สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2543 และคาดการณ์แนวโน้มในปี 2544 ดังมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยตลอดปี 2543
1.1 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวในไตรมาสที่ 3
(1) เศรษฐกิจไทยที่ได้ฟื้นตัวและขยายตัวได้ดีตลอดครึ่งหลังปี 2542 และต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรก 2543 ได้เริ่มชะลอตัวลงในไตรมาสที่สามปี 2543 เนื่องจากมีปัจจัยลบที่เป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างราบรื่น ได้แก่ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ภาวะน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราคาพืชผลตกต่ำต่อเนื่อง ความซบเซาของตลาดหลักทรัพย์ และความไม่แน่นอนทางการเมือง
(2) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการปรับตัวของอุปสงค์ในตลาดสหรัฐอเมริกาในระยะแรกเป็นการปรับตัวของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น เกาหลีไต้ และไต้หวัน ที่ชัดเจนกว่ามาก ในขณะที่ประเทศไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางถึงต่ำเป็นส่วนใหญ่ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่สาม จึงยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 สูงกว่าการขยายตัวในอัตราร้อยละ 11.2 ในไตรมาสที่สอง
(3) ข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญ ๆ ทั้งทางด้านการผลิตและการใช้จ่ายในไตรมาสที่สามแสดงว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่โดยภาพรวมอัตราการขยายตัวได้ชะลอลงกว่าอัตราการขยายตัวในครึ่งแรกของปี ยกเว้นภาคการค้าระหว่างประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ผลของราคาน้ำมันที่คงอยู่ในระดับสูงทำให้มีการปรับเพิ่มราคาสินค้าในหลายรายการและค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องได้กดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ดีราคาพืชผลที่ยังตกต่ำช่วยลดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่ง การดำเนินนโยบายการเงินจึงยังผ่อนคลาย และอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำในขณะที่ตลาดเงินยังมีสภาพคล่องสูง
1.2 แนวโน้มสถานการณ์ในไตรมาสที่สี่ เครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งทางด้านการผลิตและการใช้จ่ายเดือนตุลาคมแสดงว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว แต่เป็นแนวโน้มการขยายตัวที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่สาม การชะลอตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังไม่มีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้าย การส่งออกที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้มีความต้องการการลงทุนเอกชนเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนจะยังคงเปราะบาง
(1) ปัจจัยที่ส่งเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่สำคัญได้แก่
อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี
การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวโดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ และมีโครงการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่จะเริ่มโครงการในอนาคต
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง
(2) ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ที่สำคัญได้แก่
ราคาน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและกำลังซื้อของประชาชน และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน
ระบบสถาบันการเงินที่ยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับที่จะดำเนินการได้ตามปกติ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทต้องชะงักงันอันเนื่องความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในภาคใต้*
ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังรอดูความชัดเจนเกี่ยวกับรัฐบาลใหม่ทั้งในแง่พรรคการเมืองที่จะเป็นรัฐบาลและนโยบายที่จะดำเนิน
การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์และผลกระทบต่อความมั่งคั่ง (Wealth effect) อันเนื่องจากภาวะราคาตกต่ำในตลาดหลักทรัพย์ จะยังมีผลต่อปริมาณและรูปแบบการใช้จ่ายภาคเอกชนอยู่ต่อไป
ราคาพืชผลที่ยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเท่าใดนักทำให้รายได้เกษตรกรลดลงต่อเนื่อง
1.3 แนวโน้มเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2543 ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 4.7 ประกอบกับแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงชัดเจนในไตรมาสสุดท้าย คาดว่าตลอดปี 2543 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจจากร้อยละ 5.0 ที่คาดไว้เดิมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2543 เนื่องจาก
(1) มีการปรับฐานตัวเลขการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในครึ่งปีแรกจากร้อยละ 5.9 เป็นร้อยละ 5.7
(2) ราคาน้ำมันดิบโดยเฉลี่ยในครึ่งหลังสูงกว่าที่คาดไว้เดิม ทำให้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบ (โอมาน) เปลี่ยนจาก 27 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล เป็น 28 ดอลลาร์สรอ. ต่อบาเรลในการประมาณครั้งนี้
(3) ภาวะการชะงักงันของการดำเนินธุรกิจอันเนื่องจากความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมในภาคใต้
(4) การส่งออกขยายตัวได้สูงกว่าประมาณการเดิม ในขณะที่การนำเข้าก็เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าการส่งออก การขยายตัวจะมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากอุปสงค์ภายในและภายนอกประเทศ การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภครวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.8 โดยเป็นการขยายตัวของการบริโภคอุปโภคภาคเอกชนร้อยละ 4.1 และของภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 9.0 การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 10.0 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นมากของการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ ในขณะที่การลงทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าเนื่องจาก ยังมีตึก อาคาร สถานที่ทำงานและโรงงานต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งานอีกมาก การส่งออกสินค้าทั้งปีมีมูลค่า 68.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 การนำเข้าคาดว่ามีมูลค่า 63.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 จากปี 2542 เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการและบริจาค ดุลบัญชีเดินสะพัดจึงเกินดุล 8.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.7 ของ GDP
2. แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2544
2.1 คาดว่าในปี 2544 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 4 - 4.5 ชะลอลงกว่าในปี 2543 โดยจะเป็นการขยายตัวที่มีลักษณะของการพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้น ในขณะที่อุปสงค์จากภายนอกประเทศมีข้อจำกัดทางด้านภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แรงกดดันของราคาน้ำมันต่อต้นทุนการผลิตจะปรากฏชัดเจนขึ้น และอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 2.6
2.2 การลงทุนเอกชนยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 9.4 โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในปี 2543 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2542 จะยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0 เนื่องจากยังขาดปัจจัยสนับสนุนที่ชัดเจน รัฐบาลจะยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อไป การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ ณ ราคาคงที่จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.2 และ 2.1 ตามลำดับ
2.3 การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ช้าลงกว่าในปี 2543 เนื่องจากผลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะทำให้การแข่งขันในตลาดโลกรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่การใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรฐานด้านสุขภาพอนามัย มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมจะมีมากขึ้น คาดว่าตลอดทั้งปี 2544 มูลค่าการส่งออกจะเท่ากับ 74.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ร้อยละ 9.0 การนำเข้าจะมีมูลค่า 70.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการส่งออกมาอย่างต่อเนื่องทำให้ดุลการค้าเกินดุลลดลง โดยการเกินดุลการค้าจะเท่ากับ 3.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุลการค้าจำนวน 5.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2543 เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการและบริจาคประมาณ 2.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ.ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 4.2 ของ GDP ลดลงจากร้อยละ 6.7 ในปี 2543
2.1 เงื่อนไขที่อาจจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย
(1) ภาวะการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.2 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2543 ตามการปรับตัวของสหรัฐอเมริกาที่จะเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะยังเปราะบาง ในขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรปยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สำหรับเศรษฐกิจภูมิภาคมีแนวโน้มชะลอลงตามทิศทางการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก ส่วนเกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเข้าสู่วัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ชัดเจนกว่าในกรณีของประเทศไทย จีน และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดีการเพิ่มขึ้นของการค้าภายในภูมิภาค ตามแรงผลักดันของการค้าเสรีและการสนับสนุนการค้าภายในกลุ่มโดยทั่ว ๆ ไป จะช่วยเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงต่อความผันผวนนอกภูมิภาคได้ระดับหนึ่ง
(2) ราคาน้ำมันที่จะยังอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งแรกของปี 2544 ก่อนที่จะปรับลดลงบ้างในครึ่งปีหลังเมื่อการเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจนขึ้น
(3) ภาวะความซบเซาของตลาดหลักทรัพย์ ยังไม่มีแนวโน้มชัดเจนว่าตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวดีขึ้นได้มาก แต่คาดว่าสถาบันการเงินจะสามารถดำเนินการไปได้ตามปกติมากขึ้น
(4) ภาวะชะลอตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยทางการเมืองในช่วงของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ใช้ในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีผลทำให้นักลงทุนส่วนหนึ่งชะลอการตัดสินใจลงทุนเพื่อรอนโยบายรัฐบาลใหม่
2.2 ปัจจัยบวกที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2544
(1) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตเนื่องจากราคาน้ำมันที่คงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมากว่า 1 ปี จะปรากฏชัดเจนขึ้นหากมาตรการเสริมของรัฐบาลสิ้นสุดลง การฟื้นตัวเพียงช้า ๆ ของอุปสงค์ ในขณะที่การใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยยังอยู่ในระดับปานกลาง และอัตราการว่างงานสูง ทำให้แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อมีไม่มาก และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในเป้าหมายร้อยละ 0 - 3.5 ของธนาคารแห่งประเทศไทย
(2) อัตราดอกเบี้ยจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงินที่จะยังสูงอยู่ ประกอบกับแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อจะยังไม่น่าเป็นห่วง และมีแนวโน้มว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาอาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2544 เพื่อมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวเร็วเกินไป
(3) ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างหนี้ ได้ทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2543 การโอนหนี้จากธนาคารไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) รวมทั้งการกันเงินสำรองสำหรับหนี้ด้อยคุณภาพในส่วนที่เกินหลักเกณฑ์ที่ค้ำประกันที่ครบ 100% ในสิ้นปี 2543 เปิดโอกาสให้สถาบันการเงินสามารถขยายสินเชื่อได้ดีขึ้น
(4) ราคาพืชผลมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวของราคาพืชผลส่งออกในช่วงเวลาที่ราคาพืชผลและสินค้าเกษตรจะเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น เพราะสะต๊อกหรืออุปทานส่วนเกินได้เริ่มลดลงแล้วในปี 2543
2.3 ความเป็นไปได้ของการคาดการณ์เศรษฐกิจในกรณีสูง สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจปี 2544 ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ในทางสูงกว่าประมาณการ หากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตที่เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว และการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการส่งออกอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยส่งเสริมให้การส่งออกขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ในกรณีต่ำ โดยทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 11 ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในกรณีนี้จะมีผลต่อเนื่องให้การลงทุนภาคเอกชนและการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวสูงกว่ากรณีต่ำด้วยเช่นกัน
3. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2544
3.1 เร่งรัดการแก้ไขปัญหา NPL ในระยะต่อไป โดยเร่งการปรับปรุงความพร้อมและขีดความสามารถของกระบวนการศาลให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล และควรมีการติดตามข้อมูลและวิเคราะห์สาเหตุของ NPL เกิดใหม่และ NPL ย้อนกลับอย่างใกล้ชิดในปี 2544
3.2 เร่งรัดมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในเรื่องการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อกระตุ้นการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม การแก้ปัญหาอุปทานส่วนเกินในภาคอสังหาริมทรัพย์ให้มีผลในทางปฏิบัติ และสนับสนุนการดำเนินการของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อมด้วยกลไกของรัฐบาล เช่น สถาบันศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม เป็นต้น
3.3 สนับสนุนการส่งออกโดยการเร่งสร้างตลาดใหม่ การให้การสนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานสินค้าเพื่อรองรับกฎระเบียบทางการค้าใหม่ อาทิ มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมและของเสีย
3.4 กระตุ้นจิตสำนึกและรณรงค์ให้ลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยนำเข้า เนื่องจากเครื่องชี้ด้านการใช้จ่ายภาคเอกชนแสดงว่าในขณะที่ภาพโดยรวมของการฟื้นตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนยังไม่มั่นคง แต่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งรายจ่ายเพื่อการเดินทางต่างประเทศของคนไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีส่วนทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง
3.5 รณรงค์การประหยัดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเร็วขึ้น โดยเร่งการดำเนินการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีและการสำรวจแหล่งพลังงานทดแทนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ สำหรับมาตรการชั่วคราวของรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบควรที่จะต้องค่อย ๆ ยกเลิกไปและปล่อยให้กลไกตลาดทำงานและลดความบิดเบือนของราคาในที่สุด
3.6 รักษาวินัยการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ โดยดูแลการใช้งบประมาณและการจัดเก็บรายได้ของรัฐให้มีประสิทธิภาพ ทบทวนแผนงานและโครงการลงทุนให้มีการใช้จ่ายที่จำเป็น และบริหารหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบ เช่น ดูแลการออกพันธบัตรที่รัฐบาลค้ำประกันแก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีอายุและอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรที่เหมาะสม
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
-สส-