ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2558 และแนวโน้มปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 14:15 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559

 (%YoY)                     2557             2558                ประมาณการ
                             ทั้งปี      ทั้งปี      Q3      Q4          2559
GDP (CVM)                    0.8      2.8     2.9     2.8       2.8 - 3.8
การลงทุนรวม                  -2.4      4.7    -2.6     9.4          4.9
ภาคเอกชน                    -1.0     -2.0   -10.1     1.9          3.2
ภาครัฐ                       -7.3     29.8    21.9    41.4         11.2
การบริโภคภาคเอกชน             0.6      2.1     1.8     2.5          2.7
การบริโภคภาครัฐบาล             2.1      2.2     2.3     4.8          3.7
มูลค่าการส่งออกสินค้า            -0.3     -5.6    -4.7    -7.9          1.2
ปริมาณ                        0.7     -3.4    -1.8    -5.4          1.7
มูลค่าการนำเข้าสินค้า            -8.5    -11.3   -14.5   -13.2          1.3
ปริมาณ                       -6.8     -0.6    -3.1    -2.5          3.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด                 3.8      8.9     7.6    13.4          8.2
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                       1.9     -0.9    -1.1    -0.9     (-0.1) - 0.9
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับ ร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2558 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA)
          - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนในขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงและเป็นข้อจำกัดสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในด้านการผลิต สาขาก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง แต่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
          - รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.8 สูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2557 โดยการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.1 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ -0.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.9 ของ GDP
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ  2.8 - 3.8 เร่งตัวขึ้นจากในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเร่งขึ้นของเม็ดเงินการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (2) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559 (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทมีการขยายตัวและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้น (4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ (5) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.1) - 0.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.2 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559ที่มีความพร้อมประกวดราคาและจะเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในปี 2559 โครงการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่สอง (2) การดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วเพื่อดูแลฐานรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย (3) การสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว และดำเนินมาตรการเชิงรุกในการชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญๆ สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต (4) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ปี พ.ศ. 2559 - 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนกับ CLMV และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ ตลอดจนลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และ (5) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยในคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่สำคัญและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเช่น ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

เศรษฐกิจไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2558 และแนวโน้มปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น ในด้านการผลิต สาขาก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาบริการอื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง แต่สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากไตรมาสที่สามของปี 2558 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.8

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 และทั้งปี 2558
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของรายจ่ายบริโภคสินค้าไม่คงทน และการหดตัวช้าลงของรายจ่ายในหมวดรถยนต์นั่ง สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 11.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 24.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.6 จากระดับ 61.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558  การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2557
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 9.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 41.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 21.9 ในไตรมาสที่สาม ตามการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐบาลร้อยละ 55.8 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายในโครงการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ประกอบกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 16.3 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 10.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.7 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 29.8 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.0
          3) การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,253 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.9 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.4 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังชะลอตัว และราคาสินค้าส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก สินค้าส่งออกที่ลดลง ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปิโตรเคมี ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียนเดิม (5) และออสเตรเลียลดลง แต่การส่งออกไปตลาด CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 8.5 ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีมูลค่าการส่งออก 1,872 พันล้านบาท
          รวมทั้งปี 2558  มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 5.6 โดยปริมาณการส่งออกและราคาส่งออกลดลงร้อยละ 3.4 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ และในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.5
          4) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 0.8 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ปิโตรเลียม อาหารและเครื่องดื่ม ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ และเครื่องจักรและอุปกรณ์ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.4
          รวมทั้งปี 2558  การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.7
          5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 7.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 24.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายรับจากการท่องเที่ยว 420.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 61.8 ลดลงจากร้อยละ 64.3 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ข้อมูลล่าสุดในเดือนมกราคมและในช่วงวันที่ 1 - 10 กุมภาพันธ์ 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 และร้อยละ 18.5 ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2558  สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.0 โดยมีนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 มีรายรับจากการท่องเที่ยว 1,523.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.7
          6) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 23.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการก่อสร้างภาครัฐที่ขยายตัวสูงร้อยละ 54.5 โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 66.8 และการก่อสร้างรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 15.8 ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.3 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของเครื่องชี้สำคัญๆ ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์
          รวมทั้งปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 15.8 โดยการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนขยายตัว ร้อยละ 33.7 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ
          7) สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิตพืชเกษตรสำคัญลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง พืชผลสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และไม้ผล สำหรับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อรวมกับการลดลงของปริมาณผลผลิตส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 8.8
          รวมทั้งปี 2558 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 4.2 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 5.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 10.8 ตามลำดับ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายและอัตราการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2559 ที่สูงขึ้น ประกอบกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น (2) แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559 (3) แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเร่งขึ้นและส่งผลให้รายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการดีขึ้นต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 (4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2558 ซึ่งจะสนับสนุนอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ และสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และ (5) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว ร้อยละ 1.2 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 4.9 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.1) - 0.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.2 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวเร่งขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของรายจ่ายบริโภคสินค้าไม่คงทน และรายจ่ายในหมวดรถยนต์นั่งหดตัวช้าลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.1 ร้อยละ 5.5 และร้อยละ 12.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 12.3 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.9 และร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 24.6 และร้อยละ 16.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.6 จากระดับ 61.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558  การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2557
          การลงทุนภาคเอกชน: เริ่มกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ หลังจากปรับตัวลดลงติดต่อกันสองไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างยังคงหดตัว ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 3.1 และร้อยละ 10.1 ในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ตามลำดับ โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 13.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ร้อยละ 17.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 และร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สาม ตามลำดับ การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ลดลงร้อยละ 0.8 ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 17.5 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 62.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 95.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 66.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนยอดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 144 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 51.5 แต่จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.7 เทียบกับระดับ 46.7 ใน ไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558  การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.0 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 2.7 ในขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 0.7
          การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการลดลงของราคาสินค้าส่งออก แต่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวตามการอ่อนค่าของเงินบาท การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 มีมูลค่า 52,253 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของปริมาณการส่งออกที่ร้อยละ 5.4 และการลดลงของราคาสินค้าส่งออกร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ การลดลงของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น และ (2) ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งลดลงร้อยละ 11.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.5) ราคาเคมีภัณฑ์ร้อยละ 8.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.7) ราคายางพาราร้อยละ 17.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.2) ราคาข้าวร้อยละ 11.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.6) และราคาน้ำตาลร้อยละ 26.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.2) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ดี เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,872 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558  การส่งออกมีมูลค่า 212,109 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.6 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.3 ในปี 2557 โดยปริมาณและราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 3.4 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ในปี 2557
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 14.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อนหน้าเนื่องจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.7 โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 8.4 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 17.4 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 11.5 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.7  มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.2 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 7.9 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 8.2 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 15.6 เนื่องจากราคาส่งออกที่ลดลงร้อยละ 17.7 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ของประเทศจีน  มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 11.8 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 26.2 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 จากการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา ญี่ปุ่น และเวียดนาม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 7.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.8 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 27.1 ร้อยละ 15.2 และร้อยละ 32.6 ตามลำดับ เนื่องจากราคาส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวร้อยละ 81.2 ตามการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง ในขณะที่การส่งออกแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศ  ขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 1.0  ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 17.4 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ ปลา และปลาหมึก สินค้าส่งออกอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 25.4 เป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.8 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญๆ ลดลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (5) และออสเตรเลีย แต่การส่งออกไปตลาด CLMV ขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียกลับมาหดตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 4.8 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 และร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (15)  ญี่ปุ่น และจีน ยังคงลดลงร้อยละ 5.9 ร้อยละ 9.6 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรป ขณะที่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ลดลงร้อยละ 9.3 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 19.1 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ขยายตัวร้อยละ 7.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงตามการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาก ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 42,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 13.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 11.0 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเคมีภัณฑ์ และปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 2.5 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 15.3 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 10.0 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,527 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้าในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและหมวดอื่นๆ ขยายตัว โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 24.2 เนื่องจากราคานำเข้าและปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 16.9 และร้อยละ 8.8 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 1.9 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าร้อยละ 4.4 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.4  สินค้านำเข้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เช่น หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า อากาศยาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 2.8 เป็นผลจากราคาและปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 2.0 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง ยาและเวชภัณฑ์ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 13.7 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 2,530 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 44.8
          รวมทั้งปี 2558 การนำเข้ามีมูลค่า 177,516 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 11.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.5 ในปี 2557 โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.6 และร้อยละ 10.8 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 6.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.1 ในปี 2557
          อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 11.0 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 112.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 115.4 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 เทียบกับ 105.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558 อัตราการค้าอยู่ที่ 112.4 เพิ่มขึ้นจาก 102.6 ในปี 2557 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.8
          ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น ดุลการค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 เกินดุล 9,637 ล้านดอลลาร์ สรอ. (345,269 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 9,616 ล้านดอลลาร์ สรอ. (339,969 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 7,653 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2558  ดุลการค้าเกินดุล 34,593 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,191,623 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 24,583 ล้านดอลลาร์ สรอ. (798,639 ล้านบาท) ในปี 2557

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญ ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 3.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 3.2 โดยผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย และไม้ผล ลดลงเนื่องจาก (1) ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหาย และการขอความร่วมมือจากเกษตรกรในการเลื่อนการปลูกข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2558/2559 ออกไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม 2558 จากฤดูกาลเพาะปลูกปกติ (พฤษภาคม-ตุลาคม 2558) ทำให้ปลูกข้าวได้เพียงรอบเดียว (2) ผลผลิตยางพาราลดลงเนื่องจากความแห้งแล้งและราคาผลผลิตที่ไม่จูงใจทำให้ชาวสวนบางส่วนเลิกกรีดยาง (3) ผลผลิตปาล์มทะลายลดลงเนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้งในช่วงกลางปี (4) ผลผลิตและคุณภาพอ้อยลดลงเนื่องจากฝนทิ้งช่วงในช่วงที่อ้อยเติบโต และ (5) ผลผลิตสับปะรดโรงงานลดลงเนื่องจากภาวะภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวโพด ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น  สำหรับราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.8 เนื่องจากการลดลงของราคายางพารา มันสำปะหลัง และประมง โดย (1) ราคายางพาราลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี  (2) ราคามันสำปะหลังลดลงเนื่องจากผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับคุณภาพมันสำปะหลังไม่ได้มาตรฐาน และ (3) ราคากุ้งลดลงเนื่องจากผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาไม้ผลเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม้ผลออกสู่ตลาดน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการทำให้เกิดการแข่งขันกันรับซื้อไม้ผลจากเกษตรกร การลดลงทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 8.8 ในไตรมาสนี้
          รวมทั้งปี 2558 การผลิตภาคเกษตรหดตัวร้อยละ 4.2 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรที่ลดลงร้อยละ 5.3 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 10.8 ตามลำดับ
          สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการผลิตในหมวดยานยนต์ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยางและพลาสติก ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2558 สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 โดย (1) การผลิตหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 สอดคล้องกับคำสั่งซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 และการส่งออกยานยนต์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง(2) การผลิตหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 โดยเฉพาะการผลิตผลไม้และผักกระป๋อง และการผลิตเนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น สอดคล้องกับการส่งออกกลุ่มสินค้าผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป และการส่งออกกลุ่มสินค้าไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่ขยายตัวต่อเนื่อง และ (3) การผลิตหมวดยางและพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ยางแผ่นยางแท่ง และการผลิตพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ สอดคล้องกับการส่งออกยางไปยังประเทศจีนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากประเทศจีนได้มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ายางสังเคราะห์ จึงทำให้ผู้ประกอบการจีนเปลี่ยนมาสั่งซื้อยางธรรมชาติจากไทยมากขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.4
          อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 22.8) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 13.0) ปิโตรเลียม (ร้อยละ 6.5) ยานยนต์ (ร้อยละ 5.1) ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก (ร้อยละ 2.6) อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 2.0) หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 1.5) และอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ 0.5)
          อุตสาหกรรมการผลิตสำคัญๆ ที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ -24.4) เครื่องจักรสำนักงาน (ร้อยละ -23.8) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (ร้อยละ -23.8) สิ่งทอ (ร้อยละ -8.2) ยาสูบ (ร้อยละ -4.6) ผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (ร้อยละ -3.9) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ -2.4) เครื่องหนัง (ร้อยละ -1.3) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ -0.8) และอุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ -0.3)
          รวมทั้งปี 2558 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.7
          สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวเร่งขึ้นตามการเร่งขึ้นของการก่อสร้างภาครัฐ แต่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 23.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 54.5 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 66.8 และร้อยละ 15.8 ตามลำดับ) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 20.3 ในไตรมาสที่สาม ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3 สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของเครื่องชี้สำคัญๆ ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ซึ่งลดลงร้อยละ 17.5 ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 0.8 ตามลำดับ สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ที่ร้อยละ 6.6 ตามการลดลงของต้นทุนด้านพลังงานและราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาเหล็กซึ่งปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง
          รวมทั้งปี 2558 สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 15.8
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านอุปสงค์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ ในด้านอุปทาน ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 ในขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่3 ลดลงร้อยละ 19.0 และร้อยละ 18.0 ตามลำดับ ในด้านราคา ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินและอาคารชุดที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2558 สาขาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว  แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 24.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่เริ่มสูงขึ้นและผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ซึ่งส่งผลต่อเนื่องในช่วงต้นไตรมาส อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส และล่าสุด ข้อมูลเดือนมกราคม 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขยายตัวร้อยละ 17.1 จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และลาว ตามลำดับ รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 420.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 64.3
          รวมทั้งปี 2558 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.0 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 1,523.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.7
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งในหมวดสินค้าไม่คงทนปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น การขายส่งยาสูบ และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าอื่นๆ เช่น การขายส่งโดยได้รับค่าตอบแทนหรือตามสัญญาจ้าง และการขายส่งสินค้าทั่วไป เป็นต้น สอดคล้องกับการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าคงทน และสินค้าขั้นกลางปรับตัวลดลง ในด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น การขายยานยนต์ และการขาย การบำรุงรักษา และการซ่อมจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวเนื่อง เป็นต้น สอดคล้องกับการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ในขณะที่หมวดสินค้าไม่คงทน หมวดสินค้าคงทน หมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป และหมวดอื่นๆ ปรับตัวลดลง
          รวมทั้งปี 2558  สาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 4.3
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคการเกษตร แต่การจ้างงานภาคเกษตรลดลง ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตรร้อยละ 0.8 โดยเฉพาะการจ้างงานในสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์ สาขากิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ร้อยละ 17.7 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ในขณะที่การจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงร้อยละ 1.0 ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.7 แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ  3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า  ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเลื่อนการปลูกข้าวนาปี เนื่องจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้การเก็บเกี่ยวข้าวเลื่อนมาอยู่ในไตรมาสนี้มากขึ้น สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 308,840 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8
          รวมทั้งปี 2558  การจ้างงานลดลงร้อยละ 0.2 อัตราการว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.9

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม - ธันวาคม 2558) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 581,306.4 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตที่เพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากอัตรา 0.75 บาท/ลิตร ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 4.25 บาทต่อลิตร และการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการรถยนต์ในช่วงก่อนที่จะมีการบังคับใช้อัตราภาษีรถยนต์ใหม่ที่เปลี่ยนจากการคิดอัตราภาษีจากขนาดเครื่องยนต์เป็นคิดจากการปล่อยมลพิษ รวมทั้งมีการนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4G จำนวน 40,290.5 ล้านบาท
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,038,899.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 255 9 มีการเบิกจ่าย 807,674.6  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 29.7 ของวงเงินงบประมาณ (ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 29.8 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 739,517.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 33.9 สูงกว่าร้อยละ 33.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 68,157.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 65.1 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 12.7 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 19.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 9.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 83,405.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.2 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 28.7 สูงกว่าร้อยละ 22.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)  (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ หลังหักรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน  2,548.6 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 118,075.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายงบลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง และ (4) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 29,743.5 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 28,451.7 ล้านบาท เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 666.3 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 625.5 ล้านบาท และเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 662.8 ล้านบาท
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 311,094.5 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการขาดดุลน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.4 และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 6,107.5 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 265,302.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 39,685.0 ล้านบาท น้อยกว่าการเกินดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 87.5 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นงบประมาณ 2558 จำนวน 426,181.9 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 386,496.9 ล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 ร้อยละ 9.3
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 5,975,766.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.4 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 192,443.1 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,625,424.3 ล้านบาท (ร้อยละ 41.8 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 350,342.0 ล้านบาท (ร้อยละ 2.6 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,379,011.6 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,044,724.6 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 534,472.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.3 ร้อยละ 17.5 และร้อยละ 8.9 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558  ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2558 และ 16 ธันวาคม 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้นำเศรษฐกิจมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันมากขึ้น กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 - 0.50 ต่อปี ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ประกาศขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเดือนละ 6 หมื่นล้านยูโร จากเดิมสิ้นสุด กันยายน 2559 เป็นสิ้นสุด มีนาคม 2560 สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีนและไต้หวัน ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากได้ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายมาในช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ยังคงปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25
          รวมทั้งปี 2558 คณะกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคมและเมษายน 2558 รวมร้อยละ 0.50 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับลดลงจากร้อยละ 2.00 ต่อปี ณ สิ้นปี 2557 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี ณ สิ้นปี 2558
          ในเดือนมกราคม 2559  ธนาคารกลางญี่ปุ่น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ -0.10 ต่อปี ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ รวมทั้งยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม (ขยายฐานปริมาณเงินปีละ 80 ล้านล้านเยน) และล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า  ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเพื่อรายย่อย ปรับตัวลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.40  ร้อยละ 1.44 และร้อยละ 2.25 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเพื่อรายย่อย ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.52  ร้อยละ 6.93  และร้อยละ 8.62 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR อยู่ที่ร้อยละ 1.73 และร้อยละ 6.78 ต่อปี ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.31 - 0.65 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.10 - 0.24
          ล่าสุดในเดือนมกราคม ธนาคารพาณิชย์ทุกขนาด และสถาบันการเงินเฉพาะกิจคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เท่ากับอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2558
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.25 ต่อปี ตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ สิ้นไตรมาส สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.37 ต่อปี ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ สิ้นไตรมาส
          รวมทั้งปี 2558 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.12 และร้อยละ 1.22 ตามลำดับ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลง
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 จากการครบกำหนดของผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ และการเพิ่มขึ้นของการออมเงินในผลิตภัณฑ์การออมรูปแบบอื่นที่ให้อัตราผลตอบแทนที่สูงกว่า รวมทั้งปี 2558 ปริมาณเงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ณ สิ้นปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2557
          สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบ ขยายตัวร้อยละ 5.6 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 3.7 ในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสินเชื่อสาขาการก่อสร้าง และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับสินเชื่อธุรกิจสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัยปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 6.1 ชะลอตัวจากร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลในทุกสาขา ยกเว้นสาขาการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ นอกจากนี้ รายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Survey)4 ไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ภาคธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐในการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เช่นเดียวกับความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นสำคัญ ในขณะที่สถาบันการเงินยังคงมาตรฐานความเข้มงวดการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน
          ในปี 2558   สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในปี 2557 ตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนชะลอตัวลง
          สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสภาพคล่องส่วนเกิน ในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 99.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 98.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่เร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,545.4 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1,625.4 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินฝากและเงินให้กู้ยืมในต่างประเทศ
          รวมทั้งปี 2558  สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 97.6 เป็นร้อยละ 99.3 ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกินในระบบ ณ สิ้นปี 2558 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากสิ้นปี 2557
          ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สี่อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ภายหลังตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนคาดว่า FED จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมโดยมีสาเหตุมาจาก (1) แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบปี (2) การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้นของจีนภายหลังเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องและ (3) กระแสการไหลออกของเงินทุน ทั้งจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยและการขายสุทธิในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยค่าเงินบาทในไตรมาสที่สี่ เฉลี่ยอยู่ที่ 35.84 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.6 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง อยู่ที่ 106.0 อ่อนค่าลงร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 0.1 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2558 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.35 - 36.56 ต่อดอลลาร์ สรอ. และมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจาก ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและการประกาศผ่อนคลายหลักเกณฑ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงเดือนเมษายน 2558 อย่างไรก็ตาม ดัชนีค่าเงินบาทและดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าแข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.1 และร้อยละ 1.3 ตามลำดับ สะท้อนว่าค่าเงินบาทยังคงแข็งค่ากว่าค่าเงินประเทศคู่ค้าคู่แข่ง
          ในเดือนมกราคม 2559  เงินบาทอ่อนค่าลงตามการปรับค่ากลางเงินหยวนให้อ่อนค่าลง และความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนมกราคมอยู่ที่ 36.16 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และในช่วงวันที่ 1 - 12 กุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.56 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. จากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศภายหลังการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของจีนและญี่ปุ่น
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่ลดลงตามการลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดทั้งไตรมาส SET Index ปรับตัวในทิศทางที่ลดลงซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค เนื่องจาก (1) การปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นในภูมิภาค (2) การปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ในกลุ่มพลังงาน ตามการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงของราคาน้ำมัน รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นผลมาจาก ราคาการประมูลคลื่น 4G ที่สูงเกินการคาดการณ์ของนักลงทุน และ (3) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ปิดที่ 1,288.0 จุด ลดลงร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 39.0 พันล้านบาทต่อวัน เทียบกับ 38.3 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงมียอดขายสุทธิ 47.3 พันล้านบาทซึ่งเป็นการขายสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่นักลงทุนในประเทศและนักลงทุนสถาบันมียอดซื้อสุทธิ 19.7 พันล้านบาท และ 21.5 พันล้านบาท ตามลำดับ
          ทั้งปี 2558  SET Index ปรับลดลงจาก 1,497.7 จุด ณ สิ้นปี 2557 เป็น 1,288.0 จุด ณ สิ้นปี 2558 หรือลดลงร้อยละ 13.1 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการคาดการณ์ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นในภูมิภาค และราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 2558 อยู่ที่ 41.1 พันล้านบาทต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 1.1 นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 154.8 พันล้านบาท เทียบกับยอดขายสุทธิ 36.6 พันล้านบาทในปี 2557
          ในเดือนมกราคม 2559 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1,301.0 จุด หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 จากเดือนก่อนหน้า จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันเป็นสำคัญ นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 8.6 พันล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมุมมองสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ แนวโน้มการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) มติคงอัตราดอกเบี้ย FED ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุจากปัจจัยนอกประเทศเป็นสำคัญสวนทางกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ ปรับลดลงทุกช่วงอายุของตราสาร  โดยแนวโน้มเลื่อนการปรับขึ้นอัตราการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยจำนวนมากในเดือนตุลาคม อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดขายสุทธิอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม หลังจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น และมีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2558 ประกอบกับความกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในภูมิภาค ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันโลก ซึ่งทำให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในตลาดตราสารหนี้ ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 25.0 พันล้านบาทเทียบกับยอดขายสุทธิ 29.9 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 76.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 74.6 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสที่สามของปี 2558
          ทั้งปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2557 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงทุกช่วงอายุตราสาร โดยเฉพาะตราสารระยะสั้น (อายุไม่เกิน 1 ปี) ซึ่งปรับลดลงจากสิ้นปี 2557 ร้อยละ 26.8 เนื่องจากการลดความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของนักลงทุน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 24.0 พันล้านบาท เทียบกับสถานะซื้อสุทธิ 205.9 พันล้านบาทในปี 2557 มูลค่าการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 มาอยู่ที่ 80.9 พันล้านบาทต่อวัน
          ในเดือนมกราคม 2559  อัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังคงปรับลดลงต่อเนื่องทุกช่วงอายุตราสาร โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยสูงถึง 40.7 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 93.4 พันล้านบาท
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 7.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 7.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สาม  โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การขายสุทธิหลักทรัพย์ไทยทั้งในตลาดหลักทรัพย์ และตลาดตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ (2) การนำเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์และการฝากเงินในต่างประเทศของนักลงทุนไทยรวมถึงกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ และ (3) การออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร และการขุดเจาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 13,055 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 467,899 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 7,225 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 254,251 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 10,334  ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ของปี 2557 ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 9,637 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ ทุติยภูมิ 3,418 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          รวมทั้งปี 2558  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 34,839 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 1,201,391 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 15,418 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 504,257 ล้านบาท) ในปี 2557
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2558 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 156.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 11.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 2.9 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2558) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.0 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2558)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.9 เทียบกับร้อยละ -1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาพลังงานเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เนื่องจากราคาผักและผลไม้ และปลาและสัตว์น้ำปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 2.0 เนื่องจากราคาพลังงานลดลง ซึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับราคาลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ (2) การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2558 ที่ลดลง 3.23 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ลดลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 14.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 16.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 255 8 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ -0.9 ลดลงจากร้อยละ 1.9 ในปี 2557 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากร้อยละ 1.6 ในปี 2557
          ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ลดลงร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรมและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 2.2 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 3.6 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ
          รวมทั้งปี 2558 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 4.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในปี 2557

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สี่ของปี 2558
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6  ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 42.02 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 43.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 74.86 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเป็นการปรับตัวลดลงในทุกตลาด และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ลดลงจากไตรมาสที่สามของปี 2558 ร้อยละ 14.9
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC  มาอยู่ที่เฉลี่ย38.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 36.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน)  ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 95.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 95.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน) (2) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,061 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,698 ล้านบาร์เรล) และ (3) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
          รวมทั้งปี 2558 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 51.12 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 96.38 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2557 หรือลดลงร้อยละ 47.0

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่และทั้งปี 2558
          ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งเครื่องชี้สำคัญๆ แสดงถึงสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศและการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิซึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าลดลงเร็วกว่าการส่งออก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ความแตกต่างในวัฏจักรเศรษฐกิจทำให้ทิศทางนโยบายการการเงินของประเทศสำคัญๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ในขณะที่ประเทศสำคัญอื่นๆ ยังผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจโลกขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2557 และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ในไตรมาสที่สี่ ขยายตัวร้อยละ 1.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สาม และเป็นอัตราการขยายตัวต่ำสุด ในรอบ 7 ไตรมาส  การชะลอตัวของเศรษฐกิจมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการสะสมสินค้าคงคลัง การลดลงของการส่งออก และการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวม อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปีครึ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี มาอยู่ที่ช่วงร้อยละ 0.25-0.50 ในการประชุมเมื่อวันที่ 16-17 ธันวาคม 2558 หลังจากเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและอัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินได้ในระยะต่อไป รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นการขยายตัวเท่ากับปี 2557
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ในไตรมาสที่สี่ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สาม โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของการจ้างงานและการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.1 ในขณะที่การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเข้าสู่เงินเฟ้อเป้าหมายล่าช้ากว่าคาดการณ์เดิมและมีความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดมากขึ้น  เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 โดยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจากร้อยละ -0.20 เป็นร้อยละ -0.30 และขยายระยะเวลาในการซื้อพันธบัตรเดือนละ 60 พันล้านยูโร จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2560 เป็นเดือนมีนาคม 2561 รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2557
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น เครื่องชี้สำคัญๆ ในไตรมาสที่สี่ ยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง  ทั้งทางด้านการส่งออก ยอดการค้าปลีกภายในประเทศ แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 0.3 ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม 2 ครั้งติดต่อกัน โดยในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ขยายระยะเวลาถือครองพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นเป็น 7-12 ปี การเพิ่มการซื้อกองทุน ETFs และการเพิ่มสัดส่วนการซื้อกองทุน  J-REITs และต่อมาในวันที่ 29 มกราคม 2559 ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นร้อยละ -0.1 เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้สู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งปี 2558 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 0.6 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการไม่ขยายตัวในปี 2557
          - เศรษฐกิจจีน ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 7 ปี ในไตรมาสที่สี่ เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.8 ชะลอลงจากร้อยละ 6.9 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่ง ปี 2552 ตามการชะลอตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี การบริโภคภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง แนวโน้มการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในวันที่ 24 ตุลาคม 2558 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 5 ของปี 2558 ร้อยละ 0.25 ควบคู่กับการลดอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงเป็นร้อยละ 17.5  และการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 ชะลอลงจากร้อยละ 7.3 ในปี 2557 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปี
          - เศรษฐกิจอินเดีย ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สี่ เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 7.3 ชะลอลงจากร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวอย่างชัดเจนของการลงทุนรวม อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5.3 รวมทั้งปี 2558 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 7.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 7.3 ในปี 2557 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี
          - เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีการฟื้นตัวในหลายประเทศ ทั้งเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ตามการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกสุทธิที่เป็นบวกและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไต้หวันที่ยังคงหดตัวร้อยละ 0.3 ตามการหดตัวของภาคการผลิตและการลงทุนภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่ม NIEs ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาอาหาร สำหรับเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในกลุ่มอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องตามอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งช่วยชดเชยการหดตัวของการส่งออก  ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ในกลุ่มนี้ยังปรับตัวลดลงตามราคาพลังงานในเกือบทุกประเทศ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2559
          การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วยังเป็นไปอย่างล่าช้าในขณะที่การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่มีความชัดเจนมากขึ้นซึ่งจะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงตามแนวโน้มการปรับตัวของเศรษฐกิจจีนและและความเสี่ยงต่อวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีแนวโน้มที่จะทำให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายช้าลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่ประเทศสำคัญอื่นๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี แม้กระนั้นก็ตาม ความแตกต่างใน วัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและทิศทางนโยบายการเงินยังมีแนวโน้มที่จะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในขณะที่ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวล่าช้ากว่าการคาดการณ์ไว้ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ และการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิต
          ในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ คาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะการจ้างงานและงบดุลภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจากสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นในช่วงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อกำไรในภาคธุรกิจและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมแล้วยังทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินนานกว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2558 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายและความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศที่เคยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรุนแรงปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังที่เกิดจากการปฏิรูปเศรษฐกิจเริ่มผ่อนคลายลง และรายจ่ายทางการคลังเพื่อรองรับผู้อพยพเพิ่มขึ้น แม้กระนั้นก็ตามการลดลงของราคาน้ำมันท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ยังมีแนวโน้มที่จะทำให้แรงกดดันด้านเงินฝืดเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างล่าช้าโดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.0 เทียบกับร้อยละ 0.6 ในปี 2558 ตามอุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอและภาคการส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้า เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2558  ตามการชะลอลงของอุปสงค์ในประเทศซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาหลักทรัพย์รวมทั้งการชะลอตัวของการลงทุนในทรัพย์สินถาวรและการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมท่ามกลางสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลงตามการไหลออกของเงินทุนและการลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ การคาดการณ์แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ท่ามกลางการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังเป็นแรงกดดันต่อการไหลออกของเงินทุนและค่าเงินหยวนมากขึ้นและส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในประเทศ เศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.5 ในปี 2558 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและรายจ่ายลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียที่สำคัญอื่นๆ คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ
          การชะลอตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. การลดลงของราคาน้ำมัน และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและความผันผวนในระบบการเงินโลกคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยในกรณีฐานคาดว่าในปี 2559 จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวม 2 ครั้งในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคมตามลำดับ ช้าลงจากการคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน หลังจากการประกาศขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินออกไปอีก 6 เดือนในเดือนธันวาคม ธนาคารกลางยุโรป ยังมีแนวโน้มที่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับ Excess reserves ที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลางลงเป็นร้อยละ -0.1 เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินภายในครึ่งแรกของปี 2560 (ขยายระยะเวลาจากเดิมครึ่งปี) รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่การไหลออกของเงินทุนทำให้ ธนาคารกลางจีน มีข้อจำกัดในการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะหันไปใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ เพื่อลดความตึงตัวของสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
          ความแตกต่างด้านวัฎจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและแนวโน้มทิศทางนโยบายการเงินระหว่างประเทศสำคัญๆ ยังคงมีแนวโน้มที่จะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น แม้จะช้าลงจากการคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมาตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างระมัดระวังมากขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่เงินยูโรมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงเท่ากับเงินดอลลาร์ สรอ. ในช่วงปลายปีตามการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินในเดือนธันวาคม 2558 และแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เช่นเดียวกับเงินเยนที่แม้จะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนไหลเข้าแต่การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในเดือนมกราคมและความเป็นไปได้ที่จะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปียังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินเยนปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินหยวนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าตามการไหลออกของเงินทุนที่มีสาเหตุมาจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การปรับตัวลดลงของราคาหลักทรัพย์ และการลดข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งแรงกดดันจากการเก็งกำไรค่าเงินในตลาด Offshore เช่นเดียวกับสกุลเงินสำคัญๆ ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและผู้ส่งออกสินค้าขั้นปฐมในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าสำคัญๆ รวมทั้งแรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพทางการเงินการเงินการคลังในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ
          ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินสกุลสำคัญๆ ท่ามกลางแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาสินค้าขั้นปฐมมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีแรงกดดันเพิ่มเติมจากการปรับตัวลดลงอย่างล่าช้าของผลผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือและการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตในอิรัก ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2559 มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2558 แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ก็ตาม

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภาครัฐจากการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้น แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ และความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่จะเข้าสู่ช่วงของการประกวดราคาและก่อสร้างมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การอ่อนค่าของเงินบาท ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          อย่างไรก็ดี ในปี 2559 นี้ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจหลายประการ ได้แก่ การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกมีน้อย รวมทั้งกำลังซื้อในครัวเรือนภาคการเกษตรจะยังต่ำ ในขณะที่ภาคเกษตรเองยังมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากผลกระทบภัยแล้ง  นอกจากนั้น เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศจีนและประเทศเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่ำกว่าคาดการณ์ไว้ ในขณะที่เงินหยวนและเงินสกุลสำคัญๆ เริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างชัดเจนมากขึ้นและอาจจะส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกรุนแรงขึ้น
          เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาท และอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

          - ปัจจัยสนับสนุน
          1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559  คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีรวม 2,541,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายโดยรวมในปีงบประมาณ 2559 ร้อยละ 93.4 (งบประจำ ร้อยละ 98.0 และงบลงทุน ร้อยละ 75.0) (2) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปีงบประมาณ 2559 ได้ประมาณ 444,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 75.0 ของกรอบวงเงินรวม 592,435 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากการเบิกจ่าย 337,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 โดยจะมีความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan) ที่มีความพร้อม จำนวน 20 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2559 ประมาณ 66,834 ล้านบาท (3) งบเหลื่อมปีคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ 290,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 70.0 (4) รายจ่ายนอกงบประมาณ คาดว่าในปีงบประมาณ 2559 จะมีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 66,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 44,200 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 โดยประมาณร้อยละ 80 เป็นการเบิกจ่ายภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วนภายใต้แผนงานโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง และ (5) เม็ดเงินจากกรอบงบประมาณเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2559 วงเงิน 56,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ประมาณ 52,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 93.0
          2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559 ประกอบด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆ เพิ่มเติมจำนวน 7 มาตรการ ภายใต้วงเงินรวม 468,854 ล้านบาท (มาตรการสินเชื่อวงเงิน 335,000 ล้านบาท และการใช้จ่ายของภาครัฐวงเงิน 127,854 ล้านบาท) โดยมีการเบิกจ่ายในปี 2558 ประมาณ 265,516 ล้านบาท (แบ่งเป็นมาตรการสินเชื่อวงเงิน 239,661 ล้านบาท และการใช้จ่ายของภาครัฐวงเงิน 25,840 ล้านบาท) และคาดว่าในปี 2559 จะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินอีกประมาณ 179,627 ล้านบาท (มาตรการสินเชื่อวงเงิน 71,557 ล้านบาท และการใช้จ่ายของภาครัฐวงเงิน 102,085 ล้านบาท)

ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559
          ในไตรมาสที่สี่ ของปี 2558 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากขึ้นตามการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจจีนซึ่งทำให้การส่งออกลดลงและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับการหดตัวในอัตราเร่งขึ้นของการส่งออกในประเทศต่างๆ แต่อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวเร่งขึ้นทั้งทางด้านการลงทุนภาครัฐ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งสามารถชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกและสามารถรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน ไตรมาสที่ 4 และทั้งปี 2558 ไว้ในระดับที่สามารถจะเป็นแรงส่งให้ขยายตัวต่อเนื่องต่อไป การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของราคาน้ำมัน การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง การเร่งรัดการใช้จ่ายเม็ดเงินภาครัฐ และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - มกราคม 2559 ซึ่งประกอบด้วย 7 มาตรการสำคัญ วงเงินรวม 468,854 ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการภาษี) โดยในช่วงไตรมาสที่สี่ ของปี 2558 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วประมาณ 198,081 ล้านบาท ประกอบด้วยสินเชื่อ 172,226 ล้านบาทและการใช้จ่ายภาครัฐ 25,840 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2559 จะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินอีกประมาณ 179,627 ล้านบาท

          3) การอ่อนค่าของเงินบาทซึ่งจะช่วยสนับสนุนรายรับและสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการ
          อย่างต่อเนื่อง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ฐานรายได้จากการส่งออกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 แต่ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนลงหลังเดือนเมษายนได้ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทลดลงเพียงร้อยละ 3.8 ช้ากว่าการลดลงของมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ และในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 การอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.8 และสนับสนุนรายได้และสภาพคล่องในรูปเงินบาทได้มากขึ้น แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์จะยังหดตัวมากขึ้นต่อเนื่องเป็นร้อยละ 6.3 ก็ตาม ทั้งนี้คาดว่าในปี 2559 เงินบาทจะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงจากปี 2558  ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ  และแนวโน้มการอ่อนค่าลงของสกุลเงินสำคัญๆ ในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทจะขยายตัวได้ต่อเนื่องและสนับสนุนรายรับและสภาพคล่องของผู้ประกอบการในหลายกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
          4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในระดับต่ำกว่าในปี 2558 โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2559 จะอยู่ในช่วง 32.0 - 37.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่ำสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
          5) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ในปี 2559 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 32.5 ล้านคน สร้างรายรับจากการท่องเที่ยวรวมประมาณ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 8.8 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและชดเชยรายได้จากภาคการส่งออก

          - ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด
          1) ข้อจำกัดที่ทำให้การส่งออกสินค้ายังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและไม่สามารถสนับสนุนการขยายตัวทาง
          เศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างเพียงพอ ได้แก่ (1) การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าส่งออก โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 แม้จะเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 แต่นับว่ายังเป็นระดับการขยายตัวที่ต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการส่งออก (เป็นระดับที่ใกล้เคียงกับการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.5 หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2554- 2557 ซึ่งเป็นช่วงที่มูลค่าการส่งออกของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง) (2)การอ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญๆ ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะเงินหยวนซึ่งมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการไหลออกของเงินทุน การลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ และการเข้าเก็งกำไรค่าเงินหยวนของนักลงทุนในตลาด Offshore ในขณะเดียวกันธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ประกาศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมโดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลาง และมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่ยังมีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม นอกจากนั้นสกุลเงินของประเทศสำคัญๆ ที่พึ่งพิงการส่งออกน้ำมันและสินค้าขั้นปฐมมีแนวโน้มอ่อนค่าลงตามการลดลงของราคาสินค้า การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลก เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกและการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลกลดลงจากปี 2558 อย่างต่อเนื่องและส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยในปี 2559 ลดลงร้อยละ 0.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 0.5 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 2.3 ในปี 2556 2557 และ 2558 ตามลำดับ

          2) เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเงินในประเทศจีนและประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวที่ไม่รุนแรงของเศรษฐกิจจีนในกรณีฐานดังกล่าวขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่สำคัญๆ ประกอบด้วย (1) การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับการขยายตัวในระยะยะยาวของเศรษฐกิจจีนรวมทั้งแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนและการไหลออกของเงินทุน (2) ขีดความสามารถของทางการจีนในการบริหารวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการไหลออกของเงินทุน การอ่อนค่าของเงินหยวน และขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาในภาคการเงินและการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน เช่นเดียวกับความเสี่ยงต่อปัญหาวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสินค้าขั้นปฐม มีหนี้สินต่างประเทศสูงและสกุลเงินอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เช่น เวเนซูเอล่า และ บราซิล เป็นต้น
          3) ราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลก ฟื้นตัวช้า ผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ราคาน้ำมันลดลง และสกุลเงินในประเทศผู้ส่งออกอ่อนค่าลง คาดว่าราคาของยางพารา ปาล์มน้ำมัน และราคาพืชพลังงานต่างๆ จะฟื้นตัวช้า จึงคาดว่าการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวจะยังเป็นข้อจำกัดสำหรับฐานรายได้ในภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง
          4) ผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ยังมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงตามสถานการณ์ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศและปริมาณน้ำฝนในปี 2559 ซึ่งข้อมูลจากศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือเกษตรในฤดูแล้ง กรมชลประทาน ล่าสุด ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 ยังมีปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ที่ 14,043 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่า 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงเดียวกันของปีก่อน

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2559
          1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.2 ตามลำดับ ปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 และร้อยละ 3.8 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอเช่นรัสเซีย ตะวันออกกลาง บราซิล มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมัน
          2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเป็นการปรับลดจาก 36.0-37.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่คาดว่าธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มของการผ่อนคลายนโยบายการเงินท่ามกลางแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวน
          3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 32.0 - 42.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคา 50.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2558 และต่ำกว่าข้อสมมติฐาน 50 - 60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจาก (1) อุปทานส่วนเกินน้ำมันดิบยังอยู่ในระดับสูงจากความพยายามในการปกป้องส่วนแบ่งตลาดของกลุ่ม OPEC และการกลับมาผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นของอิหร่านหลังจากถูกยกเลิกการคว่ำบาตร รวมทั้งสหรัฐฯ ยกเลิกกฎหมายห้ามส่งออกน้ำมันดิบ (2) อุปสงค์น้ำมันยังอ่อนแอตามเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (3) ฤดูหนาวที่ไม่รุนแรง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันในช่วงฤดูหนาวลดลง (4) สต็อกน้ำมันของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง โดยในเดือนธันวาคม 2558 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ถึงร้อยละ 35.6 และ (5) การแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์และการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน
          4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ (-1.0) - 0.0  เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.3 ในปี 2558 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 0.5-1.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเป็นระดับที่ต่ำกว่าปี 2558 เช่นเดียวกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ (-2.5) - (-1.5) เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 10.8 ในปี 2558  และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 - 2.0 ตามแนวโน้มการลดลงของราคาน้ำมันดิบดูไบและราคาวัตถุดิบในตลาดโลก
          5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 คาดว่าจะมีจำนวน 32.5 ล้านคน เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 จากจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคนในปี 2558 ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.65 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จาก 1.52 ล้านล้านบาทในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ความสงบของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ (2) ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ และ (3) การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยเสี่ยงจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการเงินของจีนโดยที่ค่าเงินหยวนก็มีแนวโน้มอ่อนค่าลง
          6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 93.4 ของวงเงินงบประมาณ ประกอบด้วยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่อัตราร้อยละ 98.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนอัตราร้อยละ 75.0 (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 75.0 (3) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 70.0 (4) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณ ประกอบด้วย เงินกู้ตามโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการ DPL โครงการน้ำและถนน อีกประมาณ 66,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 44,200 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 (5) การเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 56,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ร้อยละ 93.0 ของวงเงินรวม

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559:
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.8 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อในช่วงร้อยละ  (-0.1) - (0.9) และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.2 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับช่วงการประมาณการลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.0 - 4.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 โดยมีเหตุผลหลักของการปรับประมาณการ ดังนี้
          1) การปรับลดสมมติฐานการประมาณการของเศรษฐกิจโลกและการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออกซึ่งส่งผลให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          2) การปรับเพิ่มอัตราเบิกจ่ายและวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 เพิ่มเติม ในวงเงิน 56,000 ล้านบาท

          - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายเพื่อบริโภค การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7  เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2558 และปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ราคาน้ำมันที่ยังคงปรับตัวลดลงส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค (2) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค (3) การดำเนินนโยบายของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ (4) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของตลาดรถยนต์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของรายจ่ายภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัดจากแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของราคาสินค้าเกษตรและมีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากสถานการณ์ปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภคภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ดีขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2558 และสูงกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.4 ในปี 2558 แต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในการประมาณการครั้งก่อน  โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2558 แต่ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในการประมาณครั้งก่อนเนื่องจากการใช้อัตรากำลังการผลิตยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตามข้อจำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ การลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 11.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 29.8 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.6 ในปี 2558 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในการประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออกที่ต่ำลงตามราคาน้ำมัน และการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่ต่ำกว่าที่คาด เมื่อรวมกับการส่งออกบริการซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.5 ดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2558 แต่เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งก่อน
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.3 ในปี 2558 และการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก (1) การปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 - 2.0 เป็นร้อยละ (-2.5) - (-1.5) และ (2) การปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2558
          5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 34.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 34.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเกินดุล 29.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 32.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 8.2 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.7 ต่อ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้าเป็นองค์ประกอบหลัก
          6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ (-0.1) - (0.9) เทียบกับร้อยละ -0.9 ในปี 2558 ทั้งนี้เป็นการปรับลดจากเฉลี่ยร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2559
          ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยจะยังคงเผชิญกับข้อจำกัดจากการที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ในขณะที่การผลิตและฐานรายได้ของประชาชนในภาคการเกษตรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยที่ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกก็ฟื้นตัวช้า ดังนั้นในปี 2559 นี้ จึงต้องเร่งขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจภายในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องจากในปี 2558 การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2559 ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลฐานรายได้เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การดูแลขับเคลื่อนการส่งออกและการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญๆ ดังนี้
          1) การดำเนินการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และ
          สามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559 โดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตามแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความพร้อมประกวดราคาและจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในปี 2559 (คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2559 ประมาณ 66,834 ล้านบาท) โครงการตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระยะเร่งด่วน (คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2559 ประมาณ 33,865 ล้านบาท) และโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่สอง (คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปี 2559 ประมาณ 4,517 ล้านบาท)
          2) การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วเพื่อดูแลรายได้เกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้แล้วเสร็จตามกำหนด โดยการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการสำคัญๆ ที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว ประกอบด้วย มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อยระดับหมู่บ้านและระดับตำบล (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กันยายน 2558 และวันที่ 6 ตุลาคม 2558) โครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรชาวสวนยาง (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558) และโครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 มกราคม 2559)
          3) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว อาทิ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน  มาตรการเร่งรัดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะด่วน  รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกในการชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญๆ สำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC)
          4) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ปี พ.ศ. 2559 - 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV และการแสวงหาตลาดการค้าบริการในกลุ่มบริการที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ ตลอดจนลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ
          5) การส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทย ในคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่สำคัญและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเช่น ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

                                                                ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559 1
                                                        ข้อมูลจริง                        ประมาณการ
                                                  ปี 2557         ปี 2558      ณ 16 พ.ย. 58      ณ 15 ก.พ. 59
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)                    13,132.2       13,537.5         14,123.6        14,038.4
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                         195,995.2      201,342.8        209,378.0       208,115.0
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               404.3          395.2            386.9           390.0
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)                  6,033.6        5,878.2          5,736.4         5,781.0
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                        0.8            2.8        3.0 - 4.0       2.8 - 3.8
การลงทุนรวม (CVM, %)                                 -2.4            4.7              6.3             4.9
ภาคเอกชน (CVM, %)                                   -1.0           -2.0              4.7             3.2
ภาครัฐ (CVM, %)                                      -7.3           29.8             11.2            11.2
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                            0.6            2.1              2.6             2.7
การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                            2.1            2.2              3.2             3.7
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                 0.2            0.1              3.1             2.5
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                224.8          212.1            220.0           214.7
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                          -0.3           -5.6              3.0             1.2
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/                           0.7           -3.4              2.0             1.7
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                -5.3           -0.4              4.0             3.3
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                200.2          177.5            190.3           179.8
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                          -8.5          -11.3              5.4             1.3
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                         -6.8           -0.6              3.9             3.5
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                          24.6           34.6             29.6            34.8
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                     15.4           34.8             22.2            32.1
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                               3.8            8.9              5.7             8.2
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                        1.9           -0.9        1.0 - 2.0      (-0.1)-0.9
GDP Deator                                           1.0            0.3        1.0 - 2.0      (-0.1)-0.9

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 15 กุมภาพันธ์ 2559

หมายเหตุ:  1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
          2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ