บทที่ ๑ วิสัยทัศน์และทิศทางแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2001 07:46 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          การพัฒนาประเทศในช่วง ๔ ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ ในปี ๒๕๐๔ กล่าวได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมไทย จากการที่ต้องปรับตัวให้เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมทั้งจากภายในและภายนอกประเทศในแต่ละช่วงเวลามาโดยลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการพัฒนาทั้งที่ประสบความสำเร็จและทั้งที่ต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคจนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้
ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น การคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าทำได้ยากกว่าในอดีต ประเทศไทยจึงได้ริเริ่มกระบวนการวางแผนพัฒนาประเทศในแนวใหม่ ตั้งแต่การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ที่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนด้วย และในที่สุดก็ได้นำไปสู่การปรับแนวคิดการพัฒนาประเทศใหม่ที่ไม่มองการพัฒนาประเทศแบบแยกส่วน แต่หันมาเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมที่ยึด "คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา"
การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จึงยังคงใช้การผนึกกำลังร่วมกันของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทยที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับทุกขั้นตอน โดยยึดหลักร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผิดชอบในลักษณะเป็นเครือข่ายการพัฒนาต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ แต่การจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ ได้ขยายกระบวนการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยมีการระดมความคิดของประชาชนเริ่มตั้งแต่ระดับจังหวัดทุกจังหวัด ระดับอนุภาค ๙ อนุภาคทั่วประเทศขึ้นมาจนถึงระดับชาติ และผลจากกระบวนการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกระดับดังกล่าว นอกจากจะนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตแล้ว ทุกฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกันให้ยึดหลัก "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศ ให้เข้าสู่สังคมที่ยึดหลักทางสายกลาง มีความสมดุล รู้จักพอประมาณอย่างมีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน รู้เท่าทันโลก และเสริมสร้างให้เกิดคนดีในสังคมทุกระดับ
๑ ผลการพัฒนาที่ผ่านมา
๑.๑ การพัฒนาประเทศในช่วงแผนฯ ๑ - แผนฯ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๓๙)
กระบวนการพัฒนาประเทศในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๑-๒ เน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุนกระจายการพัฒนาทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน ไฟฟ้า และประปา แต่เกิดปัญหาช่องว่างการกระจายรายได้และคุณภาพชีวิตของคนในชนบท แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๓ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม การลดอัตราการเพิ่มประชากร และการกระจายรายได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ต่อมา ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๔ ความผันผวนทางการเมืองและวิกฤตการณ์น้ำมัน ก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๕-๖ จึงมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจส่วนรวมขยายตัวอย่างร้อนแรงเกินกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะรองรับได้ แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๗ จึงได้เริ่มปรับแนวคิดไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งการรักษาระดับการเจริญเติบโตในระดับที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ผลการพัฒนาประเทศในช่วง ๗ แผนที่ผ่านมา พอสรุปได้ว่าประเทศไทยประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยประมาณร้อยละ ๗ ต่อปี ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อคนในราคาประจำปีเพิ่มขึ้นจาก ๒,๑๐๐ บาท ในปี ๒๕๐๔ เป็น ๗๗,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๓๙ ทำให้ประเทศไทยพ้นจากการถูกจัดเป็นประเทศยากจนเข้าสู่ประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงเวลาเดียวกันสัดส่วนของคนยากจนได้ลดลงอย่างมากจากร้อยละ ๕๗ เหลือร้อยละ ๑๑.๔ ของประชากรทั้งประเทศ และการมีงานทำอยู่ในระดับเต็มที่ ทั้งคนไทยส่วนใหญ่ได้รับบริการโครงสร้างพื้นฐานและบริการทางสังคมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเติบโตดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานความไม่สมดุลของการพัฒนา กล่าวคือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้และผลประโยชน์จากการพัฒนาระหว่างภาค ระหว่างชนบทกับเมือง และระหว่างกลุ่มคนในสังคม ยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย ทั้งก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา อาทิ ปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ประโยชน์อย่างสิ้นเปลือง และเมื่อร่อยหรอลงก็นำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จึงนำไปสู่ข้อสรุปผลการพัฒนาที่ว่า แม้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับดี แต่สังคมมีปัญหา และการพัฒนาไม่ยั่งยืน
๑.๒ การพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๔๐-๒๕๔๔)
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ เป็นแผนปฏิรูปความคิดและคุณค่าใหม่ของสังคมไทย ที่เน้นให้ "คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา" และใช้เศรษฐกิจเป็นเพียงเครื่องมือช่วยพัฒนาให้คนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนามาเป็นการพัฒนาแบบองค์รวม มีกระบวนการที่จะเชื่อมโยงมิติต่างๆ ของการพัฒนา ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการพัฒนา อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อคนและสังคมโดยรวม ทำให้ต้องมีการปรับแผนเพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ โดยเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การลดผลกระทบต่อการพัฒนาคนและสังคม การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เข้มแข็งและกลับสู่สมดุล และการปรับระบบบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวมอย่างรุนแรง ความพยายามในการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลางอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๔.๔ ในปี ๒๕๔๓ จากที่เคยหดตัวต่ำสุดถึงร้อยละ ๑๐.๒ ในปี ๒๕๔๑ แต่ยังมีปัญหาในภาคการเงินและอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้สาธารณะและปัญหาการขาดดุลงบประมาณ อันเป็นข้อจำกัดของการจัดสรรทรัพยากรในระยะต่อไป นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีการพึ่งพิงทุน เทคโนโลยี และตลาดต่างประเทศสูง ฐานการผลิตหลักของประเทศยังอ่อนแอ ไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนานวัตกรรม ทั้งไม่สามารถรับถ่ายทอดและแปรทุนเทคโนโลยีมาใช้ในการต่อยอดการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศักยภาพของคนไทยและระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องระยะยาวมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้คนไทยมีการศึกษาสูงขึ้น จำนวนปีที่ได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนไทยในกลุ่มอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก ๖.๖ ปี ในปี ๒๕๓๙ เป็น ๗ ปี ในปี ๒๕๔๑ และอัตราการเข้าเรียนหนังสือของเด็กมีแนวโน้มดีขึ้นทุกระดับชั้น ในด้านสุขภาพอนามัยพบว่าคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น โดยในปี ๒๕๔๑ เพศชายและเพศหญิงมีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น ๗๐.๑ ปี และ ๗๕.๒ ปี ตามลำดับ ทั้งระบบบริการสาธารณสุขมีความก้าวหน้าดีขึ้น และประชาชนได้รับการคุ้มครองด้านประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๗๙.๔ ในปี ๒๕๔๓ อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาคุณภาพการศึกษาของคนไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากการศึกษาของแรงงานไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่ร้อยละ ๖๘.๔ อยู่ในขั้นไม่เกินระดับประถมศึกษา ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการเพิ่มสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับการพัฒนาระบบความมั่นคงทางสังคมได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานได้กว้างขวางขึ้น แต่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้เพียงเฉพาะแรงงานในระบบเท่านั้น ยังไม่สามารถดำเนินการไปถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานภาคเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศได้
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจที่มีต่อคนและสังคมได้ก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของกระจายรายได้รุนแรงขึ้น กล่าวคือ ภาวะความยากจนที่มีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดในช่วงก่อนวิกฤตกลับเพิ่มสูงขึ้น จากร้อยละ ๑๑.๔ ของประชากรทั้งประเทศ หรือคิดเป็นจำนวนคนยากจน ๖.๘ ล้านคน ในปี ๒๕๓๙ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๑๕.๙ หรือคิดเป็นจำนวนคนยากจน ๙.๙ ล้านคน ในปี ๒๕๔๒ และในช่วงเวลาเดียวกันการกระจายรายได้ก็แย่ลง โดยกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรก มีสัดส่วนรายได้ลดลงจากร้อยละ ๔.๒ เหลือร้อยละ ๓.๘ ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรก มีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๕๖.๕ เป็นร้อยละ ๕๘.๕ อีกทั้งจำนวนคนว่างงานก็มีเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเกือบ ๑ ล้านคน นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัญหารุนแรงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๘ ที่ได้เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ประชาชน ชุมชน องค์กรภาคประชาชนต่างๆ ตื่นตัวและเข้ามามีบทบาทร่วมในกระบวนการพัฒนาประเทศ โดยมีการรวมกลุ่มของประชาสังคมในหลายรูปแบบอย่างเข้มแข็ง มีการขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวาง และมีการทำงานร่วมกับภาครัฐในลักษณะหุ้นส่วนการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
๒ เงื่อนไขและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศ
แรงขับเคลื่อนสำคัญที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคต คือ กระแสโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ประเทศต้องเผชิญในสหัสวรรษหน้า ซึ่งต้องมีการปรับตัวเตรียมความพร้อมให้คน ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ภาครัฐมีข้อจำกัดด้านงบประมาณเนื่องจากมีภาระหนี้สาธารณะจำนวนมาก นอกจากนี้ ปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์เงื่อนไขและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในประเทศ ทั้งในส่วนที่คาดว่าจะเป็นโอกาสหรือจุดแข็งให้ประเทศสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนที่คาดว่าจะเป็นภัยคุกคามหรือจุดอ่อนที่ประเทศต้องพึงระวังและแก้ไขต่อไป
๒.๑ เงื่อนไขและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ
(๑) ระบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงสลับซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสหรือภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศไทย โดยกระแสโลกาภิวัตน์และการปรับระเบียบเศรษฐกิจใหม่ของโลกนำไปสู่การกำหนดข้อตกลง กติกาการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ๆ ตลอดจนมีการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างความได้เปรียบในเวทีการค้าโลก ขณะที่การขยายตัวทางการค้า การลงทุน การบริการ และการเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงาน รวมทั้งการติดต่อสื่อสารที่เชื่อมโยงสู่ทุกส่วนของโลก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตและค่านิยม อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจไทยในการรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อรักษาสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
(๒) แนวโน้มการพัฒนาสู่ "เศรษฐกิจยุคใหม่" ของสังคมโลก ได้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี ทำให้ไทยต้องปรับตัวให้สามารถก้าวตามโลกได้อย่างรู้เท่าทันมากขึ้น เพราะระบบเศรษฐกิจโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงมาใช้ความก้าวหน้าของฐานความรู้และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่เป็นปัจจัยชี้นำในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะกระแสการค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่พื้นฐานการศึกษาของคนไทยและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังอ่อนแอ ต้องพึ่งพาต่างประเทศสูง จำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องรู้จักเลือกใช้โอกาสความก้าวหน้าทางวิทยาการมาเป็นประโยชน์ในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้ก้าวเข้าสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจอิงความรู้ โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพคนให้มีความรู้ ทักษะ และความพร้อมที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ การพัฒนารากฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เข้มแข็งมากขึ้น เพื่อปูพื้นฐานให้เกิดนวัตกรรมทางความคิดและเทคโนโลยีที่เป็นของไทย
(๓) การเปิดเสรีและการกีดกันการค้า ซึ่งดำเนินคู่ขนานกันในระบบเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน ได้ส่งผลให้เกิดความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบในการแข่งขันของประเทศ โดยการกำหนดข้อตกลง เงื่อนไข กติกาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศใหม่ รวมทั้งมีความพยายามเปิดเสรีทางการค้าในสาขาเกษตรและบริการ ตลอดจนมีการกีดกันการค้าด้วยมาตรการที่มิใช่ภาษีมากขึ้น อาทิ สิทธิบัตร สิทธิมนุษยชน แรงงานเด็ก สิ่งแวดล้อม และการใช้วัตถุดิบจากการตัดต่อพันธุกรรม ฯลฯ เงื่อนไขดังกล่าวได้สร้างความกดดันให้ประเทศต่างๆ ต้องปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของตน นำไปสู่การขยายตัวของการกีดกันการค้า ทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนขยายตัวมากขึ้น จำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อมาตรการด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการเจรจาทางการค้า โดยดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมและมีบูรณาการมากขึ้น
(๔) ภายใต้แนวโน้ม "ระบบภูมิภาคนิยม" ที่มีอิทธิพลเพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ยังคงมีบทบาทต่อการจัดระเบียบเศรษฐกิจและสังคมโลกใหม่ ทั้งการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก จะทำให้จีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลกและภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องอาศัยศักยภาพทางทำเลที่ตั้งของประเทศให้เป็นประโยชน์ โดยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและสร้างอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคอื่น และเอื้อประโยชน์ร่วมกันทางการค้าและการลงทุนในระดับภูมิภาค
(๕) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่ยังชะลอตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม รวมทั้งแนวโน้มความผันผวนของราคาน้ำมันที่ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ จะเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ให้ตกอยู่ในภาวะอ่อนไหวมากยิ่งขึ้น ขณะที่แนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศเริ่มเคลื่อนย้ายออกจากประเทศไทยไปสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ที่มีศักยภาพมากกว่าด้วย ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องปรับนโยบายการลงทุนต่างประเทศให้เป็นไปในลักษณะคัดสรรเพื่อประโยชน์ในการเพิ่มสมรรถนะการแข่งขันของประเทศมากขึ้น
(๖) กระแสประชาธิปไตยในประชาคมโลกมีอิทธิพลต่อแนวคิดและค่านิยมในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน การพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเด็ก สตรี และกลุ่มผู้ด้อยโอกาส รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยต้องปรับตัวและทบทวนกระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่ในทิศทางที่พึ่งตนเอง และสอดคล้องทันกับกระแสหลักของโลก โดยจัดให้มีระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อเอื้อต่อการสร้างรากฐานการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็ง มีคุณภาพ และยั่งยืน สามารถประสานประโยชน์ร่วมกันกับประเทศต่างๆในประชาคมโลกได้ด้วยดี
๒.๒ เงื่อนไขและสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประเทศ
(๑) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้วางพื้นฐานและเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการปฏิรูปภาคการเมืองและภาคสังคมที่สำคัญหลายประการ อาทิ การกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น การปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ การจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กลไกตรวจสอบถ่วงดุลในสังคม รวมทั้งข้อผูกพันในการปฏิรูปการศึกษาและการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ขณะที่ประชาสังคมมีความตื่นตัวเรื่องความเป็นประชาธิปไตยและกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยมีการรวมกลุ่มอย่างเข้มแข็งและขยายเครือข่ายเชื่อมโยงกว้างขวาง ซึ่งถือเป็นทุนทางสังคมที่เป็นจุดแข็งที่จะช่วยให้การปฏิรูปโครงสร้าง ระบบและกลไกการพัฒนาสังคมต่างๆเป็นไปอย่างรวดเร็ว สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ประชาชนมากขึ้น รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะเอื้ออำนวยต่อการระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการเสริมสร้างชุมชนและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน
(๒) สังคมไทยมีเอกลักษณ์ความเป็นไทย มีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมเป็นปึกแผ่นมายาวนาน มีความรักสงบ สมานฉันท์ เอื้ออาทรและเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นเครื่องช่วยค้ำจุนให้สถาบันหลักของสังคม ทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนสถาบันครอบครัวสามารถยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชาติอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นสังคมที่ยืดหยุ่น เปิดกว้าง สามารถประสานประโยชน์ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมที่หลากหลาย จึงช่วยเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญในการลดความเสี่ยงจากกระแสโลกาภิวัตน์ เหมาะในการเป็นตัวกลางเจรจาเพื่อเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค และเป็นจุดเด่นที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศอีกด้วย
(๓) โครงสร้างสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสังคมเมืองมากขึ้น โดยประชากรกลุ่มเด็กจะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ ๒๓.๐ ในปี ๒๕๔๕ เป็นร้อยละ ๒๑.๙ ในปี ๒๕๔๙ ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๙.๘ เป็นร้อยละ ๑๐.๗ ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีก ๑๕ ปีข้างหน้า ประกอบกับรูปแบบครัวเรือนเปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีหัวหน้าครอบครัวเพียงคนเดียว และการอยู่เป็นโสดเพิ่มขึ้น จึงต้องใช้โอกาสจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวปรับนโยบายการพัฒนาประชากร โดยเน้นการพัฒนาคุณภาพประชากรวัยเด็กทั้งในเรื่องการพัฒนาการศึกษาและสุขภาพ และการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพและหลักประกันทางสังคมแก่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน สังคมไทยเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นสังคมเมืองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่จะเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาชนบทและเมือง โดยประสานเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเกื้อกูลและมีการพัฒนาเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน โดยจะต้องมีการบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ของสังคมเมืองและชนบทอย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการนำไปสู่การพัฒนาเมืองและชนบทที่น่าอยู่และยั่งยืน
(๔) อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นจุดอ่อนสำคัญของสังคมไทยที่สะสมมานานและต้องเร่งรัดแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะจะเป็นอุปสรรคบั่นทอนการพัฒนาในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญที่ประเทศไทยต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ให้เข้ากับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก กล่าวคือ
(๔.๑) ระบบการบริหารทางเศรษฐกิจ การเมืองและระบบราชการยังมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจการบริหารและตัดสินใจอยู่ในส่วนกลาง เน้นบทบาทภาครัฐเป็นหลัก โดยที่ระบบราชการอ่อนแอและด้อยประสิทธิภาพไม่สามารถปรับตัวให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที ไม่สามารถทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ แต่กลับเป็นอุปสรรคในการพัฒนาภาคธุรกิจ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีขีดความสามารถจำกัด การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ประชาชนไม่ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเองได้เท่าที่ควร ระบบกฎหมายไทยยังล้าสมัย ปรับไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา และต้องมีการเร่งรัดปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกลไกต่างๆทั้งระบบอย่างต่อเนื่องให้สามารถสนับสนุนการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
(๔.๒) การทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการ การเมืองและภาคเอกชนเป็นปัญหาเรื้อรังมานานและกัดกร่อนการพัฒนาประเทศอย่างมาก ขณะที่กลไกการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นดำเนินการ หลายฝ่ายยังขาดจิตสำนึกสาธารณะที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ประกอบกับสังคมไทยยังยึดระบบอุปถัมภ์และค่านิยมยกย่องผู้มีอำนาจและเงินตราอยู่ ทำให้ยังมีปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบรุนแรง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ความไว้วางใจและการยอมรับจากประชาชนต่อระบบบริหารงานทั้งของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน ส่งผลให้ต้นทุนการพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างระบบบริหารจัดการที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
(๔.๓) สังคมไทยตกอยู่ในกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยม คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรง ประกอบกับคนไทยจำนวนมากยังขาดความสามารถในการกลั่นกรองและเลือกใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมต่างชาติที่หลากหลายเข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อบันเทิงต่างๆ ได้อย่างรู้เท่าทันและมีเหตุผล นำไปสู่การครอบงำทางวัฒนธรรมและเร่งพฤติกรรมบริโภคนิยมให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ยิ่งขึ้น ส่งผลให้สภาพวิถีชีวิตในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาศีลธรรมเสื่อมและปัญหาทางสังคมต่างๆ ติดตามมา จึงจำเป็นต้องระดมพลังจากทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาคนให้มีความรู้ ทักษะ และมีความพร้อมที่จะปรับตัวให้รับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
(๔.๔) การแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ลุกลามอย่างรวดเร็วเข้าสู่ชุมชนจำนวนมากของประเทศ เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่จำเป็นต้องเร่งรัดแก้ไขและควบคุมให้ได้ เพราะมีผลกระทบต่อสมรรถนะทางเศรษฐกิจและคุณภาพของประชากรกลุ่มต่างๆ เพิ่มภาระต่องบประมาณรายจ่ายในการป้องกัน แก้ไขและฟื้นฟู อีกทั้งส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมอื่นๆ ติดตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่การดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังขาดความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและพื้นที่ชายแดนของประเทศด้วย ทำให้ยากต่อการป้องกันแก้ไขปัญหายิ่งขึ้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและประสานการใช้ทรัพยากรระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อผนึกพลังความร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
๒.๓ เงื่อนไขและสถานการณ์เศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศ
(๑) การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณเริ่มมีข้อจำกัดมากขึ้น จากข้อได้เปรียบด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานราคาถูกที่กำลังหมดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่การอาศัยทุนจากต่างประเทศมีบทบาทช่วยเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอดีตเริ่มมีข้อจำกัดจากการเคลื่อนย้ายทุนไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงกว่า จะเป็นข้อจำกัดต่อการระดมทุนของประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ กำลังมุ่งเน้นการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ประเทศไทยจึงต้องปรับตัวให้ทัน โดยต้องมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพมากขึ้น รวมทั้งในเรื่องการพัฒนาคน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเป็นฐานรากการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมให้เกิดความสมดุล เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
(๒) ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวและยังคงมีความเปราะบางอยู่ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ถึงแม้ประเทศจะผ่านพ้นจากปัญหาระยะสั้นได้ พื้นฐานเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ก็ยังจะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังเป็นอุปสรรคแก่ภาคธุรกิจและภาคการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่สามารถทำงานเป็นปกติ หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูงและกำลังเพิ่มขึ้นเป็นภาระหนักต่องบประมาณแผ่นดิน การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังขึ้นอยู่กับทิศทางการปรับตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งการปรับตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ที่คาดว่ายังมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อไปอีกระยะหนึ่ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เผชิญอยู่และเริ่มวางรากฐานให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงเป็นความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศเพื่อความอยู่รอดในอนาคต
(๓) ทรัพยากรภาครัฐจะมีจำกัดยิ่งขึ้น จำเป็นต้องอาศัยทุนทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในระยะที่ผ่านมารัฐได้ลงทุนพัฒนาโครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง มีการพัฒนาพื้นที่ฐานเศรษฐกิจหลักไปในทุกภาค ตลอดจนมีการปรับปรุงกฎระเบียบและสร้างกลไกต่างๆ ให้เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพัฒนาทุนทางสังคมที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างอาชีพและรายได้แก่คนในชุมชน เช่น การสร้างงานและพัฒนารายได้จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และเชิงศิลปวัฒนธรรม การผลิตสินค้าชุมชนจากทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ฯลฯ ซึ่งนับเป็นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมสำคัญที่ควรมีการระดมสรรพกำลังนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาภายใต้สถานะทางการเงินที่จำกัดของภาครัฐ
(๔) สมรรถนะทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในช่วงที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง ประสิทธิภาพการผลิตปรับตัวได้ช้า เนื่องจากความล้าหลังในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการพึ่งพาต่างประเทศสูงทั้งในเรื่องวัตถุดิบ เงินทุน เทคโนโลยีและตลาด ขณะที่แรงงานไทยจำนวนมากมีการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและไม่ได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจยังด้อยประสิทธิภาพ จึงกระทบต่อขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวของประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเศรษฐกิจส่วนรวมให้สามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพ ควบคู่ไปกับการปรับระบบบริหารจัดการและกลไก กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลก
(๕) อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระยะต่อไปสามารถใช้ความได้เปรียบหรือจุดแข็งที่มีอยู่ในการสร้างศักยภาพการพัฒนาเพิ่มขึ้นได้ ที่สำคัญคือ การมีฐานการผลิตการเกษตรที่หลากหลายยังคงเป็นแหล่งรายได้และรองรับการจ้างงานของกำลังแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งทำรายได้จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร คิดเป็นมูลค่าอันดับสูง จึงมีศักยภาพที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก ขณะเดียวกันมีทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามดึงดูด มีธุรกิจบริการที่มีความเชี่ยวชาญ มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่เป็นจุดเด่นเอื้อต่อการลงทุนกับต่างประเทศ รวมทั้งมีความได้เปรียบทางทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมและปลอดจากภัยธรรมชาติรุนแรง สามารถขยายฐานการผลิตการบริการและการตลาดให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เพื่อที่จะรักษาสมรรถนะทางเศรษฐกิจและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ต่อไป
ส รุ ป ภายใต้เงื่อนไขและสถานการณ์เปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าว ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญที่สุดช่วงหนึ่ง จึงต้องปรับตัวและทบทวนกระบวนทรรศน์การพัฒนาประเทศใหม่ โดยกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาในอนาคตที่คำนึงถึงการสร้างความสมดุลและภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างมีคุณภาพและอย่างยั่งยืน โดยมีการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น มีการเตรียมความพร้อมที่ดีรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก เพื่อรักษาสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศและการพัฒนาสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทยในระยะยาว
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ