(ต่อ2)ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม และแนวโน้มปี 2550 - 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 6, 2007 16:19 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          - เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ชะลอตัว เงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสามขยายตัวจากระยะเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้าจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีการโยกย้ายเงินฝากประจำไปลงทุนในพันธบัตรของ ธปท. ที่ออกในช่วงปลายไตรมาสที่สามและธนาคารพาณิชย์หันไประดมทุนด้วยการออกตั๋วแลกเงินมากขึ้น
- สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในอัตราสูงขึ้นโดยขยายตัวร้อยละ 3.8 เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลและสินเชื่อที่ให้กับตัวกลางทางการเงินขยายตัวสูง สำหรับสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์นั้นยังคงลดลง แต่ในอัตราที่ช้าลง อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่สำคัญภาคอื่นๆ ชะลอตัวลง โดยเฉพาะสินเชื่อภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวมากขึ้น เนื่องจากการลงทุนยังอยู่ในช่วงของการเริ่มฟื้นตัว สำหรับปริมาณการใช้จ่ายบัตรเครดิต ยอดคงค้างบัตรเครดิต และการเบิกเงินสดล่วงหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากการที่ประชาชนยังระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย
- สภาพคล่องยังอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสสาม อยู่ที่ร้อยละ 93.5 สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่คำนวณเป็นสัดส่วนของสภาพคล่องที่พร้อมนำไปใช้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าประมาณ 919.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน เทียบกับ 848.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ธปท.จึงต้องมีการดำเนินการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตรอย่างต่อเนื่อง
- NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่ไม่รวมสำนักงานวิเทศธน-กิจและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ณ สิ้นไตรมาสสามมีมูลค่ารวม 260.4 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.43 ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 6.2 พันล้านบาท หรือร้อยละ 4.4 ของสินเชื่อรวม สำหรับทรัพย์สินรอการขายของสถาบันการเงิน (NPAs) มีมูลค่า 166 พันล้านบาทลดลงเล็กน้อยในไตรมาสนี้
- ธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมมีกำไรสุทธิ 9,650 ล้านบาท เทียบกับการขาดทุนสุทธิ 12,880 ล้านบาทในไตรมาสที่สอง และกำไรสุทธิ 22,873 ล้านบาท ในไตรมาสที่สามของปี 2549 โดยเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์มีรายได้สุทธิจากดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองตามหลักเกณฑ์ IAS39 ลดลง แม้ว่ามีบางธนาคารที่มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิจากการลงทุนใน Collateralized Debt Obligations (CDOs) ก็ตาม
- ค่าเงินบาทมีความผันผวนในไตรมาสที่สามตามความผันผวนในตลาดการเงินโลก ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมจากเงินทุนไหลเข้าในตลาดหลักทรัพย์ และอ่อนค่าลงในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมจากปัญหาวิกฤติ sub-prime ทำให้นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในเดือนกันยายน โดยมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสสามอยู่ที่ 34.01 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.8 และ 9.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและระยะเดียวกันของปี 2549 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิเกินดุล ค่าเงินบาทในไตรมาสที่สามแข็งค่าเทียบกับไตรมาสที่สองเร็วกว่าเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ แต่ช้ากว่าการแข็งค่าของเงินเยนและยูโร ทำ ให้ดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate) เฉลี่ยในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองเพียงร้อยละ 0.7 และเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงเทียบกับประเทศคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง(Real Effective Exchange Rate) อ่อนค่าจากไตรมาสที่สองที่ร้อยละ 0.2 โดยรวม 9 เดือน ค่าเงินบาทมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 34.73 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในเดือนตุลาคมค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องเป็นเฉลี่ยที่ 34.12 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.
- การระดมทุนของภาคเอกชนลดลงมาก มีการออกหุ้นทุนและหุ้นกู้เพียง 15.4 ล้านบาท เทียบกับ 49.6 ล้านบาทในไตรมาสสอง และ 92.2 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคสถาบันการเงินระดมทุนลดลง 24.2 ล้านบาท ส่วนภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินระดมทุนลดลง 52.6 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปี 2549 โดยรวมในช่วง 9 เดือน มีการระดมทุนรวม 107.6 พันล้านบาท ลดลงจาก 241.7 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
- มูลค่าการซื้อขายและดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าตลาดจะมีความผันผวนสูงตามการเคลื่อนย้ายลงทุนของนักลงทุนต่างชาติและราคาพลังงาน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 21.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 15.1 พันล้านบาทในไตรมาสที่สอง ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปิดที่ 845.5 จุด ณ สิ้นไตรมาสที่สาม เทียบกับ 776.8 จุด ณ สิ้นไตรมาสที่สอง โดยราคาหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมีปรับตัว
เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้ว่านักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิ 2.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ดัชนีราคามีความผันผวนในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่สาม โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 884.2 จุด ในกลางเดือนกรกฎาคม จากการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติและปรับลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ 750.7 จุด ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ตามการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากวิกฤติ sub-prime ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นในภูมิภาค อย่างไรก็ตามหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐที่มีแนวโน้มซบเซามากขึ้น แนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง และตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับไปลงทุนอีกครั้งในตลาดหลักทรัพย์ภูมิภาครวมทั้งไทย ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นปิดที่ 845.5 จุดในเดือนกันยายน และปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 907.3 จุดในเดือนตุลาคมโดยรวมในช่วง 9 เดือน มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเท่ากับ 16.3 พันล้านบาท และนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวม 95.3 พันล้านบาท
- มูลค่าซื้อขายตราสารหนี้เพิ่มขึ้น มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรม outright เฉลี่ยต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 42 พันล้านบาทในไตรมาสสอง มาเป็น 44 พันล้านบาทในไตรมาสที่สาม นักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 7.9 พันล้านบาท หลังจากมียอดขายสุทธิในครึ่งปีแรกรวม 52.8 พันล้าน
บาท ดัชนีราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อย อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของตราสารส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตราสารระยะยาวปรับเพิ่มขึ้น
1.2 ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสามปี 2550
เศรษฐกิจโลกในไตรมาสสาม ปี 2550 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสสอง โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น กลุ่มยูโร และประเทศในภูมิภาคเอเชียปรับตัวดีขึ้นและขยายตัวสูงกว่าที่เคยคาดไว้เดิม อย่างไรก็ดี โดยภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรก เศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากปี 2549 จากผลกระทบของตลาดการเงินจากปัญหาตลาดสินเชื่อ sub-prime ในสหรัฐฯ ขณะที่แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เศรษฐกิจสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 2.6 (หรือร้อยละ 3.9,qoq, annualized) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.5 และ 1.9 ในช่วงสองไตรมาสแรก เป็นผลจากการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้น ประกอบกับการลงทุนในหมวดที่ไม่ใช่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยขยายตัวได้ดี แต่การลงทุนในที่อยู่อาศัยยังคงหดตัวต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินเชื่อ Sub-prime ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมยังคงหดตัว โดยภาคอสังหาริมทรัพย์นั้นแม้ว่ายอดสร้างบ้านใหม่จะลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 2549 แต่สต็อกบ้านยังคงสูงเนื่องจากยอดขายบ้านที่ลดลงมากร้อยละ 8.3 ในไตรมาสสาม ทำให้ราคาขายบ้านโดยเฉลี่ยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
อัตราเงินเฟ้อชะลอลงเป็นร้อยละ 2.4 ตามราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อเริ่มสูงขึ้นในเดือนกันยายนและตุลาคมตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 และ 3.5 ตามลำดับ
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ในไตรมาสสามของปี 2550 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโร ขยายตัวร้อยละ 3.0 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่สองที่เศรษฐกิจชะลอลง (หรือร้อยละ 0.7, qoq, sa สูงขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสที่สอง) โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ ปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนที่ฟื้นตัว และการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังคงขยายตัวดี เนื่องจากการจ้างงานที่สูงขึ้นและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงเพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกชะลอลงตามความต้องการในตลาดโลก และทิศทางค่าเงินยูโรที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่อเงินเฟ้อเริ่มเพิ่มสูงขึ้นในเดือนกันยายน อยู่ที่ร้อยละ 2.1
- เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 2.1 สูงขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อน โดยการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และมีแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน ซึ่งช่วยชดเชยการ
ลงทุนในที่อยู่อาศัยที่หดตัวลงมากเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายปรับปรุงมาตรฐานการก่อสร้างฉบับใหม่ส่งผลให้การอนุมัติก่อสร้างล่าช้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบร้อยละ 0.2 ซึ่งแสดงว่าญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงเรื่องปัญหาเงินฝืดในภาวะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ
- เศรษฐกิจจีน ยังขยายตัวได้สูงในอัตราร้อยละ 11.5 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 11.9 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่นับว่ายังเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงแม้ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลักยังคงมาจากการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่ขยายตัวสูงเนื่องจากผลกำไรในภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมากและสินเชื่อภาคเอกชนที่ขยายตัว ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี
มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 26.2 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 20.7 ส่งผลให้เกินดุลการค้าสูงถึง 73.2 พันล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 6.1 ปรับตัวสูงขึ้นจากร้อยละ 2.7 และ 3.6 ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ตามลำดับ เป็นผลจากราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ในช่วง 10 เดือนแรก อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 4.4 สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของทั้งปี 2550 ที่ธนาคารกลางตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.0
- เศรษฐกิจกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลของการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้า ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบของการส่งออกสินค้าและบริการที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่ชะลอลงและแนวโน้มวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ขาลง อย่างไรก็ดี การส่งออกยังคงขยายตัวได้สูงในกลุ่มสินค้าที่ส่งไปยังตลาด
อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดจีนและอินเดีย ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าในตลาดโลกเพิ่มขึ้นสูง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดโดยรวมยังคงเกินดุลสูง ในส่วนของเสถียรภาพราคา แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าที่คาดไว้เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นนอกจากนี้ผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศมีส่วนในการสนับสนุนเศรษฐกิจ
- โดยรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 เศรษฐกิจโลกชะลอลงจากปี 2549 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอลงอย่างชัดเจน เนื่องจากผลกระทบของปัญหาตลาดสินเชื่อ sub-prime ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดการเงินทั่วโลก เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอลงตามภาวะการลงทุนภายในประเทศ ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกสินค้าสำ คัญ อาทิ รถยนต์ ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม
เศรษฐกิจในหลายประเทศเศรษฐกิจหลักขยายตัวได้สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ อาทิ เศรษฐกิจกลุ่มยูโร และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ซึ่งขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการส่งออกที่ยังคงเพิ่มขึ้นจากการค้าภายในภูมิภาคที่ขยายตัวสูง
(ยังมีต่อ).../2.แนวโน้มเศรษฐกิจไทย..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ