สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค แถลงข่าว วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 เวลา 09.30 น.
ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2558 - 2559
(%YoY) 2557 2558 ประมาณการ ทั้งปี Q2 Q3 2558 2559 GDP (CVM) 0.9 2.8 2.9 2.9 3.0-4.0 การลงทุนรวม -2.6 2.7 -1.2 4.6 9.5 ภาคเอกชน -2.0 -3.2 -6.6 -1.3 4.7 ภาครัฐ -4.9 24.7 15.9 22.6 11.2 การบริโภคภาคเอกชน 0.6 1.6 1.7 2.0 2.6 การบริโภคภาครัฐบาล 1.7 3.8 1.0 2.7 3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้า -0.3 -5.5 -4.7 -5.0 3.0 ปริมาณ 0.7 -3.8 -1.8 -3.0 2.0 มูลค่าการนำเข้าสินค้า -8.5 -10.1 -14.5 -9.8 5.4 ปริมาณ -6.8 -0.4 -3.1 -0.1 3.9 ดุลบัญชีเดินสะพัด 3.8 6.3 6.8 6.3 5.7 ต่อ GDP (%) เงินเฟ้อ 1.9 -1.1 -1.1 -0.8 1.0-2.0
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 เทียบกับร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2558 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2558 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 - ด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง การใช้จ่าย ภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง สาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจาก ภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ - เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 โดยการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.0 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ -0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.3 ของ GDP - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (2) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (3) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออก (4) แนวโน้มการอ่อนค่าของ เงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น (5) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าเกษตร (6) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ และ (7) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาค การท่องเที่ยว โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.7 ของ GDP - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2558 และปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปี 2558 - 2559 แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง และการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยประชาสัมพันธ์ให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้วการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อให้เกิดการลงทุนในสาขาอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย และการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม (3) การใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย (4) การดูแลฐานรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการที่อนุมัติ ไปแล้ว (5) การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร โดยการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การดูแลต้นทุนการผลิตทางการเกษตร การส่งเสริมการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย และการดูแลให้ค่าเช่าที่ดินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาผลผลิต และ (6) การดูแลภาคการส่งออกให้สามารถขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนที่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออก การดูแลค่าเงินบาท การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าสำคัญๆ การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้า การลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและการประมงที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามและแนวโน้มปี 2558 - 2559 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย การส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้ายังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง สาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากไตรมาสที่สองของปี 2558 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.9 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2558 1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 61.8 เทียบกับระดับ 64.9 ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 1.9 2) การลงทุนรวม ลดลงร้อยละ 1.2 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 15.9 เป็นผลจากการลงทุนภาครัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 21.3 สอดคล้องกับอัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนร้อยละ 18.4 สูงกว่าร้อยละ 17.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่สอง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 6.6 ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรร้อยละ 8.5 เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการนำเข้าสินค้าทุน รวมทั้งการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะโดยเฉพาะรถบรรทุกและรถยนต์โดยสาร การลงทุนในสิ่งก่อสร้างของภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.3 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 46.7 เทียบกับระดับ 48.2 ในไตรมาสก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 25.0 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.2 3) การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 54,224 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.7 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.8 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.9 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การลดลงของราคาสินค้าส่งออก และผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ยานยนต์ น้ำตาล และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ยังลดลงต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.7 ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,911 พันล้านบาท รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 4.9 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.2 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 4) สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายพานการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลง ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้แก่ ปิโตรเลียม ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เคมี และยาสูบ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง ยางและพลาสติก ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ หลอดอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเฟอร์นิเจอร์ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 58.5 รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง ร้อยละ 4.4 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.7 5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 10.9 แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 18.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 7.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 37.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นแอฟริกา อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกขยายตัวร้อยละ 33.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 61.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 359.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 58.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.3 6) สาขาการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 17.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 (การก่อสร้างรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 20.8 ส่วนการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 9.5) สอดคล้องกับการลงทุนภาครัฐที่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.3 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 15.9 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 27.6 และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.4 7) สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของผลผลิต พืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับมีภาวะฝนทิ้งช่วงในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไปในบางพื้นที่ โดยผลผลิตข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน และไม้ผลลดลง ส่วนผลผลิตมันสำปะหลัง ยางพารา และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางแผ่นดิบชั้น 3 ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม การลดลงของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 13.6 รวม 9 เดือนแรกของปี 2558 สาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.4 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.4 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.9 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 12.9 แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2558 - 2559 ในการแถลงข่าวครั้งวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัว ดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 และเป็นค่ากลางของช่วงการประมาณการร้อยละ 2.7 - 3.2 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 โดยการส่งออกและการผลิตภาคเกษตรทั้งปีมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดไว้ แต่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีที่คาดว่าจะสูงกว่า 30 ล้านคน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งปีจะลดลงร้อยละ 5.0 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว ร้อยละ 2.0 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.3 ของ GDP เศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเร่งขึ้นของ การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (3) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออก (4) แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น (5) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าเกษตรตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (6) ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะสนับสนุนอำนาจซื้อของประชาชนและ ภาคธุรกิจ และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และ (7) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจซึ่งต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 การบริโภคภาคครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.7 ของ GDP 1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2558 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้ - ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว ร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของ การใช้กระแสไฟฟ้าและปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 5.5 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 12.9 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ยังลดลงต่อเนื่องร้อยละ 24.6 และร้อยละ 16.4 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.8 เทียบกับระดับ 64.9 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงตามการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 8.5 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงร้อยละ 11.5 การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องในประเทศ และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงร้อยละ 3.3 ร้อยละ 11.9 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 85 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 67.6 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 58.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนร้อยละ 13.7 และร้อยละ 3.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 56.3 และร้อยละ 29.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 46.7 เทียบกับระดับ 48.2 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก การลดลงของราคาสินค้าส่งออก และผลกระทบจากการตัดสิทธิพิเศษทางการค้า แต่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเริ่มกลับมาขยายตัวตามการอ่อนค่าของเงินบาท การส่งออกสินค้าใน ไตรมาสที่สามของปี 2558 มีมูลค่า 54,224 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.7 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาสินค้าลดลงร้อยละ 2.9 และปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 1.8 ทั้งนี้ การลดลงของมูลค่าการส่งออก มีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น (2) ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งลดลงร้อยละ 14.0 (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 3.9) ราคาเคมีภัณฑ์ร้อยละ 10.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.8) ราคายางพาราร้อยละ 11.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.7) ราคาข้าวร้อยละ 3.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.8) และราคาน้ำตาล ร้อยละ 22.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.4) และ (3) การตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) ในสินค้าส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศยุโรปที่มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูป ออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.7 อย่างไรก็ดี เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,911 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.3 โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง และส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 7.3 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ 27.6 ตามปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 25.2 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก และราคาข้าวไทยที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะเวียดนาม นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากราคาส่งออกที่ลดลงร้อยละ 3.3 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 29.0 จากราคาส่งออกที่ลดลงร้อยละ 3.8 และปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 22.4 เนื่องจากการขาดแคลนมันสำปะหลังภายหลังการเร่งส่งออกในช่วงก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกยางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีน ในขณะที่ราคาส่งออกลดลง ร้อยละ 11.3 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.8 จากการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดจีน อินโดนีเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 22.9 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 6.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.6 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีลดลงต่อเนื่องร้อยละ 30.8 ร้อยละ 34.3 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ เนื่องจากราคาส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกยานยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 15.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะ การส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 88.0 ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ Eco car ไปตลาดยุโรป และการส่งออกรถยนต์รุ่นใหม่ไปตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน ในขณะที่การส่งออกแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ และวงจรพิมพ์ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 0.2 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 20.8 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ ปลา และปลาหมึก สินค้าส่งออกอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 215.3 เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 411.2 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ตลาดส่งออก: การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (5) ยังลดลงต่อเนื่อง การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และร้อยละ 8.4 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 และร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น และจีนลดลงร้อยละ 4.4 ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรป ขณะที่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ลดลงร้อยละ 10.6 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัวร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 2.0 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงตามการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาก ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 44,607 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 14.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.1 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 โดยมีสาเหตุสำคัญ มาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 11.7 ตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ และปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 3.1 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และหมวดอื่นๆ โดยเฉพาะทองคำ (ลดลงร้อยละ 28.6) เมื่อหัก การนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 13.8 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.0 ในรูปของเงินบาทการนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,571 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรายหมวด มูลค่าสินค้านำเข้าลดลงทุกหมวด โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 19.1 เนื่องจากราคานำเข้าและปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 17.0 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ สินค้า ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน อย่างไรก็ดี มูลค่าการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพิ่มขึ้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 11.5 ตามการลดลงของราคาและปริมาณการนำเข้าร้อยละ 3.6 และร้อยละ 8.2 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงเช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน และอากาศยาน เป็นต้น สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.4 เป็นผลจากราคานำเข้าที่ลดลงร้อยละ 2.0 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของการใช้จ่าย ภาคครัวเรือน สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้ในห้องน้ำและเครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสิ่งทอ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 14.6 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 1,576.0 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 28.6 อัตราการค้า (Term of Trade): ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.9 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 11.7 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 110.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 112.2 ในไตรมาสที่สามของปี 2558 เทียบกับ 102.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ดุลการค้า: เกินดุลต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 9 ดุลการค้าในไตรมาสที่สามของปี 2558 เกินดุล 9,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. (339,969 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 7,847 ล้านดอลลาร์ สรอ. (261,850 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 4,754 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน - ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 9.3 เนื่องจาก (1) ผลผลิตข้าวนาปีได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ แห้งแล้งในช่วงต้นฤดูฝน (พฤษภาคม 2558) ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหายและจำเป็นต้องเลื่อน การเพาะปลูกออกไปในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้การผลิตข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 55.9 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 37.5 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 (2) ผลผลิตปาล์มน้ำมันในภาคใต้ได้รับผลกระทบจากปัญหา ภัยแล้งที่เกิดขึ้นติดต่อกันในปี 2557 - 2558 ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 17.4 และ (3) ผลผลิตผลไม้ลดลง โดยเฉพาะลองกองและมังคุด จากสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตลดลงร้อยละ 18.5 อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เนื่องจากราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชดังกล่าวแทนการปลูกอ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่นเดียวกับผลผลิตยางพาราและปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 ร้อยละ 4.8 เนื่องจาก การลดลงของราคาสินค้าสำคัญๆ เช่น ราคาข้าวเปลือก ยางแผ่นดิบชั้น 3 ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 4.0 ร้อยละ 14.8 ร้อยละ 15.0 และร้อยละ 15.9 ตามลำดับ โดยมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้ (1) ราคาข้าวลดลง เนื่องจากการค้าข้าวในตลาดโลกมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น (2) ราคายางพาราลดลง เนื่องจากอุปสงค์ในตลาดโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ อุปทานในตลาดโลกที่ยังมีอยู่มาก และการลดลงของราคายางสังเคราะห์ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (3) ราคาปาล์มน้ำมันลดลงตามราคาในตลาดโลก เนื่องจากสต็อกน้ำมันปาล์มดิบโลกเพิ่มขึ้น และ(4) ราคากุ้งลดลง เนื่องจากผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นทั้งผลผลิตในประเทศและในแหล่งผลิตสำคัญๆ ของโลก (เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย เอกวาดอร์ และเวียดนาม) ทำให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น การลดลงของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 13.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 15.1 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 สาขาอุตสาหกรรม: เริ่มกลับมาขยายตัวโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตรถยนต์ ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกปรับตัวลดลงตามการลดลงของปริมาณการส่งออก ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.8 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสสองของปี 2558 สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30-60 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 8.1 หลังจากที่ลดลงร้อยละ 8.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับเปลี่ยนสายพาน การผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ของผู้ผลิตรายใหญ่เสร็จสิ้นลง เช่นเดียวกับการผลิตน้ำตาลที่ขยายตัว ร้อยละ 37.3 เนื่องจากมีการแปรรูปน้ำตาลทรายดิบเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของโควต้าน้ำตาลทราย ดัชนีอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 โดยเฉพาะการผลิตปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตรวม) ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ร้อยละ 17.3 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุลดลงร้อยละ 78.4 และการผลิตเครื่องจักรสำนักงานลดลงร้อยละ 24.9 อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ ปิโตรเลียม (ร้อยละ 15.7) ยานยนต์ (ร้อยละ 8.1) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 4.3) และยาสูบ (ร้อยละ 2.1) อุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ลดลง ได้แก่ สิ่งทอ (ร้อยละ 7.8) เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 8.4) เครื่องหนัง (ร้อยละ 9.1) ยางและพลาสติก (ร้อยละ 2.6) ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (ร้อยละ 24.9) หลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 14.2) อาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 0.3) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 1.4) และเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 3.1) อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ในระดับร้อยละ 58.5 เทียบกับร้อยละ 55.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และระดับ 60.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาขาก่อสร้าง: การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวสูงแต่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 17.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 17.5 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัว ร้อยละ 20.8 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ) ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.3 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของเครื่องชี้สำคัญๆ ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ซึ่งลดลงร้อยละ 9.3 ร้อยละ 8.3 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.7 ตามการลดลงของต้นทุนด้านพลังงานและราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาเหล็กซึ่งปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ในด้านอุปสงค์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยอดคงค้างสินเชื่อ ส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 และร้อยละ 11.2 ตามลำดับ ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ตามลำดับ ในด้านราคา ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินและอาคารชุดที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าแต่ยังขยายตัวในเกณฑ์สูง ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 18.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 37.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นแอฟริกา โดยนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก (สัดส่วนร้อยละ 70.1) ขยายตัวร้อยละ 33.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 61.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนกันยายน 2558 ขยายตัวเพียงร้อยละ 8.7 (ข้อมูลเดือนตุลาคม 2558 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลดลง ร้อยละ 1.2) จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และลาว ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 359.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 51.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการขยายตัวของ การท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดยอดขายสินค้าคงทน เช่น การขายส่งสินค้าสิ่งทอ เสื้อผ้า และรองเท้า และการขายส่งของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในหมวดยอดขายสินค้าไม่คงทน เช่น การขายส่งอาหาร และการขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ และหมวดอื่นๆ ในด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ ในขณะที่หมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป และหมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงยังปรับตัวลดลง การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงของการจ้างงานในภาคการเกษตร แต่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.2 ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 3.8 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งทำให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี และราคาสินค้าเกษตรที่ไม่จูงใจ อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ตามการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานในสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ สาขาการขนส่ง และสถานที่เก็บสินค้า สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรมและภัตตาคารซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.1 ร้อยละ 5.6 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 1.9 ตามลำดับ ขณะที่การจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 356,020 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.0 คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 - ภาวะการคลัง การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2558 (กรกฎาคม - กันยายน 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 577,454.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลยังต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 8.1 โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวดีขึ้น อย่างช้าๆ และการลดลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,207,475.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 แต่ยัง ต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 5.1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 711,366.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 มีการเบิกจ่ายรวม 524,766.2 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.2 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 20.4 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 448,331.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.6 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ ร้อยละ 20.8 ต่ำกว่าร้อยละ 21.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 76,434.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 18.4 สูงกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 13.0 และสูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 17.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 46,040.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.8 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 13.1 สูงกว่าร้อยละ 11.6 ในไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน) (3)เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,289.4 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 3,678.3 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 611.0 ล้านบาท (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ1 คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 119,363.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ (5) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 16,907.1 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 3,610.9 ล้านบาท และมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 13,296.1 ล้านบาท ในส่วนของมาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 1 ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายได้ชาวนา และมาตรการเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง ได้สิ้นสุดการดำเนินโครงการไปแล้วในไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 2,378,264.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 92.5 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 97.0 แต่ สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 89.0 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 271,559.3 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.4 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 65.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 87.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 65.8 ของปีงบประมาณก่อน) โดยหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสูงที่สุด ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีการเบิกจ่ายคิดเป็นร้อยละ 34.4 ร้อยละ 14.6 ร้อยละ 14.1 และร้อยละ 9.9 ของการเบิกจ่ายงบลงทุนในปีงบประมาณ 2558 ตามลำดับ ในส่วนของงบประมาณเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 223,306.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.5 ของ งบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด (ต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 70.8 ในปีงบประมาณ 2557) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 18,352.0 ล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 450,657.7 2ล้านบาท และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล (เงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง โครงการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไร่ละ 1,000 บาท การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท และแผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 73,135.8 ล้านบาท ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 5,507.9 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 86.0 และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 99,207.7 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 68,638.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 162,337.8 ล้านบาท สูงกว่าการเกินดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 55.4 รวมทั้งปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 69,570.3 ล้านบาท และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ที่มีจำนวน 495,746.3 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 426,176.8 ล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2557 ร้อยละ 14.0 หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,783,323.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.1 ของ GDP (ลดลงจากไตรมาสก่อน 98,832.4 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,423,040.1 ล้านบาท (ร้อยละ 40.4 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 360,283.1 ล้านบาท (ร้อยละ 2.7 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,157,394.8 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,065,199.9 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 542,296.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 71.9 ร้อยละ 18.4 และร้อยละ 9.4 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ - ภาวะการเงิน ในไตรมาสที่สามของปี 2558 อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 และ 16 กันยายน 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศผู้นำเศรษฐกิจหลัก อย่างไรก็ตาม แคนาดา นอร์เวย์ สวีเดน นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย และรัสเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งไต้หวันซึ่งได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกนับจากปี 2552 ร้อยละ 0.125 ล่าสุดในเดือนตุลาคม 2558 ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB)3 ประกาศคงการดำเนินนโยบายการเงินในทิศทางเดียวกันกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกร้อยละ 0.25 โดยเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ห้าของปี 2558 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัว ในขณะที่สิงคโปร์ดำเนินมาตรการเพื่อลดการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 และ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.46 ร้อยละ 1.53 และร้อยละ 2.30 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.52 ร้อยละ 6.93 และร้อยละ 8.62 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 1.73 และร้อยละ 6.78 ต่อปี ตามลำดับ ล่าสุดในเดือนตุลาคม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลงอีกเล็กน้อย อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงทรงตัวเท่ากับไตรมาส ก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.53 ต่อปี ตามการปรับตัวลดลงของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 7.59 ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย MLR และอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 5.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2558 สอดคล้องกับการทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ ซึ่งทำให้ความต้องการระดมเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบ ขยายตัวร้อยละ 5.7 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว ร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของสินเชื่อธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า มาเป็นร้อยละ 3.1 ในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อสาขาเกษตรกรรม อสังหาริมทรัพย์ และ การก่อสร้างเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า มาเป็น ร้อยละ 6.9 ในไตรมาสนี้ ตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey)4 ไตรมาสที่สามของปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ภาคครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อลดลง ประกอบกับสถาบันการเงินปรับเพิ่มมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน และยังคงเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการสินเชื่อของ SMEs ทรงตัว สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องส่วนเกิน5 ในระบบลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวม ตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สามของปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 98.9 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 98.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ปริมาณเงินฝากและ การลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ลดลง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ที่ปรับตัวลดลงจาก 1,657.7 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1,556.9 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของต่างประเทศและความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ค่าเงินบาทเมื่อ เทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยในไตรมาสที่สามของปี 2558 เท่ากับ 35.26 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจาก ไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 5.92 โดยเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส ซึ่งเป็น ผลมาจาก (1) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในเดือนกันยายน (2) ธนาคารกลางจีนปรับค่ากลางเงินหยวนต่อดอลลาร์ สรอ. ให้ อ่อนค่าลง และ (3) การขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรของนักลงทุนต่างชาติเนื่องจากความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ FED คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันที่ 16 - 17 กันยายน เงินบาทและเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกันยายน ในเดือนตุลาคม 2558 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และจีนออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด ทำให้นักลงทุนมองว่า FED มีแนวโน้มที่จะเลื่อน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ก่อนที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยภายหลังการประชุมของ FED เมื่อวันที่ 27 - 28 ตุลาคม ซึ่งนักลงทุนคาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ในเดือนธันวาคมมีความเป็นไปได้มากขึ้น โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 35.73 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และในช่วงวันที่ 2 - 13 พฤศจิกายน ค่าเงินบาท ยังเคลื่อนไหวผันโดยมีค่าผวนเฉลี่ยอยู่ที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง อยู่ที่ 105.3 อ่อนค่าลงร้อยละ 3.5 และร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สอดคล้องกับ การเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 3.7 และร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ เทียบกับการไหลเข้าสุทธิในไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2558 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 7.35 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลเข้าสุทธิ 0.73 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจาก (1) การขายหลักทรัพย์สุทธิทั้งในตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ (2) การออกไปลงทุนในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทย (3) การออกไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนไทย และ (4) การให้สินเชื่อทางการค้าของผู้ส่งออกไทยแก่คู่ค้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 1.08 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้าเป็น 2.30 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสนี้ ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลงตามการลดน้ำหนัก การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ โดยตลอดทั้งไตรมาส SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงจากปัจจัยเชิงลบทั้งภายในและนอกประเทศ ได้แก่ ปัญหาภัยแล้ง ข้อมูลการส่งออกของไทยที่ยังปรับตัวลดลงมากกว่าการคาดการณ์ของ นักลงทุน รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความผันผวนรุนแรงของตลาดหุ้นจีนในช่วงกลางไตรมาส นอกจากนี้ การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ FED ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างชาติออกจากภูมิภาค ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อการปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย และผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลงจากแนวโน้ม การอ่อนค่าลงของเงินบาท และทำให้ SET Index ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2558 ปิดที่ 1,349.0 จุด ลดลง ร้อยละ 10.3 จากไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 38.3 พันล้านบาทต่อวัน เทียบกับ 37.8 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 91.9 พันล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศและนักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิ 73.5 พันล้านบาท และ 24.6 พันล้านบาท ตามลำดับ ในเดือนตุลาคม 2558 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,394.9 จุด หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแรงซื้อของบริษัทหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติที่กลับมาซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย ภายหลังรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในขณะที่ข้อมูล GDP ในไตรมาสที่สามทำให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนผ่อนคลายลง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 2 - 13 พฤศจิกายน SET Index เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลงตามความกังวลในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED รวมถึงการคาดการณ์ใน การทำกำไรที่ลดลงของหุ้นในกลุ่มสื่อสาร อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากความผันผวนในทิศทางอ่อนค่าของเงินบาท และปัจจัยเชิงลบระยะสั้น ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงตามอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2558 ในช่วงอายุระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความผันผวนในทิศทางอ่อนค่าของเงินบาทและปัจจัยเชิงลบในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุระยะกลางและระยะยาวที่สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ นักลงทุน ปรับตัวลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งปรับตัวลดลง เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของจีน ซึ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 29.9 พันล้านบาทเทียบกับยอดขายสุทธิ 26.4 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 74.6 พันล้านบาท ลดลงจาก 90.7 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสที่สองของปี 2558 ในเดือนตุลาคม 2558 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรระยะ ปานกลางขึ้นไป เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป รวมทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินในประเทศจีนผ่อนคลายลง ส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าภูมิภาครวมถึงตลาดทุนไทย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยสูงถึง 52.1 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 88.1 พันล้านบาท ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล: ในไตรมาสที่สามของปี 2558 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6,367 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 224,010 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 6,157 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 205,002 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการขาดดุล 478 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สามของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 9,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3,250 ล้านดอลลาร์ สรอ. เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 155.53 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 13.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 2.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ปี 2558) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.5 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สาม ปี 2558) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป: ในไตรมาสที่สามของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -1.1 เท่ากับไตรมาส ก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาพลังงาน โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เนื่องจากราคาผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง ร้อยละ 6.3 เนื่องจากราคาพลังงานลดลง ซึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับราคาลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (2) การปรับลดราคาก๊าซหุงต้มในเดือนกันยายน และ (3) การปรับลด ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2558 ที่ลดลง 9.35 สตางค์ต่อหน่วย และเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2558 ลดลงอีก 3.23 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 16.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 เทียบกับร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามของปี 2558 ลดลงร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.9 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.8 จากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สามของปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ในไตรมาสที่สามของปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 49.37 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 50.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 100.63 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกตลาด และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สามของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่สองของปี 2558 ร้อยละ 19.0 การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) อุปทานน้ำมันดิบของโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) และกลุ่ม OPEC มาอยู่ที่เฉลี่ย 26.55 และ 37.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ (สูงกว่าปริมาณ การผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อนของกลุ่ม OECD และ OPEC ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 25.79 และ 36.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 93.73 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และ (2) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีนทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ 3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สามและทั้งปี 2558 ในไตรมาสที่สามของปี 2558 การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ส่วนใหญ่ชะลอตัวลงจาก ไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ยังเป็นไปอย่างล่าช้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ชะลอตัวควบคู่ไปกับการหดตัวของการส่งออก อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ยังอยู่ในระดับต่ำและยังปรับตัวลดลงในหลายประเทศ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อเนื่องและผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในครึ่งแรกของปีและมีความต่อเนื่องมายังไตรมาสที่สาม คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกทั้งปีขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ชะลอลงจาก การขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2557 และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สามของปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส และชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สอง โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการสะสมสินค้าคงคลัง การชะลอตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดแรงงานซึ่งทำให้อัตรา การว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง และการปรับตัวดีขึ้นของงบดุลภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.3 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัว และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในช่วงร้อยละ 0.0 - 0.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 27 - 28 ตุลาคม 2558 ต่อไป คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.5 เทียบกับร้อยละ 2.4 ในปี 2557 - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2558 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.6 เทียบกับร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ สองของปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาคการผลิต สอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อและการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของดัชนี PMI ตลอดทั้งไตรมาส ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.9 แต่ปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ โดยเฉพาะ ในกลุ่มประเทศที่เคยประสบปัญหาวิกฤติการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อลดลงจากร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 0.1 แสดงถึงความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยทุกประเภท และคงมาตรการ QE เดือนละ 60 พันล้านยูโรต่อไปจนถึงเดือนกันยายน 2560 ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนจะขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในปี 2557 - เศรษฐกิจญี่ปุ่น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังอ่อนแอ โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวของภาคการส่งออก และการชะลอตัวของการ ใช้จ่ายภาคครัวเรือนตามการปรับตัวลดลงของความเชื่อมั่น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงติดต่อกัน 5 ไตรมาส เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดำเนินการตามมาตรการขยายปริมาณเงินปีละ 80 ล้านล้านเยนอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับร้อยละ -0.1 ในปี 2557 - เศรษฐกิจจีน ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี ในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.0 ในไตรมาสที่สองตามการชะลอตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และการชะลอตัวของ ภาคการผลิต รวมทั้งการส่งออกหดตัวเร่งขึ้น ในขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมทางการเงินมีความผันผวนตามความวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของดัชนีราคาหลักทรัพย์ในช่วงเดือนสิงหาคม 2558 รวมทั้งการปรับลดค่ากลางเงินหยวนในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 การชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ควบคู่กับการลดสัดส่วนเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลง คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.9 เทียบกับร้อยละ 7.3 ในปี 2557 - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Newly Industrial Economies: NIEs) ชะลอตัวลงเกือบทุกประเทศตามการหดตัวของการส่งออกและการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 1.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 รวมทั้งการชะลอตัวของภาคก่อสร้างและภาคบริการ เศรษฐกิจไต้หวัน หดตัวร้อยละ 1.0 ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 ปี เนื่องจากการส่งออกสุทธิลดลง และอุปสงค์ภายในประเทศชะลอตัว เศรษฐกิจฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอตัวจากร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการหดตัวของการส่งออก และความอ่อนแอของอุปสงค์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 2.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการฟื้นตัวของการส่งออก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ยังอยู่ในระดับต่ำทุกประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์และไต้หวันซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และเกาหลีใต้ จะขยายตัวร้อยละ 2.0 ร้อยละ 1.2 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.4 เทียบกับร้อยละ 3.0 ร้อยละ 3.8 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 3.3 ในปี 2557 ตามลำดับ - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก และการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเศรษฐกิจมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.7 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่สอง ตามการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชน เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 4.7 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อน เนื่องจากการใช้จ่ายรัฐบาลและการลงทุนรวมขยายตัวเร่งขึ้น และช่วยชดเชยผลกระทบจากการหดตัวของการส่งออก เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของ การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินส่งกลับของแรงงานในต่างประเทศและการลดลงของราคาน้ำมัน รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเวียดนาม ขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่สองเป็นร้อยละ 6.8 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้งภาคบริการที่ขยายตัวในเกณฑ์ดี คาดว่าทั้งปีเศรษฐกิจมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ร้อยละ 4.7 ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6.4 เทียบกับร้อยละ 6.0 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 6.0 ในปี 2557 ตามลำดับ 4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2559 เศรษฐกิจโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 3.0 ในปี 2558 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (2) การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งรีบของประเทศต่างๆ ตลอดปี 2558 ทั้งในด้านการขยายปริมาณเงินในกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเร่งรีบและติดต่อกันในจีน อินเดีย และประเทศสำคัญอื่นๆ (3) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ทั้งในสหรัฐฯ แคนาดา กลุ่มประเทศยูโรโซน และประเทศสำคัญอื่นๆ การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นและส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังอยู่ในช่วงของ การชะลอตัวและเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็ตาม ในกรณีฐาน คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยอุปสงค์ภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการจ้างงาน ในขณะที่อัตราว่างงาน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2558 ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 5.0 ต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์และภาระหนี้สินต่อรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ (2) แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนภาคการก่อสร้างโดยเฉพาะการลงทุนในที่อยู่อาศัยซึ่งยังมีอุปสงค์คงค้าง (Pent-up demand) อยู่ในเกณฑ์สูง และ (3) รายจ่ายทาง การคลังที่จะเริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายหลังจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในกรีซคลี่คลายลง (2) การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น (3) การลดลงอย่างช้าๆ ของอัตราการว่างงาน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่เคยประสบปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจรุนแรง (4) ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้การตัดลดรายจ่ายทางการคลังภายใต้แผนการรัดเข็มขัดทางการลงลดลงตามลำดับ ในขณะที่รายจ่ายทางการคลังในเยอรมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากร้อยละ 0.6 ในปี 2558 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน ค่าตอบแทนแรงงาน ราคาหลักทรัพย์และผลตอบแทนทางธุรกิจ (2) การอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งทำให้ ภาคเศรษฐกิจต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และ (3) การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 6.7 ในปี 2559 ตามการชะลอตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเร่งรีบ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง เช่น การเร่งอนุมัติการลงทุนและสนับสนุนเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานให้แก่รัฐบาลท้องถิ่น และแนวโน้ม การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจจีนไม่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศสำคัญๆ ในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะทำให้อุปสงค์ ในตลาดโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ เมื่อรวมกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่นๆ เช่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.4 และร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.0 และร้อยละ 2.3 ในปี 2558 ตามลำดับ รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งคาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกงและไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ร้อยละ 2.5 ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 2.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 1.2 ในปี 2558 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียนซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6.4 ในปี 2558 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจมาเลเซียมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.6 ชะลอลงจากร้อยละ 4.9 แม้กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างของวัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะทำให้ทิศทางนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสหรัฐฯ และประเทศสำคัญๆ อื่นๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศของสหรัฐฯ คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคมและทยอยปรับขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงปี 2559 ในขณะที่ความเสี่ยงและแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะทำให้ธนาคารกลางยุโรปดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นซึ่งอัตราเงินเฟ้อยังไม่มีแนวโน้ม ที่จะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินได้ในระยะอันใกล้คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องและมีความเป็นไปได้ที่จะขยายปริมาณเงินเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งจีนที่คาดว่าจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าภายใต้นโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงิน การลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และความจำเป็นในการดูแลสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญอื่นๆ 5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2558 เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ -0.8 เทียบกับร้อยละ 1.9 ในปี 2557 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.3 เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 3.8 ของ GDP ในปี 2557 ในการแถลงข่าววันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นค่ากลางของช่วงประมาณการร้อยละ 2.7 - 3.2 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ -0.8 ต่ำกว่า ช่วงประมาณการร้อยละ (-0.7) - (-0.2) โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญๆ ดังนี้ 1) การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออกสินค้าในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลงมากกว่าที่คาดการณ์และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีมีความโน้มเอียงไปทางขอบล่างของการประมาณการ โดยล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับลดลงจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จากร้อยละ 3.3 เป็นร้อยละ 3.1 ในเดือนตุลาคม 2558 การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและข้อเท็จจริงในไตรมาส ที่สาม ซึ่งปริมาณการส่งออกยังลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ปริมาณการส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มลดลงประมาณร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.0 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เมื่อรวมกับการปรับลดสมมุติฐานการขยายตัวของราคาส่งออกจากร้อยละ (-2.0) - (-1.0) เป็นร้อยละ (-2) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2558 ลดลงประมาณร้อยละ 5.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา 2) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง มีแนวโน้มที่จะทำให้ GDP ภาคเกษตรในปี 2558 ลดลงมากกว่าที่คาดไว้โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี การผลิตภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 5.4 และทั้งปีคาดว่าจะหดตัวประมาณร้อยละ 5.5 ซึ่งเป็นการลดลงมากกว่าร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา 3) อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีมีแนวโน้มสูงกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่ภาครัฐประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปรับลดประมาณการการส่งออกและการหดตัวของการผลิตภาคเกษตร ทั้งนี้ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2558 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ 6 มาตรการ ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งปีคาดว่าจะมีจำนวน 30.3 ล้านคนสูงกว่า 30.0 ล้านคนในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา 4) ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 2558 มีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ 52.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลต่ำกว่าค่ากลางของสมมติฐาน 50 - 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการลดลงของราคาสินค้าอื่นๆ ในตลาดโลกทำให้ราคานำเข้าในปี 2558 ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ (-8.0) - (-7.0) ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อนและส่งผลให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีเกินดุลมากกว่าที่ประมาณการไว้ รวมทั้งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในปี 2558 ต่ำกว่าขอบล่างของช่วง การประมาณการครั้งที่ผ่านมา 6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐซึ่งจะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบการขาดดุลงบประมาณและความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ ในขณะที่เงื่อนไขเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกมากขึ้น ทั้งในด้านการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มการ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งคาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์เริ่มกลับมาขยายตัว และการอ่อนค่าของเงินบาทที่จะทำให้รายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและการท่องเที่ยวที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่อยู่ในเกณฑ์ดี โดยเงินเฟ้อเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก การอ่อนค่าของเงินบาท และอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา - ปัจจัยสนับสนุน 1) การเร่งขึ้นของเม็ดเงินจากภาครัฐ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกรอบการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ในวงเงิน 390,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกรอบการขาดดุล 250,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 และแนวโน้มความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย (1) โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปี 2558 จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 249,514 ล้านบาท (2) โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มประกวดราคาได้ในปี 2559 อีก 12 โครงการ วงเงินรวม 1.5 ล้านล้านบาท (3) โครงการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนภายใต้แผนงานโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง ซึ่งคาดว่าจะทำให้อัตราเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปรับตัวดีขึ้น 2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ระยะที่ 3) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆ เพิ่มเติมจำนวน 6 มาตรการ ประกอบด้วย (1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ (2) มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะเร่งด่วน (3) มาตรการการเงินการคลังเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ (4) มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (5) มาตรการเร่งรัดการลงทุนของ BOI และ (6) มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนยาง แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากวงเงินสินเชื่อและวงเงินงบประมาณส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงปี 2558 ก็ตาม แต่แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาษีจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2559 3) การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกในปี 2559 เริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปีร้อยละ 3.0 ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว เมื่อรวมกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้ราคาส่งออกของไทยเริ่มกลับมาขยายตัวและส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2559 เริ่มกลับมาขยายตัวและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 5.0 ในปี 2558 4) การอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ฐานรายได้จากการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงหลังเดือนเมษายนได้ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 3.7 ช้ากว่าการลดลงของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ และในไตรมาสที่สาม การอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.6 และสนับสนุนรายได้และสภาพคล่องในรูปเงินบาทได้มากขึ้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์จะยังหดตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.7 ก็ตาม ในปี 2559 เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวโน้มการอ่อนค่าลงของสกุลเงินสำคัญๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นและสนับสนุนรายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง 5) การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาสินค้าเกษตร ในปี 2558 ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก ในขณะที่สต๊อคของสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและอุปทานในแหล่งผลิตที่สำคัญๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมันซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าในกลุ่มพืชพลังงานปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่สาม และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 ราคาสินค้าในกลุ่มพืชพลังงานเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรในปี 2558 เริ่มปรับตัวเข้าสู่เสถียรภาพได้มากขึ้น แม้ว่าฐานรายได้ครัวเรือนในภาคการเกษตรจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องก็ตาม 6) ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และทรงตัวอยู่ในระดับต่ำซึ่งช่วยสนับสนุนกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชนและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง 7) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ในปี 2559 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งสิ้นประมาณ 32.5 ล้านคน สร้างรายรับจากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 7.5 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและชดเชยรายได้จากภาคการส่งออก ในปี 2559 ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ต้นทุน การเดินทางที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก (2) แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะทำให้ต้นทุนการท่องเที่ยวในประเทศไทยปรับตัวลดลง (3) นักท่องเที่ยวจากระยะไกลมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักและประเทศสำคัญๆ - ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ แม้ว่าในกรณีฐานเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญๆ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อยก็ตาม แต่เศรษฐกิจจีนยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงเร็วกว่าการคาดการณ์ในขณะที่ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอโดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สินต่างประเทศสูง พึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐมและค่าเงินอ่อนค่าอย่างรวดเร็วยังมีความเสี่ยง ต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เงื่อนไขดังกล่าวอาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ 2) การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามนโยบายการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการเงิน การลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และความจำเป็นในการดูแลสภาพคล่องในประเทศซึ่งจะทำให้การแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินมีข้อจำกัดมากขึ้น เงินยูโรและเงินเยน ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศขยายปริมาณเงินเพิ่มเติม รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคที่ดำเนินนโยบายการเงินผ่านการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน การอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ ดังกล่าวยังเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของปริมาณการส่งออกแม้ว่าเงินบาท จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงก็ตาม รวมทั้งยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของราคาสินค้าในตลาดโลก 3) ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในเขื่อนนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ซึ่งข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ยังมีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 4,247 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับ 4,745 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรจะต้องงดการเพาะปลูกข้าวนาปรังในปีการเพาะปลูก 2559 เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การผลิต ภาคเกษตรและฐานรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปี 2559 และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2559 1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.0 และร้อยละ 3.3 ในปี 2558 โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของสหรัฐฯ การปรับตัวดีขึ้นของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมทั้งราคาสินค้าขั้นปฐมที่มีเสถียรภาพ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจรุนแรงในปี 2558 เริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่อยู่ในช่วงของการชะลอตัว 2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 36.0 - 37.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างช้าๆ ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวน 3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ร้อยละ 0.5 - 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.0 ในปี 2558 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งราคาน้ำมัน ที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในปี 2559 ในขณะที่ ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 - 2.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำในปี 2558 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาน้ำมันเทียบกับการลดลงร้อยละ 9.7 ในปี 2558 4) นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 จำนวน 32.5 ล้านคน เทียบกับประมาณ 30.3 ล้านคนในปี 2558 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย และการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจากอเมริกาเหนือ ยุโรป และทวีปออสเตรเลีย โดยคาดว่ารายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2559 จะอยู่ที่ประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 จาก 1.50 ล้านล้านบาทในปี 2558 5) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 50.0 - 60.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับเฉลี่ย 52.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2558 โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ประกอบด้วย (1) การลดลงของราคาน้ำมันในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2558 ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง (2) แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2559 ทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น10 ซึ่งส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น (3) แนวโน้มการลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และแนวโน้มการลดลงของอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลกในระยะยาว อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้แก่ (1) อุปทานน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณ การผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านที่คาดว่าจะเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นภายในครึ่งแรกของปี 2559 (2) เศรษฐกิจจีนที่ยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว และ (3) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. 6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ร้อยละ 93.0 ของวงเงินงบประมาณ แบ่งเป็น อัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำร้อยละ 98.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 73.0 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.5 (3) การเบิกจ่ายงบกันไว้เบิกเหลื่อมปีร้อยละ 73.0 (4) การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2560 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. - ธ.ค. 58) ร้อยละ 28.8 และ (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณ ประกอบด้วย เงินกู้ตามโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการ DPL เงินกู้โครงการน้ำและถนนระยะเร่งด่วน อีกประมาณ 63,000 ล้านบาท - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559: เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 และร้อยละ 2.9 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 และ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.7 ของ GDP - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1) การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวประมาณร้อยละ 2.0 ในปี 2558 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของภาคครัวเรือนซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ฐานรายได้ภาคเกษตรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำแม้จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากปี 2558 ก็ตาม ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในปี 2558 2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.5 เทียบกับการขยายตัวประมาณร้อยละ 4.6 ในปี 2558 โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในปีก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม ทั้งในด้าน อุปสงค์ในประเทศและการส่งออก (2) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ ของภาครัฐ (3) มาตรการเร่งรัดการลงทุนทั้งในส่วนของมาตรการสำหรับนักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI รวมทั้งมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) (4) การปรับกฎเกณฑ์เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการลงทุนมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.2 ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปี 2559 ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 จากงบประมาณรายจ่ายลงทุนในปี 2558 รวมทั้งการเร่งดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่คาดว่าจะทำให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปรับตัวดีขึ้น 3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการ หดตัวประมาณร้อยละ 5.0 ในปี 2558 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวประมาณร้อยละ 3.0 ในปี 2558 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลก ในขณะที่ราคาส่งออกคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อรวมกับการส่งออกบริการซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในปี 2558 4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 9.8 ในปี 2558 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2558 ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของการส่งออก การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการสินค้านำเข้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการ คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับการหดตัวประมาณร้อยละ 0.1 ในปี 2558 5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 29.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการเกินดุล 33.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะขาดดุลใกล้เคียงกับปีก่อน ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2559 เกินดุล 22.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 5.7 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลประมาณร้อยละ 6.3 ต่อ GDP ในปี 2558 6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 จากร้อยละ (-0.8) ในปี 2558 ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้า ขั้นปฐมในตลาดโลก และแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท 7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาสินค้าในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งจะทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกยังมีขนาดจำกัด ในขณะที่การผลิตและฐานรายได้ของประชาชนในภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ท่ามกลางการปรับตัวดีขึ้นของราคาอย่างช้าๆ และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ภายใต้แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวม และข้อจำกัดสำคัญๆ ดังกล่าว การบริหารเศรษฐกิจ มหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2558 และในปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะสั้น ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนมาตรการที่สำคัญสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญๆ ดังนี้ 1) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะสั้น สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนภาคเอกชน และเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับ (1) การดำเนินการตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะสามารถประกวดราคาได้ภายในปี 2558 จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 249,514 ล้านบาทและโครงการที่เริ่มประกวดราคาได้ในปี 2559 จำนวน 12 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท (2) การดำเนินการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วนภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง และ (3) การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และสามารถเบิกจ่าย เม็ดเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 2) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเร่งรัดโครงการลงทุนเพื่อใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมภายใต้กรอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศของกระทรวงการคลัง (มติ ครม. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558) และมาตรการเร่งรัดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (มติ ครม. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558) รวมทั้งสิทธิประโยชน์ภายใต้กรอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (ประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 4/2557 ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557) สิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ (มติ ครม. วันที่ 22 กันยายน 2558) สิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการภาษีส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และมาตรการภาษีส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) (มติ ครม. วันที่ 10 มีนาคม 2558) (2) การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการชักจูง นักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ ในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และ (3) การแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนการลงทุนของวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม 3) การใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะ (1) การเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 93.0 (2) การเบิกจ่ายจากกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.5 (3) การเบิกจ่ายจากงบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 73.0 และ (4) การเบิกจ่ายภายใต้แผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและโครงการพัฒนาระบบขนส่ง ทางถนนระยะเร่งด่วนภายใต้แผนงานโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 ของกรอบเงินกู้ 77,095 ล้านบาท 4) การดูแลฐานรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการสำคัญๆ ที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว ประกอบด้วย มาตรการจ้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น (มติ ครม. วันที่ 14 กรกฎาคม 2558) ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลือประมาณ 20,395 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2558 ) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยระดับหมู่บ้านตำบลและหมู่บ้าน (มติ ครม. วันที่ 1 กันยายน และ 6 ตุลาคม 2558) โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง (มติ ครม. วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558) รวมทั้งการใช้ความช่วยเหลือผ่านกรอบมาตรการสินเชื่อที่สำคัญๆ ที่ได้มีการอนุมัติในช่วงที่ผ่านมา 5) การแก้ไขปัญหาการผลิตในภาคเกษตร โดย (1) การดูแล ป้องกัน และบรรเทาผลกระทบจากปัญหาจากภัยแล้ง (2) การดูแลต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญๆ (3) การส่งเสริมและขยายผลการรวมกลุ่มและการรวมพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้มีการประหยัดต่อขนาด ลดการทำงานต่ำระดับ รวมทั้งการจัดการให้สามารถใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร โดยภาครัฐสนับสนุนแรงจูงใจในลักษณะที่เหมาะสม และ (4) การส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินทางการเกษตรในลักษณะการแบ่งปันผลผลิต แทนการคิดค่าเช่าที่ดินในลักษณะเหมาจ่าย เพื่อให้ต้นทุนค่าเช่าที่ดินเคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของราคาผลผลิตและมีส่วนร่วมรับความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติ ทางธรรมชาติ 6) การดูแลภาคการส่งออกให้สามารถขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 โดย (1) การกำหนดมาตรการส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสมให้กับภาคเอกชนที่สามารถขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการส่งออก (2) การดูแลค่าเงินบาทให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในประเทศคู่ค้าคู่แข่งและปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (3) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการแสวงหาตลาดและ เพิ่มปริมาณการส่งออกสินค้าที่สำคัญๆ (4) การดูแลราคาสินค้าในกลุ่มที่เป็นวัตถุดิบนำเข้าสำคัญๆ ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาสินค้าในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในแหล่งนำเข้าสำคัญๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตเคลื่อนไหวสอดคล้องการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าส่งออกซึ่งจะช่วยรักษากำไรปกติและสภาพคล่องของผู้ประกอบการให้มีเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งมิได้เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรอุปกรณ์ด้วยตนเอง (5) การลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมของผู้ส่งออก รวมทั้งอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในแนวชายแดนต่างๆ การเพิ่มขีดความสามารถของด่านศุลกากร และเร่งรัดให้สามารถใช้ National Single Window ได้สมบูรณ์มากขึ้น และ (6) การแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติและปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการผลิตในภาคประมงอย่างต่อเนื่อง ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2558 - 2559 1 ข้อมูลจริง ประมาณการ ปี 2556 ปี 2557 ปี 2558 ปี 2559 ณ 17 ส.ค. 58 ณ 16 พ.ย. 58 ณ 16 พ.ย. 58 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท) 12,910.0 13,148.6 13,470.7 13,451.0 14,123.6 รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี) 193,394.6 196,239.5 200,350.1 200,056.8 209,378.0 GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 420.1 404.8 396.2 392.2 386.9 รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี) 6,293.0 6,041.1 5,892.6 5,832.6 5,736.4 อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %) 2.8 0.9 2.7 - 3.2 2.9 3.0 - 4.0 การลงทุนรวม (CVM, %) -0.8 -2.6 7.0 4.6 9.5 ภาคเอกชน (CVM, %) -0.8 -2.0 1.8 -1.3 4.7 ภาครัฐ (CVM, %) -1.0 -4.9 21.8 22.6 11.2 การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %) 0.8 0.6 1.8 2.0 2.6 การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %) 4.7 1.7 3.8 2.7 3.2 ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 2.8 0.0 1.4 0.3 3.1 มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 225.4 224.8 216.9 213.6 220.0 อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/ -0.1 -0.3 -3.5 -5.0 3.0 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/ 0.3 0.7 -2.0 -3.0 2.0 ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %) 1.4 -5.4 1.6 -0.2 4.0 มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 218.7 200.2 189.2 180.6 190.3 อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/ -0.1 -8.5 -5.5 -9.8 5.4 อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/ 2.0 -6.8 2.0 -0.1 3.9 ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 6.7 24.6 27.7 33.0 29.6 ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) -5.2 15.4 18.8 24.9 22.2 ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%) -1.1 3.8 4.8 6.3 5.7 เงินเฟ้อ (%) ดัชนีราคาผู้บริโภค 2.2 1.9 (-0.7) - (-0.2) -0.8 1.0 - 2.0 GDP Deator 1.6 1.0 (-0.7) - (-0.2) -0.6 1.0 - 2.0 ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 16 พฤศจิกายน 2558 หมายเหตุ: 1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th 2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--