เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2548 สศช. ได้จัดสัมมนาเรื่อง “ประเทศไทยกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักร่วมกันในการเตรียมความพร้อมสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิด ทิศทาง ประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา และปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงาน เพื่อนำมาประกอบการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การเตรียมพร้อมของสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุต่อไป
นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ประชากรเป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาประเทศ การมีโครงสร้างประชากรที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญรุดหน้าไปได้อย่างดี ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรคือ ประชากรวัยเด็กเริ่มลดลง ประชากรวัยแรงงานยังอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ในปี 2552 สัดส่วนของประชากรในวัยกำลังแรงงานจะคงที่และจะเริ่มลดลง ขณะเดียวกันประชากรในวัยสูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเวลาอันใกล้ จึงเป็นประเด็นท้าทายว่า ประเทศไทยจะมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบอย่างไรในการรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มากที่สุด
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2548-2551) ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมอย่างมีคุณภาพ มีประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ โดยมีกลยุทธ์หลักที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ 1) สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวและชุมชน 2) ฟื้นฟูค่านิยมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุนำความรู้และประสบการณ์มาทำประโยชน์เพื่อสังคมและสร้างรายได้ 3) ส่งเสริมการออมและสร้างหลักประกันรายได้ ในช่วงวัยทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ 4) สร้างและขยายโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐกำลังระดมความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนงาน/โครงการที่จะมาตอบสนองใน 4 ประเด็นดังกล่าว
การเตรียมสังคมไทยไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น นอกจากจะต้องเตรียมทั้งคนและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละช่วงวัยแล้ว จะต้องพิจารณาบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคมอย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งมียุทธศาสตร์ทั้งในระยะเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาวด้วย
นางสุวรรณี คำมั่น ผู้อำนวยสำนักพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต สศช. ได้นำเสนอว่า กรอบแนวคิดหลัก ในการเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุจะพิจารณาครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย และมิติการพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบภายใต้ความตระหนักถึงความจำเป็นและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยมุ่งเน้นให้คนไทยและสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนมีศักยภาพ สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน
การกำหนด ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ตามช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก ต้องให้การศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมของพ่อแม่ในการดูแลบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และให้การศึกษาเมื่อถึงวัยอันควรอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และเตรียมพร้อมในการทำงาน วัยแรงงาน ต้องได้รับการพัฒนาทักษะ/ฝีมืออย่างเป็นระบบและต่อเนื่องให้ก้าวทันเทคโนโลยี ได้รับการคุ้มครองทางสังคมทั้งในเรื่องสุขภาพ ประกันสังคม และการสร้างงานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการออมในอัตราที่เหมาะสมเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อหรือสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุได้มากขึ้น วัยสูงอายุ ต้องได้รับการดูแลสวัสดิการ การคุ้มครองเรื่องรายได้และสุขภาพ เพิ่มรูปแบบและช่องทางให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำงาน การพัฒนาทักษะ และการเพิ่มรายได้ รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ
ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้ 1) ผลักดันให้รัฐบาลประกาศให้การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ 2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน 3) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักต่อสาธารณชน 4) สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-ฉอ-
นายกิติศักดิ์ สินธุวนิช รองเลขาธิการฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ประชากรเป็นปัจจัยหรือเงื่อนไขสำคัญในการพัฒนาประเทศ การมีโครงสร้างประชากรที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญรุดหน้าไปได้อย่างดี ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงก้าวที่สำคัญของการเปลี่ยนโครงสร้างประชากรคือ ประชากรวัยเด็กเริ่มลดลง ประชากรวัยแรงงานยังอยู่ในสัดส่วนที่สูง แต่ในปี 2552 สัดส่วนของประชากรในวัยกำลังแรงงานจะคงที่และจะเริ่มลดลง ขณะเดียวกันประชากรในวัยสูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเวลาอันใกล้ จึงเป็นประเด็นท้าทายว่า ประเทศไทยจะมีการเตรียมความพร้อมของคนและระบบอย่างไรในการรับมือกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้มากที่สุด
รัฐบาลชุดปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไว้ในแผนการบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ.2548-2551) ในยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและสังคมอย่างมีคุณภาพ มีประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในการเตรียมความพร้อมให้ผู้สูงอายุเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศ โดยมีกลยุทธ์หลักที่สำคัญ 4 ประเด็น คือ 1) สร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัวและชุมชน 2) ฟื้นฟูค่านิยมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุนำความรู้และประสบการณ์มาทำประโยชน์เพื่อสังคมและสร้างรายได้ 3) ส่งเสริมการออมและสร้างหลักประกันรายได้ ในช่วงวัยทำงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการทำงานของผู้สูงอายุ 4) สร้างและขยายโอกาสในการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมขั้นพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐกำลังระดมความคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนงาน/โครงการที่จะมาตอบสนองใน 4 ประเด็นดังกล่าว
การเตรียมสังคมไทยไปสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น นอกจากจะต้องเตรียมทั้งคนและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละช่วงวัยแล้ว จะต้องพิจารณาบทบาทการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในสังคมอย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งมียุทธศาสตร์ทั้งในระยะเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาวด้วย
นางสุวรรณี คำมั่น ผู้อำนวยสำนักพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต สศช. ได้นำเสนอว่า กรอบแนวคิดหลัก ในการเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุจะพิจารณาครอบคลุมประชากรทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย และมิติการพัฒนาทุกด้านอย่างเป็นระบบภายใต้ความตระหนักถึงความจำเป็นและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยมุ่งเน้นให้คนไทยและสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ ประชาชนมีศักยภาพ สามารถปรับตัวเข้ากับบริบทการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยั่งยืน
การกำหนด ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ ตามช่วงวัย ได้แก่ วัยเด็ก ต้องให้การศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมของพ่อแม่ในการดูแลบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภคอาหาร และให้การศึกษาเมื่อถึงวัยอันควรอย่างมีคุณภาพและคุณธรรม มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และเตรียมพร้อมในการทำงาน วัยแรงงาน ต้องได้รับการพัฒนาทักษะ/ฝีมืออย่างเป็นระบบและต่อเนื่องให้ก้าวทันเทคโนโลยี ได้รับการคุ้มครองทางสังคมทั้งในเรื่องสุขภาพ ประกันสังคม และการสร้างงานอย่างทั่วถึง ส่งเสริมการออมในอัตราที่เหมาะสมเพื่อใช้จ่ายในวัยสูงอายุ รวมทั้งปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อหรือสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงดูผู้สูงอายุได้มากขึ้น วัยสูงอายุ ต้องได้รับการดูแลสวัสดิการ การคุ้มครองเรื่องรายได้และสุขภาพ เพิ่มรูปแบบและช่องทางให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำงาน การพัฒนาทักษะ และการเพิ่มรายได้ รวมทั้งพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ
ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ดังนี้ 1) ผลักดันให้รัฐบาลประกาศให้การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ 2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน 3) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักต่อสาธารณชน 4) สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง
--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--
-ฉอ-