ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 - 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2017 15:00 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2560 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.8
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม ในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา และสาขาประมงขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรมขยายตัวในเกณฑ์สูง ส่วนสาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า จะขยายตัวร้อยละ 8.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และ ร้อยละ 2.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.4 ของ GDP
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อเนื่องจากในปี 2560 ประกอบด้วย (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญและการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณด้านการลงทุน (3) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน (4) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ (5) การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.1 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2560 และปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตร โดย (i) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินการตามโครงการลงทุน ที่สำคัญ การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนในความต่อเนื่องของนโยบายและมาตรการที่สำคัญใน ช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ควบคู่กับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชน (2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง โดย (i) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างใน ช่วงที่เหลือของปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนในกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และร้อยละ 80.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ให้เข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง (iii) การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EEC) และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (iv) การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ (3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร การดำเนินการตามมาตรการการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน และการพัฒนา SMEs ให้มีความเข้มแข็งและ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ แรงงานกึ่งทักษะฝีมือ และแรงงานต่างชาติ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 และแนวโน้มปี 2560 - 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกสินค้าและการขยายตัวต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการลงทุนรวม ในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม ฟื้นตัวชัดเจนและสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้น สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา และสาขาประมงขยายตัวเร่งขึ้น สาขาเกษตรกรรมขยายตัวในเกณฑ์สูง สาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาการก่อสร้างปรับตัวลดลง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สองของปี 2560 ร้อยละ 1.0 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัว ร้อยละ 3.8

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2560

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 7.0 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 10.9 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวร้อยละ 3.5 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 15.2 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.4 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.9

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ในขณะที่การลงทุน ในสิ่งก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.1 ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 19.6 เทียบกับอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 1.1 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 0.2 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.6

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส ร้อยละ 12.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และกระจายตัวมากขึ้นทั้งในด้านจำนวนสินค้า และตลาดส่งออก สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) ขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกไปยังตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส แต่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงเล็กน้อย เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 173,942 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 5,953 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9

4) ภาคเกษตร ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 9.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของสาขาเกษตรกรรม และสาขาประมงร้อยละ 10.1 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ ผลผลิตพืชเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (เช่น มะม่วง ลำไย เงาะ มังคุด สับปะรด และลิ้นจี่) เป็นต้น เช่นเดียวกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตหมวด ปศุสัตว์และหมวดประมง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงจากฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้าร้อยละ 12.9 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิต โดยราคาพืชเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง เช่นเดียวกับการลดลงของราคาหมวดปศุสัตว์และหมวดประมง (เฉพาะกุ้งขาวแวนนาไม) ในขณะที่ราคายางพาราและอ้อยเพิ่มขึ้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 2.6

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 10.3 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 1.5 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 ไตรมาสร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของอุตสาหกรรมสำคัญๆ สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 0.4 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวและเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 62.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น ยานยนต์ เครื่องยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.2

6) สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 และเป็นการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในสาขาอุตสาหกรรม สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และในภาคครัวเรือน ด้านการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้น้ำในส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3 ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของปริมาณก๊าซที่เข้าโรงแยก

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 1.3 โดยการผลิตไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซธรรมชาติลดลงร้อยละ 4.7

7) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 6.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 693.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 453.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 240.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 63.71 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.90 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

รวม 9 เดือนแรกของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.5 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ อยู่ที่ 1,330.1 พันล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.26

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2560 - 2561

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 8.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคส่งออกอย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น (3) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน (4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจากปีก่อน และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.1 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.1 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2560 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของฐาน รายได้รวมในระบบเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสที่สามของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการขยายตัวของการบริโภคสินค้าทั้งในหมวดสินค้าไม่คงทน หมวดสินค้ากึ่งคงทน หมวดสินค้าคงทน และหมวดบริการ สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งร้อยละ 10.9 การขยายตัวในเกณฑ์ดีของดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) และการนำเข้าสินค้าสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม (ราคาคงที่) ร้อยละ 5.1 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ร้อยละ 4.5 และ ร้อยละ 15.2 ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 62.4 เทียบกับระดับ 64.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 และร้อยละ 13.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.2 และร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลร้อยละ 8.6 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 51.1 เทียบกับระดับ 50.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

การส่งออก: การส่งออกสินค้าขยายตัวเร่งขึ้น และกระจายตัวมากขึ้นทั้งในด้านจำนวนสินค้าและตลาดส่งออก สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2560 มีมูลค่า 61,633 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว ในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาส ที่สอง และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.8 ในไตรมาสที่สอง การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากต่างประเทศ ที่ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ในขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอื่นๆ เช่น กลุ่มประเทศตะวันออกกลางเริ่มฟื้นตัว และ (2) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.1) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.0) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.5) ราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.2) และราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.1) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 2,057 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 28.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 19.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 ไตรมาส) โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.6 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาล ส่วนราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกยางพารา และน้ำตาลเป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.9 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.1 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศเบนิน สหรัฐอเมริกา และแอฟริกาใต้ ส่วนราคาส่งออกลดลงร้อยละ 4.8 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.4 ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 11.2 เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาในการส่งออกไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก ยางพารา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 จากอุปสงค์ต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 และราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 จากการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 12.5 ในไตรมาส ก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5) ตามความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทำให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.9 สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 49.6) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 37.1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 14.4) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 13.2) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 3.4) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 29.7) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 10.9) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 24.8) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก และเครื่องปรับอากาศลดลงร้อยละ 10.8 ร้อยละ 1.8 และร้อยละ 15.1 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เนื่องจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ สินค้าส่งออกอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 49.8 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่า การส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 52.7 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 2,500 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม)

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงเล็กน้อย การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ร้อยละ 21.7 ร้อยละ 10.4 และร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ร้อยละ 26.0 ร้อยละ 20.1 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป สำหรับการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 9.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 15.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของทั้งการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 16.2 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง (15) กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ไตรมาส ร้อยละ 0.7 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกเครื่องรับโทรศัพท์และอุปกรณ์ และข้าว ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกทองคำ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นสำคัญ

การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 13.0 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การนำเข้ามีมูลค่า 51,490 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 13.0 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก และ อุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,719 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 ในไตรมาสก่อนหน้า

ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าร้อยละ 6.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4) ขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้า สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 11.3 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3) สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.6 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2) สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง และอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.8 โดยเฉพาะ การนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 2,798 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 148.9 อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 111.4 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 111.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2560

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 10.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (337.4 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 6.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (219.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 9.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (321.6 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

ภาคเกษตร: ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องตามการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญทุกหมวด ในขณะที่ ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในช่วงภัยแล้งส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลงในไตรมาสที่สามของปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัว ร้อยละ 16.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการขยายตัวของสาขาเกษตรกรรมและสาขาประมงร้อยละ 10.1 และร้อยละ 8.6 ตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 11.9 ซึ่งเป็นผล มาจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในทุกหมวดสินค้า โดยหมวดพืชผลสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ผลผลิตพืชผลสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี (ร้อยละ 77.6) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 60.7) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (ร้อยละ 16.8) และยางพารา (ร้อยละ 5.1) เนื่องจากในไตรมาสนี้มีปริมาณน้ำฝนและน้ำชลประทานเพียงพอ ส่วนกลุ่มไม้ผลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง ร้อยละ 3.7 หมวดปศุสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ สุกรมีชีวิต ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และโคเนื้อ เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์เพิ่มการผลิตเพื่อรองรับความต้องการจากผู้ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น หมวดประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไมเป็นสำคัญ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.9 ตามการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาหมวดพืชผลสำคัญ (ร้อยละ -14.9) หมวดปศุสัตว์ (ร้อยละ -6.8) และหมวดประมง (ร้อยละ -3.8) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิต ประกอบกับฐานดัชนีราคาสินค้าเกษตรในไตรมาสที่สามปี 2559 อยู่ในระดับสูงเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาอ้อย และราคายางแผ่นดิบชั้น 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรราคาน้ำตาลในตลาดโลก และตามราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้ายางพารา ตามลำดับ การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6

สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวร้อยละ 4.3 สูงสุดในรอบ 18 ไตรมาส สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกและการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนจากการขยายตัวร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น อุตสาหกรรมส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 32.0 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ขยายตัวร้อยละ 2.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมการกลั่นฯ และการผสมสุรา รวมทั้งการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ฯ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากพืช น้ำมันจากสัตว์ และไขมันจากสัตว์ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงร้อยละ 0.4 สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตเครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ ที่ลดลงร้อยละ 28.4 ในขณะที่อุตสาหกรรมส่งออกที่สำคัญส่วนใหญ่ขยายตัวและเร่งขึ้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 62.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ (ร้อยละ 32.0) ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ร้อยละ 16.5) ยานยนต์ (ร้อยละ 7.4) หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuit: IC) (ร้อยละ 5.6) และการกลั่นลำดับส่วนและการผสมสุรา รวมทั้งการผลิตเอทิลแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมัก (ร้อยละ 29.0) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ลดลง ได้แก่ เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่นๆ (ร้อยละ -28.4) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณ และของที่เกี่ยวข้อง (ร้อยละ -30.1) การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอรวมถึงการทอสิ่งทอ (ร้อยละ -10.2) ผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และปูนปลาสเตอร์ (ร้อยละ -5.2) และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์อื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ร้อยละ -8.4) เป็นต้น

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการผลิตไฟฟ้า และน้ำประปาในไตรมาสที่สามของปี 2560 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมสำคัญๆ ขนาดใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใน ไตรมาสนี้ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ อุตสาหกรรมการผลิตโลหะขั้นมูลฐาน อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ ปิโตรเลียม ถ่านหิน และอุตสาหกรรมการผลิตยางและพลาสติก เป็นต้น รวมทั้งสาขาการค้าส่งค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และการผลิตและการจำหน่ายน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับจำนวนผู้ใช้น้ำในส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในขณะที่กิจกรรมโรงแยก ก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของปริมาณก๊าซที่เข้าโรงแยก

สาขาก่อสร้าง: ลดลงตามการลดลงของการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 2.2 (การก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 1.9 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการลดลงร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยลดลงร้อยละ 1.6 โดยเฉพาะอาคารชุดที่มีความสูงเกิน 16 ชั้น ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนใหม่ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ลดลงร้อยละ 28.2 ส่วนการก่อสร้างอาคารโรงงาน และการก่อสร้างอื่นๆ ลดลงร้อยละ 10.4 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างอาคารสำนักงานและอาคารพาณิชย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ด้านดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดวัสดุก่อสร้างอื่น ๆ โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9

สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเป็นการขยายตัวทั้งการค้าปลีกและการค้าส่ง ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ใน ไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายหมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น การขายส่งอาหาร และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น) หมวดสินค้าคงทน (เช่น การขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดใช้ ในครัวเรือน เป็นต้น) หมวดสินค้าขั้นกลาง ในขณะที่ยอดขายส่งหมวดอื่นๆ ลดลง ในด้านการค้าปลีก ดัชนี ค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของยอดขายปลีกในทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องดื่ม และร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น) และหมวดสินค้าคงทน หมวดยอดขายห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป (เช่น ร้านขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ เป็นสินค้าหลัก เป็นต้น) หมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง และหมวดอื่นๆ

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวของรายรับจากการท่องเที่ยว ในไตรมาส ที่สามของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 693.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 453.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวจีน เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และกัมพูชา เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 240.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้รวมของระบบเศรษฐกิจและได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบาย "ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง" ซึ่งส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวไทยพร้อมทั้งสร้างกระแสการท่องเที่ยวภายในประเทศ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.71 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 61.90 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สาขาขนส่งและคมนาคม: ขยายตัวต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การผลิตภาคเกษตร และการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้บริการขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สามของ ปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 8.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกขยายตัวร้อยละ 6.3 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 14.6 สอดคล้องกับปริมาณเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 3.0 ส่วนบริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ ผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะการให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านผ่านระบบโครงข่าย ใยแก้ว

การจ้างงาน: การจ้างงานรวมลดลงตามการลดลงของการจ้างงานภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร ส่วนอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่า ในไตรมาสที่สามของปี 2560 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 1.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้ การจ้างงานภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.2 ตามการลดลงของการจ้างงานในการปลูกมันสำปะหลัง การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงโคนมและโคเนื้อ เป็นสำคัญ ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.8 ตามการลดลงของการจ้างงานในสาขาการผลิตสำคัญต่างๆ เช่น (1) สาขาอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 4.0 ตามการลดลงของการจ้างงานในการผลิต เครื่องแต่งกายและการผลิตโลหะขั้นมูลฐาน สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในสาขาดังกล่าว (2) สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ ลดลงร้อยละ 2.6 ตามการลดลงของการ จ้างงานในการขายปลีก (ยกเว้นยานยนต์และรถจักรยานยนต์) และ (3) สาขาก่อสร้าง ลดลงร้อยละ 6.8 ตามการลดลงของการจ้างงานในการก่อสร้างอาคาร สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตในสาขาก่อสร้าง เป็นต้น สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 4.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ด้านการคลัง

การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2560 (กรกฎาคม - กันยายน 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 612,426.1 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการจัดเก็บภาษีของกรมศุลกากรเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ ประกอบกับการขยายตัวของการโอนกรรมสิทธิ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตในกลุ่มสุราและยาสูบ ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงร้อยละ 4.5 และร้อยละ 1.4 ตามลำดับ

รวมทั้งปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,350,593.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.8 แต่สูงกว่าประมาณการร้อยละ 0.3

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 713,488.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.4 ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2560 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 190,000 ล้านบาท)จำนวน 608,568.5 ล้านบาท ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.2 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.8 ของวงเงินงบประมาณ) แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.1 ของวงเงินงบประมาณ) และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.6 ของวงเงินงบประมาณ) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ที่สามารถเบิกจ่ายได้เร่งขึ้น โดยมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 49,126.3 ล้านบาท (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 25.9 ของวงเงินงบประมาณ) ประกอบด้วย การเบิกจ่ายภายใต้โครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด จำนวน 18,734.7 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ จำนวน 3,313.2 ล้านบาท และแผนงานรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 27,078.3 ล้านบาท (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 18,428.5 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 39.4 (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่ำกว่าร้อยละ 9.9 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3) การลงทุนรัฐวิสาหกิจ มีจำนวนทั้งสิ้น 89,595 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 5,411.9 ล้านบาท) ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,308.8 ล้านบาท ประกอบด้วย มาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) 2,068.8 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 240.0 ล้านบาท

รวมทั้งปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 2,686,563.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปีก่อนหน้าร้อยละ 4.2 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 91.9 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 96.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 92.9 ในปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 380,776.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 4.4 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 70.3 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 87.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 73.3 ของปีงบประมาณก่อนหน้า) ในส่วนของงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 182,524.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.6 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด การลงทุนรัฐวิสาหกิจมีจำนวนทั้งสิ้น 345,892.0 ล้านบาท และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 9,398.4 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,369,331.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP แบ่งเป็นเงินกู้ภายในประเทศ 6,067,790.7 ล้านบาท (ร้อยละ 39.8 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 301,540.6 ล้านบาท (ร้อยละ 2.0 ของ GDP) และแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 4,959,164.4 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 970,216.3 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 426,321.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.9 ร้อยละ 15.2 และร้อยละ 6.7 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 20,400.4 ล้านบาท และเมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 135,621.4 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 123,241.0 ล้านบาท (ทั้งปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลตามกรอบวงเงิน 552,921.7 ล้านบาท) ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 238,462.0 ล้านบาท สูงกว่าการเกินดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.8 ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2560 อยู่ที่ 523,758.0 ล้านบาท สูงกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.7

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สามของปี 2560

ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม และ 27 กันยายน 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อรักษาแนวทางการดำเนินนโยบายผ่อนปรน เนื่องจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.00 - 1.25 ต่อปี ควบคู่กับการประกาศแผนการปรับลดขนาดงบดุล (Balance sheet reduction) มูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. โดยจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม 2560 ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับบางประเทศในภูมิภาค ซึ่งอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินทำให้ธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในบางประเทศ โดยธนาคารอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน รวมทั้งธนาคารกลางอินเดียและธนาคารกลางรัสเซียซึ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคมและกันยายน ตามลำดับ

จนถึงเดือนกันยายน 2561 ควบคู่ไปกับการประกาศแผนการปรับลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตร จากเดือนละ ล่าสุดเดือนตุลาคม 2560 ธนาคารกลางยุโรปได้ประกาศขยายเวลาของมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณออกไป6 หมื่นล้านยูโรเป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโรตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.00 - 1.25 ต่อปี ทั้งนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม 2560

ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยในไตรมาสที่สามของปี 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ยังทรงตัวในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเกณฑ์เพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล และปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อ บัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับตัวลดลง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาอาหารสดที่หดตัวช้าลง

ล่าสุดเดือนตุลาคม 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งรับโอนสินเชื่อลูกค้ารายย่อยจากธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ปรับแผนธุรกิจ ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่นและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ต่างคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าตามการทรงตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

สินเชื่อภาคเอกชน (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ของสถาบันรับฝากเงิน ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยสินเชื่อภาคธุรกิจชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.2 เป็นร้อยละ 2.9 ในไตรมาสนี้ ตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารพาณิชย์และการลดลงของสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทั้งนี้ สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่มีการ ชะลอตัวลงมาก ได้แก่ สาขาการผลิต สาขาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร ใน ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.95 ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.98 ในไตรมาสนี้

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าในไตรมาสที่สามของปี 2560 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.37 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.7 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า ตามทิศทางของเงินดอลลาร์ สรอ. ที่เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตลอดจนความล่าช้าในการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ภายหลังวุฒิสภาสหรัฐฯ มีมติคัดค้านร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ ซึ่งส่งผลต่องบประมาณที่จะใช้ในมาตรการดังกล่าว ขณะที่ค่าเงินบาทได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินทุนไหลเข้าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน เงินบาทเริ่มชะลอการแข็งค่าลงตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ภายหลังเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนและต่อเนื่อง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ดัชนีค่าเงินบาท (NEER)1 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ย1ในไตรมาสก่อนร้อยละ 1.2 สอดคล้องกับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.2 เช่นเดียวกัน

หมายเหตุ: 1 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้าหนักใหม่ในการคานวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คานวณน้าหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ในเดือนตุลาคม 2560 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากค่าเฉลี่ย ในเดือนกันยายน ภายหลังค่าเงินดอลลาร์ สรอ. ได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารกลางยุโรปประกาศ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเริ่มลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ควบคู่ไปกับการขยายระยะเวลาการเข้าซื้อสินทรัพย์ที่จะมีผลในเดือนมกราคม - กันยายน 2561 ประกอบกับแผนปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีความชัดเจนขึ้นภายหลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายงบประมาณปี 2561

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเร่งตัวตัวขึ้นมากในช่วงปลายไตรมาส ช่วงต้นไตรมาส SET Index เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ ตามผลประกอบการไตรมาสที่สองของบริษัท จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนจะปรับตัวเร่งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากปลายเดือนสิงหาคมเช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขทางการเมืองภายในประเทศ การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางค่าเงินบาท รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Economy) ของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ SET Index จะมีความผันผวนในระยะสั้นๆ ตามการปรับตัวของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ก็ตาม โดยดัชนีปิด ณ สิ้นไตรมาสที่สามที่ 1,673.16 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จาก ณ สิ้นไตรมาสที่สอง

ในเดือนตุลาคม 2560 SET Index ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค โดย SET Index ปรับตัวสู่ระดับ 1,700 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2537 เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอื่นที่ปิดตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่น ดัชนี JCI (อินโดนีเซีย) และ PCOMP (ฟิลิปปินส์) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติเริ่มปรับทิศทางการลงทุนเป็นขายสุทธิในช่วงครึ่งหลังของเดือน เพื่อเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะมีการแถลงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน โดยแรงซื้อหลักในช่วงครึ่งหลังของเดือนมาจากนักลงทุนรายย่อย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนตุลาคม SET Index ปิด ที่ 1,721.37 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสที่สามร้อยละ 2.9

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ลดลงในทุกช่วงอายุตามแรงเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 2.42 ต่อปี ลดลง 14 basis point (bps) จากไตรมาสก่อน โดยในช่วงต้นไตรมาส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลงตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกากลับปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากธนาคารกลางยุโรปมีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 7 กันยายน 2560 ส่งผลให้ส่วนต่าง (spread) ระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลง โดย ณ สิ้นไตรมาส spread ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 9 bps ลดลงจาก 25 bps ในไตรมาสก่อนหน้า โดยที่ดัชนีราคาพันธบัตรรัฐบาลช่วงอายุระหว่าง 7 ถึง 10 ปี (ดัชนีพันธบัตรรัฐบาลกลุ่มที่ 3: 7 ปี < TTM <= 10 ปี (ThaiBMA)) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ในเดือนตุลาคม 2560 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะปานกลางและระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงอายุ 4-14 ปี ซึ่งเป็นผลจากการขายของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.46 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาสสาม 4 bps สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีราคาพันธบัตร ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาลดลงสู่ระดับ 1 bps ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริการภายหลังจากที่ธนาคารกลางยุโรปมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 26 ตุลาคม 2560

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ ในไตรมาสที่สามของปี 2560 มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 1.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการไหลออกสุทธิ 4.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจาก (1) การซื้อสุทธิ ในหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดตราสารหนี้ และ (2) การไหลเข้าสุทธิของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยยังนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในเกณฑ์สูง 13.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (456.6 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 11.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (408.4 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 7.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (253.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 10.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 3.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ 199.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 31.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.6 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สามของปี 2560)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2560 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาส ที่สองของปี 2560 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ ไข่และผลิตภัณฑ์นม และผักและผลไม้ ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เนื่องจากน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า2

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สามของปี 2560 ลดลงร้อยละ 0.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เป็นผลจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรมเป็นสำคัญ โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 5.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เนื่องจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และ ก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2560 เนื่องจากการชะลอลงของราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก3

หมายเหตุ: 2 ในเดือนตุลาคม 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 รวม 10 เดือนแรกของปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.6 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5

3 ในเดือนตุลาคม 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 รวม 10 เดือนแรกของปี 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สามของปี 2560

ในไตรมาสที่สาม เศรษฐกิจโลกขยายตัวเร่งขึ้น นำโดยการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แคนาดา กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ในขณะที่เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า การฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกขยายตัวเร่งขึ้นและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ NIEs กลุ่มประเทศอาเซียน และเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ฟื้นตัวและกระจายตัวเป็น วงกว้างมากขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศอื่น ๆ เริ่มทรงตัวและปรับตัวเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการปรับตัวดีขึ้นของเงินเฟ้อทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักรปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ธนาคารกลางกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ส่วนใหญ่จะยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการกลับสู่เป้าหมายของอัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (Trade weighted) เริ่มแข็งค่าอย่างช้า ๆ ท่ามกลางความผันผวนตามการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับความคืบหน้าของแผนปฏิรูปภาษีและทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ผลการเจรจาข้อตกลง NAFTA และ BREXIT ผลการเลือกตั้งทั่วไปในเยอรมนีและญี่ปุ่น สถานการณ์ความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี และเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสเปน

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 (Advance Estimate) เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า แม้จะได้รับผลจากพายุเฮอร์ริเคน และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของลงทุนในสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกชะลอตัวลง และการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลง การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจทำให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ต่ำสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ (PCE Price Index) ในไตรมาสที่สามจะยังอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ของอัตราเงินเฟ้อทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช่วงร้อยละ 1.00 - 1.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 19 - 20 กันยายน 2560 และวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2560 ควบคู่ไปกับการประกาศแผนการปรับลดงบดุลธนาคารซึ่งจะเริ่มมีผลในเดือนตุลาคม 2560 โดยการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (reinvest) 1 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน ก่อนที่จะทยอยเพิ่มปริมาณการหยุดซื้อพันธบัตรจนเป็น 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ต่อเดือน ในเดือนตุลาคม 2561

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 26 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งส่งผลให้ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ในขณะที่การผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและ ภาคบริการขยายตัวเร่งขึ้น และส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 9.1 ต่ำสุดในรอบ 8 ปี แต่อัตรา เงินเฟ้อยังอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า การปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิมในการประชุมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2560 และเริ่มส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นโดยการประกาศแผนการลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนกระทั่งสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิก 2563 อย่างไรก็ตาม การส่งออกชะลอตัวลงตามเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 2.8 ต่ำสุดในรอบ 23 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เป็นร้อยละ 0.6 สูงสุดในรอบ 10 ไตรมาส แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.8 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในช่วงครึ่งแรกของปี โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและการส่งออกชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดค้าปลีกยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในไตรมาสนี้ ในขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่แปด และส่งผลให้เงินหยวนเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 2.8

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการส่งออก และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศส่วนใหญ่ยังคงเป็นบวกอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 4.6 ร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 3.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของการส่งออก การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการลงทุนภาครัฐ โดยเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 7.5 ร้อยละ 5.1 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.3 ร้อยละ 5.0 ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ

ในไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับ แรงส่งจากพลวัตการฟื้นตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทั้งในด้านการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น การลดลงของการว่างงาน การเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ และราคาสินค้าในตลาดโลก สภาพแวดล้อมดังกล่าวเมื่อรวมกับสภาพคล่องในประเทศสำคัญๆ ที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 3.2 ในปี 2559 และร้อยละ 3.4 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน

4. เศรษฐกิจโลกในปี 2561

ในปี 2561 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่กระจายตัวมากขึ้นโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าและฐานะทางการคลังโดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดีย รัสเซีย บราซิล และตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน แม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ และส่งผลให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในภาพรวมยังขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาก็ตาม

การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศสำคัญ ๆ และการฟื้นตัวที่กระจายตัวมากขึ้นของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะทำให้ราคาสินค้าขั้นปฐมและอัตราเงินเฟ้อในประเทศสำคัญ ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศเศรษฐกิจหลักปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการปรับลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรปซึ่งดำเนินการตามแผนการลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ มีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสหรัฐฯ แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในกรณีฐานคาดว่าในปี 2561 เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 2.2 ในปี 2560 ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการจ้างงาน การเพิ่มขึ้นของค่าตอบแทนแรงงาน และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ รวมทั้งแรงขับเคลื่อนเพิ่มเติมจากการขยายตัวของผลประกอบการภาคธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการลดลงของอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องในเดือนธันวาคม 2560 และในเดือนมิถุนายนและธันวาคม 2561 ควบคู่ไปกับการดำเนินการตามมาตรการปรับลดขนาดงบดุล เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.0 ชะลอลงช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2560 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น และการเริ่มปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้งประเทศสมาชิกที่เป็นเศรษฐกิจหลักและประเทศสมาชิกที่เคยประสบปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจรุนแรง (PIIGS) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปยังมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วง 3 ไตรมาสแรกควบคู่ไปกับการดำเนินการตามแผนการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2560 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องภายใต้เสถียรภาพทางการเมืองที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในปี 2563 แม้กระนั้นก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองบนคาบสมุทรเกาหลีมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เงินเยนอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านการแข็งค่าและเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำและปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างล่าช้าซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินการตามแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในปี 2560 ตามการชะลอตัวของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร โดยเป็นผลมาจากมาตรการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาเสถียรภาพของระบบการเงิน อย่างไรก็ดีแรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการคลังภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตและการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นและแนวโน้มการชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน โดยคาดว่า เศรษฐกิจฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 2.8 ร้อยละ 2.1 และร้อยละ 2.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.9 ในปี 2560 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ จะขยายตัวร้อยละ 3.0 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการส่งออกและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ร้อยละ 5.6 ร้อยละ 6.9 และร้อยละ 6.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.9 ร้อยละ 5.2 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 6.2 ในปี 2560 ตามลำดับ ส่วนเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นและเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประกอบด้วยอินเดีย บราซิล และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 2.6 ในปี 2560 ตามลำดับ

แม้กระนั้นก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปี 2560 และปี 2561 ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ ๆ ให้มีความแตกต่างไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน รวมทั้งส่งผลให้เกิดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลหลัก ประกอบด้วย (1) ความคืบหน้าของแผนการปฏิรูปภาษีและกฎหมายงบประมาณของสหรัฐฯ ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะล่าช้า (2) ทิศทางการดำเนินนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ และผลการเจรจา NAFTA ที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการค้าโลก (3) การเจรจา Brexit ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป และ (4) เงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะการเมืองในประเทศสเปนซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงปลายปี 2560 และผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ บนคาบสมุทรเกาหลี และปัญหาความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน และเลบานอน

ความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 205 โดยคาดหวังว่ากฎหมายปฏิรูปภาษีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจซื้อของภาคครัวเรือน ซึ่งมีการประเมินว่าการปฏิรูปภาษีนี้จะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณเบื้องต้น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงระยะ 10 ปีข้างหน้า สำหรับรายละเอียดของร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสำคัญ คือ (1) การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมาอยู่ที่ร้อยละ 20 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35 การปรับระบบจัดเก็บภาษีระหว่างประเทศที่มีความทันสมัยมากขึ้นเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยโอนกำไรไปยังต่างประเทศ และการปรับลดอัตราภาษีสูงสุดให้กับธุรกิจขนาดย่อมและองค์กรที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจลงมาอยู่ที่ร้อยละ 25 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 39.6 (2) การปรับลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปรับลดฐานอัตราภาษีจาก 7 ขั้น ลงมาเหลือ 4 ขั้น โดยยังคงอัตราภาษีสูงสุดไว้ที่ระดับเดิมร้อยละ 39.6 รวมทั้งเพิ่มการหักลดหย่อนให้กับผู้มีเงินได้จาก 6,350 ดอลลาร์ สรอ. เป็น 12,220 ดอลลาร์ สรอ. และเพิ่มการหักลดหย่อนให้คู่สมรสจาก 12,700 ดอลลาร์ สรอ. เป็น 24,400 ดอลลาร์ สรอ. และเพิ่มการหักลดหย่อนภาษีสงเคราะห์บุตรจาก 1,000 ดอลลาร์ สรอ. เป็น 1,600 ดอลลาร์ สรอ. รวมถึงการหักลดหย่อนภาษีดอกเบี้ยในการผ่อนชำระบ้าน ซึ่งหากเป็นบ้านซื้อใหม่จะเป็นการจำกัดเพดานหักลดหย่อนไว้ที่ 500,000 ดอลลาร์ สรอ. อีกทั้งจำกัดการหักลดหย่อนภาษีทรัพย์สินของรัฐและท้องถิ่นได้ไม่เกิน 10,000 ดอลลาร์ สรอ.

อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินไปอย่างล่าช้า เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้นำเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่มีเนื้อหาแตกต่างกับฉบับของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากวุฒิสภามองว่าร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะส่งผลให้เกิดการขาดดุลงบประมาณจำนวนมากและเห็นว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้คนรวยมากกว่าคนยากจน และต้องการให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายไปอีก 1 ปีเป็นปี 2562 ซึ่งถือเป็นการสวนทางกับความตั้งใจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการให้การปรับลดอัตราภาษีมีผลบังคับใช้ทันทีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังอาจจะส่งผลให้บริษัทของสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศเลื่อนการย้ายฐานกลับสู่สหรัฐฯ ซึ่งหากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไม่สามารถประสานความแตกต่างระหว่างร่างกฎหมายของแต่ละสภาและผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีได้ทันก่อนสิ้นปี 2560 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตามมา

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560

เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 และ ร้อยละ 3.2 ในปี 2558 และปี 2559 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 และคาดว่าบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.4 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 11.9 ของ GDP ในปี 2559

ในการแถลงข่าววันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 สูงกว่าค่ากลางร้อยละ 3.7 ของช่วงการประมาณการร้อยละ 3.5 - 4.0 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560 โดยแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกสูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีสูงกว่าค่ากลางและเข้าใกล้ขอบบนของช่วงประมาณการในการแถลงข่าวครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐจะอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ก็ตาม โดยมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยสังเขป ดังนี้

1) การลงทุนภาครัฐ ในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่ำกว่าการขยายตัวร้อยละ 8.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลจริงของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่สามซึ่งปรับตัวลดลงโดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ใน ช่วงปลายของการดำเนินการ เช่น โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วนและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ (2) การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ฝนตกชุกและปัญหาอุทกภัยซึ่งทำให้อัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสที่สามยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่เล็กน้อย (3) การลดลงในรายจ่ายรัฐวิสาหกิจที่มีสาเหตุสำคัญมาจากการเร่งเบิกจ่ายแล้วในช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับการลงทุนรวมของรัฐวิสาหกิจในช่วง 6 เดือนแรกที่ขยายตัวร้อยละ 21.3 และรวม 9 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 12.1 และ (4) โครงการลงทุนขนาดใหญ่ยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการและมีรายจ่ายบางรายการที่ไม่นับรวมเป็นรายจ่ายลงทุนในระบบบัญชีประชาชาติ4 ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของการลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่สาม เมื่อรวมกับแนวโน้มความล่าช้าของการเบิกจ่ายในช่วงต้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะทำให้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐในปี 2560 ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้

2) มูลค่าการส่งออก ในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.6 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เนื่องมาจากมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่สามขยายตัวร้อยละ 12.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 19 ไตรมาส และสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ทั้งในด้านราคาและปริมาณการส่งออก สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกทั้งปีที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 สูงกว่าร้อยละ 3.4 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน การขยายตัวที่สูงกว่าประมาณการของปริมาณการส่งออกและราคาส่งออกในไตรมาสที่สามดังกล่าวเมื่อรวมกับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่สี่ซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 8.6 สูงกว่าในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาซึ่งสามารถชดเชยผลกระทบจากการปรับลดการประมาณการการลงทุนภาครัฐและส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่าการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2560

6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้นอย่างช้า ๆ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ชัดเจนและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนรวมที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวลดลงของกำลังการผลิตส่วนเกินในสาขาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ และการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน ในขณะที่สาขาเศรษฐกิจสำคัญอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า แม้กระนั้นก็ตาม ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลงหลังฐานการขยายตัวปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติซึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจต้องพึ่งพิงนอกภาคเกษตรมากขึ้น ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและยังต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ปัจจัยสนับสนุน

1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวและกลับมาสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกจะเริ่มส่งผลให้การส่งออกกลับมาขยายตัวตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 28 ของ GDP ยังฟื้นตัวอย่างล่าช้าในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากการฟื้นตัวของการส่งออกยังไม่กระจายตัวอย่างทั่วถึงและผู้ประกอบการส่วนหนึ่งส่งออกสินค้า คงคลัง อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้นในครึ่งปีหลังส่งผลให้สินค้า คงคลังปรับตัวลดลงและเริ่มส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจน ในปี 2561 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกสินค้า การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นตามลำดับ

2) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ และกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าการดำเนินการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฎิบัติการด้านคมนาคมขนส่งจะมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่การลงทุนภาครัฐในไตรมาสที่สามยังปรับตัวลดลงและส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในปี 2560 อยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (i) การลดลงของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สิ้นสุดลง หรืออยู่ในช่วงปลายของการดำเนินโครงการ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ และมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ii) การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากฝนตกชุกและปัญหาอุทกภัยซึ่งทำให้อัตราการเบิกจ่ายในไตรมาสที่สามยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่เล็กน้อย (iii) โครงการลงทุนขนาดใหญ่บางโครงการยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการและมีรายจ่ายลงทุนบางรายการที่ไม่นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนในนิยามของระบบบัญชีประชาชาติ และ (iv) แนวโน้มความล่าช้าในการเบิกจ่ายในช่วงต้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2561 การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและสามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) กรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 และร้อยละ 45.7 ตามลำดับ (ii) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2559 และปี 2560 โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 มีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว จำนวน 10 โครงการ มูลค่า 341,104 ล้านบาท (โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 8 โครงการ และโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 2 โครงการ) และในช่วงที่เหลือของปี 2560 และในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการที่จะเริ่มเข้าสู่ช่วงของการก่อสร้างมากขึ้น และ (iii) ฐานการขยายตัวที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นหลังการเบิกจ่ายภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ทั่วประเทศ และมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลสิ้นสุดลง

3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนในปี 2560 จะเริ่มมีแนวโน้มของการทรงตัวและเริ่มกลับมาขยายตัว นับจากไตรมาสที่สองของปี 2560 แต่ยังเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำภายใต้ข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในปี 2561 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งล่าสุดอยู่ที่ ร้อยละ 62.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 58.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอุตสาหกรรมสำคัญที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 65 - 70 เช่น หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมที่ใช้อัตรากำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 เช่น การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และการผลิตยานยนต์ การเพิ่มขึ้นของการใช้อัตรากำลังการผลิตดังกล่าวเมื่อรวมกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น (ii) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนทั้งทางตรงและทางอ้อม (iii) การปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นของความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจโดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากบรรยากาศและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งมาตรการและแนวนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจซึ่งล่าสุดในเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 52.2 สูงสุดในรอบ 5 เดือน

4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้าน (i) ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศสำคัญๆ ในเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค รวมทั้งเศรษฐกิจรัสเซีย อินเดีย และตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจน (ii) ภาคการส่งออกซึ่งปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แม้ว่ามูลค่าการส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงจากปีก่อนหน้า (iii) สาขาการขนส่งและคมนาคมที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว การผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำเข้าและการส่งออก และปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินของไทยสามารถ เปิดเส้นทางบินใหม่ระหว่างประเทศได้มากขึ้นนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2561 (iv) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวและกระจายตัวมากขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมมาตรการภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย อย่างต่อเนื่อง

ความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ

การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559) และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan ปี 2560)

ล่าสุด ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2560 มีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว 10 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 341,104 ล้านบาท เป็นโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 8 โครงการ วงเงินรวม 331,053 ล้านบาท และโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 2 โครงการ วงเงินรวม 10,051 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ก่อนสิ้นปี 2560 จะมีโครงการภายใต้ Action Plan 2559 จำนวน 2 โครงการ เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้าง ประกอบด้วย (1) โครงการรถไฟฟ้า สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี วงเงิน 56,691 ล้านบาท และ (2) โครงการรถไฟฟ้า สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้อยู่ระหว่างการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและเตรียมเข้าพื้นที่โครงการ ดังนั้น คาดว่าภายในปี 2560 จะมีโครงการเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างจำนวน 12 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 452,439 ล้านบาท

สำหรับในปี 2561 คาดว่าจะมีโครงการเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 ที่อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา 6 โครงการ วงเงินรวม 222,578 ล้านบาท และโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคา 2 โครงการ วงเงินรวม 10,790 ล้านบาท

5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) การผลิตและการจ้างงานในภาคเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญ ๆ ที่อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ii) การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่จะมีอุตสาหกรรมบางรายการปรับตัวเข้าสู่ช่วงการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและดูดซับแรงงานในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น (iii) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของภาคบริการที่สำคัญๆ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงเฉลี่ยร้อยละ 10.3 และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วง 9 เดือนแรกถึงร้อยละ 0.8 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในช่วงเดียวกันของปี 2559 โดยที่การขยายตัวสูงของภาคเกษตรดังกล่าวส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงภัยแล้งของปี 2558 - 2559 ซึ่งทำให้ดัชนีผลผลิตภาคเกษตรและ GDP ภาคเกษตรในช่วงดังกล่าวต่ำกว่าในปี 2557 อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภัยแล้งได้สิ้นสุดลงและส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นระดับเดียวกับปี 2557 เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 เช่นเดียวกับ GDP ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับเดียวกับปี 2557 เป็นครั้งแรกในไตรมาสแรกของปี 2560 การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติดังกล่าวส่งผลให้การขยายตัวของดัชนีผลผลิตภาคเกษตรและ GDP ภาคเกษตรชะลอตัวลงตามลำดับและคาดว่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ระดับการขยายตัวปกติในปี 2561 ซึ่งจะทำให้การขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้น้อยลง

2) ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งอาจเกิดจากความคืบหน้าและทิศทางนโยบายที่สำคัญๆ ของสหรัฐฯ ผลการเจรจา NAFTA และ BREXIT เงื่อนไขทางการเมืองในสเปน อิตาลี และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศบนคาบสมุทรเกาหลีและตะวันออกกลาง

3)ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการเริ่มปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก แม้ว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ และยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมของปี 2561 ก็ตาม แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอำนาจซื้อของภาคครัวเรือนและธุรกิจในบางกลุ่มที่มี ความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ย

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจาก ร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.2 ในปี 2560 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ โดยเฉพาะรัสเซีย อินเดีย บราซิล และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีนแม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ และส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังขยายตัวเท่ากับปีที่ผ่านมา การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญๆ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศสำคัญมีแนวโน้มที่จะกลับสู่เป้าหมายนโยบายการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทำให้ประเทศสำคัญอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะส่งสัญญาณการปรับทิศทางการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิมอย่างต่อเนื่องก็ตาม

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ในช่วง 34.0 - 35.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยเทียบกับค่าเงินบาทเฉลี่ย 34.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 ตามแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและ การลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวโน้มการส่งสัญญาณการปรับทิศทางของนโยบายการเงินประเทศสำคัญอื่น ๆ ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวในทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และเป็นปัจจัยกดดันด้านการอ่อนค่าของ เงินบาท โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2560 ก่อนที่จะปรับเพิ่มอีกสองครั้งในเดือนมิถุนายนและเดือนธันวาคม 2561 ตามลำดับ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงินอีกครั้งในช่วงปลายปี 2561 แม้กระนั้นก็ตาม ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังมีแนวโน้มเกินดุลในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างชัดเจนและต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศยังเป็นปัจจัยสนับสนุนที่จะทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างช้าๆ และอยู่ในขอบเขตจำกัด

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 ในช่วง 50.0 - 60.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากราคาเฉลี่ย 52.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 โดยปัจจัยที่จะสนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย (i) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง (ii) การปรับลดระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และกลุ่ม Non-OPEC ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในช่วงที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์และอุปทานน้ำมันปรับตัวเข้าสู่สมดุลมากขึ้น (iii) การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการบรรลุข้อตกลงในการขยายระยะเวลาปรับลดระดับการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และกลุ่ม Non-OPEC ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2561 ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 - 9 เดือน และ (iv) ความตึงเครียดจากปัญหาความความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์บนคาบสมุทรเกาหลีและตะวันออกกลางยังอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดที่จะทำให้การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้าๆ ได้แก่ (i) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันของประเทศ Non-OPEC โดยเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา และ (ii) แนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 - 1.5 และร้อยละ 1.0 - 2.0 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 และร้อยละ 5.0 ในปี 2560 ตามลำดับ สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงจากการขยายตัวร้อยละ 26.8 ในปี 2560 (จาก 41.4 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 เป็น 52.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2560) เป็นร้อยละ 4.7 ในปี 2561 (จาก 52.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 เป็น 50.0 - 60.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2561)

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 จำนวน 2.21 ล้านล้านบาท เทียบกับ 1.98 ล้านล้านบาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศสำคัญ ๆ ในเอเชียที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะเศรษฐกิจรัสเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง (ii) ต้นทุนการเดินทางที่อยู่ในระดับต่ำตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกและการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นของธุรกิจการบิน (iii) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงื่อนไขและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ (iv) ประเทศไทยยังคงได้รับการจัดอันดับและยกย่องให้เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง (v) การขยายเส้นทางการบินของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ และ (vi) การขยายสนามบินหลักที่สำคัญให้สามารถรองรับเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (i) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 92.0 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับอัตราเบิกจ่ายจริงร้อยละ 91.9 ในปีงบประมาณ 2560 แบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 97.0 และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 75.0 เทียบกับร้อยละ 96.8 และร้อยละ 70.3 ในปีงบประมาณ 2560 (ii) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 80.0 (iii) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 75.0 (iv) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน และอื่น ๆ ประมาณ 8,530.1 ล้านบาท ลดลงจาก 9,398.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 และ (v) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ใน ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) ร้อยละ 30.0 ของวงเงินงบประมาณ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.1) ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.2 ในปี 2560 และปี 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.1 ของ GDP

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 ขยายตัวดีต่อเนื่องจากร้อยละ 3.2 ในปี 2560 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ครัวเรือนในระบบเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.0 ในปี 2560

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2560 โดย การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 11.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินงบลงทุนทั้งภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 21.8 และร้อยละ 45.7 ตามลำดับ เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และการลดลง ร้อยละ 2.1 ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน ปี 2559 และปี 2560 ที่คาดว่าจะมีโครงการขนาดใหญ่เข้าสู่กระบวนการก่อสร้างมากขึ้นในปี 2561 รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) อัตราการใช้กำลัง การผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75 (ii) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายใต้บรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ (iii) ความคืบหน้าของมาตรการและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 8.6 ในปี 2560 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ตามแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในปี 2560 ตามการเพิ่มในอัตราที่ช้าลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกชะลอตัวลงและเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวช้าลงจาก ปีก่อนหน้า เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยว คาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.0 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 13.0 ในปี 2560 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 ตามการขยายตัวของการส่งออกและการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุน แม้ว่าชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.9 ในปี 2560 เนื่องจากฐานการขยายตัวที่ปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น (ปริมาณการนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากการปรับตัวลดลงร้อยละ 4.3 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559) ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.0 ในปี 2560 เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 5.6

5) ดุลการค้า คาดว่าจะยังคงเกินดุลประมาณ 29.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 เนื่องจากประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการคาดว่าจะส่งผลให้ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 38.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 8.1 ของ GDP

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 - 1.9 สูงขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก และแนวโน้มการอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ของค่าเงินบาท

7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินมาตรการของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทางด้านการเร่งขึ้นของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยยังมีพลวัตของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้นการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐ การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่องซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออก การท่องเที่ยว และบริการเกี่ยวเนื่องขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 2560 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาภาคนอกเกษตรมากขึ้น ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเคลื่อนย้ายเงินทุนยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนท่ามกลางแนวโน้มการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างช้าๆ ของระดับราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีและในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ

1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงสู่การขยายตัวปกติ โดย (i) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดกำลังการผลิตส่วนเกิน และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต (ii) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดำเนินการตามโครงการลงทุนที่สำคัญ การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของมาตรการและนโยบายที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งผ่านกลไกยุทธศาสตร์ชาติและการ ปฏิรูปประเทศ และ (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่กับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชน

2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อ นักลงทุน รักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้มีการลงทุนที่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปีควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และร้อยละ 80.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง (iii) การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และ (iv) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และกระจายการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรให้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2560 การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่จะเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มอำนาจทางการตลาดและการเพิ่มส่วนแบ่งผลตอบแทนให้แก่เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต ควบคู่ไปกับการปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูง ในด้านมาตรการการเงินการคลัง ให้ความสำคัญกับมาตรการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลให้มาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนเงินทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการลดข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้มีวงเงินที่เพียงพอและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ต้นทุนการผลิต และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น รวมทั้งการเบิกจ่ายเม็ดเงินโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมการสนับสนุนการขยายตัวของ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยการส่งเสริมการทำบัญชีเพื่อเข้าสู่ระบบภาษีตามมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น การปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงกับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้แรงงานต่างชาติในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการศึกษาทวิภาคีเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างชาติ

4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุนทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานกึ่งทักษะฝีมือ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติโดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้แรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาและเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสำหรับผู้เปลี่ยนงานเพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การเชื่อมโยงตลาดแรงงานทั้งผู้หางาน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การพัฒนาสถาบันแรงงานเฉพาะทางเพื่อรองรับการลงทุนในสาขาการผลิตในอนาคต และการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติ

--สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ