ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ปี 2559 และแนวโน้มปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 12:05 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559

          (%YoY)             2557           2558                       2559
                             ทั้งปี      Q3     Q4      ทั้งปี      Q1      ทั้งปี(f)
GDP (CVM)                    0.8     2.9    2.8      2.8     3.2     3.0-3.5
การลงทุนรวม                  -2.4    -2.6    9.4      4.7     4.7         4.2
ภาคเอกชน                    -1.0   -10.1    1.9     -2.0     2.1         2.1
ภาครัฐ                       -7.3    21.9   41.2     29.8    12.4        11.7
การบริโภคภาคเอกชน             0.6     1.8    2.6      2.1     2.3         2.3
การบริโภคภาครัฐบาล             2.1     2.3    4.8      2.2     8.0         3.9
มูลค่าการส่งออกสินค้า  1         -0.3    -4.7   -7.9     -5.6    -1.4        -1.7
ปริมาณ      1                 0.7    -1.8   -5.4     -3.4     1.1        -0.7
มูลค่าการนำเข้าสินค้า 1          -8.5   -14.5  -13.2    -11.3   -14.4        -4.6
ปริมาณ      1                -6.9    -3.1   -2.5     -0.6    -7.2        -1.1
ดุลบัญชีเดินสะพัด                 3.8     7.3   10.4      8.0    16.6         9.4
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                       1.9    -1.1   -0.9     -0.9    -0.5     0.1-0.6
หมายเหตุ:  1 ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2559  ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสสี่ปี 2558 และเป็นการขยายตัวในอัตราสูงสุดในรอบ 12  ไตรมาส เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสสี่ปี 2558 ร้อยละ 0.9 (QoQ_SA) สูงขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา
          - ด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐและการส่งออกบริการท่องเที่ยวขยายตัวสูงเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐสำหรับช่วยเหลือเกษตรกรและ ผู้มีรายได้น้อย การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร็วขึ้น ในด้านการผลิต ขยายตัวในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และก่อสร้างขยายตัวสูง การคมนาคมขนส่ง และการค้าส่งค้าปลีก ขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมยังลดลง
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 เร่งขึ้นจาก การขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวต่อเนื่องจาก  (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว (2) แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558 - มีนาคม 2559  (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง (4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ (5) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.7 การบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (2) ประสิทธิภาพการดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว (3) การดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ (4) การฟื้นฟูเกษตรกรและเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลราคาปัจจัยการผลิต การเริ่มต้น การประกันภัยพืชผล และการรวมแปลงการผลิต เป็นต้น (5) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมปัจจุบันและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคต (S-Curve/New  S-Curve) (6) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การส่งออก ของไทยปี 2559 ของกระทรวงพาณิชย์ และ (7) การดูแลภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยว เช่น การแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัย รวมทั้งการแก้ปัญหาความแออัดและความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า  ในด้านการใช้จ่าย การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกบริการขยายตัวสูงและสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาคเอกชน ในด้านการผลิต ขยายตัวในเกือบทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูง สาขาการคมนาคมขนส่ง และสาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่สาขาเกษตร และสาขาอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง และ เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2558  ร้อยละ 0.9 (QoQ_SA)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2559
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่รายจ่ายภาคบริการและการบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) การใช้กระแสไฟฟ้า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงเนื่องจากมีการเร่งซื้อไปแล้วในช่วงก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในวันที่  1 มกราคม 2559 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 63.5 เทียบกับระดับ 63.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาครัฐ ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 41.2 ในไตรมาสสี่ปี 2558 (ในไตรมาสสี่ปี 2558 เพิ่มขึ้นสูงจากฐานการเบิกจ่ายที่ต่ำ ประกอบกับมีการเบิกจ่ายภายใต้โครงการระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน) ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกนี้การลงทุนภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 16.2 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายการลงทุนในส่วนท้องถิ่น ประกอบกับการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 10.0 ในขณะที่ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในหมวดก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.4 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          3) การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 52,257 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 สินค้าส่งออกที่ลดลง เช่น ยางพารา  มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น สินค้าส่งออกที่ขยายตัว เช่น รถยนต์นั่ง ข้าว และน้ำตาล เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และ CLMV ลดลง แต่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) และออสเตรเลีย ขยายตัว เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 5.1 ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1,862 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
          4) สาขาอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยางและพลาสติก อาหารและเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เคมี เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ยานยนต์ สิ่งทอ และอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3
          5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 9.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรกในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ตามลำดับ รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 494.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.8
          6) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 11.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 23.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวทั้งการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชน โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 14.9 ซึ่งเป็นผลจาก การก่อสร้างของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 13.9  ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารชุดที่อยู่อาศัย ตามแนวรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม
          7) สาขาเกษตรกรรม ลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากผลผลิต พืชเกษตรสำคัญลดลงจากผลกระทบของภัยแล้ง พืชผลสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน สำหรับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 5.2 เมื่อรวมกับการลดลงของปริมาณผลผลิตส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 7.0

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยมีค่ากลางที่ร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.8 ในปี 2558  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งยังขยายตัวในเกณฑ์สูงและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากปี 2558 ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายและกรอบงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ 33,362.7 ล้านบาท (2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558 - มีนาคม 2559 จำนวน 10 มาตรการ วงเงินรวม 645,354 ล้านบาท (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูง (4) ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของภาคเอกชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง และ (5) แนวโน้มการปรับตัว ดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.7 การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.3 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2559 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้
          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของรายจ่ายบริโภคสินค้าไม่คงทน ในไตรมาสแรกของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลขยายตัวร้อยละ 8.8 และร้อยละ 5.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.7 และร้อยละ 6.0 ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในภาคครัวเรือน และดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ขยายตัวร้อยละ 11.0 และร้อยละ 11.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.2 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงร้อยละ 26.6 และร้อยละ 7.7 ตามลำดับ เนื่องจากมีการเร่งซื้อรถยนต์ไปมากแล้วในช่วงไตรมาสก่อนหน้า ก่อนที่จะมี การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในวันที่ 1 มกราคม 2559  ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 63.5 เทียบกับระดับ 63.6 ในไตรมาสก่อนหน้า
          การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวทั้งการลงทุนในหมวดก่อสร้างและการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรในไตรมาสแรกของปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลง ร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการก่อสร้างอาคารชุดและที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม ขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.3 และร้อยละ 3.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 17.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ  ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 90 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 211.6 ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงสามไตรมาสก่อนหน้า  ส่วนยอดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 109 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 49.9 เทียบกับการลดลงร้อยละ 52.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.4 เทียบกับระดับ 49.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า
          การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาสินค้าส่งออกและการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก แต่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2559 มีมูลค่า 52,257 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1  แต่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 ทั้งนี้ การลดลงของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย  2 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา และ (2) ราคาสินค้าส่งออกลดลงต่อเนื่องตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งลดลงร้อยละ 15.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.9) ราคาเคมีภัณฑ์ลดลง ร้อยละ 6.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.6) ราคายางพาราลดลงร้อยละ 22.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.9) ราคาข้าวลดลงร้อยละ 16.6 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.3) และราคาน้ำตาลลดลงร้อยละ 12.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.3) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 8.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,862 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.6 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกข้าว ยางพารา และน้ำตาล แต่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 9.3 ใกล้เคียงกับการลดลงร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.1 จากการส่งออกไปยังประเทศจีน อินโดนีเซีย และโกตดิวัวร์ ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 16.6  มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.1 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 11.8 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.3
          มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 22.2 เนื่องจากราคาส่งออกที่ลดลงร้อยละ 22.7 ในขณะที่ปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เนื่องจากปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.0 จากการส่งออกน้ำตาลไปยังตลาดอาเซียนในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ12.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงต่อเนื่องร้อยละ 1.8 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 14.9 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 42.7 ตามลำดับ เนื่องจากราคาส่งออกลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 74.8 ตามการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และตะวันออกกลาง มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 3.3 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 193.5 เป็นผลมาจากการขยายตัวสูงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 230.7 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 2,750 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 5.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้มีการส่งออก เพื่อทำกำไร
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญๆ ลดลง ทั้งตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และCLMV แต่การส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) และออสเตรเลีย ขยายตัว การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และจีน ลดลงต่อเนื่องร้อยละ 3.2 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจยุโรป ในขณะที่การส่งออกไปตลาดออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2  การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) กลับมาขยายตัวร้อยละ 3.9 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 9.1 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในขณะที่การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ไตรมาส ร้อยละ 4.0 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศกัมพูชาเป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 0.6 ในขณะที่การส่งออกไปยังตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 11.3
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า ในไตรมาสแรกของปี 2559 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 38,956 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 14.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 13.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้าร้อยละ 7.7 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์ รวมทั้งปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 7.2 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการนำเข้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 12.5 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.6 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,389 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.5 เทียบกับ การลดลงร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
          ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และหมวดอื่นๆ ลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 19.1 เนื่องจากราคานำเข้าและปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 13.1 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.5 เป็นผลจากราคานำเข้าที่ลดลงร้อยละ 0.8 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าทุนสำคัญๆ เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมขยายตัวตามการลงทุนเพื่อรองรับโครงข่าย 4G รวมทั้ง หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้าที่ขยายตัวตามการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายตัวร้อยละ 2.7 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าร้อยละ 4.0 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.2 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเครื่องประดับ (ยกเว้นไข่มุกและอัญมณี) เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งลดลงร้อยละ 51.3
          อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.4 แต่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 7.7 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 115.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 117.9 ในไตรมาสแรกของปี 2559 เทียบกับ 111.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          ดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้น ดุลการค้าในไตรมาสแรกของปี 2559 เกินดุล 13,301 ล้านดอลลาร์ สรอ. (473,324 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 9,637 ล้านดอลลาร์ สรอ. (345,269 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 7,480 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของผลผลิตพืชเกษตรสำคัญซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 เป็นการลดลงต่อเนื่อง 6  ไตรมาส สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.9 โดยผลผลิตข้าวเปลือก  มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจาก (1) ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรปลูกข้าวล่าช้า ส่งผลให้บางพื้นที่ปลูกข้าวได้เพียงรอบเดียว ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ภาครัฐจึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง (2) ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้ผลผลิตบางส่วนเสียหายและมีขนาดเล็กกว่ามาตรฐาน (3) ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง และ (4) ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ปาล์มน้ำมันได้รับปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ และส่งผลให้ผลผลิตลดลงโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางพารา ไม้ผล ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น สำหรับราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.2 เนื่องจากการลดลงของราคาข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลัง และประมง โดย (1) ราคาข้าวเปลือกลดลงตามกลไกของตลาดเนื่องจากผลผลิตบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้คุณภาพข้าวไม่ได้มาตรฐาน (เช่น เมล็ดลีบ เมล็ดไม่เต็ม และเมล็ดหัก) (2) ราคายางพาราลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจจีน (ผู้นำเข้ารายใหญ่) ชะลอตัว ขณะที่อุปทานยางในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง (3) ราคามันสำปะหลังลดลงเนื่องจากผลผลิตมันสำปะหลังที่ออกสู่ตลาดมีขนาดไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งการลดลงของราคาพืชพลังงานในตลาดโลก และ (4) ราคากุ้งลดลงเนื่องจากผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดมีมากเกินความต้องการของผู้ประกอบการห้องเย็นและโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ อย่างไรก็ตาม ราคา ไม้ผล และปศุสัตว์เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม้ผลออกสู่ตลาดน้อยลงและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการ และความต้องการบริโภคผลผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้นทั้งเนื้อสุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เป็นต้น  การลดลงทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 7.0
          สาขาอุตสาหกรรม: ปรับตัวลดลงเนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมการผลิตหมวดยานยนต์  หมวดเครื่องแต่งกาย หมวดสิ่งทอ และหมวดอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 1.1 โดย (1) การผลิตหมวดยานยนต์ลดลงร้อยละ 3.3 ภายหลังจากที่ได้มีการเร่งผลิตในไตรมาสก่อนหน้าเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ซึ่งสอดคล้องกับการลดลงของยอดขายภายในประเทศในไตรมาสนี้ (2) การผลิตหมวดเครื่องแต่งกายและหมวดสิ่งทอลดลงร้อยละ 25.4 และร้อยละ 9.6 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายและสิ่งทอยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงปรับลดปริมาณการผลิตลงเพื่อรอการฟื้นตัวของตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ และ (3) การผลิตหมวดอุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ลดลงร้อยละ 4.1 เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์จากประเทศไทยไปยังประเทศในอาเซียน ประกอบกับความต้องการคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและแบบพกพาในตลาดโลกลดลง อัตราการใช้กำลังการผลิตในไตรมาสนี้เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 67.3
          อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ 16.5) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 8.2) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 6.7) ยางและพลาสติก (ร้อยละ 3.2) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 3.0) อาหารและเครื่องดื่ม  (ร้อยละ 2.3) และผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (ร้อยละ 1.2)
          อุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ปิโตรเลียม (ร้อยละ -0.9) หลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ -2.9)  ยานยนต์ (ร้อยละ  -3.3) อุปกรณ์วิทยุโทรทัศน์ (ร้อยละ -4.1) อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ -5.9) สิ่งทอ (ร้อยละ -9.6) เครื่องหนัง (ร้อยละ -11.1) ฮาร์ดดิสไดร์ฟ (ร้อยละ -18.5) ยาสูบ (ร้อยละ -20.6) และเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ -25.4)
          สาขาก่อสร้าง:ยังขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชน ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 11.2 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 23.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 14.9 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 15.3 และร้อยละ 13.9 ตามลำดับ) ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 54.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 7.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการก่อสร้างอาคารชุดที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และการก่อสร้างโรงงาน ด้านราคาวัสดุก่อสร้างลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.1 เป็นการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ยกเว้นหมวดกระเบื้อง หมวดวัสดุฉาบผิว และหมวดสุขภัณฑ์ ที่ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง โดยหมวดดัชนีราคาที่ลดลงมากที่สุด คือ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกต่ำจากอุปทานส่วนเกินสูง
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านอุปสงค์ การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ (มาตรการการลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2559) ในด้านอุปทาน ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.2 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการเร่งสร้างที่อยู่อาศัยให้แล้วเสร็จทันมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ในขณะที่จำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่1 ลดลงร้อยละ 14.2 เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการระบายที่อยู่อาศัยคงค้างที่มีอยู่ ในด้านราคา ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 รองลงมาเป็นราคาอาคารชุด และราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้ และอัตราการเข้าพัก ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 โดยในไตรมาสนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวของนักท่องเที่ยวภูมิภาค เอเชียตะวันออก ยุโรป อเมริกา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา แสดงถึงสัญญาณความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวเกือบทุกภูมิภาค นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวหลังจากการลดลงต่อเนื่อง 7 ไตรมาส จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก  ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ตามลำดับ รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 494.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 69.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.8
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและจำนวนนักท่องเที่ยว ในไตรมาสแรกของปี 2559 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะในหมวดยอดขายสินค้าคงทน (เช่น การขายส่งของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ)  ยอดขายสินค้า ขั้นกลาง และยอดขายสินค้าไม่คงทน (เช่น การขายส่งอาหาร การขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น) ในด้านการค้าปลีกดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในหมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป หมวดสินค้า ไม่คงทน (เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม) และหมวดสินค้าคงทน  ในขณะที่หมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร แต่การจ้างงานภาคเกษตรลดลงในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสแรกของปี 2559 การจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยเฉพาะสาขาก่อสร้าง สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ซึ่งเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.8 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ ขณะที่การจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนการจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 2.7  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภัยแล้งที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติ ส่งผลให้แรงงานในภาคเกษตรบางส่วนเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่ภาคบริการมากขึ้น สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 369,890 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2559 (มกราคม - มีนาคม 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 491,106.5 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญ ได้แก่ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น 11,973 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.3 และการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันดีเซลส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 8,713.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.6 รวมทั้งการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาต 4G ย่าน 900 MHz จำนวน 8,602.8 ล้านบาท
          รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,077,034.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 6.4
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 747,278.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.4 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559  การเบิกจ่ายจำนวน 604,316.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.3 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 22.2 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 21.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 509,287.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 23.3 สูงกว่าร้อยละ 22.3 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 95,028.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.8 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 17.7 ต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน) (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 75,643.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 26.4 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 24.6 สูงกว่าร้อยละ 17.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)  (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ หลังหักรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 2,758.6 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายงบลงทุน 56,913.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการปรับลดแผนการลงทุนของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)2อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 10,404.5 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 8,562.7 ล้านบาท เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 540.0 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 768.2 ล้านบาท และเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 533.6 ล้านบาท
          รวม 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 1,411,970.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.6 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 51.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 52.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 51.4 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 163,184.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 38.3 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 30.4 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 40.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 28.4 ในปีงบประมาณก่อนหน้า)
          ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 307,832.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.7 ของงบเหลื่อมปี ที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่ามีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 134,861.1 ล้านบาท3 และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 40,148.0 ล้านบาท
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 201,336.0 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการขาดดุลมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 44.9 เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 29,663.5 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 47,720.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิหลังกู้ 183,279.5 ล้านบาท เทียบกับการขาดดุล 58,226.5 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 508,503.5 ล้านบาท และขาดดุล เงินนอกงบประมาณ 27,483.9 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลดังกล่าวไปแล้ว 313,023.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุล 222,964.4 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมกับเงินคงคลัง  ณ สิ้นงบประมาณ 2558 ที่มีจำนวน 426,181.9 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2559 อยู่ที่ 203,217.5 ล้านบาท ลดลงจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 ร้อยละ 52.3
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,005,787.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.8 ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,652,533.7 ล้านบาท (ร้อยละ 40.3 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 353,253.5 ล้านบาท (ร้อยละ 2.5 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,415,351.8  ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,044,482.4 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 528,523.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.5 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 8.8 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสแรกของปี 2559 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในการประชุมเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 และ 23 มีนาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจหลักมีทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น กล่าวคือ ธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ร้อยละ 0.00 ต่อปี และขยายมาตรการ QE เป็น 8 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน (จาก 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน) โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ขณะที่ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (BOJ) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.10 ต่อปีในเดือนมกราคม 2559 และยังคงขนาดมาตรการ QE ไว้ที่ระดับเดิมคือ ขยายฐานปริมาณเงินปีละ 80 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.25-0.50 ต่อปี สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซียและไต้หวัน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.75 และ 1.50 ต่อปี (อินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องทั้งไตรมาส ขณะที่ไต้หวันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3) นอกจากนี้ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 0.25 และ 0.15 ตามลำดับ ล่าสุดในเดือนเมษายน 2559  อินเดียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.50 ต่อปี
          ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดิม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยปรับตัวลดลงร้อยละ 0.03 และร้อยละ 0.65 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.41 และร้อยละ 1.60 ต่อปี ตามลำดับ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 6.93 และร้อยละ 8.62 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างคงทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.40 และร้อยละ 1.73 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย MLR ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.52 และร้อยละ 6.78 ต่อปี ตามลำดับ
          ล่าสุดในเดือนเมษายน 2559  ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางทุกแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.25 ทำให้อัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และขนาดกลางปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 6.27 และร้อยละ 6.68 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.06 เป็นร้อยละ 6.72 ต่อปี เนื่องจากสถาบันการเงินต้องการรักษาฐานลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มจะไประดมทุนในตลาดทุนมากขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนลงร้อยละ 0.02 ร้อยละ 0.08 และ ร้อยละ 0.13 ตามลำดับ ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอยู่ที่ร้อยละ 1.38  ร้อยละ1.33 และ ร้อยละ 1.60 ต่อปี ตามลำดับ
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.86 และร้อยละ 6.98 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
          ล่าสุดเดือนเมษายน 2559  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ร้อยละ 1.31 และร้อยละ 6.20 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้น
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 2.3 ในไตรมาสแรกของปี 2559 โดยเป็นการชะลอตัวลงของเงินฝาก ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน เนื่องจากผลตอบแทนจากการฝากเงินลดลง ทำให้ผู้ฝากเงินลงทุนหรือออมเงินในรูปแบบอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า
          สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบ ขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 (สินเชื่อสาขาการเกษตร และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว และสินเชื่อสาขาอุตสาหกรรมการผลิตหดตัว ในขณะที่สินเชื่อสาขาก่อสร้างยังขยายตัวในเกณฑ์ดี)  และสินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 5.6 ชะลอลงจากการขยายตัวจากร้อยละ 6.1 (สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินลดลง สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ชะลอตัว ในขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวดี) การชะลอตัวของสินเชื่อในไตรมาสนี้มีสาเหตุมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว และจากการที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน และการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้มีต้นทุนที่ต่ำลงตามการลดลงอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ประกอบกับการปรับกฎเกณฑ์ในการออก ตราสารหนี้ให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น จึงทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น  แต่ธุรกิจ SME ยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
          สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวลดลง ขณะที่สภาพคล่องส่วนเกิน4 ในระบบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 97.8 ลดลงจาก ร้อยละ 99.3 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวช้ากว่าการขยายตัวของปริมาณเงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) และสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 1,636.6 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า เป็น 1,901.2 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ Net R/P และสินทรัพย์ต่างประเทศ
          ค่าเงินบาทในไตรมาสแรกแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. และการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นตลอดทั้งไตรมาส เนื่องจาก (1) การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ภายหลัง FED มีมติคงอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมในเดือนมกราคมและมีนาคม และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป   (2) การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน และ (3) เงินทุนจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคและไทยมากขึ้น โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี 2559 อยู่ที่ 35.65 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเฉลี่ย 35.84 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.5  แต่อ่อนค่าลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 และเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง ดัชนีค่าเงินบาท5 (NEER) เฉลี่ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ 106.7  แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า แต่อ่อนค่าลงร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) อ่อนค่าลงร้อยละ 0.4 และ ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สะท้อนว่าระดับ เงินเฟ้อของประเทศเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าประเทศคู่ค้าคู่แข่ง จึงทำให้ REER เคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลง
          ในเดือนเมษายน 2559 เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากผลการประชุม FED ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า FED จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือนเมษายนอยู่ที่ 35.09 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.4  เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่ 3-13 พฤษภาคม ค่าเงินบาทกลับมาเคลื่อนไหว ในทิศทางที่อ่อนค่าลง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35.17 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) เคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2559 SET Index ปิดที่ 1,407.70 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ร้อยละ 9.3 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยเป็น 45.2 พันล้านบาทต่อวัน จาก 45.4 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสก่อนหน้า ตลอดทั้งไตรมาส SET Index เคลื่อนไหวผันผวนตาม ความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรป โดยการเพิ่มมาตรการขยายปริมาณเงิน ควบคู่กับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำคัญๆ รวมทั้งการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น  ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดภูมิภาคมากขึ้น และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ SET Index ปรับตัวสูงขึ้นถึง 1,400 จุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิเป็นไตรมาสแรกนับจากสิ้นปี 2557  ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดอื่นในภูมิภาคที่เงินทุนจากต่างประเทศไหลกลับเข้ามามากขึ้น
          ในเดือนเมษายน 2559  SET Index ยังคงเคลื่อนไหวผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ ในภูมิภาค และมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือน ก่อนหน้า ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในภูมิภาคในปริมาณที่ลดลงจากเดือนมีนาคม ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดขายสุทธิ 5.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นในภูมิภาค  อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนเมษายนมีแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะในหลักทรัพย์สาขาก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอนุมัติโครงการลงทุนภาครัฐด้านคมนาคมขนส่ง ทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 1,404.61 จุด ใกล้เคียงกับเดือนมีนาคม
          อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ลดลงทุกช่วงอายุตามความต้องการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับสูง และสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ทุกช่วงอายุ ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2558 อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะพันธบัตรช่วงอายุระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับลดลง 80 Basis points  เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 6.1 ตามการซื้อสุทธิของ นักลงทุนต่างชาติที่สูงถึง 160.9 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 97.1 พันล้านบาทต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณพันธบัตรในตลาดมีน้อยกว่าความต้องการลงทุนในพันธบัตรที่ยังอยู่ในระดับสูงตามการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศสู่ตลาดทุนในภูมิภาค โดยมีสาเหตุหลักจากการดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงิน อย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป และอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมทั้งแนวโน้มการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
          ในเดือนเมษายน 2559 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 111.6 พันล้านบาทต่อวัน ดัชนีราคาพันธบัตรยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของนักลงทุนในประเทศ ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดพันธบัตรไทย 5.3 พันล้านบาท เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำ และปริมาณพันธบัตรที่มีอยู่จำกัด หลังจากการซื้อสุทธิในช่วงเดือนก่อนหน้า
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2559 แม้ว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างมาก แต่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนโดยตรง และลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 6.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16,420 ล้านดอลลาร์ สรอ. (585,060 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 10,182 ล้านดอลลาร์ สรอ. (364,974 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 8,440  ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจาก การเกินดุลการค้า 13,301 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3,119 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 175.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 13.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 13.5 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2559)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ -0.5 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากราคาเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 1.3 เนื่องจากราคาพลังงานลดลง  ซึ่งเป็นผลจาก (1) ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับราคาลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และ (2) การปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนมกราคมถึงเมษายน 2559 ที่ลดลง 4.80 สตางค์ต่อหน่วย ตามการลดลงของต้นทุนก๊าซธรรมชาติ ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 11.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 14.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เทียบกับร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า
          ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสแรกของปี 2559 ลดลงร้อยละ 2.6 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 3.0 ใน ไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของราคาในทุกหมวดทั้งผลผลิตเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์จากเหมือง และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ และราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 2.5 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และโลหะขั้นมูลฐานและผลิตภัณฑ์โลหะ

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสแรกของปี 2559
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7  ในไตรมาสแรกของปี 2559 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 32.51 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจาก 52.95 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วที่ร้อยละ 37.6 และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรกของปี 2559 ลดลงจากไตรมาสที่สี่ของปี 2558 ร้อยละ 22.6
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC  มาอยู่ที่เฉลี่ย38.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 37.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน)  ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 95.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 94.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน) (2) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,128 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบ คงคลังของกลุ่ม OECD ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,797 ล้านบาร์เรล) และ (3) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2559
          เศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกของปี 2559 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการขยายตัวต่ำกว่า การคาดการณ์ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนท่ามกลางความผันผวนของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วงต้นไตรมาส รวมทั้งความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น  การชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เมื่อรวมกับความวิตกกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีนในช่วงต้นไตรมาส เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวลดลงและสร้างแรงกดดันต่อการลดลงของเงินเฟ้อในประเทศต่างๆ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารประเทศสำคัญๆ อื่นๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ทั้งในญี่ปุ่น จีน และยุโรป เพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด  การเปลี่ยนแปลงของนโยบายการเงินท่ามกลางความวิตกกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและ การเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินตราสกุลสำคัญๆ เริ่มมีความผันผวนมากขึ้น โดยเงินดอลลาร์ สรอ. เริ่มกลับมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยนและเงินยูโร ในขณะที่เงินหยวนเริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงต้นไตรมาส
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาสและต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด  ในไตรมาสแรกของปี 2559 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.9  ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 โดยมีสาเหตุจากการลดลงของการส่งออก การลงทุนในสาขาเหมืองแร่และพลังงานและการสะสมสินค้าคงคลัง รวมทั้งการชะลอตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร และการบริโภคภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.1 การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำและการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ  โดยในไตรมาสแรกของปี 2559 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.6 เท่ากับการขยายตัวใน ไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของการจ้างงานและการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องซึ่งส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.0 ลดลงจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันที่  10 มีนาคม 2559 โดย (1) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยข้ามคืน (Main Refinancing rate) เป็นร้อยละ 0.00  (2) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเสริมสภาพคล่องให้กับระบบสถาบันการเงิน (Marginal Lending Facility) เป็นร้อยละ 0.25 (3) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินที่ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility) เป็นร้อยละ -0.4 (4) เพิ่มวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) เดือนละ 2 หมื่นล้านยูโรและขยายขอบเขตสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อครอบคลุมหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน และ (5) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ แก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ (TLTRO II)
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น การฟื้นตัวยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยเครื่องชี้สำคัญๆ ในไตรมาสแรกยังแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงจากผลกระทบของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการแข็งค่าของเงินเยน ในขณะที่ยอดค้าปลีกภายในประเทศฟื้นตัวอย่างช้าๆ และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมในวันที่ 29 มกราคม 2559 โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ ติดลบ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณโดยการซื้อสินทรัพย์ปีละ 80 ล้านล้านเยน  เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเงินกู้สู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น
          - เศรษฐกิจจีน ชะลอตัวลงสู่การขยายตัวต่ำสุดในรอบ 7 ปี แต่แรงกดดันจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่อนคลายลง ในไตรมาสแรกของปี 2559 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจาก การขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2558 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 โดยมีสาเหตุจากการชะลอตัวของยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งการส่งออกที่ หดตัวเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งทางด้านความผันผวนและการปรับตัวลดลงของดัชนีหลักทรัพย์ การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วของเงินหยวนท่ามกลางการไหลออกของเงินทุนและการลดลงอย่างรวดเร็วของทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่อเนื่องมาจากครึ่งหลังของปี 2558 เริ่มผ่อนคลายลงและส่งผลให้เงินหยวนมีเสถียรภาพมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางจีนยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากการไหลออกของเงินทุนที่มีต่อสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ผ่านข้อตกลงสัญญาซื้อคืนพันธบัตร (Reverse repos) ระยะ 7 วัน เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2559 มูลค่า 2.5 แสนล้านหยวน รวมทั้ง การลดอัตราส่วนเงินสำรอง (RRR) ลงอีกร้อยละ 0.5 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559
          - เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ชะลอลง ทั้งในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง ในขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม ตามการหดตัวของการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอทั้งด้านการผลิตและการบริโภคภาคครัวเรือน เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนใหญ่ชะลอลง ตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ฟื้นตัวช้าๆ และ การส่งออกส่วนใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่อง

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2559
          เศรษฐกิจโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นช้าๆ จากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 3.0 ในปี 2558 และเป็นการปรับลดการคาดการณ์จากร้อยละ 3.3 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกยังชะลอตัวและขยายตัวต่ำกว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 และส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกล่าช้าออกไป นอกจากนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปียังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจาก (1) เศรษฐกิจจีนที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างต่อเนื่องและความวิตกกังวลต่อปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะลดลงจากช่วงต้นปี (2) ผลประชามติเรื่องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (3) การปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องของราคาน้ำมันส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่พึ่งพิงการส่งออกน้ำมันและสินค้าขั้นปฐมโดยเฉพาะในประเทศที่ประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (4) ข้อจำกัดในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศสำคัญๆ ทั้งในด้านหนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์สูงและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
          ในกรณีฐานคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.4 เท่ากับการขยายตัวในปี 2558 โดยเศรษฐกิจ มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากไตรมาสแรกซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่ ทำให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 4.9 ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าเงินดอลลาร์ ที่เริ่มอ่อนค่าลงและการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็นครึ่งปีหลังเพื่อสร้างความมั่นใจว่า  (1) เศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวชัดเจนจากการขยายตัวต่ำในไตรมาสแรก (2) ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกลดลงและ (3) อัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงิน เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.7 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปีก่อนหน้าโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายซึ่งทำให้ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นและอุปสงค์ในประเทศฟื้นตัว ในขณะที่ความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจทำให้ข้อจำกัดทางด้านการคลังลดลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก  ความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำประชามติของสหราชอาณาจักรและความรุนแรงของปัญหา การก่อการร้าย ในขณะที่ความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งยังทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งผลจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบและการขยายปริมาณเงินเพิ่มเติมในช่วงต้นปี รวมทั้งทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2558 เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ในขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงที่ผ่านมาก็ตาม เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินเยน รวมทั้งลดความเสี่ยงจาก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงิน เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2558 ตามแนวโน้มการชะลอตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ภายประเทศ ข้อจำกัดทางด้านการส่งออก และผลกระทบจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินตลอดช่วงที่ผ่านมาและการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าร้อยละ 3.0 ของ GDP รวมทั้งคาดว่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ในกรอบเป้าหมายร้อยละ 6.5 - 7.0 ในขณะที่แรงกดดันจากเงินทุนไหลออก การเพิ่มขึ้นของภาระหนี้ และปัญหาเสถียรภาพในระบบการเงินจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้จะลดลงจากช่วงต้นปีก็ตาม ความล่าช้าในการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักทำให้เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียขยายตัว ได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ คาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกงและสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 2.8 ร้อยละ 1.5 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 0.8 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.0 ในปี 2558 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวตามอุปสงค์ในประเทศและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับต่ำ  โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซีย และเวียดนามขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 6.5 ชะลอลงจากร้อยละ 5.0 และร้อยละ 6.7 ในปี 2558 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 4.8 ในปี 2558 และเศรษฐกิจฟิลิปปินส์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ใกล้เคียงกับปี 2558

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม การขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและแข็งค่า และสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

          - ปัจจัยสนับสนุน

          1) การเร่งขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งขยายตัวในเกณฑ์สูงและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2558 ตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายและกรอบงบประมาณที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบเหลื่อมปี และ เงินนอกงบประมาณเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.3 ร้อยละ 26.4 และร้อยละ 85.3 ตามลำดับ ขณะที่การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวม ปตท.) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 และในช่วงที่เหลือของปี ยังมีเม็ดเงินที่จะถูกเร่งรัดเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 และงบประมาณปี 2560 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ 1,890,224.9  ล้านบาท (2) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ  312,956.0  ล้านบาท โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภายใต้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความพร้อม จำนวน 20 โครงการที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี 2559 อีกประมาณ 52,427.14 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่ายประมาณ 3,971.06 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปี 2559 (3) งบเหลื่อมปีซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายอีกประมาณ  134,307.3  ล้านบาท (4) วงเงินนอกงบประมาณ คาดว่ามีการเบิกจ่ายอีกประมาณ 29,100.0 ล้านบาท และ (5) กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายประมาณ 33,362.7 ล้านบาท
          2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - มีนาคม 2559  จำนวน 10 มาตรการ วงเงินรวม 645,354 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการสินเชื่อวงเงิน 517,500 ล้านบาท และมาตรการด้านการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ 127,854 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจากกรอบมาตรการดังกล่าวไปแล้ว 141,322 ล้านบาท แบ่งเป็นมาตรการด้านการใช้จ่าย 54,639 ล้านบาท และมาตรการสินเชื่อ 86,683 ล้านบาท และในช่วงที่เหลือของปี 2559 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจากกรอบมาตรการดังกล่าวอีกประมาณ 115,676 ล้านบาท แบ่งเป็น มาตรการ ด้านสินเชื่อ 62,357 ล้านบาท และมาตรการด้านการใช้จ่าย 53,319 ล้านบาท

ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 - มีนาคม 2559
          ในช่วงเดือนกันยายน 2558 - มีนาคม 2559 ภาครัฐได้มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวน 10 มาตรการ วงเงินรวม 645,354 ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการภาษี) เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs แบ่งเป็น มาตรการที่ประกาศในเดือนกันยายน 2558 - ธันวาคม 2558 จำนวน 6 มาตรการ  และมาตรการที่ได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมในเดือนมกราคม 2559 - มีนาคม 2559 จำนวน 4 มาตรการ วงเงินรวม 211,500 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มกราคม 2559) (2) โครงการบ้านประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 มีนาคม 2559 )  (3) มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559)  และ (4) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559) โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 141,322 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อ 86,683 ล้านบาท และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ 54,639 ล้านบาท และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 จะมีการเบิกจ่ายอีกประมาณ 115,676 ล้านบาท (เฉพาะมาตรการที่มีระยะเวลาการสิ้นสุดการดำเนินโครงการภายในปี 2559)

          3) จำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 และร้อยละ 27.7 ตามลำดับ เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 7.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก เช่น เอเชียตะวันออกและอเมริกาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 19.6 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากรัสเซียและแอฟริกาเริ่มฟื้นตัวและกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาสและ 3 ไตรมาส ตามลำดับ ในช่วงที่เหลือของปี จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปี จำนวน 33.0 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,685,166 ล้านบาท (ร้อยละ 12.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 10.4 และร้อยละ 10.6 ตามลำดับ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้จากการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี
          4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกอย่างช้าๆ และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2559 จะอยู่ในช่วง  35.0 - 45.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2558 ร้อยละ 50.9 และส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของภาคเอกชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
          5) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง จากการคาดการณ์ล่าสุดของ กรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2559

สถานการณ์ภัยแล้งและผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร
          ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร และต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 ปัญหาภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นส่งผลให้การผลิตภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 3.8 และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 2.8 แม้ว่า การขยายตัวของ GDP นอกภาคเกษตรจะสูงถึงร้อยละ 3.6 ก็ตาม
          ในครึ่งปีแรก ของปี 2559 การผลิตภาคเกษตรยังคงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2559 GDP  ภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 ในขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้การผลิตข้าวนาปรังทั้งปีลดลงร้อยละ 26.3 อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ความผิดปกติของอุณหภูมิน้ำทะเล ในมหาสมุทรแปซิฟิกและระบบบรรยากาศในเขตศูนย์สูตรที่สูงกว่าค่าปกติมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังแรง แต่จะ ลดระดับความรุนแรงลงและเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2559 ในขณะที่โอกาสของการเกิดภาวะลานีญาเพิ่มขึ้นจะเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี สอดคล้องกับผลการประมาณการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พบว่าการผลิตข้าวนาปีในปี 2559 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และส่งผลให้การผลิตข้าวรวมทั้งปีสูงกว่าปี 2558 ซึ่งจะช่วยให้การผลิตภาคเกษตรเริ่มกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          1) เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำอย่างต่อเนื่องจากปี 2558  ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน ในขณะที่เศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ อื่นๆ ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 6 ปี เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2559 ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากปี 2558
          2) การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา น้ำตาล และมันสำปะหลัง รวมทั้งราคาสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2558 ตามการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจโลกและการลดลงของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้ราคาส่งออกปรับตัวลดลง และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตร รายได้ของภาคการผลิตเพื่อการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
          3) ความเสี่ยงจากความผันผวนและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่ามูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559  จะลดลงต่อเนื่องร้อยละ 6.3 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ แต่การอ่อนค่าของเงินบาททำให้มูลค่า การส่งออกในรูปเงินบาทในช่วงเดียวกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และร้อยละ 7.7 ตามลำดับ ซึ่งช่วยชดเชยผลจากการที่ปริมาณการส่งออกและราคาส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ลดลงที่มีต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออก อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ และมีความเสี่ยงที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2558 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2559 โดยเฉพาะในกรณีที่สหรัฐฯ ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเป็นช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทปรับตัวลดลง
          4) ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ถึงแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันจะอยู่ในระดับต่ำ แต่สถาบันการเงินยังคงเพิ่มระดับความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SMEs และสินเชื่อครัวเรือน ที่ยังมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ทั้งนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ยังมีทางเลือกในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ แต่ธุรกิจ SMEs ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งต้องพึ่งพิงการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ถูกจำกัดวงเงินสินเชื่อหรือปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าในกลุ่มดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนในอนาคต

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2559
          1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ปรับลดลงจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามสถานการณ์เศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญๆ ในเอเชียที่ขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างล่าช้า
          2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยค่าเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2559 ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.51 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงที่เหลือของปี เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่า ก่อนที่จะเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงที่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมี ความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีถึงครึ่งปีหลัง
          3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.0 - 45.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล  ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 50.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานราคาเฉลี่ย 32.0 - 42.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจาก(1) แนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้เงินดอลลาร์ สรอ.  แข็งค่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และ (2) การลดลงของราคาน้ำมันทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในตลาดโลกเพิ่มขึ้น แม้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างล่าช้า ในขณะที่ปริมาณการผลิต นอกกลุ่มโอเปคโดยเฉพาะในอเมริกาเหนือเริ่มปรับตัวลดลงชัดเจนมากขึ้น (แท่นขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ในวันที่ 6 พฤษภาคม. 2559 มีจำนวน  328 แท่น ต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี ลดลงประมาณ ร้อยละ 80.0 เมื่อเทียบกับช่วงสูงสุดที่ 1,601 แท่น ในเดือน กันยายน. 2557) ซึ่งจะส่งผลให้สต็อกน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงตามลำดับและเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น
          4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ (-1.5) - (-1.0) เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.3 ในปี 2558  ปรับลดจากสมมติฐานการลดลงร้อยละ (-1.0) - 0.0  ในการประมาณการ ครั้งก่อน เนื่องจากราคาส่งออกในไตรมาสแรกของปีลดลงมากกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะราคาส่งออกสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นหดตัวร้อยละ 9.1 ในไตรมาสแรกของปี ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ (-4.5) - (-3.5) เทียบกับที่ลดลง ร้อยละ 10.8 ในปี 2558  และเป็นการปรับลดจากการลดลงร้อยละ (-2.5) - (-1.5) เนื่องจากราคานำเข้าในไตรมาสแรกลดลงมากกว่าคาดการณ์รวมทั้งการปรับตัวลดลงของราคานำเข้าสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ใช่น้ำมัน
          5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559 คาดว่าจะมีจำนวน 33.0 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จากจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคนในปี 2558 และปรับเพิ่มจากสมมติฐานนักท่องเที่ยวจำนวน 32.5 ล้านคนในการประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 จาก 1.52 ล้านล้านบาทในปี 2558 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงกว่าการคาดการณ์และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ความสงบของสถานการณ์ทางการเมือง ในประเทศ (2) ประเทศไทยยังเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ  (3) การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ และ (4) เศรษฐกิจรัสเซียเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น
          6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 92.9 ของวงเงินงบประมาณ แบ่งเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 72.0 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 70.0  (3) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 75.0 (4) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณ ประกอบด้วย เงินกู้ตามโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการ DPL โครงการน้ำและถนน อีกประมาณ 63,600 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 44,200 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 และ (5) การเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 56,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ประมาณ 33,362.7 ล้านบาท

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 อัตราเงินเฟ้อในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 16 พฤษภาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยปรับช่วงแคบลงจากร้อยละ 2.8-3.8 ในการแถลงข่าวครั้งก่อน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
          1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 3.2 ใกล้เคียงกับค่ากลางร้อยละ 3.3 ของช่วงประมาณการการขยายตัวทั้งปีร้อยละ 2.8 - 3.8 ในการแถลงข่าวครั้งที่ผ่านมา ประกอบกับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกินร้อยละ 3.5 ลดลงเพราะข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ก็มีน้อยมากเพราะไตรมาสแรกขยายตัวเกินร้อยละ 3.0 และยังมีปัจจัยบวกมาสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการสิ้นสุดลงของปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ดังนั้น สศช. จึงปรับช่วงการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แคบลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 - 3.8 เป็นร้อยละ 3.0 - 3.5 โดยมีค่ากลางการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3 เท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          2) การปรับปรุงองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามข้อมูลจริงในไตรมาสแรกของปี 2559 และสอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมทั้งการปรับลดสมติฐานราคาสินค้าส่งออกซึ่ง ทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งออกสินค้าต่ำกว่าในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา (2) ปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งทำให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการส่งออกบริการเพิ่มขึ้นและช่วยชดเชยแรงขับเคลื่อนของการส่งออกสินค้า และ (3) การปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณรวมประจำปีจากร้อยละ 93.4 เป็นร้อยละ 92.9 ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณภาครัฐตามการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 33,362.7 ล้านบาท ซึ่งผลสุทธิทำให้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น

          - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายเพื่อบริโภค การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2558 แต่ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการปรับลดการขยายตัวของการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ที่ยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจนทำให้การขยายตัวของฐานรายได้ภาคครัวเรือนยังมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงของฐานรายได้จากภาคการท่องเที่ยว และการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐจะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559
          2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2558 และปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในการประมาณการครั้งก่อน  โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2558 แต่ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการลงทุนในไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ และการใช้อัตรากำลังการผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำตามข้อจำกัดการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ทั้งอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและการลงทุนภาครัฐในโครงการสำคัญต่างๆ มีความก้าวหน้าและชัดเจนมากขึ้น ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 11.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 29.8 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น แต่ปรับเพิ่มจากการประมาณการครั้งก่อน ตามการขยายตัวได้สูงกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรก
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการหดตัวร้อยละ 5.6 ในปี 2558 แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในการประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานราคาส่งออก รวมทั้งการปรับลดปริมาณการส่งออกตามสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกที่ต่ำกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกบริการขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมาตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2558
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ 4.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.3 ในปี 2558 และปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก การปรับลดสมมติฐานราคานำเข้าจากการลดลงร้อยละ (-2.5) - (-1.5) เป็นร้อยละ (-4.5) - (-3.5) และการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 0.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2558
          5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 39.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 34.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเกินดุล 34.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 36.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 9.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.2 ต่อ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้า
          6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในปี 2558 และร้อยละ (-0.1) - 0.9 ในการประมาณการครั้งก่อน

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ
          เศรษฐกิจไทยในปี 2559 มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการขยายตัวใน 2 ปีที่ผ่านมาแม้จะอยู่ภายใต้ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังตกต่ำ และสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาภัยแล้งในช่วงครึ่งปีแรก การขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงยังคงพึ่งพิงการขยายตัวของภาครัฐและ การขยายตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคเกษตร ภาคการส่งออกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ยังเป็นไปอย่างช้าๆ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการภาครัฐและโครงการต่าง ๆ ให้มีความก้าวหน้าตามแผนปฏิบัติการซึ่งจะขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ และจะต้องดูแลภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคเอกชน โดยเฉพาะ ภาคเกษตรและภาคการส่งออกให้สามารถฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 ซึ่งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
          1) การเบิกจ่ายงบประมาณและการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้  ทั้งในด้านการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 ประมาณร้อยละ 92.9 ของกรอบงบประมาณ งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 งบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70.0 โดยเฉพาะการเร่งรัดการประกวดราคาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 ที่มีความพร้อมประกวดราคาในปี 2559 จำนวน 9 โครงการ วงเงินรวม 488,634.8 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงที่แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นเริ่มปรับตัวลดลง รวมทั้งการเบิกจ่ายเม็ดเงินนอกงบประมาณ 63,600 ล้านบาท และ การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประมาณ 33,362.7 ล้านบาท
          2) การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วให้สามารถเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 115,676 ล้านบาท เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs โดยเฉพาะมาตรการสำคัญๆ ที่ได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 จำนวน 4 มาตรการ ประกอบด้วย โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ โครงการบ้านประชารัฐ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร โดย ธ.ก.ส. และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 วงเงินรวม 211,500 ล้านบาท
          3) การลดความผันผวนและดูแลให้เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆโดยเฉพาะ (1) การลดลงของปริมาณการส่งออกและการลดลงของราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. (2) ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และ (3) ความเป็นไปได้ของการเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทมากขึ้น
          4) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม และมีโอกาสที่จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงปลายปี 2559 ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของภาคเกษตรมากขึ้น ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมดังกล่าวควรให้ความสำคัญกับการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลราคาปัจจัยการผลิตให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับการลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลกโดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของ ปิโตรเคมี การส่งเสริมการทำสัญญาเช่าที่ดินในลักษณะแบ่งปันผลผลิตแทนการคิดค่าเช่าที่ดินในลักษณะเหมาจ่าย การสนับสนุนด้านเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตที่เหมาะสมแก่เกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มหรือ รวมพื้นที่การผลิต และการประกันภัยพืชผล
          5) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว อาทิ มาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริมการลงทุน มาตรการเร่งรัดการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน มาตรการการเงินการคลัง เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในระยะด่วน รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกในการชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการที่สำคัญๆสำหรับพัฒนาประเทศในอนาคต เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC)
          6) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการส่งออก ปี 2559 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV และการแสวงหาตลาดการค้าบริการในกลุ่มบริการที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ รวมทั้ง การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ ตลอดจนลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของรัฐ
          7) การดูแลภาคการท่องเที่ยวโดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศและจัดกิจกรรมส่งเสริม การท่องเที่ยวในประเทศไทย ในคลัสเตอร์การท่องเที่ยวที่สำคัญ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา เช่น ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความแออัดและความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

                                                            ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559 1
                                                   ข้อมูลจริง                     ประมาณการ
                                             ปี 2557      ปี 2558       ณ 15 ก.พ. 59      ณ 16 พ.ค. 59
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)               13,132.2    13,533.6           14,034.3          14,034.3
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                    195,995.2   201,284.9          208,055.2         208,055.2
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)          404.3       395.1              389.8             389.8
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)             6,033.6     5,876.5            5,779.3           5,779.3
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                   0.8         2.8          2.8 - 3.8         3.0 - 3.5
การลงทุนรวม (CVM, %)                            -2.4         4.7                4.9               4.2
ภาคเอกชน (CVM, %)                              -1.0        -2.0                3.2               2.1
ภาครัฐ (CVM, %)                                 -7.3        29.8               11.2              11.7
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                       0.6         2.1                2.7               2.3
การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                       2.1         2.2                3.7               3.9
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)            0.2         0.2                2.5               2.0
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)           224.8       212.1              214.7             208.4
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                     -0.3        -5.6                1.2              -1.7
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                     0.7        -3.4                1.7              -0.7
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)           -5.3        -0.4                3.3               0.0
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)           200.2       177.5              179.8             169.3
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)  2/                    -8.5       -11.3                1.3              -4.6
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                    -6.9        -0.6                3.5              -1.1
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                     24.6        34.6               34.8              39.1
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                15.4        31.6               32.1              36.5
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                          3.8         8.0                8.2               9.4
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                   1.9        -0.9       (-0.1) - 0.9         0.1 - 0.6
GDP Deator                                      1.0         0.3       (-0.1) - 0.9         0.1 - 0.6
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 16 พฤษภาคม 2559

หมายเหตุ:   1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
           2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ