บทที่ 5 ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 4, 2001 08:21 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากโดยปราศจากการจัดการดูแลอย่างเหมาะสม ได้ก่อให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมและไม่ยั่งยืนอย่างรุนแรง ทรัพยากรดิน ป่าไม้ ป่าชายเลน ประมง และชายฝั่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยไม่มีการพื้นฟูอย่างจริงจัง การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด และไม่มีประสิทธิผล ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติอยู่ในภาวะเสื่อมโทรมส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพยากรน้ำเกิดปัญหาความขาดแคลน การใช้สารเคมีทางการเกษตรมากขึ้นส่งผลต่อคุณภาพน้ำและดิน อีกทั้งการนำทรัพยากรแร่มาใช้โดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ได้ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในหลายพื้นที่ 
ขณะเดียวกัน การขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมและบริการตลอดจนการลงทุนด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นไปอย่างไร้ระเบียบและขาดทิศทางที่เหมาะสม ไม่มีการนำผังเมืองและผังภาคมาใช้ ทำให้การขยายตัวของชุมชนกระจัดกระจาย เมืองขยายตัวโดยไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ กอรปกับมีการนำพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่และการลงทุนของภาครัฐ ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้นการขยายฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วโดยไม่มีมาตรฐานการประกอบการที่เหมาะสมและมิได้บังคับใช้มาตรการควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง ได้ทำให้เกิดปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรงมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้น การขยายตัวของการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็วโดยปราศจากการดูแลบำรุงรักษาและการจัดการแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ทำให้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปกรรมหลายแหล่งเสื่อมโทรมสูญเสียคุณค่าและความงามลงตามลำดับ
การฟื้นฟูบูรณะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังดำเนินการได้ในขอบเขตจำกัด ไม่ทันต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและแนวโน้มการเกิดมลพิษ เนื่องจากขาดประสิทธิภาพในการจัดทำและบริหารแผนงานให้สามารถนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลทั้งกับหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังขาดการศึกษาวิจัยที่ได้มาตรฐาน ขาดมาตรการผลักดันหรือจูงใจให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและการบริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับที่ยั่งยืน ประหยัด คุ้มค่า และสอดคล้องกับศักยภาพ นอกจากนั้น การกำกับควบคุมยังมีจุดอ่อน ขาดความโปร่งใส มีปัญหาทุจริต และการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ แม้ว่าองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความตื่นตัวในการเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการ แต่ยังขาดความพร้อมและประสบการณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้และมิได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยังไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิของชุมชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ทำให้เกิดข้อจำกัดของการเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ จึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการจัดการให้เกิดสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ส่งเสริมการนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ในระดับที่ยั่งยืนเพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่พึ่งตนเองได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนและประเทศ รวมทั้งเป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของการพัฒนาประเทศ โดยเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม มุ่งเน้นประสิทธิภาพ การกำกับควบคุมที่มีประสิทธิผล มีความโปร่งใส สุจริต ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
๑ วัตถุประสงค์
เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตอบสนองต่อการปรับโครงสร้างการพัฒนาประเทศให้เข้าสู่สมดุล เน้นการพัฒนาในเชิงคุณภาพ โดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและคุ้มค่า ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อความเป็นธรรมในสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิต ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการได้รับประโยชน์และการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ดังนี้
๑.๑ ให้มีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เน้นความรับผิดชอบ มีความโปร่งใส เกิดผลในทางปฏิบัติ มีการให้ความรู้และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร โดยให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีส่วนร่วมและรับผิดชอบการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๑.๒ ให้มีการใช้ประโยชน์ อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีสมดุล มีการควบคุมที่ดี เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากและคุณภาพชีวิต ให้มีการจัดการเมืองและชุมชนน่าอยู่ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งศิลปวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
๒ เป้าหมาย
๒.๑ ปฏิรูประบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพในการกำกับดูแล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การป้องกัน รวมทั้งการเฝ้าระวังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการก่อมลพิษ
๒.๒ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์ โดยให้มีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๒๕ ของพื้นที่ประเทศ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนให้ได้ไม่ต่ำกว่า ๑.๒๕ ล้านไร่ ตลอดจนลดปัญหาการชะล้างพังทลายของดินไม่น้อยกว่า ๕ ล้านไร่ และฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดินที่มีปัญหาทั้งที่เป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินขาดอินทรีย์วัตถุไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านไร่ ในปี ๒๕๔๙
๒.๓ รักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกสายให้มีปริมาณออกซิเจนละลายไม่ต่ำกว่า ๒ มิลลิกรัมต่อลิตรตลอดทั้งปี และฟื้นฟูคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของประเทศ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการรวบรวม กำจัดและลดกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมและจากชุมชนให้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๕๐ ของปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ให้มีการกำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกหลักวิธีและปลอดภัยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๐ ของจังหวัดทั้งหมด และมีการใช้ประโยชน์มูลฝอยไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๓๐ ของปริมาณมูลฝอยที่เกิดขึ้น ตลอดจนควบคุมคุณภาพอากาศให้ปริมาณฝุ่นละอองและสารมลพิษอื่นๆ ในชุมชนเมืองอยู่ในพิกัดมาตรฐาน
๒.๔ คุ้มครอง ป้องกัน ฟื้นฟู และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมไม่ต่ำกว่าปีละ ๕๐ แหล่ง และแหล่งท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๕ แห่ง
๓ แนวทางการพัฒนา
เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงระยะเวลา ๕ ปี ของแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ ๙ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายแนวทางการพัฒนาจึงมุ่งให้ความสำคัญกับการปรับกลไกและกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้มีประสิทธิผลโดยเน้นระบบการบริหารงานที่โปร่งใสและการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน อนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในระดับพื้นที่ลุ่มน้ำ ฟื้นฟูชายฝั่งและทะเล อนุรักษ์พื้นที่ป่า จัดการทรัพยากรดินที่มีปัญหาและเสื่อมโทรม อนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อมเมืองและแหล่งท่องเที่ยว จัดการมลพิษอย่างมีประสิทธิผลควบคู่กับการส่งเสริมการผลิตที่สะอาดและการนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีแนวทางการพัฒนาตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
๓.๑ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เอื้อต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูและอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ดังนี้
(๑) ปรับกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ โดย
(๑.๑) ให้มีการถ่ายโอนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับชุมชน จากหน่วยงานส่วนกลางให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาขีดความสามารถให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในด้านข้อมูล วิชาการ กฎหมาย และแนวทางการจัดการ ให้พร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจตามกฎหมาย
(๑.๒) ให้องค์กรสิ่งแวดล้อมระดับชาติมีบทบาทในการกำกับดูแล กลั่นกรองนโยบาย จัดสรรการใช้ทรัพยากร และประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและรายงานผลต่อสาธารณะ
(๑.๓) แบ่งอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตและตรวจสอบออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และเกิดประสิทธิภาพในการจัดการ
(๑.๔) สร้างกระบวนการประสานงานและการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ โดยกำหนดนโยบาย การจัดสรรทรัพยากร การบริหาร และหน้าที่ของหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นให้ชัดเจน
(๑.๕) ผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญในกระบวนการทางการเมือง ให้มีประชาคมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับจังหวัดและระดับชุมชนตามศักยภาพและความพร้อม สำหรับเสนอข้อคิดเห็นและประสานงานกับกลไกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้การอนุรักษ์ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ บังเกิดผลในทางปฏิบัติ
(๒) พัฒนากลไกและกระบวนการจัดการเชิงบูรณาการที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ โดย
(๒.๑) ปรับปรุงกฎหมายเพื่อสนับสนุนท้องถิ่นและประชาชนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รับรองสิทธิชุมชน และให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาทุกขั้นตอน อาทิ การออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พระราชบัญญัติป่าชุมชน แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประมง พ.ศ. ๒๔๙๐ แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจการบริหารจัดการ และประสิทธิผลของการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทบทวนกฎหมายป่าไม้ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการใช้ที่ดินและการขยายตัวของเมืองให้สอดคล้องสัมพันธ์กันทั้งระบบ
(๒.๒) เสริมสร้างเครือข่ายการประสานงานและการทำงานร่วมกันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน และประชาชนในท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมให้ความรู้แก่แกนนำชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และริเริ่มในชุมชน พัฒนาระบบรวบรวมและจัดทำข้อมูลระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกัน รวมทั้งให้มีเวทีประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็น สร้างกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมคิดร่วมทำ พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและแนวคิดอย่างต่อเนื่อง
(๓) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายในการกำกับ ควบคุม และตรวจสอบการดำเนินงานอนุรักษ์ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย
(๓.๑) สนับสนุนเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และอาสาสมัคร ให้สามารถเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานจัดการและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเฝ้าระวังการก่อมลพิษ การบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการทำเหมืองแร่
(๓.๒) เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ โดยมีบทลงโทษที่เข้มงวดรุนแรงเพื่อป้องปรามให้ได้ผล สนับสนุนกลไกประสานงานระหว่างชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมในการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและการก่อมลพิษ ตลอดจนใช้มาตรการทางสังคมในการต่อต้านการผลิตที่ก่อมลพิษ โดยให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับผู้ประกอบการที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยกย่องผู้ประกอบการที่ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
(๓.๓) พัฒนาและใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้มีการจ่ายค่าการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปลงทุนฟื้นฟูและบำบัดสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนหรือร่วมลงทุนกับภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองและชุมชนโดยใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี
(๓.๔) ปรับปรุงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้ได้มาตรฐานและเป็นไปตามหลักวิชาการ สนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำโครงการในทุกขั้นตอน ตลอดจนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะก่อนดำเนินโครงการและกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้มีการวิเคราะห์ภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศรายสาขาหรือระดับพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อคนและสังคม
(๔) สร้างจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดย
(๔.๑) สร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยสอดแทรกเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาไว้ในหลักสูตรการศึกษาทุกระดับและทุกระบบ เพื่อปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมที่ถูกต้องในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม รวมทั้งสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ในการมีส่วนร่วมบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
(๔.๒) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศโดยจัดให้มีกลไกทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในด้านการค้า การลงทุน ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันในเวทีโลก เพื่อเป็นข้อมูลในการเจรจาต่อรอง และประสานความร่วมมือให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
(๕) พัฒนาและจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(๕.๑) พัฒนาฐานข้อมูลระดับพื้นที่ อาทิ ข้อมูลทรัพยากรดินและการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่ชุ่มน้ำให้เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการติดตามตรวจสอบและจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างทันการ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิดกฎหมาย
(๕.๒) ให้มีการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและมีการติดตามข้อมูลผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมโลก อาทิ ภาวะเรือนกระจก เพื่อวางแผนเตรียมพร้อมรับปัญหาด้านอุทกภัย ปัญหาด้านการผลิตภาคการเกษตรและปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
๓.๒ อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างยั่งยืน ดังนี้
(๑) คุ้มครองและกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และมีการใช้ประโยชน์ที่สอดคล้องกับสมรรถนะ โดย
(๑.๑) ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ที่ได้กำหนดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ ให้แล้วเสร็จ และประกาศให้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ ๑ ทั้งหมด เป็นเขตอนุรักษ์หรือพื้นที่คุ้มครอง จัดทำแนวเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าชายเลนอนุรักษ์ให้เสร็จสมบูรณ์ รวมทั้งแนวกันชนรอบนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่สำคัญ ตลอดจนสร้างกลไกและเครือข่ายในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพื่อลดข้อขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชน โดยยึดหลักประสิทธิภาพและหลักการมีส่วนร่วม
(๑.๒) ให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการฟื้นฟูและปลูกป่า ตลอดจนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่าชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
(๑.๓) ประกาศเขตสงวนรักษาพืชพันธุ์ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และกำหนดเขตและมาตรการคุ้มครองการทำประมงพื้นบ้านให้ชัดเจน
(๑.๔) กำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่สมควรอนุรักษ์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการด้านสินเชื่อ ภาษี และระบบตลาด เพื่อกระจายสิทธิการถือครองที่ดินในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรแต่มิได้ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร พร้อมทั้งให้มีกลไกสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อรับซื้อที่ดินซึ่งเจ้าของประสงค์จะจำหน่ายจ่ายโอนและนำมาให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเช่าทำการเกษตร
(๑.๕) จัดทำระบบพื้นที่คุ้มครองแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองระบบนิเวศที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผืนป่าขนาดใหญ่และระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ
(๒) ฟื้นฟูชายฝั่งและทะเลไทยให้คืนความอุดมสมบูรณ์ โดยจัดทำแผนหลักฟื้นฟูทะเลไทย ให้ครอบคลุมทั้งในด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่ง ทรัพยากรทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล และประมงพื้นบ้าน สนับสนุนการออกกฎหมายยกเลิกเครื่องมือประมงทะเลที่ทำลายระบบนิเวศชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวนรุน อวนลาก ประกาศเขตและกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งทะเล การคุ้มครองปะการัง หญ้าทะเล และสาหร่ายทะเล รวมทั้งฟื้นฟูชายฝั่งทะเลที่เสื่อมโทรมจากกระบวนการกัดเซาะ ตลอดจนจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียและระบบกำจัดขยะจากชุมชนและกิจกรรมการพัฒนาตามแนวชายฝั่ง
(๓) อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ โดยจัดให้มีเครือข่ายข้อมูลและการลงทุนวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีความสำคัญ ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมือในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการคุ้มครองพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์
(๔) สนับสนุนการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม โดย
(๔.๑) บริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีอยู่ ให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรม การผลิต การบริโภค อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งปรับระบบการผลิตทางการเกษตรไปสู่พืชที่ใช้น้ำน้อย ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ
(๔.๒) จัดหาแหล่งน้ำเอนกประสงค์โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ขั้นตอนการจัดทำโครงการ และให้ประชาชนผู้ได้รับประโยชน์มีส่วนร่วมรับภาระการลงทุน
(๔.๓) ศึกษาและกำหนดแนวทางการจัดการคุณภาพน้ำใต้ดินและการใช้ประโยชน์น้ำใต้ดินให้สอดคล้องกับศักยภาพ รวมทั้งสำรวจและติดตามสถานการณ์แผ่นดินทรุด เพื่อประกาศเขตควบคุมการใช้น้ำบาดาลและแก้ปัญหาการลดลงของน้ำใต้ดิน
(๔.๔) ให้มีการเก็บค่าบริการใช้น้ำดิบ โดยเริ่มจากการใช้น้ำเพื่ออุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการประปา ควบคู่กับการรณรงค์และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนมีจิตสำนึกในการรักษาคุณภาพแหล่งน้ำและใช้น้ำอย่างคุ้มค่า
(๔.๕) พัฒนาระบบการพยากรณ์ทรัพยากรน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลน การป้องกันน้ำท่วม และการจัดหาน้ำ
(๔.๖) จัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการในระดับลุ่มน้ำ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการคุณภาพน้ำและการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำวิกฤต พร้อมกับเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในการดำเนินการ
(๕) ฟื้นฟูทรัพยากรดินที่มีปัญหาและเสื่อมโทรม ให้มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยสนับสนุนกิจกรรม การเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรเชิงอนุรักษ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและลดการตกค้างของสารเคมีในดินและน้ำ โดยให้ชุมชนมีบทบาทหลักและภาครัฐสนับสนุนด้านวิชาการ
(๖) ใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่เพื่อสนับสนุนภาคการผลิตโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแร่ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการประเมินศักยภาพแหล่งแร่นอกเขตอนุรักษ์ ปรับปรุงกระบวนการทำเหมืองแร่และควบคุมสัมปทานทรัพยากรแร่มิให้มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สำหรับการให้สัมปทานรายใหม่ ควรอนุญาตเฉพาะทรัพยากรที่มีการขาดแคลนเท่านั้น รวมทั้งให้มีการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองแล้ว ตลอดจนกำหนดมาตรการควบคุมการทำเหมืองแร่ที่ผิดกฎหมาย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ