ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ปี 2561 และแนวโน้มปี 2561 - 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 19, 2018 11:49 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส ที่สามของปี 2561 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2561 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.3
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม ขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการผลิตภาคเกษตร สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัว
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.4 ของ GDP
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีแรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง (2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนรวม โดยการลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง (3) การปรับตัว ดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว (4) การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สามารถสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.8 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการฟื้นตัวและขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 ควบคู่กับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวรายได้สูง และการกระจายรายได้สู่เมืองรองและชุมชน (2) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยให้ความสำคัญกับ (i) การใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า (ii) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า (iii) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ และ (iv) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า (3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (i) สนับสนุนภาคการส่งออกให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ii) ชักจูงนักลงทุนในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น (iii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (iv) การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการ และมาตรการสำคัญในช่วงหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง (4) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งมาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (5) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง และ (6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561 และแนวโน้มปี 2561 - 2562

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัวลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวเร่งขึ้น สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมขยายตัวในเกณฑ์ดี ส่วนการผลิตภาคเกษตร สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการขนส่ง และการคมนาคมชะลอตัว เมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2561 (QoQ_SA) รวม 9 เดือนแรกของปี2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.3

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามของปี 2561

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.0 และเร่งขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 27.0 เร่งขึ้นจากร้อยละ 25.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัว ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 13.4 และร้อยละ 8.3 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 69.6 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.1 ต่อเนื่องจากร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายหมวดค่าใช้สอย และหมวดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และร้อยละ 14.5 ตามลำดับ อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายรวม ในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 20.5 เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 21.7

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 2.0

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 (สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส) เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาส ก่อนหน้า และการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 และการลงทุนของรัฐบาลที่ขยายตัวร้อยละ 0.7

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.3 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.4

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 63,387 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 ขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 7.6) มันสำปะหลัง (ร้อยละ 2.3) น้ำตาล (ร้อยละ 2.3) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 32.5) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 16.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 12.2) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 7.8) รถยนต์นั่ง (ร้อยละ 1.5) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 11.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 7.4) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 4.1) เป็นต้น กลุ่มสินค้า

ส่งออกที่มูลค่าลดลง เช่น แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ -3.9) อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ -0.4) ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ -12.2) ยางพารา (ร้อยละ -17.0) และกุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -20.4) เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลียปรับตัวลดลง เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 188,189 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 6,051 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

4) ภาคเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวได้รับปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากสภาพอากาศ รวมทั้งปริมาณน้ำชลประทานและปริมาณน้ำฝนที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต ซึ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกในการผลิตพืชสำคัญ ๆ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือก (ร้อยละ 9.8) ไม้ผล (ร้อยละ 18.6) ยางพารา (ร้อยละ 4.9) และปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 15.7) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตกุ้งขาวแวนนาไม สุกร และมันสำปะหลังลดลง ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 3.3 ตามการลดลงของราคายางพารา ราคาปาล์มน้ำมัน และราคากุ้งขาวแวนนาไม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 97.0) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 10.6) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 15.6) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและ การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.3

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 7.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 10.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 7.3 และดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมร้อยละ 1.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำตาล (ร้อยละ 91.4) อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 11.2) ยานยนต์ (ร้อยละ 2.6) เครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป (ร้อยละ 18.1) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 10.0) เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 9.8) ผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.4) คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 4.4) จักรยานยนต์ (ร้อยละ 2.6) เหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 1.0) เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ -32.3) เครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -12.9) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -4.5) การทอผ้า (ร้อยละ -13.6) เฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -13.6) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (ร้อยละ -19.3) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ -8.7) การแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ -3.3) น้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ -6.6) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ -2.9) เป็นต้น อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.5 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 67.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.4 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5

6) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้าและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 474.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 13.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวลดลงของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของรายรับจากนักท่องเที่ยวยุโรป เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูงประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.38 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.71 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 9.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.3 ในช่วงเดียวกันของ ปีก่อนหน้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1,490.5 พันล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 70.53

7) สาขาการขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวร้อยละ 6.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำขยายตัวร้อยละ 2.9 ร้อยละ 8.6 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 12.1 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม

รวม 9 เดือนแรกของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.8 ทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 6.7 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 11.1

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 - 2562

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 7.2 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.7 และร้อยละ 3.6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.4 ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการมีงานทำที่มีความชัดเจนมากขึ้น (2) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนรวม โดยการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ ที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างมากขึ้น และการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง (3) การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว (4) การขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สามารถสนับสนุนภาคการส่งออกได้อย่างต่อเนื่องแม้จะชะลอตัวลงตามประเทศเศรษฐกิจหลัก (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.8 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สามของปี 2561 ในด้านต่าง ๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นต่อเนื่อง ตามการเร่งขึ้นของรายจ่ายในหมวดสินค้าคงทน และการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของการใช้จ่ายในหมวดอื่น ๆ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาส) สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะยอดขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ขยายตัวร้อยละ 27.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 25.1 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวในอัตราที่ เร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3) ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่น ๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร ดัชนีปริมาณการนำเข้าสินค้าหมวดสิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม และดัชนีปริมาณการค้าปลีกสินค้ากึ่งคงทน ขยายตัวร้อยละ 8.3 ร้อยละ 13.4 และร้อยละ 8.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ร้อยละ 11.8 และร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะฐานรายได้ในภาคเกษตรและฐานรายได้จากการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ฐานรายได้ในภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ สำหรับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 69.6 เทียบกับระดับ 67.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส

การลงทุนภาคเอกชน:ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนในหมวดก่อสร้าง และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวเร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4) โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.4 เร่งขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศ และยอดจดทะเบียนยานยนต์ใหม่ร้อยละ 8.6 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างในประเทศร้อยละ 5.0 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 51.6 เทียบกับระดับ 51.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

การส่งออก: การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สามของปี 2561 มีมูลค่า 63,387 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตร เนื่องจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน การลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าประมงตามการลดลงของการผลิตในประเทศ รวมทั้งการชะลอตัวลงของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับการเริ่มชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า บางประเทศและการปรับตัวของผู้ประกอบการในต่างประเทศต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกขยายตัว โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.1 (สัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 3.9) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.5) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 4.1) และราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.2) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 2,090 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ชะลอลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ในไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ตามการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญอื่น ๆ เช่น ราคายางพาราและราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 เนื่องจากการลดลงของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ตามการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียเป็นสำคัญ โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.4 ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 1.4 เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอการซื้อข้าวหลังจากที่มีการนำเข้าข้าวเป็นจำนวนมากในช่วงก่อนหน้า มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.3 เนื่องจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกลดลง และประเทศคู่ค้ายังคงมีความต้องการใช้ มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง ส่วนปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 35.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการส่งออก ยางพารา มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 17.0 โดยราคาส่งออกลดลงร้อยละ 13.7 เนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 3.8 จากการลดลงของการส่งออกไปยังจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นสำคัญ น้ำตาล มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ตามปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.5 จากการส่งออกไปยังเมียนมา ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เป็นสำคัญ ส่วนราคาส่งออกลดลงร้อยละ 30.9 เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำตามปริมาณผลผลิตน้ำตาลในตลาดโลกที่ออกสู่ตลาดมาก มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.3 ในไตรมาส ก่อนหน้า และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 32.5) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 16.3) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 12.2) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 7.8) รถกระบะและรถบรรทุก (ร้อยละ 11.7) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 7.4) และเครื่องจักรและอุปกรณ์ (ร้อยละ 4.1) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่ง และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 1.5 และร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากการขยายตัว ร้อยละ 12.4 และร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 15.4 โดยปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 14.3 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.3 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ (ร้อยละ -20.4) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการส่งออก สินค้าส่งออกอื่น ๆ ลดลงร้อยละ 63.4 เป็นผลจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 65.9

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรป (15) ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัว ขณะที่ตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และออสเตรเลียปรับตัวลดลง การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 8.7 และร้อยละ 2.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 11.2 และร้อยละ 11.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวในเกณฑ์สูงที่ ร้อยละ 22.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 12.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 24.2 (เร่งขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 28 ไตรมาส) และตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 21.0 (สูงสุดในรอบ 28 ไตรมาส) ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง (15) กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.0 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.01 เนื่องจากการลดลงของการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋อง และแปรรูป และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส ร้อยละ 2.8 ตามการลดลงของการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และยางพารา เป็นสำคัญ และการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ร้อยละ 5.7 ตามการลดลงของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบเป็นสำคัญ

มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเพิ่มขึ้นทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การนำเข้ามีมูลค่า 59,963 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 17.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 16.8 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง (ร้อยละ 9.3) และสินค้าอุปโภคบริโภค (ร้อยละ 5.3) สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,978 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 ในไตรมาสก่อนหน้า

ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวลดลง มูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และวัสดุที่ทำด้วยโลหะเป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 5.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีการนำเข้าอากาศยาน คิดเป็นมูลค่า 1,201 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 92.3 ทั้งนี้ เมื่อหักการนำเข้าอากาศยานออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 โดยปริมาณการนำเข้าลดลงร้อยละ 7.0 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 อย่างไรก็ดี สินค้าทุนที่สำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และส่วนประกอบยังคงขยายตัว อาทิ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม หม้อแปลง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ และเครื่องเก็บประจุไฟฟ้า และเครื่องจักรกลอื่น ๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 ตามการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ร้อยละ 66.6

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 111.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 107.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2561

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ดุลการค้าเกินดุล 3.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (112.5 พันล้านบาท) น้อยกว่าการเกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (186.8 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 10.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (351.5 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านการผลิต

ภาคเกษตร:ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องแม้ว่าชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ตามการขยายตัวของผลผลิตและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการ ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.3 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 4.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 11.7 ในไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตภาคเกษตรในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนจาก ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกซึ่งทำให้ผลผลิตต่อไร่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชสำคัญ ๆ โดยผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น (1) ข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 (2) กลุ่มไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 (3) ยางพารา เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และ (4) ปาล์มน้ำมัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 เป็นต้น ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น (1) กุ้งขาวแวนนาไม ลดลงร้อยละ 12.7 เป็นผลจากเกษตรกรปรับลดปริมาณการผลิตในช่วงที่ราคาปรับตัวลดลง (2) สุกร ลดลงร้อยละ 1.2 เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับลดการผลิต เพื่อควบคุมปริมาณผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และ (3) มันสำปะหลัง ลดลงร้อยละ 0.9 เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นและผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในบางพื้นที่ เป็นต้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 3.3 ตามการลดลงของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ เช่น (1) ยางพาราเนื่องจากสต็อกยางอยู่ในระดับสูงในขณะที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและปริมาณความต้องการในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความวิตกกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐฯ และจีน (2) อ้อย ตามการลดลงของราคาน้ำตาลในตลาดโลกซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดโลกและสต็อกน้ำตาลทรายภายในประเทศที่ยังอยู่ในระดับสูง (3) ไก่เนื้อ เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมาก ในขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศชะลอตัว และ (4) กุ้งขาวแวนนาไม เนื่องจากการลดลงของราคากุ้งขาวแวนนาไมในตลาดโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ราคามันสำปะหลัง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 97.0) ราคาข้าวเปลือก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6) และราคาข้าวโพด (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6) เป็นต้น การเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 ร้อยละ 1.3

สาขาอุตสาหกรรม: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามการชะลอตัวและการลดลงของอุตสาหกรรม การผลิตสำคัญบางรายการ ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.6 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ชะลอตัวลงมากจากการขยายตัวร้อยละ 11.5 สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมทุกประเภทจากการขยายตัวร้อยละ 16.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสนี้ รวมทั้งการลดลงของการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ร้อยละ 2.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และการลดลงของการทอผ้าและการผลิตยางล้อและยางในร้อยละ 13.6 และร้อยละ 1.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตน้ำตาลขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 91.4 และการผลิตรถจักรยานยนต์กลับมาขยายตัวร้อยละ 2.6 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และการผลิตเครื่องแต่งกาย ขยายตัวร้อยละ 11.2 และร้อยละ 9.8 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.8 และร้อยละ 1.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไปเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ที่ร้อยละ 18.1 ส่วนการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 4.4 แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ลดลงร้อยละ 12.9 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 13.6 ตามลำดับ ผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 0.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ และการต้ม การกลั่นและการผสมสุรา ร้อยละ 32.3 และร้อยละ 19.3 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 10.0 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.5 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 67.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยในอุตสาหกรรมสำคัญ 23 รายการ มีอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 จำนวน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 97.4) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 90.6) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 85.9) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 81.6) อุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 70 - 80 จำนวน 3 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 78.7) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 78.0) และการผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 70.7) ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 70 จำนวน 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 69.5) การผลิตยางล้อและยางใน (ร้อยละ 64.6) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 64.0) และการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 63.3)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เพิ่มขึ้น เช่น การผลิตน้ำตาล (ร้อยละ 91.4) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 11.2) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 2.6) การผลิตเครื่องจักรอื่น ๆ ที่ใช้ในงานทั่วไป (ร้อยละ 18.1) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 10.0) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 9.8) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 6.4) การผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 4.4) การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 2.6) การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า (ร้อยละ 1.0) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์จากยาสูบ (ร้อยละ -32.3) การผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน (ร้อยละ -12.9) การผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ -4.5) การทอผ้า (ร้อยละ -13.6) การผลิตเฟอร์นิเจอร์ (ร้อยละ -13.6) การต้ม การกลั่นและการผสมสุรา (ร้อยละ -19.3) การผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ -8.7) การแปรรูปและการถนอมปลา (ร้อยละ -3.3) การผลิตน้ำมันและไขมันจากพืชและสัตว์ (ร้อยละ -6.6) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ -2.9) เป็นต้น

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 9.4 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยในไตรมาสนี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.06 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงมากจากการขยายตัวร้อยละ 8.4 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวลดลงของนักท่องเที่ยวจีน (สัดส่วนร้อยละ 27.0) ร้อยละ 8.8 เนื่องจากผลกระทบจากอุบัติเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 และการปรับตัวลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซีย (สัดส่วนร้อยละ 2.0) ลดลงร้อยละ 7.2 เนื่องจากการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 21 ที่ประเทศรัสเซียในระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคม 2561 ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวรัสเซียลดการเดินทางออกนอกประเทศ รวมทั้งทำให้นักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศยุโรปเปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวไปยังรัสเซียมากขึ้น สะท้อนจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 13.1) ร้อยละ 1.9 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 และร้อยละ 1.5 ในไตรมาส ที่สามของปี 2561 อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น ๆ ยังขยายตัวได้ดี โดยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ขยายตัวสูง ประกอบด้วย นักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย (สัดส่วนร้อยละ 11.7) เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 ฮ่องกง (สัดส่วนร้อยละ 3.5) เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 ญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 5.0) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 ไต้หวัน (สัดส่วนร้อยละ 2.0) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และเวียดนาม (สัดส่วนร้อยละ 3.3) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 ตามลำดับ รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 474.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 13.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการปรับตัวลดลงของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีนและรัสเซีย รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของรายรับจากนักท่องเที่ยวยุโรป เป็นสำคัญ ในขณะที่รายรับจากนักท่องเที่ยวจากประเทศสำคัญที่ยังขยายตัวสูง ประกอบด้วย รายรับจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นสำคัญ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.38 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.71 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

สาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซม: ขยายตัวในเกณฑ์สูงตามการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของดัชนีการขายส่ง การขายปลีก และการซ่อมแซมร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) ดัชนีการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.3 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดการขายยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 และหมวดการขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมของยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 (2) ดัชนีการขายส่ง (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 โดยหมวดการขายส่งสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 และหมวดการขายส่งสินค้าเฉพาะประเภทอื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 (เช่น การขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม การขายส่งเหล็ก เหล็กกล้า และโลหะที่นอกกลุ่มเหล็กขั้นมูลฐาน) และ (3) ดัชนีการขายปลีก (ยกเว้น ยานยนต์และจักรยานยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหมวดขายปลีกสินค้าประเภท อื่น ๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.3 (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องประดับ ร้านขายปลีกสินค้าใหม่อื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภท ไว้ในที่อื่น) และหมวดร้านขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5

สาขาการขนส่ง และการคมนาคม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของบริการขนส่งทางบก น้ำ และอากาศ ในขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 6.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 5.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชะลอตัวของทั้งบริการขนส่งสินค้าและบริการขนส่งผู้โดยสาร ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกและท่อลำเลียงขยายตัวร้อยละ 2.9 (2) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 6.1 และ (3) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 8.6 นอกจากนี้ บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 12.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 10.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าและกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปา ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลง ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขยายตัว ร้อยละ 2.1 โดยปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง สอดคล้องกับการชะลอตัวของการผลิตสาขาอุตสาหกรรม และกิจกรรมการผลิต และจำหน่ายน้ำประปาขยายตัวร้อยละ 0.5 ตามการขยายตัวของปริมาณการใช้น้ำประปาในภาคครัวเรือน เป็นสำคัญ ในขณะที่กิจกรรมโรงแยกก๊าซลดลงร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณก๊าซที่เข้าโรงแยก

สาขาก่อสร้าง:ขยายตัวเร่งขึ้นทั้งการก่อสร้างภาคเอกชนและการก่อสร้างภาครัฐ ในไตรมาสที่สามของปี 2561 การผลิตสาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 4.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาส ก่อนหน้า (การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจขยายตัวร้อยละ 13.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 10.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐบาลลดลงร้อยละ 0.1) การก่อสร้างภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ และหน่วยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ จดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่ขยายตัวร้อยละ 28.5 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ และการก่อสร้างอาคารอาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 1.6 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (ร้อยละ 9.1) หมวดคอนกรีต (ร้อยละ 2.0) หมวดซีเมนต์ (ร้อยละ 1.7) และหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 0.2) เป็นสำคัญ

ผู้มีงานทำ: ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 และเป็นการขยายตัวของผู้มีงานทำทั้งภาคเกษตรและ นอกภาคเกษตรครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส สะท้อนการกระจายตัวมากขึ้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยผู้มีงานทำภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 33.4) ขยายตัวร้อยละ 1.9 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 สอดคล้องกับการขยายตัวของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าวเปลือกและทุเรียน เป็นต้น ในขณะที่ผู้มีงานทำนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 66.6)เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.01 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ของผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรมและเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 2 สอดคล้องกับการขยายตัวของผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และการเพิ่มขึ้นของผู้มีงานทำในสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าร้อยละ 10.2 สอดคล้องกับการขยายตัวของสาขาการขนส่ง และการคมนาคม และการกลับมาขยายตัวครั้งแรกร้อยละ 2.6 ในรอบ 7 ไตรมาสของผู้มีงานทำในสาขาก่อสร้างสอดคล้องกับการขยายตัวของสาขาก่อสร้าง รวมทั้งการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ของผู้มีงานทำในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร อัตราการว่างงานในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 3.7 แสนคน

ด้านการคลัง

ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2561 (กรกฎาคม - กันยายน 2561) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 694,369.8 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.5 เป็นผลจาก (1) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้ โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของ ผลประกอบการภาคธุรกิจ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 233.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ส่งผลให้ผลประกอบการของธุรกิจปิโตรเลียมปรับตัวดีขึ้น และ (2) การเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภค ที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน

รวมทั้งปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,527,968.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 และสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 1.1

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 741,191.7 ล้านบาท1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7) ประกอบด้วย (1)การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม)625,869.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.5 ต่ำกว่าเป้าหมายร้อยละ 21.7 และต่ำกว่าร้อยละ 20.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) จำแนกเป็น การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 518,285.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 20.6 ต่ำกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 21.4 และต่ำกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.1 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 107,584.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.9 ต่ำกว่าเป้าหมาย ร้อยละ 22.9 แต่สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 19.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

(2)การเบิกจ่ายงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีจำนวนทั้งสิ้น 44,679.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 85.8 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 13.8 (สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 8.7 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) (3)การเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ 76,182.7 ล้านบาท2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 41.4 และ (4) การเบิกจ่ายเงินกู้ นอกงบประมาณ มีจำนวนทั้งสิ้น 817.7 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 2,209.1 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้ตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan : DPL) จำนวน 777.8 ล้านบาท และ 39.9 ล้านบาท ตามลำดับ

รวมทั้งปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,233,781.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.0 (รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 และรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3) เป็นผลจากการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี(รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) 2,792,069.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.9 ประกอบด้วยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ 2,411,740.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.6 อัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 96.1 (ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่กำหนดไว้ร้อยละ 98.4 และต่ำกว่าอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 96.8 ในปีงบประมาณก่อน) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน 380,328.9 ล้านบาท ลดลงจาก ปีก่อนร้อยละ 0.1 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 70.5 (ต่ำกว่าเป้าหมายการเบิกจ่ายที่กำหนดไว้ร้อยละ 88.0 แต่สูงกว่าอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 70.3 ในปีงบประมาณก่อน) สำหรับงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 215,097.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 5.5 อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 66.4 ในขณะที่งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ(ไม่รวมบริษัท ปตท. จำกัด) คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 245,399.2 ล้านบาท3เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 9.0 ส่วนเงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 3,691.5 ล้านบาท

หมายเหตุ: 1 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ประกอบด้วย งบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) งบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี เงินกู้นอกงบประมาณ และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (ไม่รวมงบลงทุนของบริษัท ปตท. จำกัด และไม่รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี)

2 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 6,357.3 ล้านบาท

3 รวมรายจ่ายลงทุนรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 22,476.2 ล้านบาท

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,780,953.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.5 ของ GDP ประกอบด้วยเงินกู้ภายในประเทศ 6,519,031.6 ล้านบาท (ร้อยละ 39.9 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 261,921.6 ล้านบาท (ร้อยละ 1.6 ของ GDP) และแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,450,220.0 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 954,129.7 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 367,634.9 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 8,968.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80.4 ร้อยละ 14.1 ร้อยละ 5.4 และร้อยละ 0.1 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลเกินดุลงบประมาณ 1,998.0 ล้านบาท เมื่อรวมกับการเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 91,878.0 ล้านบาท และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 112,768.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเกินดุลเงินสดสุทธิ 206,634.0 ล้านบาท น้อยกว่าการเกินดุลช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.3 และเมื่อรวมกับเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้าจำนวน 426,802.0 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 633,436.0 ล้านบาท

รวมทั้งปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณ 624,497.0 ล้านบาท เกินดุลเงินนอกงบประมาณ 233,817.5 ล้านบาท และมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 500,357.5 ล้านบาท (กรอบวงเงินขาดดุล 550,358.1 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลยังคงเกินดุลเงินสดหลังกู้ 109,678.0 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สามของปี 2561

ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม และ 19 กันยายน 2561 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยระดับดังกล่าวมีความเหมาะสมต่อการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยรักษาระดับเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในช่วงร้อยละ 2.00 - 2.25 ต่อปี ซึ่งเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปี 2561 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อัตราเงินเฟ้อ (Core PCE inflation) ในไตรมาสที่สามของปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.00 ขณะที่ค่าเฉลี่ย 9 เดือนของ Core PCE inflation อยู่ที่ร้อยละ 1.89 ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ร้อยละ 2.00 รวมทั้งอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.50 มาอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันทางด้านอัตราเงินเฟ้อ และควบคุมให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นมากขึ้น โดยปรับเพิ่มกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปี จาก ฑ10 bps จากร้อยละ 0 มาอยู่ที่ ฑ20 bps จากร้อยละ 0 และธนาคารกลางจีนปรับลด Required Reserve Ratio (RRR) ลงร้อยละ 1.00 เพื่อเสริมสภาพคล่องในระบบการเงิน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียบางแห่งได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันเงินเฟ้อ และรองรับความผันผวนจากเงินทุนเคลื่อนย้าย ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.50 ร้อยละ 5.75 และร้อยละ 4.50 ต่อปี ตามลำดับ

ล่าสุดเดือนตุลาคม 2561 ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี เพื่อลดแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของค่าจ้าง หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561

อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า โดยใน ไตรมาสที่สามของปี 2561 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน และอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้า รายใหญ่ชั้นดี (MLR) ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.37 และร้อยละ 6.28 ต่อปี อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริง และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามการลดลงของอัตราเงินเฟ้อ (ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 1.33 ลดลงจากร้อยละ 1.38 ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2561)

ล่าสุดเดือนตุลาคม 2561 ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สาม

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2561 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 6.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยเป็นการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อภาคธุรกิจที่ขยายตัวร้อยละ 7.1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจการขายส่งและการขายปลีก และกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.7 โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เป็นสำคัญ สำหรับคุณภาพของสินเชื่อ สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาสที่สามอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.98 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงร้อยละ 3.2 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาค ที่ได้รับปัจจัยกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ กีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในภูมิภาค ขณะเดียวกันค่าเงินดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่สะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ปัญหาวิกฤติค่าเงินในประเทศตุรกีซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ทำให้นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนจากประเทศที่มีความเสี่ยงมาเป็นการลงทุนใน ตราสารหนี้ของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี เช่น ประเทศไทย และเกาหลีใต้ เป็นต้น ส่งผลให้เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อย สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)4 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่ลดลงจากค่าเฉลี่ยใน ไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.02 และร้อยละ 0.07 ตามลำดับ

ในเดือนตุลาคม มีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอาจส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เป็นไปตามที่ตลาดประเมินไว้ เช่น ความขัดแย้งทางการค้า สถานการณ์การเมืองในยุโรป เป็นต้น จึงทำให้ นักลงทุนปรับการลงทุนโดยขายสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหลักทรัพย์ของประเทศในภูมิภาค และไปถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากกว่า เช่น สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินเยน ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศในภูมิภาคอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงน้อยกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนตุลาคมอยู่ที่ 32.77 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ 0.4 จากค่าเฉลี่ยในเดือนก่อนหน้า

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ในไตรมาสนี้ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การปรับขึ้นของดัชนียังมีความผันผวนตามปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายนอก โดย SET Index มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ทั้งในประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมามีสถานะซื้อสุทธิในช่วงต้นไตรมาส อย่างไรก็ตาม SET Index เคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นตามสถานการณ์วิกฤติค่าเงินในประเทศตุรกีและอาร์เจนตินา และสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งทำให้มีการขายหลักทรัพย์ในประเทศตลาดเกิดใหม่ ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม และในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นภายหลังนักลงทุนเริ่มลดความวิตกกังวลต่อสงครามการค้า และสถานการณ์การเมืองในประเทศมีทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาส SET Index ปิดที่ 1,756.41 จุด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.1 จากระดับ 1,595.58 จุด ณ สิ้นไตรมาสก่อนหน้า

หมายเหตุ: 4 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2561 เพิ่มขึ้นเกือบทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะช่วงอายุระยะปานกลาง (อายุ 1 - 5 ปี) ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนที่สำคัญ ๆ ของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในช่วงอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ได้รับอิทธิพลจากทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาส รวมทั้งผลกระทบจากวิกฤติการณ์ค่าเงินในประเทศตุรกีและอาร์เจนตินา ซึ่งสร้างแรงกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังตัวเลขการจ้างงานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุต่ำกว่า 1 ปี มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย โดย ณ สิ้นไตรมาส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 1.95 และ 2.81 ต่อปี ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.70 และ 2.79 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสสอง ตามลำดับ

ในเดือนตุลาคม 2561 ภาวะตลาดทุนโลกเริ่มปรับตัวในทิศทางลดลงโดยนักลงทุนกังวลต่อแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเร็วกว่าที่คาด การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง และสถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลดลงในเดือนนี้ โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2561 SET Index ปิดที่ 1,669.09 จุด ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.01 และ 2.84 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.30 ร้อยละ 1.55 และร้อยละ 1.75 ต่อปี ตามลำดับ

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสที่สามของปี 2561 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากการออกไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ แม้ว่าจะมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และลงทุนโดยตรงเป็นจำนวนมาก

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (138.3 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 14.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (495.3 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (213.7 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 3.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 10.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 0.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ต่ำกว่าการเกินดุล 4.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน)

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ 204.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.1 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 10.2 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่สามของปี 2561)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สามของปี 2561 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.3 ในไตรมาส ที่สองของปี 2561 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ใกล้เคียงกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เป็นผลจากเพิ่มขึ้นของราคาข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหาร เป็นต้น ส่วนดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.3 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.8 เท่ากับไตรมาส ก่อนหน้า5

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในไตรมาสที่สองของปี 2561 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และผลิตภัณฑ์จากเหมืองเป็นสำคัญ โดยราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นสำคัญ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ในขณะที่ราคาผลผลิตเกษตรกรรมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.1 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรเป็นสำคัญ6

หมายเหตุ: 5 ในเดือนตุลาคม 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7 เฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.7

6 ในเดือนตุลาคม 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เฉลี่ย 10 เดือนแรกของปี 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สามของปี 2561

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่สามของปี 2561 ราคาน้ำมันดิบ ในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 73.53 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 46.1 จาก 50.33 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สามของปี 2561 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองของปี 2561 ร้อยละ 2.6

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจโลกนำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่สามของปี 2561 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 100.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 99.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 20.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 20.00 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 13.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 13.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของยุโรปและญี่ปุ่นเฉลี่ยอยู่ที่ 14.68 และ 3.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงร้อยละ 0.2 และร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 14.71 และ 3.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ และ (2) ปัจจัยความไม่สงบด้านภูมิรัฐศาสตร์จากเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศอิรักและซีเรีย และมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สามของปี 2561

ในไตรมาสที่สามของปี 2561 เศรษฐกิจโลกขยายตัวช้าลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นเข้าสู่อัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน และแรงกดดันต่อค่าเงินและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอ

การขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งตัวขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้ช่องว่างการผลิตเป็นบวกมากขึ้น ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายของนโยบายการเงิน และส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติโดยการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการปรับลดขนาดงบดุลอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางแคนาดาและสหราชอาณาจักร ที่ปรับทิศทางนโยบายการเงินโดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งธนาคารกลางยุโรปปรับลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ ในขณะเดียวกันมาตรการกีดกันทางการค้ามีความรุนแรง มากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมครอบคลุมสินค้า 5,734 รายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. โดยเพิ่มอัตราภาษีร้อยละ 10.0 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน 2561 ก่อนที่จะเพิ่มเป็นร้อยละ 25.0 ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ในขณะที่จีนได้ดำเนินการ ตอบโต้ ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ.

แม้กระนั้นก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่น ๆ และประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ธนาคารกลางของญี่ปุ่นและประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังคงรักษาการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ในระดับเดิม อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนา บางประเทศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ และแรงกดดันจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศหลักและความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 3.0 (Advance Estimate) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนรวม ในขณะที่การส่งออกชะลอตัวลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของจีน มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่การนำเข้าจากจีนเร่งตัวขึ้น และส่งผลให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.9 และค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 สูงสุดในรอบ 38 ไตรมาส ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ (PCE Price Index) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.2 สูงสุดในรอบ 26 ไตรมาส และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Price Index) อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เท่ากับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 สู่ช่วงร้อยละ 2.00 - 2.25 ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 - 26 กันยายน 2561 และส่งสัญญาณการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าจะมีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 7 - 8 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวร้อยละ 1.7 ชะลอลงจากร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อน และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ รวมทั้งการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่แน่นอนในสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งสถานการณ์การเมือง ในอิตาลีและการเจรจา Brexit อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานลดลงเป็นร้อยละ 8.1 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.7 ในไตรมาสก่อนหน้า และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ไตรมาส ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 มีมติลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ลงเป็น 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนตั้งแต่เดือนตุลาคมจนกระทั่งสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 ควบคู่ไปกับการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2562

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.3 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.4 และเป็นอัตราขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 14 ไตรมาส ตามการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการลดลงของการส่งออกบริการ นอกจากนี้ การลงทุนรวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนปรับตัวลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งรุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวร้อยละ 0.5 ของการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจ โดยเป็นการเร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับตลาดแรงงานที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งการบริโภคก่อนการปรับขึ้นอัตราภาษีเพื่อการบริโภคที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม ปี 2562 การขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งผลให้อัตราว่างงานทรงตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.6 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าระดับเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและรักษามาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิม

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสุทธิลดลง โดยการส่งออกสินค้าของจีนเร่งตัวขึ้นแม้จะเริ่มมีการดำเนินมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. โดยในเดือนกันยายน 2561 การส่งออกของจีนขยายตัวร้อยละ 14.4 สูงสุดในรอบ 7 เดือน ในขณะที่การนำเข้าเร่งขึ้นในอัตราสูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส นอกจากนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรชะลอตัวตามมาตรการปรับสมดุลโครงสร้างเศรษฐกิจและการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน ในด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สัดส่วนหนี้สินภาคธุรกิจยังเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ ร้อยละ 164.1 ต่อ GDP ในขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศปรับตัวลดลงเป็น 3,087 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน ประกอบกับการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับค่าเงินหยวนในไตรมาสที่ 3 ที่อ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 6.7 และเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2561 ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio: RRR) เป็นร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งที่ 3 ภายหลังจากปรับลดในเดือนเมษายนและมิถุนายน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นธุรกิจขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 2.0 ร้อยละ 2.3 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 2.6 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 2.8 ร้อยละ 3.3 ร้อยละ 3.5 และร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ตามการชะลอตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ชะลอลงตามการชะลอตัวของการส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การบริโภคภายในประเทศและการลงทุนยังคงขยายตัวได้ดี สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานสะท้อนจากอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 5.2 ร้อยละ 4.4 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับ ชะลอลงจากร้อยละ 5.3 ร้อยละ 4.5 และร้อยละ 6.2 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวร้อยละ 6.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.7 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเร่งขึ้นของการส่งออก สำหรับอัตราเงินเฟ้อของมาเลเซียและอินโดนีเซียลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์สูงสุดในรอบ 9 ปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตของรัฐบาลในเดือนกรกฎาคม 2561

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2562

เศรษฐกิจโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการเริ่มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ท่ามกลางการปรับตัวของประเทศต่าง ๆ ต่อการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ และปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติในสหรัฐฯ และประเทศสำคัญ ๆ บางประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่มีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2561 ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.0 และร้อยละ 4.0 ในปี 2561 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มการขยายตัวของแต่ละประเทศที่สำคัญ ดังนี้

เศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 สูงกว่าศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานที่อยู่ในระดับสูงกว่าการจ้างงานเต็มที่ และส่งผลให้อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 3.6 ต่ำสุดในรอบ 48 ปี และแรงสนับสนุนจากมาตรการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล และในด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่มีปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกรอบการขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.8 ในปีก่อนหน้า ตามการปรับตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเข้าสู่จุดสูงสุดในช่วงกลางปี และข้อจำกัดของระบบเศรษฐกิจในช่วงที่การจ้างงานอยู่ในระดับสูงกว่าการจ้างงานเต็มที่ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่คาดว่าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตมากขึ้น และผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตามแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติเพื่อลดแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และการเพิ่มขึ้นของอุปทานในตลาดพันธบัตรที่เกิดจากการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลาง และการดำเนินนโยบายการคลังขาดดุลเพิ่มขึ้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.9 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ภายในประเทศตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนกันยายน 2561 ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 8.1 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี ในขณะที่ค่าจ้างแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสมาชิกสำคัญ ๆ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าศักยภาพของเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการผลิตและการลงทุนของภาคธุรกิจที่เกิดจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่อมาตรการกีดกันทางการค้า การเพิ่มขึ้นของกำลังแรงงานจากต่างประเทศเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งการเร่งขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงก่อนที่มาตรการเพิ่มอัตราภาษีการบริโภคจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2562 แม้กระนั้นก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีน ซึ่งเป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญอันดับที่ 1 (สัดส่วนร้อยละ 19.3) และอันดับที่ 2 (สัดส่วนร้อยละ 19.0) ตามลำดับ และส่งผลให้เศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในปี 2561

เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินหยวน แรงขับเคลื่อนการขยายตัวของการลงทุนภายใต้การปรับโครงสร้างการผลิตและการดำเนินการริเริ่มแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) และภาคการผลิตและการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ รวมทั้งการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ๆ เช่น การปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา การลดข้อจำกัดเพื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนผ่านการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) การปล่อยสินเชื่อของธนาคารเฉพาะกิจ การผ่อนคลายนโยบายการเงินโดยการลดอัตราการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (RRR) และการปรับลดภาษีนำเข้า ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและลดแรงกดดันของผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2561 ตามการชะลอตัวของภาคการส่งออกและภาคการผลิต ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอาจได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตและเงินทุนในช่วงของการปรับตัวของทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้การส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงแรกของการปรับตัวของทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศคาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.4 3.4 2.4 และ 2.6 ชะลอลงจากร้อยละ 3.7 3.5 2.6 และ 2.8 ในปี 2561 ตามลำดับ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามแนวโน้มการชะลอตัวของการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศซึ่งเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีที่ผ่านมาเพื่อลดแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพค่าเงิน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศที่เกิดจากการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจของบางประเทศอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 และคาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2562 โดยเฉพาะเวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป โดยในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 6.1 4.6 และ 6.6 ชะลอลงจากร้อยละ 5.2 6.3 4.7 และ 6.9 ในปี 2561 ตามลำดับ

การขยายตัวของเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพของสหรัฐฯ และยูโรโซนในปี 2561 ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นสูงกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงินในช่วงกลางปี 2561 และแนวโน้มการขยายตัวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและสูงกว่าศักยภาพในปี 2562 คาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง ในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม 2561 และอีก 2 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็นช่วงร้อยละ 2.75 - 3.00 ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเท่ากับอยู่ในระดับภาวะดอกเบี้ยที่สมดุล (Neutral Rate of Interest) ก่อนที่จะหยุดพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลังเพื่อรอดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ ตามช่องว่างการผลิตที่เป็นบวกมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรที่เกิดจากการชดเชยการขาดดุลทางการคลังมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. และการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลาง ส่วนธนาคารกลางยุโรปคาดว่าจะยุติปริมาณการเข้าซื้อสินทรัพย์เดือนละ 15,000 ล้านยูโรภายในเดือนธันวาคม 2561 และมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 2562 หากความเสี่ยงทางการคลังของอิตาลี ผ่อนคลายลง เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหราชอาณาจักรที่คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้ง หากความเสี่ยงจาก BREXIT ผ่อนคลายลง ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น คาดว่าจะยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินที่กำหนดไว้ร้อยละ 2.0 ควบคู่ไปกับการวางแผนสำหรับการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักดังกล่าวทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางขาขึ้นและสร้างแรงกดดันต่อประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัจจัยพื้นฐาน ทางเศรษฐกิจอ่อนแอและได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกีดกัน ทางการค้า ซึ่งจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มดังกล่าวมีความยากลำบากในการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น ๆ ยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูงและเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ปริมาณการค้าโลก ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลักเปลี่ยนแปลงไปจากการคาดการณ์ในกรณีฐาน โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามและประเมินสภานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) ความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ที่อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมกับจีน และประเทศต่าง ๆ เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น รวมทั้งผลการเจรจาการค้าภายใต้ข้อตกลง USMCA และการขยายขอบเขตมาตรการตอบโต้ทางการค้าของจีน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ปริมาณการค้าโลก และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ และถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิต (3) ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ (ตุรกี อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้) ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว (4) ความขัดแย้งในทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่างพรรคเดโมแครตและ ริพับลิกันที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะและอาจนำไปสู่การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานของสหรัฐฯ (5) ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (No Deal Brexit) (6) แผนการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณของอิตาลีซึ่งอาจนำมาสู่การปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีท่ามกลางระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงรวมทั้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความเป็นเอกภาพของกลุ่มยูโรโซน และ (7) ความผันผวนของราคาน้ำมันที่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจด้านกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และการผ่อนปรนมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านให้แก่ 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ รวมทั้งความเป็นเอกภาพของกลุ่ม OPEC และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.3 ในปี 2560 และปี 2559 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.4 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 11.0 ของ GDP ในปี 2560

ในการแถลงข่าววันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 4.2 ซึ่งเป็นขอบล่างของช่วงการประมาณการร้อยละ 4.2 - 4.7 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 โดยมีการปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2561 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ โดยมีปัจจัยหลักมาจาก (1) การขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของการส่งออก โดยเฉพาะการลดลงของมูลค่าการส่งออกร้อยละ 5.5 ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก (i) การประกาศปรับเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนของสหรัฐฯ เพิ่มเติม โดยครอบคลุมสินค้านำเข้า 5,734 รายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งมีอัตราภาษีระยะแรกร้อยละ 10 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 กันยายน 2561 และประกาศจะปรับเพิ่มอัตราภาษีเป็น ร้อยละ 25 ในวันที่ 1 มกราคม 2562 รวมทั้งมาตรการตอบโต้ของจีนโดยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม ครอบคลุมสินค้า 5,207 รายการ มูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งอยู่นอกเหนือสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา และเป็นการเก็บภาษีการนำเข้าระหว่างกันที่ครอบคลุมสินค้าจำนวนมาก เมื่อเทียบกับมาตรการการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างกันระยะแรกมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งส่งผลให้ระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มีการปรับตัวอย่างรุนแรง สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนร้อยละ 14.1 และการขยายตัวต่ำของมูลค่าการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯร้อยละ 1.2 ในเดือนกันยายน รวมทั้งการลดลงของมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศที่ระบบการค้าและการผลิตมีความเชื่อมโยงใกล้ชิดกับจีน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ ขยายตัวต่อเนื่อง (ii) การลดลงของการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดสำคัญ ๆ ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ รวมทั้งสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นจากความวิตกกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศซึ่งส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศสำคัญ ๆ และปริมาณการผลิตรถยนต์ในประเทศผู้ผลิตสำคัญ ๆ ปรับตัวลดลงทั่วโลก และ (2) การขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ของจำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเกิดจากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปร้อยละ 8.8 และร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์เรือล่มในเดือนกรกฎาคม และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายน การขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของการส่งออกและการท่องเที่ยวดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สามชะลอตัวลงเป็นร้อยละ 3.3 และเมื่อรวมกับการขยายตัวในช่วงสองไตรมาสก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่ำกว่าค่ากลางของช่วงการประมาณการร้อยละ 4.2 - 4.7 ในการแถลงข่าวครั้งที่ผ่านมา ในช่วงที่เหลือของปี 2561 คาดว่าระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว และสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ในกรณีที่ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมคาดว่าแรงกดดันดังกล่าวจะผ่อนคลายลงตามความคืบหน้าในการปรับตัวของระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวเร่งขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนตุลาคม ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ในตลาดส่งออกมีแนวโน้มผ่อนคลายลงเมื่อรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์กระบะที่มีการนำเข้าจากประเทศไทยในตลาดออสเตรเลียในเดือนตุลาคม เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปีปรับตัวเข้าสู่ขอบล่างของช่วงการประมาณการร้อยละ 4.2 - 4.7 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561

2) การปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2561 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย

(1) การปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาส่งออกในปี 2561 จากร้อยละ 4.1 และร้อยละ 4.0 ในสมมติฐานประมาณการครั้งก่อน เป็นร้อยละ 4.0 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ ตามการขยายตัวที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ๆ และราคาสินค้าส่งออกในไตรมาสที่สาม สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ เมื่อรวมกับผลกระทบจากการปรับตัวของระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศในข้อ 1) คาดว่ามูลค่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(2) การปรับลดสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 2.15 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4) ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา เป็น 2.05 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1) ตามการลดลง ที่มากกว่าการคาดการณ์ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปในไตรมาสที่สาม และแนวโน้มการ ฟื้นตัวที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งส่งผลให้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกบริการลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

(3) การปรับลดการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐให้สอดคล้องกับผลการเบิกจ่ายที่เกิดขึ้นจริงในไตรมาสที่สี่ของปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี (รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม) ร้อยละ 19.9 ต่ำกว่าสมมติฐานการเบิกจ่ายร้อยละ 23.5

(4) การปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนตามการขยายตัวสูงกว่าการคาดการณ์ในไตรมาสที่สาม และแนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายของปี

6. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562

เศรษฐกิจไทยในปี 2562 เริ่มมีความท้าทายจากความเสี่ยงด้านความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมากขึ้น แต่ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในเกณฑ์ดีตามแรงขับเคลื่อนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้การส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ชะลอตัวลงอย่างช้า ๆ จากปี 2561 อย่างไรก็ตาม ความ ผันผวนในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกยังเป็นปัจจัยที่จะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ปัจจัยสนับสนุน

1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นตามลำดับจาก ร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 4.5 และร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สาม ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งการปรับตัวดีขึ้นของรายได้ในภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และภาคอุตสาหกรรมในช่วงก่อนหน้า และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ภาคเกษตรและการจ้างงาน สอดคล้องกับการกลับมาขยายตัวของดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมติดต่อกัน 2 ไตรมาส และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีงานทำติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีงานทำทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส รวมทั้งอัตราการว่างงานลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส ล่าสุดในเดือนตุลาคมจำนวนผู้มีงานทำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 2.6 โดยจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ในขณะที่ผู้มีงานทำ ในภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยเฉพาะผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สูงสุดในรอบ 63 เดือน การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการมีงานทำดังกล่าว คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้พลวัตรการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมในปี 2562 ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งการเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่ และการสิ้นสุดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรก

2) การปรับตัวดีขึ้นของการลงทุน ตามแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐที่มีปัจจัยสนับสนุนจากความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างมากขึ้นตามลำดับประกอบด้วย (1) โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2559 (Action Plan 59) มีโครงการที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างแล้วจำนวน 14 โครงการ มูลค่า 705,451 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเพียง 8 โครงการ มูลค่า 442,388 ล้านบาท โดยมีโครงการสำคัญที่เริ่มการก่อสร้าง คือ โครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา โครงการรถไฟทางคู่อีก 3 เส้นทาง (ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และช่วงนครปฐม - ชุมพร และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่อยู่ในขั้นตอนการประมูลและลงนามในสัญญา 3 โครงการ มูลค่า 399,706 ล้านบาท (2) โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan 60) อยู่ในระหว่างการก่อสร้างแล้วจำนวน 5 โครงการ มูลค่า 3,592 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการประมูลและลงนามในสัญญา 4 โครงการ มูลค่า 42,391 ล้านบาท และผ่านขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติของ ครม. แล้วจำนวน 1 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มูลค่า 85,345 ล้านบาท และ (3) โครงการภายใต้แผน EEC จำนวน 5 โครงการ ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติแล้วทุกโครงการ โดยโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแบบไร้รอยต่ออยู่ในระหว่างการประมูลและลงนามในสัญญา ส่วนที่เหลือ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เช่นเดียวกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่องตาม (1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2561 ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5 รวมทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ตามแนวโน้มการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่การส่งออกได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางการค้าที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน (2) ความคืบหน้าของการลงทุนภาครัฐฯ ที่เริ่มมีบทบาทในการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากการลงทุนของภาคเอกชนในด้านการก่อสร้างในไตรมาสที่สามของปี 2561 ซึ่งเริ่มกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และ (3) การย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลัก

3) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ในช่วงครึ่งหลังและทั้งปี 2561 จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การแข่งขันฟุตบอลโลกในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2561 ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางออกนอกประเทศน้อยลงและนักท่องเที่ยวจากประเทศยุโรปอื่น ๆ เปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวไปยังประเทศรัสเซียมากขึ้น และส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียและยุโรปเดินทางมายังประเทศไทยต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป (สัดส่วนร้อยละ 18.4) ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.8 ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 10.1 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 (2) การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน (สัดส่วนร้อยละ 27.7) ในไตรมาสที่สามร้อยละ 9.5 เทียบกับอัตราการขยายตัวเฉลี่ยไตรมาสที่สามย้อนหลัง 2 ปีร้อยละ 13.2 ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งปี 2561 อยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในด้านการเพิ่มความเข้มงวดด้านมาตรฐานความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว และการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเพิ่มเติมทั้งในตลาดจีนและตลาดหลักอื่น ๆ เมื่อรวมกับการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของนักท่องเที่ยวยุโรป คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในภาพรวมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2562 และกลับมาสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 ได้อย่างมีนัยสำคัญ

4) การส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าก็ตาม แต่ในกรณีฐานซึ่งไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติมจากที่สหรัฐฯ และจีนได้ประกาศไว้ ณ สิ้นไตรมาสที่สามของปี 2561 คาดว่าในปี 2562 เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่ยังสามารถสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกของไทยได้อย่างต่อเนื่อง

5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลทำให้เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพิงการส่งออก โดยเฉพาะในระยะแรกของการดำเนินมาตรการซึ่งระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศยังมีข้อจำกัดในการปรับตัว อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สหรัฐฯ และจีนไม่มีการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมคาดว่าระบบการค้าและสายพานการผลิตจะสามารถปรับตัวและส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้นตามลำดับ โดยสินค้าและสาขาการผลิตซึ่งอยู่ในข่ายที่จะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ทั้งในด้านการส่งออกและการใช้กำลังการผลิตในช่วงครึ่งปีแรก รวมทั้งการย้ายฐานการผลิตที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในครึ่งปีหลัง เช่น การแปรรูปเนื้อสัตว์ อาหารสัตว์และวัตถุดิบ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และชิ้นส่วนยานยนต์ ทั้งนี้ ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่า การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าทำให้ผู้ประกอบการเริ่มวางแผนการย้ายฐานการผลิตตั้งแต่ในช่วง ไตรมาสที่สองของปี 2561 โดยมีประเทศเป้าหมายปลายทางที่สำคัญ ๆ เช่น ประเทศในกลุ่ม ASEAN อินเดีย เม็กซิโก และบังกลาเทศ การปรับตัวของระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีต่อประเทศไทยผ่านการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และเศรษฐกิจโลกในภาพรวมแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะภายใต้ความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญของภาครัฐทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง การพัฒนาพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

ย้อนรอย Plaza และ Louvre Accord

ในการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528 ได้มีข้อตกลงในการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศครั้งสำคัญซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Plaza accord รวมทั้งนำไปสู่ข้อตกลงเพื่อการแทรกแซงค่าเงินอีก 1 ฉบับในปี 2530 ที่เรียกว่า Louvre Accord โดยมีวัตถุประสงค์ในการกดดันให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และชาติยุโรปที่มีต่อญี่ปุ่นและความซบเซาของภาคการผลิตที่เกิดจากสินค้าญี่ปุ่นเข้าไปตีตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้การแทรกแซงภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจาก 260 เยนต่อ USD เป็น 140 เยนต่อ USD ซึ่งทำให้ราคาสินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีราคาสูงขึ้นมาก และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกของญี่ปุ่นอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนต่ำกว่า (โดยเฉพาะไทยที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ดังกล่าวค่อนข้างมาก) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน (ขณะนั้นกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประกอบด้วย สิงค์โปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย) ขยายตัวเร่งขึ้นและการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะถัดมา แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในปีแรกที่มีการแทรกแซงค่าเงิน

เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน การดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีน และมาตรการตอบโต้จีนเริ่มมีผลกระทบต่อการย้ายฐานการผลิตและทิศทางการค้าในลักษณะใกล้เคียงกับกรณี Plaza และ Louvre Accord ในอดีต ซึ่งจะเห็นได้จากเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่เริ่มชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนการพึ่งพิงการส่งออกสูงรวมทั้งประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกันผลของการดำเนินมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ต้นทุนของการนำเข้าวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น รวมทั้งทำให้สินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ มีราคาแพงขึ้น เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของทิศทางทางการค้า ซึ่งจะเห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เริ่มปรับแหล่งนำเข้าสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องใช้ครัวเรือนจากจีนเป็นการนำเข้าจากเวียดนาม กัมพูชา และประเทศอื่นๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างประเทศในจีนเริ่มมีการวางแผนการย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยมีประเทศปลายทางของการย้ายฐานการผลิตที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน (กัมพูชา ไทย บรูไน พม่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) รวมทั้งประเทศอื่น ๆ เช่น อินเดีย เม็กซิโก และบังกลาเทศ ซึ่งแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 โดยเฉพาะในกรณีที่มาตรการกีดกันทางการค้าขยายขอบเขตชัดเจนมากขึ้น

แม้ว่าการปรับเปลี่ยนทิศทางการลงทุนและการย้ายฐานการผลิตที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนดังกล่าวอาจเทียบเคียงได้กับเหตุการณ์ Plaza accord และ Louvre Accord ในอดีตก็ตาม แต่เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการย้ายฐานการผลิตที่มีต่อไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต นอกจากนั้น การขยายตัวที่สูงขึ้นของไทยในช่วงหลัง Plaza และ Louvre Accord ยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญอื่น ๆ โดยเฉพาะการขุดพบก๊าซธรรมชาติ ในอ่าวไทย การริเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีความเชื่อมโยงไปข้างหน้าและมูลค่าเพิ่มสูง ความมั่นคงทางเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การดำเนินมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ความอุดมสมบูรณ์ของกำลังแรงงาน และความโดดเด่นของประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคในหลายๆ ด้าน แม้กระนั้นก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังเป็นโอกาสที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนการลงทุนและพัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงต่อความผันผวนและขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ๆ ประกอบด้วย (1) ความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ ที่อาจมีการดำเนินการเพิ่มเติมกับจีน และประเทศต่าง ๆ เช่น กลุ่มประเทศยูโรโซน ญี่ปุ่น รวมทั้งการเจรจาข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบ USMCA และการขยายขอบเขตมาตรการตอบโต้ของจีน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ปริมาณการค้าโลก เศรษฐกิจโลกในภาพรวม และการส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจ และถูกซ้ำเติมโดยผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิต (3) ปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ ๆ (ตุรกี อาร์เจนตินา บราซิล และแอฟริกาใต้) ที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (4) ความขัดแย้งในทิศทางการดำเนินนโยบายระหว่างพรรคเดโมแครตและริพับลิกันที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สาธารณะและอาจนำไปสู่การปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ (5) ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักรจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (No Deal Brexit) (6) แผนการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและ การขาดดุลงบประมาณของอิตาลีซึ่งอาจนำมาสู่การปรับลดความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีท่ามกลางระดับหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความเป็นเอกภาพของกลุ่มยูโรโซน และ (7) ความผันผวนของราคาน้ำมันที่ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจด้านกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และการผ่อนปรนมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านให้แก่ 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีน อินเดีย กรีซ อิตาลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ตุรกี และเกาหลีใต้ รวมทั้งความเป็นเอกภาพของกลุ่ม OPEC

2) ความล่าช้าในการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว แม้ว่าในกรณีฐานจะคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย ยุโรป และจีนจะปรับตัวดีขึ้น และกลับเข้าสู่การขยายตัวปกติได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 ก็ตาม แต่การฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวอาจมีความล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การอ่อนค่าของเงินรูเบิล รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการอ่อนค่าของเงินหยวน

3) การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่เร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญ ๆ โดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทำให้ต้นทุนการผลิตและอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ สูงกว่าการคาดการณ์ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรในตลาดโลกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังของสหรัฐฯ การปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการยุติการเข้าซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และอัตราผลผอบแทนพันธบัตรในสหรัฐฯ และตลาดโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการคาดการณ์

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2562

1) เศรษฐกิจโลกในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น โดยในกรณีที่ไม่มีการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการตอบโต้เพิ่มเติมคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.8 ในปี 2561 ตามการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาลงของวัฏจักรเศรษฐกิจหลังจากขยายตัวสูงกว่าระดับการจ้างงานเต็มที่ทำให้มีข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการปรับทิศทางนโยบายการเงิน จีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.3 ชะลอลงจากร้อยละ 6.6 ในปี 2561 ตามทิศทางการดำเนินนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้ภาคการส่งออก การผลิต และการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลง กลุ่ม ยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากร้อยละ 2.0 ในปี 2561 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งผลกระทบจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าคาดว่าจะทำให้ปริมาณการค้าโลกในปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.0 ในปี 2561 ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศสำคัญอื่น ๆ และประเทศกำลังพัฒนาชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกสูง แม้กระนั้นก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกต่ำกว่าสมมติฐานประมาณการ ประกอบด้วย (1) การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และการขยายขอบเขตของมาตรการตอบโต้ของจีน (2) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของจีนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการกีดกันทางการค้า และการเคลื่อนย้ายเงินทุนและฐานการผลิต (3) ปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ (4) แผนการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการขาดดุลงบประมาณของอิตาลี และ (5) ความเสี่ยงที่สหราชอาณาจักร จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเจรจาเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (No Deal Brexit)

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2562 อยู่ในช่วง 32.5 - 33.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 32.3 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 ตาม (1) แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ ทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกิดจากการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง โดยในกรณีฐานคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2561 และอีก 3 ครั้งในปี 2562 รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯ ที่เกิดจากการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางและการขาดดุลทางการคลังมูลค่า 779 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งเป็นการขาดดุลสูงสุดในรอบ 6 ปี (2) การอ่อนค่าของเงินหยวนและสกุลเงินในภูมิภาคที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยด้านการอ่อนค่าของเงินบาท และ (3) แนวโน้มการปรับตัวลดลงอย่างช้า ๆ ของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของประเทศไทย และความแข็งแกร่งของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งในด้านความเข้มแข็งของภาคการเงิน บัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในฐานะเกินดุลอย่างต่อเนื่อง ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง และหนี้สาธารณะที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้ไทยยังคงเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของภูมิภาค (Regional Safe Haven) ในสายตาของนักลงทุน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การอ่อนค่าของเงินบาทอยู่ในขอบเขตจำกัด

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2562 ในช่วง 70.0 - 80.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 70.5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2561 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำมันของประเทศสำคัญ ๆ ตามแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก (2) แนวโน้มการปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกในการประชุมในวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดปริมาณการผลิตลง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน (3) การสิ้นสุดลงของมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแก่ประเทศผู้นำเข้า 8 ประเทศ (ภายใต้มาตรการ คว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 และส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านปรับตัวลดลง และ (4) การลดลงของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่เกิดจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้า ๆ ได้แก่ (1) ความวิตกกังวลของตลาดเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกชะลอตัวลงเร็วกว่าการคาดการณ์ (2) การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มนอกโอเปก สะท้อนจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ (3) แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ

4) ราคาสินค้าส่งออกและราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 - 2.0 และร้อยละ 1.5 - 2.5 ตามลำดับ ชะลอลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 และร้อยละ 6.0 ในปี 2561 สอดคล้องกับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงจากร้อยละ 32.9 ในปี 2561 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2562 รวมทั้งสอดคล้องกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินค้าในตลาดโลกขยายตัวช้าลงทั้งราคาสินค้าขั้นปฐม สินค้าวัตถุดิบ และราคาสินค้าอุตสาหกรรม

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปี 2562 จำนวน 2.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 จาก 2.05 ล้านล้านบาท ในปี 2561 โดยการเพิ่มขึ้นของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในกรณีฐานมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศรัสเซียและนักท่องเที่ยวจากยุโรปในภาพรวม หลังจากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำผิดปกติในปี 2561 ที่มีสาเหตุมาจากการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซียในเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2561 ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเปลี่ยนทิศทางการเดินทางไปยังรัสเซียมากขึ้น โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากรัสเซียจะกลับมาขยายตัวในเกณฑ์ปกติตั้งแต่ต้นปี 2562 (2) การดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยและการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐสามารถทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนกลับสู่แนวโน้มการขยายตัวปกติได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2562 หลังจากขยายตัวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติในครึ่งปีหลังและ ทั้งปี 2561 รวมทั้งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ ขยายตัวดีขึ้น และ (3) ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ยังเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 93.0 ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับอัตราเบิกจ่ายจริงร้อยละ 91.5 ในปีงบประมาณ 2561 แบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.0 และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 75.0 เทียบกับร้อยละ 96.1 และร้อยละ 70.5 ในปีงบประมาณ 2561 (2) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 80.0 (3) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 75.0 และ (4) การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2562 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) ร้อยละ 30.3 ของวงเงินงบประมาณ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2562

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.0) ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในปี 2561 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 5.8 ของ GDP

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 4.2 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.7 ในปี 2561 ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยการขยายตัวได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่องจากปี 2561 ฐานรายได้ในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 2561 ตามแนวโน้มการเร่งตัวขึ้นของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฐานรายได้ในภาคเกษตรที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของปริมาณผลผลิต และการเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของฐานรายได้จากการจ้างงานสอดคล้องกับข้อมูลในไตรมาสที่สามของปี 2561 ซึ่งจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้มีงานทำ ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรพร้อมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส และอัตราการว่างงาน ที่ลดลงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 8 ไตรมาส7 รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และแรงขับเคลื่อนจากการลดลงของข้อจำกัดจากมาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวของรถยนต์รุ่นใหม่ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2561

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในปี 2561 โดย การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 5.0 ในปี 2561 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ร้อยละ 20.1 เทียบกับในปีงบประมาณ 2561 รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ ของภาครัฐ ที่มีโครงการลงทุนเข้าสู่กระบวนการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนซึ่งจะทำให้การก่อสร้างและการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเนื่องขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตซึ่งจะทำให้ความต้องการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75.0 8 และกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้าระหว่างประเทศที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้า (2) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เริ่มสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนในภาคก่อสร้างของภาคเอกชนได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และ (3) แนวโน้มการย้ายฐานการผลิตและการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี

หมายเหตุ: 7 ล่าสุดในเดือนตุลาคมจำนวนผู้มีงานทำยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องร้อยละ 2.6 โดยจำนวนผู้มีงานทำในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ในขณะที่ผู้มีงานทำในภาคนอกเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยเฉพาะผู้มีงานทำในสาขาอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 สูงสุดในรอบ 63 เดือน

8 ในไตรมาสที่สาม อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 66.5 โดยมีอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 75 จำนวน 5 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย การผลิตจักรยานยนต์ (ร้อยละ 70.7) การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 69.5) การผลิตยางล้อและยางใน (ร้อยละ 64.6) การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก (ร้อยละ 64.0) และการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตและปูนซีเมนต์ (ร้อยละ 63.3) และอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 75 ประกอบด้วย การผลิตพลาสติกและยาง (ร้อยละ 97.4) การผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 90.6) การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 85.9) และการแปรรูปและถนอมเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 81.6) การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 78.7) และการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง (ร้อยละ 78.0)

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 7.2 ในปี 2561 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ชะลอลงจากร้อยละ 3.5 ในปี 2561 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2562 และคาดว่าราคาสินค้าส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ในปี 2561 ตามการชะลอตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและเป็นปัจจัยที่ทำให้มูลค่าการส่งออกในภาพรวมขยายตัวชะลอลงจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงปลายไตรมาสแรกและขยายตัวในเกณฑ์สูงในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับร้อยละ 3.6 ในปี 2561

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 16.2 ในปี 2561 โดยคาดว่าปริมาณการนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ตามการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกและการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนรวม ในขณะที่คาดว่าราคานำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6.0 ในปี 2561 เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าจะส่งผลให้ปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เทียบกับร้อยละ 8.6 ในปี 2561

5) ดุลการค้า คาดว่าจะยังคงเกินดุลประมาณ 14.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 18.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2561 เนื่องจากประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก เมื่อรวมกับการเกินดุลบริการจากรายรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดว่าจะส่งผลให้ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 30.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 5.8 ของ GDP) เทียบกับการเกินดุล 32.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (ร้อยละ 6.4 ของ GDP) ในปี 2561

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2562 คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7- 1.7 เพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ จากร้อยละ 1.1 ในปี 2561

7. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

เศรษฐกิจไทย ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ ที่คาดว่าจะมีความต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งในด้านการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงาน การลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของการใช้กำลังการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของทิศทางการค้าและการผลิตระหว่างประเทศ ในขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังมี ความเสี่ยงที่จะล่าช้ากว่าการคาดการณ์ และการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและมีความเสี่ยง ที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า แม้กระนั้นก็ตาม การปรับตัวของทิศทางทางการค้าและการผลิตระหว่างประเทศคาดว่าจะเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นและเป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อน การส่งออก การผลิต และการลงทุนในสาขาที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า เพื่อชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและยกระดับศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ภายใต้แนวโน้มดังกล่าว การบริหารเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2561 และในปี 2562 จึงควรให้ความสำคัญกับ

1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (1) การสนับสนุนการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสแรกของปี 2562 (2) การให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวของประเทศไทยในสายตานักท่องเที่ยวต่างชาติ (3) การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกลและกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงในภูมิภาค (4) การอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวและการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ (5) การกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และ (6) การสร้างความเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของไทยกับประเทศที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในภูมิภาค

2) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายโดยให้ความสำคัญกับ (1) การใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการขยายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และจีน ในกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ และจีน ปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทย (2) การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการ ปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ และจีน ซึ่งอาจเปลี่ยนทิศทางเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น (3) การปฏิบัติตามกรอบกติกาการค้าโลก รวมทั้งข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติในประเทศคู่ค้า และเงื่อนไขที่สำคัญ ๆ ในสหรัฐฯ ที่มีความเกี่ยวพันกับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ให้แก่ประเทศไทย และ (4) การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม

3) การสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย (1) การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม (2) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ ที่มีฐานการผลิตทั้งในประเทศไทยและในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มการใช้กำลังการผลิตในประเทศไทยมากขึ้น (3) การอำนวยความสะดวกและการชักจูงนักลงทุนในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและอยู่ในช่วงของการตัดสินใจย้ายฐานการผลิตให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ความพร้อมและขีดความสามารถในการแข่งขันของโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ความพร้อมและศักยภาพด้านพื้นที่รองรับการลงทุนโดยเฉพาะการพัฒนาและความคืบหน้าของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (4) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และ (5) การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการลงทุน รวมทั้งมาตรการและนโยบายที่สำคัญ ๆ ในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้ง

4) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยและการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก โดย (1) ด้านการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร ให้ความสำคัญกับ (i) การดูแลปัญหาราคาสินค้าบางรายการที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะราคายางพาราซึ่งการฟื้นตัวยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุปสงค์รถยนต์ในตลาดโลก รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าที่ครอบคลุมสินค้ากลุ่มยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยาง และการฟื้นตัวของราคาปาล์มน้ำมันที่ยังมีข้อจำกัดจากสต็อกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง รวมทั้งแนวโน้มการปรับลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มในสหภาพยุโรป และผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำให้ราคาถั่วเหลืองและน้ำมันถั่วเหลืองในตลาดโลกปรับตัวลดลง และ (ii) การขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ควบคู่ไปกับการเพิ่มส่วนแบ่งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกร (2) ด้านการดูแลผู้มีรายได้น้อย เศรษฐกิจฐานราก และ SMEs โดยให้ความสำคัญกับ (i) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ (ii) การดูแลให้มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระการชำระหนี้และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs มีวงเงินที่เพียงพอและต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรที่ราคาผลผลิตยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ย และ (3) ด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน ต้องให้ความสำคัญกับ (i) การส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการสินเชื่อ มาตรการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และมาตรการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ของภาครัฐ (ii) การปรับปรุงการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดของ SMEs ไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาด และ (iii) การสร้างความเชื่อมโยง SMEs กับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่

5) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย (1) การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนประจำปีงบประมาณ 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 โดยใน ไตรมาสแรกของปีงบประมาณไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17.0 และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในปี 2562 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80.0 (2) การเบิกจ่ายจากงบอื่น ๆ เช่น งบเหลื่อมปี ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 75.0 และเงิน นอกงบประมาณที่เหลืออยู่อีก 8,031.6 ล้านบาท (3) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้าง (4) การส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุน ในพื้นที่ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง และ (5) การจัดทำแผนและการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่ระดับภาคและจังหวัดสำคัญ ๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวและการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

6) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงาน ให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสในการขยายตัวจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ และอุตสาหกรรมสำคัญที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ