เมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับการเคหะแห่งชาติ ได้จัดสัมมนาระดมความคิดเห็น เรื่อง "การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน : เมืองน่าอยู่" ขึ้น ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพมหานคร เพื่อประสานนโยบายการพัฒนาเมืองและระบบชุมชนให้เป็นไปตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 โดยมี นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเปิดการสัมมนา และผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชน ผู้แทนชุมชนและสื่อมวลชน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 200 คน
นายเกียรติศักดิ์ มัธยมางกูร ผู้อำนวยการกองประสานการพัฒนาเมือง สศช. ได้กล่าวรายงานว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งในเรื่องหลักการ แนวความคิด ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
จากนั้นนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองของประเทศไทยในอนาคตจะมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หากมิได้เตรียมการรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว อาจเกิดความไม่สมดุลในด้านสิ่งแวดลอมและเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้หน่วยงานในระดับปฏิบัติสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนผู้อยู่อาศัย "อยู่ดีมีสุข" มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมกัน โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เมืองน่าอยู่แล้วยังนำไปสู่องค์ประกอบที่สองคือ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดการลงทุน การขยายตัวของภาวะการจ้างงานและประชาชนมีรายได้ ส่งผลให้เมืองมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถประกอบธุรกิจในตลาดโลกได้ และองค์ประกอบสุดท้ายคือ การพัฒนาประชารัฐ เป็นการสร้างเอกภาพของสังคมด้วยการบริหารราชการอย่างโปร่งใส มีการบริหารจัดการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม
เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุดว่า ผลที่ได้จากการระดมความคิดในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการประสานนโยบายการพัฒนาเมือง สู่การปฏิบัติที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดประเด็นทิศทางการพัฒนาเมืองในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ต่อไป
สำหรับการสัมมนาในภาคเช้าเป็นการเสนอสาระสำคัญ "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยนายอุทิศ ขาวเธียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อจากนั้นเป็น "การอภิปรายให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการฯ เป็นประธานการอภิปราย ส่วนในภาคบ่ายเป็นการอภิปรายให้ข้อคิดเห็นในประเด็นเรื่อง "กระบวนการดำเนินงานและการบริหารจัดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยมีนายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการฯ สศช. เป็นประธานการอภิปราย
จากผลการสัมมนาสรุปได้ว่า ความเป็นเมืองน่าอยู่ควรมีความหมายครอบคลุมถึงความน่าอยู่ ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมและกายภาพ ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร มีสังคมที่เอื้ออาทร มีชุมชุนที่เข้มแข็งและผู้คนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน โดยองค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ควรพิจารณาจากลักษณะของเมืองน่าอยู่ 11 ประการตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ
1) เป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสะอาดปลอดภัย
2) มีระบบนิเวศน์อยู่ในภาวะสมดุลยภาพ
3) มีชุมชนที่เข้มแข็ง
4) ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
5) ประชาชนได้รับตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
6) ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข่าวสารและระดมความคิดเพื่อทำงานร่วมกันในชุมนุม
7) มีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย
8) มีการเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม
9) มีการพัฒนาอย่างกลมกลืนและส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีที่มีมาในอดีต
10) มีระบบการบริการทางสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง
11) ประชาชนมีสุขภาพดี อัตราการเจ็บป่วยต่ำ
นอกจากนี้การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ควรเน้นกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมโดยให้ความสำคัญกับคน คุณภาพชีวิต ปัจจัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ตลอดจนผลักดันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนจนในเมืองได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ด้านการประสานการดำเนินงานพัฒนาเมืองน่าอยู่นั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่บ่งชี้ลักษณะของความน่าอยู่ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนและท้องถิ่น โดยประชาชนและภาคีต่าง ๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน และการพัฒนาเมืองยั่งยืนควรเชื่อมโยงสู่พื้นที่ชนบทด้วย เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ชนบทได้รับโอกาสในการพัฒนาเช่นเดียวกับชุมชนเมือง ทั้งยังช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการกำหนดเครื่องชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ ควรจะต้องมีความชัดเจนครอบคลุมทั้งด้านสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการบริหาร
จากข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองได้ 8 ประการ ประกอบด้วย
1) การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการฟื้นฟูและป้องกันความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเมืองในทุก ๆ ด้าน
2) การเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยการกระจายบทบาทด้านการวางแผนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดการประสานการพัฒนาทุกด้านอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงพื้นที่เมืองและชนบท
3) การเสริมบทบาทการพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนเมือง
4) การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมมาใช้กับชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนและมีความต่อเนื่อง
5) การกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
6) การเสริมสร้างสมรรถนะท้องถิ่นให้เข้มแข็งและพร้อมต่อการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานของบริการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง
7) การสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงของชุมชนและองค์กรประชาชนโดยสนับสนุนการกระจายและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านรูปแบบต่าง ๆ สนับสนุนการรวมตัวขององค์กรเพื่อการวางแผนพัฒนาชุมชน
8) จัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
เพื่อให้การดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาทั้ง 8 ประการดังกล่าวสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐจึงควรให้การสนับสนุนในเรื่อง
1) กำหนดกรอบภาพรวมและทิศทางการพัฒนาพื้นที่และระบบชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อประสานการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2) การเพิ่มบทบาทการกระจายอำนาจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ใน พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นรับรองฐานะองค์กรชุมชนของกลุ่มคนจนเมือง
3) กำหนดบทบาทหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนโดยให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการสร้างกลุ่มอาสาสมัครดูแลด้านสุขภาพอนามัยชุมชนและการสร้างเวทีวัฒนธรรมชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ
4) จัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นได้มีมติให้ความเห็นชอบในกรอบแนวคิด ตลอนจนกลยุทธ์และแนวทางเรื่อง "การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยพิจารณาเห็นว่าการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นการเน้นกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมที่ทุกฝ่ายในสังคมได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ในภูมิภาคให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยนำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนมาสนับสนุนในการดำเนินงาน ทั้งนี้โดยให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ประสานและผลักดันการดำเนินงานร่วมกับทุกฝ่าย พร้อมไปกับการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทท้องถิ่นให้เป็นผู้ผลักดันการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการพัฒนาชุมชนที่น่าอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป
--ข่าวการพัฒนา กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 16 ฉบับที่ 11/พฤศจิกายน 2542--
นายเกียรติศักดิ์ มัธยมางกูร ผู้อำนวยการกองประสานการพัฒนาเมือง สศช. ได้กล่าวรายงานว่า การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันทั้งในเรื่องหลักการ แนวความคิด ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
จากนั้นนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นงานที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองของประเทศไทยในอนาคตจะมีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ หากมิได้เตรียมการรองรับกับสถานการณ์ดังกล่าว อาจเกิดความไม่สมดุลในด้านสิ่งแวดลอมและเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมือง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการจัดทำแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นกรอบทิศทางให้หน่วยงานในระดับปฏิบัติสามารถจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันและพร้อมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนผู้อยู่อาศัย "อยู่ดีมีสุข" มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและได้รับโอกาสในการดำรงชีวิตอย่างทัดเทียมกัน โดยอาศัยกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เมืองน่าอยู่แล้วยังนำไปสู่องค์ประกอบที่สองคือ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เกิดการลงทุน การขยายตัวของภาวะการจ้างงานและประชาชนมีรายได้ ส่งผลให้เมืองมีความสามารถในการแข่งขันและสามารถประกอบธุรกิจในตลาดโลกได้ และองค์ประกอบสุดท้ายคือ การพัฒนาประชารัฐ เป็นการสร้างเอกภาพของสังคมด้วยการบริหารราชการอย่างโปร่งใส มีการบริหารจัดการเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนร่วม
เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุดว่า ผลที่ได้จากการระดมความคิดในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการประสานนโยบายการพัฒนาเมือง สู่การปฏิบัติที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดประเด็นทิศทางการพัฒนาเมืองในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ต่อไป
สำหรับการสัมมนาในภาคเช้าเป็นการเสนอสาระสำคัญ "ร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยนายอุทิศ ขาวเธียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อจากนั้นเป็น "การอภิปรายให้ข้อคิดเห็นต่อร่างแนวทางการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยนายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม เลขาธิการฯ เป็นประธานการอภิปราย ส่วนในภาคบ่ายเป็นการอภิปรายให้ข้อคิดเห็นในประเด็นเรื่อง "กระบวนการดำเนินงานและการบริหารจัดการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยมีนายสมเจตน์ เตรคุพ รองเลขาธิการฯ สศช. เป็นประธานการอภิปราย
จากผลการสัมมนาสรุปได้ว่า ความเป็นเมืองน่าอยู่ควรมีความหมายครอบคลุมถึงความน่าอยู่ ทั้งทางด้านสภาพแวดล้อมและกายภาพ ความมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชากร มีสังคมที่เอื้ออาทร มีชุมชุนที่เข้มแข็งและผู้คนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาร่วมกัน โดยองค์ประกอบของเมืองน่าอยู่ควรพิจารณาจากลักษณะของเมืองน่าอยู่ 11 ประการตามหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้คือ
1) เป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมและที่อยู่อาศัยสะอาดปลอดภัย
2) มีระบบนิเวศน์อยู่ในภาวะสมดุลยภาพ
3) มีชุมชนที่เข้มแข็ง
4) ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
5) ประชาชนได้รับตอบสนองความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต
6) ประชาชนมีสิทธิรับรู้ข่าวสารและระดมความคิดเพื่อทำงานร่วมกันในชุมนุม
7) มีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย
8) มีการเชื่อมโยงมรดกทางวัฒนธรรม
9) มีการพัฒนาอย่างกลมกลืนและส่งเสริมคุณลักษณะที่ดีที่มีมาในอดีต
10) มีระบบการบริการทางสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่ทั่วถึง
11) ประชาชนมีสุขภาพดี อัตราการเจ็บป่วยต่ำ
นอกจากนี้การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ควรเน้นกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมโดยให้ความสำคัญกับคน คุณภาพชีวิต ปัจจัยด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ตลอดจนผลักดันและเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและคนจนในเมืองได้มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา ด้านการประสานการดำเนินงานพัฒนาเมืองน่าอยู่นั้น ควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่บ่งชี้ลักษณะของความน่าอยู่ ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนและท้องถิ่น โดยประชาชนและภาคีต่าง ๆ จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน และการพัฒนาเมืองยั่งยืนควรเชื่อมโยงสู่พื้นที่ชนบทด้วย เพื่อสนับสนุนให้พื้นที่ชนบทได้รับโอกาสในการพัฒนาเช่นเดียวกับชุมชนเมือง ทั้งยังช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการกำหนดเครื่องชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ ควรจะต้องมีความชัดเจนครอบคลุมทั้งด้านสภาพทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการบริหาร
จากข้อคิดเห็นดังกล่าวทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานในการพัฒนาเมืองได้ 8 ประการ ประกอบด้วย
1) การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนทุกภาคส่วน ทั้งในด้านการฟื้นฟูและป้องกันความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมเมืองในทุก ๆ ด้าน
2) การเสริมสร้างศักยภาพและโอกาสการพัฒนาพื้นที่ในภูมิภาคต่าง ๆ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยการกระจายบทบาทด้านการวางแผนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้เกิดการประสานการพัฒนาทุกด้านอย่างสอดคล้องและเชื่อมโยงพื้นที่เมืองและชนบท
3) การเสริมบทบาทการพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และวัฒนธรรมของชุมชนเมือง
4) การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมมาใช้กับชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนและมีความต่อเนื่อง
5) การกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
6) การเสริมสร้างสมรรถนะท้องถิ่นให้เข้มแข็งและพร้อมต่อการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานของบริการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง
7) การสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงของชุมชนและองค์กรประชาชนโดยสนับสนุนการกระจายและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารผ่านรูปแบบต่าง ๆ สนับสนุนการรวมตัวขององค์กรเพื่อการวางแผนพัฒนาชุมชน
8) จัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับร่วมกัน
เพื่อให้การดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาทั้ง 8 ประการดังกล่าวสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐจึงควรให้การสนับสนุนในเรื่อง
1) กำหนดกรอบภาพรวมและทิศทางการพัฒนาพื้นที่และระบบชุมชนเมืองทั่วประเทศ เพื่อประสานการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
2) การเพิ่มบทบาทการกระจายอำนาจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองน่าอยู่ใน พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. .... รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นรับรองฐานะองค์กรชุมชนของกลุ่มคนจนเมือง
3) กำหนดบทบาทหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมชุมชนโดยให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมถึงการสร้างกลุ่มอาสาสมัครดูแลด้านสุขภาพอนามัยชุมชนและการสร้างเวทีวัฒนธรรมชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ
4) จัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเมืองน่าอยู่ที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ยอมรับร่วมกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 คณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นได้มีมติให้ความเห็นชอบในกรอบแนวคิด ตลอนจนกลยุทธ์และแนวทางเรื่อง "การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน" โดยพิจารณาเห็นว่าการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนเป็นการเน้นกระบวนการพัฒนาแบบองค์รวมที่ทุกฝ่ายในสังคมได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ในภูมิภาคให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ โดยนำกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างเป็นขั้นตอนมาสนับสนุนในการดำเนินงาน ทั้งนี้โดยให้มีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ประสานและผลักดันการดำเนินงานร่วมกับทุกฝ่าย พร้อมไปกับการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทท้องถิ่นให้เป็นผู้ผลักดันการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการพัฒนาชุมชนที่น่าอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป
--ข่าวการพัฒนา กองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปีที่ 16 ฉบับที่ 11/พฤศจิกายน 2542--