สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค
แถลงข่าว วันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.30 น.
- เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ร้อยละ 2.0 (QoQ_SA)
- ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุนรวม และการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้าและบริการ ในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว
- แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 โดยมีแรงสนับสนุน ที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกและการปรับตัวดีขึ้นของระดับราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ ยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่า การส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 8.9 การบริโภคภาคเอกชน และการสะสมทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP
- ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะ (i) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง (ii) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนและสนับสนุนให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญๆ และการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน และ (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในสนามบินและพื้นที่ท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองเพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองและชุมชนให้มากขึ้น (2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดย (i) การดำเนินการเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 66.7 และร้อยละ 77.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ รวมทั้งส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ และ (iii) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ (3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้าน (i) การผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับสินค้าที่ราคายังฟื้นตัวอย่างล่าช้า การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตภาคเกษตรที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่ (ii) การดูแล ผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการดูแลมาตรการสินเชื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตรา การขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่าย ของรัฐบาล การลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน และการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าและบริการ ในด้านการผลิต การผลิตสาขาอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวเร่งขึ้น สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่สาขาเกษตรกรรมและสาขาก่อสร้างกลับมาขยายตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ร้อยละ 2.0 (QoQ_SA)
1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ มาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ และอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการขยายตัวเร่งขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวร้อยละ 9.4 สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ในขณะที่การใช้จ่ายด้านบริการ สินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวร้อยละ 4.9 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7 เทียบกับระดับ 65.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.2 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ที่ร้อยละ 21.0 ใกล้เคียงกับร้อยละ 21.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 228.5 โดยเป็นมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 165.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 12.3 พันล้านบาท ส่วนการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรก ในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 4.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 6.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ขณะที่ การลงทุนของรัฐบาลปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3
3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ร้อยละ 9.9 ซึ่งเป็นการขยายตัว ในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 21.1) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 28.7) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 41.1) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 15.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 18.5) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 1.8) เครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 9.4) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.1) และอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 37.7) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในทุกตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
4) ภาคเกษตร กลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุน ที่สำคัญจากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการเพิ่มขึ้นของผลผลิต ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 31.8) ยางพารา (ร้อยละ 12.0) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 22.0) ข้าวโพด (ร้อยละ 41.9) กุ้ง (ร้อยละ 13.4) และสุกร (ร้อยละ 3.3) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง (ร้อยละ 6.0) ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.3 ตามการลดลงของราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และการลดลงจากฐานที่สูงของราคาอ้อยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2560 ในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 14.2) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 43.8) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 29.5) เป็นต้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมปรับตัวลดลงร้อยละ 4.8
5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งตัวขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อการส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมบางรายการ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 72.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 69.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น เช่น ยานยนต์ (ร้อยละ 12.0) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.6) น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ 38.8) พลาสติกและยาง (ร้อยละ 8.7) และคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 10.2) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ -31.2) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (ร้อยละ -29.6) และผลิตภัณฑ์ยางชนิดอื่นๆ (ร้อยละ -4.3) เป็นต้น
6) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.61 ล้านคน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว และรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 840.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 267.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 76.79 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.44 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 73.35 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
7) สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัว ในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำขยายตัวร้อยละ 3.4 ร้อยละ 12.5 และร้อยละ 9.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 9.5 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม
สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและระดับราคาสินค้าในตลาดโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกและการผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังอยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ และการปรับตัว ดีขึ้นของความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจ และ (4) การปรับตัวดีขึ้นและการกระจายตัวมากขึ้นของฐานรายได้ประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 8.9 การบริโภคภาคเอกชน และการสะสมทุนถาวรรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 4.7 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2561 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้
การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวเร่งขึ้น ตามการเร่งขึ้นของรายจ่ายในหมวดบริการและกึ่งคงทน ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของ ฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสแรกของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 14.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 32.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมการขายของผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันกันมากขึ้นและการที่ผู้ประกอบการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซล ขยายตัวร้อยละ 9.8 ร้อยละ 10.8 และร้อยละ 2.0 ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 66.7 เทียบกับระดับ 65.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส
การลงทุนภาคเอกชน: ปรับตัวดีขึ้นและเป็นการขยายตัวทั้งการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและ การลงทุนในหมวดก่อสร้าง ในไตรมาสแรกของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.3 และ ร้อยละ 11.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ร้อยละ 228.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 57.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) จำนวน 165.4 พันล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 81 ของยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม) ขยายตัวร้อยละ 1,244 (ยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่ 12.3 พันล้านบาท) ในขณะที่ยอดการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 73.6 พันล้านบาท ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 52.4 เทียบกับระดับ 50.7 ในไตรมาสก่อนหน้า
การส่งออก: การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี 2561 มีมูลค่า 61,788 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 9.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 11.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 7 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) อุปสงค์จากต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจและการค้าโลก และ (2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.5) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.9) และราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.1) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 12.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,948 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 11.9 ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา และมันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ เช่น ราคายางพารา และราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศเบนิน อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.2 เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักยังคงมีความต้องการ ใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.9 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 34.8 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.8 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 29.8 เนื่องจากฐานราคายางพาราที่อยู่ในเกณฑ์สูงในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 0.8 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 23.7 เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.1 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังเกาหลีใต้และอินโดนีเซียเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 14.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 13.1 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็น ไตรมาสที่ 7 และสูงสุดในรอบ 21 ไตรมาส) สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 41.1) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 17.7) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 27.8) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 15.4) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 18.5) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 16.1) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 37.7) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 9.4) เป็นต้น มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.7 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์และปลา สินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลงร้อยละ 30.7 เป็นผลจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 31.5 (มูลค่าการส่งออกทองคำ ที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 1,176 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม)
ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวทุกตลาดทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 9.3 และร้อยละ 10.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 10.7 และร้อยละ 11.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 23.4 สูงสุดในรอบ 27 ไตรมาส และเร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนขยายตัวร้อยละ 0.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 14.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางเป็นสำคัญ สำหรับการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 15.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 11.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของทั้งการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 15.7 และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 14.5 ส่วนการส่งออก ไปยังตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 12.4 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เช่นเดียวกับตลาดออสเตรเลียที่ขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีร้อยละ 14.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 17.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก
การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสแรกของปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 55,153 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 16.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 14.6 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก และการเพิ่มขึ้นอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,740 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 โดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง และการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.6 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน และอากาศยาน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับ การขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ และการแข็งค่าของเงินบาท ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยา และเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 2,987 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 เมื่อคิดในรูปเงินบาท การนำเข้าทองคำ มีมูลค่า 95,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2
อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 110.5 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 108.5 ในไตรมาสแรกของปี 2561
ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (208.7 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (214.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า แต่น้อยกว่าการเกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (309.1 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
ภาคเกษตร: กลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงหลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยรวมปรับตัวลดลงตามการลดลงของราคาสินค้าบางรายการ ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 6.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 8.5 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรทุกหมวด ประกอบด้วย (1) หมวดพืชผลได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากสภาพอากาศรวมทั้งปริมาณน้ำชลประทาน และปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ (2) หมวดประมงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของผลผลิตกุ้ง และ (3) หมวดปศุสัตว์ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทั้งในตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ (1) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% เนื่องจากปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) และปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น (2) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสมและปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำในปี 2560 ซึ่งเกิดจากปัญหาอุทกภัยและฝนตกชุกในภาคใต้ (3) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 เนื่องจากพื้นที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ปาล์มน้ำมันที่อยู่ในช่วงอายุให้ผลผลิตสูงเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น และ (4) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.9 ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตต่อไร่และเนื้อที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงร้อยละ 6.0 ตามการลดลงของพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น อ้อย ข้าวโพด เป็นต้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 12.3 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ (1) ยางพารา เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากและสต็อกยางพาราในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูง (2) ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และสต็อกปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และ (3) สุกร เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 14.2) ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 43.8) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 29.5) เป็นต้น การลดลงของดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 4.8
สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัว เร่งขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 12.0) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 9.1) การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 3.8) และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 11.7) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัว ร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญๆ เช่น การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 8.7) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.6) และการผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ 38.8) ตามลำดับ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 3.1) ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.6 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญบางรายการ โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -4.3) และการแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ -5.1) ในขณะที่อุตสาหกรรมเพื่อส่งออกสำคัญอื่นๆ ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง เช่น การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 10.2) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 2.7) และการผลิตเครื่องใช้ ในครัวเรือน (ร้อยละ 7.3) การปรับตัวดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้นของภาคอุตสาหกรรมส่งผลให้ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 72.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 67.4 และร้อยละ 69.6 ในไตรมาสก่อนหน้าและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 21 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 จำนวน 7 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 134.1) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 98.5) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 93.4) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 88.1) การแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 86.3) การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 80.2) และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 80.1) และส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 80 จำนวน 6 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 76.2) การผลิตยางล้อและยางใน (ร้อยละ 69.1) การผลิตเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 67.2) การผลิตเครื่องจักรอื่นๆ (ร้อยละ 66.8) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 63.8) และการผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ 63.7)
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 12.0) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 20.6) การผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ 38.8) การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 8.7) และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 10.2) เป็นต้น
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ -31.2) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (ร้อยละ -29.6) และการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -4.3) เป็นต้น
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวในเกณฑ์สูงสอดคล้องกับจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวในประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 12.8 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 15.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 10.61 ล้านคน ขยายตัวในเกณฑ์สูง ร้อยละ 15.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน (สัดส่วนร้อยละ 29.9) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 รัสเซีย (สัดส่วนร้อยละ 5.8) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.6 อินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 3.4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 และฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 2.0) เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 เมื่อรวมกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจและมาตรการสนับสนุนจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 840.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 15.9 ในไตรมาส ก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 573.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย อินเดีย เยอรมนี และเกาหลีใต้ เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 267.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 76.79 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 69.44 ในไตรมาส ก่อนหน้า และร้อยละ 73.35 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัว ทั้งในด้านการค้าส่งและการค้าปลีก ในด้านการขายปลีก ดัชนีการค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 และเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 หมวดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป (เช่น ร้านขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 หมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 และหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 ในขณะที่ดัชนีหมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น ร้านขายปลีกอาหาร) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 ในด้านการขายส่ง ดัชนีค้าส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 และเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้า ไม่คงทน (เช่น การขายส่งเครื่องดื่มและยาสูบ การขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 หมวดสินค้าคงทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 หมวดสินค้าขั้นกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 และหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7
สาขาการขนส่ง และการคมนาคม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้บริการขนส่งขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของบริการขนส่งสินค้าและบริการขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 3.4 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 12.5 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 9.5 นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของ ผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม
สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 2.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดย (1) กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาส ก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคบริการ โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและภัตตาคาร และกลุ่มการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ส่วนปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนชะลอลงตามการลดลงของอุณหภูมิเฉลี่ยในไตรมาสแรก (2) กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของความต้องการใช้น้ำประปาในภาคครัวเรือนและ (3) กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 4.7 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณก๊าซที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซ
สาขาก่อสร้าง: ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการก่อสร้างภาคเอกชนและการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจ ในไตรมาสแรกของปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.1 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 7.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 12.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐบาลยังปรับตัวลดลงร้อยละ 5.4 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 13.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 การก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารโรงงานซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดคอนกรีต (ร้อยละ 3.5) หมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 4.0) และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 2.9) โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาเหล็กในตลาดโลก ตามการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินแร่เหล็กและเศษเหล็ก
การจ้างงาน: การจ้างงานภาคเกษตรกลับมาขยายตัวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรยังปรับตัวลดลง ในไตรมาสแรกของปี 2561 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการจ้างงานภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 31.2) ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 6.0 และเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 และร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สาม และไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ตามลำดับ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด เป็นต้น ในขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 68.8)ยังปรับตัวลดลงร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของการจ้างงานในสาขาก่อสร้าง และสาขาการ ขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ส่วนการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมยังปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.03 ทรงตัวมากขึ้นเทียบกับการลดลงร้อยละ 4.2 ร้อยละ 4.0 และร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สอง ไตรมาสที่สาม และ ไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ตามลำดับ สอดคล้องกับปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.2 โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ย จำนวน 4.7 แสนคน
ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2561 (มกราคม - มีนาคม 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 527,422.4 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนและสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 5.5 และ ร้อยละ 2.8 ตามลำดับ เป็นผลจาก (1) การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศและมูลค่าการนำเข้าสินค้า (2) การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการภาคธุรกิจที่ปรับตัว ดีขึ้น (3) การจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 617.9 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และ (4) การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลดลงร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การหักค่าใช้จ่าย และการหักลดหย่อนภาษีตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 44) พ.ศ. 2560 นอกจากนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์ และภาษีสรรพสามิตสุรา ลดลงร้อยละ 14.7 และร้อยละ 9.0 ตามลำดับ
รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,074,964.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 3.7
การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 680,185.4 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 มีการเบิกจ่าย 572,870.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.6 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.8 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 19.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 (อัตราการเบิกจ่าย ร้อยละ 21.0 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 20.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ขณะที่การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนลดลงร้อยละ 5.0 (อัตราการเบิกจ่าย ร้อยละ 15.1 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 22.0 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 18.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการต่างๆ (เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาของรัฐ) ร้อยละ 6.0 และร้อยละ 25.0 ตามลำดับ (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 57,965.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.1 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.9 ต่ำกว่าร้อยละ 21.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวม ปตท.) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 50,998.6 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุน ที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 2,275.2 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.6 (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 626.1 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 2,282.9 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) 581.5 ล้านบาท และ 44.6 ล้านบาท ตามลำดับ
รวมครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีทั้งสิ้น 1,470,721.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.2 (อัตราเบิกจ่ายร้อยละ 50.7 ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 52.3 แต่สูงกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 49.7 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 180,929.9 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้าร้อยละ 5.3 (อัตราเบิกจ่าย ร้อยละ 29.2 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 43.1 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 35.2 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณก่อนหน้า) อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเร่งขึ้น ตามวงเงินงบประมาณที่ได้ลงนามในสัญญาแล้ว (PO) เทียบกับวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนทั้งหมด ซึ่ง ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 54.8 สูงกว่าร้อยละ 44.0 ในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 ในส่วนของงบเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 127,681.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.4 ของงบเหลื่อมปีที่กันไว้ทั้งหมด งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวม ปตท.) คาดว่ามีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 109,894.1 ล้านบาท และเงินกู้นอกงบประมาณของรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,618.7 ล้านบาท
หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,454,168.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.2 ของ GDP แบ่งเป็น เงินกู้ภายในประเทศ 6,184,166.5 ล้านบาท (ร้อยละ 37.6 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 270,002.4 ล้านบาท (ร้อยละ 1.6 ของ GDP) และแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,145,029.0 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 918,898.2 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาล ค้ำประกัน) 381,046.9 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 9,194.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.7 ร้อยละ 14.2 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ
ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 95,081.0 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 52,371.0 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 124,355.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 81,645.0 ล้านบาท มากกว่าการเกินดุลช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 22.4 และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกจำนวน 180,910.0 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 262,555.0 ล้านบาท
รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 517,075.0 ล้านบาท ขาดดุลเงิน นอกงบประมาณ 29,536.0 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 285,408.0 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลยังคงขาดดุลเงินสดหลังกู้สุทธิ 261,203.0 ล้านบาท
อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2561 ในการประชุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ และ 28 มีนาคม 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ซึ่งเป็นการรักษาแนวทางการดำเนินนโยบายผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนให้เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจหลักทยอยลดระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินลงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 20 - 21 มีนาคม 2561 มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.50 - 1.75 ต่อปี และส่งสัญญาณในทิศทางที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากพัฒนาการด้านบวกของตลาดแรงงาน ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มดำเนินการตามแผนการปรับลดขนาดงบดุลเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโรในเดือนมกราคม 2561 และธนาคารจีนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2561 ธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางมาเลเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงเดือนมกราคม อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอื่นๆ ในภูมิภาคยังรักษาระดับการ ผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน ท่ามกลางแรงกดดันจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์ทางการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ และแนวโน้มการกลับสู่อัตราเงินเฟ้อที่เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินได้อย่างล่าช้าในหลายประเทศ
ล่าสุดเดือนเมษายน 2561 ธนาคารกลางของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจและประเทศในภูมิภาคยังคงการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปและญี่ปุ่นต่างส่งสัญญาณที่แสดงถึงความล่าช้าในการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีน ได้ประกาศลดสัดส่วนการกันเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ลงร้อยละ 1.00 ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2561 เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อ ในช่วงก่อนหน้า
อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดย ในไตรมาสแรกของปี 2561 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้า รายใหญ่ชั้นดี (MLR) อยู่ที่ร้อยละ 0.93 ต่อปี และร้อยละ 6.20 ต่อปี เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี และร้อยละ 5.57 ต่อปี ตามลำดับ
ล่าสุดเดือนเมษายน 2561 ธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2560
สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจที่มีความต่อเนื่องและชัดเจนมากขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 4.6 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่ 4 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นทั้งในส่วนของสินเชื่อ ภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวเร่งขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก เช่นเดียวกับสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเร่งขึ้นทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.93 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสแรกของปี 2561 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 31.54 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 4.3 โดยในช่วงต้นไตรมาส เงินบาทแข็งค่าขึ้น ตามการปรับการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2561 ในทิศทางที่ดีขึ้นและส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ของประเทศเศรษฐกิจใหม่ ประกอบกับมีเงื่อนไขความเสี่ยงต่างๆ ที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง เช่น ความวิตกกังวลต่อการขาดดุล การคลังของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากแผนการปฏิรูปภาษีและการจ้างงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และความวิตกกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าและการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ ภายหลังการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนกุมภาพันธ์ ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลให้มีการปรับฐานของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ของไทย ก่อนที่เงินบาทจะกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างช้าๆ ต่อเนื่องจนถึงสิ้นไตรมาส ทั้งนี้ เงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นสะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีค่าเงินบาท (NEER)1 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.7 และร้อยละ 0.5 ตามลำดับ
หมายเหตุ: 1 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของ ค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น
ในเดือนเมษายน เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าลง หลังจากนักลงทุนคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะสามารถกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ได้ภายในปี 2561 ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเทขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าและส่งผลให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือนเมษายน อยู่ที่ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.2
ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในไตรมาสแรกของปี 2561 เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้น โดยใน ช่วงแรกของเดือนมกราคม SET index ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นปี 2560 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงในช่วงปลายเดือนมกราคม เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อที่มีความชัดเจน มากขึ้นจะส่งผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (risk off) ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกเคลื่อนไหวผันผวน ในทิศทางของการปรับตัวลดลง นอกจากนั้นความผันผวนในทิศทางขาลงของ SET index ยังได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา รวมทั้งผลกระทบจากการประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลของธนาคารพาณิชย์ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งทำให้มี แรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคาร (overreact) ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 SET index ปิดที่ 1,776.26 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,753.71 จุด ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาสที่แล้ว เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามช่วงอายุ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายไตรมาส ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเคลื่อนไหวผันผวน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี และทรงตัวอยู่ในระดับดังกล่าวจนถึงสิ้นไตรมาส ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2561 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 6 เดือนและ 2 ปีอยู่ที่ร้อยละ 1.22 และร้อยละ 1.34 ต่อปี ลดลงจากร้อยละ 1.37 และร้อยละ 1.47 ต่อปี ณ สิ้นปี 2560 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.56 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.54 ณ สิ้นปี 2560
ในเดือนเมษายน 2561 SET index และดัชนีหลักทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกปรับตัวลดลงในช่วงต้นเดือน ตามการตอบสนองของนักลงทุนต่อแถลงการณ์ของรัฐบาลจีนเรื่องการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม SET index กลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากนักลงทุนเริ่มผ่อนคลายความวิตกกังวลและได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการประกาศแผนการลงทุนของนักลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างไรก็ตาม SET index เคลื่อนไหวในทิศทางปรับตัวลดลง ในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เนื่องจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การเมืองในตะวันออกกลางและปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนออกจากตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งสร้าง แรงกดดันต่อ SET index ให้เคลื่อนไหวในทิศทางของการปรับตัวลดลง รวมทั้งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนเมษายน SET index ปิดที่ 1,780.11 จุด เทียบกับ 1,776.26 จุด ณ สิ้นเดือนมีนาคม ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 6 เดือน 2 ปี และ 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.36 ต่อปี ร้อยละ 1.51 ต่อปี และร้อยละ 2.62 ต่อปี ตามลำดับ
เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสแรกของปี 2561 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 0.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการไหลออกสุทธิ 6.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนต่างชาติสุทธิของนักลงทุนไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์
ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสแรกของปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในเกณฑ์สูง 17.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (539.7 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 15.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (528.0 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 11.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (373.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 8.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 10.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (สูงกว่าการเกินดุล 6.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)
เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 อยู่ที่ 215.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 35.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.5 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.7 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้า ในไตรมาสแรกของปี 2561)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสแรกของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 ชะลอลงจากร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 เป็นผลจากการชะลอตัวลงของราคาปลาและสัตว์น้ำ และการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ไข่ และผลิตภัณฑ์นม และผักและผลไม้ ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศชะลอลง ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 เท่ากับ ไตรมาสก่อนหน้า2
หมายเหตุ: 2 ในเดือนเมษายน 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6
ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสแรกของปี 2561 ลดลงร้อยละ 1.5 เทียบกับร้อยละ 0.0 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 เป็นผลจากการลดลงของราคาผลผลิตเกษตรกรรมและราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 6.1 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และปลาและสัตว์น้ำ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9 เนื่องจากการลดลงของราคาผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากการเพิ่มขึ้น ของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ3
หมายเหตุ: 3 ในเดือนเมษายน 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.8 เฉลี่ย 4 เดือนแรกของปี 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 1.3
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสแรกของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 64.15 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 53.24 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสแรกของปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ร้อยละ 9.0
การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปี 2561 ความต้องการ ใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 99.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 จากเฉลี่ย 97.58 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ และจีน เฉลี่ยอยู่ที่ 20.10 และ 13.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 และร้อยละ 3.7 จากเฉลี่ย 19.49 และ 13.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปเฉลี่ยอยู่ที่ 14.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากเฉลี่ย 13.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน (2) การเพิ่มขึ้นของความร่วมมือ ในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มโอเปก และ (3) ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งระหว่างซาอุดิอาระเบียกับอิหร่านในกรณีสงครามในเยเมน และการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
ในไตรมาสแรกของปี 2561 เศรษฐกิจโลกยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน และการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและสูงกว่าเป้าหมายของเศรษฐกิจจีน การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ส่งผลให้ปริมาณการค้าโลก และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ฟื้นตัวและขยายตัวอย่างชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้นตามลำดับ
การฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ช่องว่างการผลิต (Output gap) ของประเทศพัฒนาแล้วปิดลงและเข้าสู่ช่วงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพในบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาเริ่มปรับตัวเข้าสู่ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นและส่งผลให้ช่องว่างการผลิตปรับตัวแคบลงตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวทำให้อัตราการว่างงานในประเทศสำคัญๆ ปรับตัวลดลงและแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะอเมริกาเหนือซึ่งอัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงินและส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่ไปกับการปรับลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง และธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 3 นับจากเดือนกรกฎาคม 2560 เป็นต้นมา ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปเริ่มดำเนินการตามแผนการลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เช่นเดียวกับธนาคารกลางบางประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น มาเลเซีย ที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับจากปี 2559 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารกลางประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้าเพื่อสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการลดขนาดงบดุล เมื่อรวมกับการคาดการณ์ระยะยาวของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ การเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรในตลาดสหรัฐฯ และเงื่อนไขสำคัญๆ ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ในไตรมาสแรกของปี 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย ร้อยละ 2.8 ต่อปี เทียบกับร้อยละ 2.4 ต่อปี ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 สูงสุดในรอบ 4 ปี เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะ 10 ปี ในประเทศสำคัญอื่นๆ ที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น ในขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมร้อยละ 25 และร้อยละ 10 ตามลำดับ และในวันที่ 22 มีนาคม 2561 ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ครอบคลุมสินค้า 1,300 รายการ มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 จีนได้ตอบโต้โดยประกาศรายชื่อสินค้านำเข้าที่จะขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ จำนวน 128 รายการ มูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ประกาศจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมอีก 106 รายการ มูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก (Advance estimate) ขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส ร้อยละ 2.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนของภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐบาล และการส่งออกสุทธิ โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 11 ไตรมาส การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ที่ร้อยละ 4.1 ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อมีความชัดเจนมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อ (PCE price index) ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.8 จากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อน และเริ่มใกล้เคียงกับเป้าหมายร้อยละ 2.0 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ในการประชุมเมื่อวันที่ 20 - 21 มีนาคม 2561 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็น ร้อยละ 1.50 - 1.75 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของปี 2561 และเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 6 นับจากเดือนธันวาคมปี 2558
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 2.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากการขยายตัว ร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลีเป็นสำคัญ โดยเป็นผลจากการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2561 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน สะท้อน ให้เห็นว่าความกังวลต่อความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเริ่มคลี่คลายลง การขยายตัว ในเกณฑ์ดีและต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 8.5 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (HICP) ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินและปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 1.2 เทียบกับร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยควบคู่กับการคงระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ 3 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือน จนกระทั่งสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561
เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.9 ชะลอลงจากร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของ การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนด้านที่อยู่อาศัยหดตัวต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนด้านอื่นๆ ขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การผลิตยังขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ และการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังและการเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิกปี 2563 ด้านอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสที่สี่ของปี 2536 ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นเป็นร้อยละ 1.3 เทียบกับร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อรวมกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นในการประชุมเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษาระดับเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม
เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.8 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการขยายตัว ในเกณฑ์ดีของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีระดับสูงและการบริการด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการส่งออกที่ยังคงขยายตัวเร่งขึ้นและสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส เช่นเดียวกับการบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตามมาตรการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินและระดับหนี้สินภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 162.5 ต่อ GDP ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 3,142.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 เทียบกับ 3,139.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2560 สอดคล้องกับค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจาก ไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 4.2 และการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (reverse repo) ประเภทอายุ 7 วัน จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.55 ของธนาคารกลางจีน
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์และฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ตามการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง ในขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 2.8 เท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า และเศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอจากร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวของภาคส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงาน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้าในหมวดอาหารเป็นสำคัญ โดยเศรษฐกิจเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 7.4 ร้อยละ 5.1 ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 6.8 ตามลำดับ เทียบกับร้อยละ 7.7 ร้อยละ 5.2 ร้อยละ 5.9 และร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ
เศรษฐกิจโลกในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในช่วงของวัฏจักรการขยายตัวที่ยาวนานที่สุดและได้รับปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากมาตรการปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศ ยูโรโซนที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวเต็มที่ของวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างช้าๆ และแนวโน้มการขยายตัวสูงกว่าเป้าหมายของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างช้าๆ
การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดีย บราซิล และตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 2.3 และร้อยละ 3.4 เทียบกับร้อยละ 6.3 ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 2.6 ในปี 2560 ตามลำดับ
การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้ช่องว่างการผลิต (Output gap) ได้ปิดตัวลงในช่วงปลายปีที่ผ่านมาและเริ่มเข้าสู่ช่วงการขยายตัวที่สูงกว่าระดับศักยภาพในปี 2561 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ แคนาดา และสหราชอาณาจักร ในขณะที่ช่องว่างการผลิตของประเทศสำคัญอื่นๆ เริ่มปรับตัวแคบลงอย่างช้าๆ ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและเข้าใกล้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าว คาดว่าจะทำให้สหรัฐฯ แคนาดา กลุ่มประเทศยูโรโซน สหราชอาณาจักร และประเทศกำลังพัฒนา ที่สำคัญอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง ครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างช้าๆ และมีความชัดเจน มากขึ้นตามลำดับ ทั้งอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสำคัญ และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การขยายตัว ทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมทั้งการดำเนินมาตรการปรับลดงบดุลและการปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศสำคัญๆ ที่จะทำให้อุปทานของพันธบัตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2560 ตามแรงส่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาด โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องสอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในระดับสูงกว่าการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นตามความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากกฎหมายปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพและการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันคาดว่าจะส่งผลให้แรงกดดันจากค่าจ้างแรงงานและเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสองครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2561 รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.5 ในปี 2560 โดยแรงสนับสนุนของการขยายตัวมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดีอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกับเงื่อนไขทางการเมืองในหลายประเทศที่คลี่คลายมากขึ้น และอัตราการว่างงานในไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 8.5 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การเมืองภายในอิตาลีและการเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ในส่วนของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางยุโรปยังคงดำเนินการตามมาตรการปรับลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์อยู่ที่ 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน จนถึงเดือนกันยายน 2561 และอาจปรับลดมาตรการการเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากร้อยละ 1.7 ในปี 2560 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยน เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มเติม การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิกปี 2563 ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงรักษาระดับการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิมควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 6.9 ในปี 2560 โดยได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดี สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและปริมาณการค้าโลก รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนเพื่อรองรับการดำเนินการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and road initiative) และการลงทุนในภาคบริการและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผน Made in China 2025 อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงในภาคการเงิน ดังจะเห็นจากสัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 162.5 ต่อ GDP และหนี้สิน ในภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผลกระทบจากการดำเนินมาตรการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม มาตรการสร้างเสถียรภาพในตลาดเงิน และการควบคุมการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนชะลอลงอย่างช้าๆ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยตามฐานการขยายตัวที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกง จะขยายตัวร้อยละ 4.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในปี 2560 ขณะที่เศรษฐกิจไต้หวัน และสิงคโปร์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 และร้อยละ 3.2 เทียบกับร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจเกาหลีใต้คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ยังคงคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการส่งออกซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการค้ากับประเทศคู่ค้าหลัก และการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากตลาดแรงงานและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัว ร้อยละ 5.4 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.1 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 6.8 ในปี 2560 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจมาเลเซีย คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 5.9 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มการแข็งค่าของเงินริงกิตในภาพรวม
แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลักในช่วงที่เหลือของปียังมีความเสี่ยงที่จะผันผวน ตามเงื่อนไขความเสี่ยงสำคัญๆ ที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ทางการค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทั้งในกรณีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และมาตรการกับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่สหรัฐฯ อาจมีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของปริมาณการค้าโลกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ (2) อัตราดอกเบี้ย ในประเทศสำคัญๆ และในตลาดโลกที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นและเร็วกว่าการคาดการณ์ ซึ่งอาจเกิดจาก (i) การปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญทั้งในด้านการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดขนาดงบดุลเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อาจส่งผลให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศสำคัญๆ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าในกรณีฐาน และ (ii) การปรับการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรในตลาดโลกที่เกิดจากการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ และการปรับลดขนาดงบดุลของประเทศสำคัญๆ ที่อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ (3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ และ (4) เงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ การจัดตั้งรัฐบาลในอิตาลีที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น และเงื่อนไขทางการเมืองในสหราชอาณาจักรที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจาแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit)
เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งในด้านการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่ระดับราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตาม ทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า นโยบายการเงิน และนโยบายด้านการต่างประเทศของประเทศสำคัญๆ
1) การส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกในครึ่งแรกของปี 2560 ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 7.3 และต่อเนื่องเป็นร้อยละ 12.0 ในครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจนจากเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ในครึ่งปีแรกของปี 2560 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งมีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution to growth) มากขึ้น จากร้อยละ 0.4 ในครึ่งปีแรกเป็นร้อยละ 1.0 ในครึ่งปีหลัง ในขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2561 มูลค่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ยังขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 9.9 ตามการปรับตัว ดีขึ้นของเศรษฐกิจ ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.7 และมีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Contribution to growth) ร้อยละ 1.0 เท่ากับแรงขับเคลื่อนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าเศรษฐกิจโลกในกรณีฐานจะขยายตัว ในเกณฑ์ดีและส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทั้งปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง
2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้น โดยในด้านการใช้จ่ายของรัฐบาลมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ร้อยละ 50.7 และมีแนวโน้มที่จะสามารถเบิกจ่ายทั้งปีได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92.0 (ไม่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ในขณะที่การเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 วงเงิน 150,000 ล้านบาทจะเริ่มมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การใช้จ่ายของรัฐบาลเร่งตัวขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น เช่นเดียวกับแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้ กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและกรอบวงเงินลงทุนรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 636,465 ล้านบาท และ 776,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 17.5 และร้อยละ 33.7 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนรวมวงเงินที่ได้ลงนามในสัญญาแล้ว (PO) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งอยู่ที่ 348,576.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54.8 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.0 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีโครงการเข้าสู่ช่วงของการก่อสร้างมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในส่วนของโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2559 วงเงิน 1,383,939.0 ล้านบาท ซึ่งโครงการเข้าสู่ขั้นตอนการก่อสร้างแล้ว 14 โครงการ วงเงิน 705,501.0 ล้านบาท โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 ซึ่งมีโครงการที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว 4 โครงการ วงเงิน 18,514.1 ล้านบาท และโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ และ คาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่บางโครงการในช่วงปลายปี 2561 ก่อนที่จะ เร่งตัวขึ้นในปี 2562
โครงการลงทุนด้านโครงพื้นฐานที่สำคัญมีความคืบหน้ามากขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ) และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan ปี 2560 จำนวน 36 โครงการ) ที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว จำนวนรวม 18 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 724,015 ล้านบาท แบ่งเป็น (1) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 14 โครงการ วงเงินรวม 705,501 ล้านบาท และ (2) โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 18,514 ล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบฯ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค ส่วนโครงการที่เหลือคาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างได้มากขึ้นในระยะต่อไป และในส่วนของโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในขณะที่โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน อู่ตะเภา (MRO) และโครงการท่าเรือ แหลมฉบัง ระยะที่ 3 (LCB) คาดว่าจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ในขณะที่พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนแผนงานและโครงการที่สำคัญเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น
3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าการขยายตัวของการลงทุนของภาคเอกชน จะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ แต่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากการปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในครึ่งแรกของปี 2560 เป็นร้อยละ 2.5 ในครึ่งปีหลัง และร้อยละ 3.1 ในช่วง ไตรมาสแรกของปี 2561 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมจากเฉลี่ยร้อยละ 65.3 ในปี 2559 เป็นเฉลี่ยร้อยละ 67.1 ในปี 2560 ในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอัตราการใช้กำลังการผลิตสาขาอุตสาหกรรมซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ภาคการผลิตมีความต้องการลงทุนในเครื่องจักรเครื่องมือ (สัดส่วนร้อยละ 80 ของการลงทุนภาคเอกชน) เพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยในไตรมาสแรกของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 72.4 เทียบกับร้อยละ 69.6 และร้อยละ 67.4 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ตามลำดับ และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในไตรมาสแรกของปี 2561 พบว่า ในจำนวนอุตสาหกรรมหลัก 21 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 จำนวน 7 อุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 80 จำนวน 6 อุตสาหกรรม (2) การปรับตัวดีขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งในปี 2560 มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 642 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4 และในไตรมาสแรกของปี 2561 มีมูลค่า 203.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 228.5 โดยเฉพาะการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งมีมูลค่า 165.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12.3 พันล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีก่อน (3) ความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐภายใต้การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะสนับสนุนให้การลงทุนในภาคการก่อสร้างปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ สะท้อนจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของพื้นที่ขอรับอนุญาตก่อสร้างในไตรมาสแรก (เขตกรุงเทพมหานคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เขตเทศบาลทั่วราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และเขตองค์การบริหารส่วนตำบลเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2) และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่น ภาคธุรกิจสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและอุปสงค์ในประเทศ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในไตรมาสแรกซึ่งอยู่ที่ระดับ 52.4 สูงสุดในรอบ 24 ไตรมาส
ในไตรมาสแรกของปี 2561 อัตราการใช้กำลังการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 72.4 เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากเฉลี่ยร้อยละ 69.6 และร้อยละ 67.4 ในไตรมาสแรกและไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ตามลำดับ และเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตของไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 21 รายการ มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในระดับสูงกว่าร้อยละ 60 จำนวน 13 รายการ ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่า ร้อยละ 80 จำนวน 7 อุตสาหกรรม (2) อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 70 - 79 จำนวน 1 อุตสาหกรรม และ (3) อุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 69 จำนวน 5 อุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นและส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 80.35 ของการลงทุนภาคเอกชน
4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะ ฐานรายได้ในภาคเกษตรซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของผลผลิตสินค้าทางเกษตรสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปริมาณน้ำในเขื่อนของไตรมาสแรกของปี 2561 ที่อยู่ในระดับสูงสุด ในรอบ 11 ปี ซึ่งจะสนับสนุนให้ผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง (2) การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ แม้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรโดยรวมในไตรมาสแรกของปี 2561 จะยังคงปรับตัวลดลงซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าเกษตรบางรายการ โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ยังฟื้นตัวอย่างล่าช้า และการปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงของราคาอ้อยในไตรมาสแรกของปี 2560 แต่ราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ หลายรายการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิ และราคามันสำปะหลังที่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าราคาเฉลี่ยในไตรมาสแรกย้อนหลัง 10 ปี เช่นเดียวกับราคาอ้อยที่อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนราคายางพาราและปาล์มน้ำมันมีแนวโน้มที่จะปรับตัว ในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมทั้งการ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกที่จะทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ปริมาณสต็อก ในประเทศสำคัญๆ ลดลง แนวโน้มปรับตัวดีขึ้นของปริมาณผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวสอดคล้องกับการจ้างงานในภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 31.2 ของการจ้างงานรวม) ที่กลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสแรกร้อยละ 6.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 และร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สามและไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ตามลำดับ เช่นเดียวกับฐานรายได้ของประชาชน ในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีและกระจายตัวมากขึ้นตามลำดับ
ในไตรมาสแรกของปี 2561 ราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิและราคามันสำปะหลังซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูงและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของราคาในไตรมาสแรกย้อนหลัง 10 ปี ในขณะที่ราคาอ้อยในไตรมาสแรกของปี 2560 ปรับเข้าสู่ระดับสูงสุดของราคาไตรมาสแรกในรอบ 10 ปีก่อนที่จะลดลงในไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งเป็นการลดลงจากฐานที่สูงและยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปี การฟื้นตัวของราคาสินค้าเกษตรสำคัญดังกล่าวมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้น ส่วนราคายางพาราและปาล์มน้ำมันเคลื่อนไหวสอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลก ดังนั้น การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันในช่วงหลังปี 2554 จึงเป็นสาเหตุสำคัญของการฟื้นตัวอย่างล่าช้าของราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในปี 2561 เมื่อรวมกับปริมาณความต้องการใช้ยางพาราและปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินมาตรการแก้ปัญหาของภาครัฐ คาดว่าจะทำให้ราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน และรายได้ของเกษตรกรปรับตัว ดีขึ้นตามลำดับ
1) แรงต้านจากฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญ ๆ ที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แม้ว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกจะขยายตัวในเกณฑ์สูง และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ในช่วงที่เหลือของปีจะยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีสอดคล้องกับพลวัตรการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศก็ตาม แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ตามฐานการขยายตัวที่เริ่มสูงขึ้น ทั้งในด้านการผลิตภาคเกษตร ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีการขยายตัวในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา
2) ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวและขยายตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่เข้าสู่การขยายตัวที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ช่องว่างการผลิต (Output gap) ในประเทศเศรษฐกิจหลักแคบลงและปิดลงซึ่งส่งผลให้ประเทศสำคัญๆ มีแนวโน้มปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นตามลำดับ ทั้งในด้านการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสำคัญๆ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกในภาพรวมปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ เช่นเดียวกับราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐม ในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แม้ว่าในกรณีฐานคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นไปอย่างช้าๆ และยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ก็ตาม แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจการซื้อของภาคครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นตามลำดับ รวมทั้งยังมีความเสี่ยง ที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน ที่อาจเกิดจากความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์ของตลาด
3) ความเสี่ยงจากความผันผวนในการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก ประกอบด้วย (1) ความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ทั้งในด้านมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ผลการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และมาตรการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่สหรัฐฯ อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติม (2) ความเสี่ยงจากความผันผวนด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน ราคาหลักทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก ที่เกิดจากการปรับเปลี่ยนคาดการณ์ของนักลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางนโยบายการเงิน อัตราเงินเฟ้อ ฐานะทางการคลัง และปริมาณพันธบัตรในประเทศสำคัญๆ (3) ทิศทางการดำเนินนโยบายและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ การจัดตั้งรัฐบาลในอิตาลี และเงื่อนไขทางการเมืองในสหราชอาณาจักรที่อาจส่งผลกระทบต่อการเจรจา Brexit และ (4) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและบรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคาดการณ์
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2561 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ประกาศรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีน ครอบคลุมสินค้าจำนวน 1,333 รายการ (ตามพิกัดศุลกากร 8 หลัก) ซึ่งจะอยู่ในรายการสินค้า 19 หมวด (ตามพิกัดศุลกากร 2 หลัก) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 46,411 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการประกาศรายการสินค้าดังกล่าวมีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่ง Presidential memorandum เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ให้พิจารณาเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราร้อยละ 25 มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 ของการนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ จากจีน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นผลมาจากการตรวจสอบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของจีน ตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ (Trade Act of 1947)
ในกรณีที่มีการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในรายการสินค้าดังกล่าว การประเมินในเบื้องต้นพบว่ากลุ่มสินค้าที่จีนน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดตามสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ จากจีน (บนฐานข้อมูลพิกัดศุลกากร 2 หลัก) ประกอบด้วย (1) เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบ (HS 84) (2) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (HS 85) และ (3) เลนส์และกล้องจุลทรรศน์ (HS 90) ตามลำดับ
แม้ว่ามาตรการดังกล่าวจะยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ แต่หากมีการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของการผลิตสินค้าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการขยายตลาดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากไทยทดแทนการนำเข้าจากจีน นอกจากนี้ ยังอาจได้รับโอกาสจากการที่จีนกระจายการส่งออกสินค้าหรือตัดสินใจลงทุนในประเทศอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตและทำให้ไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น ภายใต้การวิเคราะห์โดยใช้ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างประเทศ (International Input-Output Table) โดยกำหนดข้อสมมติฐานการวิเคราะห์ใน 2 ด้าน คือ (i) ด้านจีน สมมติให้จีนไม่สามารถส่งออกสินค้าที่ถูกเรียกเก็บภาษีไปยังสหรัฐฯ ได้ทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 46,411 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่สามารถแก้ปัญหาโดยการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ทดแทน เป็นมูลค่า 27,846.6 ล้านดอลลาร์ (ร้อยละ 60 ของ 46,411 ล้านดอลลาร์ สรอ.) และไม่สามารถส่งออกสินค้าที่เหลือมูลค่า 18,564.4 ล้านดอลลาร์ (ร้อยละ 40 ของ 46,411 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ส่งผลให้จีนจะต้องยุติการผลิตลง (ii) ด้านสหรัฐฯ สมมติให้ปริมาณความต้องการสินค้าที่เคยนำเข้าจากจีนยังคงเดิม แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนได้ในระยะสั้นจึงต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ข้อสมมติดังกล่าว ผลการวิเคราะห์พบว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบในด้านลบ โดยทำให้ GDP ของสหรัฐฯ และจีนลดลงร้อยละ 0.237 และร้อยละ 0.032 ตามลำดับ ในขณะที่ GDP ของหลายประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งไทยที่ได้รับผลกระทบด้านบวก ซึ่งทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.057 (ตารางที่ 2) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบทางบวก ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสินค้าขั้นสุดท้ายค่อนข้างมาก ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบด้านลบ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก และภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนสินค้าขั้นกลางมาก แม้ว่าการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นเพียงการวิเคราะห์ภายใต้ข้อสมมติที่กำหนดขึ้นและเป็น Extreme case ก็ตาม แต่แสดงให้เห็นว่าภายใต้เงื่อนไขบางประการ การดำเนินมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบด้านลบเฉพาะกับจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะยังขึ้นอยู่กับ (i) การปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลให้การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงมากน้อยเพียงใด (ii) ขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาของจีนว่าจะสามารถหาตลาดอื่นเพื่อทดแทนการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจำเป็นต้องลดการผลิตลงได้มากน้อยเพียงใด (iii) ขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีน และ (iv) ผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่อาจทำให้เศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในภาพรวมปรับตัวลดลง
1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.3 ตามลำดับ เท่ากับการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับตัวดีขึ้นของทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญๆ นำโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เข้าสู่วัฏจักรการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดนับจากปี 2553 ตามการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแรงสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากมาตรการปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีแม้จะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ และประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญอื่นๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจออสเตรเลีย อินเดีย รัสเซีย บราซิล และตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง และการปรับตัวดีขึ้นของระดับราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก
2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ในช่วง 31.0 - 32.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจาก 33.93 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 และปรับจากสมมติฐาน 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับค่าเงินบาทในไตรมาสแรกของปี 2561 ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 31.54 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.3 จากเฉลี่ย 32.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 10.2 จากเฉลี่ย 35.11 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน หน้า ในกรณีฐานคาดว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะทรงตัวมากขึ้น โดยแนวโน้ม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท ในขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ และคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยยังเป็นปัจจัยกดดันการแข็งค่าของเงินบาท
3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2561 ในช่วง 60.0 - 70.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 53.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจาก 55.0 - 65.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย (1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกนำโดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และอินเดีย (2) ความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ที่อยู่ในระดับสูงและมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตน้ำมันจะ ตกลงขยายความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2562 (3) ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และ (4) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางที่ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดยเฉพาะการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน (ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 6) ลดลง และสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศเวเนซูเอล่า (ผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 12) อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันไม่เพิ่มขึ้นเร็วเกินไป ได้แก่ (1) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่ม Non-OPEC โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และแคนาดา ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันจาก ชั้นหินดินดาน (Shale oil) รายสำคัญ และ (2) การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ
4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 - 4.5 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐานการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 - 2.5 ในการประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่ราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 - 6.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากร้อยละ 2.5 - 3.5 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มตามราคาสินค้าส่งออกและราคาสินค้านำเข้าในไตรมาสแรกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 และร้อยละ 6.6 สูงกว่าที่คาดการณ์ รวมทั้งการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบจากเฉลี่ย 55.0 - 65.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน เป็นเฉลี่ย 60.0 - 70.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาสินค้าสำคัญอื่นๆ
5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 จำนวน 2.23 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 จาก 1.95 ล้านล้านบาท ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจาก 2.18 ล้านล้านบาท ในสมมติฐานการประมาณการครั้งก่อน โดยในไตรมาสแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน (สัดส่วนร้อยละ 29.9) อาเซียน (สัดส่วนร้อยละ 21.1) เอเชียตะวันออกไม่รวมจีนและอาเซียน (สัดส่วนร้อยละ 12.6) และเอเชียใต้ (สัดส่วนร้อยละ 4.3) ที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 30.2 ร้อยละ 8.0 ร้อยละ 12.9 และร้อยละ 16.1 ตามลำดับ และจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจที่เป็นแหล่งต้นทางของนักท่องเที่ยว ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ รัสเซีย ตะวันออกกลาง และการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีน ซึ่งสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค (2) ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่อยู่ในฐานะจุดหมายการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกมาอย่างต่อเนื่อง (3) สถานการณ์ความสงบเรียบร้อยในประเทศและการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ (4) การขยายเส้นทางการบินของธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายเส้นทางการบินของไทยที่เชื่อมไปยังเมืองรองของจีน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ และ (5) การขยายสนามบินหลักที่สำคัญเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 92.0 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับร้อยละ 93.0 ในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.6 และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนร้อยละ 67.7 (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 64.8 (3) อัตราการเบิกจ่าย งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 77.0 (4) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 68.2 (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่ง ทางถนน ระยะเร่งด่วน และอื่นๆ ประมาณ 2,944.3 ล้านบาท ลดลงจาก 9,398.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 และ (6) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) ร้อยละ 30.0 ของวงเงินงบประมาณ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.3 ในปี 2560 และปี 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 8.4 ของ GDP
ในการแถลงข่าววันที่ 21 พฤษภาคม 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 - 4.7 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.5) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากร้อยละ 3.6 - 4.6 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.1) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 และเป็นการปรับช่วงการประมาณการให้แคบลง รวมทั้งปรับเปลี่ยนองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสแรกและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญๆ ดังนี้
1) ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 สศช. ประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไว้ที่ ร้อยละ 3.6 - 4.6 โดยมีค่ากลางของการประมาณการที่ร้อยละ 4.1 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสแรกของปี 2561 ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 4.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส และสูงกว่าค่ากลางของการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน รวมทั้งการผลิตภาคเกษตร และการผลิตสาขาอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ ในกรณีฐานเมื่อรวมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีซึ่งยังมีแนวโน้มที่จะ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวในช่วงต่ำของค่าประมาณการเดิมลดลง รวมทั้งทำให้ค่ากลางของช่วงการประมาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 4.5 ใกล้เคียงกับขอบบนของช่วงประมาณการร้อยละ 3.6 - 4.6 ในการ แถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561
2) การปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับข้อมูลจริงในไตรมาสแรกและการปรับเปลี่ยนสมมติฐานหลักของประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ (1) การปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกและนำเข้าให้สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ รวมทั้งการปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าซึ่งส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา (2) การปรับสมมติฐานโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงซึ่งสัดส่วนของรายจ่ายเงินโอนต่อรายจ่ายประจำสูงขึ้นจากสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา (3) การปรับลดสมมติฐานอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนของรัฐบาล ให้สอดคล้องกับข้อมูลในไตรมาสแรก และการปรับกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมทั้งการปรับคาดการณ์อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงจากการประมาณการในครั้งก่อนหน้า ในขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น (4) การปรับสมมติฐานด้านจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 38.0 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4) และรายรับ 2.18 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.6) ในการประมาณการครั้งก่อน เป็น 39.0 ล้านคน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2) และรายรับ 2.23 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) ในการประมาณการครั้งนี้
1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการขยายตัวที่สูงกว่าการคาดการณ์ร้อยละ 3.6 ในไตรมาสแรก และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีในช่วงที่เหลือของปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่มีความชัดเจนและเริ่มกระจายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการปรับตัวในทิศทาง ที่ดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ หลายรายการ รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องของฐานรายได้ในภาคการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่อง (2) การดำเนินมาตรการของภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและเศรษฐกิจฐานรากภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561 และ (3) การลดลงของข้อจำกัดจากการถือครองรถยนต์ภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับลดลงเล็กน้อย จากร้อยละ 3.2 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับสมมติฐานสัดส่วนรายจ่ายประจำและเงินโอนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ 2561
2) การสะสมทุนถาวรรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2560 โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.6 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงินรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 17.5 และร้อยละ 33.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 และการลดลงร้อยละ 2.1 ในปี 2560 ตามลำดับ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่เป็นการปรับลดลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 10.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมทั้งเป็นการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากร้อยละ 71.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 66.7 เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเบิกจ่าย งบลงทุนร้อยละ 28.4 ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2561 โดยอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้ม เร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังสะท้อนจากยอดเบิกจ่ายรวม PO ในครึ่งแรกของปีงบประมาณซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 54.8 สูงกว่าร้อยละ 44.0 ในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 72.4 ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิต ในไตรมาสแรกที่สูงสุดในรอบ 5 ปี การขยายตัวในเกณฑ์สูงของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนร้อยละ 22.4 และร้อยละ 228.5 ในปี 2560 และในไตรมาสแรกของปี 2561 ตามลำดับ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนมากขึ้น
3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.9 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 9.7 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาและปริมาณการส่งออกสินค้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 - 2.5 และร้อยละ 4.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 - 4.5 และการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.9 ในการประมาณการครั้งนี้ เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศจาก 2.18 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6) ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เป็น 2.23 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6) สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในไตรมาสแรกที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี (ล่าสุดในเดือนเมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4) ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 12.7 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 14.4 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.5 ในการประมาณการ ครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคานำเข้าสินค้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 - 3.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 - 6.5 สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้ราคานำเข้าสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการนำเข้าสินค้าจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งก่อน เป็นการขยายตัวร้อยละ 6.7 สอดคล้องการปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน เมื่อรวมกับการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าบริการ คาดว่าจะทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
5) ดุลการค้า คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 27.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 และลดลงจากการเกินดุล 28.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการ ครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เร็วกว่าการปรับเพิ่มประมาณการมูลค่าการส่งออก และเมื่อรวมกับการปรับเพิ่มประมาณการดุลบริการตามสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 43.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 8.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากการเกินดุลร้อยละ 7.8 ของ GDP ในการประมาณการครั้งก่อน
6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.7 - 1.7 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2560 แต่เป็นการปรับลดลงจากร้อยละ 0.9 - 1.9 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกของปียังอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าในหมวดอาหารสด (สัดส่วนร้อยละ 15.7) ที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดโดยยังคงปรับตัวลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสแรก รวมทั้งการปรับสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนให้แข็งค่าขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปีอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคา ในหมวดพลังงาน (สัดส่วนร้อยละ 11.8) และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้น
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินนโยบายของภาครัฐส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 และใน ไตรมาสแรกของปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งในด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในช่วงที่เหลือของปี 2561 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งในด้านการใช้จ่ายและการลงทุน รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่ระดับราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตาม ทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า นโยบายการเงิน และนโยบายต่างประเทศของประเทศสำคัญๆ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ
1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะ (1) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้เต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้การผลิตสาขาอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะกลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีและการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.0 ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการติดตามประเมินสถานการณ์และเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งในด้านการลดผลกระทบและการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่จะเกิดขึ้น (2) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านการอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2560 และในไตรมาสแรกของปี 2561 ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนโดยการดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ การชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย และการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการลงทุน รวมทั้งมาตรการและนโยบายที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง และ (3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในสนามบินและพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงระบบการเดินทางเชื่อมต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวรองเพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชนให้มากขึ้น
2)การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน สร้างแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระจายกิจกรรมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้มีการลงทุนที่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วง ที่เหลือของปี ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 66.7 และร้อยละ 77.0 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในครึ่งหลังของปีที่การขยายตัวของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ เริ่มมีข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น (2) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง และ (3) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายการขยายตัวของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจ
3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะในด้าน (1) การผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรให้ความสำคัญกับการดูแลและแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างล่าช้าในช่วงไตรมาสแรก การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามปริมาณน้ำและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวของปริมาณผลผลิตมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังและเตรียมมาตรการเพื่อรองรับความผันผวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรให้ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 รวมทั้งการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต (2) การดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ย และ (3) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท โดยส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อ มาตรการปกป้องความเสี่ยงจากค่าเงินบาท มาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ควบคู่ไปกับมาตรการการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น การปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงกับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและแรงงานต่างชาติในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการศึกษาทวิภาคีเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาค การผลิตและการลงทุนโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานกึ่งทักษะฝีมือ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาและเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การเชื่อมโยงตลาดแรงงานทั้งด้านผู้หางาน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการหางานและการเสาะหาแรงงาน และการพัฒนาสถาบันแรงงานเฉพาะทางเพื่อรองรับการลงทุนในสาขาการผลิตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future industry)
ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ