ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง ปี 2559 และแนวโน้มปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2016 11:49 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค           แถลงข่าว วันที่ 15 สิงหาคม 2559 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559

                                   2558                 2559
(%YoY)                          Q4      ทั้งปี      Q1      Q2        ทั้งปี(f)
GDP (CVM)                      2.8      2.8     3.2     3.5      3.0-3.5
การลงทุนรวม                     9.4      4.7     4.9     2.7          3.3
ภาคเอกชน                       1.9     -2.0     2.1     0.1          1.5
ภาครัฐ                         41.2     29.8    13.3    10.4         10.0
การบริโภคภาคเอกชน               2.6      2.1     2.3     3.8          2.7
การบริโภคภาครัฐบาล               4.8      2.2     8.0     2.2          3.9
มูลค่าการส่งออกสินค้า1             -7.9     -5.6    -1.4    -3.1         -1.9
ปริมาณ1                        -5.4     -3.4     1.1    -2.3         -0.9
มูลค่าการนำเข้าสินค้า1            -13.2    -11.3   -14.4    -7.8         -6.1
ปริมาณ1                        -2.4     -0.6    -7.3    -3.0         -2.6
ดุลบัญชีเดินสะพัด                  10.8      8.0    16.7     8.5          9.8
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                        -0.9     -0.9    -0.5     0.3      0.1-0.6
หมายเหตุ: 1 ตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทย
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสแรก และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส ที่สองปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสแรกปี 2559 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2559  เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.4
          - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ในด้านการผลิต สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาก่อสร้างขยายตัวสูงต่อเนื่อง การผลิตสาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งผ่อนคลายลงและราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559  คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ ที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง (2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559 (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง (4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตรซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.9  การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.8 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2559 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การเบิกจ่ายและการขับเคลื่อนโครงการของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ (2) การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้วให้สัมฤทธิ์ผล (3) การฟื้นฟูเกษตรกรและการเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลคุณภาพและราคาปัจจัยการผลิต การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ การประกันภัยพืชผล และการเตรียมมาตรการและจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว (4) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยการผลักดันและส่งเสริมให้ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วอย่างเต็มศักยภาพ และเร่งรัดโครงการลงทุนที่ได้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์การลงทุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ (5) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยสนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศในกลุ่ม CLMV การแสวงหาตลาดการค้าบริการในกลุ่มบริการที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ และลดความล่าช้าและข้อจำกัดในกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ และ (6) การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559 และแนวโน้มปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน การส่งออกบริการและ การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกสินค้าลดลงเนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ คู่ค้า ในด้านการผลิต การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวในเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะสาขาโรงแรมและภัตตาคารและสาขาก่อสร้างขยายตัวสูงต่อเนื่อง สาขาอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว และภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้รายได้เกษตรกรกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10  ไตรมาส และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559 ขยายตัวจาก ไตรมาสแรกของปี 2559 ร้อยละ 0.8 (QoQ_SA) รวมครึ่งแรกของปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัว ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 และร้อยละ 2.8 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2558

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทนโดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส ที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 26.6 ในไตรมาสก่อนหน้า  ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่องทั้งการใช้กระแสไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.1 เทียบกับ 63.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 2.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 10.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 11.5 และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 8.2 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในสิ่งก่อสร้างที่หดตัวร้อยละ 2.1 ในขณะที่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรยังขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 0.7 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.0 เทียบกับระดับ 49.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.8 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1
          3) การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 51,029 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและการลดลงของราคาสินค้าส่งออก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 สินค้าส่งออกที่ลดลงเช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ และปิโตรเคมี เป็นต้น สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเช่น รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ เป็นต้น การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปสหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ลดลงเมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 ในขณะที่การส่งออกในรูปเงินบาทมีมูลค่า 1,801 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การส่งออกมีมูลค่า 103,286 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.2 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 3,663,195 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2
          4) สาขาอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาส ก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตหมวดยานยนต์ และหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์  ยาสูบ และยานยนต์ เป็นต้น ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เครื่องแต่งกาย ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และเครื่องจักรสำนักงาน เป็นต้น  อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.2 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.6
          5) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 12.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 7.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้น โอเชียเนีย จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย ลาว และญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 387.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.7 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.3 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 58.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 881.9 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.1
          5) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 7.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวสูงต่อเนื่องร้อยละ 15.5 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 15.8 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 17.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสแรก
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 9.3 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัว ร้อยละ 16.4 และการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.2
          7) สาขาเกษตรกรรม ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาส ก่อนหน้า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง โดยผลผลิตมันสำปะหลังขยายตัว สำหรับราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7  (ในไตรมาสนี้ ราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส)
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.8 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 3.8 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2559
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 ซึ่งเป็นการคงประมาณการจากการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและ การลงทุนของภาครัฐที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2558 โดยในครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีเม็ดเงินภาครัฐ (งบประมาณประจำปี งบเหลื่อมปี และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 1,645,476.4 ล้านบาท  ในขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น (2) แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้ประกาศเพิ่มเติมในเดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559 ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอีกประมาณ 100,488 ล้านบาท (3) จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง  (4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายได้อย่างต่อเนื่อง และส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของภาคเอกชน และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตร ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่อนคลายลง และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ทั้งนี้ ในองค์ประกอบการขยายตัว คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลงร้อยละ 1.9  การบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.8 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2559 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้
          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวเร่งขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน และการขยายตัวต่อเนื่องของรายจ่ายบริโภคสินค้าไม่คงทน ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส ที่ร้อยละ 4.8 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 26.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันมากขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยที่การใช้กระแสไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ขยายตัวร้อยละ 10.3 ร้อยละ 11.9 ร้อยละ 10.4 และ ร้อยละ 3.9 ตามลำดับ การปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคเกษตร และการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.1
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ขยายตัว ร้อยละ 9.3 และร้อยละ 12.4 ตามลำดับ การลงทุนก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.1เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปริมาณการจำหน่ายกระเบื้องในประเทศ และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ลดลงร้อยละ 0.1 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 22.5 ตามลำดับ สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ 220 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 418.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 191.6ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนยอดการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 187 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 49.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.0 เทียบกับระดับ 49.4 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 0.8 และการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 2.2
          การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการลดลงของราคาสินค้าส่งออก แต่มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2559 มีมูลค่า 51,029 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 และราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 ทั้งนี้ การลดลงของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ (1) เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะอาเซียน ญี่ปุ่นและจีน และ (2) ราคาส่งออกที่ยังคงหดตัวตามการลดลงของราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาเคมีภัณฑ์ซึ่งลดลงร้อยละ 5.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.0) ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 4.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.5)  ราคายางพาราลดลงร้อยละ 15.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.0) ราคาข้าวลดลงร้อยละ 5.6 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.9) และราคามันสำปะหลังลดลงร้อยละ 11.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.1) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,801 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เทียบกับ การเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 103,286 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 อย่างไรก็ดี เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่ารวม 3,663 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.8 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 11.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.1 โดยเฉพาะข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาล ในขณะที่ราคาส่งออกสินค้าสำคัญๆ เช่น ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังลดลงต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเกษตรโดยรวมลดลงร้อยละ 2.2 การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.2
          เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 8.1 จากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศจีน สหรัฐอเมริกา และแคเมอรูน ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 5.6 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 37.0 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 11.2 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 22.4 มูลค่าการส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 8.4 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 15.5 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 11.7 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 14.5 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8  มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 5.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก รวมทั้งราคาสินค้าส่งออกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.1 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.8 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 10.4  ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 43.0 ตามลำดับ เนื่องจากราคาส่งออกที่อยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับอุปสงค์จากจีนลดลงภายหลังจากจีนขยายกำลังการผลิตสินค้าปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์นั่งขยายตัวร้อยละ 54.6 ตามการขยายตัวของการส่งออกไปตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และซาอุดิอาระเบีย มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 สินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 82.9 เป็นผลมาจากการขยายตัวสูงของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 111.0 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 1,825 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.6 ของมูลค่าการส่งออกรวม) เนื่องจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นหลังผลประชามติระบุว่าสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้มีการส่งออกทองคำเพื่อทำกำไร
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียขยายตัว แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน และอาเซียน (9) ลดลง การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียขยายตัว ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 13.1 ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และจีน ลดลงร้อยละ 7.5ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 10.3 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรป การส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) หดตัวร้อยละ 10.4 ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกไปตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 14.8 โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และการส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งหดตัวร้อยละ 3.5 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศเวียดนามและลาวเป็นสำคัญ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 8.2 และร้อยละ 8.1 ตามลำดับ
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้าลดลงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของทั้งปริมาณและราคานำเข้า ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 41,282 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 7.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 14.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคานำเข้า ร้อยละ 5.0 โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ และปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 3.0 เนื่องจากการลดลงของการนำเข้าในหมวดสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 8.3 ทั้งนี้ หากไม่รวม การนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 3.6 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,457 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การนำเข้าสินค้าคิดเป็นมูลค่า 80,237 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 11.1 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 5.2 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 6.3 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 2,846 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4
          ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุนลดลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดอื่นๆ ขยายตัว โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลาง ลดลงร้อยละ 12.9 เนื่องจากราคานำเข้าและปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 9.9 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแผงวงจรรวมและชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลง ร้อยละ 10.6 เป็นผลจากปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 11.7 ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า อากาศยาน และแท่นขุดเจาะน้ำมัน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 5.5 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าร้อยละ 5.6 ในขณะที่ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่า การนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 17.0 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ)  ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3
          อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจาก ราคาส่งออกลดลงเพียงร้อยละ 0.8 แต่ราคานำเข้าลดลงถึงร้อยละ 5.0 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 เป็น 115.4 ในไตรมาสที่สองของปี 2559 เทียบกับ 110.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  อัตราการค้าอยู่ที่ 116.6 เทียบกับ 111.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 6.3
          ดุลการค้าเกินดุล ดุลการค้าในไตรมาสที่สองของปี 2559 เกินดุล 9,747 ล้านดอลลาร์ สรอ. (344,093  ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 13,301 ล้านดอลลาร์ สรอ. (473,324 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และ การเกินดุล 7,858 ล้านดอลลาร์ สรอ. (262,222 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  ดุลการค้าเกินดุล 23,048 ล้านดอลลาร์ สรอ. (817,417 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 15,339 ล้านดอลลาร์ สรอ. (506,331 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: ลดลงเล็กน้อยแต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าตามสถานการณ์ภัยแล้ง ที่ผ่อนคลายลง ในขณะที่ราคาสินค้าและรายได้เกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 1.2 โดยผลผลิตข้าวเปลือก ยางพารา และปาล์มน้ำมันลดลงเป็นสำคัญ โดย (1) ผลผลิตข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 22.5 จากผลกระทบของภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก ภาครัฐจึงขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง (2) ผลผลิตยางพาราลดลงร้อยละ 4.6 เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 38.3 องศาเซลเซียส (สูงที่สุดเท่าที่มีการบันทึกมา) ส่งผลให้ได้น้ำยางน้อยกว่าปกติ (3) ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 15.7 เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้งทำให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตลดลงทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และ (4) ผลผลิตไม้ผลลดลงร้อยละ 0.1 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลัง ปศุสัตว์ และประมงเพิ่มขึ้น สำหรับราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรกและเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะ ปาล์มน้ำมัน ไม้ผล และปศุสัตว์ โดย (1) ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น และได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง (2) ราคาไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.1 เนื่องจากภาวะภัยแล้งทำให้ผลผลิตไม้ผลออกสู่ตลาดน้อยลง และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และ (3) ราคาปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เนื่องจากความต้องการบริโภคผลผลิตปศุสัตว์เพิ่มขึ้นทั้งเนื้อสุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ เป็นต้น ประกอบกับความต้องการหมูสดและเนื้อหมูแช่แข็งของไทยจากตลาดต่างประเทศทั้งจีนและสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ราคามันสำปะหลัง อ้อย และข้าวโพดลดลง การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7  เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบสิบไตรมาส
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  การผลิตสาขาเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 0.8 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 3.8 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ
          สาขาอุตสาหกรรม: การผลิตอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัว ตามการเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตหมวดยานยนต์ หมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์(โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ) และหมวดผลิตภัณฑ์เคมี เป็นสำคัญ ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.2 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 1.5 หลังจากการหดตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสแรก โดย (1) การผลิตหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนสายการผลิตเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์รุ่นใหม่ ประกอบกับอุปสงค์รถยนต์ในต่างประเทศขยายตัว โดยเฉพาะการส่งออกรถกระบะดัดแปลง (Pickup-based Passenger Vehicle: PPV) ที่ขยายตัวร้อยละ 101.9 และอุปสงค์รถยนต์ในประเทศขยายตัวจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่เข้าสู่ตลาด (2) การผลิตหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 โดยเฉพาะการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกไปยังเวียดนามและออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 83.6 และร้อยละ 55.1 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวมากขึ้นในช่วงฤดูร้อนและภาคอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศที่ขยายตัว และ (3) การผลิตหมวดการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 โดยเฉพาะ การผลิตเม็ดพลาสติกเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่ง และการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับประทินร่างกายเนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เพื่อดึงดูดผู้บริโภค อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.4 เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 63.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 18.5 ) ยาสูบ (ร้อยละ 15.6) ยานยนต์  (ร้อยละ 12.1) เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (ร้อยละ 5.0) อุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 4.1) ผลิตภัณฑ์เคมี (ร้อยละ 3.3) อุปกรณ์วิทยุ โทรทัศน์ (ร้อยละ 1.6) หลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 1.6) และปิโตรเลียมและถ่านหิน  (ร้อยละ 1.4)
          อุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ -26.9) ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (ร้อยละ -14.4) เครื่องจักรสำนักงาน (ร้อยละ -13.2) เครื่องหนัง (ร้อยละ -12.4) สิ่งทอ (ร้อยละ -9.8) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -5.0)  ยางและพลาสติก (ร้อยละ -4.6) ผลิตภัณฑ์แร่อโลหะ (ร้อยละ -3.2) และอาหารและเครื่องดื่ม (ร้อยละ -2.1)
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.6
          สาขาก่อสร้าง:การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวสูงต่อเนื่องแต่การก่อสร้างภาคเอกชนปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสแรก โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 15.5 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 15.8 และร้อยละ 14.7 ตามลำดับ) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 17.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.1 (การก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ การก่อสร้างอาคารโรงงาน และการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ 4.3 ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ) เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของเครื่องชี้สำคัญๆ ทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ซึ่งลดลงร้อยละ 22.5 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ สำหรับราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.2 โดยเป็นการลดลงของดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ได้แก่ หมวดซีเมนต์ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ในขณะที่หมวดสุขภัณฑ์ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามอุปทานเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 9.3 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 16.4 และร้อยละ 2.2 ตามลำดับ
          สาขาอสังหาริมทรัพย์: ขยายตัวต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ในขณะที่ราคายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 2.3 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสแรก โดยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 โดยเฉพาะเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 180.7 เนื่องจากเป็นเดือนสุดท้ายของมาตรการลดค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (มาตรการการลดค่าธรรมเนียมฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2559) และยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ในขณะที่ราคาที่ดินและราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 เนื่องจากกรมธนารักษ์ได้ประกาศใช้บัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินรอบบัญชี ปี พ.ศ. 2559 - 2562 โดยราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 25.0 จากรอบปี พ.ศ. 2555 - 2558 ส่วนราคาอาคารชุดและราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 2.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว และรายรับจากการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.8 ในไตรมาสแรก โดยในไตรมาสนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้น  โอเชียเนีย โดยนักท่องเที่ยวเอเชียตะวันออก (สัดส่วนร้อยละ 71.5) ขยายตัวร้อยละ 8.2 และนักท่องเที่ยวยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 13.8) ขยายตัวร้อยละ 10.7 (ซึ่งนักท่องเที่ยวจากรัสเซียกลับมาขยายตัวติดต่อกันเป็น ไตรมาสที่ 2 ในอัตราที่เร่งขึ้น) จำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ในไตรมาสนี้ ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย อินเดีย ลาว และญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 387.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.7 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 58.3 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 58.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.3 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 รายรับจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 881.9 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 64.1
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการขยายตัวต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัว ร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสแรก ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดยอดขายสินค้าคงทน (เช่น การขายส่งของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ เป็นต้น) และหมวดยอดขายสินค้าขั้นกลางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับหมวดยอดขายสินค้าไม่คงทน (เช่น การขายส่งอาหาร การขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น) ในด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป หมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น อาหาร และเครื่องดื่ม เป็นต้น) หมวดสินค้าคงทน หมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  การผลิตสาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรเป็นสำคัญ ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.9 ตามการจ้างงานภาคเกษตรที่ลดลงร้อยละ 6.2 เนื่องจากฝนที่ยังตกไม่ครอบคลุมพื้นที่ทำการเกษตร ทำให้ต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีบางส่วนออกไป รวมถึงมาตรการขอความร่วมมือของภาครัฐเพื่อลดการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้ง ส่งผลให้แรงงานภาคเกษตรที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวลดลง ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ตามการจ้างงานในสาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ ในขณะที่การจ้างงานสาขาอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.7  ตามการลดลงของการจ้างงานในหมวดผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และหมวดอุปกรณ์ที่ใช้ในทาง ทัศนศาสตร์ สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 411,100 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1
          เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2559 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.4 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 715,101.2 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การนำส่งรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีของส่วนราชการอื่นๆ เช่น การรับรู้เงินส่วนเกินจากการจำหน่ายพันธบัตรเป็นรายได้ 38,996 ล้านบาท และการชำระภาษีการพนันในส่วนของสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 11,982 ล้านบาท เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มมีการจัดเก็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลขยายตัวร้อยละ 10.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการภาคธุรกิจ และการใช้จ่ายภายในประเทศ
          รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,793,591.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.0 และสูงกว่าประมาณการร้อยละ 4.6
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 737,658.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.6 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 255 9 มีการเบิกจ่าย 636,302.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 20.2 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 23.4 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 และอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.6 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 534,787.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ ร้อยละ 24.2 สูงกว่าร้อยละ 20.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 101,514.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31.7 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 19.8 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)
          (2) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีการเบิกจ่ายจากงบกลางทั้งสิ้น 2,452.0 ล้านบาท (3) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 39,013.8 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.5 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 12.7 สูงกว่าร้อยละ 11.3 ใน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ หลังหักรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 1,287.7 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 54,979.6 ล้านบาท (รวม ปตท.) ลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการปรับแผนการลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจที่มีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (5) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 4,911.1 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 4,244.0 ล้านบาท เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 278.5 ล้านบาท เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 144.5 ล้านบาท และเงินเหลือจ่ายจากเงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 244.1 ล้านบาท
          รวม 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 2,048,072.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 10.5 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 75.3 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 73.0 และสูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 72.0 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 264,698.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 35.7 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 51.8 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 61.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 46.9 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า)
          ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 198,053.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 64.3 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจคาดว่ามีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 196,678.3 ล้านบาท(1) และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 45,059.1 ล้านบาท

          หมายเหตุ
          (1) ยอดวงเงินดังกล่าวได้คิดรวมการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐวิสาหกิจปี 2558 ในเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2558 เข้าไปด้วย

          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 69,297.2 ล้านบาท  ซึ่งเป็นการเกินดุลน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.5 แต่เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 99,224.2 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 62,157.0 ล้านบาท (ในช่วง 9 เดือนแรกรัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 375,180.0 จากกรอบวงเงินขาดดุล 390,000.0 ล้านบาท) ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 32,230.0 ล้านบาท น้อยกว่าการเกินดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77.4 ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลังอยู่ที่ 235,448.4 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.8
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่สาม มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,924,055.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.2  ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ  5,577,202.0 ล้านบาท (ร้อยละ 39.7 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 346,853.5 ล้านบาท (ร้อยละ 2.5 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,373,288.1  ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,021,940.4 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 517,517.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 73.8 ร้อยละ 17.3 และร้อยละ 8.7 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ในการประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 และ 22 มิถุนายน 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้สำหรับเป็นเครื่องมือรองรับการเผชิญกับความเสี่ยงในระยะต่อไป เช่นเดียวกับประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่คงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไว้เช่นเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 - 1.00 เพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกลับเข้าสู่ระดับเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ธนาคารกลางของอินโดนีเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องเป็นครั้งที่สี่นับตั้งแต่ต้นปี 2559 ขณะที่ฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
          ในเดือนกรกฎาคม 2559  มาเลเซียปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการปรับลดเป็น ครั้งแรกในรอบ 7 ปี ขณะที่ไต้หวันปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.125 ซึ่งเป็นการปรับลดเป็น ครั้งที่สองในปี 2559 เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ ล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2559 ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ออกมาตรการทางการเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการลงประชามติ Brexit โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี และดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน (QE) โดยการรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวงเงิน 6 หมื่นล้านปอนด์ต่อเดือน หรือ รวมทั้งสิ้น 4.35 แสนล้านปอนด์ และซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชน (UK corporate bonds) อีก 1 หมื่นล้านปอนด์
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลง โดยในไตรมาส ที่สองของ ปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.27 และร้อยละ 6.68 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนลงร้อยละ 0.02 และร้อยละ 0.14 ตามลำดับ มาอยู่ที่ร้อยละ 1.38 และร้อยละ 1.27 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.18 และร้อยละ 0.15 ตามลำดับ มาอยู่ที่ร้อยละ 1.55 และร้อยละ 6.63 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 0.10 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.70 ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR ลงร้อยละ 0.10 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.52 ต่อปี
          ล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2559  ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย รวมทั้งสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คงทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 1.00 และร้อยละ 5.89 ต่อปี ตามลำดับ ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป
          ล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2559  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.28 และร้อยละ 6.17 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลง
          เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) และสินเชื่อขยายตัวขึ้น เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E)ของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบขยายตัวร้อยละ 4.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.9 ในไตรมาสแรก ในขณะที่สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ4.5 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.3 ในไตรมาสแรก โดยสินเชื่อภาคครัวเรือนยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 5.1 แม้จะชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกก็ตาม และเมื่อปรับปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว พบว่าสินเชื่อภาคครัวเรือนในไตรมาสนี้ยังขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากการเร่งทำสัญญาเงินกู้ของผู้ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่สิ้นสุดโครงการในเดือนเมษายน ขณะที่สินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 หลังจากชะลอตัวลงมากในไตรมาสแรก โดยเป็นการขยายตัวในสินเชื่อภาคธุรกิจการเงิน เพื่อทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของกิจการในต่างประเทศ รวมถึงสินเชื่อของธุรกิจก่อสร้างเป็นสำคัญ (ขยายตัวร้อยละ 14.9 และ 13.8) ในขณะที่สินเชื่อในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง โทรคมนาคม อาหาร ขนส่งและโลจิสติกส์ อสังหาริมทรัพย์ และการเงิน มีการออกตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการระดมทุนที่ต่ำกว่าการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยในไตรมาสที่สองการระดมทุนในตราสารหนี้ขยายตัวร้อยละ 12.0 จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน
          ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองของปี 2559 แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า  โดยเคลื่อนไหวผันผวน ตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED และการคาดการณ์การขยายวงเงินในมาตรการ QE ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ในเดือนเมษายนเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น ก่อนที่จะอ่อนค่าลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมตามการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง โดยมีสาเหตุมาจาก (1) ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ทำให้คาดว่า FED จะเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปจึงทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง และ (2) ความคาดหวังต่อการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก ในไตรมาสที่สอง ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.0 แต่อ่อนค่าลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.0 อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ(2) เงินบาทอ่อนค่าลงร้อยละ 1.5 และร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 0.8 และร้อยละ 5.6  เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าและช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 7.6  เมื่อเทียบกับเฉลี่ยในครึ่งแรกของปี 2558

          หมายเหตุ
          (2) ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่า
          ดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

          ในเดือนกรกฎาคม 2559  เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน จากเงินทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ไทย เนื่องจากนักลงทุนคาดว่า FED จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ประกอบกับผลจากการลงประชามติของสหราชอาณาจักรให้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ทำให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักจะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม ส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 35.08 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.  แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และในช่วงวันที่ 1-11 สิงหาคม ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ย อยู่ที่ 34.86 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ทั้งนี้ค่าเงินบาทเฉลี่ย 7 เดือนแรก อยู่ที่ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ตลาดหลักทรัพย์เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่เพิ่มขึ้น โดยปิด ณ สิ้นไตรมาสที่ 1,445 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2559 ตามการฟื้นตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนขึ้น ทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย แม้ว่าผลการลงประชามติของสหราชอาณาจักรให้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 จะส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนต่อตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก แต่ผลกระทบเรื่อง Brexit ต่อ SET index เป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้น โดยในช่วงปลายไตรมาส ตลาดหลักทรัพย์ไทย รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ของประเทศอื่นในภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าประเด็นความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของ Brexit จะทำให้ FED เลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ประกอบกับประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มจะออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเพิ่มเติม จึงส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากต่างชาติเข้าตลาดทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่สองของปี 2559  นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทย 17.5 พันล้านบาท เทียบกับ 19.0 พันล้านบาทใน ไตรมาสแรกของปี 2559
          ในเดือนกรกฎาคม 2559  ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยมีนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิสูงถึง 44.0 พันล้านบาท เนื่องจากคาดว่าผลกระทบของ Brexit ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปอย่างล่าช้าและทำให้ FED ส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้กระแสเงินทุนต่างชาติยังคงไหลเข้าตลาดทุนในประเทศเกิดใหม่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย และมีความมั่นใจในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคมปิดที่ 1,524 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 จากเดือนก่อนหน้า
          อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในเกือบทุกช่วงอายุ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือนพฤษภาคม เนื่องจาก (1) ตลาดตอบรับการคาดการณ์ถึงแนวโน้มที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2559  (2) ราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงสุดในรอบปี (3) ปัจจัยในประเทศที่ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และ (4) นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ถึงอุปทานของพันธบัตรที่จะเพิ่มขึ้นจากการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) ซึ่งจะช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ผ่านการแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุน ปัจจัยดังกล่าวทำให้ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นใน ไตรมาสที่สองของปี 2559 โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้น 31 bps เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลลดลงจากระดับ 115.0 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นระดับ 112.8 ในไตรมาสนี้ โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิที่ 133.2 พันล้านบาท มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 98.2 พันล้านบาทต่อวัน
          ในเดือนกรกฎาคม 2559 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 10.6 พันล้านบาท ลดลงอย่างมากจาก 113.4 พันล้านบาทในเดือนมิถุนายน แม้ว่าผลจาก Brexit จะทำให้นักลงทุนทั่วโลกปรับการลงทุน เพื่อรับมือกับความผันผวนและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศอังกฤษและประเทศในยุโรป จนทำให้เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าในประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างต่อเนื่องก็ตามแต่เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดตราสารหนี้เป็นจำนวนมากในช่วงเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับลดลง และทำให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีผลตอบแทนมากกว่า (Search for Yields) เช่น ตราสารทุน เป็นต้น
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่องติดต่อกัน 12 ไตรมาส โดยในไตรมาสที่สองของปี 2559 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 4.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งที่เป็นการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการนำเงินออกไปฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) ถึงแม้ว่านักลงทุนต่างชาติยังคงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรง และการลงทุนในหลักทรัพย์และการกู้ยืมระยะสั้นจากต่างประเทศของภาคสถาบันรับฝากเงิน
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8,375 ล้านดอลลาร์ สรอ. (295,314 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 16,576 ล้านดอลลาร์ สรอ. (590,619 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 6,117 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจาก การเกินดุลการค้า 9,747 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 1,372 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 24,950 ล้านดอลลาร์ สรอ. (885,933 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 14,558 ล้านดอลลาร์ สรอ. (479,189 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 178.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 15.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 13 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สองของปี 2559)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2559 กลับมาเป็นบวกร้อยละ 0.3 หลังจากติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ ไตรมาสแรกของปี 2558 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากราคาอาหารสดโดยเฉพาะผักและผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลงร้อยละ 0.9  เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า  ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบเดือนมกราคมถึงเมษายน 2559 ที่ลดลง 4.80 สตางค์ต่อหน่วย และในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2559 ที่ลดลงอีก 33.29 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในไตรมาสนี้เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานลดลงร้อยละ 9.0 หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 11.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า(3)
          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบร้อยละ 0.1 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7
          ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ลดลงร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์จากเหมือง ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.5 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลงร้อยละ 12.8 เนื่องจากการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 หลังจากลดลงต่อเนื่องในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และปลาและสัตว์น้ำ(4)
          รวมครึ่งแรกของปี 2559  ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 2.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.9 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

          หมายเหตุ
          (3)ในเดือนกรกฎาคม 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 รวม 7 เดือนแรกของปี 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ ร้อยละ -0.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7
          (4)ในเดือนกรกฎาคม 2559 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.8 รวม 7 เดือนแรกของปี 2559  ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.9

2.  ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สองของปี 2559
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8  ในไตรมาสที่สองของปี 2559 ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 44.73 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 26.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 60.98 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล  และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สองของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ของปี 2559 ร้อยละ 37.6
          การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC  มาอยู่ที่เฉลี่ย39.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 37.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโลกในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 95.85 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 95.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน) (2) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECD (เช่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,093 ล้านบาร์เรล (สูงกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของกลุ่ม OECDในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 2,890 ล้านบาร์เรล) และ (3) เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะ ชะลอตัว ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ
          รวมครึ่งแรกของปี 2559 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 38.62 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงร้อยละ 31.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 56.55 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสองของปี 2559
          ในไตรมาสที่สองของปี 2559 การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เศรษฐกิจยุโรป และความอ่อนแอของพลวัตรการฟื้นตัวในเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจจีนที่ยังขยายตัวได้เท่ากับไตรมาสแรกและการขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการส่งออกที่หดตัว ช้าลงจากไตรมาสแรก
          ค่าเงินสกุลสำคัญๆ มีความผันผวนตลอดทั้งไตรมาสตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ และความวิตกกังวลจากผลกระทบจากผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร โดยค่าเงินดอลลาร์ สรอ.  เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า (Trade weighted) เริ่มอ่อนค่าลงนับจากช่วงต้นปีตามการคาดการณ์ การเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หลังการลงประชามติใน สหราชอาณาจักร ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนเข้าสู่ตลาดที่มีความปลอดภัยสูง (Safe heaven) เช่นเดียวกับเงินเยน ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินสกุลสำคัญอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์และเงินยูโรอ่อนค่าลงตามการเพิ่มขึ้นของความวิตกกังวลของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและ ความเป็นเอกภาพของอังกฤษและสหภาพยุโรป ในขณะที่สกุลเงินของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่อ่อนค่าลง ในช่วงหลังการลงประชามติ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาแข็งค่าขึ้นตามแนวโน้มการเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของประเทศสำคัญๆ ซึ่งทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเข้มแข็ง แม้กระนั้นก็ตาม เงินหยวนปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลงตามการปรับค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจีน
          ความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดและผลกระทบจากการลงประชามติใน สหราชอาณาจักร ทำให้ประเทศสำคัญๆ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องทั้งไตรมาส และเริ่มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดไตรมาส ธนาคารกลางจีนปรับลดค่าเงินลงร้อยละ 0.9 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559 ในขณะที่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 - 1.00 และล่าสุดในเดือนกรกฎาคม มาเลเซีย และไต้หวันประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 และร้อยละ 0.125 ตามลำดับ
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 3 ปี และต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาด ในไตรมาสที่สองของ ปี 2559 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสแรกของ ปี 2559 โดยมีสาเหตุจากการลดลงของการลงทุนนอกภาคที่อยู่อาศัยและการส่งออก ในขณะที่การสะสมสินค้าคงคลังมีมูลค่าลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ไตรมาส รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ และการลงทุนในภาคที่อยู่อาศัยหลังจากขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสแรกของปี 2558 อย่างไรก็ดี  การบริโภคภาคครัวเรือนขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ไตรมาส สอดคล้องกับตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบมากกว่า 8 ปี สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 1.1 การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ามกลางเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะกลับเข้าสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงจากการชะลอตัวและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ยังคงชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมส่งสัญญาณจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ชะลอตัวลงเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่สองของปี 2559 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ ยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นและภาคการผลิตชะลอตัว อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของการจ้างงาน  ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
          ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาติดลบที่ร้อยละ 0.1 ลดลงจากร้อยละ 0.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางยุโรปยังคงดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายระดับเดิม เนื่องจากต้องรอประเมินผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2559
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น การฟื้นตัวยังอยู่ในภาวะเปราะบาง โดยเครื่องชี้สำคัญๆ ในไตรมาสที่สองแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 9.5 และ ร้อยละ 4.6 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดค้าปลีกภายในประเทศหดตัวร้อยละ 1.5 และอัตราเงินเฟ้อกลับมาติดลบ ร้อยละ 0.4 เทียบกับร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางการแข็งค่าของเงินเยนซึ่งปรับตัวแข็งค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมาตรการผ่อนคลายการเงินไว้ที่ระดับเดิมหลังจากมีการ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับติดลบควบคู่กับการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณโดยการซื้อสินทรัพย์ปีละ  80 ล้านล้านเยน ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559
          - เศรษฐกิจจีน ยังขยายตัวได้ในกรอบเป้าหมายของทางการในขณะที่แรงกดดันจากปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศผ่อนคลายลงจากไตรมาสแรก ในไตรมาสที่สองเศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.7 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและ การค้าปลีก และการหดตัวช้าลงของการส่งออก อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามการชะลอตัวในการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงจากไตรมาสแรกและเงินหยวนอ่อนค่าลงตามการปรับลดค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารกลางจีน  ในขณะที่ธนาคารกลางจีนยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านข้อตกลงสัญญาซื้อคืนพันธบัตร (Reverse repos) ระยะ 7 วัน ควบคู่กับการดำเนินนโยบายการคลังผ่านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน
          - เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ที่สำคัญปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งเศรษฐกิจเกาหลีใต้ เศรษฐกิจฮ่องกง และเศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก เศรษฐกิจไต้หวันกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกที่เริ่มหดตัวช้าลง

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2559
          เศรษฐกิจโลกในปี 2559 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 3.1 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 และต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญๆ ในช่วงครึ่งปีแรกยังล่าช้ากว่าการคาดการณ์ (2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังยังมีข้อจำกัดเพิ่มเติมจากผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร  ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรซึ่งคาดว่าจะเริ่มชะลอตัวลงมากในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
          ในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในปี 2558 และต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้สูงกว่าครึ่งปีแรกโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของตลาดแรงงานที่ทำให้อัตราการว่างงานลดลง ค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 เท่ากับการขยายตัวในปีก่อนหน้า แต่เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 1.7 ในการคาดการณ์ครั้งก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่สองขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสหภาพยุโรปในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมากและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดรุนแรง (Deflationary spiral) เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 0.5 เท่ากับการขยายตัวในปี 2558 แต่ปรับลดจาก ร้อยละ 0.7 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมและเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 2 ปี ในขณะที่พลวัตรการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศยังอยู่ในภาวะอ่อนแอและความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 ชะลอลงจากร้อยละ 6.9 ในปี 2558 ตามแนวโน้มการชะลอตัวในครึ่งปีหลังซึ่งยังมีข้อจำกัดจากแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าสำคัญๆ โดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้  ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศสำคัญอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยคาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 2.9 ร้อยละ 0.9 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 2.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ร้อยละ 0.7 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.0 ในปี 2558 ตามลำดับเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 6.2 ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.8 ร้อยละ 5.9 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 6.7 ในปี 2558 ตามลำดับ
          ความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก รวมทั้งผลกระทบเพิ่มเติมที่เกิดขึ้นจากผลการลงประชามติใน สหราชอาณาจักรที่ส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน และระดับราคาสินค้าในตลาดโลก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศสำคัญๆ กลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารกลางประเทศสำคัญๆ และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหลังจากที่ได้เริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาสที่สอง และในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2559 และมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะมีการเลื่อนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปเป็นครึ่งแรกของปี 2560 เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมหลังจากการประเมินผลกระทบจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินรอบล่าสุดและผลกระทบจากการลงประชามติมีความชัดเจนมากขึ้น เช่นเดียวกับธนาคารกลางญี่ปุ่นซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินและดำเนินมาตรการเพื่อลดแรงกดดันจากการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งธนาคารกลางจีน ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 6.5 - 7.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ Brexit ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของจีนชะลอตัวลง

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2559
          เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว ราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกร อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังเผชิญกับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ รวมทั้งยังมีความเสี่ยงที่ค่าเงินบาทจะผันผวนและแข็งค่าในช่วงครึ่งปีหลัง

          - ปัจจัยสนับสนุน
          (1) การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากปี 2558 ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภาครัฐ (รวมงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1,488,023.2 ล้านบาท โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี และงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปีขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.3 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ตามกรอบงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นและประสิทธิภาพการเบิกจ่ายที่ปรับตัวดีขึ้นมาก เช่นเดียวกับการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 การเร่งขึ้นของเม็ดเงินภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญในครึ่งปีแรก ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะมีเม็ดเงินภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกประมาณ 1,645,476.4 ล้านบาท โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้น ตามความคืบหน้าของการดำเนินโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ซึ่งในปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ วงเงิน 50,099 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา 7 โครงการ วงเงิน 430,587 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 5 โครงการ วงเงิน  249,890 ล้านบาท
          (2)  แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ประกาศเพิ่มเติมในช่วงเดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559  จำนวน 11 มาตรการ วงเงินรวม 671,442 ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการภาษี) แบ่งเป็น มาตรการสินเชื่อวงเงิน  481,500  ล้านบาท และมาตรการด้านการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ  189,942  ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายในปี 2558 แล้ว 229,628 ล้านบาท และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายแล้ว 217,033 ล้านบาท (เบิกจ่ายในไตรมาสแรก ปี 2559 จำนวน 127,001 ล้านบาท และเบิกจ่ายในไตรมาสที่สอง ปี 2559 จำนวน 90,032 ล้านบาท)  และในช่วงที่เหลือของปี 2559 คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินจากกรอบมาตรการดังกล่าวอีกประมาณ 100,488 ล้านบาท
          (3) จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 16.6 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 881.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 และร้อยละ 18.5 ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจากตลาดหลัก ยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้ง จีน สหรัฐฯ และอาเซียน (ร้อยละ 22.3 ร้อยละ 14.2 และร้อยละ 9.8 ตามลำดับ) ในขณะที่นักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปและรัสเซียฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้น ในช่วงครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่ารวมทั้งปี 2559 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 33.5 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 1,735,271 ล้านบาท (ร้อยละ 12.4 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 12.1 และร้อยละ 13.9 ตามลำดับ

ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559
          ในช่วงเดือนกันยายน 2558 - เมษายน 2559 ภาครัฐได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ จำนวน 11 มาตรการ วงเงินรวม 671,442  ล้านบาท (ไม่รวมมาตรการภาษี)  เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs แบ่งเป็น มาตรการที่ประกาศในเดือนกันยายน 2558 - ธันวาคม 2558  จำนวน 6 มาตรการ  วงเงินรวม 450,942 ล้านบาท และมาตรการที่ได้มีการอนุมัติเพิ่มเติมในเดือนมกราคม 2559 - เมษายน 2559  จำนวน 5 มาตรการ วงเงินรวม 220,500 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มกราคม 2559) (2) มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งและมาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคการเกษตร โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559)  (3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559) (4) โครงการบ้านประชารัฐ  (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 มีนาคม 2559) และ (5) โครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 19 เมษายน 2559) โดยในครึ่งปีแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 217,033 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อ 128,407 ล้านบาท และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ 88,626 ล้านบาท  (โดยไตรมาสแรกของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 127,001 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อ 91,423 ล้านบาท และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ 35,578 ล้านบาท และไตรมาสที่สองของปี 2559 มีการเบิกจ่ายเม็ดเงินภายใต้กรอบมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้ว 90,031 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อ 36,984 ล้านบาท และมาตรการการใช้จ่ายภาครัฐ 53,047ล้านบาท) และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2559 จะมีการเบิกจ่ายอีกประมาณ 100,488 ล้านบาท

          (4) ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มทรงตัวจากระดับในไตรมาสที่สองของปี และคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2559 จะอยู่ในช่วง 35.0 - 45.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 50.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และส่งผลดีต่อกำลังซื้อที่แท้จริงของภาคเอกชน ลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจและเอื้ออำนวยให้สามารถดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
          (5) การปรับตัวดีขึ้นของรายได้เกษตรกร ซึ่งถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกของปี 2559 ก่อนที่จะเริ่มปรับตัว ดีขึ้นในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก  (1) ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลงและส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรเริ่มเข้าสู่ภาวะทรงตัวใน ไตรมาสที่สอง ในขณะที่ปริมาณฝนเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้การผลิตภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีฐานคาดว่าการผลิตภาคเกษตรในไตรมาสที่สามจะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ  8 ไตรมาสก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี และ (2) การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่ยาวนานในช่วงที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตในประเทศผู้ผลิตสำคัญๆ รวมทั้งปัญหาโรคระบาดกุ้งในประเทศคู่แข่งขันและแนวโน้มราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในครึ่งปีหลังยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          (1) เศรษฐกิจโลกยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในครึ่งปีแรกและผลกระทบเพิ่มเติมจากผลการลงประชามติในสหราชอาณาจักร  ซึ่งคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรเริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งส่ง ผลให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรป และประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศ ยูโรโซนและสหราชอาณาจักรขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่มีปัจจัยลบอื่นๆ เพิ่มเติมคาดว่าผลกระทบดังกล่าวต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังอยู่ในขอบเขตจำกัด  โดยในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2558 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 3.2 ในการคาดการณ์เดิม แม้กระนั้นก็ตาม พัฒนาการทางการเมืองใน สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปที่เป็นผลสืบเนื่องจากการลงประชามติ และท่าทีระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหลังการลงประชามติยังเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
          (2) ความผันผวนท่ามกลางแนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาท การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจสำคัญๆ ในช่วงครึ่งปีแรกและความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อตามกรอบนโยบายการเงินหลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักร ทำให้หลายประเทศเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่สองและต้นไตรมาสที่สาม ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปเป็นเดือนธันวาคม 2559 - ไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศสำคัญอื่นๆ มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เงินบาทเริ่มปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่เฉลี่ย 35.08 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ย 35.48 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 และเฉลี่ย 35.54 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในครึ่งหลังของปี 2558 ปัจจัยดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลงหลังจากขยายตัวต่อเนื่อง นับจากไตรมาสที่สามของปี 2558 และส่งผลกระทบต่อรายได้และสภาพคล่องในรูปเงินบาทของผู้ประกอบการในภาคส่งออก
          (3) ปัญหาการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้ ในช่วงวันที่ 10 - 12 สิงหาคม 2559 ยังไม่สามารถประเมินทิศทางได้ชัดเจน แต่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นช่วงระยะสั้นๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นแรงสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2559

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2559
          (1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2559 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ ปรับลดลงจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 3.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญๆ ในเอเชียขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะ ฟื้นตัวอย่างล่าช้า
          (2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ในช่วง 35.0 - 36.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเป็นการปรับให้แข็งค่ามากขึ้นจาก 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นตามกระแสเงินทุนไหลเข้าในตลาดเงินตลาดทุนมากขึ้นหลังจากผลประชามติของ สหราชอาณาจักรให้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป รวมทั้งการคาดการณ์ประเทศเศรษฐกิจหลักจะดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม และธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยล่าช้ากว่าคาดการณ์เดิม
          - (3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.0 - 45.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 50.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2558 และเป็นการคงสมมติฐานจาก การประมาณการครั้งก่อน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2559 ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 37.9 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีราคาน้ำมันจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบราคาสมมติฐาน และมีข้อจำกัดมากขึ้นที่จะปรับตัวสูงกว่ากรอบบนของช่วงสมมติฐาน เนื่องจาก (1) เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่ามากกว่าคาดการณ์เดิมจากผลกระทบของ Brexit (2) ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้าๆ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์เดิม (3) ปริมาณการผลิตนอกกลุ่มโอเปกโดยเฉพาะอเมริกาเหนือมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหากราคาน้ำมันปรับสู่ระดับคุ้มทุน โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐ ฯ ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2559 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6 มาอยู่ที่ 381 แท่น และ (4) สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐ ฯ ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงแม้ว่าในช่วงต้นไตรมาสที่สามของปี 2559 จะลดลงเล็กน้อย  (สต็อกน้ำมันดิบ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 523 ล้านบาร์เรล  เทียบกับระดับสูงสุดที่ 543 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 29 เมษายน 2559 หรือลดลงร้อยละ 3.8)
          (4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะลดลงร้อยละ (-1.5) - (-1.0) เทียบกับการลดลงตัว
          ร้อยละ 2.3 ในปี 2558  และเป็นการคงสมมติฐานจากการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคาส่งออกในไตรมาสที่สองปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในทุกกลุ่มราคาสินค้าส่งออก โดยราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวน้อยที่สุดในรอบ 11 ไตรมาส และ 6 ไตรมาส ตามลำดับ นอกจากนี้ราคาสินค้าประมงขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส เมื่อรวมกับราคาน้ำมันที่คาดว่าในไตรมาสที่สี่ มีแนวโน้มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนจะสนับสนุนให้ราคาส่งออกในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี 2559 กลับมาเป็นบวก และทำให้ภาพรวมในครึ่งปีหลังหดตัวน้อยลง ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ (-4.0) - (-3.0) เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.8 ในปี 2558  และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ (-4.5) - (-3.5) ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากราคานำเข้าในไตรมาสที่สองปรับตัวดีขึ้น โดยราคานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ไตรมาส และราคานำเข้าสินค้าทุนขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส  ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีราคานำเข้ามีแนวโน้มหดตัวช้าลงตามแรงสนับสนุนของราคาน้ำมัน
          (5) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2559(5) คาดว่าจะมีจำนวน 33.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 จากจำนวนนักท่องเที่ยว 29.9 ล้านคนในปี 2558 และปรับเพิ่มจากสมมติฐานนักท่องเที่ยวจำนวน 33.0 ล้านคนในการประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่รายรับจากการท่องเที่ยวในปี 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.74 ล้านล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 13.9 จาก 1.52 ล้านล้านบาทในปี 2558 เนื่องจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ (2) แนวโน้มนักท่องเที่ยวจากยุโรปและรัสเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียและการขยายตัวที่ดีขึ้นของยุโรป และ (3) ประเทศไทยยังคงเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะโซนยุโรป รัสเซีย และจีน
           หมายเหตุ
          (5) เป็นการปรับสมมติฐานก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นวงจำกัดและผลกระทบยังไม่มีความชัดเจน

          (6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 93.5 ของวงเงินงบประมาณ จำแนกเป็นอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำร้อยละ 98.5 และการเบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 72.0 (2) การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 60.0 (3) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีร้อยละ 77.0 (4) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณ ประกอบด้วย เงินกู้ตามโครงการไทยเข้มแข็ง โครงการ DPL และโครงการน้ำและถนน ประมาณ 56,193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 44,217 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2558 (5) การเบิกจ่ายจากกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 47,661.03 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายได้ประมาณ 5,026.9 ล้านบาท

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2559:
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2558 อัตราเงินเฟ้อในช่วงร้อยละ 0.1 - 0.6 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.8 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 15 สิงหาคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 3.5 ซึ่งเป็นการคงประมาณการจากการแถลงข่าววันที่ 16 พฤษภาคม 2559 แต่ปรับองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีเหตุผลจากการปรับสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญดังนี้
          (1) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 เป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.1 และการปรับสมมติฐานด้านอัตราแลกเปลี่ยนจาก 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.  ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 35.0 - 36.0 บาทต่อ ดอลลาร์ สรอ. ทำให้แรงขับเคลื่อนจากภาค การส่งออกสินค้าต่ำกว่าในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
          (2) การปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว(6) จาก 33.0 ล้านคน และ 1.69 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 33.5 ล้านคน และ 1.74 ล้านล้านบาท ตามลำดับ ในการประมาณการครั้งนี้ ส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกบริการเพิ่มขึ้น

         หมายเหตุ
          (6)  เป็นการปรับสมมติฐานก่อนเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นวงจำกัดและผลกระทบยังไม่มีความชัดเจน

          - องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          (1) การใช้จ่ายเพื่อบริโภค การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7  เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในปี 2558 และปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของรายได้ครัวเรือนภาคการเกษตรตามราคาสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะเริ่มกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง (2) การดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มเติมในช่วงวันหยุด (3) การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือนในไตรมาสที่สองสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในปี 2558 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน
          (2) การลงทุนรวมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2558 และ ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในการประมาณการครั้งก่อน  โดยการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ปรับลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมส่งออกยังมีข้อจำกัดจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำและทำให้ความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตล่าช้าออกไป อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงการใหม่ในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามบรรยากาศด้านการลงทุนทั้งในด้านความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความสงบอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก 68 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 เป็น 304 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 (หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 326.8) ซึ่งจะช่วยให้การลงทุนทั้งปีเริ่มกลับมาขยายตัวหลังจากการลดลง ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 2.0 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 10.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 29.8 ในปี 2558  ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น แต่ปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 11.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากการปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ
          (3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.6 ในปี 2558 แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากการลดลงร้อยละ 1.7 ในการประมาณการเดิม เนื่องจากการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกทั้งปีปรับตัวลดลงมากกว่าการประมาณการครั้งก่อน เมื่อรวมกับปริมาณการส่งออกบริการที่ขยายตัวสูงกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมาตามการปรับเพิ่มสมมติฐานของจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในปี 2558
          (4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 6.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.3 ในปี 2558 แต่ปรับลดลงจากการลดลงร้อยละ 4.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากการนำเข้าในช่วงครึ่งแรกของปียังคงต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ รวมทั้งการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการทั้งปีจะลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปี 2558
          (5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 41.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการเกินดุล 34.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 และเป็นการปรับเพิ่มจากการเกินดุล 39.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับลดประมาณการมูลค่าการนำเข้ามากกว่าการปรับลดประมาณการมูลค่าการส่งออก ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 38.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 9.8 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9.4 ต่อ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการเกินดุลการค้า
          (6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2559 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.1 - 0.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.9 ในปี 2558 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ
          ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยที่การท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และการผลิตภาคเกษตรจะฟื้นตัวและเริ่มสนับสนุนเศรษฐกิจได้ดีขึ้น แม้ว่าจะยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัวการบริโภคภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่การขยายตัวของการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการขยายการลงทุน อยู่ภายใต้ข้อจำกัดจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวต่ำและการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนสูง ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงยังต้องมุ่งเน้นการผลักดันขับเคลื่อนให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐให้มีความต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลเป็นไปตามเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวก แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถฟื้นตัวและดำเนินธุรกิจด้วยความคล่องตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2560 ทั้งนี้ โดยมีประเด็นเชิงนโยบายที่สำคัญๆ ประกอบด้วย
          (1) การเบิกจ่ายและการขับเคลื่อนการลงทุนของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งด้าน (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณกันไว้เหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของปีงบประมาณ 2559 ให้มีการเบิกจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 93.5 ร้อยละ 77.0 และร้อยละ 60.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ ตามลำดับ (2) การเพิ่มอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ซึ่งกรอบงบประมาณกำหนดไว้ในระดับใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2559 ควบคู่ไปกับการกำกับติดตามการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพื่อรักษาระดับการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 และขับเคลื่อนการลงทุนในปี 2560 ให้สามารถขยายตัวได้สูงขึ้นเพียงพอที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 การดำเนินการตามมาตรการที่อยู่ภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติ ไปแล้วให้สามารถเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 100,488 ล้านบาท เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ในช่วงที่ภาคเกษตรยังอยู่ในระแรกของการฟื้นตัวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว
          (2) การดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว ให้สามารถเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี ประมาณ 100,488 ล้านบาท เพื่อดูแลรายได้และสวัสดิการของเกษตรกรและประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ในช่วงที่ ภาคเกษตรยังอยู่ในช่วงแรกของการฟื้นตัวและการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกยังเผชิญข้อจำกัด
          (3) การฟื้นฟูเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560  โดยให้ความสำคัญกับ การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลคุณภาพปัจจัยการผลิตและราคาให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนและราคาสินค้าในตลาดโลก การดำเนินการตามโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกลุ่มและได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตร การสนับสนุนด้านเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตที่เหมาะสมแก่เกษตรกรที่มีการรวมกลุ่มหรือรวมพื้นที่ การผลิต การผลักดันให้มีการประกันภัยพืชผล รวมทั้งการเตรียมมาตรการและจัดหาตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว
          (4) การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว อาทิ มาตรการภาษีเพื่อการส่งเสริม การลงทุน มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งดำเนินมาตรการเชิงรุกชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการสำหรับอนาคตการพัฒนาประเทศ เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้ กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) ในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่กำหนดไว้ตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
          (5) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยมุ่งเน้น (1) การสนับสนุนผู้ประกอบการในการบริหาร ความเสี่ยงจากความผันผวนและการแข็งค่าของเงินบาท (2) การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการส่งออกของไทย ปี 2559 ของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมการค้าชายแดนเชื่อมโยงประเทศใน CLMV และการแสวงหาตลาดการค้าบริการในกลุ่มบริการที่ประเทศไทยมีความเป็นเลิศ รวมทั้งการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการแสวงหาตลาดศักยภาพใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวของกระบวนการทำงานและระเบียบปฏิบัติของภาครัฐ
          (6) การสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับ (1) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อเหตุการณ์ความไม่สงบ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและที่พำนักของนักท่องเที่ยว (2) การเร่งรัดหาตัวผู้กระทำผิดและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมในช่วงวันที่ 10 - 12 สิงหาคม 2559 รวมถึงการชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาประเทศถึงข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบ (3) การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว (4) ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจถึงและแนวทางรวมทั้งกำหนดกรอบระยะเวลาหลังการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 สู่การเลือกตั้ง รวมทั้งเจตนารมณ์และสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาและการปฏิรูปประเทศภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ และ (5) การประชาสัมพันธ์เชิงรุกและการดำเนินการตามแผนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่กำหนดไว้

                                                       ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2559 1
                                               ข้อมูลจริง                          ประมาณการ
                                        ปี 2557          ปี 2558       ณ 16 พ.ค. 59         ณ 15 ส.ค. 59
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)          13,132.2        13,533.6           14,034.3             14,034.3
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)               195,995.2       201,284.9          208,055.2            208,055.2
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)     404.3           395.1              389.8                395.3
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)        6,033.6         5,876.5            5,779.3              5,860.7
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)              0.8             2.8            3.0-3.5              3.0-3.5
การลงทุนรวม (CVM, %)                       -2.4             4.7                4.2                  3.3
ภาคเอกชน (CVM, %)                         -1.0            -2.0                2.1                  1.5
ภาครัฐ (CVM, %)                            -7.3            29.8               11.7                 10.0
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                  0.6             2.1                2.3                  2.7
การบริโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                  2.1             2.2                3.9                  3.9
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)       0.2             0.2                2.0                  2.5
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      224.8           212.1              208.4                208.0
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)2/                 -0.3            -5.6               -1.7                 -1.9
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/                 0.7            -3.4               -0.7                 -0.9
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)      -5.3            -0.4                0.0                 -1.3
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)      200.2           177.5              169.3                166.7
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %)2/                 -8.5           -11.3               -4.6                 -6.1
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/                -6.9            -0.6               -1.1                 -2.6
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                24.6            34.6               39.1                 41.3
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)           15.4            31.6               36.5                 38.6
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                     3.8             8.0                9.4                  9.8
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                              1.9            -0.9            0.1-0.6              0.1-0.6
GDP Deflator                               1.0             0.3            0.1-0.6              0.1-0.6
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 15 สิงหาคม 2559
หมายเหตุ:  1/เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
          2/ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ