไตรมาสแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในภาคบริการรวมทั้งการอ่อนค่าของเงินยูโร
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่นการบริโภคภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นแต่การส่งออกและการผลิตยังชะลอตัว เศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากการหดตัวร้อยละ 0.9 (%YoY) ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนสอดคล้องกับการขยายตัวของการค้าปลีกร้อยละ 2.9 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสแรก รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 3.3 ต่ำสุดในรอบ 18 ปี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการส่งออกชะลอลงจากร้อยละ 9.3 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 6.6  สอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ชะลอลงจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานราคาที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีบริโภคเมื่อเดือนเมษายน 2557 การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินการตามมาตรการขยายปริมาณเงินปีละ 80 ล้านล้านเยนอย่างต่อเนื่องในขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลง
          - เศรษฐกิจจีนขยายตัวเท่ากับในไตรมาสแรก โดยมีแรงสนับสนุนจากภาคการผลิตและภาคบริการโดยเฉพาะตัวกลางทางการเงินรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิ ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 7.0 (%YoY) เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 1.7 (%QoQ, sa.) เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.4 ในไตรมาสแรก การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะที่การส่งออกยังปรับตัวลดลง (2) การขยายตัวของสาขาการเงินในช่วงที่ดัชนีราคาหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (3) การลดลงของการนำเข้าซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายบริโภคของครัวเรือน อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 1.4 เมื่อรวมกับอุปสงค์ภาคเอกชนภายในประเทศที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลงอีกร้อยละ 0.25 ในวันที่ 28 มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 รวมทั้งการปรับลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในเดือนเมษายน
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrial Economies) ชะลอตัวลงเกือบทุกประเทศ(ยกเว้นฮ่องกง) ตามการหดตัวของการส่งออก โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการหดตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคเกษตร รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 ในเดือนมิถุนายน ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงเป็นร้อยละ 1.5 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมมูลค่า 19.6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.  เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการหดตัวของการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการชะลอตัวของภาคบริการ เศรษฐกิจไต้หวัน ขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการหดตัวของภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยเฉพาะการลดลงของการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 19.6 ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนชะลอตัว และการส่งออกหดตัว อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงในทุกประเทศ โดยอัตราเงินเฟ้อเกาหลีใต้และฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 3.0 ลดลงจากร้อยละ 0.6 และร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อนหน้า นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อของประเทศสิงคโปร์และไต้หวันอยู่ที่ร้อยละ -0.4 และร้อยละ -0.7 เทียบกับร้อยละ  -0.3 และร้อยละ -0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ
          - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงตามการส่งออกเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัว ร้อยละ 4.9 ชะลอลงจากร้อยละ 5.6 ในไตรมาสแรก ตามการหดตัวของการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และน้ำมันดิบ รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ เช่น น้ำมันปาล์ม และยางพารา เนื่องจากการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปีร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนรวม ในขณะที่การส่งออกยังคงหดตัว ส่วนเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศ และการลดลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกหดตัว เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 6.4 ตามการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยังคงขยายตัวดี

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2558
          เศรษฐกิจโลกในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจสำคัญๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่วนประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศ ยูโรโซนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าอย่างช้าๆ แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า แม้กระนั้นก็ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม รวมทั้งความแตกต่างของทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศสำคัญๆ ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตในประเทศสำคัญๆ คาดว่าจะทำให้การฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมเป็นไปอย่างล่าช้า แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนจาก (1) เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงมากกว่าการคาดการณ์และตลาดเงินตลาดทุนมีความเสี่ยงจากความผันผวนมากขึ้น (2) ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศสูง อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ารุนแรงและพึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐม และ (3) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศสำคัญๆ ที่แตกต่างจากการคาดการณ์ของตลาดอย่างมีนัยสำคัญ
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2558 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2557 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 2.3 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวระดับปานกลางและต่ำกว่าการคาดการณ์ ในขณะที่การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังอยู่ในภาวะชะลอตัวซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการการขยายตัวของการส่งออก รวมทั้งการลดลงของราคาน้ำมันซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนในภาคธุรกิจโดยเฉพาะในสาขาพลังงาน อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังยังมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน การเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยและหลักทรัพย์ และการปรับตัวดีขึ้นของงบดุลภาคครัวเรือน รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจและการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานในช่วงก่อนหน้า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การลดลงของราคาน้ำมันและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงมากกว่าการคาดการณ์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป
          - เศรษฐกิจยูโรโซน ในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและการผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้สภาพคล่องและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในขณะที่การว่างงานปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ นอกจากนั้นการคลี่คลายลงของปัญหากรีซคาดว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง   ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวคาดว่า ธนาคารกลางยุโรปจะยังไม่ดำเนินมาตรการทางการเงินเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี แต่จะยังคงดำเนินการตามแผนการขยายปริมาณเงินมูลค่า 1.1 ล้านล้านยูโรอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้เงินสกุลยูโรอ่อนค่าลง
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2558 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากร้อยละ 0.0 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคครัวเรือนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในประเทศ การปฏิรูปตลาดแรงงาน รวมทั้งราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงเพิ่มขึ้นประกอบกับอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซีย ในขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายได้ในระยะอันใกล้และทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินมูลค่า 80 ล้านล้านเยนต่อปีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศมาตรการขยายปริมาณเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
          - เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในปี 2557 โดยเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก ตามแนวโน้มการชะลอตัวของสาขาการเงินซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับฐานของดัชนีหลักทรัพย์และการชะลอตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ประสบปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการชะลอตัวของการลงทุนสินทรัพย์ถาวรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ในขณะที่การส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการอ่อนค่าของสกุลเงินในตลาดส่งออกสำคัญๆ แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการที่จะให้เงินหยวนเข้าไปอยู่ในตะกร้าสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Right (SDR)) ทำให้ธนาคารกลางจีนประกาศปรับค่ากลางเงินหยวนลงร้อยละ 1.9 ในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 และปรับวิธีการคิดค่ากลางเงินหยวนจากวิธีการกำหนดโดยใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางเป็นการใช้ราคาปิดของอัตราแลกเปลี่ยนในวันก่อนหน้าซึ่งทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีและยังเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ NIEs  คาดว่าในปี 2558 เศรษฐกิจฮ่องกงคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2557 ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 2.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.3 ร้อยละ 3.8 และร้อยละ 2.9 ในปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศอ่อนแอ และการส่งออกหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแพร่ระบาดของไวรัสเมอร์ส และคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะความซบเซาของการส่งออกและการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำตามทิศทางราคาพลังงาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางของประเทศสำคัญๆ ในกลุ่มนี้ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
          - เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2557 เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ยังขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกสำคัญ ในขณะที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอลงจากร้อยละ 6.1 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออก ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2557 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตร เช่นเดียวกับการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามการชะลอตัวของสินเชื่อ รวมทั้งผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2558 และเศรษฐกิจเวียดนามคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.0 เท่ากับการขยายตัวในปี 2557

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2558
          เศรษฐกิจไทยในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี รวมทั้งภาวะความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง (2) การอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้รายรับจากการส่งออกและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง (3) การขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว (4) ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งช่วยเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
          เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการขยายตัวของภาคท่องเที่ยวและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในแดนลบตามสถานการณ์ราคาพลังงานและอุปสงค์ในประเทศซึ่งยังต้องติดตามการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนและการตอบสนองของภาคธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาอย่างใกล้ชิด ในขณะที่เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางอ่อนค่าตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ

          - ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ยังคงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีได้อย่างต่อเนื่องและสามารถเร่งรัดเพื่อให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยในช่วงสองไตรมาสแรกของปี 2558 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วทั้งสิ้น 1.434 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายอีกประมาณ 1.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 2558 ประมาณ 541,600 ล้านบาท และในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 อีกประมาณ 783,400 ล้านบาท (2) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ รวม 131,700 ล้านบาท (3) งบเหลื่อมปี 119,700 ล้านบาท (4) งบเบิกจ่ายมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ระยะที่ 1) 4,200 ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ระยะที่ 2) ภายใต้เงินกู้โครงการพัฒนาระบบขนส่งถนนและโครงการน้ำ ระยะเร่งด่วน 16,000 ล้านบาท และ (5) เม็ดเงินภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 อีกประมาณ 4,200 บาท
          2) การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้รายรับจากการส่งออกและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมูลค่าการส่งออก(ตามสถิติศุลกากร)ในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.8 คิดเป็นมูลค่าการลดลง 5,441 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 4.0 คิดเป็นมูลค่าการลดลง 144,369 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงทั้งในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และในรูปเงินบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปีแม้ว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. จะยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แต่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะทำให้รายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น
          3) ภาคการท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยรวม 14.9 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 726.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 และร้อยละ 24.1 ตามลำดับ ล่าสุดในเดือนมิถุนายน จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 53.1 และยังมีแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ (2) ต้นทุนการเดินทางที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ต่ำอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน (3) สถานการณ์โรคเมอร์สในเกาหลีใต้ที่เริ่มกลับสู่สถานการณ์ปกติมากขึ้น
          4) ราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราเงินเฟ้อ ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อที่แท้จริงของประชาชนในระบบเศรษฐกิจและสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่เฉลี่ย 61.12 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ย 52.03 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในไตรมาสแรกและจุดต่ำสุดที่ 45.65 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ในเดือนกรกฎาคม ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวลดลงอีกครั้ง โดยราคาล่าสุดในวันที่ 10 สิงหาคม ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 49.45 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          1) เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีฐานคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2557 และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวและเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก (1) เศรษฐกิจจีนซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงมากกว่าการคาดการณ์และความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนเพิ่มขึ้น (2) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินหยวนต่อเศรษฐกิจและต่อการดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ (3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลสำคัญๆ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐมมีหนี้สินต่างประเทศสูงและค่าเงินอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว
          2) การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง แม้ว่าในช่วงหลังเดือนเมษายน 2558 เงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องทำให้ค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2557 อ่อนค่าลงร้อยละ 4.3 ก็ตาม แต่เป็นการอ่อนค่าพร้อมๆ กับการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยในช่วงเดียวกันค่าเงินยูโร เงินเยน และออสเตรเลียดอลลาร์อ่อนค่าลงร้อยละ 23.8 ร้อยละ 18.8 และร้อยละ 19.6 ในขณะที่ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย และรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลงร้อยละ 15.1 และร้อยละ 9.8 การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศสำคัญๆ ดังกล่าวท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงมีข้อจำกัดในการสนับสนุนการฟื้นตัวของปริมาณการส่งออก
          3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ และราคาส่งออกมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก (1) อุปสงค์ในตลาดโลกที่ยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน (2) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. (3) การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก (4) ระดับสินค้าคงคลังในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงในขณะที่ผลผลิตในประเทศสำคัญๆ ยังคงเพิ่มขึ้น (5) การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ สามารถใช้วิธีการแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ราคาส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ปรับตัวลดลงจากปีที่ผ่านมาและสร้างแรงกดดันต่อรายได้ในภาคการส่งออกและภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่อง
          4) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี การผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 4.2 และเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง การลดลงของราคาผลผลิตและการปรับเปลี่ยนการผลิต แม้ว่าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมจะเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นแต่สถานการณ์ภัยแล้งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ในขณะที่ราคาผลผลิตภาคเกษตรยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน จากข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ พบว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรเลื่อนการเพาะปลูกออกไปและทำให้ปริมาณการผลิตข้าวในปี 2558 ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณ  6.0 - 10.0 ล้านตัน เมื่อรวมกับผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ คาดว่าการผลิตภาคการเกษตรทั้งปีจะลดลงประมาณร้อยละ 3.0 - 4.0 ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังและทั้งปีอย่างต่อเนื่อง
          5) อัตราดอกเบี้ยในระบบสถาบันการเงินยังปรับตัวลดลงอย่างล่าช้าในขณะที่สถาบันการเงินยังเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปีจะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.50 บาทต่อปีแต่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในระบบสถาบันการเงินปรับตัวลดลงเพียงร้อยละ 0.23 ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจได้รับผลประโยชน์จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินไม่เต็มที่

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2558
          1) เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับร้อยละ 3.2 ในปี 2557 โดยเป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากการปรับลดการประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนลงจากร้อยละ 3.0 และร้อยละ 7.0 เป็นร้อยละ 2.5 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ รวมทั้งการปรับลดอัตราการขยายตัวของหลายประเทศในกลุ่ม NIEs และ ASEAN ตามแนวโน้มการลดลงของการส่งออก ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 และร้อยละ 0.8 เท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน
          2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วง 33.5 - 34.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าจากเฉลี่ย 32.47 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557 และเป็นการปรับจากสมมติฐาน 32.7 - 33.7 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 33.15 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.15 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารแห่งประเทศไทย และการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ สรอ. ภายใต้สมมติฐานธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี 2558
          3) ราคาส่งออกและนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากปี 2557 ในช่วงร้อยละ (-2.0) - (-1.0) และร้อยละ (-8.0) - (-7.0) เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 และร้อยละ 1.8 ในปี 2557 และเป็นการปรับลดลงจากสมมติฐานเดิมที่คาดว่าจะลดลงในช่วงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) และร้อยละ (-4.5) - (-3.5) ตามลำดับ เนื่องจากดัชนีราคาส่งออกและนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 2 ลดลงมากกว่าการคาดการณ์เดิมและส่งผลให้ราคาส่งออกและนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ ในขณะที่การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลกในช่วงครึ่งปีหลัง
          4) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 30.0 ล้านคน เทียบกับ 24.8 ล้านคนในปี 2557 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานเดิม 29.0 ล้านคน ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสที่สองขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดไว้ โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 7.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 37.6 เร่งขึ้นมากเมื่อเทียบกับร้อยละ 23.1 ในไตรมาสแรกของปี ส่งผลให้ครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 14.86 ล้านคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.5 ขณะที่ในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 15.4 ล้านคน หรือขยายตัวร้อยละ 21.1
          5) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 50 - 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เท่ากับสมมติฐานการประมาณการในครั้งก่อน โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีเท่ากับ 56.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และปรับตัวลดลงต่อเนื่องในเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าราคาน้ำมันจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 50 - 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เนื่องจาก (1) กลุ่มประเทศโอเปคยังไม่มีแนวโน้มปรับลดกำลังการผลิต และกำลังการผลิตนอกกลุ่ม OPEC ยังอยู่ในเกณฑ์สูง (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นไปอย่างช้าๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวจาก ครึ่งปีแรก (3) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ  (4) การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านจะเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องไปในปี 2559
          6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ร้อยละ 93.2 ของวงเงินงบประมาณ แบ่งเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 70.0 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 (3) การเบิกจ่ายเหลื่อมปีร้อยละ 70.0 (4) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2559 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณร้อยละ 29.0 และ (5) การเบิกจ่ายโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ในช่วงครึ่งปีหลังประมาณร้อยละ 20.0 ของวงเงินกู้รวม

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2558:
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ (-0.7) - (-0.2) และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.8 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 17 สิงหาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.2 ต่ำกว่าช่วงการประมาณการร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยมีเหตุผลประกอบการปรับลดประมาณการ ดังนี้
          1) แม้ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ใกล้เคียงกับขอบล่างของการขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาก็ตาม แต่อัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้ายังอยู่ในช่วงร้อยละ 0.3 - 0.4 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลวัตรทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในครึ่งปีแรก ในขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขเศรษฐกิจโลกทั้งทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและความล่าช้าในการฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตร และปัจจัยภายในที่เกิดจากปัญหาภัยแล้ง เงื่อนไขดังกล่าวทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวถึงร้อยละ 3.5 ซึ่งเป็นค่ากลางของการประมาณการครั้งที่ผ่านมาลดลง
          2) การปรับลดสมมติฐานอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากเดิมร้อยละ 3.4 เป็นการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปีและต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2557 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะชะลอลงจากครึ่งปีแรก ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ท่ามกลางการอ่อนค่าของเงินเยนและยูโร เงื่อนไขดังกล่าวทำให้แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่ปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญและทำให้ปริมาณการส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 2.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          3) ปัญหาภัยแล้งซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการประมาณการครั้งที่ผ่านมามีความชัดเจนมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้ผลผลิตข้าวทั้งปีลดลงในช่วงประมาณ 6 - 10 ล้านตัน7 หรือลดลงประมาณร้อยละ 17.0 - 27.0 คิดเป็นมูลค่าในรูปตัวเงินประมาณร้อยละ 0.35 - 0.60 ของ GDP เมื่อรวมกับผลกระทบจากการลดลงของราคา และการปรับลดพื้นที่เพาะปลูก การผลิตภาคการเกษตรในปี 2558 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 3.0 - 4.0 และเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

          - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในปี 2557 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามฐานรายได้จากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งฐานรายได้ในภาคเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรซึ่งยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนและผลกระทบเพิ่มเติมจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและการขยายตัวของฐานรายได้ภาคบริการ โดยเฉพาะฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เท่ากับการประมาณการครั้งก่อนและเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2557
          2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2557 และเท่ากับประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2557 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการส่งออกลดลง ทำให้การใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 21.8 เร่งขึ้นอย่างชัดเจนจากการหดตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2557 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 15.8 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปียังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในปี 2557 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุจาก (1) การปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 เป็นการลดลงร้อยละ 2.0 เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการส่งออกในครึ่งปีแรกลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ (2) การปรับลดสมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออกจากการลดลงร้อยละ (-1.5) - (-0.5) เป็นการลดลงร้อยละ (-2.0) - (-1.0) อย่างไรก็ตาม การปรับสมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยวทำให้การส่งออกบริการขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบจากการปรับลดปริมาณการส่งออกสินค้าและทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 1.4 ต่ำกว่าร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งก่อน
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.5 ในปี 2557 และเป็นการปรับลดจากการหดตัวร้อยละ 0.8 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุมาจาก (1) การปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและการขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ทำให้ปริมาณการนำเข้าปรับตัวลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นร้อยละ 2.0 และ (2) การปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าจาก (-4.5) - (-3.5) เป็นร้อยละ (-8.0) - (7.0) ตามราคานำเข้าสินค้าสำคัญๆ ที่ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อรวมกับการปรับลดปริมาณการนำเข้าบริการ ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.4 ในปี 2557 และการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          5) ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด คาดว่าจะเกินดุลการค้าประมาณ 27.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 24.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2557และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 26.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่ปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2558 เกินดุล 18.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 4.8 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.3 ต่อ GDP ในปี 2557
          6) อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2558 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.7) - (-0.2) เทียบกับร้อยละ 1.9 ในปี 2557 และร้อยละ (-0.2) - 0.7 ในการประมาณการครั้งก่อน

5. การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2558
          การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีข้อจำกัดจากเงื่อนไขภายนอกทั้งในด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การลดลงของราคาสินค้าเกษตร และการอ่อนค่าของเงินสกุลสำคัญๆ รวมทั้งผลกระทบซ้ำเติมจากปัญหาภัยแล้ง แม้กระนั้นก็ตาม การเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รวมทั้งการสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูง ซึ่งสามารถสนับสนุนให้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกสามารถขยายตัวในระดับที่น่าพอใจ ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากครึ่งปีแรก ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อฐานรายได้ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และธุรกิจ SMEs ดังนั้น การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีควรให้ความสำคัญกับประเด็นสำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
          1) การใช้จ่ายเงินงบประมาณและขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
                    (1) การใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558  โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70
                    (2) การจัดเตรียมความพร้อมโครงการภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 และเบิกจ่ายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30.0 ของวงเงินงบประมาณรวม
                    (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 และโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ซึ่งดึงดูดการลงทุนต่อเนื่องจากภาคเอกชน
                    (4) การเบิกจ่ายภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง ซึ่งมีวงเงิน 76,400 ล้านบาท  ให้สามารถเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินกู้รวม
          2) การดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรมาตรการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือ SMEs  ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว ประกอบด้วย
                    (1) มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย วงเงิน 53,453.99 ล้านบาทซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้ว ประมาณ 47,164.21 ล้านบาท
                    (2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2557/2558 วงเงิน 1,579.41 ล้านบาทซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 519.85 ล้านบาท
                    (3) โครงการสร้างรายได้และพัฒนาเกษตรกรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาภัยแล้ง วงเงิน 3,051.00 ล้านบาทซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 2,986.07 ล้านบาท
                    (4) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินมากกว่า 236,000 ล้านบาทและมีการอนุมัติไปแล้วประมาณ 79,582 ล้านบาท
                    (5) มาตรการช่วยเหลือประชาชนรายย่อย โดยธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ กลุ่ม Nano-Finance ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อมากกว่า 55,500 ล้านบาทและมีการอนุมัติไปแล้วประมาณ 21,703 ล้านบาท
                    (6) มาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดย ธพว. และ บสย. วงเงิน 140,000 ล้านบาท อนุมัติไปแล้วประมาณ 16,458 ล้านบาท
                    (7) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว วงเงินประมาณ 6,529 ล้านบาท
                    (8) การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยโดยมีเงื่อนไขให้เกษตรกรที่ได้รับการชดเชยทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในรอบการผลิตต่อไป
          3) การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร โดย
                    (1) การดูแลต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีส่วนประกอบของปิโตรเคมีโดยเฉพาะราคาปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช และราคาเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ทำเข้าจากประเทศที่มีค่าเงินอ่อนค่าให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคานำเข้าและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญ ๆ
                    (2) การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้มีการประหยัดต่อขนาด ลดการทำงานต่ำระดับและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร รวมทั้งการจัดการให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยภาครัฐสนับสนุนแรงจูงใจในระดับที่เหมาะสม
                    (3) การส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิตแทนการคิดค่าเช่าที่ดินในลักษณะเหมาจ่าย เพื่อให้ต้นทุนค่าเช่าที่ดินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาผลผลิตและมีการร่วมรับความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
          4) การแก้ไขปัญหาด้านการส่งออก ประกอบด้วย
                    (1) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดและเพิ่มปริมาณสินค้าส่งออกที่สำคัญๆ และการดูแลค่าเงินบาทให้ปรับตัวสอดคล้องกับสกุลเงินในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับเงื่อนไขภายนอก
                    (2) การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญๆ ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตสามารถลดลงสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าส่งออกซึ่งจะช่วยรักษากำไรปกติและสภาพคล่องของผู้ประกอบการให้มีเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งมิได้เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรอุปกรณ์ด้วยตนเอง
                    (3) การลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐเพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมของผู้ส่งออก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะในแนวด่านชายแดนต่างๆ การเพิ่มขีดความสามารถของด่านศุลกากร และการเร่งรัดให้สามารถใช้ National Single Window ได้สมบูรณ์มากขึ้น
                    (4) การแก้ปัญหาการค้าแรงงานข้ามชาติและปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตในภาคประมง

                                 ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2558 1
                                                        ข้อมูลจริง                      ประมาณการ
                                                  ปี 2556        ปี 2557      18 พ.ค. 58      17 ส.ค. 58
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)                    12,910.0      13,148.6        13,635.1        13,470.7
  รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                       193,394.6     196,239.5       202,794.6       200,350.1
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               420.1         404.8           410.7           396.2
  รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)                6,293.0       6,041.1         6,108.3         5,892.6
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                        2.8           0.9         3.0-4.0       2.7 - 3.2
การลงทุนรวม (CVM, %)                                 -0.8          -2.6             6.2             6.2
  ภาคเอกชน (CVM, %)                                 -0.8          -2.0             3.8             1.8
  ภาครัฐ (CVM, %)                                    -1.0          -4.9            15.8            21.8
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                            0.8           0.6             2.3             1.8
การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                            4.7           1.7             3.8             3.8
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                 2.8           0.0             3.7             1.4
 มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               225.4         224.8           225.2           216.9
  อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                        -0.1          -0.3             0.2            -3.5
  อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                        0.2           0.7             1.2            -2.0
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                 1.4          -5.4             3.4             1.6
 มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               218.7         200.2           198.6           189.2
  อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                        -0.2          -8.5            -0.8            -5.5
  อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                        1.6          -6.8             3.2             2.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                           6.7          24.6            26.6            27.7
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                     -3.9          13.1            16.0            18.8
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                              -0.8           3.3             3.9             4.8
เงินเฟ้อ (%)
  ดัชนีราคาผู้บริโภค                                      2.2           1.9    (-0.3) - 0.7  (-0.7) - (-0.2)
  GDP Deflator                                       1.6           1.0    (-0.3) - 0.7  (-0.7) - (-0.2)

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 17 สิงหาคม 2558

หมายเหตุ:  1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
          2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ