(ต่อ1) บทที่ ๑ วิสัยทัศน์และทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2001 07:48 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ
จากการทบทวนประเมินผลการพัฒนาที่ผ่านมาและการวิเคราะห์เงื่อนไขสถานการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป ประกอบกับการนำผลจากการระดมความคิดจากประชาชนในทุกภาคส่วนของสังคมไทยนับตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับอนุภาคและระดับชาติ มาสังเคราะห์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เกิดเป็น "วิสัยทัศน์ร่วมของการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต ๒๐ ปี" ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้อย่างสมเหตุสมผล เป็นที่ยอมรับร่วมกัน สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมไทยได้ ดังนี้
๓.๑ จุดมุ่งหมายและค่านิยมร่วม
(๑) จุดมุ่งหมายหลัก
มุ่งเน้นการแก้ปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้เกิด "การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย" โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและการพัฒนาอย่างมี "ดุลยภาพ" ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้คนในสังคมมีความสุขถ้วนหน้า สามารถพึ่งตนเองและก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทัน โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย
(๒) ค่านิยมร่วม
สร้างจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงวิกฤตของประเทศและความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการคิด ทัศนคติ และกระบวนการทำงาน โดยยึด "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญานำทางเพื่อให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจัดการประเทศที่มุ่งสู่ประสิทธิภาพ คุณภาพ ก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทัน โดยมีความสามารถเลือกใช้ความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม มีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี และมีความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคนดีที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
๓.๒ สังคมไทยที่พึงประสงค์
เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าที่ดีในสังคมไทยบนพื้นฐานของการอนุรักษ์วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของความเป็นไทย จึงได้กำหนดสภาพสังคมไทยที่พึงประสงค์ โดยมุ่งพัฒนาสู่ "สังคมที่เข้มแข็งและมีดุลยภาพ" ใน ๓ ด้าน คือ
(๑) สังคมคุณภาพ
สังคมไทยเป็นสังคมคุณภาพที่ยึดหลักความสมดุล พอดี และพึ่งตนเองได้
(๑.๑) คนไทยทุกคนมีโอกาสและความเสมอภาคที่จะพัฒนาตนเองเต็มศักยภาพ เพื่อเป็นคนดี คนเก่ง ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย เคารพกฎหมาย มีความรับผิดชอบและมีจิตสำนึกสาธารณะ มีความสามารถคิดเอง ทำเอง และพึ่งพาตนเองมากขึ้น
(๑.๒) คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ สามารถเข้าถึงบริการพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีสภาพแวดล้อมดี มีเมืองและชุมชนน่าอยู่ มีระบบดี มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(๑.๓) เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการบริหารจัดการที่ดี มีประสิทธิภาพ มีการกระจายรายได้และกระจายผลการพัฒนาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม พร้อมก้าวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่อย่างรู้เท่าทัน
(๑.๔) ระบบการเมืองการปกครองโปร่งใส เป็นประชาธิปไตย มีเสรีภาพและเสถียรภาพ นักการเมืองมีคุณภาพ คุณธรรม มีกระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งของประชาชน และมีความเป็นธรรมในสังคมไทย
(๒) สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้
สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ที่สร้างโอกาสให้คนไทยทุกคนคิดเป็นทำเป็น มีเหตุผล สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง มีการเสริมสร้างฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี มีนวัตกรรม ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถสั่งสมทุนทางปัญญา เพื่อเสริมสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างรู้ทันโลก และสามารถรักษาต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการสืบสานประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา
(๓) สังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
สังคมไทยเป็นสังคมที่ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและคุณค่าของเอกลักษณ์สังคมไทย ที่พึ่งพาเกื้อกูลกัน รู้ รัก สามัคคี มีจารีตประเพณีดีงาม มีการดูแลผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน มีความรักภูมิใจในชาติและท้องถิ่น สามารถรักษาสถาบันครอบครัวให้เป็นสถาบันหลักของสังคม ที่เป็นรากฐานการพัฒนาชุมชน เครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง นำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของคนไทย
๓.๓ วิสัยทัศน์ร่วม
การพัฒนาประเทศไทยจะยึดหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลพอดีและความพอประมาณอย่างมีเหตุผล นำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันโลก คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาและรู้จักเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นคนดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ สามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและคุณค่าของสังคมไทยที่มีความสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน อันจะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล มีคุณภาพและยั่งยืน๔ บทบาทการพัฒนาประเทศ
เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ร่วมของสังคมไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการวาง "บทบาทการพัฒนาประเทศ" ในอนาคตอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับศักยภาพและบทบาททางเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยอาศัยความได้เปรียบหรือจุดแข็งที่มีอยู่ในการสร้างศักยภาพการพัฒนา ขณะเดียวกันอาจนำข้อได้เปรียบไปทดแทนจุดอ่อนหรืออุปสรรคที่เผชิญอยู่ เพื่อเสริมโอกาสการปรับโครงสร้างการพัฒนาประเทศให้มีสถานะการแข่งขันที่ดีขึ้น ดังนี้
๔.๑ พัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพด้านการผลิตการเกษตรที่ยังคงเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพที่สำคัญของโลก ตลอดจนศักยภาพของภาคธุรกิจบริการที่มีโอกาสพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและโภชนาการ และการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมและในอุตสาหกรรมการผลิตที่ทันสมัย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนังและรองเท้า เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม โดยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันยังมีบริการด้านการศึกษาที่เริ่มเชื่อมโยงกับสถาบันนานาชาติในภูมิภาคต่างๆ มากขึ้นแล้ว เพื่อเตรียมพัฒนาประเทศสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจของภูมิภาค ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูปการเกษตรและอาหาร รวมทั้งเป็นฐานการท่องเที่ยวที่หลากหลาย และเป็นศูนย์กลางการศึกษาและวิทยาการที่เข้มแข็ง
๔.๒ พัฒนาเป็นประตูเศรษฐกิจเชื่อมโยงกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค โดยอาศัยทุนทางเศรษฐกิจที่ได้พัฒนาขึ้นแล้ว ทั้งในเรื่องโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานและสื่อสารโทรคมนาคมที่กระจายอย่างทั่วถึงในพื้นที่ฐานเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับมีความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งของประเทศที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจุดแข็งของวัฒนธรรมไทยที่ประนีประนอมยืดหยุ่น เปิดกว้างและปรับตัวได้ง่ายภายใต้กระแสวัฒนธรรมที่หลากหลาย เอื้อต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ประกอบกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีอยู่ เป็นโอกาสการสร้างพลังต่อรองและขยายตลาดของประเทศ จะเกื้อหนุนต่อการพัฒนาสู่ประตูเศรษฐกิจด้านการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ รวมทั้งการสื่อสารโทรคมนาคมของภูมิภาค
๔.๓ พัฒนาเป็นแกนประสานการเจรจาเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค โดยอาศัยศักยภาพด้านเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยที่รักสงบ เอื้ออาทรและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นสังคมที่ประนีประนอม ยืดหยุ่น เปิดกว้างและปรับตัวได้ง่ายภายใต้กระแสวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงเหมาะในการเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค เพื่อนำไปสู่การประสานประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงชุมชนและภาคประชาชนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยอาศัยมิติของวัฒนธรรมชุมชนที่เข้มแข็ง นอกเหนือจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว
๔.๔ พัฒนาเป็นสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง มีระบบบริหารจัดการที่ดีในทุกระดับ โดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้วางพื้นฐานให้เกิดการปฏิรูปภาคการเมืองและสังคมหลายด้าน ขณะที่กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและพลังท้องถิ่นชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น สื่อต่างๆ มีเสรีภาพมากขึ้น เอื้อต่อการเติบโตของประชาธิปไตยและการเสริมสร้างการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทย ประกอบกับค่านิยมสากลที่ให้ความสำคัญต่อการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำไปสู่การตื่นตัวในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน มีระบบบริหารจัดการที่ดี เป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพในสังคมไทยที่พร้อมก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก๕ วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลัก
เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของวิสัยทัศน์ร่วม ภายใต้ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และบทบาทการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จึงเห็นควรกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙) ดังนี้
๕.๑ วัตถุประสงค์
เพื่อปรับโครงสร้างการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ดุลยภาพภายใต้ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" และการพัฒนาทุกมิติอย่างเป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง โดยมุ่งสู่การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นธรรมในสังคม สามารถก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทันและอำนวยประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนี้
(๑) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพและมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี ให้ภาคการเงินมีความเข้มแข็ง ฐานะการคลังมีความมั่นคง ตลอดจนมุ่งปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและให้เศรษฐกิจระดับฐานรากมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้มากขึ้น รวมทั้งเพิ่มสมรรถนะทางเศรษฐกิจโดยรวมให้แข่งขันได้ มีการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสังคมไทยและก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่
(๒) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศระยะยาวให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างรู้เท่าทันโลก ด้วยการพัฒนาคุณภาพคน กระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาพื้นฐานความคิดทางวิทยาศาสตร์ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปสุขภาพ สร้างระบบคุ้มครองความมั่นคงทางสังคม รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายชุมชน ให้เกิดการเชื่อมโยงการพัฒนาชนบทและเมือง รวมทั้งมีการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
(๓) เพี่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีในสังคมไทยทุกภาคส่วน ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับการเมือง ราชการ ธุรกิจเอกชน องค์กรประชาชน ชุมชน จนถึงระดับครอบครัว เป็นพื้นฐานให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
(๔) เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและเพิ่มศักยภาพโอกาสของคนไทยในการพึ่งพาตนเอง ให้ได้รับโอกาสในการศึกษาและบริการทางสังคมอย่างทั่วถึงเป็นธรรม สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต รวมทั้งปรับกลไกภาครัฐให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาความยากจน
๕.๒ เป้าหมายหลัก
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาดังกล่าว จึงเห็นควรกำหนดเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศใหม่ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักไปสู่การพัฒนาประเทศให้มีรากฐานที่เข้มแข็ง และให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เพื่อให้มีการกระจายผลประโยชน์และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง สามารถแก้ปัญหาความยากจน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสในการพึ่งตนเอง พร้อมทั้งยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงกำหนดเป้าหมายสำคัญในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๔๕-๒๕๔๙) ดังนี้
(๑) เป้าหมายดุลยภาพทางเศรษฐกิจ
(๑.๑) สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจมหภาค ให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวอย่างมีคุณภาพและมีเสถียรภาพ โดยมีเป้าหมายให้เศรษฐกิจขยายตัวเข้าสู่ระดับเฉลี่ยร้อยละ ๔-๕ ต่อปี เพื่อลดความยากจน และการเพิ่มการจ้างงานใหม่ในประเทศให้ได้ไม่ต่ำกว่า ๒๓๐,๐๐๐ คนต่อปี มีอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ ๓ ต่อปี และรักษาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้คงอยู่เฉลี่ยประมาณร้อยละ ๑-๒ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ รวมทั้งรักษาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศให้มีเสถียรภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน
(๑.๒) ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการ รวมทั้งสร้างความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยมีเป้าหมาย
๑) ให้การส่งออกสินค้าขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ ต่อปี เพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยให้อยู่ในระดับร้อยละ ๑.๑ ของตลาดโลก
๒) ให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๒.๐ ต่อปี และภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ ๔.๕ ต่อปี
๓) เพิ่มสมรรถนะประสิทธิภาพการผลิต โดยผลิตภาพการผลิตรวมในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๐.๕ ต่อปี ผลิตภาพการผลิตรวมในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๒.๕ ต่อปี และผลิตภาพของแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๓ ต่อปี
๔) เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวโดยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗-๘ ต่อปี และให้คนไทยท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓ ต่อปี
๕) สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๐.๔ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
(๒) เป้าหมายการยกระดับคุณภาพชีวิต
(๒.๑) ให้ประเทศไทยมีโครงสร้างประชากรที่สมดุล และขนาดครอบครัวที่เหมาะสม โดยรักษาแนวโน้มภาวะเจริญพันธุ์ของประชากรให้อยู่ในระดับทดแทนอย่างต่อเนื่อง ให้คนไทยมีคุณภาพ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีคุณธรรม มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม ให้ประชาชนอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป มีการศึกษาโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ๙ ปี ในปี ๒๕๔๙ยกระดับการศึกษาของแรงงานไทยให้ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ในปี ๒๕๔๙ รวมทั้งขยายการประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และให้มีระบบการคุ้มครองทางสังคมที่สร้างหลักประกันแก่คนไทยทุกช่วงวัย ลดอาชญากรรม และป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติด
(๒.๒) เพิ่มความเข้มแข็งให้ชุมชนและประชาสังคม และใช้กระบวนการชุมชนเข้มแข็งขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองน่าอยู่ชุมชนน่าอยู่ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี มีเศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง และปรับระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพและประชาชนมีส่วนร่วม
(๓) เป้าหมายการบริหารจัดการที่ดี สร้างระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ มีขนาดและโครงสร้างที่เหมาะสม ท้องถิ่นมีขีดความสามารถจัดเก็บรายได้สูงขึ้นและมีระบบสนับสนุนการกระจายอำนาจให้โปร่งใส มีระบบตรวจสอบด้วยการมีส่วนร่วมที่เข้มแข็ง เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบเกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง
(๔) เป้าหมายการลดความยากจน ให้มีการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้ออาทรต่อคนจน พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างศักยภาพให้คนจนเข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน สามารถพึ่งตนเองได้ เพื่อลดสัดส่วนคนยากจนของประเทศให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินร้อยละ ๑๒ ของประชากรในปี ๒๕๔๙ ๖ กลุ่มยุทธศาสตร์และลำดับความสำคัญของการพัฒนา
เพื่อให้การวางบทบาทการพัฒนาประเทศในอนาคตดำเนินไปภายใต้วัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องกำหนดพันธกิจของชาติที่ต้องดำเนินการโดยสนับสนุนและเชื่อมโยงกัน ๓ กลุ่มพันธกิจ พร้อมทั้งมีการจัดลำดับความสำคัญของแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมให้ประเทศสามารถฟื้นตัวอย่างมีรากฐานที่เข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนี้
๖.๑ พันธกิจ
พันธกิจของชาติที่จะเป็นจุดยึดโยงการทำงานร่วมกันของสังคมไทยในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ประกอบด้วย ๓ กลุ่มพันธกิจ ๗ ยุทธศาสตร์ คือ
(๑) การสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม มีความสำคัญสูงสุด ที่ช่วยผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาได้อย่างบรรลุผล ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดีที่เน้นการปฏิรูปให้เกิดกลไกการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในภาคการเมือง ภาคราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการพัฒนาประเทศที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส ให้มีความรับผิดชอบ สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญและเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้สังคมไทยพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งจะช่วยป้องกันและขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบด้วย
(๒) การเสริมสร้างฐานรากของสังคมให้เข้มแข็ง ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคน ครอบครัว ชุมชนและสังคมให้เป็นแกนหลักของสังคมไทย ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาคนและการคุ้มครองทางสังคม ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพคนและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การเสริมสร้างคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และรู้รัก สามัคคี มีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม มีระบบการคุ้มครองทางสังคมให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ และยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างการพัฒนาชนบทและเมืองอย่างยั่งยืนที่เน้นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเครือข่ายชุมชนให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาชนบทและเมืองให้เกิดความน่าอยู่ มีความสงบ สะดวก สะอาด ปลอดภัย มีระเบียบวินัย มีเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง รวมทั้งยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สามารถสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทยอยู่ดีมีสุขได้อย่างยั่งยืน
(๓) การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เข้าสู่สมดุลและยั่งยืน นำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและสามารถรักษาสมรรถนะทางเศรษฐกิจในการแข่งขันของประเทศได้ ประกอบด้วยยุทธศาสตร์การบริหารเศรษฐกิจส่วนรวมที่เน้นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้เอื้อต่อการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจภายในของประเทศ ให้มีความเข้มแข็งมั่นคงเกิดการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ สามารถปรับตัวก้าวตามโลกและเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างรู้เท่าทันบนพื้นฐานการพึ่งตนเอง และมีระบบภูมิคุ้มกันจากผลกระทบภายนอก ยุทธศาสตร์การเพิ่มสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นการพัฒนานวัตกรรม และการปรับใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม
๖.๒ ลำดับความสำคัญของการพัฒนา
ในการดำเนินการตามพันธกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ภายใต้ทรัพยากรภาครัฐที่มีอยู่จำกัด ซึ่งต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งมั่นคงและปรับฐานเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าถึงระดับมหภาค ให้สามารถขยายตัวต่อเนื่องไปในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
(๑) แนวทางเร่งด่วนเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
ในระยะแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จำเป็นต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เผชิญอยู่ให้สามารถฟื้นตัวอย่างมีรากฐานที่เข้มแข็งและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตลอดระยะของแผน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ภายในควบคู่กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน ดังนี้
(๑.๑) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ โดยดำเนินนโยบายเร่งรัดการคลังด้านการใช้จ่ายของภาครัฐและนโยบายภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันดำเนินนโยบายการเงินระยะสั้นที่เน้นการดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอและรักษาเสถียรภาพด้านราคาและอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ผันผวนเกินไป ชะลอการไหลออกนอกประเทศของเงินทุน และรักษาการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ลดลงมาก รวมตลอดทั้งการแก้ปัญหาและกระตุ้นการขยายตัวของภาคการผลิต โดยเฉพาะการส่งออก การท่องเที่ยว เพื่อหารายได้เงินตราต่างประเทศ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการอื่นๆ ที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการผลิตและตลาดแรงงาน เพื่อเพิ่มการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
(๑.๒) การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาธุรกิจชุมชนโดยส่งเสริมการระดมทุนในลักษณะกองทุนหมุนเวียน เพื่อการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการขยายโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง ให้ความสำคัญกับการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการที่มีการพัฒนารูปแบบและคุณภาพได้มาตรฐาน มีเอกลักษณ์เฉพาะ รวมทั้งพัฒนาข้อมูลข่าวสารให้เข้าถึงชุมชนเพื่อการแปรรูปผลผลิต ตลอดจนเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการตลาดและการกระจายผลผลิตที่เชื่อมโยงระหว่างตลาดท้องถิ่นสู่ตลาดระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และต่างประเทศ
(๑.๓) การบรรเทาปัญหาสังคม ต้องเร่งป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเชิงรุกให้ครบวงจร พัฒนาระบบประกันสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและเป็นธรรม ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ทั้งในภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคเอกชนอย่างจริงจัง รวมทั้งปลุกจิตสำนึกให้เกิดความนิยมไทยและรักชาติอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง
(๒) แนวทางการแก้ปัญหาความยากจน
นอกจากการดำเนินแนวทางเร่งด่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งในช่วงระยะแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาความยากจนที่สั่งสมมานานและเป็นปัญหาสำคัญระดับชาติควบคู่ไปด้วยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะ ๕ ปีของแผน โดยให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเป็นระบบ ด้วยการกระจายโอกาสให้คนยากจนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐ แหล่งความรู้ และทรัพยากร รวมทั้งมีหลักประกันความมั่นคงในชีวิต มีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งเพื่อสร้างศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถให้คนยากจนสามารถก่อร่างสร้างตัวและพึ่งตนเองได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐ ปรับกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อคนยากจนให้ได้รับโอกาส สิทธิ ความเป็นธรรมอย่างทัดเทียมกับกลุ่มคนในสังคม โดยมีแนวทางดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้
(๒.๑) เสริมสร้างโอกาสให้คนยากจนสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง โดยเน้นการกระจายบริการศึกษา สาธารณสุขที่มีทางเลือกเหมาะกับวิถีชีวิตของคนยากจน และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้ แหล่งข้อมูลข่าวสาร ให้มีสื่อเพื่อชุมชน มีเวทีสาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวบ้าน
(๒.๒) สร้างโอกาสให้คนยากจนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพของคนยากจน ให้คนยากจนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
(๒.๓) พัฒนาโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตแก่คนยากจน โดยเน้นการปรับปรุงรูปแบบและแนวการดำเนินงานให้เข้าถึงกลุ่มคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสได้อย่างแท้จริง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศของคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งจัดสวัสดิการสังคมที่สอดคล้องกับปัญหาและตรงกับความต้องการของคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในแต่ละพื้นที่
(๒.๔) พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งเพื่อสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้คนยากจนสามารถก่อร่างสร้างตัวและพึ่งตนเองได้มากขึ้น โดยส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนยากจนเป็นองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เสริมสร้างให้เกิดการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาของตน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและเพิ่มรายได้ ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจรทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด และแหล่งเงินทุนหมุนเวียน สนับสนุนการรวมกลุ่มอาชีพ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยีที่เหมาะสม สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเชื่อมโยงสู่ตลาดภายในและต่างประเทศได้
(๒.๕) ปรับระบบการบริหารจัดการภาครัฐให้เอื้อต่อการสร้างโอกาสให้คนยากจน โดยสนับสนุนให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขความยากจนที่มีความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมายคนยากจนในแต่ละพื้นที่ มีมาตรการเฉพาะตามศักยภาพของกลุ่มคนยากจนในชนบทและในเมือง รวมทั้งให้มีการประสานแผนงานและปรับระบบการจัดสรรงบประมาณลงสู่กลุ่มเป้าหมายคนยากจนอย่างสอดคล้องกับสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนมีการพัฒนาเครื่องชี้วัดความยากจนให้ถูกต้องและปรับได้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
(๒.๖) เร่งปฏิรูปกฎหมายและปรับกฎระเบียบ ให้คนจนได้รับโอกาส สิทธิ และความเสมอภาคในด้านต่างๆ อาทิ สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิการประกอบการจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สิทธิการถือครองที่ดินสำหรับกลุ่มคนยากจนในภาคเกษตรที่ไร้ที่ทำกิน
(๓) แนวทางการวางรากฐานการพัฒนาอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
เพื่อเป็นการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว จำเป็นต้องสร้างความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างรู้เท่าทัน และพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศที่ใช้ความรู้ความสามารถในประเทศมากขึ้น โดยมีแนวทางดำเนินการในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ดังนี้
(๓.๑) การบริหารการจัดการที่ดี ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาครัฐให้เป็นองค์กรขนาดเล็กที่มีคุณภาพ การปรับเปลี่ยนระบบการจัดทำงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และสนับสนุนนโยบายตามแผนชาติ การปรับปรุง/พัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนการกระจายอำนาจให้มีความคล่องตัวรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และมีมาตรการป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังในทุกระดับ
(๓.๒) การพัฒนาคุณภาพคนและการคุ้มครองทางสังคม ให้ความสำคัญกับการสร้างระบบสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม การปฏิรูปการศึกษาโดยเน้นกระบวนการพัฒนาและผลิตครูที่มีคุณภาพและคุณธรรม การปรับหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถปฏิบัติได้จริงและสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานควบคู่กับการสร้างงานรองรับ ขณะเดียวกัน ต้องมีการขยายขอบเขตการคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมทั้งในและนอกระบบ พร้อมไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนประกันชราภาพเพื่อเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การปรับระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและมีกลไกกำกับดูแลการบังคับใช้อย่างจริงจัง รวมทั้งการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคนและสังคมมากขึ้น
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ