ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2559 และแนวโน้มปี 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 21, 2017 15:12 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค          แถลงข่าว วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา 09.30 น.

ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560

(%YoY)                          2558        2559        ประมาณการ
                                ทั้งปี   ทั้งปี    Q3    Q4     2560
GDP (CVM)                       2.9   3.2   3.2   3.0  3.0-4.0
การลงทุนรวม                      4.4   2.8   1.0   1.8      5.3
ภาคเอกชน                       -2.2   0.4  -0.8  -0.4      2.5
ภาครัฐ                          29.3   9.9   5.8   8.6     14.4
การบริโภคภาคเอกชน                2.2   3.1   3.0   2.5      2.8
การอุปโภคภาครัฐบาล                3.0   1.6  -5.2   1.5      2.6
มูลค่าการส่งออกสินค้า 1             -5.6   0.0   0.4   3.6      2.9
ปริมาณ 1                        -3.4   0.1  -0.4   1.4      1.2
มูลค่าการนำเข้าสินค้า 1            -10.6  -4.7  -2.4   6.7      5.5
ปริมาณ 1                         0.2  -2.2  -1.5   3.6      2.0
ดุลบัญชีเดินสะพัด                    8.1  11.4  10.1   9.4      9.4
ต่อ GDP (%)
เงินเฟ้อ                         -0.9  0.2    0.3   0.7  1.2-2.2

หมายเหตุ: 1 ฐานข้อมูลดุลการชำระเงินของธนาคารประเทศแห่งไทย
          - เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่สี่ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2559 ร้อยละ 0.4 (QoQ_SA)
          - ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนรวม ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่องและ การส่งออกบริการชะลอตัว ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตร สาขาอุตสาหกรรม  และสาขาการค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารชะลอตัว
          - รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2558 โดยการบริโภคภาคครัวเรือน การลงทุนภาครัฐ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 ร้อยละ 9.9 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 0.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 11.4 ของ GDP
          - แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของการส่งออกซึ่งจะสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและ การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น (2) การฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิต ภาคเกษตรและฐานรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการใช้จ่าย ภาคครัวเรือน (3) การลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น (4) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 190,000 ล้านบาท และ (5) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 การบริโภคภาคเอกชน  และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 - 2.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP
          - ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560  ควรให้ความสำคัญกับ  (1) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (2) การสนับสนุน การส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยติดตามและระมัดระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ การขยายตลาดส่งออกเชิงรุก การทำตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนและการเชื่อมโยงประเทศ CLMV และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม (3) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยเพิ่มประสิทธิภาพและลดขั้นตอนการตลาดของสินค้าเกษตรเพื่อให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเป็นของเกษตรกรมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มี ความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตพืชที่มีมูลค่าสูงขึ้น  (4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกิน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการสำหรับอนาคต การประชาสัมพันธ์แผนและความคืบหน้าของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่เศรษฐกิจของภาครัฐ การอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย และการเร่งรัดการลงทุนที่ขอรับและได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว และ (5) การสนับสนุนการขยายตัวของ ภาคการท่องเที่ยว โดยดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ ๆ และการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้และศักยภาพการใช้จ่ายสูง การส่งเสริมและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับประเทศในภูมิภาค การให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่มที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตสูง การสร้างตลาดการท่องเที่ยวใหม่ และสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 และแนวโน้มปี 2560
          เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า  ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้า การใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนรวม ในขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่องและการส่งออกบริการชะลอตัว ในด้านการผลิต การผลิตสาขาเกษตร สาขาอุตสาหกรรม และสาขาการค้าส่งและค้าปลีกขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารชะลอตัว และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2559 ร้อยละ 0.4 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2558

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 และทั้งปี 2559
          1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ภาคเกษตร และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ร้อยละ 9.6 และการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซลร้อยละ 7.7 ร้อยละ 7.0 ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งลดลงร้อยละ 10.3 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.9 เทียบกับระดับ 62.3 ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 32.1 สูงกว่าเป้าหมายที่ร้อยละ 30.0
          รวมทั้งปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2558
          2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สาม โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจและ การลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 12.3  และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนลดลง ร้อยละ 0.4 โดยการลงทุนในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.5 และการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.4 เนื่องจากการส่งออกยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัวและการใช้กำลังการผลิตยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ในขณะที่ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ดีโดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 49.2  ในไตรมาสก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 4 ไตรมาส และมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 245.2
          รวมทั้งปี 2559 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 9.9 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 มูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)  อยู่ที่ 584.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 172.1
          3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 54,596 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักและการปรับตัวดีขึ้นของ ราคาสินค้าในตลาดโลก โดยราคาและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ  กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ ยางพารา เครื่องจักรและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาล รถยนต์นั่ง เครื่องปรับอากาศ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลางลดลง  เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท  การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,932 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 การส่งออกมีมูลค่า 214,112 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับ การลดลงร้อยละ 5.6 ในปี 2558 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลง ร้อยละ 0.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5,623 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.4 ในปี 2558
          4) สาขาเกษตรกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ภายหลังสถานการณ์ภัยแล้งสิ้นสุดลง โดยผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 7.9) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 10.2) และยางพารา (ร้อยละ 1.1) ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาอ้อย ราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ราคาปาล์มน้ำมัน และราคากุ้งขาวแวนนาไม อย่างไรก็ตามราคาข้าวเปลือกและราคามันสำปะหลังลดลง การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สามร้อยละ 9.1
          รวมทั้งปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ
          5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า  ตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วน การส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 และร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สาม ตามลำดับ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 1.7 ตามการลดลงของการผลิตรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ลดลง  เช่น ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.11
          รวมทั้งปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4  อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.64
          6) สาขาการก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจาก การขยายตัวของการก่อสร้างของภาครัฐร้อยละ 11.7 (โดยการก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.7 และ การก่อสร้างรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 44.0) ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.5
          รวมทั้งปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 14.0 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ
          7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 4.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.5 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยมีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 631.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 403.9 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9) ทั้งนี้ รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด  5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย มาเลเซีย อเมริกา และออสเตรเลีย และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 228.0 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 65.50
          รวมทั้งปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.3 โดยรายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2,510.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 แบ่งเป็น รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,641.3 พันล้านบาท และรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 869.5 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.60

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560
          สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2559  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น (2) การฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ฐานรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น (3) การลงทุนภาครัฐ ยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการสำคัญๆ ที่จะเข้าสู่ช่วงการก่อสร้างมากขึ้น (4) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 190,000 ล้านบาท และ (5) แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.8 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 - 2.2 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

          - ด้านการใช้จ่าย
          การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของ ฐานรายได้ภาคเกษตร และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ในขณะที่ การนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ขยายตัวร้อยละ 7.7 ร้อยละ 7.0 ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายเบียร์ โซดาและน้ำดื่มบริสุทธ์ลดลงร้อยละ 7.3 และร้อยละ 2.3 ตามลำดับ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งปรับตัวลดลงร้อยละ 10.3 หลังจากขยายตัวต่อเนื่องในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 61.9 เทียบกับระดับ 62.3 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2558
          การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรลดลงร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์และการนำเข้าสินค้าทุน (ณ ราคาคงที่) ร้อยละ 15.4 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายคอนกรีตในประเทศ  และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ร้อยละ 0.3 ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ  สำหรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าการขอรับ  การอนุมัติ และการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน โดยยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 215.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 245.2 ในขณะที่ยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 185.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2 ส่วนการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 162.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 5.2 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 49.7 เทียบกับระดับ 49.2 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.4 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัว ร้อยละ 0.2 และการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.1
          การส่งออก: การส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งในด้านราคาและปริมาณการส่งออก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลกการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 มีมูลค่า 54,596 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า  โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (2) ประเทศจีนเร่งนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์ยางจากไทยเพื่อใช้สำหรับผลิตยางล้อเพื่อส่งออกไปสหรัฐอเมริกา และ  (3) การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกร้อยละ 2.0 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.3) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.9) ราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.4) และราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 0.8) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส ก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,932 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3  เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 การส่งออกมีมูลค่า 214,112 ล้านดอลลาร์ สรอ. ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 ปรับตัวดีขึ้นจาก การลดลงร้อยละ 5.6 ในปี 2558 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.4 ในปี 2558
          มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาสร้อยละ 6.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 11.9 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกยางพารา และน้ำตาลเป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ  เช่น ข้าวและมันสำปะหลังปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.9 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 4.9 จากการลดลงของการส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.9 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 4.0 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 18.3 แต่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ยางพารา  มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสร้อยละ 15.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาส่งออก  ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 27.6 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 48.7 ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลก และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 13.9) เครื่องจักรและอุปกรณ์  (ร้อยละ 7.5) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 5.0) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 9.4) ในขณะที่การส่งออกเครื่องปรับอากาศ รถยนต์นั่ง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 0.2 ร้อยละ 9.5 และร้อยละ 4.6 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5  สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 33.4  เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 (มูลค่าการส่งออกทองคำ ที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 1,108 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม)
          ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน (9) ขยายตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย และตะวันออกกลางลดลง การส่งออกไปตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 2.7 ร้อยละ 2.6 และร้อยละ 11.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น การส่งออกไปยังตลาดจีนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ร้อยละ 17.4 ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.04 ในไตรมาสก่อนหน้า ที่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.1  จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังเวียดนามและกัมพูชา ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย  และตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 8.3 และร้อยละ 24.7 ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจออสเตรเลีย และการลดลงของการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปยังตะวันออกกลาง
          การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ไตรมาส ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งปริมาณและราคานำเข้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การนำเข้ามีมูลค่า 47,963 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ราคานำเข้าร้อยละ 3.3 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป และปริมาณการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าในหมวดสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภค เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4  ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,698 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 การนำเข้ามีมูลค่า 178,359 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 4.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 10.6 ในปี 2558 โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.2 และร้อยละ 2.7 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.8 ในปี 2558
          ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสินค้าทุนลดลง โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ พลาสติก และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของ ทั้งปริมาณและราคานำเข้าร้อยละ 5.9 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น  เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้นมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 1.1 เป็นผลจากปริมาณการนำเข้าที่ลดลงร้อยละ 4.3 ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลง เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า และอากาศยาน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 โดยเฉพาะการนำเข้ายานยนต์ และทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ
          อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจาก ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 แต่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงร้อยละ 1.3 เป็น 113.9 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 เทียบกับ 115.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 อัตราการค้าอยู่ที่ 115.3 เพิ่มขึ้นจาก 112.4 ในปี 2558 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.1 และราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.7
          ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ดุลการค้าเกินดุล 6,633 ล้านดอลลาร์ สรอ. (234,788 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 8,973 ล้านดอลลาร์ สรอ. (312,496 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล  7,737 ล้านดอลลาร์ สรอ. (277,211 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
          รวมทั้งปี 2559  ดุลการค้าเกินดุล 35,752 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,261,744 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 26,841 ล้านดอลลาร์ สรอ. (926,081 ล้านบาท) ในปี 2558

          - ด้านการผลิต
          สาขาเกษตรกรรม: การผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเร่งขึ้นภายหลังจากผลกระทบจากภัยแล้งสิ้นสุดลง ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโดยรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สาม ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การผลิตสาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเครื่องชี้สาขาเกษตรกรรมที่สำคัญ  โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตทุกหมวดสินค้า ทั้งนี้  ผลผลิตหมวดพืชผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก (ร้อยละ 7.9) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 10.2) และยางพารา (ร้อยละ 1.1) เป็นสำคัญ ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตพืชผล คือ ปริมาณน้ำฝนที่มากขึ้นและกระจายตัวในพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลให้การผลิตข้าวเปลือกนาปี และปาล์มน้ำมันกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และผลผลิตหมวดปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เนื่องจาก (1) การขยายการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น และ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มส่งผลให้ผลผลิตสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และโคเนื้อเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม โดย (1) ราคาอ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 ตามความต้องการใช้น้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตอ้อยในอเมริกาใต้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ (2) ราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8 ตามความต้องการนำเข้ายางพาราของจีนที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว (3) ราคาปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 ตามทิศทางราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตปาล์มในแหล่งผลิตสำคัญๆ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง (4) ราคากุ้งขาวแวนนาไมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ตามความต้องการวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมกุ้งแช่เย็นและแช่แข็ง อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวเปลือกและมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 11.7 และร้อยละ 36.3 ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม
          รวมทั้งปี 2559 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.6 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรและดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 และร้อยละ 2.8 ตามลำดับ
          สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและการขยายตัวต่อเนื่องของ อุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในไตรมาสที่สาม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวร้อยละ 2.7 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัว ร้อยละ 2.5 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน แต่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 30 - 60 ลดลงร้อยละ 1.7 สอดคล้องกับการลดลงร้อยละ 6.8 ของการผลิตรถยนต์ (สัดส่วนร้อยละ 42 ของกลุ่ม) โดย (1) การผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 13.1 เนื่องจากความต้องการใช้วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของเทคโนโลยียานยนต์และอุปกรณ์ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ (2) การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวร้อยละ17.5 เป็นการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ (โดยเฉพาะเหล็กทรงยาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง) โดยเป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของประเทศจีน และ (3)การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 8.8 เป็นผลมาจากการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อชดเชยในช่วงที่มีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันในช่วงไตรมาสที่สาม ของปี 2559 (เดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน 2559)  อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.11 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 64.57 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
          อุตสาหกรรมที่ขยายตัว ได้แก่ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 13.1) เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ร้อยละ 17.5) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ร้อยละ 8.8) รถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 11.9) การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (ร้อยละ 4.7) เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ (ร้อยละ 7.7) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 5.5) และผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ (ร้อยละ 6.0)
          อุตสาหกรรมที่ลดลง ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ -6.8) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ (ร้อยละ -5.8) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด (ร้อยละ-8.5) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -9.2) และผลิตภัณฑ์ยาสูบ (ร้อยละ -9.5)
          รวมทั้งปี 2559 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.4 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.64
          สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐโดยเฉพาะ การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวสูงและเร่งขึ้น แต่การก่อสร้างภาคเอกชนยังปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 6.1 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว ร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 11.7 (การก่อสร้างของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.7 และการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0) เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 10.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.5 โดยการก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ และการก่อสร้างอาคารโรงงานลดลง แต่การก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยขยายตัว สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างที่ลดลงร้อยละ 4.0 และการลดลงของปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก ปริมาณการจำหน่ายคอนกรีต และปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ที่ลดลงร้อยละ 2.0 ร้อยละ 1.7 และร้อยละ 0.3 ตามลำดับ ราคาวัสดุก่อสร้างลดลงร้อยละ 0.4 ตามการลดลงของดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ส่วนดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ตามราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการลดกำลัง การผลิตของประเทศจีน
          รวมทั้งปี 2559 สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 8.3 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 14.0 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ
          สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก  และการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 สาขาค้าส่งค้าปลีกขยายตัว ร้อยละ 5.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการส่งออก การฟื้นตัวของฐานรายได้ในภาคเกษตร รวมทั้ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2559 (ช็อปช่วยชาติ) และมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี 2559 โดยดัชนีค้าส่งเพิ่มขึ้นในทุกหมวด ทั้งหมวดยอดขายสินค้าคงทนและหมวดยอดขายสินค้าขั้นกลาง ส่วนดัชนีค้าปลีกเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด เป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป การค้าปลีกหมวดสินค้าไม่คงทน และการค้าปลีกหมวดอื่นๆ ในขณะที่การค้าปลีกหมวดสินค้าคงทนทรงตัว ส่วนการค้าปลีกหมวดรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง
          รวมทั้งปี 2559  สาขาการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 5.0
          สาขาโรงแรมและภัตตาคาร:ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 13.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 631.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0  ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 403.9 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9  รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย รายได้จากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย มาเลเซีย อเมริกา และออสเตรเลีย และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 228.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.50
          รวมทั้งปี 2559  สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 10.3 โดยรายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2,510.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.1 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,641.3 พันล้านบาท รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 869.5 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.60
          สาขาขนส่งและคมนาคม: ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเป็นผลจากการขยายตัวทั้งบริการขนส่งและบริการโทรคมนาคม ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 5.1  โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 3.9 ประกอบด้วย บริการขนส่งทางบกขยายตัวร้อยละ 4.9 และบริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 5.8 (บริการเที่ยวบินสำหรับผู้โดยสารทางอากาศขยายตัวร้อยละ 2.2 และบริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศขยายตัวร้อยละ 15.0) ในขณะที่บริการขนส่งทางน้ำลดลงร้อยละ 0.7 ส่วนบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 9.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม
          รวมทั้งปี 2559 สาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวร้อยละ 5.5
          การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงทั้งการจ้างงานภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร  ในขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 2.5 โดยการจ้างงานในภาคเกษตรลดลงร้อยละ 6.0 เนื่องจากการลดลงของการจ้างงานในการผลิตและเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง อ้อย และข้าว เป็นต้น ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 0.7 เนื่องจากการลดลงของการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการลดลงของการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทาง ทัศนศาสตร์ และการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนการจ้างงานภาคบริการชะลอลงตัวลง สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 3.8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0
          เฉลี่ยทั้งปี 2559 มีผู้ว่างงานจำนวน 3.8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0

          - ด้านการคลัง
          การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ตุลาคม - ธันวาคม 2559) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 552,029.2 ล้านบาท ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.8 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz (4G) และการนำส่งรายได้ส่วนเกินของกองทุนเป็นรายได้แผ่นดินในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2559 ซึ่งทำให้ฐานการจัดเก็บรายได้ในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ  อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร และ กรมสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากค่าบริการและจำหน่ายกำไร  ตามแบบ ภ.ง.ด. 54 (ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และได้รับเงินได้จากหรือในประเทศไทย) และการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินและอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตั้งแต่ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559
          การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,081,871.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.0 ประกอบด้วย  (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560  มีการเบิกจ่าย 876,386.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 32.1 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 30.0 และสูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายของช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 29.1 ตามลำดับ โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 784,022.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 (อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 35.9 สูงกว่าร้อยละ 32.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)  และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 92,364.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 35.5  (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 16.9 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 19.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 13.7 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน)
          (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 93,078.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.6 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 35.2 สูงกว่าร้อยละ 27.0 ในไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน) (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวม ปตท.) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 110,507.5 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 1,933.0 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.3 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด การรถไฟ แห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,898.7 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 1,814.2 ล้านบาท เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 2.0 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 82.5 ล้านบาท
          หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 มีมูลค่าทั้งสิ้น 5,921,722.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.2 ของ GDP ซึ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 5,592,496.7 ล้านบาท (ร้อยละ 39.8 ของ GDP) และ เงินกู้จากต่างประเทศ 329,225.5 ล้านบาท (ร้อยละ 2.3 ของ GDP) แบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,458,417.7 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 977,551.2 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 466,247.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.3 ร้อยละ 16.5 และร้อยละ 7.9 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งสิ้น ตามลำดับ
          ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 418,282.1 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 52,297.5 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล  104,186.9 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 366,392.7 ล้านบาท และส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 74,907.0 ล้านบาท

          - ภาวะการเงิน
          อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559  ในการประชุมเมื่อวันที่  9 พฤศจิกายน 2559 และ 21 ธันวาคม 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากมีความเห็นว่านโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนปรนเพียงพอต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้สำหรับเป็นเครื่องมือรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศผู้นำเศรษฐกิจ ในขณะที่ทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และประเทศผู้นำเศรษฐกิจอื่น ๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น  โดยสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.50 - 0.75 ต่อปี ในขณะที่ สหภาพยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่นคงขนาดมาตรการและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บางประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม โดยนิวซีแลนด์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ร้อยละ 6.25 และร้อยละ 4.75 ต่อปี ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสร้างความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน
          ตลอดทั้งปี 2559 คณะกรรมการนโยบายการเงินคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2558
          ล่าสุดเดือนมกราคม 2560  ธนาคารกลางของประเทศผู้นำเศรษฐกิจคงการดำเนินนโยบายการเงินไว้เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศ ที่สำคัญอื่นๆ
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 2 แห่งมีการปรับขึ้นและปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนในอัตราที่เท่ากัน จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่  ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 1.38 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 6.27 ต่อปีเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยต่างคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากไว้ที่ร้อยละ 1.24 และร้อยละ 1.70 ต่อปี ตามลำดับ และคงอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 6.68 และร้อยละ 8.52 ต่อปี ตามลำดับ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราดอกเบี้ย MLR ไว้ที่ร้อยละ 1.52 และ ร้อยละ 6.63 ต่อปี ตามลำดับ
          รวมทั้งปี 2559 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.02 - 0.55 ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยปรับตัวลดลงในช่วงร้อยละ 0.10 - 0.25
          ล่าสุดเดือนมกราคม 2560 ธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ย เงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559
          อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อัตราดอกเบี้ย เงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลงจากร้อยละ 1.00 และร้อยละ 5.89 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 และร้อยละ 5.14 ต่อปี ตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2559
          รวมทั้งปี 2559 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.00 และร้อยละ 2.23 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ปรับลดทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นจากติดลบร้อยละ 0.85 ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2558  เป็นร้อยละ 1.13 ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559
          ล่าสุดเดือนมกราคม 2560  อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริงปรับลดลง อย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ - 0.17 ต่อปี และร้อยละ  4.72 ต่อปีตามลำดับ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น
          สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559  ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอลงจากการขยายตัว ร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงทั้งในส่วนของสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยที่การชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจส่วนใหญ่เป็นการชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจ SMEs  ซึ่งธนาคารพาณิชย์เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น เนื่องจากความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อ ในขณะที่การชะลอตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นการชะลอตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม คุณภาพของสินเชื่อในไตรมาสที่สี่ ยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.83 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.89  ในไตรมาสที่สาม ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ปรับตัวดีขึ้น
          ในปี 2559 สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นปีขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ณ สิ้นปี 2558 และเป็นการชะลอตัวของทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยการชะลอลงของสินเชื่อภาคธุรกิจส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการชะลอลงของสินเชื่อสาขาการผลิตและ สาขาอสังหาริมทรัพย์ และการเพิ่มการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธุรกิจ ในกลุ่มค้าส่งค้าปลีก และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนในปี 2559 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์
          เงินบาทอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ  ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น  ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สี่ปี 2559  อยู่ที่เฉลี่ย 35.39 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.6 เนื่องจาก (1) นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2559 และจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560 (2) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่เกิดขึ้นจริงร้อยละ 0.25 ต่อปี เมื่อวันที่ 13-14 ธันวาคม และ (3) ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนักลงทุนคาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ1 เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย ในไตรมาสที่สามร้อยละ 1.1 เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่นและริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่าลงมากกว่าเงินบาทของไทย สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.7
          รวมทั้งปี 2559 เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 34.56 - 36.32 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. โดยในช่วงสามไตรมาสแรกของปี เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นตามการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) เพิ่มเติมของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น ส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทยและภูมิภาค

          หมายเหตุ
          1 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่า                                                        ดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

          อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สี่ เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว หลังมีความชัดเจนมากขึ้นว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2559 และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในปี 2560 ประกอบกับนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับแนวนโยบายในการบริหารประเทศของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2559 อยู่ที่ 35.29 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในปี 2558 ร้อยละ 2.9
          ในเดือนมกราคม 2560 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 35.43 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 1.1 เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนต่อทิศทางการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ  และความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และในช่วงวันที่ 1-17 กุมภาพันธ์ ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวผันผวนโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
          ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า   ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559 SET Index ปิดที่ 1,542.9 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 4.0  โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกและความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยซึ่งทำให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยยังสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าการส่งสัญญาณการขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะทำให้มีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติที่ปรับพอร์ตการลงทุนไปลงทุนในประเทศเศรษฐกิจหลักตั้งแต่ต้นไตรมาสก็ตาม ในขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 52.5 พันล้านบาทต่อวันลดลงเล็กน้อยจากเฉลี่ย 58.3 พันล้านบาทต่อวันในไตรมาสที่สาม โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 54.6 พันล้านบาท เทียบกับยอดซื้อสุทธิ 96.0 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า
          ทั้งปี 2559 SET Index เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก การดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายของกลุ่มประเทศยูโรโซนและประเทศญี่ปุ่น รวมถึงมาตรการการลงทุนและการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 2559 อยู่ที่ 50.2 พันล้านบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 22.1 โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 77.9 พันล้านบาท เทียบกับยอดขายสุทธิ 154.3 พันล้านบาทในปี 2558
          ในเดือนมกราคม 2560 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1,577.3 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และการคาดการณ์ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปัจจัยดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามี ยอดซื้อสุทธิ ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 1 - 17 กุมภาพันธ์ SET Index เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ ๆ ตามปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยปิดตลาด  ณ วันที่ 17 ก.พ.ที่ 1,578 จุด
          อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในทุกช่วงอายุ  ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ในขณะที่แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ในเดือนธันวาคมทำให้นักลงทุนต่างชาติขายตราสารหนี้ไทยและตราสารหนี้ในภูมิภาค อย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 72.3 พันล้านบาท  และมูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 82.7 พันล้านบาท ลดลงจาก 89.8 พันล้านบาทต่อวัน ในไตรมาสก่อนหน้า
          รวมทั้งปี 2559 นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 331.0 พันล้านบาทเทียบกับการขายสุทธิ 24.0 พันล้านบาท ในปี 2558 มูลค่าการซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 91.8 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 13.5 โดยในช่วงไตรมาสแรก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงเนื่องจากการดำเนินนโยบายขยายปริมาณเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางยุโรป และการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่นทำให้มีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่นักลงทุนต่างชาติจะมีการขายสุทธิในช่วงการคาดการณ์แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ในเดือนมกราคม 2560 นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิ 34.7 พันล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะมีการดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับความไม่ชัดเจนในแนวทางการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน
          เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 เงินทุนไหลออกสุทธิ 12.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการไหลออกสุทธิ 9.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สามเนื่องจาก  (1) กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund: FIF) นำเงินฝากออกไปฝากในต่างประเทศมากขึ้น (2) นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ และ  (3) นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ยังมีการไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ
          รวมทั้งปี 2559 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ 24.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการ ไหลออกสุทธิ 17.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2558 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ รวมทั้งการไหลออกสุทธิของลงทุนอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย เงินกู้ สินเชื่อการค้า เงินฝาก และบัญชีลูกหนี้และเจ้าหนี้อื่นๆ อย่างไรก็ตาม  นักลงทุนต่างชาติยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากกระแสเงินทุนไหล เข้าสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศ มูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และลงทุนในหลักทรัพย์มูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.
          ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9,789 ล้านดอลลาร์ สรอ. (346,789 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 10,380 ล้านดอลลาร์ สรอ. (361,721 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 11,241 ล้านดอลลาร์ สรอ. (402,885 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผล มาจากการเกินดุลการค้า 6,633 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3,156 ล้านดอลลาร์ สรอ.
          รวมทั้งปี 2559 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 46,412 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,640,576 ล้านบาท) เทียบกับ การเกินดุล 32,149 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,104,350 ล้านบาท) ในปี 2558
          เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ 171.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net  forward position อีก 25.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.2 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2559) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.7 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2559)
          อัตราเงินเฟ์อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส เนื่องจากราคาน้ำมัน ขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ และไข่และผลิตภัณฑ์นม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เทียบกับร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อนหน้า2
          รวมทั้งปี 2559 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.2 เทียบกับการติดลบร้อยละ 0.9 ในปี 2558  อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.1 ในปี 2558

          หมายเหตุ
          2 ในเดือนมกราคม 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

          ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.6  ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.8  ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ส่วนราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการชะลอตัวลงของราคาผลผลิตการเกษตร และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลง ร้อยละ 7.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและ ก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวลดลงในอัตราที่ช้าลง3
          รวมทั้งปี 2559 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.1 ในปี 2558

          หมายเหตุ
          3 ในเดือนมกราคม 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันในไตรมาสที่สี่ของปี 2559
          ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาส ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 49.33 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 42.02 ดอลลาร์ สรอ.  ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในทุกตลาดโดยเฉพาะตลาดโอมานและดูไบ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สามของปี 2559 ร้อยละ 10.4
          การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่เฉลี่ย 19.57 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 19.42 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของจีนอยู่ที่เฉลี่ย 12.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 11.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2559 (เป็นการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี) และ (3) สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะประเทศซีเรียและอิรัก
          รวมทั้งปี 2559 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 42.81 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ต่ำกว่าราคาเฉลี่ย 51.12 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2558 หรือลดลงร้อยละ 16.3

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สี่
          ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ส่งสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าและมีความชัดเจนมากขึ้น นำโดยการขยายตัวที่เร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ในขณะที่กลุ่มประเทศยูโรโซนยังรักษาพลวัตการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของประเทศสำคัญๆ เมื่อรวมกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลให้การส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเซียในภาพรวมปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดลดลงและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ  ซึ่งเงินอัตราเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินมากขึ้น และส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่สองในรอบ 9 ปี เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่นที่ เริ่มปรับตัวเข้าสู่แดนบวกได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางประเทศดังกล่าวจะยังรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้าเพื่อรอสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนก็ตาม
          - เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.9 (First estimate) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการกลับมาขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นครั้งแรกในรอบ  4 ไตรมาส การขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายรัฐบาล และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่องสอดคล้องกับปรับตัวลดลงของอัตราการว่างงานเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 ปี ที่ร้อยละ 4.7  ส่วนอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 เข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารกลางที่ร้อยละ 2.0 มากขึ้น การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ในรอบ 9 ปี เมื่อวันที่ 13 - 14 ธันวาคม 2559 ร้อยละ 0.25 อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกทำให้ รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากร้อยละ 2.6 ในปี 2558 และเป็น การขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี
          - เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.8 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้ง การขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นร้อยละ 0.8 และอัตราว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 9.7 แม้กระนั้นก็ตาม อัตราเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินค่อนข้างมาก ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจาก Brexit และเงื่อนไขทางการเมืองการซึ่งทำให้ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและรักษาวงเงินการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิมจนกระทั่งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2560 รวมทั้งขยายการเข้าซื้อสินทรัพย์ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนธันวาคม 2560 วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับร้อยละ 1.9 ในปีที่ผ่านมา
          - เศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งชดเชยกับการชะลอตัวของการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลดลงของการลงทุนภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวกหลังจากติดลบมาสองไตรมาสติดต่อกัน ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลัง จำนวน 28 ล้านล้านเยน  เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากร้อยละ 1.2 ในปีที่ผ่านมา
          - เศรษฐกิจจีน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.8 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ในสามไตรมาสแรก ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น และผลจากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เงินหยวนยังอ่อนค่าต่อเนื่องตามการไหลออกของเงินทุนและการลดลงของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2559 เงินทุนสำรองลดลงอยู่ที่ 3,010.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. รวมทั้งหนี้ภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งปี 2559 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 6.9 ในปี 2558 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 26 ปี นับตั้งแต่ปี 2533
          - เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอื่นๆ ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกที่กลับมาขยายตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ  ซึ่งส่งผลให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ที่กลับมาเป็นบวกหลังจากติดลบต่อเนื่องติดต่อกัน 8 ไตรมาส เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน  ส่วนใหญ่การส่งออกปรับตัวดีขึ้นแต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของบางประเทศชะลอตัวลงตามการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

4. เศรษฐกิจโลกในปี 2560
          ในปี 2560 เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2559  ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศสำคัญอื่นๆ ในขณะที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างช้าๆ การฟื้นตัวของของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นในขณะที่แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดสิ้นสุดลง เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และเงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่นๆ
          แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตาม ทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เงื่อนไขทางการเมืองและผลการเลือกตั้งของประเทศสำคัญๆ ในยุโรป ผลการเจรจาและแนวโน้มความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป  ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหากรีซ รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนและความอ่อนแอของภาคการเงินในประเทศยุโรป
          ในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2559 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของภาวะ การจ้างงานและการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ซึ่งส่งผลให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะการลงทุนในสาขาอสังหาริมทรัพย์และการขุดเจาะน้ำมัน นอกจากนั้น ความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายด้านภาษีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดี Donald Trump ยังเป็นปัจจัยบวกเพิ่มเติม (Upside risks) ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ซึ่งคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในช่วงกลางปีและปลายปี 2560 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบจากการดำเนินนโยบายในกลุ่มมาตรการการกีดกันการค้าการลงทุนและด้านแรงงาน
          เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อเนื่องจากร้อยละ 1.7 ในปี 2559 ในขณะที่เงินเฟ้อเริ่มทรงตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ยังอยู่ในภาวะ ผ่อนคลายและแรงขับเคลื่อนทางการคลังเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปยังมีแนวโน้มคงมาตรการการเงินไว้ในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า แม้กระนั้นก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังได้รับผลกระทบจากการเจรจาเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรและมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมจากเงื่อนไข ทางการเมืองที่มีความเกี่ยวพันกับความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงิน การปฏิรูปเศรษฐกิจและความเป็นเอกภาพของกลุ่มยูโรโซน โดยเฉพาะเงื่อนไขทางการเมืองในอิตาลีที่อาจนำไปสู่การเลือกตั้งภายในปี 2560 รวมทั้งผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสในเดือนเมษายนและพฤษภาคม และการเลือกตั้งเยอรมนีในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2560 ซึ่งผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและสนับสนุนการแยกตัวออกจากยุโรปได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น
          เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอลงจากร้อยละ 6.7 ในปี 2559 สอดคล้องกับนโยบาย การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการแก้ไขปัญหาในภาคการเงินซึ่งทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2560 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและการอ่อนค่าของเงินหยวนซึ่งทำให้การส่งออกและ การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีปัจจัยเสี่ยงจากทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ปัญหาการไหลออกของเงินทุนท่ามกลางการคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินหยวนและการลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ รวมทั้งปัญหาในภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์
          เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในปีก่อน โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นทางการคลัง วงเงิน 28 ล้านล้านเยน ที่เน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการช่วยเหลือภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินเยนยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของ การส่งออกและการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า ในประเทศยังมีอุปสรรคจากความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศภายใต้แนวโน้มดังกล่าว ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างๆ ไว้ที่ระดับเดิม
          เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามการขยายตัวของ อุปสงค์ภายในประเทศและแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออก โดยคาดว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 3.0 ร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.7 ร้อยละ 1.5 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1.8 ในปี 2559 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.4 ร้อยละ 4.6 ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 6.5 เทียบกับร้อยละ 5.0 ร้อยละ 4.2 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 6.2 ในปี 2559 ตามลำดับ

ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มยูโรโซน
          เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนยังคงอยู่ในช่วงการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงภาคธนาคารในยุโรป ซึ่งจากรายงานการทดสอบภาวะวิกฤติของธนาคารทั่วยุโรป โดย European Banking Authority (EBA) เมื่อวันที่ 29 กรกฎคม 2559 ระบุถึง ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูงของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ในยุโรป โดยการพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ร่วมกัน อาทิ ทรัพย์สิน ผลกำไร การปล่อยสินเชื่อ และระดับหนี้เสียของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงจากการเพิ่มสูงขึ้นของระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อทั้งหมดในหลายประเทศสำคัญ ได้แก่ ออสเตรีย ไซปรัส กรีซ ไอร์แลนด์ รวมทั้งอิตาลีที่มีระดับหนี้เสียต่อสินเชื่อทั้งหมด (Non-Performing Loans to Total Gross Loans: NPL/GL) อยู่ที่ร้อยละ 18 ในปี 2558 ขณะที่ยูโรโซนมีระดับ NPL/GL เฉลี่ยอยู่เพียงร้อยละ 5.4 และร้อยละ 5.8 ในปี 2558 และ ปี 2559 ตามลำดับ โดยรายงาน ยังระบุว่า ธนาคาร Monte dei Paschi di Siena (MPS) ซึ่งเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอิตาลี มีระดับ NPL/GL สูงถึงร้อยละ 34 นั้น ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะล้มละลายได้หากไม่สามารถเพิ่มทุนสำรองของธนาคาร อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวในอิตาลีผ่อนคลายมากขึ้นภายหลังจากรัฐบาลอิตาลีให้ความช่วยเหลือทางด้านเงินทุนแก่ธนาคาร MPS ทั้งนี้ การผ่อนคลายสถานการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากระดับหนี้เสียของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญในการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจภาพรวมในระยะต่อไปได้

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560
          เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 - 4.0 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 และ 3.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกที่มีความชัดเจนมากขึ้นซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตภาคเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นหลังจากปัญหาภัยแล้งสิ้นสุดลงซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี
          สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ในขณะที่การจ้างงาน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตร และดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในเกณฑ์สูง
          อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เงื่อนไขทางการเมืองในยุโรป การเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรป รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีน ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหากรีซ และความอ่อนแอของภาคการเงินในประเทศยุโรป

          - ปัจจัยสนับสนุน
          1) แนวโน้มการกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นของภาคการส่งออกตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญๆ ในกลุ่ม NIEs และอาเซียนที่เริ่มขยายตัวเร่งขึ้น ในขณะที่การส่งออกของประเทศสำคัญๆ เริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 สอดคล้องกับการส่งออกของไทยที่เริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2559 ก่อนที่จะเร่งขึ้นเป็น ร้อยละ 3.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ ในปี 2560 คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2559 ในขณะที่ปริมาณการค้าโลกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี 2559 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าของไทยซึ่งคิดเป็นประมาณ ร้อยละ 54 ของ GDP ปรับตัวดีขึ้น โดยการฟื้นตัวของภาคการส่งออก จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP มีการขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้ง ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ
          2) แนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร ในช่วงที่ผ่านมาการผลิตภาคเกษตรได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาภัยแล้งและเป็นข้อจำกัดที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ซึ่งจะเห็นได้จากการหดตัวของการผลิตภาคเกษตรร้อยละ 5.7 ในปี 2558 และร้อยละ 1.3 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภัยแล้งได้บรรเทาลงตามลำดับและในไตรมาสที่สามของปี 2559 การผลิตภาคเกษตรเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาสร้อยละ 0.9 ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.2 ในไตรมาสสุดท้ายของปี และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องในปี 2560 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญๆ การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้รายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรซึ่งมีแรงงานคิดเป็นร้อยละ 32.5 ของกำลังแรงงานในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น แม้ว่าราคาสินค้าเกษตรสำคัญในตลาดโลกบางรายการจะเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลังก็ตาม
          3) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีวงเงิน 5.46 แสนล้านบาท และกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ อีกประมาณ 5.80 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากความคืบหน้าของ (1) การดำเนินการตามโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 จำนวน 20 โครงการ  วงเงินรวมประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ที่จะมีการดำเนินการต่อเนื่องในปี 2560 ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่ เริ่มก่อสร้างแล้วจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 45,472 ล้านบาทซึ่งการเบิกจ่ายจะเร่งขึ้นตามความคืบหน้าของการก่อสร้าง โครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ วงเงินรวม 131,004 ล้านบาท โครงการที่อยู่ในระหว่างการประกวดราคาอีก 11 โครงการ วงเงินรวม 532,651 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างและเบิกจ่ายในปี 2560 รวมทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) อีก 2 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 247,201 ล้านบาท และโครงการที่อยู่ในช่วงของการเจรจาและเตรียมการอีก 2 โครงการ (2) โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 อีก 36 โครงการ วงเงินรวม 895,757 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถ เริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 54,800 ล้านบาท และเริ่มประกวดราคาอีก 15 โครงการ วงเงิน 468,565 ล้านบาทและ (3) การดำเนินการโครงการเร่งด่วน ภายใต้แผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (2560 - 2564) จำนวน 48 โครงการ วงเงินรวม 6,992.67 ล้านบาท
          4) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท โดยใช้รายได้ของรัฐบาล 27,078.3 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 162,921.7 ล้านบาท  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามแผนงานบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง (กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ) วงเงิน 15,000.0 ล้านบาท และแผนงานบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ (งบกลุ่มจังหวัด) วงเงิน 115,000.0 ล้านบาท
          5) รายได้จากภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยในปี 2560 คาดว่ารายได้จาก การท่องเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จาก 1.76 ล้านล้านบาทในปี 2559

          - ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
          แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและสนับสนุนให้ภาคการส่งออกในปี 2560 เริ่มกลับมาขยายตัวก็ตาม แต่ในปี 2560 ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความผันผวนซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย(1) ทิศทางและแนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทั้งในกลุ่มนโยบายด้านการลดภาษีและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านบวก (Upside risks) และในกลุ่มนโยบายด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง และ การเคลื่อนย้ายแรงงานในบางมาตรการ ที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงด้านต่ำ (Downside risk) ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก (2) แนวโน้มผลการเจรจาและความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2560 ภายหลังรัฐสภาอังกฤษมีมติอนุมัติการใช้อำนาจตามมาตรา 50 ภายใต้สนธิสัญญาลิสบอนฉบับปี 2552 ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ  (3) เงื่อนไขทางการเมืองและการเลือกตั้งของประเทศสำคัญๆ ในสหภาพยุโรป เช่น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งพรรคการเมืองที่ต่อต้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและสนับสนุนการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปจะมีคะแนนนิยมมากขึ้น และผลการเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาภาคการเงิน การปฏิรูปเศรษฐกิจ และความเป็นเอกภาพของกลุ่มประเทศยูโรโซน (4) ความคืบหน้าของการเจรจาในการแก้ไขปัญหาของกรีซ โดยเฉพาะความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อกรีซในระยะต่อไป ระหว่างยูโรโซน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และรัฐบาลกรีซ  (5) ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป และ (6) ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะ การไหลออกของเงินทุนท่ามกลางการคาดการณ์การอ่อนค่าของเงินหยวนและการลดลงของทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ  รวมทั้งภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และหนี้สะสมภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง

          - ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2560
          1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.3 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ยังคงขยายตัวได้ใกล้เคียงกับสมมติฐานเดิม โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะได้รับแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อินเดีย และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาสำคัญอื่นๆ ซึ่งจะสามารถชดเชยแนวโน้มการชะลอตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจจีนและ กลุ่มประเทศยูโรโซน
          2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5 - 36.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 35.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อย่างค่อยเป็นค่อยไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในปี 2560 ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง และเป็นการปรับสมมติฐานจากเฉลี่ย 35.3 - 36.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เนื่องจากค่าเงินของสกุลเงินสำคัญๆ ในภูมิภาคมีแนวโน้มอ่อนค่ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้
          3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 47.0 - 57.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ย 41.4 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐาน 42.0 - 52.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาเรล ในการประมาณการครั้งก่อน โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นประกอบด้วย (1) การบรรลุข้อตกลงเพื่อลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของ กลุ่มประเทศ OPEC และ Non-OPEC ที่จะลดกำลังการผลิตลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ (3) มาตรการ คว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านในการทดสอบขีปนาวุธ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่จะทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้าๆ ประกอบด้วย (1) ปริมาณสต็อกน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง  (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือในช่วงราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งแท่นขุดเจาะน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 591 แท่น (ข้อมูล ณ 10 กุมภาพันธ์ 2560) และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีนับตั้งแต่ตุลาคม 2558 (3) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ และ (4) แนวโน้มการชะลอตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจจีนและกลุ่มประเทศยูโรโซนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ของโลก
          4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 - 2.2 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 0.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 0.7 - 1.7 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอุตสาหกรรมตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 - 4.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.7 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 2.5 - 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบและ ราคาสินค้าวัตถุดิบในตลาดโลก
          5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2560 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 จาก 1.76 ล้านล้านบาท ในปี 2559 ใกล้เคียงกับสมมติฐาน 1.95 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวประกอบด้วย (1) แนวโน้มการขยายตัวสูงขึ้นของกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (long-stay tourists) โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากยุโรป รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา (2) การขยายท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง ภูเก็ต  และอู่ตะเภา ทำให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น (3) การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ (4) สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีความสงบ  (5) เหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเป้าหมายการเดินทางไปยังภูมิภาคและประเทศอื่นๆ มากขึ้นรวมทั้งไทย (6) การดำเนินมาตรการต่างๆ ของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว อาทิ มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (Visa) ทุกประเภท และการขยายระยะเวลาพำนักของนักท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มที่พำนักระยะยาว (long stay visa) เป็นต้น รวมทั้งการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยว ปี 2560
          6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2560 ร้อยละ 94.8 ของวงเงินงบประมาณ (โดยแบ่งเป็นรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.5 และรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 80) (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560  ร้อยละ 65.0 (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.0 (4) การเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 78.0 (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการน้ำและถนน และอื่นๆ ประมาณ 9,725 ล้านบาท และ (6) อัตราการเบิกจ่ายไตรมาสแรกปีงบประมาณปี 2561 (ตุลาคม - ธันวาคม 2560) ร้อยละ 32.0

          - ประมาณการเศรษฐกิจปี 2560
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3.2 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ์อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.2 - 2.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 9.4 ของ GDP
          ในการแถลงข่าววันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 - 4.0 เท่ากับช่วงการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 แต่มีการปรับองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการ

          - องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
          1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งก่อนสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรและครัวเรือนในภาคการส่งออก อย่างไรก็ดี การขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในปี 2560 ยังมีข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูงในปี 2559 และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของราคาน้ำมันและระดับราคาสินค้าในประเทศ ในขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในการประมาณการครั้งก่อนสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมของภาครัฐ
          2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2559  โดยการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2559 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกซึ่งคาดว่าจะทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเริ่มปรับตัวลดลงอย่างช้าๆ และกระตุ้นความต้องการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิตได้มากขึ้น (2) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดีและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและในอนาคต ในเดือนธันวาคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.3 (สูงสุดในรอบ 3 เดือน) และ 56.1 (สูงสุดในรอบ 23 เดือน) ตามลำดับ ในขณะที่มูลค่าโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 172.1 และคาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนจริงมากขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวและโครงการลงทุนภาครัฐมีความคืบหน้า สอดคล้องกับมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ซึ่งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส
          (3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่จะมีความชัดเจนและเริ่มเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างมากขึ้นในขณะที่ การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 14.4 ต่อเนื่องและเร่งขึ้นจากร้อยละ 9.9 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในการประมาณการครั้งก่อน  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2560 วงเงิน 190,000 ล้านบาท และ (2) แนวโน้มความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่จะทำให้มีการเบิกจ่ายจากกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในปี 2560 มากขึ้น โดยเฉพาะแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่เริ่มก่อสร้างแล้วจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 45,472 ล้านบาท และ โครงการที่อยู่ในระหว่างการประกวดราคาอีก 11 โครงการ วงเงินรวม 532,651 ล้านบาท และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 54,800 ล้านบาท และจะเริ่มประกวดราคาได้อีก  15 โครงการ วงเงิน 468,565 ล้านบาท
          3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 0.0 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในปี 2559
          4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เทียบกับการลดลง ร้อยละ 4.7 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจาก (1) การปรับเพิ่มสมมติฐานราคานำเข้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 - 3.5 เป็นร้อยละ 3.0 - 4.0 และ (2) การปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งทำให้ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนหน้า เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการ คาดว่าปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 3.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.4 ในปี 2559
          5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 32.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 35.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2559 เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ามูลค่าการส่งออก ในขณะที่ ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุล 39.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 9.4 ของ GDP
          6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2560 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 1.2 - 2.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าขั้นปฐม ในตลาดโลก รวมทั้งการปรับสมมติฐานค่าเงินบาท

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
          เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของการผลิตภาคเกษตร แนวโน้มการฟื้นตัว อย่างชัดเจนมากขึ้นของภาคการส่งออก รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ใน เกณฑ์สูงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงที่การส่งออกยังอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัวและอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงทั้งในด้านความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ เงื่อนไขทางการเมืองและผลการเลือกตั้งของประเทศสำคัญๆ ในยุโรป ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีน และปัญหาความอ่อนแอของระบบสถาบันการเงินในยุโรป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2560 ยังคงต้องให้ความสำคัญกับ
          1) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เพื่อรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจและรองรับ ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 (2) การเบิกจ่ายจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 80 (3) การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 65 (4) การเบิกจ่ายจาก งบเหลื่อมปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75 ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ทั้งโครงการสืบเนื่องภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 วงเงิน 1,410,763.35 ล้านบาท โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 วงเงิน 895,757.55 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
          2) การสนับสนุนการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม  โดยให้ความสำคัญกับ (1) การติดตามและระมัดระวังมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศภายใต้การเพิ่มขึ้นของกระแสการต่อต้านการค้าและการใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นธรรม (2) การขับเคลื่อนการส่งออกโดยการให้ความสำคัญกับการขยายตลาดส่งออกเชิงรุกทั้งการหาตลาดใหม่และการเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดเดิมที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การทำตลาดที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย การส่งเสริมการค้าชายแดนและการเชื่อมโยงประเทศ CLMV และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการด้วยนวัตกรรม
          3) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดขั้นตอนทางการตลาดของสินค้าเกษตรเพื่อให้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทาง การเกษตรเป็นของเกษตรกรมากขึ้น การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การลดต้นทุนการผลิต การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตพืชที่ มีมูลค่าสูงขึ้น
          4) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวในระดับที่เหมาะสมเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม  (2) การดำเนินมาตรการเชิงรุกชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมายการพัฒนาและบริการสำหรับอนาคตการพัฒนาประเทศ เช่น อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายภายใต้กรอบการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม และกรอบการส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ICT) (3) การดำเนินการและประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (4) การอำนวยความสะดวกนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตกลับประเทศและนักลงทุนที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่มีข้อจำกัดในด้านการส่งออก
          5) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญๆ และการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์แผนการตลาดท่องเที่ยวปี 2560 ทั้งในด้านการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการเจาะตลาดนักท่องเที่ยวใหม่ขยายฐานตลาดที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย (อาทิ จีน อินเดีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร) การรักษาฐานตลาดเดิม และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศในประชาคมอาเซียน ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

                                                          ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 2560 1


                                                       ข้อมูลจริง                     ประมาณการ ปี 2560
                                                 ปี 2558        ปี 2559      ณ 21 พ.ย. 59     ณ 20 ก.พ. 60
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)                   13,672.9      14,360.6          14,806.2         15,150.5
รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)                        203,356.1     212,862.3         218,853.7        223,941.8
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)              399.2         406.9             413.6            420.8
รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)                 5,937.0       6,032.7           6,113.2          6,220.6
อัตราการขยายตัวของ GDP (CVM, %)                       2.9           3.2           3.0-4.0          3.0-4.0
การลงทุนรวม (CVM, %)                                 4.4           2.8               5.0              5.3
ภาคเอกชน (CVM, %)                                  -2.2           0.4               2.8              2.5
ภาครัฐ (CVM, %)                                     29.3           9.9              11.2             14.4
การบริโภคภาคเอกชน (CVM, %)                           2.2           3.1               2.7              2.8
การอุปโภคภาครัฐบาล (CVM, %)                           3.0           1.6               2.1              2.6
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                0.7           2.1               3.0              2.6
มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               214.1         214.1             219.2            220.3
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                         -5.6           0.0               2.4              2.9
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                        -3.4           0.1               1.2              1.2
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)                0.0          -1.4               3.6              3.7
มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)               187.2         178.4             185.5            188.2
อัตราการขยายตัว (มูลค่า, %) 2/                        -10.6          -4.7               4.5              5.5
อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %) 2/                         0.2          -2.2               1.5              2.0
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                         26.8          35.8              33.7             32.2
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)                    32.1          46.4              42.1             39.5
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                              8.1          11.4              10.2              9.4
เงินเฟ้อ (%)
ดัชนีราคาผู้บริโภค                                      -0.9           0.2           1.0-2.0          1.2-2.2
GDP Deflator                                        0.6           1.7           1.5-2.5          1.5-2.5

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 20 กุมภาพันธ์ 2560
หมายเหตุ:  1/ เป็นข้อมูลที่คำนวณบนฐานบัญชีประชาชาติอนุกรมใหม่ ซึ่ง สศช. เผยแพร่ทาง www.nesdb.go.th
          2/ ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ